3 วิธี ไม่ให้ครอบครัวกลายเป็นสนามรบ ในช่วงโควิด!! ยิ่งอยู่ใกล้ ทำไมยิ่งดูห่างไกล ในช่วงล็อกดาวน์

ในช่วงล็อกดาวน์ ครอบครัวหลายครอบครัวถือโอกาสใช้เวลาร่วมกัน มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ในขณะที่มีอีกหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาเรื่องงาน เงิน กระทั่งเกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง จนบ้านกลายเป็นสนามรบ สามวันดีสี่วันทะเลาะ คู่รักหลายต่อหลายคู่เลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ไม่ไปต่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนในบ้านเมืองเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก 

สถิติความขัดแย้งในครอบครัวช่วง COVID-19 จากการสำรวจของสมาคม จิตแพทย์อเมริกา (America Psychiatry Association) ร้อยละ 12 ของชาวอเมริกันยอมรับว่า ครอบครัวของพวกเขาทะเลาะกันมากขึ้น และพบว่าครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของ Lockdown แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน คนในครอบครัวกลับรู้สึกเครียด และเริ่มคิดว่าครอบครัวเริ่มมีปัญหา ทางด้านประเทศจีนพบสถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คู่สมรสที่ยื่นเรื่องขอหย่าร้างในเมืองซีอาน (Xi’an) และต้าโจว (Dazhou) เพิ่มสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 

ในขณะที่สื่อทุกช่องทางให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน และ อัตราการติดเชื้อ การเสียชีวิตออกข่าวกันเป็นรายวันรายชั่วโมง แต่ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาพูดชัดเจนในเรื่องการดูแลครอบครัวอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงล็อกดาวน์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน

ขั้นตอนแรกของการจัดการปัญหา คือการยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกกังวลและประสบความยากลำบากในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความกังวลเป็นเพียงสัญชาตญาณการต่อสู้เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น การเสพข่าวเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งวันย่อมไม่เกิดผลดี มีแต่จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

2. การสื่อสารเชิงบวกสำคัญที่สุด

ทุกคนในครอบครัวต่างก็มีความเครียดส่วนตัว ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนทำงานในบ้าน การดูแลเอาใจใส่อาจทำไม่ได้ดีเท่าตอนปกติ การเข้า Zoom ประชุมงานทั้งวัน การประสานงานพูดคุยกันโดยไม่ได้เจอหน้ากัน เหนื่อยกว่าเป็น 2 เท่า การพูดให้กำลังใจกันและกันเป็นเรื่องจำเป็น ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้มองผ่าน ชมกันให้มากกว่าต่อว่า ในตรงกันข้ามหากมีใครสักคนในบ้านเป็น Toxic Person เอาแต่ใจ พูดไม่ดี ด่าทอ อารมณ์เสียตลอดเวลา คนในบ้านก็พลอยไม่มีความสุข และหากมีใครสักคนทนไม่ได้ ตอบโต้ขึ้นมา บ้านที่เคยน่าอยู่ ก็จะกลายเป็นสนามรบทันที

3. จัดระเบียบชีวิตใหม่ 

ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ชีวิตย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะไปต่อได้ ให้ดูสิ่งของในบ้านว่าอะไรที่เกินความจำเป็นบ้าง เลือกไว้เฉพาะที่จำเป็นสำหรับคนในบ้านเท่านั้น พื้นที่ในการตั้งโต๊ะทำงาน โต๊ะเรียนหนังสือของคนในบ้านต้องมีพื้นที่เพียงพอ อุปกรณ์ในการทำงาน การเรียนต้องครบ เครื่องมือสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ควรจัดตารางเวลาลำดับหน้าที่ของแต่ละคนให้ลงตัว ช่วงงาน ช่วงเวลาอาหาร ช่วงพัก มีเวลาส่วนตัว และการพูดคุยกันในเวลาของครอบครัว จะได้เอาใจใส่ซึ่งกันและกันในช่วงนี้  นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากยังใช้วิถีชีวิตอย่างไม่เตรียมพร้อมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาได้

เชื่อว่า 3 วิธีที่พูดมา คงจะทำให้คุณจัดการกับความกังวลที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีสื่อสารเชิงบวก และการปรับตัวเองในการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้คนในครอบครัวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างถึง:

https://www.posttoday.com/life/healthy/653628
https://psychologistbkk.com/th/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C/