Monday, 20 May 2024
อีสานไทม์

ขอนแก่น – ผู้ว่าฯ ขอนแก่นเผยข่าวดี เตรียมรับจัดสรรวัคซีนลอตพิเศษปลายเดือนนี้ เน้นฉีดบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงด้านตรวจ 4 มุมเมือง และกลุ่มงานบริการเป็นอันดับแรก ขณะที่เดือน มิ.ย.ขอรับการจัดสรรอีก 400,000 โดส

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 26 เม.ย.2564 ที่โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 (หอพัก 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น) นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำจิตอาสาพระราชทาน จ.ขอนแก่น ร่วมมอบเวชภัณฑ์ยา ,หน้ากากอนามัย,ชุดพีพีอี,น้ำยาฆ่าเชื้อและแอลกอฮอล์เจล ให้กับ รศ.นพ.ทรงศักดิ์  เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข.สำหรับการใช้ในการปฎิบัติงานที่โรงพยาบาลสนาม ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาพรวมของจังหวัดขณะนี้วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 12 ราย ทำให้จำนวนยอดผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกใหม่ ขณะนี้ รวม 325 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายขาดแล้ว 44 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 281 ราย ขณะที่โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 ที่หอพัก 26 มข. ซึ่งมีทั้งหมด 258 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทิ้งสิ้น 65 ราย ซึ่งในการบริหารจัดการ โรงพยาบาลสนามนั้น ขณะนี้มีการเตรียมแผนที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ที่อาคารเอนกประสงค์พุทธมณฑลอีสาน ซึ่งตั้งอยู่ริม ถ.เลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธื ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 240 เตียง และขณะนี้ความคืบหน้าในการดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 และหากสถานการณ์ในภาพรวมไม่ดีขึ้น หรือหากจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 แห่งนี้แตะระดับไปเกินกว่า 200 คน โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ก็จะพร้อมต่อการเปิดใช้งานได้ทันที ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ลงพื้นที่และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ต่อเนื่องทุกวัน

“ วันนี้สถานการณ์โดยรวมของจังหวัดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ เริ่มลดลง อาจจะมีสู่งขึ้นบ้างในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งการประเมินสถานการณ์นั้นจะทำแบบวันต่อวัน  โดยทีมสาธารณสุขจะดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างรัดกุม ตามนโยบายและมาตรการที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่การฉีดวัคซีน รอบที่ 1 และรอบที่ 2 ที่จังหวัดได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้มีการฉีดครบถ้วนแล้วในเข็มแรก โดยเน้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในด้านหน้าที่ประจำจุดตรวจ 4 มุมเมืองของจังหวัดเป็นสำคัญ ซึ่งในเข็มที่ 2 คาดว่าจะสามารถเริ่มฉีดได้ในวงรอบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือประมาณกลางเดือน พ.ค.”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ได้รับข่าวดีเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาให้ขอนแก่น ได้รับวัคซีนซิโนแวค รอบพิเศษ ที่จะส่งมายังจังหวัดในช่วงปลายเดือนนี้ โดยยังคงรอข้อสรุปว่าจะได้รับการจัดสรรมากน้อยเพียงใด ตามกลุ่มจังหวัดของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อนับรวมวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร ในรอบที่ 1 จำนวน 5,000 โดส รอบที่ 2 จำนวน 19,840 โดส และรอบพิเศษกำลังรอสรุปจากกระทรวงสาธารณสุข โดยในการฉีดนั้นจะเน้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้ครบทุกคน รวมไปถึง 4 กลุ่มตามที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขณะที่วัคซีนในรอบเดือน มิ.ย. ของแอสต้าเซเนก้า จังหวัดได้เสนอขอรับการจัดสรรจำนวน 400,000 โดสเพื่อฉีดให้กับกลุ่มบุคคลทั้ง 4 กลุ่มตามบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากนับรวมวัคซีน ทั้ง 4 รอบ ที่ได้รับการจัดสรรนั้นเท่ากับว่าวขอนแก่นจะได้รับวัคซีนไปแล้วถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งจังหวัด

ขอนแก่น - เจ้าของผับชื่อดัง ฮึดสู้โควิด พาลูกน้องเปิดร้านหมูกระทะ ข้าวราดแกง ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในราคาสุดคุ้ม เริ่มต้นเพียง 25 บาท พร้อมจัดเมนูพิเศษทุกวันจันทร์ อิ่มไม่อั้นทุกจาน

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 26 เม.ย.2564 ที่ย่านการค้าโอโซนวิลเลจขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ ริม ถ.เทพารักษ์ ด้านข้างโรงเรียนขอนแก่นคริสเตียน เขตเทศบาลนครขอนแก่น มีประชาชนจำนวนมากทยอยกันมาเลือกซื้อข้าวแกงยูบาร์ ซึ่งเปิดให้บริการแบบเฉพาะกิจช่วยเหลือพนักงาน ผู้มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ด้วยเมนูอาหาร 14 เมนูหลัก และ ข้าวขาหมูโก้โตน ที่ให้บริการในทุกวันจันทร์ ในราคาเริ่มต้นจานละ 25 บาท โดยมีประชาชนมายืนรอต่อคิวเลือกซื้ออาหารนานาชนิดเพื่อนำกลับไปรับประทานร่วมกันของครอบครัว รวมไปถึงการร่วมส่งกำลังใจสมทบทุนการจัดทำอาหารแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อีกด้วย

