Thursday, 9 May 2024
อีสานไทม์

ชาวบ้านครวญเข้าไปหาของป่าไม่พอกิน วอนลุงตู่ ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า

ชาวบ้านชายแดนไทยเขมร วอนลุงตู่ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า สะอื้นครวญทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าได้แทบไม่พอกินอยู่แล้ว หากขยายพื้นที่อนุรักษ์ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่าเลี้ยงครอบครัวได้  ควรให้อยู่กันแบบเดิมต่อไป

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนหลังจากที่มีข่าวว่า ขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอขอให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยได้ดำเนินการผนวกพื้นที่ป่าไม้ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าตามมติ ครม.ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

ซึ่งในบริเวณ ต.ไพรพัฒนา มีสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมายเช่น จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำ จุดชมวิวผาพญากูปรี อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ เป็นต้น และมีหมู่บ้านต่าง ๆ อีกประมาณ 8 หมู่บ้าน โดยพบว่าชาวบ้านได้มีการปลูกสวนยาง ทำไร่ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ จำนวนมาก และมีการสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นมาก มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนหลายพันคนด้วยกัน เมื่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องผนวกเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านต่างพากันตื่นตกใจเนื่องจากว่า จะทำให้ชาวบ้านที่เคยเข้าไปหาของป่าและทำมาหากินกับป่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกรงว่า บ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่อาจจะต้องถูกรื้อถอนออกไป และไม่ทราบว่าจะต้องพากันไปอาศัยทำมาหากินที่ใด

นางจิ๋ม พรหมงาม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 227 หมู่ 8 บ้านแซรไปร ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงมาเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า วันนี้ตนออกจากบ้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงในป่าตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เขต ต.ไพรพัฒนา ปรากฏว่า จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายได้ไข่มดแดงและแม่เป้งมดแดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะนำเอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ซึ่งหากว่า มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ขณะนี้ชาวบ้านอย่างพวกตนได้รับความลำบากในการทำมาหากินมากอยู่แล้ว  หากมีการขยายเขตอนุรักษ์ก็ยิ่งจะทำให้ทำมาหากินลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า หากเข้าไปหาของป่าเก็บเห็ดเก็บของป่าต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปดำเนินคดี จะทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

ตนจึงขอกราบวิงวอนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. ขอได้โปรดอย่าให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าหรือว่า ขยายพื้นที่ป่า ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขอความเมตตาจากลุงตู่ นายก รมต.ขวัญใจชาวบ้านผู้ยากไร้ได้โปรดให้ความช่วยเหลือพวกตนด้วย

ด้าน นางสำราญ ผิวนวล  อายุ  59 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้  ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอาชีพเก็บของป่าเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า ตนกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแซรไปร ที่คาดว่าจะถูกผนวกเข้าไปเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2527 ขณะนั้นตนมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น จนกระทั่งขณะนี้ตนมีอายุ 59 ปีแล้ว มีญาติพี่น้องและลูกหลานจำนวนมาก พวกตนมีอาชีพเข้าไปหาเก็บผักหวาน ผักกระโดน ผักอีฮีน เก็บเห็ด แมงจีนูน เป็นต้น ตามแต่จะหาเก็บได้นำเอาของป่ามาขายเป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวพอประทังชีวิตให้รอดพ้นไปได้ ตนและครอบครัวญาติพี่น้องทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหรือเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

เนื่องจากว่า จะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะว่า เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปเก็บหาของป่า ที่เป็นการดำรงชีพตามปกติได้ จะทำให้พวกตนในพื้นที่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ตนขอกราบวิงวอนลุงตู่ นายก รมต. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนผู้ยากไร้ ขอได้โปรดกรุณาช่วยเหลือพวกตนด้วย พวกตนไม่ต้องการให้เขตพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เพราะว่าหากพวกตนเข้าไปหาของป่าจะต้องถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก

ภาพ/ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

กองทัพภาคที่ 2 มอบทุนการศึกษา ‘พี่ทหารสานฝัน’ เอนทรานซ์สู่รั้วมหาวิทยาลัย

วันที่ 24 มีนาคม 2564 พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช ผบ.นฝ.นศท.มทบ.26 เป็นผู้แทนพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางมาเป็นประธาน โครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ มอบทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีนางสารภี เลไธสง ผู้อำนวยการโรงเรียนนางรองพิทยาคม กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ ณ ศูนย์สื่อและเทคโนโลยี โรงเรียนนางรองพิทยาคม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

