Saturday, 20 April 2024
EDUCATION COLUMNIST

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

•    แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
•    ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
•    ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
•    แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
•    นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
•    เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
•    นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
•    ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
•    ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
•    ทันตแพทย์
•    ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
•    ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

- ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง
ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

- ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ
หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

-สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน
เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

- วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ
ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

- ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน
เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด
ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที

เขียนโดย: กภ.คณิต คล้ายแจ้ง นักกายภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช


เอกสารอ้างอิง
รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.
กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.
 

แม้ว่าละครในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู

ละครโทรทัศน์ คือ ความบันเทิงในรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับจอแก้วมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกมาจนถึงการออกอากาศระบบดิจิทัล หลังจากที่มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้คนดูมีทางเลือกในการรับชมละครเพิ่มมากขึ้น และข้อที่ยังยืนยันได้ว่าละครโทรทัศน์ยังเป็นรายการที่ได้รับความนิยม ก็จากการจัดเรตติงของเนลสัน ที่พบว่า ละครโทรทัศน์ ยังคงเป็นรายการที่มีผู้รับชมสูงสุดของแต่ละสถานี และเป็นจุดขายของแต่ละสถานีในการช่วงชิงพื้นที่เรตติงหลังข่าวภาคค่ำ

โดยความคาดหวังของละครโทรทัศน์ในมุมคนดู ก็มีหลายเหตุผล เช่น เพื่อความเพลิดเพลิน ให้ความบันเทิงกับคนดู หรือเพื่อหลักหนีจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการ เราอาจจะเป็นนางเอกนิยายในชีวิตจริงไม่ได้แต่เราเป็นได้ในโลกละคร

นอกจากนี้บางครั้งละครก็ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม ให้แง่คิด และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และละครก็จะถูกตรวจสอบจากคนดูได้เช่นกันหากพบว่าเนื้อหามีความไม่เหมาะสม เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกระแสแบนละครเมียจำเป็น ทางช่อง 3 ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่บทละครที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้เกิด hashtag #แบนเมียจำเป็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ซึ่งขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

ประเด็นเนื้อหาที่ถูกพูดถึง เช่น การใส่ฉากข่มขืนในละคร พระเอกรังเกียจนางเอกที่ถูกขืนใจ แม้กระแสในโลกโซเชียลจะถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของเรื่องราว แต่ดูเหมือนว่าเรตติงตอนจบจะสวนทางกับกระแสสังคม ที่สามารถโกยเรตติงไปได้ทั่วประเทศถึง 4.7 ขณะที่ยอดชมทางออนไลน์ ก็กวาดยอดวิวรวมกัน 2 แพลตฟอร์มไปได้กว่า 500,000 วิว (TrueID, 3+)

หากเรามองว่าละคร สามารถเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นเครื่องมือในการสอนหรือกล่อมเกลาสังคมได้ การมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกฉาย อาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโลกความจริงที่คู่ขนานมากับโลกของละคร ผ่านการเลียนแบบตามหลักจิตวิทยา ที่มีทั้งรูปแบบของการเลียนแบบภายใน (Identification) ที่อาจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยากและต้องใช้เวลา และการเลียนแบบภายนอก (Imitation) ซึ่งการเลียนแบบภายนอกเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างง่ายและชัดเจน เช่น เด็กที่ดูเซเลอร์มูนแล้วทำท่าแปลงร่างตาม

หรือแม้แต่การเลียนแบบงานในสื่อมวลชน ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากการเรียนรู้ร่วมไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เราอาจจะรู้ว่าการขับรถยนต์ขับยังไงจากการดูละคร ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของเราอาจจะไม่เคยขับรถยนต์มาก่อน เรียกว่า Observation Learning หรือถ้าละครได้นำเสนอบทลงโทษของคนที่ทำผิด ผู้ที่รับชมอาจจะรู้สึกคล้ายกับว่าตนเองได้รับบทลงโทษไปด้วย และจะไม่กล้าทำตามที่นักแสดงทำ เรียกว่า Inhibitory Effect ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้พอสมควร

ดังนั้น แม้ว่าละครอยู่ในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู จึงต้องถูกคาดหวังตามมาว่าจะสามารถให้คติหรือสอนคนดูได้เช่นกัน
.
เขียนโดย: อาจารย์อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (น้ำนุ่น) อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ที่มา:
Bandura, A., (1997). Social Learning Theory. America: New Jersey.
กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์
Instagram : @klink.official
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2029213

3 วิธี ไม่ให้ครอบครัวกลายเป็นสนามรบ ในช่วงโควิด!! ยิ่งอยู่ใกล้ ทำไมยิ่งดูห่างไกล ในช่วงล็อกดาวน์

ในช่วงล็อกดาวน์ ครอบครัวหลายครอบครัวถือโอกาสใช้เวลาร่วมกัน มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ในขณะที่มีอีกหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาเรื่องงาน เงิน กระทั่งเกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง จนบ้านกลายเป็นสนามรบ สามวันดีสี่วันทะเลาะ คู่รักหลายต่อหลายคู่เลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ไม่ไปต่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนในบ้านเมืองเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก 

