Tuesday, 14 May 2024
POLITICS NEWS

"แรมโบ้" ลั่น! ม็อบ ยุติการชุมนุม หันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ อย่าฟัง พวกชังชาติ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ในปี 2564 ประเทศไทยเป็นอันดับ 1ในอาเซียน ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเรื่องของดิจิทัล  อีกทั้งยังเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2564  ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล นอกจากจะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความใส่ใจกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะถือว่าประชาชนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด และยังเป็นประโยชน์กับประชาชนในหลายด้าน 

นายเสกสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้พัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหามาหลายด้าน จนประชาชนทั้งในประเทศและนานาประเทศให้การยอมรับ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลในการทำงาน อยากจะพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ยังเห็นความสำคัญของประชาชน และประเทศ มาเป็นอันดับที่ 1 พร้อมที่จะช่วยเหลือในทุกด้านโดยไม่เหน็ดเหนื่อยไม่ย่อท้อ และพร้อมทุ่มเทพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดี จึงเรียกร้องไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการเคลื่อนไหวให้ยุติการชุมนุม เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น และยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

"บ้านเมืองเป็นของพวกเราทุกคน ควรหันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ช่วยนายกฯและรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าไปสู่นโยบายที่วางไว้ให้สำเร็จ ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาชุมนุม จนทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เราทุกคนควรหันกลับมาร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข อย่าไปเชื่อฟังบุคคลที่คิดยุยงปลุกปั่น พวกบ่อนทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คนชังชาติเหล่านั้นไม่หวังดีต่อประเทศไทย พวกเราอย่าตกเป็นเครื่องมือคนคิดร้ายต่อแผ่นดินไทยเลย" นายเสกสกลกล่าว

"มายด์" พร้อมพวกรายงานตัวอัยการคดีชุมนุมสถานทูต เผยกำลังใจดีสู้ไม่ถอย - พระร่วมให้กำลังใจชูป้าย "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112"

วันที่ 25 มี.ค 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ พร้อมพวกผู้ต้องหาแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร เดินทางมารายงานตัวตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ 

โดย นางสาวภัสราวลี เปิดเผยว่า วันนี้มารอฟังคำสั่งอัยการ ส่วนตัวเตรียมพร้อม เข้มแข็งจากการชุมนุมเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) เติมกำลังใจตัวเองได้อย่างดี สู้ต่อไม่ถอย ซึ่งพ่อกับแม่ก็ให้กำลังใจ ส่วนที่มีข่าวว่าวันนี้อัยการจะเลื่อนนัดสั่งคดีนั้น ยังไม่มั่นใจ ต้องรอฟังอีกที ทุกคนในคดีจะมากันครบ เพราะทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำ กล้าหาญ กำลังใจดีเข้มแข็ง พี่น้องประชาชนส่งพลังให้ตนและทุกคน 

ส่วนหากมีการส่งฟ้องแล้วศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่นั้น ถ้าให้ประกันตัว ประชาชนจะมองกระบวนการยุติธรรมอย่างมั่นใจ ทุกคนโดนข้อหาเดียวกันทั้ง 13 คน หลายคนเป็นนักศึกษา และส่วนตัวก็ยังมีสอบ เชื่อว่าพลังของประชาชนที่ออกมาเป็นส่วนสำคัญ 
.
ด้าน นางสาวเบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เปิดเผยว่า หากไม่ได้รับการประกันตัวก็จะให้มวลชนเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป ตนเองก็จะสู้ต่อไปเพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ สำหรับการชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมา พยายามจัดการชุมนุมให้มีความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมมากที่สุด และให้มวลชนได้มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรม ส่วนภารกิจที่ติดค้างคือเรื่องเรียน และการต่อสู้ยังเป็นภารกิจสำคัญ ขณะนี้มองว่าควรที่จะมีการยกเลิกการส่งฟ้องไปเลย ซึ่งจะไม่เป็นการค้างคา 

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ไม่มีแกนนำ นางสาวเบนจา มองว่า เป็นการชุมนุมที่ให้คนหลายกลุ่มได้เข้ามาร่วม ซึ่งตนเองก็ไม่เคยบอกว่าการมีแกนนำหรือไม่มีแกนนำดีหรือไม่ดีอย่างไร จะมีความแตกต่างกันในด้านวิธีการ แต่แนวทางการต่อสู้คือเป้าหมายเดียวกัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ในวันนี้ มีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและผู้ใกล้ชิดเดินทางมารอให้กำลังใจผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี โดยผู้มาให้กำลังใจ อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน รวมถึงมีกลุ่มพระสงฆ์ 4 รูป ถือป้ายข้อความว่า "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112" 

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมที่เดินทางมาให้กำลังใจแกนนำราษฎรในวันนี้ หลังทราบข่าว นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่างพากันดีใจด้วย

"วราวุธ" ชี้!​ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย​ เปรียบเหมือนตัดแขน ย้ำ! ต้องหารือพร้อมเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า คาดว่าจะได้มีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายนนี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี​ ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ​ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น​ กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คน ๆ นึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจ​ ส.ว. จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่​ ส.ว. รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย​ ส.ว. ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ​ ส.ว. ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่าประเด็นที่ให้อำนาจ​ ส.ว. เลือกนายกฯ คงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่​ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง​ ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ ๆ จะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.)​ คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป​ แต่ท้ายที่สุดคงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน

“วิษณุ” เผย! เคลียร์ “ชวน” แล้ว ปมเปิดสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท้วงถึงนายวิษณุ ที่ระบุ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วเกินไป ทั้งที่ร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายชวนเรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยเป็นเรื่องการให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .. ของรัฐสภา เพื่อดูว่าทางกรรมาธิการจะทำเสร็จหรือไม่ และต้องคิดเผื่อเวลาที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมทั้งการออกวาระล่วงหน้า ซึ่งนายชวน และตน รับทราบเรื่องเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแล้วจะสามารถเปิดวิสามัญในวันที่  7 - 8 เมษายนนี้ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตน ขอพบและพูดคุยกับทางกันมาธิการก่อน ซึ่งจะได้พบกันในวันเดียวกันนี้ เมื่อถามย้ำว่า ด้านนายชวนยืนยันหรือไม่ว่าเปิดวิสามัญในวันที่ 7 - 8 เมษายนนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า นายชวนไม่ได้ยืนยัน ให้แล้วแต่รัฐบาล แต่ท่านได้เสนอแนะว่าให้บอกเวลาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆยังไม่ขอพูดถึง เอาเป็นว่าตนได้พูดคุยกับนายชวนชัดเจนแล้ว เนื่องจากยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะมาพูดระบุถึงเรื่องวันที่ไม่ได้เนื่องจากยังไม่ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะมาพูดก่อน

กระทรวงแรงงาน ยกระดับช่างเครื่องช่วยคนพิการ หนุนทดสอบมาตรฐาน ป้อนหน่วยผลิต

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างแรงงานคุณภาพ หนุนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ลดช่องว่างตลาดแรงงาน นายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กำเนิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ และที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ 

พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา “อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาที่ฉัน” รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่17 สิงหาคม 2534 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่พัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทั้งฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกิจการของมูลนิธิขาเทียมฯ โดยดำเนินโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ และจัดการฝึกอบรมสาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงการกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา 

โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 700 ชั่วโมง (5 เดือน)  ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 (5 รุ่น) จำนวน 109 คน และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 จำนวน 106 คน ระดับ 2 จำนวน 21 คน รวมจำนวน 127 คน และในปี 2564 ดำเนินการฝึก 6 กิจกรรม เป้าหมาย 210 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งพนักงานราชการ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง

ซึ่ง กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และช่างเหล่านี้สามารถจัดทำขาเทียมที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีผู้พิการขาขาดที่ได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ปีละกว่า 3,000 คน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณ กพร.ที่ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด พัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

สร้างบุคลากรด้านเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงอบรมแพทย์และช่างทำขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย บังคลาเทศ สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วโลก เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาศักยภาพแรงงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

นายโรมรัน จรรยา พนักงานช่างเครื่องช่วยคนพิการ เป็นพนักงานราชการของโรงพยาบาลลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ รุ่นที่ 8 กับ สพร.19 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม และได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขแบบปุถุชนทั่วไปได้ คนพิการเป็นอีกกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ และเมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่างทำขาเทียมซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการได้กลับมาทำงาน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคฒ อธิบดี กพร.กล่าว

ศาลฎีกา รับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกาสนามหลวง ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ชัดเจน ดำเนินการครบถ้วนเกี่ยวกับระเบียบการดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้รับคำร้อง ที่ผู้ถูกร้อง ค้านว่าขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลเห็นว่า พิเคราะห์คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่ต่อเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว ยกคำร้องจึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เเละเเจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกครั้ง 30 เม.ย. เวลา 9.30 น.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์รูปภาพตนเอง พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปารีณา ไกรคุปต์" เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 มี.ค. 64 โดยระบุว่า “ราตรีสวัสดิ์ ปารีณาพลังประชารัฐ #ปารีณาพักก่อน -รู้สึกเศร้า"

“นิพนธ์” ผนึกกำลัง ประปานครหลวง-องค์การจัดการน้ำเสีย MOU บูรณาการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ สร้างความยั่งยืน ยึด 3 ข้อ เน้นรับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาองค์ความรู้ พ่วงเสริมทักษะความชำนาญ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและให้บริการที่เป็นเลิศต่อประชาชนทั่ว

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) การบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่างการประปานครหลวง(กปน.)และ องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน.  นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ได้กำกับดูแล มอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. ที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้บูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการให้ความรู้ในด้านการจัดการน้ำเสียให้กับชุมชน และสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรน้ำและความร่วมมือระหว่างกันที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนโดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไกการบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้มีระบบ และมีเอกภาพยิ่งขึ้น  รวมถึงการลดปริมาณน้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก"

“ การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการร่วมบูรณาการงานของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ กปน. และ อจน. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ และการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผล คุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน” นายนิพนธ์ กล่าว

ช่อ พรรณิการ์ หาเสียงโคราช ชูนโยบายเอาใจวัยรุ่น 4 แก้ 4 ก้าว

วันที่ 24 มีนาคม ที่ จ.บุรีรัมย์นางสาวพรรณิการ์  วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางพบปะ ผู้สมัครนายกเทศมนตรี  ในนามคณะก้าวหน้า ในส่วนของเทศบาลตำบลหนองตาด คณะก้าวหน้าส่งนางสาวกาญจนา เขียวรัมย์ ลงสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลหนองตาด เบอร์ 5 โดยกิจกรรมเป็นการพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องตำบลหนองตาด นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่า “พ่อแม่พี่น้องทราบหรือไม่เทศบาลตำบลเรามีงบประมาณพัฒนาหนองตาดประมาณ 300 ล้านบาทตลอดวาระ 4 ปี เงินจำนวนนี้จะว่าน้อยก็น้อย จะว่าเยอะก็เยอะ

“ถ้าเรานำมาจัดสรรได้จริงตรงตามความต้องการที่แท้จริงของพ่อแม่พี่น้อง นำมาแก้ปัญหาน้ำแล้ง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีโรงเรียนคุณภาพเป็นของตัวเอง วันอาทิตย์ที่ 28 มีนานี้ออกไปใช้สิทธิ์เข้าคูหาเลือกอนาคตของท่านด้วยตัวท่านเอง เลือกคนที่มีอุดมการณ์ เลือกคนที่มีนโยบายที่จะทำให้หนองตาดเจริญ เปลี่ยนความคิดให้โอกาสคนหน้าใหม่ หากท่านเลือกเฉพาะคนรู้จัก คนคุ้นหน้า คนเดิมๆ ก็จะได้แต่อะไรเดิมๆ อยากทุกคนดูที่ความตั้งใจ นโยบายเป็นหลัก” 

ด้านนางสาวกาญจนา ผู้สมัครเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองตาด เบอร์ 5 กล่าวว่า ตนมีความพร้อมที่จะเข้ามาพัฒนาบ้านเกิดอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เคยดำรงตำแหน่ง นักพัฒนาวางแผนข้อมูลของเทศบาลตำบลหนองตาดมากว่า 10 ปี และขอได้ลาออกมาเตรียมตัวลงสมัครนายกเทศมนตรีมาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว ยุทธศาสตร์ของหนองตาดที่ตนเล็งเห็นคือเรา มีรถไฟวิ่งผ่านกลางเมืองเทศบาล จึงมีแนวคิดจะนำส่งสินค้าเกษตรของพี่น้องเข้าไปขายในเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะปัจจุบันสินค้าทางเกษตรมากมาย ทั้งหอม กระเทียม เห็ดนางฟ้า ของเรามีคุณภาพมาก แต่ยังขาดตลาดที่รองรับ หากตนได้รับเลือกเข้ามาทำงานก็จะผลักดัน อย่างเต็มที่เพราะได้ลงมือปลูกและสอนชาวบ้านทำแปลงเกษตร บ้านเห็ดด้วยตัวเองอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นางสาวพรรณิการ์เดินทางต่อไปยังจ.นครราชสีมา เพื่อช่วยนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา เบอร์ 4 และพบปะทีม สท ทั้ง 4 เขต โดยทีมผู้สมัครคณะก้าวหน้า ได้นำเสนอนโยบายที่จะแก้ปัญหาให้ชาวโคราช “4แก้4ก้าว เพื่อชาวโคราช” 

4 แก้ได้แก่
1.) แก้โครงสร้างพื้นฐาน ถนนต้องดี มีไฟทั่วถึง ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ 
2.) แก้เศรษฐกิจ Korat Walkable City เมืองที่เดินได้อย่างปลอดภัย คึกคัก24ชม.พัฒนาแลนมาร์ก 
3.) แก้รถติด มีระบบขนส่งมวลชนที่มันสมัยด้วย รถเมล์ไฟฟ้าไร้มลพิษ 
4.) แก้การเมืองให้โปร่งใส วางรากฐานที่มั่นคงตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดไปด้วยกัน 

4 ก้าวได้แก่ 
1.) ก้าวสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ ด้วยการเพิ่มศูนย์การแพทย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงโดยนำเทคโนโลยีพบหมอออนไลน์ใช้อีกด้วย 
2.) ก้าวสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีด้วยการใช้เทคโนโลยี AIและBig Data มาจัดการบริหารเมืองSmart governance เข้าถึงข้อมูลด้วยคิวอาร์โค้ดแจ้งฝนตกน้ำท่วมเข้ามือถือทุกคนได้แบบญี่ปุ่น
3.) ก้าวสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้าง korat Youth Spaceส่งเสริม E-sport Gaming , E Commerce 
4.) ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการใช้ Digital Currency สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยการสร้างเทศกาลระดับนานาชาติ โดยตลอดทั้งสัปดาห์หน้านี้นางสาวพรรณิการ์ จะเดินสายไปช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีในนามคณะก้าวหน้า ในภาคอีสานต่อไป

'ปิยบุตร' ไม่ทิ้ง ‘คนยโสธร-คนอีสาน’ รับฟังปัญหากลุ่มทุนมาตั้ง ‘โรงงานน้ำตาล - โรงไฟฟ้าชีวมวล’ โดยที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ ซัด นี่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายปิยบุตร เดินทางมาถึงยังพื้นที่ ชาวบ้านต่างตะโกนโห่ร้องแสดงความยินดีและปรบมือแสดงความดีใจ เนื่องจากเมื่อครั้งที่นายปิยบุตร เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทางชาวบ้านได้เคยมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ผลักดันปัญหาความเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ของกลุ่มทุนใหญ่

โดยปัญหานี้ สืบเนื่องจากช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อํานาจเจริญ มีโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านใน ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้รัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายปิยบุตร กล่าวว่า พี่น้องประชาชนได้เคยมายื่นหนังสือร้องเรียนกับตนเองในวันที่ 10 ธ.ค. 2562 ตอนนั้นตนเองเป็นประธาน กมธ.กฎหมายฯ เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนมาแล้วก็ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในวาระการประชุมทันที ซึ่งวาระดังกล่าวก็ยังอยู่ในขั้นตอนการต่อคิวอยู่ พอดีว่าต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองตนเองอีก 10 ปี ทำให้เมื่อไม่มีอำนาจรัฐแล้ว ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว จึงได้ฝากเรื่องนี้กับเพื่อน ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาก็ได้มาสังกัดพรรคก้าวไกล คือ รังสิมันต์ โรม ที่ก็อยู่ กมธ.กฎหมายด้วยกัน ให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ต่อ สุดท้ายตอนนี้ กมธ.กฎหมายฯ ก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการมีส่วนร่วมกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 8 จังหวัดขึ้นมา

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงปัญหาการเอาเขื่อนขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมมาสร้างนั้น มีปัญหาร่วมกันระดับโครงสร้าง 3 ประการด้วยกัน คือ 

1.) ปัญหาด้านการกระจายอำนาจ เพราะถ้าหากมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีทรัพยากรและมีอำนาจตัดสินใจ เมื่อจะทำโครงการอะไร ท้องถิ่นเป็นคนอนุมัติ ก็ต้องกลับมาสอบถาม มาฟังเสียงของประชาชนเพราะประชาชนเป็นคนเลือกมากับมือ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ที่ส่วนภูมิภาค ที่ใช้อำนาจผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ เองก็ได้รับการแต่งตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย และยังได้รับความดีความชอบจากกระทรวงมหาดไทย จึงไม่แปลกที่จะตัดสินใจหรือเงี่ยหูฟังอำนาจจากส่วนกลางมากกว่าฟังประชาชนในพื้นที่

2.) ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือหากมีก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้เสร็จไปตามขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการมีส่วนร่วมก็มีกลโกงต่างๆ มากมาย อาทิ การให้ข้อมูลหลอกชาวบ้านในทีแรกว่าซื้อที่ไปสร้างสิ่งอื่น พอเรื่องแดงถึงจะมีการเปิดเผยความจริง 

รวมทั้งมีการกีดกันคนที่เห็นต่างในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และเกณฑ์คนที่เห็นด้วยหรือเกณฑ์คนจากพื้นที่อื่นเข้ามางานรับฟังความคิดเห็น หรือการมีหน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ กอ.รมน. เข้ามาควบคุมไม่ให้คนเห็นต่างเข้ามาเพราะกลัวเกิดเกิดความวุ่นวาย และเรื่องนี้พูดให้ถึงที่สุดยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกฎหมาย การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่เจ้าของบริษัทที่จะเอาโรงงานมาตั้งในพื้นที่ เป็นคนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงาน EIA ดังนั้นผู้รับจ้างเมื่อรับเงินแล้วก็ย่อมต้องทำให้ผ่าน หรือหากไม่ผ่าน ก็ยังไม่ตกไป ยังสามารถมีกระบวนการแก้ไขหรือจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหม่มาทำให้กระบวนการนี้ผ่านให้ได้

3.) ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่านโยบายการอนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล การสร้างโรงงานน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะมีจำนวนสูงถึงเกือบ 50 โรงด้วยกัน รวมทั้งการนำเอานิคมอุตสากรรมมาตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่รัฐบาล คสช. ออกนโยบายดังกล่าวมาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.และต่อมาได้สืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสงสัยว่า ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ประธานคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งมาอนุมัติโครงการก็เป็นคนเดียวกับประธานของกลุ่มทุนด้วย

“การเอาโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งในพื้นที่โดยที่ประชาชนไม่ต้องการ เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนยโสธร หรือของคนอีสานเท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราทุกคน ชัดเจนว่า เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผิด นโยบายรัฐบาลเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ให้มากอบโกยเอาทรัพยากรกลับไป และทิ้งปัญหาและมลภาวะเอาไว้ให้ชุมชน เหมือนย้อนกลับไปยุคล่าอาณานิคม แต่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชาวบ้านที่มาร่วมงานในวันนี้ ทุกคนต่างพร้อมใจกันชู 3 นิ้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกไปยังผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ต้องการให้เกิดการฟื้นฟู เยียวยา และแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงใจและจริงจัง นอกจากนี้ ภายหลังจากเสร็จภารกิจในจังหวัดยโสธร นายปิยบุตรยังได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายจำนวน 8 เวทีด้วยกัน ที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 นี้

“ประวิตร” รับ! ฉีดแอสตราเซเนกาแล้ว ไร้ผลข้างเคียง เผยพร้อมจิ้มเข็ม 2 อีก 3 เดือนข้างหน้า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ถึงกระแสข่าวการเดินทางไปฉีดวัคซีน ป้องกันเชื้อไวรัส covid-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ว่า ตนเองได้ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาจริง ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และมีอาการเป็นปกติ รวมไปถึงยังมีอารมณ์ดี ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังเปิดเผยอีกว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จะฉีดอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top