แบ่งพื้นที่ชัดเจน ! "อนุทิน" เผย รพ.แยกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากโรคทั่วไป ขอประชาชนมั่นใจมาตรฐานความปลอดภัย

ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวกับผู้สื่อข่าว ถึงรูปแบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด -19 ระบุว่า

ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อนมากๆ ทางกระทรวงการจำแนกให้เป็นผู้ป่วยนอกตามนโยบาย "เจอ แจก จบ" ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นการช่วยกันดูแลระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับ รพ.และบุลคลากรแพทย์ ทำให้เรามีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลือง และแดงได้มากขึ้น 

การจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เราต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค เรากำลังเร่งเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถอยู่กับโรคได้ และเศรษฐกิจ ก็ต้องไปได้ เช่น วัคซีน เราเร่งการฉีดให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราสูญเสียลดลง จนเข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ราย หรือ ร้อยละ 0.1

ตั้งแต่ สธ.เปิดให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกณฑ์สีเขียว เป็นผู้ป่วยนอก ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูล คือ ร้อยละ 60 เป็นสายจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม จึงเปิดให้บริการเพิ่มเติมใน 14 จังหวัด ที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ  ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี และ สมุทรปราการ 4 วันที่ผ่านมา ให้บริการสะสมแล้ว 8,000 ราย โดยสัดส่วนของการจ่ายยา คือ การจ่ายยารักษาตามอาการ ร้อยละ 50 ยาฟ้าทะลายโจร ร้อยละ 22 และยาฟาวิพิราเวียร์ ร้อยละ 28

ส่วนข้อกังวลเรื่องโรงพยาบาล อาจใช้พื้นที่ร่วมกันในการรองรับผู้ป่วยโควิด -19 กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ นายอนุทิน กล่าวว่า แต่ละ รพ.มีพื้นที่สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น หอผู้ป่วยโควิด-19 (Cohot ward) คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) มีห้องแยกผู้ติดเชื้อ เพื่อไม่ให้เข้าใกล้กับพื้นที่ผู้ป่วยโรคทั่วไป เนื่องจากทาง รพ.ต้องระวังการติดเชื้อในบุคลากรของตัวเองด้วย ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการดูแลรักษาประชาชน