Friday, 19 April 2024
EDUCATION COLUMNIST

คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ยาวนาน จะมีความเหมือนกัน มากกว่าความแตกต่างในช่วงเริ่มต้น ในการพบกันครั้งแรกพวกเขาสังเกตเห็นลักษณะของอีกฝ่ายที่พวกเขาเองก็มี ลักษณะเหล่านี้บ่งบอกว่าทั้งคู่อาจมีความสัมพันธ์ที่เข้ากันได้ในอนาคต

เคยได้ยินคำพูดที่ว่า เรามองหาคนที่แตกต่างจากเรา เพื่อมาเติมเต็มส่วนที่เราขาดหาย เขาคนนั้นจะเป็นสีสันและความแปลกใหม่ในชีวิตที่เราไม่เคยได้พบ เพื่อให้ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจของเราไม่น่าเบื่อ เพราะหากเลือกคนที่นิสัยเหมือนกัน ก็คงอยู่กันได้ยาก แต่ความจริงแล้วสิ่งนี้อาจเป็นความเข้าใจที่ผิด

เราไปอ่านเจอบทความต่างประเทศเรื่องหนึ่งมา ซึ่งเขารวบรวมความเชื่อหรือความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับความรักเอาไว้ มีหลายข้อที่น่าสนใจ แต่วันนี้เราขอหยิบหัวข้อที่คิดว่าหลายคนน่าจะเข้าใจผิดเหมือนกันมาคุย โดยข้อที่ว่า คือ “สิ่งตรงข้ามดึงดูด” แม้คำนี้จะได้รับความนิยมและดูท่าว่าจะเป็นจริง แต่ก็มีการพิสูจน์แล้วว่าผิด

บทความกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ยาวนานจะมีความเหมือนกัน มากกว่าความแตกต่างในช่วงเริ่มต้น ในการพบกันครั้งแรกพวกเขาสังเกตเห็นลักษณะของอีกฝ่ายที่พวกเขาเองก็มี ลักษณะเหล่านี้บ่งบอกว่าทั้งคู่อาจมีความสัมพันธ์ที่เข้ากันได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังพบว่าคู่รักที่มีบุคลิกและค่านิยมคล้ายคลึงกันจะทำหน้าที่พ่อแม่ได้ดีกว่าคู่รักที่มีนิสัยต่างกัน

เราก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกว่า เราอยากหาคนที่มีนิสัยแตกต่างจากตัวเอง เพื่อมาเติมเต็มส่วนที่เราขาดหาย เป็นความท้าทายในชีวิต เช่น เราอยากได้คนที่กล้าตัดสินใจ เด็ดขาด เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองโลเล ไม่มั่นใจ เราอยากได้คนที่พูดน้อย ชอบรับฟัง เพราะเราพูดเก่ง เราอยากได้คนที่กินง่าย เพราะเรากินยาก เวลาไปกินข้าวด้วยกัน เขาจะได้ช่วยเรากิน (ฮา) เราว่าหลายคนก็มีความคิดแบบนี้นะ การมองหาและพยายามแก้ไขสิ่งที่เราไม่มี ด้วยการสะท้อนมันจากตัวตนของอีกฝ่าย ชีวิตธรรมดาที่ดำเนินเช่นเดิมมาตลอด อาจจะมีเรื่องแปลกใหม่ที่ทำให้ตื่นเต้นและคาดไม่ถึงอยู่บ้าง

แต่ข้อมูลจากบทความที่กล่าวไปข้างต้น กลับสั่นคลอนความเข้าใจของเรา ลองมาตกตะกอนอีกที น่าคิดนะว่า หรือความเหมือนต่างหากที่จะทำให้ความสัมพันธ์ยืนระยะยาว เพราะความต่าง คือการที่เราอยากได้คนมาเติมเต็มส่วนที่ขาด ได้ความตื่นเต้น แปลกใหม่ คาดเดายาก แต่เราไม่ได้บอกว่ามันจะทำให้ความสัมพันธ์นั้นยืนยาว กลับกันถ้าเรามองหาคนที่นิสัยเหมือนกัน ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน ทัศนคติตรงกัน คนแบบนี้หรือเปล่าที่จะทำให้เราอยู่กับเขาไปได้อย่างยาวนาน

ลองคิดภาพคนที่ต่างจากเรา เขาสามารถกินได้ทุกอย่าง แต่เราเลือกกิน วันหนึ่งเกิดทะเลาะกันเรื่องร้านอาหารขึ้นมา หรือเราชอบคนพูดน้อย เพราะเราพูดมาก เลยอยากให้เขาฟัง แต่ถ้าเขาอยากอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้อยากฟังเราพูดล่ะ หรือถ้าชอบฟังเพลงคนละแนว นั่งรถไปจะแย่งกันเปิดเพลงไหม ถ้าอีกคนชอบออกไปเที่ยว แต่อีกคนชอบนอนอยู่บ้านล่ะ ถ้าเป็นความต่างแบบนี้ ก็ดูท่าความสัมพันธ์จะไม่ยืนยาวเท่าไหร่ ต้องปรับให้กันอีกมากโข

กลับกัน ถ้าเราเจอคนที่ชอบพูดเหมือนกัน เล่านู่นเล่านี่ที่เจอ ช่างจ้อ บทสนทนาคงไม่กร่อย หรือคนที่ชอบท่องเที่ยวเหมือนกัน วันหยุดคงพากันจัดทริปไปไหนต่อไหน คนที่กินเก่งเหมือนกัน ก็คงพากันไปตะลุยกิน คนที่เข้าใจในความเงียบของกันและกัน สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น มากกว่าความแตกต่างที่เราเคยเข้าใจ

แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องย้ำเหมือนเดิมว่า มันเป็นเรื่องของคนสองคน ที่ไม่ว่าจะเหมือนกันสุดขีด หรือต่างกันสุดขั้ว ถ้าไม่มีความรักเป็นตัวนำก็คงยากที่จะไปกันรอด ส่วนเหตุผลยิบย่อยในความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ทุกคู่ต้องช่วยกันปรับ และประคับประคองกันไป หากคนสองคนรักกัน ย่อมหาวิธีที่จะไม่เสียความรักนั้นไป คงมีเส้นทางและด่านทดสอบอีกมาก ให้ช่วยกันหาทางออก ไม่มีอะไรที่ราบรื่นสมดังใจหวังทุกอย่าง เพราะความรักมันไม่เคยง่าย…


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล: https://brightside.me/inspiration-relationships/6-myths-about-love-that-people-still-believe-in-444860

ทรรศนะจาก Derek Hopper อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics จาก University of Oxford) : “ครูไม่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของเด็กที่จะต้องมีสมาธิ ตั้งใจฟัง มันเป็นหน้าที่ของครูต่างหาก ที่จะต้องทำให้การสอนและบรรยากาศการเรียนน่าดึงดูด”

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่ต้องการให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ) ได้จัด Virtual Orientation & Training เป็นครั้งแรกสำหรับติวเตอร์ “คนไทยรุ่นใหม่” กว่า 80 คนของเราซึ่งมาจากสถาบันชั้นนำทั้งในและนอกประเทศ

ในวันที่สองของงาน เราได้จัด Panel เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของ Edsy ได้แก่อาจารย์ Derek Hopper จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics from Oxford University) และครูหญิง (KruYing English, Master of Education from Teachers College at Columbia University) ได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ “What Makes a Great Teacher?”

สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ ผมอยากจะแชร์มุมมองของอาจารย์ Derek และครูหญิงเพิ่มเติม เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “What are the qualities that make ones good or bad teachers?” (คุณครูที่ดีและไม่ดี มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร)

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอาจารย์ Derek คือ การเตรียมการเรียนการสอน ซึ่งระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเตรียมการสอนอาจจะแตกต่างไปตามรูปแบบ (การเรียนตัวต่อตัว การเรียนกลุ่มเล็ก หรือเล็คเชอร์กลุ่มใหญ่) เวลาในการสอน เนื้อหาและสื่อการสอน

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งการเตรียมการสอนเพียง 10-15 นาทีก็สามารถสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นครูที่ดีที่หลายคนมองข้าม นอกจากนี้ การบริหารจัดการคลาสก็เป็นเรื่องสำคัญ ครูที่ดีต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความตรงต่อเวลา ต้องทำความเข้าใจนักเรียนอย่างลึกซึ้งและทุ่มเทกับการสอนอย่างแท้จริง

“So, be organized! Prepare for class. Be on time. And be dedicated to teaching, know your learners.”

ดังนั้น ครูที่ไม่ดีหรือควรปรับปรุงสำหรับอาจารย์ Derek หลักๆ แล้วก็คือผู้ที่ “ไม่ organized” หรือเตรียมการสอนและบริหารจัดการการเรียนการสอนไม่ดีนั่นเอง

คำถามที่ยากกว่าคือ เราจะแบ่งระหว่างครูที่ดีและครูที่ดีเยี่ยมหรือดีสุดยอดอย่างไร? “How to separate ‘great’ from ‘good’ teachers?”

ครูหญิงมองว่าครูที่ดีสุดยอด คือครูที่ทำตัวเป็นนักเรียน ในเชิงการเป็นผู้ที่ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ยังมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากเด็ก เพื่อนำไปพัฒนาทั้งตนเองและวิธีการสอนของตนต่อไป ดังนั้น ครูผู้ไม่หยุดเรียนรู้ก็จะสามารถพัฒนาได้ขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใจเด็กได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และสอนได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือต้องกล้าที่จะยอมรับเมื่อผิดและเรียนรู้จากมัน

อาจารย์ Derek ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ครูไม่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของเด็กที่จะต้องมีสมาธิ ตั้งใจฟังในห้องเรียน นั่นเป็นความเข้าใจที่คุณครูหลายคนมี แต่ในความเห็นของอาจารย์ Derek มันเป็นหน้าที่ของครูที่ดีจริงๆ ต่างหาก ที่จะต้องทำให้การสอนของตนและบรรยากาศในห้องเรียนมีความดึงดูดพอที่จะทำให้นักเรียนสนใจและตั้งใจ

“It is sometimes mistaken that it’s the students’ job to pay attention in class. However, it is actually the teachers’ job to get learners’ attention to focus on what the teacher is saying.”

ในคำถามสุดท้ายก่อนปิดสัมมนาหัวข้อ What Makes a Great Teacher เราขอให้อาจารย์ Derek และครูหญิงแชร์เทคนิค วิธีการพัฒนาและปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นอย่างเห็นผลทันที "If there’s one thing anyone can do to dramatically improve his / her teaching, what would that be?"

ครูหญิงกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ที่อยากจะเป็นครูที่ดีทำได้คือ การเชื่อในตัวนักเรียน เชื่อในความสามารถของเขา แสดงให้นักเรียนเห็นถึงความเชื่อมั่นและกำลังใจที่เรามีให้อย่างแท้จริง ดังนั้น ครูต้องเป็นผู้ฟังที่ดีเพื่อที่จะสามารถช่วยหาทางให้เขาเติบโตขึ้น (“grow up as a person”) ได้อย่างงดงาม

อาจารย์ Derek ฝากไว้ว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ครูเก่ง ๆ แตกต่างจากครูคนอื่น ๆ คือความสามารถในการทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย ดังนั้น ถ้าอยากจะพัฒนาเป็นครูที่ดี (หรือดีขึ้น) ให้ตั้งใจคิด ทบทวนว่ามีวิธีไหนที่จะอธิบายเนื้อหายากๆ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด เช่น ถ้าหนังสือเรียนมีตัวหนังสือหรือคำอธิบายที่ค่อนข้างเยอะและซ้ำซ้อน จะมีสิ่งใดบ้างที่คุณสามารถสรุป รวบยอดให้นักเรียน หรือกระทั่งตัดมันไปหากไม่เกิดประโยชน์

...หลังจากจบ Virtual Orientation & Training ครั้งแรกสำหรับติวเตอร์ “คนไทยรุ่นใหม่สำเนียงคล้ายเจ้าของภาษา” ของเรา…Edsy มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าติวเตอร์ของเราจะสามารถทำให้คลาสภาษาอังกฤษของน้องๆ นักเรียนประถม - มัธยมต้น จะเต็มไปด้วยความสนุกสนานและไม่จำเจอีกต่อไป ได้ทั้งความรู้เพื่อปรับพื้นฐานคำศัพท์ - ไวยากรณ์ให้มั่นคง และได้โอกาสในการนำไปต่อยอด ฝึกฝนเพื่อพัฒนาทักษะพูด ฟัง อ่าน เขียน ให้ใช้ภาษาได้อย่างแท้จริง...

