Saturday, 10 May 2025
อีสานไทม์

ร้อยเอ็ด - ชป.6 ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เป็นวัลนะ 3 ล้าน ลบ.ม. และอีกใน 5 เขื่อนหลักภาคอีสานเติมน้ำลงแม่น้ำชี ช่วยเจือจางความเค็มการประปาเมืองร้อยเอ็ด คาด 2 วันเอาอยู่

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ค.2564 นายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 หรือ ชป.6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับรายงานว่าประชาชนเมืองร้อยเอ็ดได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำประปามีรสเค็มเป็นผลมาจากคลอไรด์ในน้ำสูง   ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้ประสานขอให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำชีเพื่อเจือจางค่าคอลไรด์ในแม่น้ำชีบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด ชป.6  จึงได้ประสานเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 1.1 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปลงแม่น้ำชีที่หน้าเขื่อนมหาสารคาม

" ขณะเดียวกันยังคงมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนลำปาวจังหวัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นวันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนในแม่น้ำชีตั้งแต่เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.86 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนร้อยเอ็ดระบายน้ำวันละ 4.21 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระดับน้ำเก็บกักของเขื่อนร้อยเอ็ด  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบสูบจ่ายน้ำดิบ"

นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจวัดค่าความเค็มบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด จุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคาขาร้อยเอ็ด เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.   ) พบค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่น้ำประปาในส่วนบ้านเรือนของประชาชนจะยังมีรสกร่อยเนื่องจากยังมีน้ำที่มีค่าความเค็มค้างในระบบเส้นท่อของการประปาต้องใช้เวลาในการผันน้ำออกจากเส้นท่อคาดว่าน้ำประปาจะกลับเข้าสู่สถานปกติภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตาม ชป.6 ได้ประสานงานร่วมกับการประปาส่วนภูมิสาขาร้อยเอ็ด เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำชีบริเวณจุดสูบน้ำดิบของการประปาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิด อีกด้วย

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านก่อเจดีย์ทราย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรพ้นวิกฤตโควิด-19

เจ้าคณะตำบลบัวบาน ร่วมกับคณะสงฆ์ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านตูม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สืบสานประเพณีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน โดยเซิ้งบั้งไฟเล็กขอฝนจากพญาแถน ผ่านพ้นวิกฤติแล้ง บันดาลฝนตกตามฤดูกาล พร้อมน้อมจิตอธิษฐานขอพรรอดพ้นวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววัน

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่โบราณสถานโนนบ้านเก่า บ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พระครูโพธิชยานุโยค เจ้าคณะตำบลบัวบาน นางละมุล ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 และนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ประกอบพิธีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปู่หอใต้หอเหนือ โดยทำบุญเลี้ยงพระ เซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย ขอฝนจากพญาแถน  ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ก่อนถึงฤดูทำนา พร้อมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวกาฬสินธุ์และชาวไทยทั่วประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยเร็ว

นางละมุล  ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า ในช่วงก่อนฤดูทำนาทุกปี หลังจากวันพืชมงคล ชาวบ้านตูมจะร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงปู่หอใต้หอเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ที่สถิตอยู่ ณ ดอนตาปู่และโบราณสถานโนนบ้านเก่า โดยมีการก่อเจดีย์ทราย โรยแป้ง ประดับด้วยริ้วธงหลากสี ทั้งนี้ เพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้ อธิษฐานขอพร พร้อมทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ให้ลูกหลานร่วมสืบสาน

ด้านนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อจะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า พิธีบวงสรวงปู่หอใต้หอเหนือ และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ โดยก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนพระภูมิเจ้าที่ ตามความเชื่อของชาวบ้าน เป็นวิถีชุมชนที่ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี โดยมีความเชื่อว่าการก่อเจดีย์ทราย เป็นการเริ่มต้นการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จตลอดไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่ปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล นอกจากนี้ยังมีการเซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟ เพื่อเสี่ยงทายและขอฝนจากพญาแถน ทั้งนี้เพื่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากอาชีพหลักขางชาวบ้านคือการทำนาและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