กองทัพภาคที่ 2 ได้เล็งเห็นความสำคัญการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จึงสานต่อโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ โดยสนับสนุนคอร์สเรียน ‘ภาษาอังกฤษครูนะ ออนไลน์ คอร์ส Entrance’ จำนวน 5 ทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย

พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช กล่าวว่า พิธีมอบทุนโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ ในครั้งนี้ ซึ่งมีพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานโครงการ และ อาจารย์ศักดิ์ครินช์ จงหาญ หรือ ครูนะ เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะทางภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และเป็นส่วนในการสร้างขวัญกำลังใจ ให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ขอชื่นชมผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับทุน ให้รักษามาตรฐานการเรียน การสร้างความดี มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะช่วยเหลือสังคมเมื่อมีโอกาส

ภาพ/ข่าว  สมพุด เกตขจร (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์)

เจ้าคณะจังหวัดสั่งตรวจสอบพระสอนเสพกาม มอบเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลเข้าไปดูแล เผยคำสอนของหลวงตา ‘กรันยา’ ผิดเพี้ยน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า หลวงตากรันยา ถาวรธัมโม อายุ 59 ปี ประธานที่พักสงฆ์ วัดป่าเนื้อนาบุญ บ้านกอกหวาน ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ได้แสดงธรรมในคลิปเสียงที่หลวงตาได้เทศนาเกี่ยวกับการเสพเมถุนว่า คุณจะมาจากไหนก็ตาม แต่เมื่อคุณมาทำตามกามเมื่อไหร่จะเกิดอะไร เกิดมรรคผลขึ้นทันที อนุโมทนาสาธุการ มีการฝึกปฏิบัติแบบสะเทินน้ำสะเทินบกดับวิญญาณ และอยากให้ผู้นำทุกระดับของประเทศเข้ามาฝึกปฏิบัติ  เมื่อสำเร็จแล้วจะเป็นอริยะบุคคล เมื่อผู้นำเป็นอริยะบุคคลแล้ว จะทำให้ประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุขบ้านเมืองไม่เกิดความแตกแยกอีกต่อไป ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64  ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ที่พักสงฆ์วัดป่าเนื้อนาบุญ  บ้านกอกหวาน ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พบว่า มีบรรดาลูกศิษย์ที่ศรัทธาพากันเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกศิษย์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และจากทั่วประเทศ  ต่างพากันสวมเสื้อสีรุ้งสีสันสดใสนั่งรับฟังการแสดงธรรมะจากหลวงตากรันยา ถาวรธัมโม ซึ่งบรรยากาศการแสดงธรรมเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทำให้ลูกศิษย์ตั้งใจรับฟังการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก ขณะที่ลูกศิษย์ส่วนหนึ่งพากันลงไปดำน้ำในถังพลาสติคขนาดใหญ่ โดยดำน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อต้องการให้บรรลุธรรมตามคำสอนของหลวงตากรันยา ที่ได้ให้แนวทางการปฏิบัติเอาไว้

ทางด้าน พระวินัยเมธี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธ.) กล่าวว่า จากการที่ได้รับทราบแนวทางการสอนของหลวงตากรันยา  ถาวรธัมโม แล้ว พบว่า ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงสอนเอาไว้ จึงได้สั่งตั้งเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลเข้าไปพูดคุยแล้ว  โดยทางฝ่ายสงฆ์ก็จะต้องเข้าไปดูว่า จะต้องวินิจฉัยด้านพระธรรมวินัยอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เป็นกรอบในการทำงานต่อไปตามสั่งการ  ในด้านสังคมหลวงตากรันยาก็มีญาติพี่น้องอยู่ตรงนั้น ก็ให้เข้าไปพูดคุยเพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการว่าผิดมากน้อยแค่ไหนและผิดกรอบทางวินัยสงฆ์หรือไม่  ในส่วนของตัวบุคคลนั้นท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากหลักการ แต่ว่าในหลักการแล้วก็จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนตามกระบวนการ จะได้ไม่เป็นข้อเสียหายทางด้านนี้อีกต่อไป จะไม่ใช้ความรู้สึกใด ๆ เข้าไปในการดำเนินการจะต้องทำตามหลักการให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์  จากนั้น จะได้พิมพ์หนังสือแจ้งให้หลวงตากรันยาทราบ เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงจะเป็นการทำตามหลักการให้สมบูรณ์