ฟังคลิปวิดีโอเต็ม “What Makes a Great Teacher” โดยอาจารย์ Derek Hopper และครูหญิง KruYing English ได้ที่ Facebook @edsythailand


เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy

Line ID: @edsy.th

วิทยาศาสตร์พัฒนาชาติ Part.1 เส้นทางการคัดเลือกนักเรียนหัวกะทิ สู่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนในฝันสำหรับ 72 คนผู้เป็นเลิศ (KVIS)

6,000 - 8,000 คน ในแต่ละปี มีนักเรียนทั่วประเทศ ม.3 ระดับหัวกะทิ ที่ผ่านเงื่อนไขการรับสมัครสอบแข่งขันชิงทุนเข้าเรียน ม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ วังจันทร์ ระยอง ในกำกับดูแลของบริษัทไทยใหญ่ระดับโลก ปตท. มูลค่าทุน ต่อคน ปีละ 880,000 บาท ตลอดหลักสูตร ม.ปลาย เป็นเวลา 3 ปีแค่ 72 คนต่อรุ่น ผลสำเร็จที่ได้ และ คัดนักเรียนระดับไหน อย่างไร มาทำความเข้าใจกันครับ

จากความสำเร็จตามเป้าหมาย ของรุ่นพี่รุ่นที่ 1 - 3 ที่ผ่านมา เป็นตัววัดความสำเร็จในการสร้างคนระดับหัวกะทิ แนวหน้าวิทยาศาสตร์มารับใช้ชาติทุกแขนงวิชา ตามสถิติที่นำมาแสดง

“สรุปผลการศึกษาต่อของนักเรียนโรงเรียนกําเนิดวิทย์ รุ่นที่ 1 - 3”

ปัจจุบันโรงเรียนกำเนิดวิทย์มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 3 รุ่น และเป็นที่น่ายินดีว่าทางโรงเรียนได้เอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคล จนแต่ละคนได้ค้นพบ ความชอบ ความรัก ความถนัด และได้ศึกษาต่อในสาขาตามความสนใจของตนเอง

มักมีคำถามอยู่เสมอว่านักเรียนของโรงเรียนหลังจบการศึกษาไปแล้ว จะเข้าศึกษาต่อในสาขาใดได้บ้าง ได้ไปต่างประเทศ หรือรับทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งคุณครูไพลิน ลิ้มวัฒนชัย (คุณครูหยกฟ้า) งานแนะแนว ของโรงเรียน ได้อนุญาตให้นำข้อมูลมาเผยแพร่ คงจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า หากนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์อยากจะศึกษาต่อที่ใด หรือต้องการประสบความสำเร็จในการคว้าทุนใด ขอเพียงตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน นักเรียนมีความตั้งใจเรียนและหมั่นพัฒนาศักยภาพของตัวเองตามแนวทางที่โรงเรียนได้จัดไว้ และฝึกทักษะตนเองในด้านที่สนใจแล้ว โอกาสที่นักเรียนจะเดินไปตามเส้นทางฝัน ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ข้อมูลคณะที่เรียน ทุนที่ได้ เรียนไทย หรือต่างประเทศ ติดตามเพิ่มเติมใน

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2951106925163065&id=1830931710513931&sfnsn=mo

นักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์มีโอกาสดี ๆ จากการได้โควตาและทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“นักเรียน KVIS กับสิทธิ์การได้โควตาเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย”

สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้ให้โควตาแก่นักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย บางแห่งก็ให้เฉพาะโควตาหรือทุน ดังนี้

1.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโควตาให้ 2 ที่

2.) SIIT สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้โควตา 5 ที่ พร้อมทุนเต็มจำนวน

3.) Harbour Space University มอบทุนการศึกษาจำนวน 20 ทุนให้กับนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2 ปี และเรียนที่ประเทศสเปน 1 ปี

4.) ทุน PTT-VISTEC 18 ทุน

5.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทุน 5 ทุน

“เส้นทางสู่ KVIS”

เส้นทางสู่การเป็นนักเรียน KVIS มีดังต่อไปนี้

1.) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้มีคุณสมบัติตามประกาศการรับสมัคร ฯ สมัครเข้าสอบเพื่อเป็นนักเรียนของโรงเรียนรอบที่หนึ่งในช่วงปลายปีของแต่ละปี ผ่านทางเว็บไซต์ของโรงเรียน KVIS

2.) นักเรียนที่สมัครสอบรอบที่หนึ่งเข้าสอบในศูนย์สอบที่โรงเรียนจัดทั่วประเทศตามประกาศในแต่ละปี

3.) ประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านในรอบที่หนึ่ง

4.) นักเรียนที่สอบผ่านรอบที่หนึ่ง เข้าสอบรอบที่สองซึ่งเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) มายังโรงเรียน

5.) ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4

6.) ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อจะมีสิทธิ์ได้เข้าค่ายเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก่อนเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงเรียน www.kvis.ac.th

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ นักเรียน และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เกิดจากองค์ประกอบ 5 อย่าง ดังต่อไปนี้

1.) กระบวนการสรรหานักเรียนที่มีประสิทธิภาพ การคัดทั้งรอบแรกและรอบสอง

2.) หลักสูตรที่เน้นการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เหมาะตามความสนใจและส่งเสริมในความถนัด

3.) ครูที่มีคุณภาพสูง ในแต่ละด้านแต่ละวิชา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

4.) อาคาร สถานที่ สื่อ เครื่องมือ อุปกรณ์ดีเยี่ยม ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน

5.) บิดา มารดา และผู้ปกครองนักเรียน ที่มองเห็นถึงโอกาส และให้การสนับสุนการศึกษาของบุตรหลานตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบันและมุ่งมั่นต่อไปในอนาคต

รายละเอียดประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2817667358507023&id=1830931710513931&sfnsn=mo

ขั้นตอนการสมัครสอบคัดเลือก เพื่อเข้าเป็นนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2845012105772548&id=1830931710513931&sfnsn=mo

สถิติการสอบรอบแรก (รอบแรกปกติจะสอบ วันเสาร์สัปดาที่ 3 ของเดือน พฤษจิกายน) เข้าเรียนปี 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2932232033717221&id=1830931710513931&sfnsn=mo

เกณฑ์การพิจารณารอบสอง

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2931947967078961&id=1830931710513931&sfnsn=mo

จากความสำเร็จแต่ละขั้นตอน ของนักเรียนกำเนิดวิทย์ จึงเป็นความหวังหนึ่งว่า ประเทศไทย จะมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มารับใช้ชาติในวันและโอกาสข้างหน้า

เครดิต ข้อมูลและบทความจาก เวปไซด์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และเพจ โรงเรียน KVIS Today

ตอนที่ 2 จะเป็นอีกโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าไทย และแนวหน้าโลกอีกโรงเรียนนึงครับ...มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม (MWIT)


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาใน Clubhouse หัวข้อ เรียนจบมหาวิทยาลัย ยังจำเป็นอยู่ไหม? ในยุคนี้ ที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังต้องได้รับการแก้ไข

