Friday, 26 April 2024
POLITICS

แบ่งพื้นที่ชัดเจน ! "อนุทิน" เผย รพ.แยกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากโรคทั่วไป ขอประชาชนมั่นใจมาตรฐานความปลอดภัย

ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวกับผู้สื่อข่าว ถึงรูปแบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด -19 ระบุว่า

ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อนมากๆ ทางกระทรวงการจำแนกให้เป็นผู้ป่วยนอกตามนโยบาย "เจอ แจก จบ" ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นการช่วยกันดูแลระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับ รพ.และบุลคลากรแพทย์ ทำให้เรามีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลือง และแดงได้มากขึ้น 

การจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เราต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค เรากำลังเร่งเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถอยู่กับโรคได้ และเศรษฐกิจ ก็ต้องไปได้ เช่น วัคซีน เราเร่งการฉีดให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราสูญเสียลดลง จนเข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ราย หรือ ร้อยละ 0.1

ตั้งแต่ สธ.เปิดให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกณฑ์สีเขียว เป็นผู้ป่วยนอก ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูล คือ ร้อยละ 60 เป็นสายจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม จึงเปิดให้บริการเพิ่มเติมใน 14 จังหวัด ที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ  ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี และ สมุทรปราการ 4 วันที่ผ่านมา ให้บริการสะสมแล้ว 8,000 ราย โดยสัดส่วนของการจ่ายยา คือ การจ่ายยารักษาตามอาการ ร้อยละ 50 ยาฟ้าทะลายโจร ร้อยละ 22 และยาฟาวิพิราเวียร์ ร้อยละ 28

“ราเมศ” ไม่เห็นด้วย แนวคิดรับเงินซื้อเสียง-จัดเลี้ยง ถูกกฎหมาย ย้ำ จุดยื่นปชป.การเมืองสุจริต ต้องไม่มีอะไรมาจูงใจเพื่อให้ลงคะแนน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.นำเสนอแนวคิดรับเงินซื้อเสียงไม่ผิดกฎหมาย สามารถจัดมหรสพ และจัดเลี้ยงได้ว่า ส่วนตัวรับฟังแนวความคิดที่หลากหลาย แต่โดยหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายปัจจุบันนั้นดีอยู่แล้ว ที่ป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง ป้องกันการใช้เงินมาเป็นปัจจัยในการจูงใจประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง การจูงใจประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้แทนราษฏร ต้องจูงใจด้วยความดี ด้วยความตั้งใจทำงานให้กับพี่น้องประชาชน นำเสนอนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ภาคปฏิบัติในทางการเมืองสำคัญที่สุด การเมืองที่สุจริต ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อามิสสินจ้าง เชื่อว่าทุกคนต้องการส่งเสริมและพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า แม้ใช้เวลานานก็ต้องร่วมกันเริ่มต้นทำ 

นายราเมศกล่าวต่อว่า การจะทำให้การป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง ทำได้หลายกรณี กฎหมายเดิมใช้ได้ดีอยู่แล้ว การป้องปราม องค์กรที่มีหน้าที่ก็ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ส่งสายลับสายสืบไปตรวจไปดู การกันประชาชนเป็นพยานเพื่อจัดการกับนักการเมืองที่ซื้อเสียง มีประสิทธิภาพมากกว่าหากจริงจังในการแก้ปัญหาการซื้อเสียง อีกกรณี การที่จะให้จัดมหรสพ จัดเลี้ยงได้นั้น ทุกอย่างต้องมีเงินมาเป็นปัจจัยนำการเมืองสุจริต ซึ่งผิดหลัก แล้วคนดีที่ตั้งใจอาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองจะทำอย่างไร ความไม่เท่าเทียมจะเกิดขึ้น ฉะนั้นหากให้กระทำการกันอย่างอิสระเสรี ทุกอย่างจะปั่นป่วนไปหมด จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนรับจะไปแจ้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

'กบฉ.ไฟเขียว' ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ '3 จ.ใต้' ย้ำ เข้มมาตรการ เฝ้าระวังชายแดน-โควิด-19-งานข่าวในพื้นที่ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2565 มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เข้าร่วม

โดยที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่ 20 มี.ค.- 19 มิ.ย.65 โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 67 ยกเว้น อ.ศรีสาคร ,อ.สุไหงโก-ลก ,อ.แว้ง ,อ.สุคิริน จ.นราธิวาส  อ.ไม้แก่น ,อ.แม่ลาน จ.ปัตตานีและ อ.เบตง ,อ.กาบัง จ.ยะลา ตามข้อเสนอของ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เสนอ เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจเาหน้าที่เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ต่อไป 

นอกจากนั้น รับทราบผลการปฏิบัติงานตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 20 ธ.ค.64-10 ก.พ.65 โดยภาพรวมสถานการณ์การก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยดี รวมถึงรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปรับลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับลดพื้นที่เพิ่มขึ้น

‘ท่านใหม่’ เตือนไทย อย่าหลงเชื่อพวกคนแดนไกล ทำลาย ‘สัมพันธ์ - ต่อต้าน’ และถึงขั้นรบกับจีน 

ไม่นานมานี้ ‘ท่านใหม่’ หม่อมเจ้า จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเตือนสติคนไทยและรัฐบาลไทย หลังจากระยะหลัง เริ่มวางบทบาทที่อาจจะไปกระเทือนความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน ด้วยการหลงเชื่อกลุ่มประเทศจากแดนไกล ว่า... 

ประเทศไทยต้องไม่เป็นยูเครนสอง

อย่าคิดทำลายมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศจีน และประเทศไทย ไปหลงเชื่อพวกคนแดนไกล

ขณะนี้ประเทศไทย เรา รัฐบาลเรา ก็ประพฤติปฏิบัติอย่างเดียวกันกับยูเครน นั่นคือ ได้ไปทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก่อตั้งพันธมิตรตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในการต่อต้านภัยคุกคามจากจีน โดยจะมีญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์เข้ามาผสมโรงด้วย 

พูดง่ายๆ ก็คือเอาประเทศไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับอเมริกา ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของนาโต้ และสมุนบริวารเพื่อตั้งตัวเป็นศัตรูกับจีน ‘ต่อต้านจีน’ กระทั่งอาจเตรียมที่จะทำสงครามกับจีนด้วย (หวังว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น)

ไปตั้งความตกลงนี้กันอย่างปกปิดเงียบเชียบโดยคนไทยทั้งประเทศไม่มีใครรู้เห็น จนกระทั่งสถานทูตสหรัฐฯ นำข้อตกลงนี้ออกมาเผยแพร่ คนไทยจึงเพิ่งรับรู้กันในระยะไม่กี่วันมานี้ จึงมีการกล่าวขานกันอย่างกว้างขวางว่า “นี่คือการกระทำที่ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านอย่างเดียวกันกับยูเครน”

...ไม่สำเหนียกเลยว่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน นั้นมีแต่ความเป็นพี่น้องกัน 
...ไม่มีครั้งไหนที่ไทยเดือดร้อนแล้วจีนจะไม่ให้ความช่วยเหลือ 
...ไม่ว่าจากศึกเหนือเสือใต้หรือจากภัยพิบัติ หรือจากปัญหาเศรษฐกิจ จีนก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือตลอดมา 
...ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่เป็นภัยต่อประเทศไทยเลย 

แม้กระนั้นก็มิได้สำนึกในบุญคุณ กลับทรยศต่อมิตรไปคบคิดกับคนแดนไกล (อเมริกา) มาก่อความขัดแย้งใหญ่ขึ้นในภูมิภาค ในพระราชอาณาจักรเรา ที่มีแต่ความสงบสุข มาเป็นเวลากว่า ร้อยๆ ปี