ข่าว/ภาพ   บุญทัน  ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

"ครูใหญ่" นำ 16 แกนนำคณะราษฎรขอนแก่น เข้ารายงานตัวต่อตำรวจขอนแก่นตามหมายเรียก ขณะที่ตำรวจวางกำลังเข้ม ด้านผู้ชุมนุมปิดถนน 1 ช่องทาง กางเต๊นท์ปักหลักรอผลการสอบสวน

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 มี.ค.2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที นำแกนนำคณะราษฎรขอนแก่น รวม 16 คนเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ตามหมายเรียกให้ทั้ง 16 คนเข้ารายงานตัวในวันนี้ ท่ามกลางมาตรการป้องกันและรักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างเข้มงวด ด้วยกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนและปราบจราจลจำนวน 4 กองร้อยจาก จ.ขอนแก่น,กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม วางกำลังโดยรอบ สภ.เมืองขอนแก่น และฝั่งตรงข้าม สภ.เมืองขอนแก่น อย่างเข้มงวด

เนื่องจาก สภ.เมืองขอนแก่นตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งมีตลาด ร้านทอง สถาบันการศึกษา โรงรับจำนำ ที่มีประชาชนเดินทางมาใช้บริการอย่างคับคั่ง โดยมีการตรวจสอบคนเข้า-ออก สภ.เมืองขอนแก่น อย่างเข้มงวด และไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่นอย่างเด็ดขาด ขณะที่ผู้ที่มาติดต่อราชการให้ผ่านได้ทางประตูด้านข้างโดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเช่นกัน

และเมื่อแกนนำทั้ง 16 คนเดินทางมาครบ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเรียกแกนนำเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยเริ่มเหตุการการณ์ชุมนุมที่ สภ.ย่อย มข. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ต่อด้วยเหตุการชุมนุม ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. และการชุมนุม ที่ สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. โดยแกนนำทั้งหมดและทนายความได้เดินทางเข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่น โดยเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ผู้ติดตามแกนนำเข้าไปร่วมรับฟังการสอบปากคำได้แบบ 1 ต่อ 1

โดยไม่อนุญาตผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่น ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มาให้กำลังใจ ที่ไม่ได้เข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่น ทำการนำเต๊นท์มาตั้งบน ถ.กลางเมือง 1 ช่องทาง พร้อมทั้งการหมุนเวียนกันปราศรัยและรอติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งวันในวันนี้ ซึ่งก่อนเดินทางเข้ารายงานตัวนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้มอบดอกกุหลาบเพื่อให้กำลังใจกับเหล่าบรรดาแกนนำทั้งหมด

อย่างไรก็ตามขณะนี้แกนนำกลุ่มราษฎรขอนแก่นทั้ง 16 คน ประกอบด้วยนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่,นายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือ เซฟ,นายชัยธวัช รามมะเริง,นายนิติกร ค้ำชู,นายกรชนก แสนประเสริฐ,นายพชร สารธิยากุล,นายธนศักดิ์ โพธิเตมิย์,นายวีรภัทร ศิริสุนทร,นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์,นายศรายุทธ นาคมณี,น.ส.จตุพร แซ่อึง,นายเชษฐา กลิ่นดี,นายศิวกร นามนวด,นายเจตน์สฤษดิ์ นามโคตร,นายอิศเรษฐ์ เจริญคง และ น.ส.วิศัลยา งามนา อยู่ในระหว่างการสอบสวน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ต่อไป ท่ามกลางมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนและปราบจราจล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบที่กระจายกำลังอยู่โดยรอบสถานที่ชุมนุม และ สภ.เมืองขอนแก่น อย่างเข้มงวด

พบผู้ป่วยโควิด รายที่ 14 เป็นคนนอย์เวย์ อายุ 74 ปี เบื้องต้นกักตัวตัวตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง แต่ยืนยันตรวจเชื้อมีอาการ และเข้ารักษาตัวที่ขอนแก่น ผู้ว่าฯ สั่งเร่งตรวจสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 มี.ค.2564 ที่ห้องประชุมแก่นชัย ชั้น 5 ศาลากลาง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังผลตรวจยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ท่ามกลางความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชาวนอย์เวย์ อายุ 74 ปี  ซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรณภูมิ ในวันที่ 5 มี.ค. จากนั้นเข้ารับการกักตัว ในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลา 14 วัน โดยในวันที่ 7 มี.ค. เข้ารับการตรวจเชื้อครั้งแรกไม่พบการติดเชื้อ และเข้ารับการตรวจเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มี.ค.ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน ก่อนจะครบกำหนดการกักตัวในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งเจ้าตัวเดินทางกลับขอนแก่น ทันที โดยลงเครื่องที่สนามบินขอนแก่น ในวันที่ 20 มี.ค. ไฟท์เที่ยง โดยมีลูก 2 คนเดินทางมารับและกลับบ้านที่จังหวัดข้างเคียงกับขอนแก่น