สถิติความขัดแย้งในครอบครัวช่วง COVID-19 จากการสำรวจของสมาคม จิตแพทย์อเมริกา (America Psychiatry Association) ร้อยละ 12 ของชาวอเมริกันยอมรับว่า ครอบครัวของพวกเขาทะเลาะกันมากขึ้น และพบว่าครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของ Lockdown แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน คนในครอบครัวกลับรู้สึกเครียด และเริ่มคิดว่าครอบครัวเริ่มมีปัญหา ทางด้านประเทศจีนพบสถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คู่สมรสที่ยื่นเรื่องขอหย่าร้างในเมืองซีอาน (Xi’an) และต้าโจว (Dazhou) เพิ่มสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 

ในขณะที่สื่อทุกช่องทางให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน และ อัตราการติดเชื้อ การเสียชีวิตออกข่าวกันเป็นรายวันรายชั่วโมง แต่ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาพูดชัดเจนในเรื่องการดูแลครอบครัวอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงล็อกดาวน์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน

ขั้นตอนแรกของการจัดการปัญหา คือการยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกกังวลและประสบความยากลำบากในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความกังวลเป็นเพียงสัญชาตญาณการต่อสู้เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น การเสพข่าวเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งวันย่อมไม่เกิดผลดี มีแต่จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

2. การสื่อสารเชิงบวกสำคัญที่สุด

ทุกคนในครอบครัวต่างก็มีความเครียดส่วนตัว ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนทำงานในบ้าน การดูแลเอาใจใส่อาจทำไม่ได้ดีเท่าตอนปกติ การเข้า Zoom ประชุมงานทั้งวัน การประสานงานพูดคุยกันโดยไม่ได้เจอหน้ากัน เหนื่อยกว่าเป็น 2 เท่า การพูดให้กำลังใจกันและกันเป็นเรื่องจำเป็น ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้มองผ่าน ชมกันให้มากกว่าต่อว่า ในตรงกันข้ามหากมีใครสักคนในบ้านเป็น Toxic Person เอาแต่ใจ พูดไม่ดี ด่าทอ อารมณ์เสียตลอดเวลา คนในบ้านก็พลอยไม่มีความสุข และหากมีใครสักคนทนไม่ได้ ตอบโต้ขึ้นมา บ้านที่เคยน่าอยู่ ก็จะกลายเป็นสนามรบทันที

3. จัดระเบียบชีวิตใหม่ 

ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ชีวิตย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะไปต่อได้ ให้ดูสิ่งของในบ้านว่าอะไรที่เกินความจำเป็นบ้าง เลือกไว้เฉพาะที่จำเป็นสำหรับคนในบ้านเท่านั้น พื้นที่ในการตั้งโต๊ะทำงาน โต๊ะเรียนหนังสือของคนในบ้านต้องมีพื้นที่เพียงพอ อุปกรณ์ในการทำงาน การเรียนต้องครบ เครื่องมือสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ควรจัดตารางเวลาลำดับหน้าที่ของแต่ละคนให้ลงตัว ช่วงงาน ช่วงเวลาอาหาร ช่วงพัก มีเวลาส่วนตัว และการพูดคุยกันในเวลาของครอบครัว จะได้เอาใจใส่ซึ่งกันและกันในช่วงนี้  นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากยังใช้วิถีชีวิตอย่างไม่เตรียมพร้อมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาได้

เชื่อว่า 3 วิธีที่พูดมา คงจะทำให้คุณจัดการกับความกังวลที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีสื่อสารเชิงบวก และการปรับตัวเองในการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้คนในครอบครัวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างถึง:

https://www.posttoday.com/life/healthy/653628
https://psychologistbkk.com/th/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C/

ท่ามกลางวิกฤติ พลังความคิดที่จะช่วยเหลือให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

ในช่วงภาวะปกติ ชีวิตแต่ละคนดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งเป้าไว้ ยิ่งปกติ ยิ่งทำให้วางแผนไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก ขอให้ทำตามแผน ต่อให้ไม่ถึงดวงจันทร์ แต่อย่างน้อยก็จะอยู่ท่ามกลางดวงดาวแน่นอน 

วัยเรียน วัยศึกษาค้นคว้า วัยรุ่น วัยโลดโผนโจนทะยาน วัยที่ต้องมีพื้นที่ในการปล่อยของ สายคงแก่เรียนเป้าหมายการทำคะแนนสอบให้ดี เกรดสูง ใฝ่ฝันศึกษาสถาบันในฝัน วาดฝันอนาคตทางวิชาการ ภาพฝันเหล่านั้น เกิดขึ้นไม่ยากจนเกินไป หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ โดยที่โฟกัสเฉพาะแค่ตัวเราเองให้ขยันหมั่นเพียรในเรื่องการเรียนก็เพียงพอ 