นายภาณุ  ธีรภาณุ เจ้าของร้านข้าวแกงยูบาร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ธุรกิจหลักของครอบครัวคือการเปิดร้านอาหารและสถานบันเทิง ในชื่อร้านเดอ ลา แจ๊ส และ ร้านยูบาร์ ซึ่งจัดเป็นร้านอาหารและสถานบันเทิงชื่อดังขอจังหวัด แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ร้านต้องปิดตัวลงตามคำสั่งและตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็ต้องปฎิบัติตามและให้ความร่วมมือเพื่อให้สถานการณ์นั้นได้คลี่คลายไปได้โดยเร็วที่สุด และเมื่อร้านต้องปิด ทำให้พนังกานที่มีอยู่รวมกว่า 70 คนนั้นต้องตกงาน ในระยะแรกได้ส่งพนักงานทั้งหมดไปทำงานที่โรงงานแต่โรงงานก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นในการเป็นผู้นำเมื่อเราอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกันแบบครอบครัว  ผู้นำต้องกล้าที่จะตัดสินใจและไม่ท้อ จึงได้ตัดสินใจร่วมกันกับครอบครัว ใช้พื้นที่ว่างของย่านการค้าโอโซนวิเลจใจกลางเมืองแห่งนี้เปิดร้านหมูกระทะ ก่อนในระยะแรกและวันนี้เปิดข้าวราดแกง เพื่อให้พนักงานทุกคนนั้นได้มีงานทำและยังคงได้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ อีกด้วย

“ โควิดระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ผมตัดสินใจเปิดร้านหมูกระทะ เพราะเป็นอาหารทานง่าย และใช้พื้นที่โล่งไม่แออัดและเว้นระยะห่าง ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และมาวันนี้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง ผมจึงตัดสินใจเปิดร้านข้าวแกงในชื่อร้างข้าวแกงยูบาร์ เพื่อให้พนักงานทุกคนนั้นมีงานทำ ด้วยการจัดระบบการทำงานออกเป็น 2 กะ คือกะแรกทำงานร้านข้าวแกง ตั้งแต่เวลา 07.00-14.30 น. จากนั้นกะที่ 2 ทำงานที่ร้านหมูกระทะ ตั้งแต่เวลา 15.30 -21.00 น. ซึ่งพนักงานทุกคนก็ดีใจที่เราไม่ทอดทิ้ง อีกทั้งอาหารที่ทำจำหน่ายนั้นพนักงานยังคงสามารถรับประทานได้อีกด้วย”

นายภาณุ กล่าวต่ออีกว่า ร้านข้าวแกงยูบาร์ ให้บริการทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดตั้งแต่เวลา 07.00-14.30 น. ใน 14 เมนู โดยทุกวันจะต้องมีผัดกะเพรา,ต้มจืด,พะโล้,แกงเขียวหวาน,น้ำพริก,ไข่ดาว,พะแนงหมูและไก่ทอด ส่วนเมนูอื่น ๆ นั้นเป็นไปตามที่เซฟและทีมแม่ครัวจะพิจารณาจัดทำ โดยร้านเสริฟแบบไม่อั้น กินจนอิ่มในราคาที่กำหนดไว้ตายตัว คือราด 1 อย่าง 25 บาท ราด 2 อย่าง 30 บาท ราด 3 อย่าง 35 บาท หากเป็นแกงถุง คือ 30 บาท และข้าวเปล่า 10 บาท ซึ่งทุกจานเราจะเสริฟแบบอิ่มไม่อั้น เพราะข้าวแกงนั้นทานได้ทั้งวัน จึงตัดสินใจเปิดร้านข้าวแกงขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ร้านได้มีงานทำ ช่วยเหลือผุ้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่ชื่นชอบเมนูข้าวแกงได้รับประทานในราคาถูก รสชาติอาหารวัตถุดิบที่นำมาจำหน่ายอัดแน่นและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพเพราะครอบครัวทำร้านอหารมาทั้งชีวิต ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีลูกค้าบางคนที่เข้ามารับประทานและรู้ว่าร้านของเรานั้นขายถูกและให้การช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ไม่มีข้าวทานที่มาขอรับข้าวแกงไปทาน ที่เราก็จัดชุดพิเศษให้ ลูกค้ารายนั้นก็ได้สมทบทุนเพื่อส่งมอบกำลังใจอีกด้วย อย่างไรก็ตามในทุกวันจันทร์ ได้จัดให้มีเมนูพิเศษจานละ 30 บาทคือข้าวขาหมูโก้โตน ให้คนขอนแก่นได้อิ่มอร่อยอีกด้วย

