Saturday, 10 May 2025
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ – คิกออฟปูพรหม ฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หยุดเชื้อเพื่อชาติ

จังหวัดกาฬสินธุ์คิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนแอสตริเซเนก้ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 วันเดียวพบผู้ป่วย 8 ราย

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า)  นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์  นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันเปิดการคิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนรอบสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แอสตร้าเซเนก้า สำหรับประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง พร้อมตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจกลุ่มแพทย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน

โดยบรรยากาศในช่วงเช้ามีบรรดาลูกหลานได้พาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเสี่ยง ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 เดินทางมารับการฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ คอยอำนวยความสะดวก ทั้งการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ซักประวัติ ตรวจสุขภาพความพร้อมก่อนการฉีดวัคซีน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชน “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนคนไทย ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค อยู่ประมาณ 240,000 คน โดยในเขตอำเภอเมือง มีผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 120,000 คน ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่น ๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของโรงพยาบาล  และทยอยฉีดตามลำดับการจอง ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ จ.กาฬสินธุ์ได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (Astrazeneca) จำนวน 3600 โดส โดยจัดสรรในเขตพื้นที่อำเภอเมือง 1000 โดส ที่เหลือได้กระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ

ด้าน นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลไว้ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางหลังเก่า อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์คอยอำนวยความสะดวกและบริการ ทั้งการตรวจสุขภาพประเมินก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด ซึ่งสามารถรองรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ประมาณวันละ 1,000 คน และในวันนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนสูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ ได้รายงานสถานการณ์โรคในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่ม 8 ราย โดยมีผู้ป่วยสะสมรวม 129 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 99 ราย กำลังรักษาอยู่ 26 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายล่าสุด อยู่ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ 7 ราย และอ.ยางตลาดอีก 1 ราย


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น - สหกรณ์โคนมจี้รัฐ ทบทวนสิทธิ์การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับสหกรณ์มากขึ้น หวั่นนมล้นตลาด หลังพบเอกชนรายใหญ่เจาะตลาดนมโรงเรียนและนมพาณิชย์มากขึ้น เฉพาะที่ขอนแก่นนมคงค้างมากถึงวันละเกือบ10 ตัน วอนทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่สหกรณ์โคมนม จ.ขอนแก่น นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด  พร้อมด้วย นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด นำคณะกรรมการสหกรณ์โคมนมแห่งประเทศไทย และสหกรณ์โคนมขอนแก่น ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันดื่มนมโลกประจำปี 2564 แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มนมกันอย่างแพร่หลาย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่  ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมประชุมเพื่อรับทราบถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกขณะนี้มีอยู่กว่า 174 ราย แต่ละวันมีการส่งน้ำนมโคดิบให้กับสหกรณ์วันละ ประมาณ 42 ตัน ในราคารับประกันการซื้อที่ กิโลกรัมละ 17.50 บาท ซึ่งสหกรณ์ได้ทำการคัดคุณภาพและผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างเพื่อส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มแยกเป็นกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ อาทิ  อสค.,ซีพี ,บริษัทเอกชนตามสัญญาคู่ค้า วันละ ประมาณ 20 ตัน และอีกส่วนคือส่งจำหน่ายให้กับ กลุ่มนมโรงเรียนวันละ 22 ตัน แต่ปัญหาที่พบคือการส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มนมโรงเรียนนั้นมีการรับซื้อวันละ 15 ตัน ทำให้นมของสหกรณ์คงค้างอยู่ในสต๊อกมากถึงวันละ 7  ตัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดสรรโควต้า ซึ่งสหกรณ์โคนมขอนแก่นอยู่ในกลุ่ม 3 ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบนโดยมีผู้ประกอบการทั้งในส่วนของสหกรณ์และบริษัทเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยมีการรับซื้อน้ำนมจากผู้ประกอการดังกล่าววันละ 166 ตัน ในรูปแบบของการจัดสรรโควต้า

“ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น นั้นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การจัดสรรโควต้าของกลุ่มนมโรงเรียน ที่ประกาศให้กลุ่มที่ 3 รับซื้อวันละ 166 ตัน แต่ก็มีการจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มบริษัทเอกชน จนทำให้ขณะนี้น้ำนมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่นคงค้างอยู่ในสต็อกแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมที่อาจจะต้องปล่อยทิ้งน้ำนมทั้งหมดไป”

ขณะที่ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม 3 ของสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย พบว่ามีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น และ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จึงต้องมีการประชุมด่วนหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเพราะหากปล่อยทิ้งไว้เข้ามารับฟัง รับทราบ หรือแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็จะส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆอย่างมาก ทุกภาคส่วนกำลังกำหนดแนวทางและพากันก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยกันโดยเร็ว ดังนั้นการจะออกมาเทนมทิ้งหรือการกระทำใด ๆ นั้นควรไม่มีเกิดขึ้น

“เราต้องหาทางออกและได้ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้นั้นแต่ละสหกรณ์นั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการเลื่อนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกแห่ง ทำให้การบริโภคนมลดลง จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ด้วยการดื่มนมทุกวัน ขณะที่คณะทำงานเมื่อได้ข้อสรุปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลเพื่อได้รับทราบจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและชัดเจนต่อไปอย่างเร่งด่วน”

ยโสธร - Kick off การป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 พ.ค.64 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดการรณรงค์ Kick off การป้องกัน กำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ที่ฟาร์มโคขุนหนองแหน ตำบลหนองแหน อำเภอกุดชุม โดยมี นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร นายสรวิศ สมพงษ์ นายอำเภอกุดชุม จ.ส.ต.พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายเทอดศักดิ์ สมภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน นายทรงศักดิ์ วงษ์สุพรรณ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ นายดำรงศักดิ์ หงษ์ทะนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ ข้าร่วมงาน

นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค การจัดกิจกรรม ประกอบด้วย การปล่อยขบวนรถหน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและพ่นยากำจัดแมลง  ปล่อยขบวนรถหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคลัมปี สกิน แก่เกษตรกรโดยงดการเคลื่อนย้ายสัตว์ และขอให้เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรค พร้อมทั้งมอบสารกำจัดแมลง น้ำส้มควันไม้ ชุดเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์  แร่ธาตุก้อน วิตามิน บำรุงสุขภาพสัตว์ มอบหญ้าแห้งอาหารสัตว์

ทั้งนี้การเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่บ้านหนองแหน หมู่ 1 ,3, 7 ซึ่งมีเกษตรกรเลี้ยงสัตว์รวม 8 คอก โค 14 ตัว องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน ได้สนับสนุนพ่นยาไล่แมลงที่เป็นพาหนะนำชื้อโรคพร้อมปศุสัตว์อำเภอกุดชุม เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค

สำหรับโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่พบในโค กระบือ  เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยแมลงดูดเลือดเป็นพาหนะนำโรคและไม่ติดต่อสู่คน สัตย์ป่วยจะมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีตุ่นนูนแข็งขึ้นตามลำตัว ต่อน้ำเหลือโต ขณะนี้มีการแพร่ระบาดทั่วประเทศ 41 จังหวัด ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบระบาดใน 17 จังหวัด โดยจังหวัดยโสธร พบารระบาดใน 9 อำเภอ 58 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 563 ราย ซึ่งมีสัตว์เลี้ยง รวม 160,236 ตัว มีสัตว์ป่วยรวม 875 ตัว  ยังคงป่วย 768 ตัว และได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดชนิดลัมบีสกิน ในโค เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถกำจัดโรคลัมปี สกิน ให้หมดไปได้อย่างแน่นอน และขอให้เชื่อมั่นว่า โรคนี้ รักษาหาย เนื้อกินได้ ไม่ติดคน


ภาพ/ข่าว  สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดยโสธร

ขอนแก่น - เปิดตัวน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 จากผลงานของนักเรียนชั้น ม.1 ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ ได้ใช้งานจริงในราคาไม่แพง