ณ วันนี้ ความจริง คือ สถานการณ์ไม่ปกติเสียแล้ว ทุกคนบนโลกทรงส้มแป้นนี้ เผชิญกับภาวะที่ยากลำบากครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น การเผชิญกับภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ ยังไม่พอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วแตกเป็นหลายสายพันธุ์อีกต่างหาก จุดจบเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ระหว่างนั้น พวกเราจะอยู่กันอย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ทุกช่วงทุกวัยต้องเผชิญ อยู่ด้วยการด่าทอ อยู่ด้วยความสิ้นหวัง หรืออยู่ด้วยพลังที่จะสู้เพื่อความอยู่รอด พลังที่จะช่วยเหลือกัน คิดถึงส่วนรวม ให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน  วิธีคิดเหล่านี้ “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

“จิตสาธารณะ” ไม่ใช่คำสวยหรูดูดี เมื่อใครทำความดีตามหน้าสื่อ และไม่ได้หมายถึงแค่การบริจาคสิ่งของ สละทรัพย์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว หมายถึง การมีจิตใจ ความคิด วิธีปฏิบัติที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน วิธีคิดแบบจิตสาธารณะนั้น ใช้ได้กับทุกสถาบันทางสังคม ตั้งแต่เพื่อน คนรัก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก 

“จิตสาธารณะ” จะยิ่งเห็นชัดเมื่อเกิด “วิกฤติ” เสมอ ในสภาพปกติ การจะแยกว่าใคร สังคม สถาบันไหน มีความเป็น “จิตสาธารณะ” นั้น ก็จะดูกันตามชื่อหน่วยงาน มูลนิธิ แต่เมื่อเกิด “วิกฤติ” เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “คนปกติที่เห็นกันทั่วไป” คนไหนมี “จิตสาธารณะ” อันหมายถึง บุคคลไหน คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตนอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าหมายรวมถึงในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างหน่วยงาน สถาบันต่าง ๆ ในระดับรัฐด้วย 

“จิตสาธารณะ” มีหลายระดับ ระดับดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น นี่ก็ถือว่าเป็นจิตสาธารณะ เพราะคิดถึงผู้อื่นจึงดูแลตัวเอง ระดับครอบครัว การหลีกเลี่ยงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของครอบครัวเพียงเพราะความสุขสบายของตัวเอง ก็เพราะคิดถึงส่วนรวมคือความมั่นคงภายในครอบครัว เช่นนี้ก็คือจิตสาธารณะ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่สถาบันระดับชาติก็ไม่ต่างกัน หากองค์กรต่างๆ มี “จิตสาธารณะ” ในภาวะวิกฤติจะผ่านไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เจ็บมากไปกว่าเดิม ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะมีจิตที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 

ด้วยประการข้างต้น ในภาวะวิกฤติจึงกล่าวได้ว่า ไอคิวไม่เท่าไหร่ แต่ใจต้องมีจิตสาธารณะ นั่นเอง 

เขียนโดย: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES 

วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ทำไมใครๆ ก็อิจฉาสวีเดน หนึ่งในประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก

...ประเทศสวีเดน หนึ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เคยติดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุดในโลก

...ประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพราะขยะไม่พอรีไซเคิลใช้ในประเทศ

...ประเทศแรกในโลกที่ประกาศเป้าหมายปลอดการใช้พลังงานคาร์บอน

...และยังเป็นประเทศบ้านเกิดของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังระดับโลกอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก

สวีเดนทำได้อย่างไร? วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ปัจจัยสำคัญที่สร้างสวีเดนให้มีความมั่งคั่ง และยั่งยืนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล การพัฒนาด้านนวัตกรรม สังคมคุณภาพ และการศึกษาที่มีเป้าหมายหากนับย้อนหลังไปเมื่อร้อยปีก่อน ประเทศสวีเดน อาจเป็นเพียงหนึ่งในประเทศยากจนในดินแดนยุโรป ที่อาศัยรายได้จากกสิกรรมเป็นหลัก และมักได้ผลผลิตน้อยเนื่องจากอยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวจัด และประชากรเบาบาง แต่สิ่งที่ทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลในด้านสิ่งแวดล้อมประเทศหนึ่งของโลก มีอยู่หลายปัจจัย

จุดเด่นของรัฐบาลสวีเดน คือการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน และเห็นเป้าหมาย ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่ผ่านร่างกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศที่ชื่อว่า Environmental Protection Act ตั้งแต่ปี 1967 และยังเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมโลกขององค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1972

และทราบหรือไม่ว่าเมือง Växjö ในสวีเดนเป็นเมืองแรกของโลกที่ประกาศเป้าหมายเป็นเมืองปลอดพลังงานจากคาร์บอนตั้งแต่ปี 1996 ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 ซึ่งเมือง Växjö ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเขียวขจีที่สุดในยุโรป

ทั้งนี้ รัฐบาลสวีเดนยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2045 ซึ่งเป้าหมายนี้ตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของชาติที่เรียกว่า ‘1 เจนเนอเรชั่น 16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’

หมายความว่า สวีเดนตั้งเป้าที่จะส่งมอบประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน ให้สำเร็จให้ได้ภายใน 1 ช่วงอายุคนที่ครอบคลุม 16 เป้าหมายดังนี้

1. จำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
2. อากาศบริสุทธิ์
3. รักษาสมดุลย์ของกรดในธรรมชาติ
4. สิ่งแวดล้อมที่ปลอดสารพิษ
5. ปกป้องชั้นบรรยากาศ
6. มีความปลอดภัยจากพิษรังสี
7. ปลอดมลภาวะทางน้ำ
8. แม่น้ำ ลำธารงดงาม
9. น้ำบาดาลที่มีคุณภาพดี
10. รักษาสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล
11. พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์
12. ป่าไม้ยั่งยืน
13. เกษตรกรรมหลากหลาย

14. ป่าเขาอุดมสมบูรณ์
15. สร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
16. พืชพันธุ์ สัตว์ป่าสารพัน

‘16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’ จึงเป็นเหมือนเป็นแนวทางที่รัฐบาลตั้งธงไว้ อาทิ ลดผลกระทบด้านภูมิอากาศ การบริหารจัดการขยะ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ กำจัดสารพิษ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นอกจากจะมียุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแล้ว รัฐบาลสวีเดนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยการทุ่มงบประมาณสูงถึง 400 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 1.44 พันล้านบาท) ในแต่ละปีเพื่องานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในประเทศ

โดยเฉพาะโครงการพลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย ซึ่งปัจจุบันนี้ 80% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของสวีเดน มาจากแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอนแทบทั้งสิ้น เช่นพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พลังงานจากน้ำ คลื่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ  หรือแม้แต่ความร้อนจากร่างกายมนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้เช่นกัน นับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานคาร์บอนสูงที่สุดในยุโรป

ส่วนภาคสังคมชาวสวีเดน ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวสวีเดนมีความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นิยมสินค้าออแกนิคส์ มีระเบียบวินัยสูงในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นพลังงานต่อได้ จนถึงขนาดขยะในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพนี้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เชื่อหรือไม่ว่าในจำนวนขยะทั้งหมดที่มีในสวีเดน มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่จำเป็นต้องเหลือทิ้งจริงๆ ส่วน 49% นั้นชาวสวีเดนจะใช้วิธีแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ และอีก 50% ถูกส่งไปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานในประเทศ ซึ่งในสวีเดนมีโรงงานแปรรูป ขยะ-สู่-พลังงาน ถึง 34 แห่ง 

และชาวสวีเดนมักยอมจ่ายแพง หากค่าใช้จ่ายนั้นจะช่วยในเรื่องการเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆของโลก ที่เก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 1991 แถมจ่ายในอัตราที่แพงที่สุดในโลก ที่ 1,190 โครเนอร์ (4,290 บาท) ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน 1 เมตตริกตัน และตั้งแต่เก็บภาษีคาร์บอนมาได้กว่า 30 ปี การปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลนำเงินภาษีที่ได้ไปพัฒนาสวัสดิการด้านพลังงานในประเทศ ชาวสวีเดนส่วนใหญ่จึงจิตสาธารณะในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังนิยมเลือกพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า มากกว่า 80% ของชาวสวีเดนอาศัยอยู่ไม่ไกลเกินรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ แหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติ ที่มีอยู่มากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมสันทนาการอย่างการเดินป่า ปีนเขา นอนแคมป์ จึงเป็นที่นิยมของชาวสวีเดน และยังเป็นหนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้ชาวสวีเดนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจด้วย

สังคมคุณภาพของสวีเดนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่ระบบการศึกษา ที่ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับชั้น ด้วยการสอนให้รู้ถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ การใช้ของอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ขวด แก้วพลาสติก ใช้อุปกรณ์การเรียน การสอนด้วยวัสดุรีไซเคิล

โรงเรียนในสวีเดนไม่ได้สอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะแทรกอยู่ในทุกวิชาที่เด็กเรียน เพื่อเน้นให้เด็กเห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมในภาพรวมว่าอยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน จึงไม่แปลกใจว่า ระบบการศึกษานี้ได้สร้างนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่ออกมารณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนอย่างเข้มแข็งตั้งแต่อายุ 15 ปี

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงขับเคลื่อนให้สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก และการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ปราศจากมลภาวะ จนเป็นที่อิจฉาของหลายๆประเทศ

แต่การที่จะก้าวขึ้นมายืนอยู่ในระดับเดียวกับสวีเดนได้นั้น ต้องพัฒนาโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบ ทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม และการศึกษา ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และมองเห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

เขียนโดย: อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ คอลัมนิสต์อิสระ นามปากกา Jeans Aroonrat


อ้างอิง:
https://sweden.se/nature/7-examples-of-sustainability-in-sweden/
http://www.inquiriesjournal.com/articles/1555/sweden-the-worlds-most-sustainable-country-political-statements-and-goals-for-a-sustainable-society
https://www.thehumble.co/blogs/news/sweden-aka-the-most-sustainable-country-in-the-world-1
https://hoting-tasjodalen.com/how-did-sweden-become-the-most-sustainable-country-in-the-world/
https://www.nbcnews.com/news/world/sweden-s-environmental-education-building-generation-greta-thunbergs-n1106876
https://taxfoundation.org/sweden-carbon-tax-revenue-greenhouse-gas-emissions/