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านพลิกวิกฤตโควิดระบาด ไม่ประมาทหาอาหารป่า งมหอยขาย

จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลยืนยันล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงถึง 50 คน โดยไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อแต่ละคน เดินทางไปหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่กักกันตัวเองในบ้าน เพื่อความไม่ประมาทและลดอัตราเสี่ยงได้รับเชื้อทำให้ชาวบ้านหลายรายพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทั้งเข้าป่าหาแหย่ไข่มดแดง และลงเขื่อนหางมหอยเป็นอาหารในครัวเรือน พร้อมจำหน่ายในชุมชนสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้ประกาศยืนยันผลพบได้รับเชื้อระลอก 3 จำนวน 50 ราย ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ออกมาตรการหลายด้านอย่างเข้มงวด ให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการป้องกันการได้รับเชื้อ

ขณะเดียวกัน ในส่วนการดำเนินชีวิตของประชาชนในรูปแบบนิวนอร์มอล ก็ได้เพิ่มความระมัดตนเองมากขึ้น โดยปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด โยเฉพาะการสวมหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างทางสังคม ไม่เข้าไปในสถานที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน รวมทั้งสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมชุมชน เช่น ตลาด ร้านค้า โดยเฉพาะในการหาอาหาร ได้พบว่ามีการปรับตัว เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมีชาวบ้านหลายรายเข้าไปหาอาหารป่า ทั้งแหย่ไข่มดแดง และหางมหอยตามแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว ที่น้ำกำลังลดลงจากภาวะภัยแล้ง

นายเฉลิมชาติ บุญใหญ่ อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 97 หมู่ 5 บ้านหนองสอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว เพื่อความไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ตนและทุกคนในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้าน ต่างตื่นตัวในการระมัดระวัง ป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน และการอาหารเลี้ยงครอบครัว ทั้งนี้ ได้อาศัยช่วงว่างเว้นจากการทำงาน และเป็นช่วงฤดูแล้ง มาหางมหอยทราย หอยขม ที่บริเวณท้ายเขื่อนลำปาว ซึ่งระดับน้ำกำลังลดลง

นายเฉลิมชาติกล่าวีกว่า ตนและเพื่อนบ้านหลายคน จะมาหางมหอยในช่วงเช้าถึงเที่ยงวัน ที่อากาศกำลังพอดี โดยจะได้วันละประมาณ 10-20 ก.ก. หอยที่ได้นอกจากจะนำไปประกอบอาการทานในครัวเรือนแล้ว ยังแบ่งขายในชุมชนในราคา ก.ก.ละ 25-30 บาท เป็นการหารายได้เสริมเข้าครัวเรือน และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ที่ระมัดระวังตัวกลัวติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เป็นฤดูแล้งและน้ำลด จึงหางมหอยได้ง่าย และพอจะมีทางออกในการหาอาหารหล่อเลี้ยงคนในครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามบรรยากาศการหาอาหารของชาวบ้านในช่วงนี้ พบว่ามีชาวบ้านหลายราย ไม่กล้าที่จะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับการได้รับเชื้อโควิด-19 จากการเข้าไปหาซื้ออาหารในท้องตลาด ดังนั้น จึงพบว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ป่าชุมชนและป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง ก็จะพากันหาอุปกรณ์ไปแหย่ไข่มดแดง ที่ทำรังบนยอดไม้สูงๆ ซึ่งไข่มดแดงถือเป็นอาหารตามฤดูกาลที่หายาก และคนนิยมรับประทานมาก โดยจะมีเฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น จึงเป็นอาหารป่าที่มีราคาแพง หากหาแหย่ไข่มดแดงได้จำนวนมาก ก็จะนำไปแบ่งขาย สร้างรายได้ในช่วงนี้อย่างงาม โดยราคาซื้อขายกันสูงถึง ก.ก.ละ 500 บาททีเดียว

 

ขอนแก่น - พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่อีก 22 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 313 ราย พุ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน

ขณะที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดย้ำชัด มาตรการป้องกันยังคงบังคับใช้อย่างเข้มงวดไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยปรับไม่เกิน 20,000 บาท

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ในกรณีของกฎหมายบังคับใช้ตามประกาศจังหวัดขอนแก่นในส่วนของการสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยระบุว่า ให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ก่อนออกจากบ้าน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2563 จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจได้รับโทษตามมาตร 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยทาง ศบค.ได้อัปเดตให้เป็นจังหวัดที่ 44 ที่มีบทลงโทษกรณีประชาชนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกเคหะสถานและสถานที่สาธารณะ

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ขอนแก่นวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกจำนวน 22 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 313 ราย รักษาหายแล้ว 34 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ 279 ราย ทำให้ขอนแก่นเป็นอันดับสองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19รองจาก จ.นครราชสีมา และยังคงมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกหลายราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อในวงที่ 2 ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19ก่อนหน้านี้