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 31 พ.ค.2564 ที่โรงเรียนเมทนีดล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย  สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น นำคณะครูและนักเรียน ร่วมส่งมอบน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 ให้กับ พญ.ดวงพร  อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ประดิษฐ์และคิดค้นขึ้นสำหรับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มีการบรรจุรายวิชา เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคณะครูได้ให้โจทย์ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม.1 ในการคิดค้นและประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถใช้งานได้และสอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน นักเรียนจึงได้เสนอแผนงานในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นจึงได้ประสานงานร่วมกันกับหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการวางแผนประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม

“น้องใบหม่อน เป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่นักเรียนได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความสูง 165 ซม. และขนาดความกว้าง 40 ซม. โดยด้านบนส่วนหัวจะเป็นที่ตั้งของกล้องและระบบรับสัญญา บริเวณลำตัวจะติดตั้งหลอดรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติเศษในการฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมี 5-7 เมตร ขณะที่ช่วงล่างก่อนถึงฐานล้อ มีการติดตั้งกล่องใส่สิ่งของ ที่สามารถรับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 3 กม. ระบบพลังงานใช้แบตเตอรี่รองรับไฟบ้านทั่วไป โดยใช้เวลาชาร์จ 2 ชม. ต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 ชม. ระบบรับ-ส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟที่สามารถส่งสัญญาณได้ถึงกันระยะทางกว่า 300 เมตร ซึ่งเมื่อได้รูปแบบแล้วจึงวางแผนในการจัดหาอุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ อย่างครบถ้วนและเข้าสู่ขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามคำแนะนำของคณาจารย์ โดยนักเรียนได้ใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถทีจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีสำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ส่งมอบให้กับ รพ.ภูเวียง และวันนี้ตัวที่ 2 ได้ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ โดยได้มีการสาธิตและสอนการใช้งานกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนยินดีที่จะดูแลรักษาและซ่อมบำรุงให้กับหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวตลอดระยะเวลาของการใช้งานที่โรงพยาบาลอีกด้วย”

ด.ช.ณัฎฐ์  นาคบรรพต  จิตร์โต นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในวงการการแพทย์ ที่มีบางพื้นที่นำมาใช้ในการเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ราคาสูงถึงตัวละกว่า 5 ล้านบาท ทำให้เพื่อนๆร่วมชั้นเรียน ซึ่งขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ ความสามารถ นำเอาแนวความคิดมาประสานกับเทคนิคทางวิชาการวิทยาศาสตร์ จนกลายมาเป็นน้องใบหม่อน ในราคาต้นทุนตัวละ 30,000 บาทที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนใช้เวลาในการประดิษฐ์เพียง 2 วัน ซึ่งข้อดีของน้องใบหม่อนนี้นั้นสามารถหมุนได้ 360 องศา มีขนาดความกว้างที่พอดี ที่สามารถเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้แทบทั้งหมด รัศมีการฉายรังสี ยูวีซี ได้กว้างและไกลถึง 5-7 เมตร ซึ่งสามารถที่จะทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องพักผู้ป่วย หรือห้องปฎิบัติการได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังคงสามารถใช้ในการรับส่งของ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ด้วยการติดตั้งกล่องด้านล่างช่วงฐานล้อ และบริเวณตัวหุ่นยนต์มีการติดตั้งชั้นสำหรับการใส่สิ่งของ หรือยา หรือแฟ้มผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก โดย รพ.ชุมแพ ทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 23 ราย ซึ่งขณะนี้บางส่วนหายขาดจาดโรคและบางส่วนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานโดยเฉพาะกับการที่จะช่วยในเรื่องของการทำความสะอาดห้องผู้ป่วยหรือ ห้องปฎิบัติการต่าง ๆ ด้วยระบบรังสียูวีซี รวมทั้งการรับ-ส่งสิ่งของ เวชภัณฑ์ยา หรือการติดต่อกับผู้ป่วยกับทีมแพทย์ ที่จากนี้ไปจะสามารถดำเนินการได้อย่าง สะดวก คล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากผลงานของนักเรียนในครั้งนี้

