Thursday, 15 May 2025
POLITICS

'บิ๊กป้อม' ชี้!! แก้หนี้นอกระบบลดฮวบ หลังปราบเชิงรุก พร้อมเดินหน้าต่อเนื่อง 'จัดหาแหล่งทุน-พัฒนาทักษะ'

(15 ส.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขาดโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มอิทธิพลโดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบ ตนได้ประสานงานกับฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ช่วยดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากหนี้นอกระบบจากกลุ่มนายทุนที่ฉวยโอกาสปล่อยกู้เก็บดอกเบี้ยโหด ส่งแก๊งทวงหนี้มาข่มขู่ ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ที่หาเช้ากินค่ำ รวมถึงทุกส่วนราชการที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหา โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชนของตำรวจ ที่เจรจาไกล่เกลี่ย บังคับใช้กฎหมาย จนส่งคืนทรัพย์สินให้กับประชาชนได้จำนวนมาก 

นอกจากนั้นได้ประสานกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เข้าไปร่วมจัดหาแหล่งทุน รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงโอกาส เป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งของผู้มีรายได้น้อย และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

"ปัญหาหนี้นอกระบบฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน มีประชาชนจำนวนมาก รอการช่วยเหลือ ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ยังเร่งทำงานเพื่อปลดล็อกปัญหา ที่เป็นกับดักความยากจนของสังคม และประสานให้โอกาสช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถกลับมายืนเข้มแข็ง" พล.อ.ประวิตร กล่าว

'แดงปทุมฯ' ให้กำลังใจ 'หมอชลน่าน' ขอให้จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่น

(15 ส.ค.66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ตรีชฎา ศรีธาดา สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรค รับมอบหนังสือและดอกไม้จากตัวแทนพี่น้องเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดจันทบุรี และชมรมแท็กซี่สุวรรณภูมิ แท็กซี่กรุงเทพ ที่มาให้กำลังใจที่พรรคเพื่อไทย ให้จัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ พร้อมประกาศพร้อมอยู่เคียงข้างทำงานให้ประชาชนเต็มความสามารถ

‘ลิณธิภรณ์’ หวั่น!! ปรับเบี้ยผู้สูงอายุ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ชี้!! รัฐต้องหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อกระจายสวัสดิการให้ทั่วถึง

(15 ส.ค. 66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้สูงอายุที่จะเข้าเกณฑ์ใหม่ได้รับเงินดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือคนจน ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนดว่า พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลก ที่ต้องรับมือกับภาวะแก่ก่อนรวย โดย 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นผู้สูงอายุ และในอีก 20 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 โดย 63% อยู่ในภาคเกษตร และ 87% เป็นแรงงานนอกระบบ และมีปัญหาร่วมกันคือรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีเงินเก็บ 

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงทำเพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้ แก้ปัญหาระดับโครงสร้างในทุกมิติผ่านชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย กระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือนร้อนให้ทุกคน 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ softpower สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง ผู้สูงอายุคนเกษียณก็ยังสามารถทำงาน สร้างรายได้ มีศักดิ์ศรี เพิ่มรายได้ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ 3 เท่าตัว เพราะผู้สูงอายุและกำลังจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาล ทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่ต้องลางาน Learn to Earn เรียนเพื่อสร้างรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด 

“สวัสดิการจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อไทยมุ่งเป้าให้คนไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง การปรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การให้ถ้วนหน้าแบบเดิม ต้นเหตุมาจากรัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเพื่อไทยเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด เราจึงเป็นพรรคเดียวที่พูดถึงการสร้างรายได้ เพื่อมีรายได้มาจัดสวัสดิการโดยรัฐ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาสให้ครอบคลุมและทั่วถึงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึง” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

'อัษฎางค์' เบิกเนตร 'วิโรจน์' หลังพ่นวาทกรรม 'พิสูจน์ความจน' แสดงถึงการด้อยความรู้ เก่งแต่สร้างความเกลียดชังให้คนในชาติ

(15 ส.ค. 66) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า Age Pension หรือที่เมืองไทยเรียกว่า ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ นั้นในทุกประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ต้องมีการ Tests ซึ่งก็คือ ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

ถ้าไม่มีการการตรวจสอบคุณสมบัติผู้จะได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ก็จะทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีทรัพย์สินมากอยู่แล้วได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เหมือนคนที่ไม่มีรายได้และไม่มีทรัพย์สมบัติ

ไหนเรียกร้องความเท่าเทียม ตกลงคุณต้องการนำ ‘ภาษีกู’ มาแบ่งจ่ายให้เศรษฐีได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนคนจนหรือ? คุณต้องการแบบนั้นจริงหรือ?