อย่างไรก็ตาม ในขณะประกอบพิธีก่อเจดีย์ทรายและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ดังกล่าว ชาวบ้านยังได้น้อมจิตอธิษฐาน ขอพรปู่หอใต้หอเหนือและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องคุ้มครองภัย ทั้งผู้คนและพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดู ผลผลิตข้าวได้มาก ราคาสูง อาชีพเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จ และภาวนาให้ชาวกาฬสินธุ์ และชาวไทยทั่วประเทศรอดพ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววันอีกด้วย

ขอนแก่น - พร้อมใจส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกโอลิมปิก ด้วยการร่วมวิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ เส้นทางขอนแก่น-นครราชสีมา

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 13 พ.ค. 64 ที่ สนามกีฬาจังหวัดขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น  นำประชาชนชาวขอนแก่น   ร่วมกิจกรรมวิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ  ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ได้กำหนดจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 28 .ค. - 27 พ.ค.  ซึ่งเป็นการวิ่งระยะไกล ผ่าน 35 จังหวัด 61 วัน ทั่วทุกภูมิภาค รวมระยะทาง 4,606 กิโลเมตร โดยมีประชาชนชาวขอนแก่นให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ท่ามกลางมาตรการควบคุมและป้องกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

โดยที่ ผวจ.ขอนแก่น ได้เชิญธงชาติไทย จากแท่นพำนักจุดปล่อยด้านหน้าสนามกีฬากลาง จ.ขอนแก่น และนำวิ่งธงชาติไทย จากจุดปล่อยตัวประจำวัน ไปตาม ถ.เหล่านาดี เพื่อส่งต่อให้กับคณะนักวิ่งที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยศิลปิน  ดารา นักแสดง  คณะผู้บริหาร จากหน่วยงานราชการ และเอกชนรวมไปถึงประชาชนผู้ที่สนใจ ได้มีส่วนร่วมในการวิ่งส่งต่อธงชาติไทย คนละ 1 กิโลเมตร

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรม "FLAG OF NATION" วิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา คณะนักวิ่งได้วิ่งเข้าเขต จ.ขอนแก่น ผ่านทาง จ.เพชรบูรณ์และในวันนี้ขอนแก่นเป็นจุดปล่อยตัวเพื่อส่งต่อให้กับ จ.นครราชสีมา ตามแผนงานที่คณะทำงานได้กำหนดไว้ เพื่อส่งต่อกำลังใจไปถึงนักกีฬาทีมชาติไทย ที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2020 ผ่านการวิ่งคนละ 1 กิโลเมตร ต่อเนื่อง 61 วัน 35 จังหวัด ระยะทาง 4,606 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าระยะทางกรุงเทพฯ ไปยังกรุงโตเกียว

" กิจกรรมดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่ วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ จ.ขอนแก่น ซึ่งชาวขอนแก่นทุกคนพร้อมใจที่จะส่งกำลังใจให้กับทัพนักกีฬาไทยผ่านการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดูได้จากจำนวนนักวิ่งที่สมัครร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม รวมไปถึงการรอให้การต้อนรับในจุดแวะพักต่างๆ ที่ทุกคนต่างร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ทัพนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Road To Tokyo 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังจะมาถึง"

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การวิ่งครั้งนี้ขอนแก่น จัดอยู่ในลำดับที่ 27 จากจำนวนทั้งสิ้น 35 จังหวัด โดยขบวนธงชาติไทย ที่ออกวิ่งวันนี้นับเป็นกิโลเมตรที่ 1 ของจังหวัด นับรวมการจัดกิจกรรมเมือเข้าเขตตัวเมืองขอนแก่นอยู่ที่  3,544 กม. ของการจัดกิจกรรม  โดยในการวิ่งนั้นจะใช้เส้นทางขอนแก่น-บ้านแฮด-บ้านไผ่ สิ้นสุดที่ อ.พล จากนั้นจะส่งต่อให้กับ จ.นครราขสีมา ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

 

