Friday, 25 April 2025
NEWS

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ๋ง! ผนึกองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดตัวคู่มือ “ทำฟาร์มจิ้งหรีด” โชว์ชาวโลก หนุนประเทศไทยเป็นฮับ แมลงกินได้

ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” ได้รับการยอมรับว่า เป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เรียกได้ว่า เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ที่แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า เมื่อ 25 ปีที่ก่อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแห่งแรกที่เริ่ม การวิจัย และริเริ่มพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศจนในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่ทันสมัยและมีการส่งออกจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ต่อปี

จากวัฒนธรรมของคนทางภาคอิสานที่คุ้นเคยกับการกินแมลงเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลง จิ้งหรีด หรือ แมงสะดิ้ง เพื่อใช้บริโภค และเพื่อรายได้ครัวเรือนขึ้น

หลังจากนั้นทาง FAO ซึ่งเป็นองค์การดูแลเรื่องนโยบายอาหารของโลก เห็นความสำคัญของการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนและต้องการนำองค์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแมลงกินได้ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ จึงได้ให้ตนเองเป็นผู้นำทีมถ่ายทอดความรู้การทำฟาร์มแมลงกินได้แก่ประเทศต่าง ๆ เช่น สปป.ลาว ประเทศเคนย่า อูกานดา ใน ทวีปอัฟริกา เป็นต้น

จากนั้น ในปีพ.ศ.2556 ทาง FAO ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “ Six-legged livestock: Edible insect farming, collection and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจการทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าทางธุรกิจของแมลงกินได้ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

จึงเป็นสาเหตุที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงการที่ต้องมีคู่มือและข้อแนะนำที่ถูกต้องที่ให้การผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้

ล่าสุด ได้เปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “ Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ของ FAO ในการประชุม online Webinar ของ FAO ณ สำนักใหญ่ กรุงโรม

ศ.ดร.ยุพา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีด

อย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น และ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานและมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้สนใจทั่วโลกมากกว่า 120 คน จากทวีปต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังและมีการซักถามข้อมูลของคู่มือนี้ และอยากให้มีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งทาง FAO ได้เปิดให้ ผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf

ศ.ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปัจจุบัน มีการนำจิ้งหรีด มาพัฒนาเป็นอาหารแปรรูป ชนิดต่างๆ เช่น ในรูปแบบผง (เหมาะกับชาวต่างชาติ) หรือเป็นซอง ที่กินง่าย ปลอดภัย ซึ่งมีการพัฒนาร่วมกับกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์

เพื่อพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบ smart farm คณะวิทยาการจัดการ เรื่องการตลาด ตลอดจนสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติที่ดีของการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้เกษตรกร เพื่อช่วย ให้เกษตรกร และผู้ประกอบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันและส่งออกต่างประเทศได้"

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังพัฒนาการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อีกทั้ง พยายามที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางแมลงที่รับประทานเป็นอาหารได้ หรือ “Edible Insect HUB” และมีแผนการที่จะจัดงาน “จิ้งหรีดโลก” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริงและในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ของประเทศไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค ต่อไปอีกด้วย

รัฐบาลเปิดทางการลงทุนในต่างแดนของภาคเอกเชน เป้าหมายเพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และชะลอค่าเงินบาทที่กำลังแข็งตัวอ่อนลง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ว่า ต้องการให้มีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบของเราออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนลง ส่วนนี้ภาคเอกชนต้องช่วยกัน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลและข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังหามาตรการอยู่โดยเฉพาะการนำเครื่องจักรนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังติดตามอยู่

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 64 เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการนี้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมครั้งนี้ มีข้อแม้ว่าต้องมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปีพ.ศ.2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปีพ.ศ.2564

‘สมศักดิ์ปูอบ’ แจง หลังพบผู้เกี่ยวข้องในร้าน ติดเชื้อโควิด-19 | News มีนิสส One minute

ร้านดัง ‘สมศักดิ์ปูอบ’ บีทีเอสกรุงธนบุรี เร่งแจง หลังพบผู้เกี่ยวข้องในร้าน ติดเชื้อโควิด-19

.

จีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 ใน 'ปลาแช่แข็ง' หลังนำเข้ามาจากประเทศเมียนมา | News มีนิสส One minute

จีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 ใน 'ปลาแช่แข็ง' หลังนำเข้ามาจากประเทศเมียนมา วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สั่งการทูตพาณิชย์ เร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ เน้นย้ำสินค้าอาหารทะเลไทยได้มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 ป้องกันผลกระทบการส่งออก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น

และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยกรมฯได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า

ก่อนหน้านี้ ในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย นอกจากนี้ กรมยังได้ผลิตวีดีโอเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการผลิตสินค้าทะเลและปศุสัตว์ จำนวน 10 ภาษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดนายจุรินทร์ ยังได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนของปีพ.ศ.2563 (ม.ค.- ต.ค.) ไทยมีการส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป) มีมูลค่า 115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 63,391.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.19% ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ส่งออกมูลค่า 27,347.09 ล้านบาท ลดลง 11.37%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ยันมีรูรั่ว ไม่ปฏิบัติตามมาตราการ ทุกคนมีส่วนร่วม ขู่ ‘ล็อคดาวน์’ วอนคนไทยช่วยกันหวังสถานการณ์คลี่คลายใน 7 วัน ย้ำหากพบแรงงานผิดกฎหมายสั่งปิดทันที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เผยถึงการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดติดตามสถานการณ์ อีกทั้งยังยืนยันทางรัฐยังคงปฏิตามมาตรการอย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

“เดิมผมคิดว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศค่อนข้างจะปลอดภัย ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดควบคุมได้ แสดงว่ามีรูรั่วตรงนี้ รั่วจากใคร จากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ‘ฉะนั้นเราโทษใครไม่ได้ พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น’ รัฐบาลมีมาตรการ สาธารณสุขก็มีตรวจติดตาม แต่แน่นอนต้องมีการเล็ดลอด ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นสังคมต้องช่วยกัน ถ้ายังทำอย่างนี้กันอยู่มาตรการจะต้องนำไปสู่ล็อกดาวน์แน่นอนต่อไปในอนาคตถ้ามีปัญหา แต่เรายังเดินไม่ถึงจุดนั้น”

“เมื่อช่วงเช้าตนได้ฟังรายงานสรุปจากสาธารณสุข ชี้แจงว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่ มีการเตรียมมาตรการไว้ในเรื่องการดูแลรักษา ใครที่สงสัยหรือเข้าไปในพื้นที่ต้องไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจหาเชื้อ จะได้ปลอดภัยและไม่เป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่น วันนี้ในพื้นที่ก็ได้ล็อกดาวน์ไปแล้ว

นายกฯ กล่าวต่อว่า “ตนขอดูสถานการณ์ในวันนี้ (21ธ.ค.) และจะดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น จากนั้นจะตามมาสู่ช่วงปีใหม่ว่าจะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปตรงนั้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงมันต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา มีการเล็ดลอด

"คนเหล่านี้ลักลอบหนีกลับไป แล้วกลับเข้ามาใหม่ คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี เพิ่มเติมไปก็ได้เท่านี้ คนที่จะรู้จริงๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงานคนทำผิดกฎหมายก็ขยันทำกันจริง” ลุงตู่กล่าว

ลุงตู่ยังกล่าวอีกว่า “ได้ให้ตรวจสอบและมีการรายงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง จับกุมได้แต่มันก็มีเล็ดลอด กลางคืนมีการลาดตะเวน แต่ระยะทางชายแดน 2,500 กว่ากิโลเมตรเจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว ช่องทางที่เคยออกมาก็ไปเปิดช่องทางใหม่ เพราะมันไม่มีรั้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา คนที่จะรู้คือชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาบอกเจ้าหน้าที่บ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ถ้าไปบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีตรงไหนลักลอบ เขาก็จะไปทันที ทำไมไม่ช่วยกันแบบนี้ มาโยนกันไปกันมา ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบด้วยกันสิ มันจะได้ทำสำเร็จทุกเรื่อง”