ด้านโรงพยาบาลขอนแก่น ประกาศประชาสัมพันธ์หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเจ้าหน้าที่เวรเปลของโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 1 คน ปฏิบัติงาน ณ ห้องผ่าตัด โดยเป็นการติดเชื้อมาจากนอกโรงพยาบาล ส่งผลให้บุคลากรอื่นๆต้องถูกกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด 16 คน หน่วยจ่ายกลาง 3 คน ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 คน โดยจากการตรวจหาเชื้อผลเป็นลบทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลขอนแก่นจึงมีการปรับแผนในการให้บริการโดยปรับลดการให้บริการผ่าตัดผู้ป่วยศัลยกรรมบางส่วน ยกเว้นรายที่จำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉิน ในสถานการณ์ที่บุคลากรต้องถูกกักตัว และสงวนบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือผู้รับบริการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เลื่อนการเข้ารับบริการ สำหรับผู้ป่วยที่มีนัดรับยาเดิมต่อเนื่องและมีอาการคงที่ไม่มีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์ตามช่องทางต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลขอนแก่นกำหนด

ศรีสะเกษ - ผวาโควิด-19 สั่งกักตัว 11 พระโยม เดินทางจากจังหวัดเสี่ยง เพื่อมาทำบุญฉลองศาลาวัด

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านก้านเหลือง ต.หมากเขียบ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า ผกก.สภ.เมืองศรีสะเกษ พร้อมด้วย ตัวแทนนายอำเภอเมืองศรีสะเกษ ตัวแทนสาธารณสุข อ.เมืองศรีสะเกษ กำนัน ต.หมากเขียบ ผู้ใหญ่บ้านก้านเหลือง ได้เข้าไปพบกับ นางสุวรรณี เบญจะขันธ์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ 8 ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และคณะ ที่เดินทางมาจาก จ.สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 11 คน โดยมีพระ 1 รูปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากว่า นางสุวรรณีเดินทางมาจากกลุ่มจังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่เสี่ยงควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ทำให้นางสุวรรณีและคณะ ไม่พอใจ ทั้งนี้เนื่องจากว่าก่อนที่จะเดินทางเข้ามาที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งแล้ว แจ้งว่าสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 50 คน

นางสุวรรณี เบญจะขันธ์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ 8 ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนกับคณะที่เดินทางมาครั้งนี้ ได้จัดเตรียมพานบายศรี รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำบุญ รวมมูลค่าแล้วประมาณ 100,000 บาท เพื่อมาทำบุญถวายศาลาวัด  ซึ่งพวกตนได้ระดมเงินกันก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2,000,000 บาทเศษ เพื่อถวายให้กับวัดบ้านก้านเหลือง และบูชาองค์พระพิฆเนศ ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาด้วยเงินจำนวนประมาณ 100,000 บาท โดยพวกตนเห็นว่าอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้มีการเลื่อนการจัดงานมาแล้ว 2 - 3 ครั้ง ซึ่งก่อนที่จะเดินทางมาในครั้งนี้ ตนได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านก้านเหลือง เพื่อจะเดินทางมาทำพิธีถวายศาลาวัดในครั้งนี้ และได้ทราบว่าอนุญาตให้เข้ามาได้ โดยจะต้องมีจำนวนคนเข้ามาไม่เกิน 50 คน ตนจึงได้ลดจำนวนคนลง เหลือเพียง 10 คน และพระ 1 รูป แต่เมื่อมาถึงวัดบ้านก้านเหลือง เพื่อทำบุญก็ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ทำพิธีทั้งหมด ตนได้ขออนุญาตว่าขอนำพานพายศรีและเครื่องบูชาขึ้นไปไว้ที่บริเวณลานด้านหน้าพระพิฆเนศ แต่ทางราชการไม่ยินยอม ทำให้ตนและคณะเสียค่าใช้จ่ายไปร่วม 200,000 บาท และสั่งให้พวกตนกักตัว 14 วัน ที่วัดแห่งนี้ ทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าเป็นห่วงครอบครัวที่อยู่ จังหวัดสมุทรปราการ ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้

พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า ผกก.สภ.เมืองศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้ว และทาง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ออกคำสั่ง จ.ศรีสะเกษ ที่ 1658/2564 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้ามา จ.ศรีสะเกษ ที่เดินทางมาจาก 18 จังหวัดพื้นที่ความเสี่ยงสูง จะต้องมารายงานตัวกับเจ้าพนักงานผู้ควบคุมโรค คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจะต้องอยู่กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตามที่ทางคณะกรรมการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หรือว่าตามที่ทางสาธารณสุขเป็นผู้สั่งการกักตัว โดยที่ไม่สามารถเดินทางไปที่ไหนได้ เราไม่สามารถละเว้นได้ เราเห็นใจประชาชนเป็นชาวพุทธมาทำบุญ แต่เนื่องจากว่าขณะนี้มีการประกาศเกี่ยวกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ออกคำสั่งไว้รองรับ เราจำเป็นต้องรักษากติกา เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อส่วนรวมเอาไว้ จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยสถานที่กักตัวคือที่ศาลาวัดของวัดบ้านก้านเหลืองแห่งนี้ โดยมีคณะกรรมการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาคอยควบคุมดูแล


ข่าว/ภาพ  บุญทัน ธุศรีวรรณ

กาฬสินธุ์ - ป่วยโควิดเพิ่ม3 ฝีมือขาเลาะ-กินข้าวร่วมกันคลัสเตอร์จาก กทม.ยอดพุ่ง 40 ราย

จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 3 ราย สาเหตุเกิดจากกลับจากกรุงเทพฯ กินข้าวร่วมกันแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวและติดจากเพื่อนที่ทำงานในกรุงเทพแล้วกลับบ้าน ส่งผลให้ยอดสะสมพุ่ง 40 ราย ขณะที่ สสจ.กาฬสินธุ์ปรับแผนเปิดไทม์ไลน์ละเอียดยิบ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันป้องกันตัวเอง

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จ.กาฬสินธุ์ ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ รองผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามหลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19สะสมในระลอกเดือนเมษายน 2564 รวม 40 ราย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ 23 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย ทำให้ในช่วงระลอกเดือนเมษายน 2564 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 40 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1 ราย ส่วนอีก 39 รายกำลังรักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์จำนวน 22 ราย โรงพยาบาลฆ้องชัย 17 ราย  โดยผู้ป่วยเดิมรายที่ 1-37 ได้มีการแถลงไปแล้ว ส่วนผู้ป่วยเพิ่มรายใหม่ประกอบด้วย

รายที่ 38 เพศหญิง อายุ 51 ปี อาชีพเกษตรกร ภูมิลำเนาบ้านสร้างมิ่ง ม.12 ต.โนนสูง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เริ่มเจ็บป่วยวันที่ 20 เมษายน 2564 ด้วยอาการเจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 29  (ลูกสาว) และรายที่ 36 ปี (ลูกเขย) ซึ่งผู้ป่วยรายนี้จากการสอบสวนโรคของผู้ป่วยรายที่ 29  พบมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจำนวน 12 คน เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน 4 ราย และญาติพี่น้องอีก 8 ราย ทุกรายเจ้าหน้าที่ได้ติดตามกักกันตัวในสถานที่พักได้ทั้งหมดแล้ว และเข้ารับการตรวจ พบว่าติดเชื้อ 1 ราย คือรายที่ 39 กำลังรอผลอีก 3 ราย และอยู่ระหว่างการเข้ารับการตรวจอีก 8 ราย

รายที่ 39 เพศหญิง อายุ 33 ปี ว่างงาน ภูมิลำเนาหมู่บ้านเดียวกันและเริ่มป่วยพร้อมกันกับรายที่ 38 ในวันที่ 20 เมษายน 2564 ด้วยอาการไอ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 29 (น้องสาว)  และรายที่ 36 (น้องเขย)

รายที่ 40 เพศหญิง 41 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาบ้านค้อ ม.1 ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ด้วยอาการลิ้นไม่รับรส เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่ร้านเฮลท์แลนด์ เอกมัย กรุงเทพฯ จากการสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง 4 ราย  ทุกรายสามารถติดตามกักตัวในสถานที่พัก และนัดตรวจเชื้อในวันที่ 23 เมษายน 2564 ทั้ง 4 ราย 

นายทรงพล กล่าวอีกว่า  จากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่พบว่าช่วงระยะหลังนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยรายที่ 38 และรายที่ 39 มีความเกี่ยวเนื่องติดเชื้อมาจากรายที่ 29 และรายที่ 36 คือเป็นผู้ป่วยในครอบครัวเดียวกันที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพฯ แล้วอาศัยด้วยกัน รับประทานอาหารร่วมกัน และทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างพบผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงหลายราย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปติดตามดูภายในหมู่บ้าน เพื่อตรวจคัดกรอง และประเมินสถานการณ์ ซึ่งหากจำเป็นจะมีการมาตรการเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ทางจังหวัดนอกจากจะกำชับให้ทั้ง 18 อำเภอ ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังได้กำชับไปในพื้นที่เข้มงวดเกี่ยวกับพฤติกรรมในการเสี่ยงแพร่ระบาด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก และการลักลอบเล่นการพนันในพื้นที่  เช่น บ่อนการพนัน บ่อนวิ่ง บ่อนชนไก่ การลักลอบการพนันไก่ชน ซึ่งห้ามไม่ให้มีอย่างเด็ดขาด และทางจังหวัดเอาจริงมาตลอด ทั้งนี้หากพบมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวพื้นที่ต้องรับผิดชอบ เพราะกรณีดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุการของการแพร่ระบาด ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเป็นตัวอย่างในหลายพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ

ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ได้ทำการสอบสวนโรค และเผยแพร่ไทม์ไลน์เฉพาะพื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง เพราะส่วนใหญ่สามารถควบคุมโรคและติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงได้ แต่เพื่อความสบายใจและให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังมากขึ้น จะมีการปรับเปลี่ยนเผยแพร่ไทม์ไลน์ให้ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยทั้ง 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงสามารถตรวจสอบค้นหาได้ว่าติดมาจากไหนและจากใคร ไปถึงไหน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นวงกว้าง เพราะติดเชื้อที่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