อำนาจเจริญ - รมช.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจโรคลัมปี-สกิน ระบาดโค-กระบือระบาดในพื้นที่ อำนาจเจริญรับปากจะนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงานรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคลัมปี-สกินระบาดในโค-กระบือ ที่บ้านโคกพระ หมู่ 3 ต. นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ. อำนาจเจริญ และมอบเวชภัณท์และอุปกรณ์การป้องและปล่อยขบวนรถในการรณรงค์ ป้องกันโรคระบาด เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ และรับปากว่าจะนำความเดือดร้อนจากเกษตรกรเข้า ครม.เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายทวีภัทร เหล่าบรรเทา สหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ บอกว่าขณะนี้ได้เกิดโรคลัมปีสกินหรือโรคตุ่มระบาดในโค ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ มาตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม 2564 ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ ทางสหกร์จึงได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคระบาด โดยเชิญ รมช.เกษตรและสหกรณ์มาหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ต่อไป

นางมนัญญา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากการรายงานของ ผวจ.สหกรณ์จังหวัดและ ปศุสัตว์จังหวัด ทราบว่าโรคระบาดในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ  ระบาดในครั้งนี้ประมาณ 1,000 ตัว  ตายตามที่ได้รับรายงานจำนวน 38 ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ตนรับปากว่าจะนำปัญหาดังกล่าวไปเสนอ ครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


ภาพ/ข่าว รมช.เกษตรติดตามสถานการณ์โรคระบาดโค-กระบือ / นายคู่  บุญมาศ 

ขอนแก่น - กกต.รับรอง “ธีระศักดิ์-พงศ์ธร-โกเมศ” นั่งนายกเล็กขอนแก่นแล้ว หลังมติรับรองเพิ่มเติมภายในระยะเวลา 60 วัน ตามกฎหมาย คาดสัปดาห์หน้าแถลงนโยบายต่อสภาพ และเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนทันที

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่  28 พ.ค.2564ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งถึง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมตามกรอบระยะเวลาการพิจาณาภายใน 60 วัน หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เพื่อให้ กกต.ขอนแก่น ดำเนินการแจ้งทางจังหวัดและเทศบาลต่าง ๆ ได้รับทราบและดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับในด่านต่าง ๆ ต่อไปท่ามกลางความสนใจจากนักการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นอย่างมาก เนื่องจากการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมในรอบที่ 2 เป็นที่น่าจะตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่ต่างติดตามความคืบหน้าในการประกาศรับรองจาก กกต.มาอย่างต่อเนื่อง

โดยประกาศรับรองครั้งนี้มีการประกาศรับรอง นายกและสมาชิกสภาเทศบาลฯ ในส่วนที่เหลือ อาทิ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ เป็นนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น,นายพงศ์ธร  พิศาพิทักษ์กุล เป็นนายกเทศมนตรีตำบลพระลับ,นายโกเมศ  ฑีฆธนานนท์ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่า,นายชัชวาล ธีรภานุ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป็ด,นายบุญแสง พรนิคม เป็นนายกเทศมนตรีตำบลโนนสะอาด,นายพนม เย็นสบาย เป็นนายกเทศมนตรีตำบลม่วงหวาน,นายชัยดี  รัตนปรีดา เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านฝาง,นายฉิน วรปัญญาสถิต เป็นนายกเทศมนตรีตำบลภูเวียง และ นายเสาวฤทธิ์ คามกะสก เป็นนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ไชย