'ปวดหลังร้าวลงขา' ร่วมกับอาการชาหรือไม่มีแรง อาจไม่ใช่กระดูกทับเส้นเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส

เมื่อมีอาการปวดหลังจากการนั่งทำงานนาน ๆ หรือ ยกของหนักแล้วมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการที่เกิดขึ้นมักเป็น ๆ หาย ๆ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ ร่วมกับมีอาการชาหรือไม่มีแรง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวอาจเป็นเพียงการบาดเจ็บ การอักเสบหรือเป็นพังผืดของกล้ามเนื้อสะโพกชั้นลึกที่เรียกว่า กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "สลักเพชร"

กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่มักเกิดการเกร็งหรือบาดเจ็บจากการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การนั่ง การเดิน การวิ่ง ทำให้เกิดอาการปวด "สลักเพชร" หรือก้นทางด้านหลัง กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นทางผ่านของเส้นประสาทใหญ่ที่ลงไปเลี้ยงและรับส่งสัญญาณไปกลับระหว่างขากับไขสันหลัง เมื่อเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการหนีบ จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนี้ ทำให้อาการแสดงที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ขอให้รีบไปพบนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง อย่าวิตกกังวลหรือกลัวว่าจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป เพราะอาจไม่ใช่โรคกระดูกทับเส้นประสาท

อาการนี้มักพบบ่อยในคน 4 กลุ่มคือ
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุล้มก้นกระแทก หรือ เล่นกีฬาที่มีการปะทะ
- ยกของหนักเดินขึ้นลงบันได
- วิ่งขึ้นลงทางชัน
- นั่งเก้าอี้เตี้ยนาน ๆ (เก้าอี้ที่ระดับก้นต่ำกว่าเข่า)

ผู้ป่วยส่วนมากที่มารับการรักษากล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสที่คลินิกกายภาพบำบัด คือกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการออกกำลังกายในฟิตเนส โดยเฉพาะคนที่อยากปั้นสะโพกหรือก้นให้เฟิร์มเบอร์เดียวกับเจนนิเฟอร์โลเปส หรือ กัปตันอเมริกา ดังนั้นกลุ่มนี้จะได้รับการฝึกท่าก้นอย่างหนักสารพัดท่า ซึ่งถ้าหากฝึกหนักเกินไปหรือฝึกจนเกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อก็จะเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้เช่นกัน

การป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสคือ หลีกเลี่ยงการเป็นคน 4 กลุ่มทางด้านบน และออกกำลังกล้ามเนื้อก้นด้วยความพอดี อย่ากดดันตัวเอง หรือเทรนเนอร์มากเกินไป ซึ่งความพอดีและการมีทางสายกลาง คือ หนทางป้องกันโรคนี้ได้

การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นักกายภาพบำบัดจะใช้การยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส และใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อคลายความเจ็บปวดหรือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส พร้อมทั้งแนะนำการปรับการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก

คำถามยอดฮิตสำหรับทุกคนที่มีอาการเหล่านี้ คือ
สามารถไปนวดได้ไหม? คำตอบคือ ถ้ายังไม่มีอาการชาหรือปวดร้าวลงขา ก็สามารถไปนวดได้ แต่ถ้ามีอาการชาหรือปวดร้าวลงขาแล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะดีกว่า

การประคบด้วยความร้อนหรือเย็นช่วยได้ไหม ? ต้องบอกว่าการประคบด้วยความร้อนหรือเย็นจะได้ผลดีกับเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นตื้นหรือชั้นบนเท่านั้น ไม่สามารถส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อชั้นลึกอย่างกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้ แต่หากจะประคบเพื่อบรรเทาปวดเบื้องต้นก็สามารถทำได้

เชิญชวนมายืดเหยียดกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและกล้ามเนื้อรอบสะโพก โดย 2 ท่านี้เป็นท่าที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ยืดค้างไว้จนรู้สึกตึงบริเวณก้น นาน 10 - 20 วินาที อย่าให้เจ็บมาก เมื่อทำเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ท่าที่ 1 นั่งเก้าอี้ นำข้อเท้าข้างหนึ่งวางไว้บนหน้าขาอีกข้างหนึ่งตามรูป พยายามก้มตัวลงทางด้านหน้าให้มากที่สุดจนรู้สึกตึงบริเวณก้นทางด้านหลัง ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิบนพื้นด้วยการงอขาข้างหนึ่งทางด้านหน้า ส่วนขาอีกข้างเหยียดไปทางด้านหลังตามรูป ยืดลำตัวตั้งตรง จะรู้สึกก้นทางด้านหลังและหน้าขา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

เขียนโดย: กภ.อุสา บุญเพ็ญ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด และเพจสุขภาพดี


เอกสารอ้างอิง
E R Benson and S F Schutzer. Posttraumatic piriformis syndrome: diagnosis and results of operative treatment. J Bone Joint Surg Am. 1999. P.941-949.
https://www.physio-pedia.com/Piriformis_Syndrome
http://www.freyagilmore.uk/2016/08/30/piriformis-syndrome/
https://www.precisionnutrition.com/doctor-detective-sciatic-pain
https://www.inquirer.com/philly/health/personal-best/an-integrative-stretching-plan-to-combat-tight-hips-20171206.html

