นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีวานนี้ (25 ต.ค.)ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ทำให้มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ทั้งการหารือเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และการทำพื้นที่ การประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญในวันที่ 9 ตุลาคม นั้น
ยืนยันว่า การหารือดังกล่าวเป็นการหารือเรื่องการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดินรวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งมี่ผ่านมาเราเสียโอกาสไปมากในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ยืนยันไม่ได้เกี่ยวการเมือง นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการประเทศ ไม่ก้าวก่ายการทำงานของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)การเมืองเป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลภายนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง การกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการเมือง นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำได้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีระมัดระวังเรื่องนี้มาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากประชาชนทั่วประเทศที่ได้เข้าร่วมมาตรการ โครงการของรัฐ ระหว่างวันที่ 18-21 ต.ค.2564ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จาก 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการคนละครึ่งเฟส 3,มาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำปะปา,มาตรการช่วยเหลือผู้ปกครอง 2,000 บาท,มาตรการลดค่าเทอมนักเรียน นักศึกษา ,มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม พบว่า ประชาชนกลุ่มสำรวจ มีความพึงพอใจมาตรการ “คนละครึ่ง เฟส 3” มากที่สุด เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้ ประคับประคองการบริโภค ทำให้ประชาชนมีการวางแผนการใช้จ่ายดีขึ้น รองลงมาคือมาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำปะปา มาตรการช่วยเหลือผู้ปกครอง 2,000 บาท มาตรการลดค่าเทอมนักเรียน-นักศึกษา และมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และม.40 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ตามลำดับ
นายธนกร กล่าวว่า ของความคืบหน้ามาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพของรัฐ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 40.30 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 124,414.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 25.44 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 110,123.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 55,975.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 54,148.1 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 84,680 คน ยอดใช้จ่ายส่วนประชาชนสะสม 2,764 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 144 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.54 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 10,598.9 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.24 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 784.5 ล้านบาท