Wednesday, 9 July 2025
NEWS FEED

(อุบลราชธานี) ตรวจยึดยาบ้า จำนวน 300,000 เม็ด ที่ชายแดน จ.อุบลราชธานี

เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.67) ที่ กองบัญชาการกองกำลังสุรนารี โดยพลตรี สมภร ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้จัดกำลังพลจาก หมวดลาดตระเวนระยะไกลที่ 1 กองกำลังสุรนารี หมวดเคลื่อนที่เร็ว กองกำลังสุรนารี หน่วยเฝ้าตรวจชายแดนที่ 22 ชุด ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ที่บัญชาการกองกำลังสุรนารี (UAV) และชุด สุนัขทหารที่ 7 กองกำลังสุรนารี ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ หลังได้รับแจ้งจากพลเมืองดี ว่ามีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี สามารถตรวจยึดยาบ้าจำนวน 300,000 เม็ด และได้ส่งมอบของกลางให้กับ สถานีตำรวจภูธรเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี  เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


 

(บุรีรัมย์) แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์เกียรติภูมิ 'พันโท ธีรเดช เพชรบุตร'

เมื่อวานนี้ (23 พ.ย. 67) พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์เกียรติภูมิ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ณ ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2/รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 พลตรี สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี นายเกรียงศักดิ์ สมจิต ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้บังคับหน่วย และส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมปฏิบัติภารกิจ ซึ่งกองกำลังสุรนารี มีแนวคิดที่จะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อบันทึกเรื่องราวการสู้รบของหน่วยในทุกพื้นที่ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ และเทิดเกียรติวีรชนที่เสียสละชีวิตพร้อมเลือดเนื้อ เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดินไทยตลอดมา และในครั้งนี้กองกำลังสุรนารี ได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานในชื่อ 'อนุสรณ์เกียรติภูมิ พันโทธีรเดช เพชรบุตร' 

โดยมีประวัติการสู้รบในพื้นที่ ดังนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เวลา 10.30 นาฬิกา พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้นำกำลังพลออกลาดตระเวน บริเวณพื้นที่เนิน 339 ช่องจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ตรวจพบกำลังฝ้ายตรงข้าม ประมาณ 7 นาย เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที ฝ่ายตรงข้ามได้ถอนกำลัง ออกจากพื้นที่ปะทะ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้นำกำลังพลไล่ติดตาม และได้เหยียบกับระเบิดของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้รับบาตเจ็บสาหัส ขาขาดทั้งสองข้าง และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ณ จุดเกิดเหตุ วีรกรรมของ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ในครั้งนั้น นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร ควรได้รับการยกย่องเชิดชู เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี และความเสียสละเพื่อประเทศชาติสืบไป ในโอกาสนี้กองกำลังสุรนารี ได้เรียนเชิญคณะญาติ และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร เพื่อร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของพันโท ธีรเดช เพชรบุตร ดังนี้ คณะญาติ ประกอบด้วย คุณต่าย(พี่สาว) (คุณตุ้ม) และหลานสาว เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร ประกอบด้วย พลตรีกิตติศักดิ์ หนูมิตร  พลโทวิฑูรย์ ศิริปักมานนท์ พลเอกสุรพล เจียรณัย และ พลโท เดชา ปุญญบาล 

ดร.สามารถ’ ลั่น!! ไม่จำเป็น ต้องขยายสัมปทาน ‘ทางด่วนศรีรัช’ ชี้!! หากแก้ปัญหา รถติดหน้าด่านได้ ก็สามารถชะลอการก่อสร้าง

(24 พ.ย. 67)  นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ สัมปทานทางด่วนศรีรัช โดยได้ระบุว่า ...

‘ไม่จำเป็น’ ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช!!

มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2578 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน แลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เพื่อช่วยแก้ปัญหารถติด แต่การแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนด้วย Double Deck จะแก้ได้จริงหรือ ? มีหนทางอื่นอีกหรือไม่ ?

รถติดบนทางด่วนส่วนหนึ่งมีผลมาจากรถติดหน้าด่านชำระค่าผ่านทาง ดังนั้น หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สามารถแก้ปัญหารถติดหน้าด่านได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องก่อสร้าง Double Deck หรือสามารถชะลอการก่อสร้างออกไปได้

ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหารถติดหน้าด่านช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 มีดังนี้

(1) ยกเลิกด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 ด่าน ซึ่งมีรถติดมาก ประกอบด้วยด่านประชาชื่นขาออก และด่านอโศกขาออก ซึ่งจะเป็นผลให้ค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 สำหรับรถ 4 ล้อ ลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท จากเดิม 90 บาท ทั้งนี้ การยกเลิกด่านทั้งสองจะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ไม่ติดขัด

(2) เพิ่มช่องชำระค่าผ่านทางด้วย Easy Pass ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนช่อง Easy Pass จากแบบ ‘มีไม้กั้น’ เป็นแบบ ‘ไม่มีไม้กั้น’ ให้หมดทุกช่อง ซึ่งจะช่วยให้รถผ่านด่านได้เร็วขึ้น ลดรถติดหน้าด่านได้เป็นอย่างดี

นอกจากการแก้ปัญหารถติดหน้าด่านแล้ว กทพ.จะต้องแก้ปัญหา ‘คอขวด’ บนทางด่วน ซึ่งมีอยู่หลายจุด หากทำได้เช่นนี้ ผมมั่นใจว่าจะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับการก่อสร้าง Double Deck นั้น ผมเข้าใจว่ามีหลายคนรวมทั้งผมด้วยที่ไม่มั่นใจว่า Double Deck จะสามารถแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่สามารถแก้ปัญหารถติดที่ทางขึ้น-ลงทางด่วนได้ ด้วยเหตุนี้ กทพ.ควรทบทวนความจำเป็นของ Double Deck ให้รอบคอบว่าการลงทุนก่อสร้าง Double Deck เป็นเงินถึง 34,800 ล้านบาทนั้น คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม หาก กทพ.เห็นว่ายังจำเป็นจะต้องมี Double Deck ก็ควรชะลอการก่อสร้างออกไปอีก 11 ปี จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังที่เคยชะลอมาแล้วในปี 2563 แต่ กทพ.จะต้องเร่งแก้ปัญหารถติดหน้าด่านรวมทั้งแก้ปัญหา 'คอขวด' บนทางด่วนดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่ง กทพ.มีศักยภาพมากพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

กทพ.อาจเป็นห่วงว่าการชะลอการก่อสร้าง Double Deck จะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทุกคนเข้าใจดีว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่ก็คุ้มกับการที่ กทพ.ไม่ต้องขยายสัมปทานให้เอกชน

อนึ่ง หากเปรียบค่าก่อสร้าง Double Deck ในปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 31,000 ล้านบาท กับค่าก่อสร้างในปี 2567 ซึ่งมีมูลค่า 34,800 ล้านบาท พบว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3% เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อ กทพ. และกระทรวงคมนาคมที่จะได้สร้างผลงานชิ้นโบแดงให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งผู้ใช้ทางด่วนทุกคนที่รอคอยจะได้ใช้ทางด่วนในราคาที่ถูกลงเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2578

อย่าขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชอีกเลยครับ !!

‘เอกนัฏ – อรรถวิชช์’ นำทีมลุย!! กำจัด ‘กากพิษ – ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เร่ง!! ออกกฎหมาย บังคับใช้เข้มงวด เพื่อปราบปราม ‘โรงงานเถื่อน’

(24 พ.ย. 67) รายการข่าว3มิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ผนึกกำลังรวมทีมกัน เพื่อกำจัดกากพิษให้ประชาชน โดยเนื้อหาในรายการมีใจความว่า ...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ที่แรกที่ผมไปก็คือที่ ‘วินโพรเซส’ เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้ไป เราต้องไม่ปิดตา ที่มันเกิดขึ้นได้เนี่ยมันไม่ใช่เกิดด้วยความบังเอิญหรือไม่มีใครรู้ มันอยู่ที่ว่าเราจับไม่จับ ออกจับจริงมั้ยถ้าออกจับจริง ก็จะเจอแบบที่เราเจอทั้งผลิตในประเทศ ทั้งนําเข้ามา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า สิ่งที่กําลังทําขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือสั่งปราบปรามโรงงานเถื่อน 

ส่วนที่สองคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากํากับโดยตรง จึงได้ตั้งคณะทํางานร่างกฎหมายใหม่ในชื่อพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เจตนากฎหมายนี้ ก็เพื่อแยกโรงงานกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใช้กํากับของเสีย พ.ร.บ.โรงงานของดี พรบ.กากกํากับดูแลของเสีย ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต้องกําจัด กากของเสียนิคมอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบ ต้องกําจัดของเสีย และกรณีที่มีพวกที่เจตนาเป็นโจรรับกําจัดของเสียแล้วไม่ทํา กฎหมายก็ต้องรุนแรงพอที่จะไปจัดการกับพวกที่มีเจตนาเป็นโจร” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย 

ร่างพระราชบัญญัติการอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์กล่าวถึงมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทําหน้าที่เป็นประธานคณะทํางานร่างขึ้น

ซึ่งนายอรรถวิชช์ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาสั่งปิดโรงงาน สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว ทําอะไรเค้าไม่ได้แล้วนะ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปแตะเค้าไม่ได้อีกเลย กากพิษก็ยังอยู่ในนั้น กว่าจะได้เงินเยียวยา กว่าจะเข้าไปเก็บกู้ซาก รอกันนานมาก

ภายใต้พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม เรามีการตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ขึ้นอีกอันนึง ทําหน้าที่ในการที่เข้าไปจัดการเยียวยาประชาชนได้ก่อนเลย รวมไปถึงเก็บกู้ได้ก่อนเลย รัฐเนี่ยแหละเข้าไปลุยฟ้องก่อน พอรัฐชนะ ค่อยเอาเงินวกกลับมาคืนกองทุน เยียวยาเร็ว กู้ซากเร็ว เอาสารพิษออกมาได้เร็ว เราไม่มีสินบนนําจับ แล้วก็ขอว่าไม่เข้าหลวงแต่มาเข้ากองทุนเลย คือสินบน เป็นศูนย์เลย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น
.
ไม่ให้นําเข้าขยะ แต่จะให้นําเข้าเฉพาะวัตถุดิบเท่านั้น คราวนี้คุณต้องชัดเจน ห้ามมั่ว ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาคุณบี้รถยนต์เข้ามา คุณบี้มาเป็นทั้งคัน ก็บี้ส่งเข้ามา พอเข้ามา ก็มาแยกกันอีกที มันก็จะเหลือเศษที่ไม่มีความจําเป็น คราวนี้เวลาคุณเอาเข้ามาคุณเอาให้แน่ คุณไปแยกมาก่อนที่นู่นเลย ส่วนเบาะรถยนต์คุณแกะออกส่วนสายไฟแกะออกส่วนที่เป็นเหล็กแกะเข้าออก คือมันมาเป็นขยะไม่ได้ แต่ต้องมาเป็นโลหะที่มีคุณภาพ ที่ประเทศไทยถลุงไม่ได้เอง 

ร่างกฎหมายนี้ จะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมหน้า

‘สถาบันราชพฤกษ์’ เดินหน้าประชุมใหญ่ COP ที่ ‘อาเซอร์ไบจาน’ ประสานความร่วมมือ!! ในระดับโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC การประชุมกลุ่ม G20 และการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้การประชุม COP เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1995 โดย COP1 จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกหลังการลงนามใน UNFCCC ปี ค.ศ. 1992 ที่ประชุมแต่ละปีจะมุ่งสร้างความตกลงใหม่ ๆ และประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในเป้าหมายลดโลกร้อน เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศได้ให้คำมั่นต่อกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามรักษาไว้ที่ 1.5°C 

การประชุม COP จึงมีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2024 ก็มีการประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ของอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพมีความท้าทายและโอกาสในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้รับการหยิบยกกันมาหารือในที่ประชุมคือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ในส่วนของไทยเรานั้น แม่งานหลักของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะทำหน้าที่สานต่อในส่วนของภาครัฐให้เป็นไปตามที่ไทยเราได้ลงสัตยาบันไว้ ตลอดจนจะได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ แสวงหาความร่วมมือในทุกด้านจากมิตรประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องร่วมกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการทำงานภายในประเทศ เพื่อจะออกมาตรการ กำหนดทิศทางที่ทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตินี้ต่อไป

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร

พังงา ผู้บัญชาการทหารเรือตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลด้วยความหว่งใยหน่วยทหารเรือในฝั่งอันดามัน

นาวาโท นพดล กิ่งเกตุ ผู้บังคับกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 นำกำลังพลในสังกัด รับฟังโอวาท พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เนื่องในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยงานกองทัพเรือพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ณ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พร้อมกันนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้แสดงความห่วงใยต่อกำลังพลที่ปฏิบัติงานห่างไกลภูมิลำเนาและเน้นย้ำถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยหลังจากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางมาตรวจโรงเลี้ยง-โรงครัว กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อรับทราบถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการ และทหารกองประจำการในสังกัด โดยเน้นย้ำด้านสวัสดิการ สิทธิกำลังพล และความเป็นอยู่ของกำลังพลในทุกส่วนและการดูแลสวัสดิการของทหารกองประจำการในด้านต่าง ๆ ให้ได้รับสิทธิตามระเบียบของทางราชการ 