'โฆษกรัฐบาล' เผย ไทยเตรียมพร้อมมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น สอดคล้องกับระดับสถานการณ์และมาตรฐานองค์การอนามัยโลก - นายกฯ เน้น ให้ประชาชนดำรงชีวิตได้เป็นปกติใหม่ภายใต้หลัก Universal Prevention 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ความพร้อมสำหรับมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด - 19 สู่โรคประจำถิ่น เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมสอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทั้งสุขภาพของคนไทย รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ   โดยนายกรัฐมนตรีเน้นบริหารจัดการ เตรียมความพร้อมในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวังสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค คู่ขนานไปการรักษาระบบเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศ เพี่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้เป็นปกติใหม่ภายใต้หลัก Universal Prevention 

สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีแผนดำเนินการที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยอัตราความรุนแรงของโรคจะต้องสามารถควบคุมได้ มีสถานพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้  ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และการได้รับวัคซีนครบถ้วน รวมทั้งวัคซีนเข็มกระตุ้น เพี่อช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคได้

“นายกฯ” ยัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานสตรี เร่ง แก้กฎหมายลาคลอด จ่ายค่าจ้างให้ครบ 98 วัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายสตรี มีข้อเรียกร้องถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในวันสตรีสากล 8 มี.ค.ที่ผ่านมา  เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้าง เรื่องวันลาคลอดบุตร ที่ปัจจุบันให้ลาได้ 98 วัน แต่จ่ายค่าจ้างเพียง 90 วัน เนื่องจากข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างลา แต่ไม่เกิน 45 วัน โดยค่าจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (45วัน) ลูกจ้างรับจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน โดยวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯรับข้อเรียกร้อง และติดตามการปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อให้นายจ้าง และสปส. ร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้ครอบคลุมวันลาทั้งหมด ขณะนี้กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างดำเนินการให้สปส.เสนอปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน จะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้นจากสิทธิเดิม อีก 4 วัน ในส่วนของค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร อีก 4 วัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย เพื่อปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้างต่อไป

'อนุชา' เร่งผลักดันการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ทุกระดับ ต่อยอด ฟื้นฟู พัฒนาประเทศยุคดิจิทัล ใช้ประโยชน์จากไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค แสดงศักยภาพต่อประชาคมโลก

ที่กรมประชาสัมพันธ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมี นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ  แก้วกำนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายธานี  แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วม 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2565 โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกหน่วยงานใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพื่อผลักดันและส่งเสริมผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนคนไทยในทุกด้าน พร้อมเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจและร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับผู้นำจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุมตลอดปีนี้

ในการประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าด้านการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมจากคณะอนุกรรมการฯ แต่ละหน่วยงาน อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กรมสารนิเทศ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สุดของไทยในทุกด้าน ขอให้คนไทยใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะในการประชุมผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะได้เห็นท่าทีและพลังของสมาชิกที่สำคัญ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปคจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งคนไทยและคนต่างชาติ  จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ เน้นการสื่อสารประโยชน์ของเอเปคที่คนไทยได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม และสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องที่คนสนใจ ใกล้ตัว และเข้าถึง เข้าใจง่าย เช่น การท่องเที่ยว อาหาร และการบริการ เพื่อดึงดูดความสนใจประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและเห็นโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความพร้อมของมาตรการด้านสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างชาติในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2565 

“บิ๊กตู่”นำถก กพช. ย้ายกลับมาประชุมที่ตึกภักดีบดินทร์เหมือนเดิม หลังแจ้งเปลี่ยนถกบนตึกไทยคู่ฟ้ากันการครหาหลบหน้าสื่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน บนตึกไทยคู่ฟ้าก่อนเริ่มการประชุมเป็นเวลาเกือบ 30 นาที 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากช่วงเช้าวันนี้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่การประขุมกระทันหัน จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมที่ตึกภักดีบดินทร์ ไปเป็นตึกไทยคู่ฟ้าแทน จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการพบกับสื่อมวลชนนั้น  แต่ก่อนเวลาการประชุมเพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงกำหนดการกลับมาใช้ตึกภักดีบดินทร์เป็นสถานที่จัดการประชุมเช่นเดิม คาดว่าเพื่อลบครหาหลีกเลี่ยงสื่อดังกล่าว 