เยาวชนจีนยุคใหม่ 'หัวก้าวหน้า' และ 'รักชาติ' ไปพร้อมกัน

“ประเทศจีนไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่มันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” ความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ในจีน ยุคที่เราเรียกว่า #เยาวชนยุคสีจิ้นผิง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา The Economist ได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนในเวลานี้ นั่นคือ ‘เยาวชนรุ่นสีจิ้นผิง’ หรือ ‘Generation Xi’

ซึ่งเป็นการนิยามเยาวชนจีนในปัจจุบันที่ทั้งมี ‘ความรักชาติ-ชาตินิยม’ (Patriotism) แต่ก็ ‘หัวก้าวหน้า’ (Progressive) มีความคิดสมัยใหม่ พร้อมขับเคลื่อนสังคมจีนให้พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา

----------------
'เยาวชนคืนถิ่น'
----------------

ปัจจุบันเยาวชนจีน เริ่มหลั่งไหลกลับไปทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดตามชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทในประเทศจีนลดน้อยลง

พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง การสร้างเมืองใหม่ การค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละมณฑล ระบบอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบ มีทางเลือกมากกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานหรือพนักงานกินเงินเดือนในเมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง

----------------
ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงด้วยเทคโนโลยีออนไลน์
----------------

เทคโนโลยีและระบบออนไลน์ ทำให้ความแตกต่างระหว่างการอยู่ ‘เขตเมือง’ กับ ‘เขตชนบท’ ลดน้อยลงมาก ผู้คนในเมืองเล็กๆ หรือชนบทช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่

เมื่อทุกคนเข้าถึงระบบได้จากทุกที่บนผืนแผ่นดินจีน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมากระจุกตัวกันตามเมืองใหญ่

คนรุ่นใหม่ในจีนเห็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวจากระบบออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัล จากการลงทุน การค้า การโฆษณา การทำตลาดออนไลน์ ในขณะที่ทัศนคติเรื่องการรับราชการมีน้อยลง

กระแสโรแมนติกของการหวนคืนสู่ธรรมชาติอันชนบทมีมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่พากันหาสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมารีวิวขายในตลาดออนไลน์ ประกอบกับการรีวิวการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชนจีนก็ได้พัฒนาระบบการค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกในทุกมิติ ตั้งแต่การสั่งซื้อ-ขาย การขนส่ง ค่าบริการขนส่งที่มีราคาต่ำ ซึ่งช่วยทำให้ตลาดการค้าเติบโตได้อย่างดี

----------------
'คนจีนโพ้นทะเลคืนถิ่น' (海归)
----------------

ด้านคนรุ่นใหม่ของจีนที่ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก เริ่มหันกลับมาทำงานในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสเติบโตที่มากขึ้น รวมถึงรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อในการทำงาน

ประกอบกับปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และนโยบายกดดันจีนของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ชาวอเมริกันมองจีนและชาวจีนเป็นภัยคุกคามต่อการครองอำนาจนำของตน จนเกิดกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ชาวเอเชียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีน หันหน้ากลับไปยังแผ่นดินแม่ที่ซึ่งมีโอกาสมีรายได้ที่ดี และไม่มีปัญหาด้านการเหยียดชาติพันธุ์ รอพวกเขาอยู่

จากสถิติคนจีนที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวน 6.2 ล้านคนในระหว่างปี ค.ศ. 2000 - 2019 ปัจจุบันมีถึง 4 ล้านคนที่กลับมาทำงานในประเทศจีน

ในขณะที่ปี 2001 มีเพียงแค่ 14% เท่านั้นที่กลับมาทำงานในประเทศจีนหลังจบการศึกษาในต่างประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คนจีนที่ไปศึกษาต่อและกลับมาทำงานในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นไปถึง 4 ใน 5 ส่วนของทั้งหมด

----------------
*** แน่นอนว่าทุกประเทศทุกสังคมล้วนมีปัญหาของตน แต่การที่คนรุ่นใหม่จะมีสำนึกรักชาติหรือภูมิใจในชาติบ้านเมืองได้ พวกเขาต้องเห็นอนาคต เห็นโอกาส และการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย

และนั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำให้กับประชาชนของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศทุกประเทศควรนำมาศึกษาเป็นบทเรียนครับ

เขียนโดย: อ.ดร. กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL)


อ้างอิง:
https://www.economist.com/special-report/2021-01-23
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/young-chinese-are-both-patriotic-and-socially-progressive
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/the-gap-between-chinas-rural-and-urban-youth-is-closing
https://thinkmarketingmagazine.com/should-mena-be-looking-into-chinas-youth-for-the-future-zak-dychtwald-talks-young-china/

ทำความรู้จัก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน : Infrastructure Fund” เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงวิกฤต

แม้ในช่วงวิกฤติจะส่งผลให้การลงทุนเกิดความผันผวนอย่างมาก ทั้งต่อระดับความเสี่ยงจากการลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็ตาม แต่หากนักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนโดยเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำทั่วโลก การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IFF) เป็นทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ และมีความผันผวนในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้น เนื่องจากจุดเด่นของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่มีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ ไม่ผันแปรตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มี Barrier of Entry สูง (เป็นเจ้าตลาด หรือ ธุรกิจผูกขาด) จึงทำให้มีคู่แข่งขันเข้ามายาก ตลอดจนความสามารถในการขึ้นราคาเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือในภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ภาครัฐและเอกชนใช้ในการระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศ 10 ประเภท ประกอบด้วย ระบบขนส่งทางราง, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน, สนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคา นอกจากนี้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้เงินปันผลดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ในประเทศไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF
2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF
3.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGATIF
4.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF
5.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF
6.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF
7.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF และ
8.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF

นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ
1.) การซื้อหุ้น IPO ที่ทำการเสนอขายครั้งแรก ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่บริหารจัดการจัดการกองทุนนั้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และ

2.) ภายหลังจากหมดช่วง IPO แล้ว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้นทั่วไปบนกระดานหุ้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องเปิดบัญชีและทำการซื้อขายหุ้นโครงสร้างพื้นฐานผ่านโบรกเกอร์ได้

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/th/products/listing2/set_iff_p1.html
https://www.finnomena.com/finnomena-ic/scbgif/

การที่ JD Group ได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งทางด้านการค้าออนไลน์ในจีนนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากระบบที่โลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง!!

ท่านผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินชื่อ JD.com ผู้ให้บริการขายสินค้าออนไลน์จากจีนที่ได้เข้ามาในไทยไม่กี่ปีที่ผ่านมา การที่ JD Group ได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งทางด้านการค้าออนไลน์ในจีนนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากระบบที่โลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง

ปี 2003 ประเทศจีนเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาซื้อของนอกบ้าน ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) ที่เคยเปิดร้านขายอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์จึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจออนไลน์ และเริ่มก่อตั้ง JD.com ในปี 2004

แต่เดิม JD.com ได้ว่าจ้างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภายนอก (third party logistics) เป็นผู้กระจายสินค้าให้แก่ตน และทางบริษัทเห็นว่าการที่จะชนะคู่แข่งที่อยู่ในตลาดมาก่อนอย่าง Alibaba ได้ต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ผู้ให้บริการที่มีอยู่ในขณะนั้นยังไม่สามารถตอบสนองได้ตามต้องการ จึงได้ก่อตั้ง JD Logistics ขึ้นในปี 2007 โดยเป้าหมายคือส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่าง Amazon ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซระดับโลก 

ในปี 2010 เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายแรกที่ให้บริการการจัดส่งแบบภายในวันและการจัดส่งในวันถัดไป (same-day and next-day delivery)  ในขณะที่ Amazon ยังให้บริการจัดส่งภายใน 2 วัน และเริ่มให้บริการจัดส่งภายในวันเดียวในอีก 9 ปีต่อมา

ในปี 2016 JD.com เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายแรกที่เริ่มให้บริการส่งสินค้าด้วยโดรน โดยมองเห็นปัญหาว่าชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล เส้นทางทุรกันดาร มีทางเลือกในการซื้อสินค้าน้อย เพราะผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าเข้าไม่ถึงเนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่สูงและไม่คุ้มกับค่าเดินทาง  JD Logistics จึงใช้โดรนที่พัฒนาขึ้นโดย JD-X หน่วยธุรกิจใน JD Group ที่ทำหน้าวิจัยและพัฒนาระบบ Smart Logistics ในการจัดส่งสินค้า ขั้นตอนการทำงาน คือ โดรนพร้อมสินค้าถูกส่งออกจากสถานีขนส่งในแต่ละเมืองและบินไปส่งสินค้าในแต่ละหมู่บ้านตามจุดกำหนด ต่อจากนั้นผู้ประสานงาน JD Logistics แต่ละชุมชนนำสินค้าไปส่งมอบให้ถึงบ้านลูกค้า โดยวิธีการนี้จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมงในการขับรถอ้อมเขา หรือต้องต่อเรือเพื่อไปยังเกาะต่าง ๆ เหลือเพียงไม่กี่นาทีสินค้าก็ถูกส่งถึงมือลูกค้าที่อยู่ห่างไกลด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าวิธีการเดิม 

ปี 2019 JD Logistics ได้เปิดตัวรถส่งสินค้าอัตโนมัติมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งให้ยังลูกค้าตามสถานที่ต่าง ๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากสถานีขนส่ง โดยรถ 3 คัน สามารถทำงานทดแทนพนักงานขนส่งสินค้าได้ถึง 2 คน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนในการจ้างงาน และยิ่งมีประโยชน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันให้บริการใน 20 เมืองในจีน