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปในทุกจังหวัด ให้ทำการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้เมื่อถามถึง ปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ยกเลิกกิจกรรมเคาท์ดาวน์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยัง ขอดูก่อน จะวันไหนก็วันนั้น

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานอนไม่หลับเลยใช่หรือไม่ เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นลุงตู่จึงได้กล่าวว่า “มันจะหลับไหมล่ะ ดูตาตนสิ คิดไปด้วย โทรศัพท์อ่านไลน์ อ่านจนตาจะแตกอยู่แล้ว ก็สั่งการมาตลอดทุกวัน ไม่ใช่เพิ่งสั่งวันนี้ สั่งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุด เพราะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว”

‘จับกัง1’ - สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกประกาศ ขอความร่วมมือห้ามแรงงานต่างชาติเข้า-ออก พื้นที่เสี่ยงโควิดพร้อมมอบหมายผู้ว่าฯ สั่งการสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

Check List สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตราการ เพื่อให้แรงงานต่างชาติทำงานโดยปลอดเชื้อ

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน ประชุมเร่งด่วนกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการได้แก่

- ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณี ทั้งเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามมาตรา 51 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และมาตรา 18 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

- จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค ได้แก่ วัดอุณหภูมิและสังเกตลักษณะอาการบ่งชี้ หากพบอาการผิดปกติต้องหยุดงานและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการตามาตรการควบคุมโรคทันที จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน ณ บริเวณทางเข้า - ออก และห้องสุขา ควบคุมให้แรงงานต่างด้าวสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงานรวมทั้งเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน 1 – 2 เมตร ตลอดจนทำความสะอาดสิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้งานเป็นประจำ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่แรงงานต่างด้าวให้ทราบวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเอง รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

นอกจากนี้ยังได้สั่งให้มีการดำเนินการตามมาตราการ 7 ข้อ ในส่วนของสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 ดังนี้

1.) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด

2.) ตรวจสอบคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนที่มารับบริการ หากพบมีอุณหภูมิร่างกายผิดปกติหรือพบลักษณะอาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้รับบริการนั้น ๆ รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.) จัดหาแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน อาทิ บริเวณประตูเข้า-ออก โต๊ะทำงาน หรือห้องสุขา

4.) เพิ่มความตระหนักให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และพนักงานทำความสะอาด โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเอง การสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงาน การทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อย อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงดูแลให้ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ

5.) ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเองให้ประชาชนตลอดจนแรงงานต่างด้าวได้รับทราบ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางดังกล่าว เป็น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเมียนมา ภาษากัมพูชา

6.) หากเจ้าหน้าที่พบว่าตนเองมีอาการป่วย ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

7.) ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค

ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางอีกครั้ง โดยชนะการประมูลร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในแปลงสำรวจออฟชอร์ 3

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท อีเอ็นไอ อาบูดาบี (Eni Abu Dhabi)

บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ได้ชนะประมูลในแปลงออฟชอร์ 3 (Block Offshore 3) จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือ แอดนอค (Abu Dhabi National Oil Company หรือ ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมีอายุสัมปทานตั้งแต่ระยะการสำรวจ พัฒนา และผลิต รวม 35 ปี

สำหรับแปลงออฟชอร์ 3 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งยูเออี และอยู่ติดกับแปลงออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ได้ชนะการประมูลร่วมกันเมื่อปี 2562 โดยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้ง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของบริษัทด้วย อีกทั้ง 3 แปลงยังตั้งอยู่ในบริเวณที่โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ยังมีตลาดที่พร้อมรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การชนะการประมูลร่วมกันอีกครั้งในแปลงออฟชอร์ 3 จะเป็นการกระชับความร่วมมือกันระหว่าง ปตท.สผ. อีเอ็นไอ และแอดนอค ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มพันธมิตรจะร่วมกันนำความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาแปลงสำรวจทั้ง 3 ให้ประสบความสำเร็จ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจปิโตรเลียมในยูเออี ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างการเติบโตและขยายฐานการลงทุนของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลางตามกลยุทธ์ Execute & Expand ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองและกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัทได้ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

ด้าน ดร.สุลต่าน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของยูเออี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอดนอค กรุ๊ป กล่าวว่า การให้สัมปทานกับอีเอ็นไอและ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่ดีที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

รวมถึง สะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของยูเออี ซึ่งยูเออียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

นายเคลาดิโอ เดสคัลซี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเอ็นไอ กล่าวว่า การชนะการประมูลครั้งนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันอีกครั้งของกลุ่มผู้ร่วมทุนที่ชนะการประมูลในแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนจะนำความเชี่ยวชาญมาใช้ในการสำรวจเพื่อเพิ่มทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้ง ผสานประโยชน์ในการสำรวจปิโตรเลียมร่วมกันในแปลงสำรวจทั้งหมดที่ได้รับมา

ทั้งนี้ แปลงออฟชอร์ 3 มีขนาดพื้นที่ 11,660 ตารางกิโลเมตร เป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจากที่มีการเปิดประมูลทั้งหมดในยูเออี ซึ่งได้มีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D seismic survey) ในพื้นที่บางส่วนแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยพีทีทีอีพี มีนา และอีเอ็นไอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30 และ 70 ตามลำดับ

สำหรับสัมปทานแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา ประเมินศักยภาพปิโตรเลียม และเตรียมการเจาะหลุมสำรวจในปี 2564

ทยอยกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด 'ทองแดง เบ็ญจะปัก' ส.ส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล แนะใช้ ‘สิงคโปร์ โมเดล’ แก้ปัญหา พร้อมจี้รัฐหามาตรการเยียวยาผลกระทบล็อคดาวน์

นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเสนอแนวการแก้ไขและการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร

นายทองแดง กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแล้วหลายร้อยคนและมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเร่ง จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างสูงเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบที่ผ่านมาระลอกแรก หากเศรษฐกิจฟุบอีกการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาคงไม่สามารถมทำได้ง่าย เว้นแต่ครั้งนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นการจัดการปัญหาอย่างเข้าใจ

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหอพักค่อนข้างคับแคบและแออัด การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและขยายได้เป็นวงกว้างโจทย์ การยับยั้งการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงต้องเป็นการบริหารจัดการคนหมู่มากในพื้นที่ปิด โดยเราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาเดียวกันและประสบความสำเร็จในการควบคุมได้ค่อนข้างดี

"ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค นอกจากนี้ต้องมีการมาตรการในการตรวจโรคที่ดี เพราะขณะนี้ระหว่างรอตรวจพบว่ายังมีการกระจุกตัวจนอาจกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อต่อไปอีก มาตรการทางสาธารสุขในการรอตรวจจึงต้องเคร่งครัด มีระยะห่าง

และไม่ควรปล่อยให้พี่น้องแรงงานต่างชาติหรือประชาชนในพื้นที่ ออกไปตรวจรักษากันเองแบบเฮโลกันไปเพราะความตระหนก แต่รัฐควรมีระบบที่ทำให้เกิดการจำกัดวงเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่ใช่กลายเป็นว่าไปรับเชื้อหรือไปแพร่เชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค"

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน คือสร้างการรับรู้ของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่สร้างแพะรับบาป เพราะไม่มีใครอยากที่จะป่วยเป็นโรค ต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีระบบการดูแลประชาชน

หากมีการล็อคดาวน์เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหน้ากาก เจลล้างมือจนกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเวลานี้คือ ต้องทำความเข้าใจตรงกันด้วยสติว่าเราจะร่วมกันฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง โดยทางจังหวัดต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ช่องทางเหล่านี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ

ควรมีระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประเมินคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ลดการเสี่ยงเข้ามากระจุกตัวกันภายนอกที่พักอาศัย นอกจากนี้ ต้องรู้ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ เช่นวิธีการสำรวจอาการตนเองหรือวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง

รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโดดเดี่ยวหรือต้องออกไปขอรับบริจาคเองจากประชาชนดังที่เริ่มมีข่าวลือกันแล้วในพื้นที่

พร้อมเสนอว่า การจัดการแรงงานต่างชาติ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าพวกเขาคือกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ามาอยู่ในระบบมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากแรงงานในประเทศ

โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีการพูดคุยและหารือกันอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว เพื่อสามารถจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปแม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้วก็ตาม

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 )

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,289 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 12 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,053 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,176 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 382 รายเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine จาก

สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1 ราย ซูดาน 1 ราย

ติดเชื้อภายในประเทศจาก อยุทธยา 1ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก 1 ราย ผู้ติดเชื้อในประเทศ อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย และติดเชื้อในแรงงานต่างชาติ 360 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 363 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.42 แสน เสียชีวิต 19,880 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 93,309 ราย รักษาหายแล้ว 77,309 ราย เสียชีวิต 437 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.16 แสน ราย รักษาหายแล้ว 95,387 ราย เสียชีวิต 2,443 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.6 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.29 แสน ราย เสียชีวิต 8,947ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,422 ราย รักษาหายแล้ว 58,279 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,413 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

วันนี้ 20 ธันวาคม พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

คอลัมน์ “เบิ่งข้ามโขง”

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2563 พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

" นครหลวงเวียงจันทน์ - วังเวียง "

โดย นายบุนยัง วอละจิต ประธานประเทศ เข้าร่วมพิธี เป็นประธานในการเปิดมอเตอร์เวย์สายแรก อย่างเป็นทางการ

มูลค่าการก่อสร้าง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในแบบ BOT

โดยบริษัทก่อสร้าง - ลงทุนมณฑลยูนนาน ถือหุ้น 95% รัฐบาลลาว 5% ในนามบริษัทร่วมทุนพัฒนาลาว - จีน อายุสัมปทาน 50 ปี


หนุ่มโคราชคลุกคลี กับเมืองลาวทั้งด้านธุรกิจเอกชนและภาครัฐมานานหลายปี ยินดีแนะนําภาคเอกชนไทย บุกตลาดอินโดจีน สรรหาเรื่องเล่า วีถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ของมณฑลเจียงซู ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดปลาและร้านอาหาร โดยผลปรากฎพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ จากร้านอาหารท้องถิ่นใน ‘อู๋ซี’

หลังนำไปตรวจสอบ ก็พบว่ามีการปนเปื้อนโควิด-19 จริง และมีผลเป็นบวก ซึ่งจากรายงานได้ระบุว่า ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มปลาแช่แข็งที่นำเข้าจาก ‘ประเทศเมียนมา’ และหลังจากทราบผลดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสั่งเก็บผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน รวมถึงปูพรมฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมด

จากการสอบสวนพบว่า มีผู้ที่สัมผัสกับบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนทั้งหมด 17 ราย โดยผลการทดสอบโควิด-19 ยังเป็นลบ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการแยกกักตัว และเฝ้าสังเกตอาการ

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนพบเชื้อโควิด-19 ที่ติดมากับอาหารแช่แข็ง ทางการจีนจึงได้มีมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยทางการจีนได้ยกระดับความพยายามที่จะสะกัดกั้นเชื้อไวรัสดังกล่าว ผ่านอาหารนำเข้า ซึ่งให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไม้ต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการตรวจสอบในทุกช่องทางที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การพบเชื้อไวรัสในอาหารแช่แข็งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นการติดเชื้อในตัวอาหาร หรือเนื้อสัตว์เอง แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการลำเลียง ขนส่ง การถือ สัมผัสอาหารเหล่านั้น จากพนักงาน หรือคนที่ติดเชื้อไวรัส


ที่มา: xinhuanet

เปิดหน้าชกหนัก หลังรัฐหละหลวมจนโควิด-19 คัมแบ็ค โดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ออกมาซัดรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก หลังเคยเขียนบทความเตือนรัฐไปแล้วกว่า 8 เดือน เรื่องแรงงานต่างชาติ แต่รัฐยังละเลยจนโควิด-19 กลับมาลุกลาม

หลังจากโควิด-19 กลับมาอีกรอบ ทำให้ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องที่ตนนั้นพยายามพูดมาตลอด 8 เดือน ในเรื่องของแรงงานต่างชาติ โดยนายพิจารณ์ ได้ระบุว่า

