Thursday, 24 April 2025
NEWS FEED

สมุทรปราการ -“เอกสิทธิ์” เปิดตัว “พรรคปวงชนไทย” ประกาศนโยบายสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ชูเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (30 มี.ค. 68) นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย พร้อมด้วย นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานที่ปรึกษาพรรค นายวรฐ สุนทรนนท์ เลขาธิการพรรค และทีมกรรมการบริหารพรรค นายสมบูรณ์ บุญยรัตนประภา นายวิรัตน์ ลีรุ่งเรือง นายบุญส่ง จันทสุก นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ และ นางสาวธัญลักษณ์ ศรีทา เหรัญญิก จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 มีสมาชิกพรรคปวงชนไทย จากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ณ อาคารสุขอนันต์ ซอยศรีเจริญวิลล่า ต.เทพารักษ์ อ.เมือง สมุทรปราการ 

โดยมีวาระการประชุมเพื่อรับรองรายงานการดำเนินกิจกรรมของพรรคในรอบปี 2567 มีการแก้ไขข้อบังคับ การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจากชื่อพรรค พลังปวงชนไทย เป็น “พรรคปวงชนไทย” มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม 6 คน มีนายเอกสิทธิ์  คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย พร้อมด้วยรองหัวหน้าพรรค นายวรฐ  สุนทรนนท์ นายบุญส่ง จันทะสุก  นายจิตรกร  ลากุล นายสุชาติ  ดีจันทร์ พ.ต.อ.ชัชชัย เศรษฐีพันล้าน  นายภูชิสส์ ศรีเจริญ เลขาธิการพรรค นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ นายทะเบียนสมาชิกพรรค นางสาวธัญลักษณ์ ศรีทา เหรัญญิกพรรค นายวิทยา ติรณะประกิจ รองหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรค นายไมตรี รุ่งอภิญญา รองโฆษกพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีนายสมบูรณ์ บุญยรัตนประภา นายวิรัตน์  ลีรุ่งเรือง  นายธนภัทร ศักดิ์เรืองงาม นายประจักษ์ จันทร์เดช นายสุโรจน์ กิจสมศักดิ์  นายพีรพัฒน์ ถานิตย์ และนายสุระ วัฒนบารมี กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

โดยทางด้าน นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย  กล่าวว่า พรรคปวงชนไทย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ด้วยการสร้างคน เพิ่มทักษะความรู้ สร้างงานและสร้างอาชีพให้ประชาชนด้วยการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้นำไปสู่ความยั่งยืน ให้สามารถยืนด้วยตัวเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้  ซึ่งพรรคปวงชนไทย มีนโยบายหลัก 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน"ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย"
2.การท่องเที่ยวและมรดกทางวัฒนธรรม
 3.เกษตรกรรมและการประมงที่ยั่งยืน "เกษตรกรและชาวประมงมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น"  
4.สุขภาพและสาธารณสุข "สุขกาย สุขใจ "คนไทยและประเทศไทยแข็งแรง" 
และ 5.การปฏิรูปการศึกษา เน้นภาคปฏิบัติคู่วิชาการ"อนาคตสดใสด้วยการศึกษาโลกยุคใหม่"

ตนในฐานะอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่อเนื่อง 2 สมัย มองเห็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะความรู้ด้านดิจิทัล มาปรับใช้เพื่อสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีแนวทางการเปิดศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน ประจำสาขาพรรคทั่วประเทศเพื่อเป็นศูนย์ฝึกทักษะความรู้สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 ของพรรคปวงชนไทยครั้งนี้ ได้มีการจัดเวิร์คช็อปอบรมเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด สาธิตการขายสินค้าโดยจัดเป็น “ศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน” เพื่อเปิดอบรมฝึกทักษะการไลฟ์สด การขายสินค้าให้กับตัวแทนสาขาพรรคทุกจังหวัด ได้เรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ นำสินค้าทั้ง พืชผลทางการเกษตร สินค้าของวิสาหกิจชุมชน และสินค้าโอท็อปมาขายทางออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าของชุมชนได้อีกด้วย 

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

กรมศิลปากรเตรียมแผนบูรณะ พระพุทธรูป 696 ปี วัดพระบรมธาตุฯ ชัยนาท หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเขตประเทศเมียนมา

(30 มี.ค. 68) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในเขตประเทศเมียนมา ได้มีการตรวจสอบความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบว่าพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานภายในวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหาย โดยมีรอยร้าวปรากฏเป็นทางยาวบริเวณด้านหลังและแขนขวาขององค์พระ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุยาวนานกว่า 696 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง และถือเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบมีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวที่บริเวณด้านหลัง ตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวกว่า 2 เมตร และที่ใต้ศอกขวา และแขนขวาแตกร้าวยาวกว่า 1 เมตร
โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีความลึกและอาจส่งผลต่อโครงสร้างขององค์พระในระยะยาว

