เยาวชนจีนยุคใหม่ 'หัวก้าวหน้า' และ 'รักชาติ' ไปพร้อมกัน

“ประเทศจีนไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่มันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” ความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ในจีน ยุคที่เราเรียกว่า #เยาวชนยุคสีจิ้นผิง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา The Economist ได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนในเวลานี้ นั่นคือ ‘เยาวชนรุ่นสีจิ้นผิง’ หรือ ‘Generation Xi’

ซึ่งเป็นการนิยามเยาวชนจีนในปัจจุบันที่ทั้งมี ‘ความรักชาติ-ชาตินิยม’ (Patriotism) แต่ก็ ‘หัวก้าวหน้า’ (Progressive) มีความคิดสมัยใหม่ พร้อมขับเคลื่อนสังคมจีนให้พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา

----------------
'เยาวชนคืนถิ่น'
----------------

ปัจจุบันเยาวชนจีน เริ่มหลั่งไหลกลับไปทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดตามชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทในประเทศจีนลดน้อยลง

พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง การสร้างเมืองใหม่ การค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละมณฑล ระบบอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบ มีทางเลือกมากกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานหรือพนักงานกินเงินเดือนในเมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง

----------------
ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงด้วยเทคโนโลยีออนไลน์
----------------

เทคโนโลยีและระบบออนไลน์ ทำให้ความแตกต่างระหว่างการอยู่ ‘เขตเมือง’ กับ ‘เขตชนบท’ ลดน้อยลงมาก ผู้คนในเมืองเล็กๆ หรือชนบทช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่

เมื่อทุกคนเข้าถึงระบบได้จากทุกที่บนผืนแผ่นดินจีน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมากระจุกตัวกันตามเมืองใหญ่

คนรุ่นใหม่ในจีนเห็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวจากระบบออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัล จากการลงทุน การค้า การโฆษณา การทำตลาดออนไลน์ ในขณะที่ทัศนคติเรื่องการรับราชการมีน้อยลง

กระแสโรแมนติกของการหวนคืนสู่ธรรมชาติอันชนบทมีมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่พากันหาสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมารีวิวขายในตลาดออนไลน์ ประกอบกับการรีวิวการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชนจีนก็ได้พัฒนาระบบการค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกในทุกมิติ ตั้งแต่การสั่งซื้อ-ขาย การขนส่ง ค่าบริการขนส่งที่มีราคาต่ำ ซึ่งช่วยทำให้ตลาดการค้าเติบโตได้อย่างดี

----------------
'คนจีนโพ้นทะเลคืนถิ่น' (海归)
----------------

ด้านคนรุ่นใหม่ของจีนที่ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก เริ่มหันกลับมาทำงานในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสเติบโตที่มากขึ้น รวมถึงรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อในการทำงาน

ประกอบกับปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และนโยบายกดดันจีนของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ชาวอเมริกันมองจีนและชาวจีนเป็นภัยคุกคามต่อการครองอำนาจนำของตน จนเกิดกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ชาวเอเชียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีน หันหน้ากลับไปยังแผ่นดินแม่ที่ซึ่งมีโอกาสมีรายได้ที่ดี และไม่มีปัญหาด้านการเหยียดชาติพันธุ์ รอพวกเขาอยู่

จากสถิติคนจีนที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวน 6.2 ล้านคนในระหว่างปี ค.ศ. 2000 - 2019 ปัจจุบันมีถึง 4 ล้านคนที่กลับมาทำงานในประเทศจีน

ในขณะที่ปี 2001 มีเพียงแค่ 14% เท่านั้นที่กลับมาทำงานในประเทศจีนหลังจบการศึกษาในต่างประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คนจีนที่ไปศึกษาต่อและกลับมาทำงานในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นไปถึง 4 ใน 5 ส่วนของทั้งหมด

----------------
*** แน่นอนว่าทุกประเทศทุกสังคมล้วนมีปัญหาของตน แต่การที่คนรุ่นใหม่จะมีสำนึกรักชาติหรือภูมิใจในชาติบ้านเมืองได้ พวกเขาต้องเห็นอนาคต เห็นโอกาส และการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย

และนั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำให้กับประชาชนของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศทุกประเทศควรนำมาศึกษาเป็นบทเรียนครับ

เขียนโดย: อ.ดร. กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL)


อ้างอิง:
https://www.economist.com/special-report/2021-01-23
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/young-chinese-are-both-patriotic-and-socially-progressive
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/the-gap-between-chinas-rural-and-urban-youth-is-closing
https://thinkmarketingmagazine.com/should-mena-be-looking-into-chinas-youth-for-the-future-zak-dychtwald-talks-young-china/