สส.วิโรจน์ พรรคก้าวไกล ออกมาโวยรัฐ ‘เอาหน้า’ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน หรือสร้างความเกลียดชังของประชาชนต่อรัฐ หรือออกมาแสดงการถึงการด้อยความรู้ กันแน่ ?

สส.วิโรจน์ ใช้คำว่า “การพิสูจน์ความจน คือการกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องแต่จะกดคนให้จนและพยายามตัดเบี้ยผู้สูงอายุ”

ผมจะช่วยเปิดกระโหลก เปิดกะลาให้ท่าน สส.ผู้ทรงเกลียด

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสวัสดิการแห่งรัฐดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็กำหนดว่า ผู้ที่เกษียณอายุ ต้อง ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนจะมีสิทธิ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ”

รายละเอียดสำหรับการ ‘การพิสูจน์ความจน’ ของออสเตรเลียนั้นเยอะมาก และต้องใช้เวลาอ่านทำความเข้าใจอย่างมากถึงจะเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ใช่เหมือนเมืองไทยที่ใครอายุ 60 ก็รับเบี้ยผู้สูงอายุทันทีถ้วนหน้า

เงินภาษีของประชาชนต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมิใช่หรือ แล้วทำไมถึงยินดีที่จะจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเป็นเงิน ‘ภาษีกู’ ให้กับเศรษฐี ซึ่งเขาไม่ได้เดือดร้อน

เบี้ยผู้สูงอายุเพียง 600 หรือ 3,000 (ตามนโยบายก้าวไกลที่ออกมาหาเสียงว่าจะให้คนแก่ตอนก่อนเลือกตั้ง จนคนแห่ไปกาให้ก้าวไกล ก่อนที่ก้าวไกลจะมาประกาศหลังเลือกตั้งว่ายังทำไม่ได้) ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุวัยเกษียณ แต่ไม่มีผลอะไรกับเศรษฐีเลย เอาเงินก้อนนี้ไว้จ่ายผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์หรือไม่มีรายได้ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะผู้สูงอายุวัยเกษียณกำลังเพิ่มขึ้นทุกปี

ขอยกตัวอย่าง การพิสูจน์ความจน เพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุในออสเตรเลียเล็กน้อย (ความจริงรายละเอียดเยอะมาก) ได้แก่

ต้องมีรายได้ต่ำจริงหรือไม่มีรายได้เลย

ผู้สูงอายุวัยเกษียณบางท่านยังคงมีรายได้จากทรัพย์สินเช่น การขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) รายได้จากการเล่นหุ้น, เป็นหุ้นส่วนบริษัท หรือบางท่านยังทำงานอยู่แม้จะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม

แรงงานที่ออสเตรเลียไม่ได้เกษียณที่อายุ 60 (รุ่นผมเกษียณด้วยอายุ 67)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยวัยเกิน 60 ที่ยังทำงานมีรายได้สูงมากในออสเตรเลีย แอบกลับมารับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากรัฐบาลไทยด้วย ได้ 2 ต่อ ทั้งที่รายได้สูงอยู่แล้ว คุณอยากได้แบบนี้ใช่มั้ย

หรือคนไทยวัยเกษียณที่อยู่เมืองไทยก็ตาม แต่เขายังคงมีรายได้จากการทำงาน มีรายได้มหาศาลจากการขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) มีรายได้จากการเล่นหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัท แต่เขาได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เท่ากับผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเลย

คุณ สส. คุณทนาย คุณอาจารย์นักวิชาการ คุณนักเรียกร้องสิทธิ์

พวกคุณเรียกสิ่งนี้ว่าความเท่าเทียมกันหรือ?

พวกคุณโจมตีว่า การพิสูจน์ความจนหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เพื่อให้ได้คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่อง ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ว่ารัฐกดขี่คนจน ผู้เฒ่าผู้แก่หรือ

ทั้งที่เป็นการใช้เงินจาก ‘ภาษี’ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นไปตามหลักสากลที่ทั่วโลกเขาทำกัน

เปิดกระโหลกออกจากนอกกะลา กันเสียที

อย่าฟังแต่เสียงโกหก เพื่อหาเสียงของนักการเมืองจอมบิดเบือนเสียทีพี่น้องไทย

'พิธา' ย้อนถาม 'กกต.' 2 ปมหุ้นไอทีวี สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ "เป็นธรรมหรือไม่?"