“จนกระทั่งวันที 21 มี.ค.ผู้ป่วยเริ่มมีอาการบ่งชี้ โดยเฉพาะปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงให้ครอบครัวเข้ารับการตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งของ จ.ขอนแก่น แต่ด้วยมาตรฐานคุมเข้มที่จังหวัดของเรากำหนดไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะต้องรายงานข้อมูลต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบซึ่ง รพ.เอกชน แห่งนี้ได้ซักประวัติและตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงค่ำ จึงมีการส่งต่อการรักษามาที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เข้มงวดทันที”

ขณะที่ นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทุกขั้นตอนเมื่อผู้ป่วยถึงทีมแพทย์ ตั้งแต่ รพ.เอกชน และส่งต่อมายัง รพ.ศรีนครินทร์ เป็นไปตามขั้นตอนการปฎิบัติงานที่เข้มงวด ตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ทำให้ขณะผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายที่14 ของ จ.ขอนแก่น นั้นอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ตามขั้นตอนของการรักษาแล้ว  ขณะเดียวกันทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบไทม์ไลน์ผู้ป่วยอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การเดินทางมาที่ขอนแก่น ด้วยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่นั่งใกล้ชิดกับผู้ป่วยคือ 3 แถวหน้าและ 3 แถวหลังจะต้อเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจเชื้อทันที

ขณะเดียวกันกลุ่มเสี่ยงสูง 2 คนคือคนในครอบครัวของผู้ป่วยนั้นขณะนี้ได้มีการเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจเชื้อกับทางแพทย์แล้ว ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำ 17 คนนั้น ขณะนี้ทยอยเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ทีมสอบสวนโรค จะลงพื้นที่ที่บ้านของผู้ป่วย รวมทั้งการซักรายละเอียดต่างๆอย่างละเอียดเพื่อให้มาตรการควบคุมและป้องกันและการควบคุมพื้นที่เป็นไปอย่างรัดกุม

กาฬสินธุ์ พายุฤดูร้อน หอบลูกเห็บพัดถล่มหลายพื้นที่ เร่งสำรวจช่วยเหลือ

เกิดพายุฤดูร้อนลมหมุนและลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะบริเวณจัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดในตัวจังหวัด ความแรงของพายุพัดเต้นท์ ร้านค้าได้รับความเสียหาย โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่หลายอำเภอเกิดฝนตกหนัก และลูกเห็บตก ด้านผู้ว่าฯกาฬสินธุ์สั่งให้ปภ.กาฬสินธุ์ และทุกอำเภอเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 มีนาคม 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดลมพายุฤดูร้อนพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งความแรงของพายุ นอกจากจะมีลมกระโชกแรงแล้ว ยังเกิดฝนตก และลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2564 โดยแรงลมได้พัดเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ล้มระเนระนาด โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต ส่วนสินค้า สิ่งของ ได้รับความเสียหายบางส่วน

สอบถามพ่อค้าซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่าก่อนเกิดเหตุมองเห็นท้องฟ้าสีแดง ก่อนที่จะมีลมหมุนพัดเข้ามา แต่ไม่มีฝนตก ซึ่งความแรงของลมพัดเอาเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่อยู่ในงานพังเสียหาย ส่วนพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่กำลังเดินในงานก็พากันวิ่งหลบเข้าที่ปลอดภัย ซึ่งเกิดมาไม่เห็นลมหมุนที่พัดแรงขนาดนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในห้วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จะเกิดพายุลมพายุแรงแล้ว ยังมีรายงานว่าในพื้นที่หลายอำเภอ เช่น อ.กุฉินารายณ์  อ.ยางตลาด อ.เขาวง อ.กมลาไสย โดยเฉพาะที่อนุบาลโรงเรียนบ้านขมิ้น อ.สมเด็จ ซึ่งหลังคาอาคารเรียนถูกความแรงของพายุพัดและหอบหลังคาปลิวว่อน ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า อิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยเกิดกระแสลมกระโชกแรง ฝนตก และลูกเห็บตกเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ อ.เขาวง มีลูกเห็บตกและลมพัดแรง ทั้งนี้จากพายุดังกล่าวทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย ต้นไม้หักโค่น หลายครัวเรือนหลายอำเภอ

โดยล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กำชับให้นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมนายอำเภอทุกอำเภอที่เกิดพายุ ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว


ภาพ/ข่าว : ณัฐพงษ์ ประชากูล กาฬสินธุ์

เปิดศูนย์ท่องเที่ยวภูพระบาทบ้านติ้ว อุดรธานี พร้อมเตรียมยกระดับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

วันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 14.30 น. ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ  จ.อุดรธานี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิด “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เพื่อยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากล เตรียมความพร้อมในการนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี ร่วมพิธี 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินจอมธาตุ-ภูพระบาท (เตรียมการ) พื้นที่ 3,430 ไร่ พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถาน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเกิดขึ้นในหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 54 จุด มากที่สุดในประเทศไทย , เพิงผาหินขนาดใหญ่ , วัดที่สร้างขึ้นในสมัยลานช้างกว่า 70 แห่ง รวมทั้งรอยพระพุทธบาท 3 รอย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตำนานพระธาตุพนม สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2535

นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นำ นายปรเมศวร์ฯ ผช.รมว.วัฒนธรรม พร้อมคณะ เข้าชมนิทรรศการภายในอาคารศูนย์ฯ เป็นอาคารภายนอกโปร่งแสง จัดแสดงเนื้อหาพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา ของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาท และใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ โดยห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน  คือ ธรรมชาติบนภูพระบาท , ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน , ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ , ห้องโบราณคดีผ่านสื่อผสมผสาน , ห้องอริยสงฆ์ภูพระบาท และ ห้องชาติพรรณไทยพวน   

จากนั้นคณะ ขึ้นรถไฟฟ้าบริการท่องเที่ยว เข้าชมกลุ่มโบราณสถาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบประเพณีอีสาน ด้วย “ขันหมากเบ็ง” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ที่อยู่ในยุคต่างกัน ได้ดัดแปลงเพิงผาหินทราย ลายล้อมด้วยใบเสมาขนาดต่าง ๆ ให้เป็นศาสนสถานประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นกลุ่มกระจายอยู่ทั่วภูพระบาท โดยเริ่มต้นที่ หอนางอุสา ก่อนเดินเท้าชมพื้นที่โดยรอบ อาทิ หีบศพพ่อตา , หีบศพเท้าบารส , หีบศพนางอุสา และถ้ำพระ ตลอดเส้นทางเดินถูกปรับแต่งให้เดินได้สะดวก พร้อมป้ายอธิบายความเป็นมา รวมทั้งป้ายชื่อต้นไม้ตลอดทาง

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณ 15.34 ล้านบาท จากงบยุทศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม พัฒนาและปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพอาคารปฏิบัติการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการ ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก   

“นอกจากนี้ยังบริการให้ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ที่ผสมโลกของความเป็นจริงกับโลกเสมือน หรือ AR สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย และคนพิการ ทั้งนี้เนื้อหาที่จัดแสดง เหมาะสำหรับผู้มารับริการหลายช่วงอายุ  ที่มีความสนใจในพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาของคนในพื้นที่ภูพระบาท และบริเวณใกล้เคียง โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูล และวัตถุจัดแสดงจากชาวไทยพวนบ้านผือ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ”

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิทัศน์ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในลุ่มน้ำโขงและอุดรธานี ที่มีความพร้อมและศักยภาพ สำหรับการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยกรมศิลปากรจะเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียน นอกจากจะได้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างเหมาะสมแล้ว ยังได้ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับสากล หวังว่าวันนี้จะเป็นก้าวแรกของศูนย์ฯ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ต่อไป 

สำหรับ“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เคยได้ขึ้นบัญชีชั่วคราวรับการประเมินเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ วันที่ 30 มกราคม 2558 , ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงพื้นที่วันที่ 17-24 กันยายน 2558 ,  ต่อมาประเทศไทยต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 , ICOMOS ส่งรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์วันที่ 11 มีนาคม 2559 เพื่อให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ยูเนสโก ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 10-20 กรกฎาคม 2559 แต่ประเทศไทยถอนตัว เพราะเชื่อว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2562 ครม.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนำเสนออีกครั้ง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าง การจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม


ภาพ/ข่าว : นายกฤษดา จันทร์ดวง (ผู้สื่อข่าว)

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันน้ำโลก 22 มี.ค. 64 ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เลี่ยงปัญหาภัยแล้ง เพื่ออนาคตมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กุดเมืองฮาม ต.กุดเมืองฮาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายวราวุธ   ศิลปะอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ คณะผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาตรวจราชการโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5  ได้รับงบประมาณตามแผนปี พ.ศ. 2560 ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม โดยการขุดลอกพื้นที่ความยาวรวม 3,921.38  เมตร เพื่อเป็นแก้มลิงไว้กักเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ในการบรรเทาความเดือดร้อนด้านการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้งบประมาณ 23,900,000 บาท สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือมีปริมาณความจุเก็บกักน้ำเพิ่มจำนวน 6,648,792 ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 800 ไร่  ครัวเรือนได้ประโยชน์ 200 ครัวเรือน โดยมีนายวิชัย    ตั้งคำเจริญ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ และนายสุพร  ธีรโรจน์ชาลี  นายอำเภอยางชุมน้อย  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชนชาวบ้านกุดเมืองฮาม มาให้การต้อนรับ

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้เป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีลักษณะโครงการดังนี้ ติดตั้งถังไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 100,000ลิตร จำนวน 3 ถัง แผงเซลล์แสงอาทิตย์พร้อมโครงสร้าง ขนาดแผงละ 330 วัตต์ จำนวน 96  แผงชุดเครื่องสูบน้ำ สามารถสูบน้ำได้ 60 ลบ.ม/ชม ระบบกระจายน้ำด้วยท่อ HDPE ความยาว 2,430  เมตร งบประมาณ 16,998,100  บาท  ผลงานก่อสร้างปัจจุบันร้อยละ 55.09 เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากการทำเกษตร จำนวน 1,225 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 418  ครัวเรือน และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พริก และหอมแดง เป็นต้น

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันน้ำโลก ตนเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีเพราะมีน้ำต้นทุนที่เรียกว่าน้ำฝนเพียงพอ แต่วันนี้เราคงต้องมาตระหนักในเรื่องของน้ำ จะต้องใช้น้ำทุกหยดอย่างมีคุณค่า และรักษาคุณภาพของลำน้ำที่เรามีอยู่นั้นให้มีคุณภาพสะอาดมีความใส  ซึ่งในวันนี้ทางรัฐบาลกำลังร่วมกันรณรงค์ทำอย่างไรที่จะให้น้ำเข้าถึงพี่น้องประชาชนมากที่สุด ในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนก็จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ในการเก็บน้ำฝนลงดิน ในการทำน้ำใต้ดิน ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับคนไทยของเรา ขอฝากพี่น้องประชาชนชาวไทยในเรื่องนี้

นายวราวุธ ศิลปะอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นโครงการที่มีประโยชน์ และพี่น้องได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมุ่งมั่นในการบริหารจัดการน้ำ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนของเราพัฒนาเจริญอย่างยั่งยืน โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ เป็นโครงการที่กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม ซึ่งแต่เดิมมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จึงได้พัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งสามารถลดผลกระทบจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมแต่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก จึงต่อยอดดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ 

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64  ซึ่งเป็นวันน้ำโลก ตนขอฝากถึงประชาชนชาวไทยทั่วประเทศว่า  น้ำทุกหยดนับวันจะมีค่ามากขึ้นและหายากมากขึ้น ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความหมายต่อชีวิตมนุษย์มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การทำอุตสาหกรรม และแม้แต่การรักษาระบบนิเวศน์ ดังนั้น เมื่อเราใช้น้ำแล้ว การอนุรักษ์น้ำ การเพิ่มเติมน้ำเข้าไปในใต้ดิน หรือแม้แต่โครงการธนาคารน้ำใต้ดินเข้าไปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน  ตนจึงขอฝากพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ว่า ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำอย่างมีคุ้มค่า และให้ช่วยกันปลูกป่า เพื่อว่าในอนาคตเราจะได้มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์  จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาภัยแล้งอย่างที่เราเคยเจอมาอย่างในอดีตที่ผ่านมา


ข่าว/ภาพ : บุญทัน ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

ม.อุบลฯ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เปิดตลาดออนไลน์ซื้อ-ขาย ผลิตผลเกษตรอินทรีย์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจับคู่อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดศรีสะเกษ”

