Sunday, 18 May 2025
POLITICS NEWS

'อลงกรณ์' นำทีม 'ส.ส.ปชป.และดร.เอ้ สุชัชวีร์' ลุยเลือกตั้งซ่อมเขต 6 สงขลา แฟนคลับประชาธิปัตย์กว่าครึ่งหมื่นเชียร์สนั่นเวทีปราศรัย 

เน้นนโยบายปั้นสงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจชายแดนใต้เชื่อมมาเลฯ.พร้อมพัฒนาสนามบินหาดใหญ่เป็นฮับการบินนานาชาติ ชู ”สุภาพร” เข้าวิน ส.ส.หญิงคนแรกของสงขลาโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 จังหวัดสงขลาเป็นไปอย่างเข้มข้น

ล่าสุด นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากทม.และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พล.ต.ต สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา และสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรัฐมนตรียุติธรรมและส.ส.อุบลราชธานี ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีตส.ส.สงขลาได้ลงหาเสียงแบบเคาะประตูบ้านช่วยนางสาวสุภาพร กำเนิดผล ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์เบอร์1 เขต 6 สงขลา ปรากฎว่าได้รับการต้อนรับเกินคาด

โดยในช่วงเย็นวานนี้มีการปราศรัยที่วัดเทพชุมนุมในเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลามจนเก้าอี้ที่ทีมงานหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เตรียมไว้5พันตัวไม่พอต้องยืนล้นออกมานอกถนนบรรยากาศเป็นไปด้วยความความคึกคักมีเสียงเชียร์กระหึ่มเป็นระยะๆโดยนายอลงกรณ์ได้ปราศรัยเปิดเวทีชี้แจงถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ใหม่ๆของพรรคประชาธิปัตย์ในการพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าธุรกิจของระเบียงเศรษฐกิจชายแดนใต้ ”ลิมอดาซาร์” เชื่อมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมการลงทุนและโลจิสติกส์ระหว่าง 5 รัฐภาคเหนือมาเลเซีย(กลันตัน เคดาห์ เปรัค ปะลิสและปีนัง)กับ5จังหวัดชายแดนใต้(กลุ่มจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาสและยะลา)

ตามนโยบายเปลี่ยนบังเกอร์เป็นเคาเตอร์ การยกระดับสนามบินหาดใหญ่เป็นฮับการบินนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวการค้าและธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาสะเดา-ปาดังเบซาร์เป็นเมืองท่าหน้าด่านแบบสมาร์ทซิตี้ที่ทันสมัยรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดน รวมทั้งการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลในจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเป็นฐานการแปรรูปสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลซึ่งมีมูลค่าตลาดโลก48ล้านล้านบาทมีกลุ่มเป้าหมายกว่า2พันล้านคนจะสามารถสร้างงานสร้างอาขีพและขยายการค้าใหม่ๆได้อีกมาก

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะร่วมสร้างจุดเปลี่ยนสงขลาและภาคใต้สู่อนาคตที่ดีกว่าเป็นอนาคตที่เราออกแบบได้สร้างได้ด้วยแนวทางถอดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่ จะคิดจะทำแบบเดิมๆไม่ได้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่าประชาธิปัตย์ยุคอุดมการณ์ทันสมัยภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเลขาธิการพรรค ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนสามารถขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ5ชนิดได้แก่ยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือนๆละ 1.5 หมื่นบาทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19อย่างฉับไว จนไม่มีคำปรามาสในอดีตที่ว่าประชาธิปัตย์ดีแต่พูดหรือเชื่องช้า