(15 ส.ค.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

เมื่อวานนี้มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของ กกต. มีมติว่าจะให้ยกคำร้องผมในคดีอาญามาตรา 151 เรื่องการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร จากการถือหุ้นไอทีวี โดยคณะกรรมการสืบสวนมีเหตุผลสำคัญว่า บริษัทไอทีวีไม่มีการดำเนินกิจการอยู่และไม่มีรายได้จากการเป็นสื่อ จึงไม่ถือว่าผมมีความผิด 

ผมยืนยันอีกครั้งว่า คดีหุ้นไอทีวีของผม เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะผมถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เป็น สส. มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่ผมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อผมต่อสภาไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่ามีความพยายามปลุกปั้นให้บริษัทไอทีวีซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็น ‘หุ้นสื่อ’ ให้ได้ 

มาวันนี้ ที่มีการเปิดเผยมติของคณะกรรมการไต่สวนออกสู่สาธารณะแล้วว่าผมไม่ผิด ทำให้มีประเด็นคำถามที่ผมขอถามไปยัง กกต. ดังนี้

1. คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 (คดีอาญา) มีมติก่อนที่ กกต. จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต จะอ้างว่า การพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐานและเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริง ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อและมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชนในขณะที่ผมสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่กกต. กลับยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่

2. การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติว่า หุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น การสั่งให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ไอทีวี และอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่า ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อ (นอกจากคดีคุณธนาธร) ของ สส. ปี 2563 ประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีผม กลับสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมจึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผม มีความเป็นธรรมหรือไม่

'ประชาธิปัตย์' ยังมึนไม่เลิก!! หลัง 2 ขั้วท่าจะเคลียร์ให้จบยาก ฟากคนในชี้!! ใครโหวต 'พท.' คงเป็นได้แค่ไส้เดือนคลุกขี้เถ้า

หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ล่มมาสองรอบอันเนื่องมาจากไม่ครบองค์ประชุม และเป็นการไม่ครบองค์ประชุมแบบไม่เป็นธรรมชาติ ง่ายๆ คือ มีคนจัดการให้ไม่ครบองค์ประชุม ส่วนใครจัดการ ง่ายๆ คือ ฝ่ายที่กำลังจะแพ้โหวตนั่นแหละ 

หลังจากการประชุมล่มลงสองครั้ง ยังมีไม่เค้าโครงว่าจะมีการนัดประชุมกันใหม่วันไหน แต่มีการเคลื่อนไหวคึกคักให้มีการแก้ไขระเบียบพรรคในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระเบียบพรรคข้อบังคับของพรรคฯ ข้อ 87 ระบุ ให้เสียงของ สส.ชุดปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของคะแนนเสียงของที่ประชุมใหญ่ คะแนนเสียงส่วนที่เหลือทั้งหมดนับรวมกันแล้วมีน้ำหนักเพียงแค่ร้อยละ 30 หรือสัดส่วน 70 : 30

ระเบียบพรรคข้อนี้กลายเป็นกติกาที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า "เป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม" โดยในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกพรรคเสนอให้งดเว้นข้อบังคับนี้ และขอให้ทุกคะแนนเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน เพื่อความเป็นธรรม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จที่ประชุมใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

องค์ประชุมพรรคประกอบไปด้วย สส., อดีต สส., อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, อดีตรัฐมนตรี, อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม.ผู้ดำรงตำแหน่งในส่วนท้องถิ่น, หัวหน้าสาขาพรรค ฯลฯ องค์ประชุมพรรคต้องมีจำนวน 'ไม่น้อยกว่า 250 คน'

แต่ที่ผ่านมามีตัวแทนลงชื่อเข้าร่วมประชุมประมาณ 220 กว่าคน และสัปดาห์นี้คณะรักษาการกรรมบริหารพรรคน่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากำหนดวันประชุม

ในท่ามกลางความไม่ลงตัวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีกระแสแรงเรื่องการขอเข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงค้าน เพราะถือเป็นพรรคคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมายาวนาน และประวัติศาสตร์ของเครือข่ายเพื่อไทย ตั้งแต่ไทยรักไทย, พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ จึงไม่น่าร่วมกับเพื่อไทยได้ แต่ฝ่ายที่อยากจะร่วม อาจคิดอีกมุมหนึ่ง

มีการอ้างว่า สส.21 คน อยากนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ไม่รู้เอาตัวเลข 21 มาจากไหน น่าจะเป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเพื่อต่อรองตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า และน่าจะเอาตัวเลขมาจากการนับจำนวน สส.ที่เข้าร่วมขบวนการ 'จัดการ' คืนก่อนการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ที่มีการ 'จัดการ' เพื่อให้ได้เสียงกัน ยกเว้น 'ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ สรรเพรช บุญญามณี' จึงคิดว่า จาก สส.25 คน หักออกไป 4 เหลือ 21 คน

ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ ถามว่า ราชิต สุดพุ่ม, สมยศ พลายด้วง, สุรินทร์ ปาลาเร่ หรือแม้แต่ สส.หนึ่งเดียวของปัตตานี อยู่กับขั้วที่อยากร่วมรัฐบาลหรือ? คำตอบไม่น่าจะใช่!! ส่วน สส.แม่ฮ่องสอน, สส.สกลนคร และ สส.อุบลราชธานี ยังไม่รู้ว่าอยู่กับขั้วไหน แต่โดยสายสัมพันธ์ น่าเชื่อได้ว่า อยู่ในขั้วผู้อาวุโส

ซึ่งถ้า สส.แม่ฮ่องสอน, สกลนคร และอุบลราชธานี อยู่ในขั้วของผู้อาวุโส จึงเหลือ สส.ที่อยู่ในขั้วอยากร่วมรัฐบาลเพียง14 คนเท่าเอง และอยู่ในขั้วผู้อาวุโสที่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน 11 คน

นี่คือประเด็นข้อเท็จจริง ฝ่ายที่อยากร่วมรัฐบาล อยากไปเจอทักษิณ ชินวัตร อีกรอบ ไม่ควรทึกทัก คิดไปเองว่า'จัดการ' ไปแล้ว จะถือเป็น 'ของตาย' นำไปใช้ต่อรองตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่มีข่าวว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ด้วยคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า "ทำไมต้องรังเกียจเพื่อไทย คนดีๆ ในเพื่อไทยที่รู้จักก็มีเยอะ แล้วจะไปบอกว่าเพื่อไทยเขาโกง เขายังไม่ทันได้โกง ควรไปร่วมงานกับเขาก่อน แต่หากเขาโกงอะไร เราค่อยถอนตัว กลับตัวได้"

ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต สส.อาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ แถลงทิ่มกลางอก 'นราพัฒน์' ยืนยันได้ว่า "ประชาธิปัตย์ไม่ได้โกรธเคืองอะไรนายทักษิณ ชินวัตร หรือ สส. ของพรรคเพื่อไทย แต่เราถืออุดมการณ์ของพรรค ที่นายทักษิณหนีไปต่างประเทศ 17 ปี ไม่ใช่เพราะโกงหรือ รัฐมนตรีหลายคนติดคุกไม่ใช่เพราะโกงหรือ"

นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมาเราเคยเรียกว่าระบอบทักษิณ ตั้งแต่ยังเป็นสมัยไทยรักไทย โกงอย่างเดียว เอารัฐมนตรีมาโกง จนติดคุกติดตารางกันเป็นแถวในเวลานี้ ทุกวันนี้ก็ยังมีนายทักษิณกับน้องสาวหนีไปต่างประเทศ แบบนี้ยังไม่โกงอีกหรือ ถ้าเราไปร่วมกับพรรคที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ แล้วยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์ที่เกรือเซะ-นโยบายปราบยาเสพติด แบบนี้คือ ระบอบทักษิณ ที่เรารับไม่ได้แล้วเราจะไปร่วมกับเขา 

"แต่คนในพรรคที่ต้องการไปร่วมรัฐบาลบอกว่า เพื่อไทยมีคนดีๆ เยอะแยะ เขายังไม่ทันโกงจะไปว่าเขาแล้ว รอให้ร่วมรัฐบาลก่อน หากเขาโกงค่อยว่ากัน มันไม่ใช่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันสอน จะมาเถียงกันทำไม เถียงว่าพรรคเพื่อไทยไม่โกง เพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ว่าเคยโกง ตนไม่กลัวโดนฟ้อง อย่างนายทักษิณ เดิมมียศเป็น พ.ต.ท.แต่ตอนนี้เป็นนายทักษิณ เพราะผูกถอดยศ ไม่ใช่เพราะโกงหรือ

"หากประชาธิปัตย์ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เลือกตั้งคราวหน้า ประชาธิปัตย์ สส.คนเดียวก็จะไม่ได้ คนจะไม่เลือกประชาธิปัตย์ อาจเป็นพรรคที่ไม่มี สส.สักคน แต่ก็จะทำพรรคต่อไป คือ สส.ของพรรคหากจะไปโหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย เขาก็มีสิทธิ์ทำได้ เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่ว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพเสียคนละสองพันบาทเท่ากันหมด ส่วนรายปีก็คนละสองร้อยบาท ถ้าจะไปทำแบบนั้น ผมเชื่อว่า สมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ สิ้นปีนี้ เขาจะไม่ต่ออายุ ไม่เสียเงินค่าสมาชิกพรรครายปี กันหลายแสนคน" นายไชยวัฒน์ ระบุ

เมื่อถามว่า หากจะมี สส.ของพรรคไปร่วมโหวตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย จะถือเป็นงูเห่าหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า'ไม่ใช่งูเห่า แต่เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้ามากกว่า งูเห่ามีศักดิ์ศรี ออกจากพรรคที่เคยอยู่แล้วออกไปอยู่พรรคอื่น แต่นี้ไปซุกเขา เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้า ผมขอให้ฉายาใหม่ พวกอยากไปร่วมรัฐบาล กระสันมาก คุณไปเอาไส้เดือน โยนใส่กองขี้เถ้า คุณจะเห็นอาการ มันจะดิ้นทุรนทุราย แบบนี้ไม่ใช่งูเห่า"

ยิ่งเนิ่นนานประชาธิปัตย์ก็จะยิ่งเสื่อม ควรจะเด็ดขาด เร่งรีบจัดการกับปัญหา "ไม่ควรเชื่องช้า"...