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานศิลปากรที่ 4 สุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อประเมินแนวทางการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับพระภิกษุและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลและป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น

หลังมีข่าวความเสียหายของพระพุทธรูปแพร่ออกไป มีประชาชนและผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อกราบไหว้สักการะและขอพร พร้อมร่วมกันถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางกรมศิลปากรยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิมให้มากที่สุด และจะเฝ้าระวังโบราณสถานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ตามปกติ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่เข้าชมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.“จับมืออดีตปปช.“วิชา มหาคุณ” และอดีตผู้ว่าสตง.”พิศิษฐ์“ ผนึกสมาคมสื่อมวลชนฯ.เดินหน้าโครงการคอรัปชั่นเทคขจัดทุจริตแนวใหม่

(30 มี.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์(FKII Thailand) ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์กล่าวภายหลังบรรยายเรื่อง “คอรัปชั่นเทค Corruption Tech โครงการเอไอ.ใยแมงมุมThe AI Spider Project :แนวทางใหม่ในการตรวจสอบและปราบปรามทุจริต“ว่า ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช.และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาสอดีต ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ดร.พงษ์ หรดาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและดร.โรจนศักดิ์ แสงธศิริวิไล. นายกสมาคมเครือฝ่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนาชาติซึ่งเป็นวิทยากรในโครงการฝึกอบรมสื่อมวลชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้เห็นด้วยและสนับสนุนโครงกา คอรัปชั่นเทคเพื่อขจัดทุจริตแนวใหม่โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และขอให้เร่งพัฒนาระบบเพื่อจะทดสอบระบบ”เอไอ.สไปเดอร์“ในโครงการฝึกอบรมฯลฯ.ครั้งต่อไปที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนีั“ ทั้งนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“…จากผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การ ทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI)ขององค์กรเพื่อความ โปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประจำปี 2567  จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศ 
ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 107 ของโลกและหล่นจากอันดับ4เป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งคะแนน34คะแนนในปี2567 ถือเป็นคะแนนต่ำสุดในรอบ 13ปี(ปี2555-2567) ประการสำคัญคือประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลกมาโดยตลอดซึ่งหากพิจารณาย้อนไป10ปีจะพบว่า การแก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่กระเตื้องขึ้นมีแต่ถดถอยลง ดัชนีรับรู้การทุจริตตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี2567พบว่าคะแนนและอันดับลดลงต่อเนื่อง กล่าวคือในปี2555ได้คะแนน37อันดับ88ของโลก ปี2567 ได้คะแนน 34 อันดับ 107 สะท้อนความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของประเทศถดถอยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 สถาบันได้แก่IMD WEF BF(TI) PRS V-DEM PERC WJC EIC
โดยตัวชี้วัดจากข้อมูล 7 ด้าน

1.เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ
2.มีอำนาจ หรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจ มีความสัมพันธ์กัน
3.การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการเกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม
4.การติดสินบนและการทุจริต
5.ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ
6.ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
7.ระดับการรับรู้ว่าการทุจริต

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ปัญหาคอรัปชั่นอยู่ในขั้นวิกฤตเหมือนมะเร็งร้ายระยะสุดท้ายกำลังทำลายศักยภาพของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงต้องใช้แนวทางใหม่ในการตรวจสอบปราบปรามทุจริตภาครัฐ-ภาคเอกชน
นั่นคือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า“คอรัปชั่นเทค Corruption Tech ภายใต้โครงการThe AI Spider Project(TSP)ทำหน้าที่เสมือนไฟฉายและใยแมงมุมในยุคดิจิตอลแพลตฟอร์มและเอไอ.ซึ่งจะเป็นparadigmใหม่ที่จะเอาชนะสงครามปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งนี้มีตัวอย่างการใช้คอรัปชั่นเทค(Corruption Tech)ปราบปรามการทุจริตในต่างประเทศ

1. ยูเครน: 
ระบบ ProZorro (AI + Blockchain)
>ระบบ e-Procurementที่ใช้ AI + Blockchainเพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล  
>AI วิเคราะห์รูปแบบการเสนอราคาเพื่อตรวจจับการทุจริต เช่น:
 >ผู้เสนอราคาร่วมกัน (Bid Rigging) → AI ตรวจสอบรูปแบบการเสนอราคาที่คล้ายกันเกินไป  
  >โครงการที่มีราคาสูงเกินจริง → เปรียบเทียบกับราคาตลาดและโครงการอื่นๆ   
- **ผลลัพธ์**: ลดการทุจริตในโครงการรัฐได้ **20-30%** และประหยัดงบประมาณได้หลายล้านดอลลาร์  

2. เกาหลีใต้: 
AI ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ
>ระบบ AI ตรวจจับการเบิกจ่ายเงินผิดปกติในโครงการของรัฐ  
ตัวอย่างการทำงาน
>โครงการก่อสร้างโรงเรียน แต่ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายความคืบหน้า→ AI เชื่อมกับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อยืนยัน  
 >การเบิกค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน → วิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายในระบบคลาวด์   
- **ผลลัพธ์**: ลดการทุจริตในระบบราชการได้ **15-25%**  