และยังเป็นหลักของรัฐบาลในการสร้างรายได้นำเงินเข้าประเทศกว่า8.8ล้านล้านบาทจากการส่งออกที่เติบโต16%เกินเป้าหมายที่รัฐบาลเคยกำหนดไว้ที่4% ถึง 4 เท่าตัวทำสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปีและยังผลักดันการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนซึ่งมีความสำคัญต่อจังหวัดสงขลาโดยข้อมูล 9 เดือน ม.ค.-ก.ย.2564 สามารถส่งออกได้ถึง 778,367 ล้านบาท ขยายตัว 38.06% แม้จะเผขิญกับวิกกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นแชมป์การส่งออกจนผลโพลของประชาชนยกให้รัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่มีผลงานเป็นที่ชื่นชอบอันดับ1ของประเทศซึ่งเป็นผลงานที่สะท้อนการทำงานยุคใหม่ทำได้ไวทำได้จริงเราทำได้ของพรรคประชาธิปัตย์

'โฆษกรัฐบาล' เผย ศบค. ยังคงให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยในรูปแบบ Test and Go ที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ตามมาตรการที่กำหนด และตามวันเวลาที่ขออนุมัติ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข้อห่วงใยการเดินทางเข้า-ออก ประเทศในรูปแบบ Test to Go มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ได้ลงทะเบียนรวมทั้งที่ได้รับการอนุมัติแล้วประมาณ 2 แสนราย บางส่วนได้เดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยเดินทางเข้าประเทศไทยหลังจากนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก จึงเห็นควรตามมติ ศบค. เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยในรูปแบบ Test and Go ที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ตามมาตรการที่กำหนด และตามวันเวลาที่ขออนุมัติ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรม/สถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อนำมาปรับมาตรการให้สอดคล้องกับพัฒนาการของการแพร่ระบาดในประเทศและทั่วโลกด้วย

“บิ๊กตู่”สั่งการยกระดับช่วยเหลือประชาชน แก้ไขปัญหาราคาสินค้า โภคภัณฑ์อาหาร ที่ปรับราคาสูงขึ้น เพื่อลดภาระ ค่าใช้จ่ายประชาชน วางมาตรการระยะสั้นระยะยาว ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ และเพื่อความยั่งยืน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ และห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเภท โดยกำชับสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำกับดูแลราคาสินค้า และช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและควบคุมได้ ทั้งนี้ การปรับตัวของราคาดังกล่าว เป็นไปตามกลไกตลาดอาหารโลก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก FAO Food Price Index: FFPI) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า

ค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลกในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 125.7 ซึ่งเพิ่มขึ้น 28.1% จากปี 2563 และเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งเคยสูงถึงร้อยละ 131.9 ขณะเดียวกัน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศไทย ยังชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยค่าเฉลี่ยของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.23 และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.42 โดยราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด เช่น ราคาของเนื้อสุกร ซึ่งเป็นผลกระทบจากต้นทุนการเลี้ยง (อาหารสัตว์ ยารักษาโรค) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาโรคระบาดในสุกรและมาตรการลดความเสี่ยงโดยการจำกัดจำนวนการเลี้ยงที่ทำให้ปริมาณสุกรในระบบลดลง 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลได้ยกระดับมาตรการขั้นสูงสุดในการควบคุมราคาอาหารสด โดยราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2565 เรื่อง ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร กำหนดห้ามมิให้ส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณีเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2565 เพื่อให้ปริมาณสุกรและเนื้อสุกร มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

เลขา สมช.แจงจำเป็นต้องยกระดับความพร้อมรับความเสี่ยง เตรียมพร้อม รพ.หลัก รพ.สนาม การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและศูนย์บริหารสถานการณ์ (EOC) ระดับพื้นที่

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช)​ กล่าวย้ำอีกครั้ง ภายหลัง ศบค.มีมติยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน จากไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชน ว่า​ มาตรการกำหนดไว้อย่างชัดเจน คือ 

1.การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.65 โดยพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวยังคงเดิม ได้แก่ พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวทั้งจังหวัดจำนวน 8 จังหวัด และเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวบางพื้นที่ 18 พื้นที่/จังหวัด ซึ่งใช้มาตรการเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง ส่วนที่เหลือ ปรับเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) รวม 69 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ทั้งจังหวัดจำนวน 51 จังหวัด และบางพื้นที่จำนวน 18 พื้นที่/จังหวัด โดยใช้มาตรการพื้นที่ควบคุม (สีส้ม)