และในปี 2020 JD Logistics เปิดให้บริการจัดส่งด่วนภายในหนึ่งชั่วโมง และขยายศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ ที่ทำการคัดแยกสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติที่เรียกว่า ”Asia No.1 logistics park” ไปยัง 28 แห่งทั่วประเทศจีน เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการจัดส่งสินค้าแบบภายในวันและการจัดส่งในวันถัดไป โดยเพิ่มจาก 6 เมืองเมื่อสิบปีที่แล้วเป็น 200 เมือง ในส่วนเมืองขนาดเล็กที่ไม่คุ้มกับการสร้างศูนย์กระจายสินค้าของตนเอง ได้มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งในท้องถิ่นให้ทำการจัดเก็บและกระจายสินค้าให้ผ่านระบบของ JD Logistics จนในปัจจุบันมีเครือข่ายคลังสินค้าถึง 1,000 แห่ง และมีพื้นที่รวมกันมากถึง 21 ล้านตารางเมตร

จากตัวอย่างที่เล่ามาเห็นได้ว่า JD.com ได้มุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านการตอบสนองที่รวดเร็ว เพื่อให้ได้ผลตามกลยุทธ์ที่ตั้งไว้จึงได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เป็นที่หนึ่งทางด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีน

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.chinadaily.com.cn/a/202012/25/WS5fe54b99a31024ad0ba9e7f6.html
https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/autonomous-delivery-vehicles-deployed-in-chinese-cities-amid-the-covid-19-pandemic
https://www.businessinsider.com/how-chinese-ecommerce-giant-jd-logistics-built-up-to-34-billion-ipo-2021-5
https://corporate.jd.com/ourBusiness#jdLogistics

พูดกับลูกแบบนี้ ไม่ได้ผล!! การพูดจาข่มขู่ เป็นวิธีการให้ลูกทำตัวเกเร ไม่มีการกระทำที่ถูก จากวิธีคิดที่ผิด

พ่อแม่บางคนติดกับดักอำนาจตัวเอง สำหรับเด็กๆ แล้วเหมือนคำท้าทายให้เด็กๆ ทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม คำว่า “เดี๋ยวเถอะ ถ้าลูกทำอีกครั้งนะ” การรับรู้ของเด็กจะไม่ได้ยินคำว่า “ถ้าลูก” แต่จะได้ยินคำว่า “ลูกทำอีกครั้งนะ” การตีความการข่มขู่ครั้งนั้น เหมือนว่า ถูกคาดหวังว่าให้พวกเขาทำตัวเกเรอีกครั้ง

คำตักเตือนของคุณ เสมือนเป็นการท้าทายให้เด็กพยามแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเขาเป็นคนเคารพในตัวเองมากๆ เขาจะฝ่าฝืนคำสั่งคุณ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่รู้สึกเกรงกลัวและหวั่นไหวเมื่อถูกข่มขู่

วิธีสื่อสารบางอย่างที่เราใช้พูดกับลูก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลอย่างยิ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่บรรลุจุดมุ่งหมายในการสื่อสารกับลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มันจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย วิธีสื่อสารที่ว่า เช่น การข่มขู่ การติดสินบน การให้คำมั่นสัญญา การพูดจาถากถาง การใช้คำพูดที่รุนแรงเกินเหตุ การพูดทำร้ายจิตใจ รวมถึงการสอนเด็กให้สุภาพมีมารยาทด้วยคำพูดที่หยาบคาย

การทำร้ายเด็กด้วยคำพูด ข่มขู่ ต่อว่า ตำหนิ ว่าเขาน่าเกลียด โง่  ซุ่มซ่าม ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจะมีปฏิกิริยาทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น เสียใจ โกรธ เกลียด เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะในใจครุ่นคิดแต่จะเอาคืน อาจมีปัญหาในการแสดงออก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ต้องทุกข์ระทม

พ่อแม่ที่พูดซ้ำ ๆ ว่าลูกโง่ เด็กคนนั้นก็จะเชื่อคำพูดประโยคซ้ำๆ นี้โดยอัตโนมัติ เชื่อว่าตัวเองนั้นโง่จริงๆ เขาจะเริ่มเห็นตัวเองเป็นคนโง่ลงเรื่อย ๆ  และจะยอมแพ้ต่อความพยายามและต่อการใช้ความคิดไปโดยปริยายเช่นกัน

แต่ก็ประหลาดใจมากที่บ่อยครั้งที่ได้ยินคำพูดที่ข่มขู่ เกรี้ยวกราด ถากถาง คำพูดเชิงลบ ที่ลดคุณค่าตัวตนของลูก

ตัวอย่างเช่น 
- เธอมันหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ทำอะไรก็ไปไม่รอด
- ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลก ธุรกิจฉันก็ขาลงทันที
- เธอมันเหมือนแม่ไม่มีผิด ไม่ได้เรื่องพอๆ กัน
- อย่าให้ฉันรู้นะว่าเธอ….
- คนอย่างเธอมันเก่งไม่จริง
- ระวังตัวให้ดี สักวันหนึ่ง….
- เธอมันคือตัวปัญหา ตัวซวย

แบบแผนการสื่อสารแบบนี้ ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีแต่จะทำร้ายจิตใจลูกให้ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังของหลักการสื่อสาร คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และต้องมีความเคารพในตัวของเด็ก


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล: หนังสือ วิธีพูดกับลูก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top