3. อินเดีย: 
AI ตรวจสอบการทุจริตในโครงการสวัสดิการ
>ระบบ Aadhaar + AI ตรวจสอบการฉ้อโกงในโครงการช่วยเหลือสังคม  
**ตัวอย่าง**
>การจ่ายเงินซ้ำซ้อน → AI วิเคราะห์ข้อมูล biometric (ลายนิ้วมือ/ม่านตา) เพื่อป้องกันการรับเงินซ้ำ  
>ผู้รับผลประโยชน์ปลอม → ใช้ Facial Recognition AI ยืนยันตัวตน   
**ผลลัพธ์** ประหยัดงบประมาณ **1.2 พันล้านดอลลาร์** จากการตัดชื่อผู้รับปลอมออก  

4. สหรัฐอเมริกา:
AI วิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงินของนักการเมือง
>ระบบ AI ติดตามการโอนเงินที่น่าสงสัยของนักการเมืองและข้าราชการ  
**ตัวอย่าง**
>การโอนเงินก้อนใหญ่ไปต่างประเทศ → AI ตรวจสอบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายทุจริต  
>บัญชีลับที่เชื่อมโยงกับผู้รับเหมา → ใช้ **Graph AI** วิเคราะห์เครือข่ายความสัมพันธ์   
**ผลลัพธ์**เปิดเผยคดีทุจริตหลายคดี เช่น การรับสินบนในโครงการก่อสร้าง  

5. บราซิล
AI วิเคราะห์เอกสารปลอมในโครงการรัฐ
>ระบบ AI (OCR + NLP)ตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง  
**ตัวอย่าง**
>ใบเสนอราคาปลอม → AI เปรียบเทียบลายเซ็นและรูปแบบเอกสารกับฐานข้อมูล  
>โครงการหลอกลวง → วิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อมูลในเอกสาร   
**ผลลัพธ์**ยกเลิกโครงการทุจริตมูลค่า **500 ล้านดอลลาร์**  

6. สิงคโปร์
AI ตรวจสอบ Conflict of Interest
>ระบบวิเคราะห์ความขัดแย้งของผลประโยชน์ในภาครัฐและเอกชน  
**ตัวอย่าง**
>นักการเมืองมีหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทาน → AI เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนบริษัทและบัญชีทรัพย์สิน  
>ข้าราชการร่วมกับญาติแสวงประโยชน์ในโครงการรัฐ → ใช้ Network Analysis AI
**ผลลัพธ์**
เพิ่มความน่าเชื่อถือในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ  

7.จีน:
ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ดำเนินนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 โดยมีแนวทางการปราบปรามคอร์รัปชันของจีนทั้งแบบอนาล็อคและดิจิตอล
1. นโยบาย "ฆ่าเสือ ตีแมลงวัน"
   "เสือ" หมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่วน "แมลงวัน" คือข้าราชการระดับล่าง นโยบายนี้มุ่งปราบปรามการทุจริตทุกระดับ โดยเฉพาะในภาคการเงินและพลังงาน   
>ปี 2024 มีการลงโทษเจ้าหน้าที่และประชาชนรวม 589,000 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า 53 คน   
2. ระบบ "ไม่กล้า-ไม่สามารถ-ไม่อยากทุจริต"
 >ไม่กล้า : ใช้มาตรการลงโทษรุนแรง เช่น ประหารชีวิตในคดีทุจริตขนาดใหญ่  
 >ไม่สามารถ : ปรับปรุงระบบตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบงบประมาณแบบ Real-time Audit  
>ไม่อยาก : สร้างจิตสำนึกผ่านการศึกษาและประชาสัมพันธ์   
3. การปฏิรูปหน่วยงานตรวจสอบ
>CCDI (คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยพรรค) มีอำนาจสืบสวนเจ้าหน้าที่ทุกระดับ 
*ในปี 2023 ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาวุโส 58 คน และลงโทษเจ้าหน้าที่ 4.7 ล้านคนในรอบ 10 ปี   
>จีนยังพัฒนาระบบ "บัญชีดำผู้ติดสินบน" เพื่อติดตามและลงโทษผู้เกี่ยวข้อง   
4. การใช้สื่อและวัฒนธรรมประชาสัมพันธ์
>ผลิตสารคดี *Always on the Road* และละคร *In the Name of People* เพื่อเปิดโปงกรณีทุจริตจริงและสร้างจิตสำนึกสาธารณะ   
5. การปราบปรามแบบค่อยเป็นค่อยไป
แบ่งขั้นตอนการจัดการเป็น 4 ระดับ 
ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงลงโทษทางกฎหมาย โดย 90% ของคดีเริ่มจากการเตือนและลงโทษทางวินัย การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยต้องอาศัยการบูรณาการหลายมิติ ทั้งการปฏิรูประบบราชการ การส่งเสริมความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้ 5 แนวทาง
1. การเสริมสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance)
2.การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
3.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
4.การสร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์
5.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Corruption Tech ภายใต้โครงการThe  AI Spider Project(TSP)
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ทุกภาคส่วนจึงต้องผนึกความร่วมมือในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สถาบันเอฟเคไอไอ.กำลังพัฒนาคอรัปชั่นเทคเป็นแนวทางใหม่ในการขจัดทุจริตด้วยแพลตฟอร์มดิจิตอลและเทคโนโลยีAiภายใต้โครงการเอไอ.ใยแมงมุม(The AI Spider Project)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและปราบปรามทุจริตภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับโมเดลThe AI Spider project เฟสที่1 ประกอบด้วย
1. แพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดู (Traffy Fondue )
พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดTraffy Fondue เพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบจะเป็นกลไกหลักของโครงการ
2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI :Artificial intelligence)
วิเคราะห์การจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ระบบ e-GP  
3. สมองของเอไอ.ในการเรียนรู้(Machine Learning)
สร้างระบบเตือนภัยการทุจริต (Early Warning System)โดยใช้ Machine Learning  
4.เปิดกว้างสร้างเครือข่ายผู้แจ้งเบาะแส(Whistleblower)
5.เชื่อมโยง ปปช. ปปท. สตง.  รัฐสภา สำนักงบประมาณ 
กรมบัญชีกลาง เครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น 76  จังหวัด กทม. อปท. หน่วยงานอื่น

การขับเคลื่อนโครงการใยแมงมุม ระยะที่ 1
    1.    เปิดใช้แพลตฟอร์มThe AI Spider Projectเป็นทางการภายในเดือนพฤษภาคม 2568
    2.    ใช้Corruption Techตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานเสี่ยง  
    3.    พัฒนาระบบ Open Data + AIอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ  
    4.    สร้างความร่วมมือกับ Tech Startupในการพัฒนา AI Anti-Corruption Tools  
    5.    ผลักดันนโยบายดิจิตอลภาครัฐให้เชื่อมโยงข้อมูลและใช้Corruption Techในการตรวจสอบและป้องกันปราบปรามการคอรัปชั่นในประเทศไทย
การใช้Corruption Technologyต่อต้านคอร์รัปชันต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการและส่งเสริมวัฒนธรรมความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หากทำได้อย่างจริงจังต่อเนื่องจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดทุจริตและเพิ่มความน่าเชื่อถือ(Trust)ให้ประเทศไทย แนวทางเหล่านี้ต้องดำเนินการควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้าง "ระบบนิเวศต่อต้านคอร์รัปชัน" ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน  ทั้งนี้ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการยกระดับจิตสำนึกสาธารณะและความมุ่งมั่นทางการเมืองในการปฏิรูปอย่างแท้จริง….“ หมายเหตุ:โครงการ”อบรมสื่อมวลชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ..”จัดโดยสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนานาชาติภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช.
—————————-
ประวัติวิทยากรโดยสังเขป
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ตำแหน่งปัจจุบัน
>ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
>ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์
(FKII: Fields for Knowledge Integration and Innovation) 
>ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท
Workdview Climate Foundation 
>ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
>ประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ,
 สภาผู้แทนราษฎร
>ประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ,สภาผู้แทนราษฎร
>รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
>ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ตำแหน่งและผลงานในอดีต
> รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
>ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2562-2566 
> ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-GFHS) ปี2660-2561
>รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2558-2560
>สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ ปี2557-2558
>อดีตส.ส.เพชรบุรีและส.ส.บัญชีรายชื่อ6สมัย ระหว่างปี 2535 - 2557
ผลงานเขียนหนังสือ
>4เล่มด้านต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คอรัปชันและการเมือง

‘ภูมิธรรม’ นำทีม ส่งกำลังพลจากกองทัพไทย ออกปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา

(30 มี.ค.68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทย เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในประเทศเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เขตดอนเมือง ท่ามกลางการร่วมเป็นสักขีพยานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและครอบครัวของกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ

โดยมีพันเอกขจรศักดิ์ พูลลโพธิ์ทอง​ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ​ พร้อมกำลังพลรวม 55 นาย แบ่งออกเป็น 8 ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม, ชุดงานต่างประเทศทหาร, ชุดค้นหาและกูภัยเขตเมือง, ชุดแพทย์ฉุกเฉิน, ชุดประเมินความเสียหาย, ชุดสื่อสาร, ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดส่งกำลังพลและทีมกู้ภัย พร้อมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อเข้าไปสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจะประสานงานกับหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของเมียนมา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

ภายหลังจากนี้ รัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมส่งกำลังสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ขณะที่ทีมช่วยเหลือของไทยจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นของเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ การเดินทางของกำลังพลไทยในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่สะท้อนถึงน้ำใจและความร่วมมือระหว่างประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่

ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ

(31 มี.ค. 68) "มหานิยม" ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์มีปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ จำนวน 10 คน

"ดร.นิยม เวชกามา" หรือ "ดร.มหานิยม" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และนายธนัฏฐา ฐาปนะสุต  ผู้อำนวยการกลุ่มศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด พร้อมด้วยนักวิชาการศาสนาชำนาญการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์ ที่มีปัญหาในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน (คณะที่ 1) ครั้งที่ 2/2568 เพื่อพิจารณาข้อมูล รวบรวมปัญหา และสรุปแนวทางการแก้ไข  ณ ห้องประชุม 2503 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

ดร.นิยม เวชกามา กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีวัดและที่พักสงฆ์ประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐและประสบปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น จากการลงพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบว่าในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ มีวัดทั้งหมดจำนวน 37 วัด ในจำนวนนี้มีถึง 32 วัด ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ตั้งวัดทับซ้อน เพื่อให้การดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงาน ที่เสมือนเป็นชุดเฉาะกิจขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 10 คน เป็นคณะทำงานของตน

"ประกอบด้วย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ประธานคณะทำงาน นายอุทัย มณี, น.ส.นิภาภรณ์ เวชกามา, นายธวัชชัย ผลสะอาด, นายกร ศิรินาม, ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา, นายนันทภพ บรรจบพุดซา, นางวราพร อรรถสุข, นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม และนายพรพล สุวรรณมาศ ให้เป็นคณะทำงาน  โดยให้มีผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในการให้ข้อมูล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่อไป” มหานิยมกล่าวในที่สุด

‘ดร.ธรณ์’ เปิดภาพพฤติกรรม ‘ปลา’ ขณะเกิดแผ่นดินไหว นอนราบนิ่งกับพื้น เพราะรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ก่อนคน

(29 มี.ค. 68) ดร.ธรณ์ ธำรงนาาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

ปลารู้ไหมว่าแผ่นดินไหว ถ้ารู้แล้วทำไง? 

เพื่อนธรณ์ไปดำน้ำที่สิมิลันช่วงนั้นพอดี จึงเจอปรากฏการณ์สุดแปลกที่แทบไม่มีรายงานมาก่อน ในช่วงแผ่นดินไหว ปลาในแนวปะการังต่างพากันลงไปนอนนิ่งกับพื้น!!

ลองดูภาพนะครับ ถ้าเป็นปลาตัวเดียวทำอาจไม่แปลกอะไร แต่ที่เจอคือปลาหลายตัวล้วนทำเช่นนั้น ลงไปนอนแนบกับพื้นทันที ที่เห็นชัดคือฝูงปลา ปรกติตอนกลางวันจะว่ายอยู่ในมวลน้ำ จะไม่ลงไปนอนติดพื้นพร้อมกันทั้งฝูง ต่อให้เป็นกลางคืนปลานอน ปลาก็แยกกันนอน ไม่รวมฝูงนอนแบบนี้

ปลารู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เพราะปลารับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำได้ดีมาก จากนั้นคงเป็นสัญชาตญาณ ทำให้ปลาลงไปนอนแนบพื้น เพราะอาจเกิดกระแสน้ำปั่นป่วนหรือแม้กระทั่งสึนามิตามมา

การนอนแนบพื้นของปลาก็เหมือนเวลาเราหลบภัยต้องหมอบราบกับพื้น หากลอยอยู่กลางน้ำมีความเสี่ยงที่จะโดนกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาไป

เพื่อนธรณ์ที่เป็นอาสาสมัครบินโดรนเฝ้าพะยูนก็รายงานว่า ช่วงแผ่นดินไหว พะยูนก็ตื่นตกใจเผ่นพรวดหนีไปจากที่ตื้น เพื่อว่ายหนีไปที่ลึกตามหลักการหลบสึนามิ

พะยูนไวมากครับ ตอนที่เกิดสึนามิ จึงไม่มีข่าวพะยูนโดนคลื่นพัดมาเกยฝั่ง (เท่าที่ทราบ) ทั้งที่บางแห่งเป็นบริเวณที่พะยูนอาศัย เช่น กระบี่

จะมีก็แค่โลมาที่เขาหลัก ลอยตามคลื่นมาติดค้างในอ่างเก็บน้ำแถวนั้น แต่คลื่นที่เขาหลักแรงมาก จนโลมาอาจไม่คาดคิด

แม้แผ่นดินไหวเมื่อวานไม่ได้เกิดในทะเล ไม่เกิดสึนามิ แต่แรงสั่นสะเทือนก็เกิดในทะเลเช่นกัน เพราะพื้นท้องทะเลก็ไหวเหมือนแผ่นดินครับ

ปลาหรือพะยูนคงบอกไม่ได้ว่า แผ่นดินไหวในทะเลหรือบนบก เมื่อรับรู้ว่ามีแผ่นดินไหว ปลาหลบไว้ก่อน

แล้วปลารู้ล่วงหน้าได้ไหม? พยากรณ์แผ่นดินไหวได้ไหม?

เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จะเกิดคลื่นแรงสั่นสะเทือนหลายแบบ บางคลื่นเบาแต่เร็วกว่า ปลาอาจรับรู้คลื่นพวกนี้ขณะที่มนุษย์ไม่รู้สึก จากนั้นคลื่นแรงสั่นสะเทือนแบบแรง ๆ จะตามมา คราวนี้เรารู้สึกแล้วครับ

ทว่า ต่อให้รู้คลื่นล่วงหน้า ปลาก็ไม่มีทางบอกก่อนได้เป็นชั่วโมง ๆ เพราะปลารู้ก่อนแป๊บเดียวเท่านั้น

ที่บอกกันว่าสัตว์เตือนภัยได้ ก็คือสัตว์รู้ก่อนคน แต่ไม่ใช่นาน ๆ

ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่ส่งภาพมาให้ ถือเป็นหนแรกของไทยที่มีหลักฐานให้ดูกันชัด ๆ ว่าปลาทำยังไงเมื่อแผ่นดินไหว อันที่จริง ในต่างประเทศก็แทบไม่มีภาพชัดเจนแบบนี้ครับ

ชาวเน็ตแห่แชร์คำทำนาย 2 หมอดูชื่อดัง เคยคำนาย ปี 68 จะเกิด ‘แผ่นดินไหว’

(29 มี.ค. 68) นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า…

“Fact
47 สึนามิ = ไอ้แม้ว
54 น้ำท่วมใหญ่ = อิปู
68 แผ่นดินไหว = อุ้งอึ้ง”

แน่นอนว่าทำให้หลายคนตีความไปว่าทุกสมัยที่มีคนจากตระกูล ‘ชินวัตร’ ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้นำประเทศ ก็จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน่าสลดใจ

โดยในปี 2547 นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ คร่าชีวิตและมีผู้สูญหายจำนวนมาก

ต่อมาปี 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือที่คนไทยจดจำในชื่อ ‘น้ำท่วม 54’ ซึ่งก็สร้างความเสียหายไม่น้อย

มาจนถึงปี 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือก็คือลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเก้าอี้ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีตึกถล่ม

ชาวเน็ตได้นำประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับคำทำนายของหมอดูหลาย ๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ที่เคยกล่าวคำทำนายดวงเมืองประเทศไทย ปี 68 ไว้เมื่อปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้กลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ต่อในโซเชียลอย่างมาก

โดย ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ได้เปิดเผยคำทำนายไว้ในรายการ คุยเล่นเน้นจริง EP.7 เผยแพร่เมื่อ 27 ธ.ค.67 ทางช่องยูทูบ Golfbenjaphon TV โดยหมอปลาย ระบุว่า…

“อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ประมาณช่วงครึ่งปีแรกเหมือนกันก็คือ เรื่องของแผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ใกล้ก็เตรียมตัว กรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน เพราะว่าท่านก็ให้เห็นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่กล้าพูดตรงอื่น เห็นอันนี้มาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา” 

ซึ่งหมอปลาย และกอล์ฟ เบญจพล ก็ย้ำว่าที่พูดเพราะหวังดี อยากให้มองที่เจตนา อยากมีการป้องกัน เฝ้าระวัง หมอปลายเผยอีกว่า “อยากให้เก็บเงินเข้าที่สูง เก็บเงินเข้าธนาคาร ไม่อยากให้มันถูกน้ำพัดไป ไม่อยากให้อาคารมันพัง แล้วก็ทับบ้านทับ”

โดยเหตุจะเกิดช่วงประมาณกลางของกลางปี ประมาณเดือนที่ 3 หรือเดือนที่ 4

นอกจากนี้ยังมีคำทำนายของนอสตราดามุสเมืองไทย หรือ ‘อ.โสรัจจะ นวลอยู่’ ที่เคยเอ่ยถึงดวงเมืองประเทศไทยปี 68 ไว้ในรายการ THAIRATH TALK ช่วงปลายเดือน พ.ย. ปี 67 โดยระบุว่า…

“จะมีแผ่นดินไหวใจกลางกรุงเทพ จริง ๆ ปีนี้มันหนักกว่าปีที่แล้ว ถ้าถามว่า ความร้ายแรงหนักกว่าปี 2567 แค่ไหน หนักกว่า 10 เท่า เนื่องจากมันมีโรคระบาด มีภัยพิบัติ แค่ 2 เรื่องนี้ คนก็ตายไปเยอะ อาจจะมีโรคร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นด้วย ปี 68-69-70 ก็ยังหนักอยู่ กับดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ 3 ปีนี้”

ต่อมาพิธีกรรายการได้ถามถึงเหตุแผ่นดินไหว ที่จะไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่จะเกิดรอบ ๆ แรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพมากขึ้นเรื่อย ๆ กรุงเทพเสี่ยงต่อรอยเลื่อนที่มีพลัง และตึกของเราไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว

ด้าน ‘โหรโสรัจจะ’ ตอบชัดว่า “ใช่ มันจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูดวงหรือการทำนายล่วงหน้า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้วิจารณญาณ

ตึกสร้างไม่เสร็จ ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ อายุกว่า 35 ปี ตั้งตระหง่านกลางกรุง ไม่ถล่มแม้เกิดแผ่นดินไหว

(29 มี.ค. 67) จากกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ส่งผลกระทบถึงไทยหนักสุดในรอบ 100 ปี ทำอาคารหลายแห่งพังและได้รับความเสียหายนั้น

หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ชาวเน็ตก็ได้แชร์ภาพตึก ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ ตึกร้างกลางกรุงที่สร้างไม่เสร็จตั้งแต่ปี 2533 แต่พบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โครงสร้างยังแข็งแรง 

สำหรับ ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2533 ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังผู้สร้าง State Tower ตึกฝาแฝดอีกแห่งที่สำเร็จลุล่วง

โครงการวางแผนให้เป็นคอนโดมิเนียมหรูสูง 49 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) บนที่ดินขนาด 2 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเจริญกรุง รวม 600 ยูนิต แต่ละห้องสามารถชมวิวแม่น้ำได้อย่างเต็มที่ สไตล์สถาปัตยกรรมคลาสสิกผสมโพสต์โมเดิร์น เสาโค้ง ระเบียงกรีก โดมด้านบนสุด เป็นที่ตั้งของเพนต์เฮาส์ราคาสูงสุดในโครงการ

แต่ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ทำให้โครงการขาดแคลนเงินทุน ต้องหยุดก่อสร้างไปขณะที่ตัวอาคารสร้างเสร็จแล้วถึง 80-90% โดยเหลือเพียงการตกแต่งภายในและงานระบบพื้นฐาน

นับแต่นั้น ตึกแห่งนี้ก็กลายเป็น ‘Ghost Tower’ หรือ ‘ตึกร้างผีสิง’ ในสายตานักผจญภัยทั่วโลก ด้วยความสูง 185 เมตร และทำเลใจกลางเมือง จึงกลายเป็นจุดหมายของนักถ่ายภาพมุมสูง นักล่าท้าผี และนักสำรวจเมือง แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป แต่ในอดีตก็มีผู้ลักลอบเข้าถึงตัวตึกเพื่อเก็บภาพวิวกรุงเทพฯ แบบ 360 องศา

ในปี 2560 ‘มิวเซียมสยาม’ ได้รับอนุญาตจัดนิทรรศการ ‘20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ณ อาคารแห่งนี้ และยังมีภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง ‘เพื่อน..ที่ระลึก’ โดย GDH เข้ามาถ่ายทำด้วย

แม้จะถูกปล่อยทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2540 แต่ตึก ‘สาทร ยูนีค’ ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความทรุดโทรมของโครงสร้างแม้แต่น้อย โครงสร้างยังคงแข็งแรง ทนทาน แม้ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 8.2 ริกเตอร์จากประเทศเพื่อนบ้าน อาคารแห่งนี้ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ต่างจากตึกยุคใหม่หลายแห่งที่ประสบปัญหา ทั้งร้าว ถล่ม หรือโครงสร้างไม่มั่นคงขณะก่อสร้าง สะท้อนถึงคุณภาพการก่อสร้างยุคก่อนต้มยำกุ้งที่แม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเท่าปัจจุบัน แต่กลับทนทานอย่างน่าทึ่ง

และล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพ ‘ตึกสาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ พร้อมระบุข้อความว่า…

“ขายตึกสูง 49 ชั้น #ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา #ตึกสาธร ยูนิท

ที่ดิน 3.19 ไร่ ตึกยังสร้างไม่เสร็จ เจอ I.M.F. เสียก่อน อยู่ถนนเจริญกรุง ไม่โดนมรดกโลกปิดบังทัศนียภาพ ผู้ออกแบบสถาปนิก อ.รังสรร ถ้าสร้างเสร็จจะสวยดั่งรูปภาพแบบคอนโดที่หรูที่สุดในใจกลางเมือง มีสระว่ายน้ำรวมอยู่ด้วย ใกล้สถานี BTS ใกล้ห้างโรบินสัน ร.ร.แซงการิล่า หรือโอเร็นเต้ลริมแม่น้ำ สวยสุดแปลงที่เหลือ ขาย 4,000 ล้านบาท (สี่พันล้านบาท) ราคามาคุยกันได้คับ

ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว โดยผู้เชี่ยวชาญ สถาปนิกมือหนึ่งของไทย และจากต่างประเทศ ขาย 4 พันล้านถ้วน

อีกหนึ่งอุปกรณ์ส่งข่าวสารที่ ‘ลุงตู่’ เคยเอ่ยถึง แถมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่มีประโยชน์อย่างยิ่งยามเกิดภัยพิบัติ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เกิดแรงสั่นสะเทือนจนกระทบมาถึงฝั่งไทย ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย เช่น บ้านเรือน ตึก อาคาร คอนโด มีรอยแตกร้าว หน้าต่างแตกเสียหาย สร้างความกังวลใจอย่างมาก และหวั่นเกิดเหตุซ้ำอีกระลอก