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า 2.เพิ่มมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว สำหรับบริโภคสุราในร้านอาหาร โดยร้านอาหารปิดตามเวลาที่กำหนด และจำกัดเวลาบริโภคสุรา ไม่เกิน 21.00 น. ,จำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคสุราได้ ต้องผ่าน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น 3.ขยายเวลา Work From Home ออกไปถึงวันที่ 31 ม.ค. 65 ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อบริการประชาชน และการดำเนินงานขององค์กร 4.สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เต็มรูปแบบ ยังคงงดการเปิดให้บริการ แต่สามารถขอเปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ตรวจประเมิน และพิจารณาอนุญาตก่อนการเปิดกิจการ และจัดระบบกำกับติดตามอย่างเคร่งครัด

5.ยกระดับมาตรการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยระงับการลงทะเบียนประเภท Test and Go   ออกไปก่อน โดยจะมีการประเมินและพิจารณาอีกครั้ง สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในรูปแบบ Test and Go ที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ตามมาตรการที่กำหนด และตามวันเวลาที่ขออนุมัติไว้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดพื้นที่ Sandbox ที่อนุญาตให้ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพิ่มเติมจาก จ.ภูเก็ต ได้แก่ จ.สุราษฏธานี (เฉพาะ เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน) จ.กระบี่ และ จ.พังงา ทั้งจังหวัด

“บิ๊กตู่”  เร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด-วางแผนฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3-4  และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี  ขณะที่ ศบค. ปรับระดับพื้นที่ควบคุม 69 จ. นำร่อง  8 จ. ท่องเที่ยว สถานบันเทิง เปิดในรูปแบบร้านอาหารได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ก่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565  ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมฯผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ 9 ม.ค. 65 พื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด ขยายระยะเวลา WFH ออกไปถึง 31 ม.ค. 65  สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เปิดในรูปแบบร้านอาหาร โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด /กทม. ก่อนวันที่ 15 ม.ค.65 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณ ศบค. ที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลัง ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2564 ได้  จนได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขอันดับ 5 ของโลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติลง ยังพบการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19  ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้หลายประเทศดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น หลายประเทศกลับไปใช้มาตรการ Lock Down อีกครั้ง โดยที่ไทยยังพบการระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจากนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

“ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 และการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วขึ้น โดยข้อมูลจาก WHO ระบุว่าสายพันธุ์โอมิครอนติดเชื้อได้เร็ว แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า จึงต้องหาแนวทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตื่นตระหนก และให้เกิดการให้ความร่วมมือ โดยขอให้ ศปก.สธ. และ ศปก.ศบค. เตรียมความพร้อมทางด้านสาธารณสุขของไทย

ทั้งเรื่องวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ การครองเตียงต่าง ๆ ให้พร้อม ชุดตรวจ ATK ยารักษาที่จำเป็น ที่ต้องมีเพียงพอ รวมทั้งเตรียมโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย HI / CI ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาก เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เร่งรัดแผนการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปี 2564 สามารถฉีดวัคซีนไปได้ประมาณ 105 ล้านโดส ดังนั้น ต้องวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม 3 และเข็ม 4 และการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 12 ปีด้วยวัคซีนที่ได้รับการรับรองแล้ว เพื่อจะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไรก็ตาม” 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศว่า ถ้าดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ยังคงมีจำนวนไม่มากนัก เพราะประเทศต่าง ๆ ยังคงไม่ให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชน สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยว ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล Universal Prevention และ Covid Free Setting รวมถึงการปฏิบัติงานที่บ้าน Work From Home ซึ่งควรต้องมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบติดตามตัว แอปพลิเคชันหมอพร้อม หมอชนะ ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป  พร้อมกับนายกรัฐมนตรีย้ำว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป โดยต้องระมัดระวังอย่างที่สุดเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น และนายกรัฐมนตรียังห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ ย้ำให้ความสำคัญในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งชุมชน ชุมชนแออัด ที่ส่วนท้องถิ่นต้องช่วยกันดูแล โดยขอให้หน่วยงานในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ร่วมมือการแก้ปัญหาอย่างเข้มแข็งต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมติที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญ ได้เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ดังนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 0 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 0 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 0 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง 0 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด ,ขยายระยะเวลา WFH (Work From Home) ออกไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2565