กาฬสินธุ์ – สยบดราม่า “จนทิพย์” น้องโวลต์ เด็กเก่งสอบติดแพทย์ ชี้แจงว่าจนจริง สิ่งของที่มีมาจากการทำงานเก็บเงินซื้อ

เปิดใจ “น้องโวลต์” นักเรียนเก่งสอบติดแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังเจอกระแสดราม่า “จนทิพย์” ระบุสิ่งของเครื่องใช้ที่เห็นทุกอย่างได้มาจากการทำงานตั้งแต่เรียนม.3เก็บเงินซื้อ เพื่อใช้ในการศึกษา พร้อมชี้แจงและขอบคุณผู้ใจบุญ ขณะที่นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พ่อปลูกผักขายจนจริง พร้อมตั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษาดูแลบัญชีเบิกจ่ายค่าเล่าเรียน 

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวและโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวของนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่สอบติดแพทย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ฐานะทางบ้านยากจน พ่อปลูกพืชผักขาย โดยมีการเปิดรับบริจาค กระทั่งนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบมีผู้ใจบุญบริจาครวมจำนวนเงินกว่า 2,700,000 บาท และได้ปิดรับบริจาคไปแล้ว เนื่องจากเพียงพอสำหรับการเรียนแพทย์แล้วนั้น

ทั้งนี้ต่อมาเรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากในโลกออน์ไลน์มีการจับโป๊ะภาพจากคลิปวีดีโอต่าง ๆ ของน้องโวลต์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีชาวเน็ตจับผิดเห็นไอแพดโปร ซึ่งมีราคากว่า 25,000 บาท นอกจากนี้ยังมีแอปเปิ้ล เพนซิล ขวดน้ำหอมดิออร์ยี่ห้อหรู รถยนต์ อินเตอร์เน็ตไวไฟ การจัดฟัน มีการตั้งข้อสงสัยว่าจนจริงหรือไม่ กระทั่งมีข้อความ “จนทิพย์” เป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ มีการพูดคุยกันมากว่า 2 แสนครั้ง รวมทั้งโลกออนไลน์มีการพูดคุยกันจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและให้เข้าเยี่ยมครอบครัวนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี ที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์อีกครั้ง หลังมีกระแสดราม่า โดยพบครอบครัวน้องโวลต์อาศัยอยู่บ้านพัก ลักษณะเพิงหมาแหงนมุงสังกะสี ปลูกสร้างอยู่กลางสวนท้ายหมู่บ้านเหมือนเดิม โดยน้องโวลต์ พร้อมด้วยนายธนวุฒิ เหล่าบุบผา อายุ 53 ปี พ่อน้องโวลต์ และครอบครัว รอให้ข้อมูล

นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณผู้ใจบุญที่ช่วยกันบริจาคเงินให้กับตนทุกท่าน ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ใจบุญบริจาคเงินจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งยืนยันว่าตนจะนำไปเป็นทุนการศึกษาในการเรียนแพทย์ เพราะอยากเป็นหมอมารักษาคน และจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

นางสาวณัฐวดี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีกระแสดราม่าจนทิพย์ บอกว่าครอบครัวของตนไม่จนจริงนั้น ที่จริงแล้วไม่อยากพูด แต่เมื่อมีกระแสมีก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการจัดฟัน ตนทำงานพาดไทม์หลังเลิกเรียนหารายได้พิเศษมาตั้งแต่ ม.3 ซึ่งตอนนั้นฟันมีปัญหาได้ไปพบแพทย์แนะนำให้จัดฟันและรักษาไปด้วยเริ่มทำตอนม.4 ตอนนั้นพอมีเงินเก็บจากการทำงานจึงตัดสินใจรักษา เรื่องที่ 2 ไอแพด ตนทำงานเก็บพาดไทม์เช่นกัน พยายามเก็บหอมรอมริบประมาณ 1 ปีเศษ จึงซื้อมาใช้เพื่อค้นคว้าข้อมูลในการเรียน ส่วนอินเตอร์เน็ตไวไฟก็เป็นของพี่ชายที่ติดตั้งไว้ทำงานมีค่ารายเดือน 600 บาท พี่ชายเป็นคนชำระ

 นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีน้ำหอมนั้นตนซื้อมาในอินเตอร์เน็ตมือสอง ราคา 300 บาท มีน้ำหอมเหลือก้นขวด เอามาตั้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ ส่วนรถยนต์นั้นไม่ใช้ของครอบตน เป็นรถยนต์ของน้า ซื้อให้ลูกสะใภ้ใช้ ซึ่งหลังเกิดกระแสครั้งนี้ตนก็รู้สึกเสียใจ เพาะสิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นความจริง ครอบครัวยากจนจริง ๆ ตนต้องทำงานหาเงินเรียนมาตั้งแต่ ม.3 ไม่อยากขอเงินพ่อ แม่อย่างเดียว และอยากให้ครอบครัวดีขึ้น กระทั่งมีความสนใจอยากเรียนแพทย์และอยากเป็นหมอ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนก็ได้ปิดบัญชีแล้ว และยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

ด้านนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากการตรวจสอบล่าสุดสอบครอบครัวนี้ค่อนข้างยากจน พ่อปลูกผักขาย ส่วนแม่ไม่มีอาชีพ ขณะที่น้องโวลต์นั้นก็เป็นเด็กเรียนเก่งขยัน อย่างไรก็ตามล่าสุดพบว่ามีผู้บริจาคเข้ามา รวมจำนวน 3,795,000 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ปิดรับจาคและปิดบัญชีแล้ว โดยเบื้องต้นได้ให้น้องไปทำแผนค่าใช้จ่ายเรียนแพทย์ 6 ปีมาว่า มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และจะตั้งเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาในการเบิกไปใช้จ่าย ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้แยกบัญชีออกมาเป็นทุนไว้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางต่อไป เพื่อให้เงินบริจาคเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใจบุญและความตั้งใจของน้องโวลต์

นครพนม - นรข.นครพนม บูรณาการหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ยึดกัญชา 188 กก. วางทิ้งริมฝั่งแม่น้ำโขง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่สโมสรทหารสัญญาบัตร หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง นครพนม น.อ.ฤทธิ์ นาทวงษ์ ผบ.นรข.เขตนครพนม พร้อมด้วย พ.อ.วิทธิพงศ์ อรรคคำ รอง ผบ.บก.ควบคุมที่ 1 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี พ.ต.อ.จตุรงค์ มหิทธิโชติ ผกก.สส.ภ.จว.นครพนม พ.ต.ท.อัศรายุทธ ทองลอง สว.ส.รน.กก.10 บก.รน. ตำรวจน้ำนครพนม นายประพันธ์ศักดิ์ บุตรรัตต์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารปกครอง และนายจักรพงศ์ เที่ยงภักดิ์ ปลัดอำเภองานป้องกัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดกัญชาจำนวน 188 แท่ง/กิโลกรัม ภายหลังชาวบ้านแจ้งว่าจะมีขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่

จากเมื่อวันที่ 10  พฤษภาคม 2564 นรข.เขตนครพนม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าจะมีการลักลอบลำเลียงและซุกซ่อนยาเสพติดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านตอนท้ายเมืองลงไปในตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จึงได้มีการรายงานผู้บังคับบัญชาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผน โดย น.ท.วรภัทร แสงสุวรรณ หัวหน้า สน.เรือเขตนครพนม ได้นำกำลังพลร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองนครพนมลาดตระเวนและซุ่มตรวจการณ์ ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งใช้อยู่ 2 วัน กระทั่งเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 5.45 น. ในขณะที่ชุดลาดตระเวนทางบกเดินลาดตระเวนริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ได้ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกระสอบสีดำ จำนวน 4 กระสอบวางอยู่ใกล้กับสวนสมุนไพรบ้านท่าค้อ จึงได้มีการส่งสัญญาณและวางกำลังซุ่มอยู่บริเวณดังกล่าวจนเวลาผ่านไป 4 ชั่วโมงก็ไม่มีผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ที่มีวัตถุต้องสงสัยวางเจ้าหน้าที่จึงได้ตัดสินใจเข้าทำการตรวจสอบ