'อี้ แทนคุณ' จี้ 'ประธานวันนอร์' ดำเนินคดี-ปลด 'ปดิพัทธ์' หลังโพสต์ภาพคู่เหล้า ผิดพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์

(14 ส.ค.66) นายแทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่งของพรรคก้าวไกลโพสต์อวดรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อหนึ่งทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของ Padipat Suntiphada ในข้อความว่า... 

"เอาแล้วๆๆๆๆ พิษณุโลกมีคราฟท์เบียร์ตัวแรกอย่างเป็นทางการแล้วครับ เป็นของดีพิดโลกนอกจากกล้วยตากและหมีชั่วครับ"

ทั้งนี้ ถือเป็นการทำผิดมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551บัญญัติ "ห้าม มิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัน เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม"  

โดยตนเป็นหนึ่งในคนที่เคยร่วมผลักดัน พ.ร.บ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันมิให้การเผยแพร่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากเกินไปจนนำมาซึ่งการเมามายขาดสติ เกิดอุบัติเหตุเกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทย 

แทนคุณ กล่าวอีกว่า แม้ว่าสุราพื้นถิ่นจะเป็นเรื่องที่สนับสนุนส่งเสริมอาชีพและการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่การโฆษณาชวนเชื่อโดยตรงหรือโดยอ้อมย่อมผิดกฎหมายชัดเจน และตัวนายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสมควรที่จะรู้และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำกับดูแลนักการเมืองไม่ให้ประพฤติชั่ว เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ย่อมทำให้ขาดสติและขาดความยับยั้งชั่งใจ เหมือนก่อนหน้านี้ที่มี ส.ส.ของก้าวไกลขาดสติ ขาดวุฒิภาวะไปกระทืบซ้ำคนล้มและเกิดวิวาทเพราะการเมา ซึ่งเชื่อว่าหากมีสติสัมปชัญญะที่ดีย่อมไม่ทำแบบอย่างที่เลวให้กับเยาวชนและสังคม

ดังนั้นจึงขอให้ท่านประธานวันนอร์ฮัมหมัดมู มะทา ได้โปรดพิจราณาดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เด็ดขาด มิให้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนคาดหวังการรักษากฎหมายของนักการเมืองมิให้ทำให้รัฐสภาต้องด่างพร้อยเพราะการกระทำของคนไม่กี่คนจากพรรคก้าวไกลอีก

‘คณะกรรมการไต่สวน’ ชงยกคำร้อง ‘พิธา’ ผิด ม.151 เหตุขณะยื่นสมัครไม่พบไอทีวี ประกอบกิจการ-มีรายได้

(14 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนวนการสอบสวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลกรณีรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน กกต.นั้น มีรายงานว่า ผลสอบที่คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้น ได้เสนอความเห็นว่า เห็นควรให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส.66 วันที่ 4-7 เมษายน ไม่พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ

ทั้งนี้ คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งได้มอบรองเลขาธิการ กกต.ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้อง และปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณา ตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต.วินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านของคณะอนุฯวินิจฉัยหลายกรณี เมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุฯวินิจฉัยได้รับสำนวนหากเห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัยก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีคาดว่า คณะอนุฯวินิจฉัยจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้นายพิธาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะ สส.ของนายพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต.พิจารณา เช่นที่เคยดำเนินการกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด

สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 151 นั้น หากที่สุด กกต.มีมติเห็นว่า ผู้สมัครรายนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเมื่อดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีของนายธนาธร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า นายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 แต่เมื่อ กกต.ดำเนินคดีอาญาอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยมาตรา 151 นั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด

‘เพื่อไทย’ เชิญชวนทุกฝ่ายสร้างประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ เดินหน้าทำประชามติ ตั้ง ‘สสร.’ เร่งแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อปชช.