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเวลาสองทุ่มโดยประมาณ ผู้เขียนตัดสินใจเปิดห้องเสวนาใน Clubhouse ในหัวข้อ เรียนในมหาวิทยาลัย จำเป็นอยู่ไหม ? ในยุคนี้ โดยที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  Moderator และได้เชิญชวนเพื่อนพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อ และทำงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไทยมาร่วมเป็นผู้ร่วมเสวนา ( Speaker) มีทั้งอาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ Start up ด้านการศึกษา รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการศึกษา

การเสวนาในช่วงเนื้อหาใช้เวลาร่วมชั่วโมง Speaker แต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนแบบเลี่ยงไม่ได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยสรุปแล้ว Speaker ทุกท่านยังเห็นว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น แต่รูปแบบและบทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคใหม่นี้ คงต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ทักษะการสอนของอาจารย์ และบทบาทของมหาวิทยาลัยว่าจริงๆแล้ว “คุณค่าของมหาวิทยาลัย” คืออะไรกันแน่ อาจจะเปลี่ยนเป็นฐานการเรียนรู้ แทนการเรียนแบบ Lecture หรือเป็น Mentor ให้กับนักศึกษาในการเรียนที่สามารถนำไปปฏิบัติและสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งการเสวนาใน Clubhouse ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้เขียนด้วย มีผู้ร่วมฟังเท่าที่พอจะนับได้เห็นจะเป็น 120 คนโดยประมาณ

นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจในประเด็นการศึกษาในระบบแล้ว ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เข้าฟังถามคำถามประมาณ 30 นาที ผู้เขียนในฐานะ Moderator นอกจากต้องควบคุมการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นแล้ว สิ่งที่ท้าท้ายมากกว่านั้นก็คือการควบคุมเวลาและประเด็นคำถามของผู้ร่วมเสวนา ไม่ให้ไปไกลกว่าประเด็นที่เสวนากัน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมได้ทั้งหมด เพราะธรรมชาติของ Clubhouse เราจะได้ยินแค่เสียง และไม่สามารถกรองได้ว่าคำถามที่ผู้ถาม ที่ทางผู้เขียนที่ทำหน้าที่ Moderator กดอนุญาตให้ถามจะถามเรื่องอะไร แล้วไปในทิศทางไหน ผู้เขียนยอมรับตรงๆ ว่าจังหวะนั้นก็ตื่นเต้นปนหวั่นใจว่าจะมีคำถามอะไรที่ทำให้การเสวนาหลุดประเด็นและไม่ราบรื่นหรือไม่

แต่พอเปิดโอกาสให้ถามจริงก็พบว่าผู้ร่วมเสวนามีมารยาทในการขึ้นมาแสดงความเห็นมากทีเดียว แม้จะมีเรื่องที่นอกประเด็นไปบ้าง แต่การเสวนาก็ราบรื่น  Speaker ทุกท่านก็พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างดี

เกริ่นมายืดยาว ประเด็นของเรื่องอยู่ที่คำถามของผู้ฟังนั่นเอง ผู้ฟังหลายคนที่ยกมือถาม อายุน่าจะยังไม่ถึง 20 ปี แต่ที่แน่คืออยู่ในระบบการศึกษา บางคนเรียนสายอาชีพ ครอบครัวฐานะไม่ได้ดี ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย กำลังชั่งใจว่าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยดีไหม ใจหนึ่งก็อยากเรียนเพราะเป็นคนใฝ่รู้และคิดว่าถ้าจบแค่สายอาชีพ โอกาสในการทำงานที่ดีกว่านี้จะน้อยกว่าคนที่เรียนจบมีใบปริญญา แต่ก็กังวลเพราะเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแบบเต็มรูปแบบ นอกจากค่าเล่าเรียนแล้ว เวลาในการทำงานไปด้วย

หรือบางคนเข้ามาแชร์เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ แต่กล่าวถึงความเจ็บปวดต่อระบบการศึกษาไทย ที่เห็นว่าคนใกล้ชิดที่ฐานะไม่ดี แต่เรียนดี แต่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมไปถึงบางคนได้มาแชร์เรื่องอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เงินเดือนที่ไม่พอกิน ของการเป็นอาจารย์ในระบบ ทุกวันนี้ก็ต้องออกจากระบบการศึกษาไป แล้วไปสานต่ออุดมการณ์นอกระบบแทน และทั้งพูดกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจังปนเจ็บปวด ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ 

ผู้เขียนปิดห้องเสวนานี้เวลาเกือบสี่ทุ่ม หลังจากปิดห้องผู้เขียนก็ส่งข้อความไปขอบคุณผู้ร่วมเสวนา (Speaker) แต่ละท่านที่สละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่ตั้งขึ้น แต่กว่าผู้เขียนจะหลับลงก็เกือบตีสอง ผู้เขียนครุ่นคิด ผสมปนเปไปกับความรู้สึกที่ได้ฟังน้ำเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาและถามคำถามต่างๆขึ้นมาว่า นี่เราได้สัมผัสความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน Technology ก็ในวันนี้ สัมผัสผ่านเสียง เสียงที่ไม่ได้ปั้นแต่ง ความรู้สึกที่อัดอั้นผ่านน้ำเสียงที่ออกมา มันกระแทกใจผู้เขียนอย่างมาก

ผู้เขียนไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เหล่าผู้มีอำนาจทำการสำรวจความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชน หรือเยาวชนผ่านช่องทางไหนบ้าง แต่ Clubhouse เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ส่งเสียง ที่เป็นเสียงของเขาจริงๆ เป็นความรู้สึกผ่านเสียง ที่วันนี้ท่านๆ ทั้งหลายสามารถเข้ามาฟังได้ และผู้เขียนคิดว่าท่านทั้งหลายก็ควรฟัง ฟังว่าประชาชนของท่านรู้สึกอย่างไรกับนโยบายและการแก้ปัญหาของท่าน ฟังอย่างเข้าใจ

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเองมีแรงฮึดในการทำงานผลิตสื่อต่อไป โดยเฉพาะสื่อด้านการศึกษาที่ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะเป็นฟันเฟืองในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการผลิตสื่อต่อไป อย่างตั้งใจฟังเสียงของผู้คน


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of  content editor THE STUDY TIMES

สิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ คือการเว้นพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพในพื้นที่ส่วนตัว และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีที่ว่างอย่างเหมาะสม

จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน

จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน

จงร้องและเริงรำด้วยกัน และจงมีความบันเทิง

แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว

ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว

แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน

-- คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) --

บทกวีข้างต้นมาจากหนังสือ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของคาลิล ยิบราน เขาเป็นทั้งกวี นักเขียน และศิลปิน บทประพันธ์ของเขาทุกชิ้น ล้วนงดงาม สะเทือนอารมณ์ ลึกซึ้ง ไพเราะ แต่เข้าใจง่าย