ทอ.ยกพรบ.กลาโหม จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ทดแทน เพิ่มศักยภาพป้องน่านฟ้าทัดเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ทดแทนบินรบลำเก่าที่มีอายุใช้งานยาวนาน 

พล.อ.ต.ประภาส  สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนว่า ตาม พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551  มาตรา 21 ระบุให้ กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศ ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ  

และตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความมั่นคง ของกระทรวงกลาโหม และแผนปฏิบัติการด้านการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของกองทัพไทย ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ระบุว่ากำลังทางอากาศต้องมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการเชิงรุกที่ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม และปฏิบัติการร่วมทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้ระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) ทำให้กองทัพอากาศต้องเตรียมยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อม ทันสมัย มีศักยภาพทางทหารที่ทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน  

ปัจจุบันเครื่องบินรบส่วนใหญ่ของกองทัพอากาศ มีขีดความสามารถจำกัดในการปฏิบัติการทางอากาศมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะเริ่มทยอยปลดประจำการตั้งแต่ พ.ศ.2564 จนถึง พ.ศ.2574 โดยใน พ.ศ.2575 กองทัพอากาศจะคงเหลือเครื่องบินขับไล่โจมตีต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของกำลังรบทางอากาศลดลงจนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ และยังต้องแบกรับภาระการส่งกำลังและซ่อมบำรุงกับเครื่องบินรบจำนวนมาก ที่มีอายุการใช้งานสูงถึง 28 - 54 ปี จึงต้องพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและเพียงพอต่อหน้าที่ในการเตรียมการใช้กำลังทางอากาศ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานภาพงบประมาณของกองทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รองรับแผน ปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย 

 

"ศิริกัญญา"​ ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ชี้ รัฐบาลต้องกล้ายอมรับความจริง ตรึงราคาดีเซล 30 บาทไม่ได้อีกต่อไป ฉะ ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด ไม่ใช่บอกให้ประชาชนประหยัด วอนออกมาตรการช่วยเกษตรกร-ท่องเที่ยว

อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบค่าครองชีพคนไทย ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังจะส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนนี้ราคาพลังงานพุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมายังตลาดโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย และยังส่งออกแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป แต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ประเทศในยุโรปก็กำลังจะมีมาตรการลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติลง 2 ใน 3 ตลอดปี 2565 ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมหาศาล จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจขึ้นไปแตะที่ 185-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าอาจจะถึงจุดที่รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนแล้วว่า สัญญาที่ได้ให้ไว้ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท อาจจะทำไม่ได้จริง ปัจจุบันในแต่ละเดือนต้องใช้เงินในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ถ้ายังจะคงน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 10 บาทต่อลิตร รวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าราคาน้ำมันยังคงยืนระยะที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาเรลตลอดทั้งปี และเรายังพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็อาจจะต้องใช้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท ทางเลือกของเรื่องนี้อาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณปี 2565 อย่างแน่นอน ทางออกอีกทางคือการแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) มีข่าวจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า แผนการที่วางไว้สำหรับน้ำมันดีเซลอาจจะอยู่ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนจึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างถูกจุด ปัญหาคือถ้ารัฐบาลรอจนเงินหมดหน้าตัก แล้วปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวทันที จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมาก รัฐบาลควรจะต้องมีแผนการในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนว่าจะทยอยขึ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน จากนั้นจะต้องมีการอุดหนุนค่าครองชีพไปที่ครัวเรือนโดยตรง แทนที่จะอุดหนุนไปที่ราคาพลังงาน เพราะความจริงแล้วกลุ่มคนที่มีรายน้อยหรือคนจนจะใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า แต่ความช่วยเหลือยังอยู่ที่ดีเซลอย่างเดียว การเปลี่ยนมาอุดหนุนเป็นค่าครองชีพให้ประชาชนโดยตรงก็จะได้ประโยชน์กับผู้ใช้ทั้งเบนซินและดีเซล หากกังวลเรื่องผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งก็ให้อุดหนุนตรงไปที่ภาคขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถบรรทุก ทำให้รัฐบาลน่าจะสามารถกำหนดวงเงินช่วยเหลือได้ชัดเจนแม่นยำมากยิ่งขึ้น