'รัฐบาล' กำชับ ผู้ประกอบการร่วมมือ ห้ามส่งออกหมู แนะผู้เลี้ยงหมู500 ตัว-ผู้ครอบครองหมูชำแหละ ตั้งแต่5,000 ก.ก.ขึ้นไป แจ้งพณ.จังหวัด บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา  

ล่าสุดมีกฎหมายบังคับใช้ โดยห้ามส่งออกหมู และกำหนดให้ผู้เลี้ยงต้องแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ จัดทำบัญชีสินค้าและเนื้อหมู ต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด รัฐบาลจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

“นายกฯให้ความสำคัญกับทุกปัญหาที่กระทบปากท้องประชาชน จึงเร่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินมาตรการให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมมีแนวทางแก้ไขที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ป้องกันกรณีเกิดปัญซ้ำ”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับที่1 เรื่องห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี โดยมีผลบังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในที่นี้คือตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2565 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 เดือน 

ฉบับที่2 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร  มีสาระสำคัญเป็นการบังคับให้ ให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออกซึ่งครอบครองสุกรมีชีวิตที่ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่นต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย การส่งออก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย สถานที่เก็บ และสถานที่เลี้ยง  รวมถึงให้ผู้ครอบครองสุกรชำแหละผ่าซีก เนื้อสุกรชำแหละแยกชิ้นส่วนซึ่งประกอบด้วยเนื้อไหล่ เนื้อสะโพก เนื้อสันคอ เนื้อสันนอก เนื้อสันใน และเนื้อหมูสามชั้น ที่มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่น แจ้งปริมาณการซื้อ การจำหน่าย การใช้ การส่งออก การรับฝาก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย และสถานที่เก็บ 

“บิ๊กตู่”กำชับ ศบค.เร่งสร้างความเข้าใจ ​สั่งทุกหน่วยงานที่เตรียมพร้อม​ด้านสาธารณสุข​ของไทย​ รวมทั้งยา​และเวชภัณฑ์ รับมือโอมิครอนแพร่ “อ้าง”WHO ​ติดเชื้อได้เร็วแต่ความรุนแรงไม่สูง

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า  ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านและขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ร่วมมือกัน ดำเนินการต่างๆเป็นอย่างดี ให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดและการแก้ปัญหา เป็นประเทศที่แข็งแกร่รงในระบบสาธารณสุขระดับโลก

ร้องชุดตรวจ ATK ราคาพุ่ง 'บิ๊กตู่' สั่งพาณิชย์คุมด่วน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากหลายช่องทางเกี่ยวกับราคาชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเอง ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่ขายในร้านขายยา และร้านค้าออนไลน์ เนื่องจากมีความต้องการใช้เพื่อการตรวจคัดกรองมากขึ้น ทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใช้สำหรับคัดกรองก่อนเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม และหลังเทศกาลปีใหม่ที่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับวางแนวทางป้องกันไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่อยู่ในช่วงยากลำบาก  