ย้อนตำนาน ต้นกำเนิด!! ‘ปิกอัพมาสด้า’ ในประเทศไทยกว่า 74 ปี ยังคงสร้างสรรค์!! ยนตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างภาคภูมิใจ

(23 พ.ย. 67) การไหลผ่านของเวลาที่ล่วงเลยมาอย่างยาวนานของมาสด้า คือบทพิสูจน์บนเส้นทางแห่งความสำเร็จในการมุ่งมั่นพัฒนายานยนต์ไปพร้อมกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และความภาคภูมิใจแห่งยนตรกรรม ตลอดระยะเวลาอันยาวนานยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ด้วยก้าวย่างที่มั่นคง แข็งแรง สร้างพื้นฐานไว้อย่างแน่นหนา จวบจนปัจจุบัน เป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จกว่า 74 ปี ในประเทศไทย ‘มาสด้า’ ก่อตั้งโดย คุณจูจิโร่ มัทซึดะ เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมจุกไม้คอร์กในปี พ.ศ. 2463 ต่อมาเริ่มผลิตเครื่องมือกลไกในปี พ.ศ. 2472 เนื่องจากเป็นผู้ที่หลงใหลในเทคโนโลยีของรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ มร. มัทสึดะ ก้าวเข้าสู่โลกของการผลิตมอเตอร์ไซค์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2474 จึงได้เริ่มผลิตรถบรรทุกสามล้อ เรียกว่า ‘มาสด้า โก’ เป็นรถคันแรกที่ผลิตออกสู่ตลาดในนาม ‘มาสด้า’ ก่อนที่จะได้เริ่มผลิตเครื่องยนต์ 2 จังหวะ เป็นรายแรกของโลก ปัจจุบัน ‘มาสด้าเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่ผลิตเครื่องยนต์โรตารี่’

ตำนานที่คงอยู่ตลอดกาล หลังจากเริ่มนำรถมาสด้าเข้ามาให้คนได้รู้จัก ในปี พ.ศ. 2507 โดย บริษัท กมลสุโกศล ได้นำเข้าปักอัพมาสด้าตัวแรก รุ่น 800 ซีซี 4 สูบ เข้ามาจำหน่ายในชื่อรุ่น ‘Familia 800’ ความจุ 782 ซีซี 48 แรงม้า แบบ 4 ประตู ซึ่งได้รับความนิยมและถูกกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 มาสด้าได้ตกลงร่วมทุนกับพันธมิตรก่อตั้ง บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์แห่งใหม่ที่จังหวัดระยอง และเริ่มทำการผลิตเต็มอัตราในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 บนเนื้อที่ 529 ไร่ ด้วยเงินลงทุนถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิต 135,000 คันต่อปี และผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน รุ่น B2500 สำหรับส่งออก และจำหน่ายภายในประเทศ รวมถึงรถยนต์นั่งรุ่น 323 โปรทีเจ

มาถึงปี พ.ศ. 2542 ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จึงได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น จัดตั้งคณะผู้บริหารใหม่ เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็น ‘บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด’ มุ่งเน้นแนวทางการบริหารไปที่ด้านการตลาด การขาย การบริการลูกค้า และการสนับสนุนผู้จำหน่าย เพื่อนำเสนอรถยนต์มาสด้ารุ่นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้มาสด้าเริ่มต้นการผลิตรถปิกอัพที่ ชื่อว่า มาสด้า ไฟเตอร์ โฉมใหม่ ถือเป็นผู้บุกเบิกรถปิกอัพที่มีประตูแค็บเปิดได้เป็นครั้งแรกของโลก และทำให้มาสด้าประสบความความสำเร็จอย่างสูง โดยมียอดขายสะสมสูงกว่า 55,000 คัน

เดือนมีนาคม 2549 มาสด้าเปิดตัวแนะนำรถสปอร์ตปิกอัพ MAZDA BT-50 เครื่องยนต์คอมมอลเรล ให้พลังแรงเต็มพิกัด ด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวทั้งภายนอกและภายใน พิถีพิถันใส่ใจทุกรายละเอียด ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ซูม-ซูม’ โชว์เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมยานยนต์สุดล้ำแห่งอนาคต พร้อมระบบความปลอดภัยเต็มคัน สร้างชื่อเสียงของแบรนด์มาสด้าให้กระหึ่มทั่วโลกอีกครั้ง

รถปิกอัพมาสด้า BT-50 ได้รับการออกแบบภายใต้ DNA ของมาสด้า ประกอบด้วยดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยว พิถีพิถันทุกรายละเอียด และขีดสุดแห่งพลังที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว เป็นรถปิกอัพโฉมเฉี่ยวสไตล์ ซูม-ซูม รวมถึงเครื่องยนต์อันทรงพลัง คอมมอนเรล ชื่อ มาสด้า BT-50 เป็นชื่อที่ใช้สำหรับตลาดทั่วโลก คำว่า มาสด้า BT-50 มาจาก B-Series Truck ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้เรียกรถปิกอัพมาสด้ามาอย่างยาวนานและถือเป็นตำนานรถปิกอัพมาสด้า ส่วนตัวเลข 50 หมายถึงความสมดุลที่อยู่กึ่งกลางของน้ำหนักการบรรทุกของปิกอัพครึ่งตัน และมีน้ำหนักบรรทุกมากกว่า 1 ตัน ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อรถรุ่นนี้ได้เปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก โดยผลิตจากโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ มีมาตรฐานเดียวกับโรงงานมาสด้า ประเทศญี่ปุ่น ควบคุมดูแลโดยทีมวิศวกรมาสด้า ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปกว่า 130 ประเทศ ทั่วโลก

ต่อมาเดือนมกราคม 2564 ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับวิกฤตโคโรน่าไวรัส แต่มาสด้าไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ มาสด้าเปิดตัวปิกอัพที่ลูกค้าทั่วโลกใฝ่ฝันและเฝ้ารอมานาน กับ All-New Mazda BT-50 เจเนอเรชั่นใหม่ ด้วยการผนวกคุณสมบัติของรถปิกอัพที่ดีที่สุดในโลกรวมเป็นหนึ่งเดียว คือ รถปิกอัพที่ถูกออกแบบอย่างสง่างามที่สุดโลก คัดสรรด้วยวัสดุคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ประหยัดน้ำมันมากที่สุด มีความทนทานสูงสุด รวมทั้งค่าดูแลรักษาต่ำสุด  กลับมายึดฐานลูกค้าเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดรถปิกอัพอีกครั้ง

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของรถปิกอัพมาสด้า นับจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ก้าวผ่านเรื่องราว ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาแล้วมากมาย แต่ด้วยสปิริต ความเป็นมาสด้า กล้าที่จะแตกต่าง ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคเฉกเช่นเดียวกับชาวฮิโรชิมา 

กว่า 104 ปี ของมาสด้าญี่ปุ่น กว่า 74 ปี ในประเทศไทย มาสด้ายังคงเดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมสร้างความรัก ความผูกพัน ให้ผู้ขับมาสด้าได้มีประสบการณ์ที่ดี ในทุกช่วงเวลาของชีวิต และกลายเป็น ‘มาสด้า แฟมิลี่’  นั่นคือแก่นแท้ของการดำเนินธุรกิจของมาสด้าในประเทศไทย

‘พีระพันธุ์’ นำคณะทำงาน!! ตรวจราชการ จ.ระยอง ลงพื้นที่!! โรงกลั่น เพื่อกำกับดูแลราคา ให้ความเหมาะสม

(23 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความขณะที่ได้เดินทางไปตรวจราชการ โดยมีใจความว่า ...

“สวัสดีครับ วันนี้ผมได้เดินทางไปตรวจราชการในตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ คือจังหวัดระยอง ซึ่งผมก็ได้ไปพบกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อสอบถามปัญหาของจังหวัดและหน่วยราชการต่าง ๆ และถือโอกาสเดียวกันนี้ไปตรวจเยี่ยมโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทไออาร์พีซี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ซึ่งผมก็ไปดูตั้งแต่กระบวนการที่เรือขนน้ำมันดิบเข้ามาเทียบท่า แล้วขนถ่ายน้ำมันดิบไปเก็บที่คลัง แล้วก็เข้าสู่ขบวนการกลั่น ที่ไปดูในส่วนนี้ก็เพื่อจะนํารายละเอียดข้อมูลมาปรับปรุงกฎหมายที่กําลังจะออกมา ในเรื่องของการกํากับดูแลราคาน้ำมันให้มีความถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ผมจะพยายามทําหน้าที่ให้ดีที่สุด และพยายามดูแลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนให้เต็มที่ครับ”

แฉ!! คุณหมอคนดัง หลอกลวงลงทุน หลายคนไว้ใจ!! เพราะดูน่าเชื่อถือ

(23 พ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Stapnavatr Vajira’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘หมอบุญ’ หรือ นายแพทย์บุญ วนาสิน หมอนักธุรกิจชื่อดัง โดยมีใจความว่า ...