"ดังนั้น ทางออกเรื่องราคาพลังงานคงไม่ใช่การออกมาบอกให้ประชาชนประหยัดพลังงานด้วยตนเอง ถ้าจะออกมาบอกแค่ว่าต้องประหยัดพลังงาน ต้องประหยัดการใช้ไฟ ล้างแอร์ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เราต้องการการมองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่จะไม่ทำให้ประเทศถังแตก และสามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ยอมรับความจริง พูดความจริงกับประชาชนว่าจะไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้แล้ว และดำเนินการให้ประชาชนสามารถประคับประคองการใช้ชีวิตได้ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนปัญหาราคาอาหารสัตว์ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภายหลังเกิดสงคราม ราคาสินค้าทั้งสองชนิดก็สูงขึ้นมาก ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าแล้ว ส่วนราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ตอนนี้ตลาดในประเทศไทยวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน โรงงานอาหารสัตว์รายเล็กรายย่อยบางส่วนเริ่มทยอยปิดตัว ถ้าสงครามยังดำเนินต่อไปและราคายังไม่ลดลง สุดท้ายต้นทุนก็จะมาตกอยู่กับเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ และจะส่งผ่านมาที่ราคาอาหารสดอีกระลอก ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเหมือนกรณีราคาหมู แต่จะส่งผลกระทบแน่นอนกับราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่ นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่  ตอนนี้วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ประกาศแบนการส่งออกปุ๋ยเคมีแล้วเช่นกัน ซึ่งจะซ้ำเติมไปที่ต้นทุนของเกษตรกรและกดดันรายได้ของเกษตรกรให้ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น จึงขอวิงวอนไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องการคำนวณต้นทุนสินค้าเกษตรต่างๆ ที่จะใช้ในการคำนวณราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ และต้องมีมาตรการอื่นๆ ตามมาเพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกร

กระชับความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.และรมว.กห. ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห.เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ พล.อ.อ. Tan Sri Dato’ Sri Haji Affendi bin Buang (ตัน ซรี ดาโตะ ซรี ฮัจญี อัฟเฟนดิ บิน บวง) ผบ.ทสส.มาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของ กองทัพไทย ระหว่าง 7-10 มี.ค.65 

โดยทั้งสองฝ่าย เห็นร่วมกันในการประชุมหารือภายใต้กลไกและกรอบความร่วมมือต่างๆที่มีร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และผลักดันความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รมช.กห กล่าวต้อนรับและได้กล่าวถึงความขอบคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.และรมว.กห.ได้ส่งไปถึง นรม. ของมาเลเซียที่ได้เดินทางมาพบและได้หารือข้อราชการระหว่างกันอันจะนำไปสู่ความร่วมมือในทุกด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง ส่วนในด้านการทหาร รมช.กห.ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงกลาโหมทั้งสองประเทศและความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ทางมาเลเซียสนับสนุนไทยเป็นอย่างดีมาตลอด

ดินเนอร์พรรคร่วมชื่นมื่น ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ โชว์หวาน ย้ำ ‘เศรษฐกิจไทย’ หนุนรัฐบาล 100% ยกเว้น ‘ธรรมนัส’

งานเลี้ยงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลชื่นมื่น ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ โอบเอวโชว์ นายกฯ ยอมรับห่วงสถานการณ์สู้รบกระทบราคาน้ำมัน-สินค้า ขณะ ‘บิ๊กป้อม’ ยันกลางวง พรรคเศรษฐกิจไทย หนุนรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้น ‘ธรรมนัส’

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา บรรยากาศภายในงานเลี้ยงดินเนอร์ พรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาพร้อมกับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ติดภารกิจต่างประเทศ 

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนามีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมีรายงานว่า ในวงสนทนาบนโต๊ะอาหารค่ำของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี มีความกังวลชัดเจนถึงกรณีสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันของไทยและสินค้าอีกหลายอย่างตามมา อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน จึงสั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งไปดูแล