มุกดาหาร - ผู้ว่ามุกดาหารตรวจความพร้อมพร้อมโรงพยาบาลสนาม รองรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID19 ระลอกใหม่ คืบหน้า 95 % พร้อมสำรองสำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการหากมีจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ถึง 30 คน

21 เมษายน 2564  เวลา 10.00 น.นายวีระชัย นาคมาศ  ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วย นายประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์พงษ์วิทย์ วัชรกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมุกดาหาร  และคณะทำงานบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดมุกดาหาร  ตรวจความพร้อม โรงพยาบาลสนามจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งใช้ชื่อว่า ศูนย์ฮักแพงชาวมุกดาหาร  ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารจงวุฒิเวศย์ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดมุกดาหาร  เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ของจังหวัดมุกดาหารหากเกิดการระบาดวงกว้างและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยได้ 180 คน ในผู้ป่วยที่อาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคโควิด19 ได้นำมาแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน จึงจะส่งตัวกลับไปสังเกตอาการต่อที่บ้าน 14 วัน ส่วนถ้าหากผู้ป่วยคนใดมีอาการรุนแรงขึ้นจะส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา มีการติดระบบเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งเตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลสนาม  

นายวีระชัย  นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม จังหวัดมุกดาหาร มีความคืบหน้า 95 % ขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล ในการเตรียมความพร้อม ซึ่งโรงพยายาบาลสนามจะสำรองไว้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการรักษา โรงพยาบาลในจังหวัดมุกดาหารได้เตรียมไว้สำหรับการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจำนวน 120 เตียงซึ่งเพียงพอสำหรับจำนวนผู้ป่วย โดยผู้ป่วยของจังหวัดมุกดาหารในวันนี้ มีเพียง 11 คน หากมีผู้ป่วยเกิน 30 คน จึงจะใช้โรงพยาบาลสนาม และในการแพร่ระบาดในจังหวัดมุกดาหารส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากพื้นที่จังหวัดอื่นและจังหวัดมุกดาหารมีทีมสอบสวนโรคดำเนินการได้อย่างรวดเร็วสามารถควบคุมไม่ให้ระบาดในวงกว้างได้ แต่ทั้งนี้ขอให้อย่าประมาท และให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ลงทะเบียน ไทยชนะ หมอชนะ


ภาพ/ข่าว  เดวิท โชคชัย มุกดาหาร / ศูนย์ข่าวมุกดาหาร

ขอนแก่น - แห่ซื้อทุเรียนคึกคัก ผู้ค้าจัดเต็มทุกสายพันธุ์ ส่งตรงจากระยอง-จันทบุรี ในราคาสุดคุ้ม เน่า-หนอน-อ่อน-ตึง เปลี่ยนลูกใหม่ให้ทันที เล็งจัดมหกรรมทุเรียนไทยและผลไม้ภาคตะวันออก ช่วยเหลือเกษตรกรไทย วิถีใหม่แบบนิวนอมอล

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 23 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ตลาดรถไฟ จ.ขอนแก่น ชาวสวนทุเรียนต่างนำทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ จากสวนที่ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี ขนใส่รถกระบะบรรทุกนำส่งให้กับพ่อค้า-แม่ค้า ที่ตลาดรถไฟขอนแก่น ตามการสั่งซื้อเนื่องจากในขณะนี้ผลผลิตทุเรียนตามฤดูกาลได้ออกผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการค้าผลไม้ตามฤดูกาล ต่างพากันจับจองทุเรียนกับแบบข้ามปี และส่งทีมงานไปจัดซื้อถึงสวนเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในเขต จ.ขอนแก่น และ จังหวัดใกล้เคียงได้เลือกซื้อเพื่อรับประทาน ทำให้ตลอดทั้งวันรถขนส่งทุเรียนจากพื้นที่ จ.ระยองและ จ.จันทบุรี ต่างนำทุเรียนมาส่งให้กับร้านค้าต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก ขณะที่ผู้บริโภคและผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนต่างพากันมารอเลือกซื้อทุเรียนในสายพันธุ์ที่ตนเองชื่นชอบตลอดทั้งวันเช่นกัน

นายเอกลักษณ์  ชาวัตร เจ้าของร้านจันทร์ฉายผลไม้สด ตลาดรถไฟขอนแก่น กล่าวว่า ในปีนี้ร้านได้สั่งตรงทุเรียนจากพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง มาจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ขอนแก่น ส่งตรงจากสวนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแบบวันต่อวัน ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งจากการนำมาจำหน่ายตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มาเท่าไหร่ลูกค้ามายืนรอต่อคิวและเลือกซื้อนำกลับไปรับประทานกันตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการจำหน่ายแบบค้าส่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร ร้านขนมไทย หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการที่ต่างพากันมาซื้อทุเรียนจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูกาลผลิตปีนี้ โดยในปีนี้ทางร้านได้นำทุเรียนมาจำหน่วยทั้งหมด 6 สายพันธุ์ มีจำหน่ายให้กับลูกค้าตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง  ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ก้านยาว ที่ร้านจำหน่ายแบบยกเข่ง 50 กก.ขึ้นไป อยู่ที่ กก.ละ 250 บาท ขายปลีก กก.ละ 400 บาท,นกหยิบ ขายส่ง กก.ละ 100  บาท ขายปลีก กก.ละ 180 บาท,ชะนี ขายส่ง กก.ละ 80 บาท ขายปลีก กก.ละ 120 บาท,พวงมณี ขายส่ง กก.ละ 85 บาท ขายปลีก กก.ละ 120 บาท