นายอภินันท์  จันทร์อุปละ ผอ.กกต.ขอนแก่น กล่าวว่า กกต.จะทำหนังสือแจ้งถึงจังหวัดและเทศบาลฯ ที่เกี่ยวข้องในการประกาศรับทราบถึงมติจาก กกต.กลาง ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเลา 60 วัน หลังเสร็จสิ้นวันเลือกตั้ง โดยที่เทศบาลฯแต่ละแห่งจะทำหนังสือถึงจังหวัดเพื่อจัดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธานสภาเทศบาลและตำแหน่งอื่น ๆ สำหรับเทศบาลฯที่มีการรับรองครั้งแรกและไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ส่วนเทศบาลฯที่มีการรับรองเพิ่มเติม โดยเฉพาะเทศบาลฯที่มีการรับรองนายกเทศมนตรีฯ สภาเทศบาลฯจะจัดกาประชุมเพื่อให้นายกเทศมนตรีได้แถลงนโยบายเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

ขอนแก่น - แม่ค้าอาหารทะเลขอนแก่นเผย 'เราชนะ'รอบใหม่ยอดขายลดลง คาดยอดเงินน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลสดภายในโซนอาหารทะเล ตลาดรถไฟ หน้าสถานีรถไฟ เขตเทศลบาลนครขอนแก่น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้โอนเงิน โครงการเราชนะ,บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ตามมาตร 33 ของผู้ประกันตนงวดแรกเสร็จสิ้นแล้วไปเมื่อวันที่ 20 และ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา รายละ 1,000 บาท โดยบรรยากาศโดยทั่วไปพบว่ามีประชาชนเข้ามาใช้จ่ายตามสิทธิ์ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง

นางชลธิชา นามมูลตรี เจ้าของร้านลูกยายหลวย ตลาดรถไฟขอนแก่น กล่าวว่า ปกติร้านเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 – 19.30 น. ซึ่งหลังจากที่ชาวขอนแก่นที่ได้รับสิทธิ์ได้รับการโอนเงินมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.พบว่ามีการมาจับจ่ายซื้ออาหารทะเลที่ร้านจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติ โดยส่วนใหญ่จะมาซื้อในช่วงเย็นหลังเลิกงาน แต่ก็พบว่ามีพฤติกรรมการซื้อที่ต่างจากโครงการเราชนะครั้งที่ผ่านมาที่รับเงิน 7,000 และ 4,000 บาท

"เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ซื้อจำนวนลดน้อยลง เพราะวงเงินที่ได้เพียงครั้งละ 1,000 บาท ทำให้การบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างรัดกุม และคาดว่าส่วยใหญ่น่าจะเก็บไว้ใช้ซื้อสิ่งของใช้จำเป็น อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี แม้ว่ารอบแรกจะมียอดซื้อผ่านโครงการเราชนะหลายหมื่นบาทต่อวัน แต่มาครั้งนี้มียอดผ่านเราชนะหลักพันต่อวันซึ่งก็ยังคงจัดว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยพ่อค้า-แม่ค้าและผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก"

กาฬสินธุ์ – น้องโวลต์มอบเงินบริจาค 1.2 ล้าน เข้ากองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์รับมอบเงินบริจาคจากน้องโวลต์จำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจนจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนมีความประพฤติดี เรียนเก่ง แต่ฐานะทางบ้านยากจน พร้อมกระจายทุนจำนวน 50,000 บาทต่อคนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด 18 อำเภอ

จากกรณีนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ฐานะทางบ้านยากจน จึงทำการเปิดรับบริจาค เพื่อเป็นทุนการศึกษาเรียน และมีผู้ใจบุญบริจาครวมเป็น 3.7 ล้านบาท และได้ปิดบัญชี แต่กลับมีกระแสข่าวดราม่าในสื่อออนไลน์และโลกโซเซียลว่า “จนทิพย์” ซึ่งน้องโวลต์ได้ชี้แจงว่าได้ทำงานเก็บเงินตั้งแต่ ม.3 ซื้อมาด้วยตัวเอง เพราะจำเป็นต้องใช้และสิ่งของบางอย่างไม่ได้มีราคาแพง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก็พบว่ายากจน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลเงินที่ได้รับการบริจาค และมติจัดสรรเป็นเงินในการศึกษาและน้องโวลต์ต้องการที่จะบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการศึกษาให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมโปงลาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ดร.เพิ่มพูล พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายเทอดเกียรติ ขันธ์พิมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือ น้องโวลต์ ประชุมร่วมกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน มีนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์กล่าวรายงานแจงรายละเอียดสรุปมติจากการประชุมของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเงินบริจาคจากผู้ใจบุญที่โอนผ่านบัญชีน้องโวลต์