(14 ส.ค.66) นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมตัวไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 ซึ่งมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 และ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ครั้งแรก ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะมีมติ ครม.ให้ทำประชามติโดยกระบวนการจัดตั้ง สสร. พรรคเพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้ว โอ้เอ้ ประวิงเวลาเพราะตระหนักดีว่า คนไทยที่รักประชาธิปไตยกำลังรอคอยอยู่ 

นางสาวตรีชฎา กล่าวต่อว่า สภาสมัยที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคต่าง ๆ จะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปิดสวิตซ์ สว.แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามจะให้มี สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เมื่อย้อนหลังกลับไปจะพบว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติให้ลงประชามติ เพื่อนำไปสู่การมีสสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาก่อน เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อศึกษาเสร็จ วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ทำประชามติกระบวนการจึงถูกตัดตอนไปไม่ถึง ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำประชามติ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะจัดทำฉบับใหม่ คือ ครั้งแรกก่อนจะมี สสร.มาจัดทำ กับเมื่อ สสร.จัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงประชามติอีกครั้ง หากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบ ถึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้

นางสาวตรีชฎา กล่าวอีกว่า ด่านสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ คือการประสาน และร่วมมือกับทุกพรรคทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กำเนิด สสร. จะมีที่มาอย่างไร จะให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ องค์ประกอบ คุณสมบัติ จำนวน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ อาจจะดูง่ายดาย แต่เอาเข้าจริงอาจไม่ง่ายดังที่คิด เพราะการเมือง และอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านกรณีการโหวตนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาลก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีความยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เคยกำหนดไว้เป็นโนบายเร่งด่วนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ผ่านไป 4 ปี ก็ไม่ขับเคลื่อนให้เป็นจริง ทั้งๆ ที่มีการเคลื่อนไหวกดดันของหลายฝ่ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามเต็มที่ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้มีกลไกอำนาจใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง

นางสาวตรีชฎา กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ร่างโดย สสร.เป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่าง บทบัญญัติต่างๆ ก็เป็นที่ยอมรับ จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ใช้ได้เพียง 8 ปี 11 เดือน ก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 หลังจากใช้มาได้ 6 ปี 9 เดือน ก็ถูก คสช. ฉีกทิ้งในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 60 ถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นับว่านานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จะต้องเร่งให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า 

“พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ผิดหวัง ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ตามแถลงการณ์ และการหาเสียงซึ่งกำหนดเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจนที่ประกาศว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน การสืบทอดอำนาจจะต้องถูกปิดฉากลงเสียที ขอเชิญชวนทุกพรรค ทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน” นางสาวตรีชฎา กล่าว

'รองโฆษกเพื่อไทย' ติง!! กิจกรรม 'ปากระป๋องใส่ภาพนักการเมือง' แม้ทำได้ตามสิทธิเสรีภาพ แต่เยาวชนยังไม่อาจแยกแยะ

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊ก 'ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ - หนุ่ม' ระบุว่า...

เมื่อวานผมได้รับทราบถึงการจัดกิจกรรม ที่ปรากฏภาพ นักเรียนชั้นประถมศึกษา เข้าร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จังหวัด #สุรินทร์ และมีการเล่นกิจกรรมเกม 'ปากระป๋องใส่ภาพบุคคลทางการเมือง' และเกิดความไม่สบายใจอย่างยิ่ง จึงอยากสื่อสารกับทุกท่านในสังคม โดยเฉพาะผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้

ผมขอเรียกร้องและย้ำเตือนแก่โรงเรียน หน่วยงานรัฐ ตลอดจนผู้ใหญ่ในสังคมทุกท่าน ให้ใช้วิจารณญาณและความระมัดระวังในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น การทำกิจกรรมในลักษณะนี้อาจทำได้ตามสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อพึงตระหนักได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะมีเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าร่วม ควรหลีกเลี่ยงรูปแบบกิจกรรมที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง หรือการปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองแก่ผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ

ถึงแม้สถานศึกษาจะเป็นสถานที่ปลอดภัยในการแสดงออก สามารถเปิดให้มีอิสระทางความคิด กิจกรรมที่เกิดในโรงเรียนควรเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ทางวิชาการหรือสันทนาการ และควรคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมด้วย หากกิจกรรมนี้ริเริ่มโดยกลุ่มนักเรียน ควรมีครูอาจารย์ช่วยให้ความรู้และความเข้าใจถึงความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรมด้วย

"สังคมไทยขับเคลื่อนด้วยพวกเราทุกคนนะครับ ผมขอเรียกร้องถึงทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงพรรคการเมืองและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทุกท่าน ให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมการเมืองทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ไม่ควรยุยงให้เกิดพฤติกรรมที่สร้างความขัดแย้งในสังคม สร้างแบบอย่างของการแสดงออกต่อความเกลียดชังด้วยความรุนแรง หรือปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองเชิงลบแก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพราะอาจส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศความแตกแยกในสังคม"

‘วิโรจน์’ โวย!! รบ.รักษาการลักไก่ เปลี่ยนเกณฑ์จ่าย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากเดิมได้แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 ส.ค. ต้องมาพิสูจน์ความจน

(14 ส.ค.66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เรื่องใหญ่ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน’ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่

โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน(อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่หลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปี ในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่า จะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไรปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ

ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้

‘นิด้าโพล’ ชี้!! ‘อภิสิทธิ์’ เหมาะนั่งหัวหน้าพรรค ปชป. ผลโหวตประชาชน เผย ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

(13 ส.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจ เมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566, ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย, อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้), อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์), อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร, อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ขณะที่ร้อยละ 1.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายเดชอิศม์ ขาวทอง, นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน หากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘เพื่อไทย’ เปิดนโยบายเร่งด่วน พาคนไทยฝ่าแก้วิกฤต ศก. พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น-ดอก พร้อมลดค่าไฟ-น้ำมันทันที!!

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 66 พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์นโยบายเร่งด่วนที่จะทำหากได้เป็นรัฐบาล ระบุว่า…

“พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน

ภาระหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจะต้องมีหนทางในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อลดภาระและเปิดโอกาสใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรในการทำมาหากิน พลิกฟื้นภาคการเกษตรของไทย ด้วยหลัก ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ รวมทั้งการผลักดันการพักชำระหนี้ SME ที่ประสบภัยโควิด 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง พร้อมต่อยอดด้วยชุดนโยบายของพรรคต่อไป

วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย โพสต์อีก “หากเพื่อนไทยเป็นรัฐบาล ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ลดราคาทันที”

‘ภูมิธรรม’ แจงเสียงโหวตนายกฯ เพื่อไทยอยู่ที่ 278  ชี้!! ‘รทสช.’ ยังไม่ชัดและยังไม่ตอบรับเสียง ‘ปธม.’ 

(12 ส.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีการรวบรวมเสียงที่จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคพท.ซึ่งล่าสุดมีทั้งหมด 315 เสียงว่า ขณะนี้หากนับเสียงที่ชัดเจนที่จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ พรรคพท.นั้น ตัวเลขที่ชัดเจนจริงๆ ยังอยู่ที่ 278 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 238 เสียง รวมกับทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ประกาศจะยกมือให้กับพรรคพท.อีก 40 เสียง ทำให้มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 278 เสียง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นั้น เราถือว่ายังไม่ชัดเจน เพราะทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครทสช.ให้สัมภาษณ์ว่ายังต้องขอคุยกันภายในพรรคก่อน ขณะที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) อีก 1 เสียงนั้น ขณะนี้เรายังไม่ตอบรับ

“สำหรับตัวเลข 278 เสียงสำหรับสภาล่าง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคง และเราก็จะยินดีมากหากพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท.เพิ่มขึ้น เราเชื่อว่าหลายฝ่ายพร้อมจะให้โอกาสกับพรรค พท. ซึ่งการโหวตสนับสนุนจะเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่จะพูดคุยกันต่อในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าหากพรรคใดไม่โหวตสนับสนุน ก็ไม่ได้อยู่ในสมการนี้” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับรายชื่อหลัง รทสช.ไม่ชัด ชี้!! ยังไม่ตอบรับเสียง ปธม. รัฐมนตรี (ครม.) ที่เริ่มปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ ก็เป็นเพียงแค่การเสนอแนะ ความคิดเห็นหรือวิเคราะห์กันเองของแต่ละบุคคลที่ให้ข่าวเท่านั้น ยืนยันว่าพรรค พท.ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคใดทั้งสิ้น เพราะต้องรอให้การโหวตแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.เสร็จสิ้นก่อน ถึงตอนนั้นรายชื่อ ครม.ของจริงจะเกิดขึ้นหลังได้นายกฯ แล้วอย่างแน่นอน

จอดป้าย 315 เสียง 10 สส.แลก 1 รมต. รทสช.ยึดพลังงาน/ดีอี ‘ป้อม’ ดัน ‘ป๊อด’

สถานการณ์ทางการเมือง… เดินทางมาถึงหลักกิโลเมตรสุดท้าย ของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คาดว่าถ้าวันพุธที่ 16 ส.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับพิจารณาเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องไป การโหวตนายกรัฐมนตรีอย่างช้าก็จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 22 ส.ค.นี้

อย่างที่เคยวิเคราะห์ว่า… เวลาที่ทอดยาวออกไป ทำให้พรรคเพื่อไทยได้อย่างเสียอย่าง… ที่ได้คือ การเจรจาฟอร์มรัฐบาลที่รัดกุมรอบคอบมากขึ้น ส่วนที่เสียคือ ฝ่ายต่อต้านจะจัดทัพกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ ทั้งม็อบตัวเป็นๆ และไอโอ โรบอต ในโลกไซเบอร์-ออน์ไลน์… ซึ่งกรณีหลังทราบว่าคนแดนไกลสั่งให้พรรคเพื่อไทยเสริมอุปกรณ์เสริมคนสู้กับกองทัพด้อมส้มเต็มคาราเบลแล้ววววว

มาอัปเดทสูตรรัฐบาลกันดีกว่า… สรุปว่าหลังจากร่ายรำอยู่หลายกระบวนท่า… พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมรับว่าอย่างไรเสียต้องมีพรรคลุงร่วมด้วยอย่างน้อยหนึ่งพรรค เอาไปเอามา… ได้มาทั้งสองพรรค… ถึงวันนี้ดีลลับดีลลึกของพรรคเพื่อไทยก็จบลงที่ 315 เสียง

ถ้าไม่พลิกกันอีก 315 เสียงจะประกอบด้วย

เพื่อไทย 141, ภูมิใจไทย 71, พลังประชารัฐ 40, รวมไทยร้างชาติ 36, ชาติไทยพัฒนา 10,ประชาชาติ 9, ชาติพัฒนากล้า 2, เพื่อไทรวมพลัง 2 และพรรคเล็ก 1 เสียงอีก 4 พรรค คือ เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย, ประชาธิปไตยใหม่...

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า… ที่สุดของที่สุดจะมีประชาธิปัตย์มุ้งใหญ่ของ ‘เฉลิมชัย – เดฃอิศม์’ ประมาณ 20 เสียงเข้าร่วมด้วยหรือไม่...หลังจากที่เดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ อุตส่าห์ดั้นด้นไปพบทักษิณ ชินวัตร ถึงฮ่องกงเมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา… ถ้าให้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ฟันธง ก็คงต้องบอกว่าต่อให้ไม่มีมติพรรค ก็น่าจะมี สส.จำนวนหนึ่งยกมือหนุนนายกฯ พรรคเพื่อไทย ให้สัญญาณขอเกาะโบกี้รถไฟไปด้วยคน

สำหรับตัวเต็งนายกฯ คนที่ 30 นาทีนี้ แม้ว่าจะมีแรงต้านพอประมาณจากแนวรบ สว. แต่โอกาสที่เศรษฐา ทวีสิน...จะฝ่าด่านมาได้ก็มีสูงขึ้น ตราบใดที่โครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรคสองลุง… คือพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติรวมอยู่ด้วย… ขอเพียงอย่างเดียวให้เศรษฐาพูดจาให้ไพเราะขึ้น จริงใจต่อคำพูดใหม่ จุดยืนใหม่มากขึ้น และพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องแสดงความชัดเจนว่าไม่แอบจับมือกับพรรคก้าวไกล… แต่ถ้าวันโหวตมีพรรคก้าวไกลโผล่มาโหวตเห็นชอบด้วย โอกาสที่เศรษฐาจะร่วงกลางงาน ก็มีสูง

และมากไปกว่านั้นที่พรรคเพื่อไทย ต้องเปล่งประกายความทุ่มเทที่จะแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ความจริงใจและคำมั่นสัญญาที่นำพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายแบ่งสี ดังที่ประกาศไว้… จะต้องเข้มข้นมากกว่าการหมกมุ่นหมุนวนอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับโผ ครม.งวดนี้… คาดว่าจะใช้สูตรคำนวณ 10 เสียงต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีเท่าที่ทราบพรรคเพื่อไทยพยายามไม่ให้รัฐมนตรีในรัฐบาลลุงตู่นั่งอยู่ที่เดิม  แต่อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน… โควตาน่าจะตกเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่รัฐมนตรีอาจจะเปลี่ยนจาก ‘รองพงษ์’ เป็น อดีตปลัดพลังงานที่ชื่อ ‘ณอคุณ’ ขณะที่กระทรวงดีอี… ก็จะตกเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกัน

ถามว่าทำไมสองกระทรวงนี้เป็นของพรรคนี้… ตอบสั้นๆ ว่า น่าจะเพราะบารมีเจ้าสัวหนุ่มหล่อ คนนั้น!!

ส่วน ‘ลุงป้อม’ ที่เพิ่งฉลองวันเกิด 78 เมื่อวาน ย่าง 79 ในวันนี้… มีแนวโน้มว่าจะถูกสถานการณ์บีบรัดให้ปล่อยวางเก้าอี้เสนาบดี… วาระนี้จึงน่าจับตาไปที่น้องชายลุงป้อมคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ ‘บื๊กป๊อด’ ว่าจะนั่งกระทรวงไหน เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, สันติ  พร้อมพัฒน์, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ...

ครับ!! ก็สรุปสั้นๆ ได้ประมาณนี้ก่อน… ขออนุญาตไปตรวจโผแต่งตั้งทหาร-ตำรวจ เพื่อมาเล่าสู่กันฟังกลางสัปดาห์ครับ!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top