“บิ๊กตู่”โพสต์ข้อความ โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากโควิด-เงินเฟ้อ-เงินฝืด-ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย “ชี้”ผลกระทบราคาน้ำมัน พลังงาน “ยัน”ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลมีแผนการรองรับไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตซ้อนวิกฤต อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเงินฝืด และความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อค่าครองชีพของเราชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็สามารถกระตุ้นกำลังซื้อและเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามวิกฤตต่างๆ ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของราคาพลังงานโลก ซึ่งในวันนี้ (9 มี.ค.) จะมีการประชุม “วาระเร่งด่วน” ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน และเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนโดยเร็วต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น 1.โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด “Hydro Floating Solar Hybrid System” ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ลักษณะสำคัญคือเป็น "ทุ่นลอยน้ำ" ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ

รวมทั้งช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายกระแสไฟตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลายเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริดนี้ในเขื่อนอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้กับประชาคมโลก และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย 

“นายกฯ” ห่วงปชช.สั่ง ศปม.จัดกำลังพล ช่วยรับโทรศัพท์ สายด่วนสปสช. 1330 บรรเทาความเดือดร้อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.)มีคำสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)จัดกำลังพลสนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ปฏิบัติหน้าที่รับสายด่วนของ สปสช. (1330)ซึ่งมีปริมาณผู้โทรเข้ามาจำนวนมาก เพื่อช่วยเร่งนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงการดูแล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน

นายธนกร กล่าวว่า ศปม. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสายด่วน ศปม.สนับสนุนสปสช. (1330) จำนวน 200 คู่สาย โดยแบ่งเป็น กองบังคับการศปม.40 คู่สาย ศปม.กองทัพบก 80 คู่สาย ศปม. กองทัพเรือ 40 คู่สาย และศปม. กองทัพอากาศ 40 คู่สาย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดการอบรมและซักซ้อมการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สายด่วน และการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ  โดยสปสช. มีแนวทางการปฏิบัติเป็นคู่มือ มีรายละเอียดของหน่วยงานที่จะต้องประสานส่งต่อข้อมูล มีกลุ่มไลน์ของผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ และรับเคสที่มีความซับซ้อนไปดำเนินการต่อ รวมทั้งมีช่องทางประสานส่งต่อเคสด่วนไปยัง 1669 โดยแต่ละเหล่าทัพจัดสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และคอมพิวเตอร์ ให้เพียงพอกับการปฏิบัติภารกิจ

'รัฐบาล' เห็นชอบ ร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงงานรอบอ่าวอาหรับ (ADD) จับมือ พัฒนาขีดความสามารถ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของแรงงาน 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ให้ความ เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue ครั้งที่ 6 (The Joint Declaration of the Abu Dhabi Dialogue Sixth Consultation) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 

ซึ่งการประชุม ADD นี้ เป็นการประชุมหารือระหว่างประเทศสมาชิกกระบวนการโคลัมโบ (ประเทศผู้ส่งแรงงาน) 12 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับผู้รับแรงงาน รวม 7 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของแรงงาน ณ ประเทศปลายทาง เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต้นทางที่ส่งออกและประเทศปลายทางที่รับแรงงาน

ร่างปฏิญญาร่วมฉบับนี้ มีขอบเขตความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว เช่น  สนับสนุนให้มีโครงการเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นระบบการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งสร้างระบบที่เอื้อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนมีการแบ่งปันบทเรียนทางนโยบายที่ได้รับระหว่างประเทศสมาชิก ADD และอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกพิจารณาขยายขอบเขตระบบการคุ้มครองด้านค่าจ้างให้ครอบคลุมแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว

2.การอำนวยความสะดวกและยกระดับการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานและการเทียบคุณวุฒิแรงงานระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เช่น การศึกษาเพื่อวิเคราะห์บทเรียนที่ได้รับ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความต้องการทักษะแรงงาน รวมทั้งพัฒนาทักษะที่สอดคล้องในระดับภูมิภาคระหว่างคู่เจรจา เพื่อให้ตรงกับความต้องการและประเด็นที่ให้ความสำคัญของประเทศสมาชิก ADD


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top