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย นำทีมนักวิจัยรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว พร้อมทดลองใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล Omart รับเกียรติจาก นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐเอกชน และกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมรับฟังสรุปผล ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย  กล่าวว่าตามที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการดำเนินโครงการวิจัยฯ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) จับคู่และรองรับการซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์

โดยมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ภายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางและศักยภาพในการซื้อและขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลจะให้สารสนเทศต่าง ๆ ของทั้งฝั่งอุปสงค์ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ประเภทผลผลิตที่เพาะปลูก ปริมาณของผลผลิตที่เพาะปลูกได้ วันเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต มาตรฐานหรือวิธีการเพาะปลูก ราคาขาย เป็นต้น และฝั่งอุปทาน เช่น ประเภทของผลผลิตที่ต้องการ ปริมาณของผลผลิตที่ต้องการ วันเวลาที่ต้องการผลผลิต ราคาซื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลจะทำหน้าที่ในการจับคู่ระหว่าง อุปสงค์ และอุปทาน โดยนำเสนอผู้ผลิต (อุปสงค์) หรือผู้บริโภค (อุปทาน) ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้ใช้ได้ป้อนเข้าไป จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นมา ในโครงการวิจัยนี้ ผู้ผลิตจะสามารถวางแผน และตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับความต้องการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง และได้มีผลผลิตเกษตรอินทรีย์

เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับผู้ผลิตและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะสามารถช่วยให้การซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้ในทุกโอกาส รวมถึงในสถานการณ์ที่มีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือโรคระบาด ซึ่งโครงการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยความร่วมมือทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ จันทร์จรัสจิตต์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการวิจัย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นแหล่งสารสนเทศดิจิทัลที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร (ผู้ขาย) และผู้บริโภค โดยเกษตรกรผู้ขายสามารถรวบรวมข้อมูล รายชื่อ แหล่งที่ตั้ง ปริมาณของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เพิ่มข้อมูลกระบวนการผลิต ในระบบสารสนเทศได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคที่สามารถคาดการณ์ และจับจองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลกำลังการผลิตผลผลิตทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) ความต้องการผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร

ทีมวิจัย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายสินค้าเกษตร พร้อมทดสอบและปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ซื้อ สามารถประกาศซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการ เลือกสินค้า รวบรวมสินค้าก่อนจะทำการยืนยันและชำระเงิน  ผู้ขาย สามารถเลือกขายสินค้าตามความต้องการ หรือประกาศขายสินค้าของตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานในระบบ ใช้ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือ ID line ในการยืนยันข้อมูลเพื่อความปลอดภัย เมื่อเป็นสมาชิกแล้วสามารถค้นหาสินค้า แล้วทำการซื้อขายสินค้าได้ "สะดวก สบาย ปลอดสารพิษ ชีวิตมีสุข"

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” และยุทธศาสตร์ที่ 2 “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล”

ลิ้งค์ข้อมูลเพจ และเว็ปไซต์ www.facebook.com/omart.ubu  

http://omart.ubu.ac.th/about/


ภาพ/ข่าว กฤษณะ วิลามาศรายงาน

ร.13 พัน 3 ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ที่ตั้งใกล้หน่วย บรรเทาความเดือดร้อน ห้วงโควิดระบาด

กำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13  ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการช่วยเก็บถั่วฝักยาว ขนถ่ายผลผลิต และรับซื้อถั่่วฝักยาว ที่เป็นผลผลิตของเกษตรกร ไปประกอบเลี้ยงกำลังพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณใกล้ที่ตั้งหน่วย โดยรับซื้อถั่วฝักยาวจาก นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 13 บ้านหมูม่น ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 กก.เป็นเงิน 1,200 บาท

พ.ท.บริสุทธิ์ สุจินพรหม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 กล่าวว่า กรมทหารราบที่ 13 โดย พ.อ.มงคล หอทอง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 สั่งการให้หน่วย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณรอบที่ตั้งหน่วย ห้วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำมาประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพลภายในหน่วยได้รับประทานพืชผักสดใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังการสร้างขวัญ กำลังใจ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง เกษตรกร กล่าวว่า ขอขอบคุณทางกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 เป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในครั้งนี้ เพื่อได้เป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกร รายได้ที่ได้ ก็จะได้เอามากไว้จุนเจือครอบครัวต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top