“ กระดุม ขายส่ง กก.ละ 85 บาท ขายปลีก กก.ละ 120 บาท,และหมอนทอง แบบออกเป็นขนาดเล็กขายส่ง กก.ละ 105 บาท ขนาดกลาง ขายส่ง กก.ละ 120 บาท และ ขนาดใหญ่ ขายส่ง กก.ละ 130 บาท ซึ่งในการขายส่งนั้น ทุกพันธุ์ จะขายส่งที่ 50 กก.ขึ้นไป ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้ามาเลือกซื้อแบบยกเข่ง ยกลัง อย่างมาก ขณะเดียวกันทางร้านยังคงจำหน่ายแบบออนไลน์เพื่อส่งตรงถึงบ้านผ่านระบบการส่งแบบเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าอีกด้วยเพราะบางส่วนกลัวสถานการณ์โควิดไม่กล้ามาซื้อก็มาติดต่อขอซื้อผ่านเพจของร้าน ซึ่งทางร้านได้จัดให้มีบริการแบบครบวงจรเช่นกัน และที่สำคัญทุเรียนจากทางร้านที่นำมาจำหน่ายนั้นหากลูกค้าซื้อไปแล้วพบว่า เน่า-หนอน-อ่อน-ตึง สามารถส่งคืนและเปลี่ยนลูกใหม่กับทางร้านได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย”

ขณะที่นายสัมฤทธิ์  อุปเทศ เจ้าของร้านไสวผลไม้สดตลาดรถไฟขอนแก่น กล่าวว่า ร้านเปิดจำหน่ายทุเรียนมานานกว่า 30 ปี โดยมีทุเรียนจำหน่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.ซึ่งเป็นทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทย จากนั้นก็จะตามด้วยทุเรียนภาคใต้และทุเรียนศรีษะเกษ ทำให้ร้านมีทุเรียนจำหน่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.ไปจนถึงเดือน พ.ย.ของทุกปี ซึ่งมีลูกค้าประจำหมุนเวียนมาเลือกซื้อทุเรียนกันทุกวัน  โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ที่ร้านการันตีผลผลิตว่าทุกลูกนั้นส่งตรงจากสวยส่งถึงมือผู้บริโภคที่อึ้ม อั้น พูเหลืองอร่ามสวยงามน่ารับประทาน เรียกได้ว่าเป็นเกรดพรีเมี่ยม คุณภาพดี ไม่ผิดหวัง โดยแต่ละวันจะเกษตรกรจะส่งจากต้นทางมาถึงปลายทาง ในทุกช่วงเวลา เมื่อมาถึงก็จะคัดไซค์เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าตามขนาดต่าง ๆ เช่นกัน

ด้านนายณจาวิชย์ ทัตหิรัญรัตน์ ผู้จัดการโครงการตลาดรถไฟขอนแก่น กล่าวว่า ฤดูกาลทุเรียนปีนี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงทุเรียนเลิฟเวอร์อย่างมาก ซึ่งตลาดรถไฟขอนแก่น มีแผงจำหน่ายทุเรียนมากกว่า18 ร้านค้า ที่ให้บริการในทุกสายพันธุ์ในราคาไม่แพงส่งตรงจากสวน มาถึงขอนแก่น ทุกวัน เรียกได้ว่าบรรยากาศการเลือกซื้อทุเรียนแบบวิถีใหม่นิวนอมอลนั้นคึกคักอย่างมาก ตามมาตรการควบคุมและป้องกันซึ่งตลาดยังคงคุมเข้มในทุกมาตรการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ขณะที่ราคาจำหน่ายยังคงเป็นไปตามกลไกของตลาดและราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และที่สำคัญทุกร้านให้ความร่วมมือร่วมใจ ลดราคาแบบพิเศษสุดๆให้กับลูกค้าทำให้ตลอดทั้งวันมีลูกค้ามารอเลือกซื้อทุเรียนกันอย่างคึกคัก

“บางร้าน บางแผงเมื่อรถขนทุเรียนเข้ามาจอดก็ถูกจับจองเลือกซื้อจนหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ต้องสั่งทุเรียนจากสวน มาจำหน่ายตามความต้องการให้กับลูกค้ากันอย่างเพียงพอและตามความต้องการ อย่างไรก็ตามตลาดรถไฟขอนแก่น เตรียมจัดเทศกาลทุเรียนไทยและผลไม้ตะวันออก ที่กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวแบบนิวนอมอล ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ในช่วงต้นเดือน พ.ค. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จากพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้นำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับคนอีสานได้เลือกซื้อในราคาสุดคุ้มที่ขอนแก่นอีกด้วย”

