ทำความรู้จัก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน : Infrastructure Fund” เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงวิกฤต

แม้ในช่วงวิกฤติจะส่งผลให้การลงทุนเกิดความผันผวนอย่างมาก ทั้งต่อระดับความเสี่ยงจากการลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็ตาม แต่หากนักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนโดยเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำทั่วโลก การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IFF) เป็นทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ และมีความผันผวนในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้น เนื่องจากจุดเด่นของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่มีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ ไม่ผันแปรตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มี Barrier of Entry สูง (เป็นเจ้าตลาด หรือ ธุรกิจผูกขาด) จึงทำให้มีคู่แข่งขันเข้ามายาก ตลอดจนความสามารถในการขึ้นราคาเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือในภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ภาครัฐและเอกชนใช้ในการระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศ 10 ประเภท ประกอบด้วย ระบบขนส่งทางราง, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน, สนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคา นอกจากนี้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้เงินปันผลดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ในประเทศไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF
2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF
3.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGATIF
4.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF
5.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF
6.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF
7.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF และ
8.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF

นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ
1.) การซื้อหุ้น IPO ที่ทำการเสนอขายครั้งแรก ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่บริหารจัดการจัดการกองทุนนั้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และ

2.) ภายหลังจากหมดช่วง IPO แล้ว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้นทั่วไปบนกระดานหุ้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องเปิดบัญชีและทำการซื้อขายหุ้นโครงสร้างพื้นฐานผ่านโบรกเกอร์ได้

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/th/products/listing2/set_iff_p1.html
https://www.finnomena.com/finnomena-ic/scbgif/