ไม่แปลกใจเลยที่บทกวีข้างต้นถูกจัดอยู่ในบทว่าด้วยการแต่งงาน เพราะนับเป็นสิ่งสำคัญที่ชีวิตคู่ควรจะมี หรืออีกนัยคือจำเป็นต้องมีเพื่อชีวิตรักที่ยืนยาว แต่ในบริบทนี้อาจไม่ต้องมองไปถึงขั้นแต่งงานก็ได้ ความรักในแต่ละวัยย่อมแตกต่างไปในแต่ละช่วงอายุ เมื่อก่อนในช่วงวัยรุ่น เราเริ่มตกหลุมรัก หลงใหล ได้ใช้เวลาศึกษาดูใจ กินข้าว ดูหนัง เดินเล่น โทรคุยกันก่อนนอน แบ่งปันเรื่องราว รายงานชีวิตประจำวัน ไปไหนทำอะไร เท่านั้นก็คงเพียงพอ แต่เมื่อก้าวขึ้นมาอีกวัยหนึ่งที่โตขึ้น นอกจากความรักและเวลา พื้นที่ส่วนตัวก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความสัมพันธ์

บทกวีดังกล่าวหากมองให้ลึกลงไป ความหมายนั้นก็ชัดเจนและสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ความรักเกิดขึ้นโดยคนสองคนที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเรื่องราวและเส้นทางชีวิตเข้าด้วยกัน การหลงใหล ตกหลุมรักในช่วงแรกอาจเป็นความลุ่มหลัง คะนึงหาเพียงชั่วครู่ แต่สิ่งที่บทกวีนนี้กำลังจะบอกคือ การประคับประคองความรักนั้น ต้องรู้จักความเกื้อกูล การมีพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพพื้นที่ส่วนตัว และอย่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน

เมื่อความรักเป็นสิ่งที่สร้างความสุขในความสัมพันธ์ แต่บางครั้งในชีวิตของคนเราย่อมต้องการพื้นที่ที่จะมีแค่ตัวเรา มีพื้นที่ในการคิดทบทวน ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ใช้เวลาเพื่อตัวเอง เราอาจต้องการเวลาที่จะได้อ่านหนังสือที่ชอบ ดูซีรีย์เรื่องโปรด นอนฟังเพลง นั่งทำงาน เดินห้างช้อปปิ้งคนเดียว เพราะฉะนั้น ในความสัมพันธ์คนสองคนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือรับรู้เรื่องราวในชีวิตกันและกันทุกเรื่อง ไม่ต้องพยายามมีบทบาทและตัวตนในชีวิตของอีกฝ่าย ไม่ต้องดิ้นรนครอบครอง

การเปรียบเทียบของ คาลิล ยิบราน ที่กล่าวว่า สายพิณนั้นต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่สั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน หมายความได้ว่า สายพิณไม่ได้แตะกัน หรือต้องยึดโยงเกี่ยวพันกัน เพียงเรียงเส้นทีละสายอย่างมั่นคง แต่เมื่อมีผู้เริ่มบรรเลง ทุกสายต่างบรรเลงตัวโน้ตของตัวเอง สอดประสานออกมาเป็นบทเพลงที่แสนไพเราะ เปรียบได้กับความรัก คู่รักอาจไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงชีวิตหรือเหนี่ยวรั้งกันไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา อาจมีบางเวลาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยตัวเอง แต่ชีวิตที่ดำเนินไปจะรับรู้ได้ว่ามีความรักนั้นประคับประคองไปในทิศทางเดียวกันเสมอ สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีพื้นที่ว่างอย่างเหมาะสม

‘จงรักกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งรัก’


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

แชร์มุมมอง “What Makes a Great Teacher?” ทรรศนะจาก Derek Hopper อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics จาก University of Oxford) และ ครูหญิง เจ้าของเพจ KruYing English (Master of Education จาก Teachers College at Columbia University)

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่ต้องการให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ) ได้จัด Virtual Orientation & Training เป็นครั้งแรกสำหรับติวเตอร์กว่า 80 คนของเรา ซึ่งมาจากหลากหลายแห่ง ทั้งโรงเรียนนานาชาติ โปรแกรมอินเตอร์ของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รวมถึงจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์แนล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อิมพีเรียล คอลเลจ

โดยในวันที่สองของงาน เราได้จัด Panel เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของ Edsy ได้แก่อาจารย์ Derek Hopper จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics from Oxford University) และครูหญิง (KruYing English, Master of Education from Teachers College at Columbia University) ได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ “What Makes A Great Teacher?” (คุณครูที่ดีมีลักษณะเป็นอย่างไร)

ในคำถามเปิด เราถามทั้งสองท่านว่า ใครคืออาจารย์ที่ทั้งสองท่านประทับใจที่สุดเท่าที่เคยเจอมา (“Who is the best teacher you have ever encountered?”) อาจารย์ Derek ได้เล่าถึงมิสเตอร์ลอร่า ครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสเมื่อสมัยที่เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนในประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นครูที่น่าประทับใจและมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงแก่นักเรียนทุกคน ด้วยการแสดงออกด้วยความรัก ความหลงใหลอย่างแท้จริงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส

“He was truly passionate in what he taught. He drives French cars. He smokes French cigarettes. He eats, breathes, sleeps – everything about French!”

ซึ่งไม่เพียงทำให้นักเรียนทุกคนเชื่อในสิ่งที่เขาถ่ายทอด แต่ยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรื้อร้นที่จะทำโครงการชิ้นงานต่าง ๆ ที่เขามอบหมายให้ รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรักชอบภาษาฝรั่งเศสยิ่งขึ้น จากการที่เขาตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสในทุกสิ่งของและชีวิตประจำวันของนักเรียน

อาจารย์ที่ครูหญิงประทับใจที่สุดคืออาจารย์บิ๋มที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความทุ่มเทกับนักเรียนแต่ละคน ทุกคน อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีพื้นฐานอ่อน แข็งขนาดไหน หรือต้องการความช่วยเหลือประการใด

“She truly cares about her students. She sees them as individual persons. Everyone comes to her class with different background, beliefs, and [English] proficiency level, but she sees everyone as a blank canvas that can grow at his or her own pace, and she tries her best to ensure that everyone gets the most out of her classes!”