ขอนแก่น - บุคลากรทางการแพทย์ทยอยเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อต 2 ขณะที่ สสจ.ขอนแก่น ระบุวัคซีนล็อตบุคลากรทางการแพทย์ฉีดกว่าร้อยละ 80 และหลังติดตามอาการไม่พบอันตรายจากการฉีดมีเพียง 2 คนมีอาการข้างเคียง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 เม.ย.2564 ที่บริเวณชั้น 4  โรงพยาบาลขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ให้กับบุคลาการทางการแพทย์ของจังหวัดหลังจากที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพิจารณาอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ในรอบที่ 2 ตามกลุ่มจังหวัดฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งขอนแก่นได้รับวัคซีนรอบที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 19,840 โดส โดยวันนี้เป็นวันแรกที่กำหนดให้มีการฉีดวัคซีน

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในรอบที่ 2 เน้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัด โดยพบว่าขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ยื่นความประสงค์ขอฉีดวัคซีนจำนวนกว่า 15,000 คน ในจำนวนนี้ ได้รับการฉีดวัคซีนในล๊อตแรกไปแล้วประมาณร้อยละ 59 ส่วนในล็อต 2 คาดว่าจะสามารถฉีดให้บุคคลากรทางการแพทย์ได้ในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 80 – 90 ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกจะเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในวันที่ 4 – 5 พ.ค.นี้ ขณะที่วัคซีนล็อต 2 จะฉีดให้แล้วเสร็จในวันนี้และวันพรุ่งนี้

ขณะที่ พญ.นาตยา มิลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตที่ 2 ได้เริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อมากที่สุด และ จากการติดตามอาการบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายเกิดขึ้น มีเพียง 2 คนที่มีอาการข้างเคียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นภาวะชั่วคราว จึงขอให้ผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมั่นใจได้ว่าไม่เกิดอันตราย ในส่วนมาตรการป้องกันแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่เสี่ยงได้พยายามออกหนังสือเน้นย้ำให้เข้มงวดในการป้องกันตนเองทั้งขณะปฏิบัติหน้าที่และออกไปสู่สังคม

ขอนแก่น - อัยการขอนแก่นสั่งฟ้อง 3 แกนนำคณะราษฎรขอนแก่น และแกนนำราษฎรโขงชีมูล ในความผิดคดี พ.ร.บ.ธงชาติไทย จากการชุมนุมและปลดธงชาติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากกรณีที่ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ใน 3 คดี ประกอบด้วยคดีการชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2564 คดีการชุมนุมที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 และคดีปลดธงชาติไทยและชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 โดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้นำแกนนำคณะราษฎรขอนแก่นเดินทางมารายงานตัว 12 คน จากทั้งหมด 16 คน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าในเรื่องนี้เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 เม.ย.2564 ที่สำนักงานอัยการ จ.ขอนแก่น พนักงานอัยการได้กำหนดให้ผู้ต้องหามารับฟังคำสั่ง หลังมีคำสั่งฟ้อง  นายวชิรวิทย์  ศรีเมืองเทศ  ,นายชัยธวัช รามมะเริง  นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายเชษฐา กลิ่นดี  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากกิจกรรมการชักธงปฏิรูปกษัตริย์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ส่วนคดีการชุมนุมที่สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ หน้า สภ.เมืองขอนแก่น พนักงานอัยการได้สั่งให้มีการสอบปากคำเพิ่มเติม และส่งคืนสำนวนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายเสฐียรพงศ์ ล้อศิริรักษ์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กระบวนการต่อจากนี้ ในคดีที่สั่งให้สอบเพิ่มเติมนั้น  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้เรียกผู้ต้องหาไปสอบปากคำเพิ่มเติม หากพนักงานสอบสวนเห็นว่ายังมีข้อหาอื่นที่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ก็จะมีการแจ้งเพิ่มเติม สำหรับ 4 คนที่ยังไม่ได้มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ เนื่องจากบางคนยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด ต้องรอให้กักตัวครบ 14 วัน และติดคดีที่อื่น  ได้นัดกันวันที่ 5 พ.ค. ให้มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ

"สำหรับคดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564  พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า  นายวชิรวิทย์ กับพวก ได้นำธงผ้าพื้นสีแดง ขนาดความยาว 1.5 เมตร ความกว้าง 1 เมตร ซึ่งประดิษฐ์เองและเขียนข้อความด้วยสีน้ำสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” เข้ามาร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อเรียก “ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112” ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ริมบึงสีฐาน ฝั่งทิศตะวันออก ต่อมาเวลา 18.30 น. นายวชิรวิทย์นำธงผ้าพื้นสีแดงไปที่เสาธงซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าตึกอธิการบดี อาคาร 1 หลังเก่าซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการจัดกิจกรรมประมาณ 3 กม.จึงมีคำสั่งฟ้องดังกล่าว"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top