ขณะเดียวกันชุดลาดตระเวนทางน้ำก็ได้ตรวจพบกระสอบสีดำลอยอยู่ในน้ำในบริเวณใกล้เคียงกันอีก 1 กระสอบ เจ้าหน้าที่จึงได้นำของกลางทั้งหมดมารวมกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าวัตถุภายในกระสอบเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 (กัญชา) จำนวน 188  แท่ง/กิโลกรัม จึงได้ร่วมกันทำบันทึกตรวจยึดไว้เป็นหลักฐานพร้อมนำของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อติดตามสืบสวนสอบสวนหาขบวนการผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีไหว้ผีปู่ตา จุดบั้งไฟไล่โรคร้ายโควิด

ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกันประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ขอให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้าย โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ให้สูญหายไปจากโลกนี้

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณดอนปู่ตาบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 และนายบรรเจิด สุธรรมมา พ่อขะจ้ำ หรือปราชญ์ชาวบ้าน นำชาวบ้านประกอบพิธีกราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษตามประเพณีวิถีชีวิตของคนอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคโควิด-19  โดยทุกคนที่เข้าร่วมพิธีต้องสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ อสม. ได้ตั้งจุดคัดกรอง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า การประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รุกขเทวา ที่สถิตอยู่ ณ บริเวณดอนปู่ตาก็เพื่อขอให้ปกปักรักษาสรรพชีวิต และพืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้อุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ถือเป็นการสืบสานประเพณีวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่มีการสืบทอดให้อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านตูม ก็ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะนำใบมะพร้าวมาทำเป็นสัญลักษณ์ แทนทรัพย์สินสิ่งของ เช่น บ้านเลขที่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน โดยเขียนเลขที่บ้าน ทะเบียนรถ เลขที่โฉนด นส 3 ก. มาสักการบูชาที่ศาลปู่ตา จากนั้นวางไว้ในบริเวณพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อให้ผีปู่ตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา

ด้านนายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 กล่าวว่า พิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านตูมร่วมกันจัดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก่อนแยกย้ายกันลงมือทำนา ทั้งนี้หลังจากร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวง ด้วยไก่ต้ม เหล้าขาว และเครื่องบวงสรวงต่างๆแล้ว ชาวบ้านก็จะร่วมกันแห่บั้งไฟไปรอบๆศาลปู่ตา 3 รอบ จากนั้นทำการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน

นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) กล่าวอีกว่า เนื่องจากในช่วงนี้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอำเภอยางตลาดมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน จ.กาฬสินธุ์มาถึง 34 ราย จากจำนวนสะสมทั้งจังหวัด 94 ราย ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะหายดีแล้ว แต่โรคนี้ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ในหลายภูมิภาค และอาจจะแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นในการประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตาในครั้งนี้ นอกจากชาวบ้านได้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายแล้วยังจุดบั้งไฟขับไล่โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทำให้มีผู้ได้รับเชื้อเจ็บป่วย  และเสียชีวิตให้หนีหายไป

อย่างไรก็ตามสำหรับจากการจุดบั้งไฟขับไล่โควิด-19 และเสี่ยงทายฟ้าฝนครั้งนี้ พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้านทำนายจากการที่บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นไปบนท้องฟ้าว่า ฝนฟ้าจะดี มีตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ และอาจจะเกิดภาวะอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งชาวบ้านจะได้อธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งขับไล่โรคติดเชื้อโควิด-19 สูญหายไปจากสังคมไทยอีกด้วย

(สัมภาษณ์ นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่19)

บุรีรัมย์ - พิธีเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” จังหวัดบุรีรัมย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จัดตั้ง “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” ณ โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในระหว่างวันที่ 11 – 20 พฤษภาคม 2564 เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกใหม่สำหรับนำไปมอบให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

โดยในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) เวลา 10.00 น. พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” มอบอาหารพระราชทาน จำนวน 3,500 ชุด ให้แก่นายอำเภอและผู้แทนชุมชน แบ่งเป็นอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 1,500 ชุด และอำเภอคูเมือง 2,000 ชุด ณ โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ และผู้พิการ ในพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เพื่อมอบอาหารพระราชทาน น้ำดื่ม และชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19 ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนที่ได้รับอาหารพระราชทานและต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

อาหารปรุงสุกใหม่จากครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย จะแจกจ่ายไปยังประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการครัวที่เน้นความสะอาด ถูกสุขลักษณะ ประกอบอาหารปรุงสดใหม่ สะอาด โดยเน้นให้ผู้ประกอบอาหารแต่งกายตามมาตรฐาน คือ สวมหมวกคลุมผม สวมผ้ากันเปื้อน สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารพระราชทานที่มีการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงิน 99 บาท ในโครงการ “พลังใจ 99 บาท ก้าวผ่านวิกฤต COVID-19” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักกันตน ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และไร้ที่พึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สถานีกาชาด เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ด้วยการสแกน QR CODE ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารในระบบ E-DONATION หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักสีลม ชื่อบัญชี "สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 001-1-34567-0 หรือธนาคารกรุงไทย สาขาสุรวงศ์ ชื่อบัญชี "สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 023-6-06799-0 สอบถามเพิ่มเติมโทร.1664

ขอนแก่น - โรงแรมขอนแก่นโอด โควิดระบาดระลอก 3 ใครจะยื้อไหว เปิดให้บริการก็ไม่มีคนมาพัก ประกาศขายก็คงไม่มีใครมาซื้อ วอนรัฐกำหนดมาตรการชัดเจนช่วยเหลือผู้ประกอบการ “ชาติชาย” ระบุ เงินกองทุนประกันสังคมควรงัดออกมาใช้ได้แล้ว

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 12 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวและการใช้บริการของสถานประกอบการต่างๆเป็นไปอย่างเงียบเหงา อันมีผลมาจากการประกาศขอความร่วมมือจากรัฐบาลในการให้บริการในเวลาที่จำกัด และงดการเดินทางในระยะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดตัว ขณะที่โรงแรมที่ยังคงเปิดให้บริการก็ไม่มีผู้เข้าพัก เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัดหรือการท่องเที่ยวในระยะนี้ไม่มีเกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดการประชุมสัมมนาต่าง ๆ ได้ลดจำนวนลง

นายชาติชาย  โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในระลอกที่ 3 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งในการระบาดระลอกที่ 2 ถ้าจำได้เกิดขึ้นช่วงใกล้ช่วงปีใหม่ ขณะที่ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในมุมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการ ในช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่ทุกคนต้องเตรียมสรรพกำลังรองรับนักท่องเที่ยวและการเดินทาง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบเร่งด่วน ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ต้นทุนในด้านต่างๆ การจ้างงาน ที่มีอยู่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ อย่างที่โรงแรมโฆษะ มวยกำลังจะขึ้นชก ก็ถูกน็อคตั้งแต่ยังไม่ชก ซึ่งก็เข้าใจในสถานการณ์ดังนั้นวันนี้สิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤติเหตุการณ์นั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายที่ยังคงไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานใดที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือ แม้รัฐบาลจะกำหนดการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในโครงการเราชนะ หรือ ตามมาตร 33 มาแล้วก็ตาม

“เม็ดเงินที่รัฐจัดสรรในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สามารถที่จะกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่มาวันนี้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมนั้นมืดสนิท เพราะแม้เปิดให้บริการแต่ก็ไม่มีคนเข้าพัก ร้านอาหารหากเปิดคนก็มาใช้บริการน้อยมาก และต้องใช้บริการในช่วงเวลาที่จำกัด ทุกคนต่างต้องปรับกลยุทธิ์ในด้านต่างๆเพื่อความอยู่รอด โรงแรมหลายแห่งปลดพนักงานบางส่วน บางแห่ง ทำงานคนละ 15 วัน บางแห่งจ่ายเงินเดือนในอัตราร้อยละ 70 ตามแนวทางที่ใครจะทำได้และไม่ขัดต่อกฎหมาย และหากจะประกาศปล่อยขาย ตามที่เจ้าของกิจการได้พูดคุยกันหลายแห่งก็ไม่มีใครที่จะมาซื้อในระยะนี้จากสภาพเหตุการณ์ที่ทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร”