อาจารย์บิ๋มไม่เพียงตั้งใจและให้ความทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ แต่อาจารย์บิ๋มยังมองว่าการสอนเป็นการช่วยพัฒนานักเรียนแต่ละคน ทั้งในด้านแนวคิด การดำรงชีวิต การพัฒนาตนเอง และอื่นๆ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คน ๆ นั้นเป็น “ครูที่ดี” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อาจารย์ Derek และครูหญิงยังได้แชร์มุมมองในการพิจารณาแยกแยะ “ครูที่ดี” และ “ครูที่ดีที่สุด” (“How to separate ‘Great’ from ‘Good/Decent’ teachers?”) รวมไปถึงเทคนิคในการพัฒนาปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นอย่างได้ผลทันที (“If there’s one thing anyone can do to dramatically improve his / her teaching, what would that be?) ซึ่งผมจะแชร์เพิ่มเติมในบทความถัดไปในวันพุธหน้าครับ

ฟังคลิปวิดีโอเต็ม “What Makes a Great Teacher” โดยอาจารย์ Derek Hopper และครูหญิง KruYing English ได้ที่ Facebook @edsythailand


เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy

Line ID: @edsy.th

แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสด ๆ

???? แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อสุดๆเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสดๆ ในกระทู้ที่ผู้จัดการสัมมนาตั้งขึ้น และสามารถมีคนที่ถูกเชิญเข้ามาฟังได้ จำนวนมากถึงหลักพัน แบบเข้าไปฟังได้ฟรี!  

Clubhouse เป็นที่พูดถึงอย่างมาก มีการวิเคราะห์กันในแวดวงสื่อ รวมไปถึงวงการเทคโนโลยี ว่าตัวแอพพลิเคชั่นนี้ จะมา Disrupt การเล่าเรื่องผ่านเสียงอย่าง Podcast หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการ สถาบันฝึกอบรมสัมมนาในยุคก่อน Covid-19 ที่มีการเก็บเงิน เรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลักกันหลายคน จะถูก Disrupt ไปด้วยไหม

น่าคิด! และมีสิทธิ์เป็นไปได้ ! ตอนแรกตอนที่ผู้เขียนได้รับการเชื้อเชิญจากรุ่นพี่ให้เข้าไปใน Clubhouse ก็ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก แล้วก็พบว่า ใน Clubhouse ทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจ เราได้เจอคนที่ทั้งเป็นเพื่อนเรา ทั้งเก่าและใหม่  คนที่ไม่ใช่เพื่อนเราแต่สนใจสิ่งใกล้ ๆ กัน หรือเหล่าคนดังที่เราไม่คิดว่าจะได้ใกล้คิดเขา แต่ Clubhouse ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ (โอ้โห! เทคโนโลยี มันทำได้แบบนี้แล้วจริง ๆ)

ในห้องสัมมนา (ขอเรียกแบบนั้น) ใครก็ได้ตั้งกระทู้ขึ้นมา (Moderator) แล้วชวนคนขึ้นไปคุย หรือเปิดโอกาสให้คนที่เป็นผู้ฟังได้พูด มีตั้งแต่เรื่องทางวิชาการ สาระความรู้ การพัฒนาตัวเองไปจนถึงเรื่องขำขัน ตลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศศึกษา ด้วยความเป็นแอพพลิเคชั่น Social media แน่นอนว่า เราสามารถเข้าไปฟังห้องพูดคุย สัมมนา ในกลุ่มต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เรียกได้ว่า เป็นคลังความรู้ฟรี ๆ ในรูปแบบนึงเลยทีเดียว

สังเกตมาสัปดาห์หนึ่ง ในมุมมองแบบคนทำสื่อ ก็จะเห็นการวางรันดาวน์โดยธรรมชาติแบบไม่ต้องมีบรรณาธิการ ตอนเช้าจะเป็นเรื่องเบา ๆ สร้างสรรค์ ต้อนรับวันใหม่ กลางวันก็เริ่มมีกลุ่มมาแชร์ชีวิตในที่ทำงาน ช่วงค่ำเนื้อหาวิชาการจัด พอหลังเที่ยงคืนเท่านั้นแหละ เรื่องเพศศึกษา สัพเพเหระก็จะมา บันเทิงทีเดียว

ส่วนตัวแล้วชอบเข้าไปฟังเรื่องตลก เรื่องบันเทิง เรื่องนินทา เพราะรู้สึกว่า Clubhouse มีธรรมชาติของการ “แอบฟังคนคุยกัน”  อาจจะเพราะว่าทำงานอย่างหนักมาทั้งวัน ให้ฟังเรื่องวิชาการเคร่งเครียดอีก ก็คงไม่ไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการสัมมนา (Moderator) ด้วยว่า ต้องการให้ห้องนั้น เป็นลักษณะ คุยเล่น หรือ แบ่งปันความรู้ที่เป็นทางการ  แต่ทั้งนี้สำหรับผู้เขียนหากต้องการฟังเรื่องที่พัฒนาตัวเองหรือเป็นความรู้จะชอบ Podcast มากกว่า เพราะฟังได้ยาว ๆ ไม่ถูกขัดจังหวะจากการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องบอกว่านี่คือความชอบส่วนตัว

พอเห็นปรากฏการณ์ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในยุคนี้แล้ว หันกลับมามองในส่วนของภาคการศึกษาไทยแล้วก็รู้สึกหวั่นใจ ว่ายุคสมัยที่ชุดข้อมูลสามารถเสพได้จากเครื่องมืออื่นมากมายหลายรูปแบบ กับระบบและหลักสูตรการศึกษาไทย จะปรับตัวไปได้ทันยุคสมัยหรือไม่ ต้องจับตา และแม้ Clubhouse จะใช้ได้ในประเทศที่อนุญาตให้แอพนี้ Active และยังจำกัดผู้ใช้เฉพาะระบบ IOS  แต่ก็คิดว่าในอนาคตตัวระบบก็คงพัฒนาให้คนใช้ระบบ Android ได้ใช้เช่นกัน

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปไวจริง ๆ ในฐานะที่เป็นทั้งคนทำและคนเสพสื่อ ได้เฝ้ามองปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ และอยู่ในยุคโรคระบาดไปพร้อม ๆ กัน ก็พบว่าหากจะอยู่อย่างเข้าใจ จำเป็นต้อง “ปรับตัว” ให้ทัน ไม่เช่นนั้น อาชีพที่เคยทำก็จะถูกกลืนกิน รายได้ที่เคยได้รับอาจเป็นศูนย์ได้พริบตา ความเจ็บปวดเหล่านี้ เชื่อว่าหลายท่านคงประสบพบเจอ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า “เราจะเป็นกำลังใจให้กันเสมอ” ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โลกหมุนไป เราก็จะต้องหมุนตามไปเช่นกัน หรือหากใครมีศักยภาพเป็นผู้ทำหมุนโลกไปเอง ก็สุดแสนจะจินตนาการ แต่ก็นั่นแหละ ความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องจริงแท้แน่นอน และเป็นเช่นนั้นเสมอมา