ทั้งนี้นายกฯ ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเช่นเดียวกับช่วงแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ ATK แล้วมีปัญหาชุดตรวจราคาสูง โดยตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ซื้อขายชุดตรวจ ATK  นำไปสู่การวางมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการขายที่เป็นธรรม เปิดให้มีการแข่งขันสูงขึ้น ให้จำหน่ายผ่านช่องทางที่หลากหลายขึ้น ซึ่งได้ช่วยแก้ไขปัญหาและราคาชุดตรวจ ATK ต่ำลงมากจนประชาชนสามารถเข้าถึงในวงกว้างและกลายเป็นกลไกการตรวจคัดกรองและนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็ว ลดการเสียชีวิต จำกัดวงจรการระบาด  

“นายกฯ” เร่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางแข่งขัน E-sports ดีเดย์ “เจ็ตสกีเวิลด์คัพ”  12-16 ม.ค.นี้ ตั้งเป้าตีตลาดโลกสร้างฐานแฟนกีฬา 350 ล้านคน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มุ่งส่งเสริมการใช้ Soft power โดยนำกีฬามาต่อยอดกับการท่องเที่ยว เน้นกีฬาระดับโลกให้กับประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ขับเคลื่อน การพัฒนางานกีฬา ด้านทรัพย์สินทางปัญญา นำร่องกีฬาเจ็ตสกี ยกระดับเป็นการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์เจ็ตสกีอันดับที่ 1 ของโลก WPG#1 World Series เป็นลิขสิทธิ์แบรนด์ไทย โดยกำหนดจัดเจ็ตสกีเวิลด์คัพ 2021-2022 ระหว่างวันที่ 12-16 ม.ค.นี้ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งรายการแกรนด์สแลมนี้เป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีนักกีฬาทั่วโลก เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดตั้งแต่ปี 2018 นอกจากนี้ยังมีส่วนของความสำคัญของสนามชิงชนะเลิศ การแข่งขันเก็บคะแนนชิงแชมป์โลกหรือ WGP#1 เวิลด์ซีรี่ส์ 2021-2022 ด้วย ที่แข่งเก็บคะแนนบน 3 ทวีปสำคัญของโลก ได้แก่ สนาม 1 ทวีปยุโรป ที่โปแลนด์ สนามที่ 2 ทวีปอเมริกา ที่อริโซน่า สหรัฐฯ และสนาม 3 ทวีปเอเชีย ที่ประเทศไทย โดยกลุ่มนักกีฬามือหนึ่งของโลกทั้งหมดต้องเข้ามาชิงแชมป์ที่ประเทศไทย จะมีการออกอากาศเผยแพร่ไปกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

นายกฯ สั่ง หน่วยงานวางระบบการทำงาน ช่วยปชช.รับประโยชน์เต็มที่ จากความตกลง RCEP 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ความตกลง RCEP เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกครอบคลุมกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรมากถึง 2.3 พันล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของโลก จึงมีตลาดในการนำเข้าเเละส่งออกสินค้าและบริการที่กว้างขวาง RCEP ยังเป็นความตกลงทางการค้าที่เปิดกว้างที่สุด และครอบคลุมหลายด้านที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในแต่ละประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าสูงที่สุดถึงร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก RCEP ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนขยายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติในไทย เช่น ในโครงการ EEC 
 
นายธนกร กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประชาชน เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทย จะได้รับจากความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน อาทิ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า (ภาษีเหลือ 0%) สำหรับสินค้าส่งออกไทย จำนวนกว่า 29,891 รายการ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้าส่งออกของไทย , ผู้ประกอบการได้รับการอำนวยความสะดวกหรือลดความยุ่งยากทางการค้า โดยเฉพาะด้านพิธีศุลกากร และเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับการยื่นเอกสารขอนำเข้าสินค้าเป็นการล่วงหน้า , ปรับ ประสานมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศผู้นำเข้า ให้มีความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน , ลดหรือ ยกเลิกข้อกำหนดด้านการลงทุน ที่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติภายในประเทศสมาชิก อาทิ สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เงื่อนไขสัญชาติของผู้ให้บริการ และกฎระเบียบในการจัดตั้งกิจการหรือการลงทุน , เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการสำหรับผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top