การหลอกลวงครั้งนี้น่าจะเป็นการหลอกลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี 2567 จำนวนเม็ดเงินที่เสียหายอาจไม่มากกว่าดิไอคอน น่าจะใกล้เคียงกัน แต่แบ๊คกราวนด์ของผู้หลอก ที่เคยเป็นทั้งแพทย์, อาจารย์แพทย์ จบถึงจอห์นฮ๊อปสกินส์ สหรัฐ เป็นถึงผู้ก่อตั้ง รพ.เอกชนแห่งแรก ๆ ของไทย เคยผ่านยุครุ่งเรืองสุดขีด 

ได้ยินว่าผู้เสียหาย หมอเป็นร้อยคน ส่วนใหญ่เอกชน มีแม้กระทั่งคนทำงานธนาคารจนวันเกษียณ เชื่อใจในชื่อเสียง เอาเงินทั้งครอบครัวหลายสิบล้านมาเท

ผมเองเบื้องหลังก็เคยถูกชักชวนไปลงทุนกับแก ตั้งแต่ช่วงต้นโควิด แต่ผมไม่สนใจแบ๊คกราวนด์ ไปค้นดูผลงานการลงทุนของคุณหมอบุญ ที่ก็ไม่ยากที่จะสืบ พบว่า ทั้งคอนโดผู้สูงอายุและรพ.เอกชนที่ลงทุนไปในช่วงเกือบสิบปีหลัง ถือว่าล้มเหลว ทุนจมไปเกือบหมื่นล้าน ผลตอบแทนกลับมาน้อยมาก ในมุมมองผม แกจะเคยเก่งอะไรมามากเพียงใด ไม่สนใจ ผมอยู่กับปัจจุบันครับ ช่วง 2566-2567 ยังเคยถูกคุณหมอคนหนึ่งแซะผมเล็กๆ ว่ากังวลเกินไป คุณหมอบุญ แกเป็นคนระดับไหนแล้ว

สรุปที่ผมเคยสรุปไว้ก่อนลงทุน ตีให้แตกเรื่องภูมิหลัง มองข้ามความสัมพันธ์เสมอ เพราะคนมาหลอก มาดีก่อนเสมอ อย่างกรณีหมอบุญ เห็นว่า มีคนหนึ่ง รู้จักกันมา 20 ปี อาชีพนายหน้า เจอหน้ากันเรื่อยๆ ดีกันมาตลอด โดนไปหมดตัวเป็นร้อยล้าน ปัจจัยที่สามคือ คนจะหลอก จะเอาผลประโยชน์อะไรบางอย่างที่ดึงดูดใจ มาล่อ 

ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การรับรอง รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในงานเลี้ยงรับรอง บนเรือ ทร.รัสเซีย 

เมื่อ (22 พ.ย.67) เวลา 17.30 น. พล.ร.อ.ณัฏฐพล เดี่ยววาณิช ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การรับรอง พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ รองผู้บัญชาการเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ในโอกาสงานเลี้ยงรับรอง บนเรือกองทัพเรือ รัสเซีย (เรือ ทร.รัสเซีย) โดยมี น.อ.อเล็กเซย์ แอนต์ซิเฟรอฟ รองผู้บังคับการ หมู่เรือที่ 36 ปริมรอสกายา กองเรือแปซิฟิก กองทัพเรือรัสเซีย ให้การต้อนรับ ซึ่งทาง ทร.รัสเซีย ได้จัดให้มีการเยี่ยมชมเรือ RFS Rezkiy และจัดงานเลี้ยงรับรอง ที่เรือ RFS Aldar Tsydenzhapov โดยเรือทั้งสองลำ เป็นเรือคอร์เวตที่มีขีดความสามารถสูงของหมู่เรือเฉพาะกิจภาคพื้นแปซิฟิกของ ทร.รัสเซีย (Russian Pacific Naval Task Group) มีภารกิจเดินทางมาเยือนและดำเนินการฝึกร่วมกับ กำลังทางเรือของ ทร.ชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นโอกาส ในการสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น                   

โดย บรรยากาศในงานเลี้ยงรับรอง เป็นไปด้วยความอบอุ่น และรื่นเริง จัดขึ้น ณ บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ  จว.ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top