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

เราสามารถจิตนาการถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความสุขได้ เพียงเลือกอยู่กับใครสักคนที่เป็นความสบายใจ รักที่สอนให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่บางคนกลับเลือกที่จะทนกับรักที่ปวดร้าว ตกอยู่ใน ‘Toxic Relationship’ หรือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ…

Toxic Relationship หรือแปลตรงตัวคือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง มันคือนิยามของรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเป็นทุกข์มากกว่าสุข ความสัมพันธ์เชิงลบที่บั่นทอนกันและกันไปเรื่อย ๆ ความสัมพันธ์ในที่นี้อาจไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ในแบบคู่รัก แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ของเพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเองก็ตาม

Dr. Lillian Glass ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยา จากแคลิฟอร์เนีย ผู้บัญญัติศัพท์ในหนังสือ Toxic People ในปี 1995 ให้คำจำกัดความของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือ Toxic Relationship ว่า “ความสัมพันธ์ใด ๆ [ระหว่างคนสองคน] ที่ไม่สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีความขัดแย้ง คนหนึ่งพยายามบ่อนทำลายอีกฝ่าย มีการแข่งขัน ไม่ให้เกียรติ และไม่มีแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ"

ครั้งนี้เราขอพูดในเชิงความสัมพันธ์ของคู่รักที่ต้องเผชิญกับ Toxic Relationship กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจ การต้องแบกรับกับคำพูดแย่ ๆ การถูกควบคุม จนลดคุณค่าตัวเอง การพยายามอยู่ฝ่ายเดียว การแบกรับความรู้สึกเจ็บปวดและไม่ปลอดภัย รวม ๆ ก็คือไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ทั้งหมดล้วนเป็น Toxic Relationship ทั้งสิ้น

Toxic Relationship สำหรับเราเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจอย่างมาก เพราะนอกจากลดทอนความสุขในชีวิตแล้ว ยังทำให้จิตใจย่ำแย่ สูญเสียตัวตน เสียใจ บางครั้งโหดร้ายยิ่งกว่าการเลือกใช้ชีวิตคนเดียวซะอีก อีกทั้งสิ่งที่แย่ที่สุดของความสัมพันธ์ลักษณะนี้ คือ มันจะทำให้คนที่ทนอยู่ในความสัมพันธ์ลดทอนคุณค่าในตัวเองลงไปด้วย เพราะการยอมทน ไม่กล้าเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ทำให้เราไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจ สิ่งนี้ถูกบ่มเพาะมาตลอดระยะเวลาที่เราทนอยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว

อีกทั้งความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ยังทำให้วิธีการมองตัวเองและวิธีการมองโลกของเราเปลี่ยนไป เพราะต้องคอยแบกรับพิษร้าย ชิ้นส่วนที่แตกสลายของกันและกัน สุดท้ายเกิดเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ ปลายทางก็คือเราหรือเขาที่แตกสลาย รักษาไม่ได้ทั้งตัวตนและความสัมพันธ์ โดยพฤติกรรมหรือการกระทำในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจมีต้นเหตุเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนก็ได้

การเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำให้เร็วที่สุดเมื่อรู้ตัว พูดเหมือนง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะเมื่อความรักก็ยังอยู่ แต่ความเสียใจที่ต้องกักเก็บกลับมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใครจะกล้ายอมรับว่าคนที่เรารักและเลือกในวันนั้นจะกลับกลายเป็นพิษกับตัวเราเอง บางคนไม่กล้าทิ้ง เพราะต้องรับผิดชอบแบกรับความสัมพันธ์ บางคนก็เสียดายเวลาที่ผ่านมา แต่แปลก กลับไม่เสียดายเวลาต่อจากนี้ที่จะไม่มีความสุข

เราเองคิดว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้ยิ่งฝืนประคองต่อไปก็เหมือนการสร้างบาดแผลให้กันไปเรื่อย ๆ อยู่ไปแทบจะหาความสุขไม่ได้ เดินออกมา บอกตัวเองว่า ฉันสมควรได้รับสิ่งที่ดี ฉันคู่ควรกับความสุข และฉันไม่จำเป็นต้องทน ฉันออกแบบชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้ได้...เดินออกมาก่อนที่ความรักจะทำลายจนไม่เหลือรักไว้อีกเลย


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล https://time.com/5274206/toxic-relationship-signs-help/

ทำไมเด็กไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ซักที?

เป็นที่รู้กันดีว่าทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศทั่วโลก เกือบรั้งท้ายประเทศอาเซียนทั้งหมด เหตุใดปัญหานี้จึงยังแก้ไขไม่ได้ซักที? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษาอังกฤษที่สอนกันในโรงเรียนไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะให้ใช้ภาษาในการสื่อสารได้จริง และหากจะหาเรียนเองนอกโรงเรียน ค่าเล่าเรียนก็อยู่ในราคาที่สูงเกินกว่าที่ทุกคนจะมีกำลังจ่าย

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย มักเน้นไปที่คำศัพท์และไวยากรณ์เพราะวัดผลได้ง่าย แต่การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทำได้ยากกว่า ขยายผลไปทั่วประเทศได้ยากกว่า และยังไม่มีเครื่องมือวัดผลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมากมุ่งไปที่การ “เรียนเพื่อสอบ” แทนที่จะ “เรียนเพื่อพัฒนาทักษะ” ส่งผลให้นักเรียนไทยกว่า 6-7 ล้านคนทั่วประเทศสามารถทำข้อสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาแก้กันตั้งแต่จุดนี้ ก็จะยากที่จะแก้ไขเพราะการเรียนภาษามักเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“จุดประสงค์ของการเรียนภาษาอังกฤษควรที่จะเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ ให้สามารถรับข้อมูลและใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อทำคะแนนสอบอย่างเดียว” Derek Hopper - อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Academic Director ของ Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ) กล่าว

การมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี กลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในโลกทุกวันนี้ ที่มีการเชื่อมโยงอย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน ไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนต่อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่เป็นการเปิดมุมมอง เปิดโอกาสในการเข้าถึงสื่อ ข้อมูล และความรู้อีกมากมายมหาศาลจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม...นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ (ค่าเทอมสูงได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี) หรือการเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนภาษาชื่อดัง (ค่าเรียนสูงเป็นหลักแสนบาทต่อปี)

สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงมาก เป็นเพราะโรงเรียนเหล่านี้เน้นใช้ครูต่างชาติเจ้าของภาษาในการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% ซึ่งไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสูงสุด จากการวิจัยของ University of Cambridge พบว่าการเรียนการสอนด้วยเจ้าของภาษาโดยใช้ภาษาอังกฤษ 100% ไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุดเสมอไป นอกจากนี้ ผู้เรียนยังควรที่จะมุ่งเป้าที่จะพัฒนาทักษะให้สามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมุ่งเป้าให้มีสำเนียงเหมือนกับเจ้าของภาษา

เพื่อให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ เราจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสอนภาษาที่แสนแพง และการเรียนในโรงเรียนไทยหรือการเรียนพิเศษกวดวิชา ที่อยู่ในราคาที่นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง แต่ไม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เช่น Liulishuo สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านการศึกษาในประเทศจีนที่ช่วยนักเรียนจีนกว่า 50 ล้านคนแล้วในการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ

Edsy ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งพื้นฐานคำศัพท์และไวยากรณ์ที่สำคัญในการเรียนรู้ และเข้าใจวิชาภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน เราจึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่จะชักชวนให้คนไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีเยี่ยม ที่อาจจะได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษา โปรแกรมอินเตอร์ หรือกระทั่งในต่างประเทศ ให้หันกลับมาช่วยกันแบ่งปัน ถ่ายทอดทักษะภาษาอังกฤษแก่นักเรียนไทยอีกกว่า 6-7 ล้านคน ความฝันของเราคือการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนภาษาภาษาอังกฤษแบบใหม่ที่คล้ายกับในโรงเรียนนานาชาติ เปี่ยมด้วยคุณภาพ แต่อยู่ในราคาและรูปแบบออนไลน์ที่ทำให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึง

เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม อดีตที่ปรึกษาธุรกิจที่ผันตัวมาก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy หลังจากจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา

Facebook: @edsythailand

Line ID: @edsy.th


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/ef-epi-2020-ef-english-proficiency/

Kerr, P. (2019) The use of L1 in English language teaching. Part of the Cambridge Papers in ELT series.

Cambridge: Cambridge University Press

ทำไม?? เด็กเก่งแถวหน้าประเทศ จึงดั้นด้นมาแข่งขันสอบเข้า ม.4 เรียนม.ปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ปกครองยอมทุ่มเททุนหลักแสน หรือหลักล้าน ในการกวดวิชา และหาช่องทาง...มาคุยกัน

จากการที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โชว์สถิติ ม.6 เลือกเรียนต่อแพทยศาสตร์ อันดับ 1 ปีละเกือบ 500 คน และคณะอื่น ๆ แนวหน้าชั้นนำ มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ประเทศ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยสถิติผลการเรียนต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2563 แบ่งเป็นสถิติการศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ สูงสุด 10 คณะ พบว่าคณะและมหาวิทยาลัยที่นักเรียนชั้นม.6 เข้าศึกษาต่อ มีดังนี้

คณะที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลือกเรียนมากสุด 10 อันดับ

อันดับหนึ่ง คณะแพทย์ศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 34.36 นับเป็นจำนวนคนสูงถึง 484 คน

อันดับสอง คณะด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 160 คน คิดเป็นร้อยละ 11.36

อันดับสาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ 143 คน หรือร้อยละ 10.15

อันดับสี่ คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ 120 คน คิดเป็นร้อยละ 8.52

อันดับห้า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี/เศรษฐศาสตร์/บริหาร 112 คน คิดเป็นร้อยละ 7.95

อันดับหก คณะนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ 79 คน คิดเป็นร้อยละ 5.60

อันดับเจ็ด คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 76 คน คิดเป็นร้อยละ 5.35

อันดับแปด คณะ เภสัชศาสตร์ 30 คน คิดเป็นร้อยละ 2.13

อันดับเก้า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 21 คน คิดเป็นร้อยละ 1.49

อันดับสิบ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ 14 คน คิดเป็นร้อยละ 0.99

อันดับสิบเอ็ด คณะอื่น ๆ และศึกษาต่างประเทศ ทุน และส่วนตัว 115 คน คิดเป็นร้อยละ 8.16

อันดับสิบสอง Gab Year 55 คน คิดเป็น ร้อยละ 3.90

ทั้งนี้ จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,409 คน

.

ส่วนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไปเรียนต่อ

อันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 716 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 คน

อันดับสอง มหาวิทยาลัยมหิดล 213 คน คิดเป็นร้อยละ 15.11

อันดับสาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 154 คน คิดเป็นร้อยละ 10.93

อันดับสี่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 3.77

อันดับห้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 คน คิดเป็นร้อยละ 1.703

อันดับหก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 1.35

อันดับเจ็ด มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 คน คิดเป็นร้อยละ 0.78

อันดับแปด มหาวิทยาลัยศิลปากร 10 คน คิดเป็นร้อยละ 0.70

อันดับเก้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 9 คน คิดเป็นร้อยละ 0.64

อันดับสิบ เป็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ และศึกษาต่างประเทศ เอกชน 145 คน คิดเป็นร้อยละ 10.30

อันดับสิบเอ็ด Gab Year 55 คน คิดเป็นร้อยละ 3.90

ทั้งนี้ จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,409 คน

.

ประเภททุนต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม ที่นักเรียนเตรียมอุดมได้เลือกไปเรียนเป็นจำนวนมากทุกปี และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

1. ทุนเล่าเรียนหลวง 6-9 ทุน จาก ทั้งหมด 9 ทุนทุกปี

2. ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย 1-3 ทุน จากทั้งหมด 3 ทุนทุกปี

3. ทุนวิวัฒน์ไชยนุสรณ์ปีละ 1 ทุนได้แทบทุกปี

4. ทุนกระทรวงต่างประเทศ ได้เป็นจำนวนหลายทุนทุกปี

5. ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับทุนหลายทุนทุกปี

6. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Monbugakagusho ( MEXT) ได้หลายทุนทุกปี

และทุนต่างประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

จากสถิติ ทั้งการเข้าเรียนต่อคณะในฝันของเด็กไทย และความสนใจของผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนประเทศในรายการแข่งขันระดับโลก และความสำเร็จในการงานหลังจบการศึกษามา

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวกระตุ้นและความคาดหวัง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ให้ได้มีโอกาสเข้ามาสู่สังคมการศึกษาในโรงเรียนที่ดีอันดับหนึ่งของประเทศ..นั่นคือ เตรียมอุดมศึกษา

ตอนที่ 2 จะมาคุยกันต่อว่า เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างไร เพื่อเข้าเรียนม.ปลาย เตรียมอุดมให้ได้ ในสายการเรียนที่เป็นความฝัน


โดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top