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล

ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดัง ๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังได้เขียนบทความเพื่อเตือนรัฐบาล ด้วยการยกกรณีของสิงค์โปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งบทความนี้ได้ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของสิงค์โปร์ ที่กำลังควบคุมได้แต่ กลับต้องมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด หากมีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวในกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ควรมองข้าม ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองแรงงานต่างชาติในไทยก็พบว่า การรับมือของบ้านเรานั้นไม่ได้ต่างจากสิงค์โปร์

พิจารณ์ยังได้ระบุว่า “จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค”

จากการระบาดที่เกิดขึ้นนายพิจารณ์ จึงมีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวอีก 6 ข้อ ได้แก่

1.) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย

2.) การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ

3.) การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

4.) การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง

5.) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก

6.) การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคนทุกกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นในอนาคต

พรรคประชาธิปัตย์ ขอบพระคุณ ทุกคะแนนเสียงของประชาชน ขอแสดงความยินดีและพร้อมทำงานร่วมกันกับผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัดเต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า ขอขอบพระคุณทุกคะแนนเสียงที่ไว้วางใจผู้สมัครที่ลงในนามพรรค

ต่อจากนี้ไปผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งก็จะได้นำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการทำงานร่วมกับพรรคและบุคลากรของพรรคอย่างเต็มที่ต่อไป และขอแสดงความยินดีต่อผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัด

พรรคประชาธิปัตย์ มีอุดมการณ์เรื่องการกระจายอำนาจอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งพรรค คือพรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความใกล้ชิดขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

หลักการสำคัญนี้คือจุดตั้งต้นที่สำคัญที่พรรคผลักดันและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่เป็นคนในพื้นที่ที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ดี เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกเรื่อง

การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ อาจมีคำถามว่าเหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกจังหวัด ก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่การส่งผู้สมัครลงในนามพรรคแต่เพียงอย่างเดียว

แต่หมายความรวมถึงการสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้ลงในนามพรรคก็มีอยู่หลายจังหวัด และเป็นการใช้สิทธิ์ลงสมัครในนามส่วนตัว รวมถึงมีสมาชิกหลายคนที่ไม่ได้ลงสมัครแต่อาสาทำงานส่งเสริมสนับสนุนการทำงานท้องถิ่นก็มี

ส่วนผู้สมัครที่พรรคส่งนั้น หากมีส่วนใดที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นทุกจังหวัดก็ทำเต็มที่ เช่นขณะนี้พื้นที่ใดที่ประชาชนเกิดปัญหา พรรคฯ ก็ไม่ติดใจว่าเป็นคนของใคร แต่พรรคก็พร้อมจะทำงานร่วมกับท้องถิ่นนั้นโดยมุ่งถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนเรื่องกฎหมายมีส่วนไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีการเสนอการแก้ไขกฎหมายอยู่หลายเรื่อง

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งนี้หลังจากห่างหายมาหลายปีก็อยากจะให้ผู้ชนะการเลือกตั้งใช้โอกาสทำงานให้เต็มที่ โดยยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ก็จะเป็นผลดีต่อทุกคนทุกฝ่ายรวมถึงประเทศชาติด้วย"

อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจอาหารทะเลไม่ขาดแคลนและไม่กระทบด้านราคามากนัก เล็งดึงแหล่งผลิตอาหารทะเล ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ทดแทน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครหลายราย ซึ่งตลาดปลามหาชัยถือเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อการซื้อขายอาหารทะเลในบางพื้นที่แน่นอนเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ขึ้น

ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้มีการเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารทะเลอื่น ๆ ในทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ไปยังผู้ที่ต้องการทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหารขาดแคลน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า "ในด้านผลกระทบด้านราคาอาหารทะเลนั้น เบื้องต้นกรมฯ ประเมินว่า ราคาไม่น่าทำให้สูงขึ้นนัก เพราะเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ทำให้คนเกิดความกังวลบางส่วนอาจลดการบริโภคอาหารทะเลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลกลุ่มชาวประมงนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเชื่อมโยงหาตลาดให้จำหน่ายได้อย่างเป็นธรรม"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top