โดยคณะกรรมการมีมติจัดสรรดังนี้ 1. เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน 6 ปี จำนวน 1.7 ล้านบาท 2. ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา จำนวน  8 แสนบาท ซึ่งเพียงพอแล้วกับการเรียน และ 3.มอบให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 1.2 ล้านบาท ตามความตั้งใจของน้องโวลต์

จากนั้นนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนรับมอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาทจากน้องโวลต์ พร้อมมอบนโยบายและกล่าวขอบคุณผู้ใจบุญที่บริจาคเงิน และขอบคุณในกุศลเจตนาที่ดีของน้องโวลต์ที่มีความประสงค์มอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุน เพื่อการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีนโยบายที่จะจัดต้องกองทุนเพื่อการศึกษามุ่งหวังให้กับนักเรียนที่เรียนดีประพฤติดีแต่ฐานะทางบ้านยากจนให้คลอบคุมทั้ง 18 อำเภอ จำนวนทุนละ 50,000 บาท ต่อคน ต่อปี ตามหลักสูตรที่ผู้ได้รับทุนเข้าเรียนโดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียน แต่ต้องมีความประพฤติที่ดี มีผลการศึกษาต่อเทอมที่ดี เพื่อพิจารณามอบทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต่อไปได้ให้แต่ละอำเภอจัดตั้งกองทุนเป็นการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยๆ 18 ทุน ตามความสามารถศักยภาพของแต่ละอำเภอ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทุนการศึกษานั้นต้องเป็นเด็กที่เรียนดี แต่ฐานะทางบ้านยากจนตามสาขานั้นๆตามหลักสูตรที่ได้เข้าเรียนส่งทุนการศึกษาให้ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร หลักสูตรละ 50,000 ต่อคน ต่อปี ในแต่ละอำเภอต่างๆสามรถระดมทุน ทำเป็นผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณีของโวลต์ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคเกินกว่าความต้องการนั้น น้องโวลต์ก็มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กระจายไปในแต่ละอำเภอ ขึ้นอยู่กับความพร้อมความสามารถของผู้ได้รับทุนจะเรียนสาขาวิชาใดๆก็แล้วแต่ โดยจะมีคณะกรรมการไปเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกมอบให้กับผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และจะเตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เรียนต่อในสาขาวิชาเฉพาะทางและให้แต่ละอำเภอเป็นผู้ติดตามผลของการศึกษาในรูปของคณะกรรมการต่อไป อย่างไรก็ตามขอขอบคุณคณะกรรมการที่กำกับดูแลในส่วนทุนการศึกษาของน้องโวลต์ทุกท่านที่ทำให้เกิดผลดีอันเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ต่อไป

ด้านนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณทุกท่านที่บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในคณะแพทย์ ตนจะใช้เงินที่บริจาคมาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และตามที่คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเห็นชอบและทุกการใช้จ่ายจะผ่านคณะกรรมการทั้งหมด และจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อมอบให้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งต่อไปยังน้องๆเพื่อนๆที่ประพฤติดีเรียนดี แต่มีฐานะยากจนที่ลำบากเหมือนกับตน ส่งต่อความสุขด้วยการมอบเงินเพื่อเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้จบตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่บริจาคเงินมาและกลับมาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป

สุรินทร์ - โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาดูแลสุขภาพ ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน

พร้อมเดินเคาะประตูบ้าน รณรงค์วัคซีนโควิด รับมือปูพรมฉีดประชาชน 1 มิถุนายนนี้ ในพื้นที่ชายแดน

วันที่  24 พฤษภาคม 2564 พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาดูแลสุขภาพ การแจกจ่ายยา การให้ความรู้การลงทะเบียนและขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด -19 และการคัดกรองสุขภาวะทางจิต ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานป้องกันชายแดนรักษาอธิปไตยของชาติ ณ กองพันทหารปืนใหญ่สนามที่ 62 ทหารปืนใหญ่กองกำลังสุรนารี จำนวน 300 นาย  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ

จากนั้นพันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ ได้เดินเท้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ รณรงค์ให้ข้อมูลการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเคาะประตูบ้าน ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน

โดยนำหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนแนวชายแดน ที่บ้านหนองแวง หมู่ที่ 15 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว การดูแลตนเองกับครอบครัวให้ปลอดภัย และ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้คนในชุมชนเข้าใจและคลายกังวลว่า การฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดไว้ 

นายอุดม จันทนันท์ ชาวบ้านหนองแวง กล่าวว่า หลังจากได้ฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่แล้วรู้สึกคลายกังวล และพร้อมที่จะลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิวัคซีนเพื่อร่วมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนในพื้นที่ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า   

กาฬสินธุ์ – เยียวยาชาวบ้านประสบภัยพายุหัวเดียว ถล่มบ้านพังเสียหาย

ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชน ในเขตตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังได้รับความเสียหายถูกพายุพัดบ้านเรือนเสียหาย 60 หลังคาเรือน พร้อมนำถุงยังชีพ ไข่ไก่ ช่วยเหลือเบื้องต้น และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านเว่อ หมู่ 2 และบ้านร่มเย็น หมู่ 15 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนชาวบ้าน หลังจากถูกพายุ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียวพัดพังเสียหายหลายสิบหลังคาเรือน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 นางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 นำสำรวจและให้ข้อมูล จากนั้นได้นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค ไข่ไก่ไปมอบให้กับครัวเรือนที่ประสบวาตภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19 ที่วัดโพธิ์ชัยบ้านเว่อ-บ้านร่มเย็น

นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านเว่อและบ้านร่มเย็นว่าเกิดเหตุวาตภัย พัดบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะที่ปรึกษารมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงในสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้อง ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้มาให้กำลังใจ พร้อมจัดหาถุงยังชีพ ประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และไข่ไก่ นำมามอบให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะลดรายจ่ายด้านค่าครองชีพ ในช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19  ในส่วนการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ ก็จะได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าให้ความช่วยเหลือในโอกาสต่อไป

ด้านนางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 กล่าวว่า เหตุวาตภัยพัดบ้านเรือนดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งพายุที่เกิดขึ้นนั้นมาในลักษณะของลมพายุหมุน ชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียว พัดพุ่งมาในแนวตรง ประมาณ 20 นาที มีฝนและลูกเห็บตกมาด้วย นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ประสบมา ซึ่งบ้านเรือนของตนที่เพิ่งสร้างเสร็จ ก็ได้รับความเสียหายด้วย โดยความรุนแรงของลมได้พัดเอาตัวบ้านจนสั่นสะเทือน หลังคาเปิด เสาบ้านหัก สังกะสีปลิวว่อนไปกลางกลางทุ่งนา ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 1 แสนบาททีเดียว

ขณะที่นายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ร่วมกับผู้นำชุมชน สำรวจความเสียหาย และขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสำรวจนอกจากบ้านเรือนชาวบ้านจะได้รับความเสียหายจำนวน 60 หลังคาเรือนแล้ว ยังพบว่าหลังคาศาลาวัด หลังคาอาคารเรียน ยังได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งนี้ ได้รายงานความเสียหายไปยังเทศบาลตำบลบัวบาน และนายอำเภอยางตลาด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการมอบถุงยังชีพ ไข่ไก่ และให้กำลังใจชาวบ้านในครั้งนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top