นายชาติชาย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงแรงงานต้องออกมามีบทบาทและแสดงความชัดเจนในการช่วยเหลือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้า ได้มีการส่งสมทบทุกเดือน ที่ต้องออกมาเป้นโยบายหรือข้อกำหนดให้กับสถานประกอบการต่างๆได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าว เนื่องจากการจะเข้าถึงสถาบันการเงินตามนโยบายที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดนั้นผู้ประกอบการบางคนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีภาวะเงินกู้ในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อวันนี้สถานประกอบการไม่สามารถเปิดได้ หรือเปิดก็ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงต้องแบกรับภาวะต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านต่างๆเพื่อคงสภาพของกิจการ รวมไปถึงค่าจ้างพักงานที่ต้องจ้าง จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้างส่งจ่ายทุกเดือนได้กลับคืนมาให้กับนายจ้างบ้างในเงื่อนไขและระเบียบที่รัฐกำหนดไว้

กาฬสินธุ์ - เขื่อนลำปาวน้ำลด ชาวบ้านนำสัตว์ไปเลี้ยงแทนทุ่งนา เพื่อเพียงพอหน้าแล้ง

ผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพที่เคยเป็นท้องน้ำเกิดสันดอน และกลายเป็นแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์บริเวณกว้าง ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย เข้าไปเลี้ยง ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ขอความร่วมมือประชาชนในช่วงหยุดการส่งน้ำ ช่วยกันบำรุงรักษาคูคลองละใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงเริ่มต้นเดือนแรกของฤดูฝน พบว่าเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและยังไม่ตกลงมาตามดูกาล ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยเฉพาะเขื่อนลำปาวเกิดการระเหยและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำไหลลงเขื่อน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพียง 455 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23 % จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ผลจากระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงดังกล่าว ทำให้บริเวณท้ายเขื่อนและริมฝั่ง รวมทั้งส่วนที่เคยเป็นผืนน้ำในฤดูฝน เกิดสันดอนและกลายเป็นทุ่งหญ้า ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย ลงไปเลี้ยง บางส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงปลูกพืชเป็นอาชีพเสริมในฤดูแล้งอีกด้วย

ขณะที่นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ทางโครงการฯ ได้ทำการหยุดส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรรมการบริการจัดการน้ำ และดำเนินการตามปฏิทินปฏิบัติ  เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม โดยหลังจากหยุดส่งน้ำแล้วก็จะมีการซ่อมแซมคลองส่งน้ำและดูแลขุดลอกตะกอนดิน เพื่อเตรียมความพร้อมของคลองไว้สำหรับการส่งน้ำเพาะปลูกข้าวฤดูฝน ที่จะดำเนินการส่งน้ำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564

นายฤาชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากจะขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันใช้อย่างอย่างประหยัด เนื่องจากฝนยังทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เช่น ชาวนา ชาวประมง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ที่ใช้น้ำจากคลองสายเล็กหรือคลองไส้ไก่ ในช่วงที่ทางโครงการหยุดส่งน้ำดังกล่าว ก็ให้ช่วยกันซ่อมแซมคูคลอง เพื่อน้ำจะได้ไหลสะดวกในช่วงทำการระบายน้ำในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันทางโครงการได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ออกสำรวจตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำอย่างทั่วถึง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – อดีตพยาบาลสาว สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ผันชีวิตทำเกษตรรายได้เดือนละแสน

อดีตพยาบาลสาวชาวอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ลาออกจากงานผันชีวิตมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ทั้งเลี้ยงไก่ดำ ปลูกผักหวาน ปลูกไผ่ เลี้ยงด้วงขายสร้างรายได้เดือนละแสน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีอดีตพยาบาลสาวได้ลาออกจากงานกลับมาบ้าน เพื่อมาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงลงพื้นที่ไปที่บ้านเลขที่ 252 บ้านโนนสำราญ ม.5 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.ธัญลักษณ์ มหัทธนยศนันท์  อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตพยาบาลที่ลาออกมาทำการเกษตรและเปิดเป็นฟาร์มการเกษตร ชื่อพรเจริญฟาร์ม

โดย น.ส.ธัญลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ตนทำงานเป็นพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ซึ่งในระหว่างที่ยังทำงานประจำอยู่ก็ได้ลองลงมือทำการเกษตร โดยการปลูกพืชก่อนเป็นอันดับแรกเช่น ปลูกกล้วย ผักหวาน ปลูกไผ่สายพันธุ์ต่างๆ ไว้ที่สวนของตนเองที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะเดินทางกลับมาดูแลสวนทุกๆวันหยุด จาก จ.ชลบุรี-มาที่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ทำลักษณะนี้อยู่ประมาณ 2 ปี พบว่า การปลูกพืชอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ และรายได้ที่เข้ามายังน้อยมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยศึกษาการเลี้ยงไก่ดำเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้อย่างแน่นอน อีกทั้งหลังจากที่ทำงานมาหลายปีตนเองก็รู้สึกว่าเหนื่อยแล้วกับการทำงานที่ทำอยู่ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงที่บ้าน

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง โดยมีพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งทำนา 2 ไร่ สระน้ำเลี้ยงปลา 1 ไร่ ปลูกไผ่ 1 ไร่ ส่วนที่เหลือทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง ทั้งเลี้ยงไก่ดำ KU ภูพาน ขายลูกอายุ 21วัน ตัวละ 50 บาท อายุ 1 เดือนขายตัวละ 70 บาท อายุ 2 เดือนขายตัวละ 150บาท  ไก่ดำชำแระขายกิโลกรัมละ180 บาท โดยก็มีลูกค้าประจำทั้งต่างจังหวัดและแถวๆใกล้บ้าน ปลูกผักหวานเก็บยอดขาย กิโลกรัมละ 300 บาท และบางครั้งก็จำหน่ายเมล็ดด้วย ปลูกไผ่กิมซุงตัดหน่อขายโดยการชั่งเป็นกิโลกรัมๆละ50บาท เลี้ยงด้วงสาคูขายปลีก กิโลกรัมละ 250 บาท ราคาส่งกิโลกรัมละ 200 บาท

นอกจากนี้ยังเลี้ยงหนูนาหรือหนูพุกขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจะขายเป็นชุด โดยหนูอายุ 3-4 เดือนตัวผู้ 1 ตัวและตัวเมีย 2 ตัว จะขายอยู่ที่ราคา 1,000บาท และขายเป็นหนูเนื้อกิโลกรัมละ 200-250บาท และตอนนี้กำลังวางแผนที่จะเลี้ยงหอยเชอรี่กับปลาไหลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีรายได้ให้เข้ามาตลอดทั้งปี

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงสัตว์ที่ทำอยู่นั้น นอกจากจะเป็นสร้างอาชีพให้กับตนเองมีงานทำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว อาชีพนี้ยังลดความเสี่ยงในการทำงานในสถานที่ที่มีผู้คนแอดอัดด้วย อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวในการสู้ภัยโควิด-19  เฉลี่ยประมาณ 100,000บาท ต่อเดือน ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเก็บเดือนละประมาณ 70,000-80,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่มากพอสมควรในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งจะเห็นว่าอาชีพการเกษตรนั้นยังมีเสน่ห์ มีอนาคต และสามารถสร้างรายได้แบบยั่งยืน เฉพาะในยุคโควิดระบาด หากเปลี่ยนวิธีคิด อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ต้องการสอบถาม หรืองต้องการเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม ก็สามารถสอบถามได้ทาง Facebook  ไก่ดำ ไก่บ้าน พรเจริญฟาร์ม หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 097-0821444


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top