นอกจากนี้ เหตุการณ์อาคารกำลังก่อสร้างของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมา ก็สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นและได้รับฟังข่าวไม่น้อย

คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเริ่มคลี่คลายคือ เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ทัน

พอมานึก ๆ ดู นี่ก็ไม่ใช่คำถามที่แปลกใหม่อะไร เพราะเคยมีคนถามคำถามคล้าย ๆ แบบนี้มาแล้ว ในช่วงเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม เมื่อปี 65

ย้อนกลับไปตอนที่เกิดน้ำท่วมปี 65 หากใครยังจำกันได้ ตอนนั้นประเด็นเรื่อง ‘ทรานซิสเตอร์’ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงอย่างมาก โดยจุดเริ่มต้นก็มาจาก ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง

โดยเรื่องมีอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในขณะนั้น ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 3 ต.ค. 65

โดยกล่าวถึงการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

พลันที่มีคำว่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ หลุดออกมา ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งจับตาและกล่าวว่านี่คือ ‘ความล้าหลัง’ และขำขันกันอย่างสนุก 

แต่กลับกันภายใต้ความขบขันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาแบบผู้มีองค์ความรู้รอบด้านของผู้นำกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างสอดคล้องมากกว่า

แน่นอนว่าในบ้านเราตอนนี้ คนอาจจะติดภาพทรานซิสเตอร์ว่าโบราณ บ้านนอก แต่จริง ๆ แล้ว วิทยุพกพาที่รับสัญญาณจากอากาศที่ไม่ได้ใช้สัญญาณดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีขายในท้องตลาด ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ทั้งหมดในการรับสัญญาณ AM/FM

โดยวิทยุทรานซิสเตอร์นั้นใช้ระบบคลื่นสั้น AM ลักษณะเดียวกับที่ใช้ในวิทยุสื่อสารทหาร การรับส่งสัญญาณทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่น FM ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ลึกเข้าไปในป่าเขาก็รับสัญญาณได้หมด จึงเหมาะแก่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพราะด้วยความที่สามารถใช้พลังงานถ่านไฟฉาย ซึ่งเป็นกระแสตรง (DC) โวลท์เตจต่ำ ไม่ต้องพะวงเรื่องการช็อตเมื่อเปียกน้ำ และเปลี่ยนถ่านทีหนึ่งก็อยู่ได้เป็นครึ่ง ๆ เดือน จึงเหมาะแก่การมีติดบ้าน ไว้รับข่าวสารยามน้ำท่วมหรือเกิดเหตุภัยพิบัติที่สุด

โชคดีของคนไทย ที่ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้ และคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่า ผ่านแล้วก็ผ่านไป แต่ควรต้องนำกลับมาทบทวนและหารับมือดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

และแน่นอนว่าประเด็น ‘ทรานซิสเตอร์’ ที่เกิดขึ้นในสมัยของลุงตู่ ก็ไม่ควรเป็นเพียงแค่ความขบขัน เอามาหัวเราะกันสนุกปาก เพราะนี่คือหนึ่งในช่องทางกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายแรง อินเทอร์เน็ตล่ม หรือสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีนั่นเอง

ตำรวจภูธรภาค 2 ส่งกำลัง 200 นาย ช่วยภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ผบช.ภ.2 กำชับ แผน 6 ข้อ ตำรวจพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เปิดที่ทำการ โรงพักให้หลบภัย ส่งกำลังใจผู้ประสบภัย และแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย

(29 มี.ค.68) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังตำรวจ จากตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 200 นาย สนับสนุนภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ในเขตจตุจักร กทม. พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ผบช.ภ.2 กล่าวว่า ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก ส่งผลกระทบหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 2 ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยวานนี้ (28 มีนาคม 2568) ตำรวจในสังกัด ตำรวจภูธรภาค 2 ได้ลงพื้นที่ช่วยอพยพประชาชนจากอาคารสูง โดยเฉพาะอพยพผู้ป่วยจากโรงพยาบาล รวมถึงอำนวยการจราจร โดยสถานการณ์โดยรวมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 2 ทุกหน่วย สำรวจพื้นที่รับผิดชอบว่า มีความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวที่ส่งผลต่อประชาชน โดยทั่วไปและสถานที่ราชการหรือไม่  อย่างไร  เช่น อาคารที่ทำการ ยานพาหนะ บุคคล  และให้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและข่าวสาร การประกาศแจ้งเตือน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

“กรณีในพื้นที่รับผิดชอบ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ดำเนินการ 6 ข้อ ดังนี้ 
1. ให้ออกตรวจตรา และให้ความช่วยเหลือ อพยพประชาชนออกนอกอาคารหรือตึกสูงไปยังพื้นที่ปลอดภัย 
2. กรณีที่พื้นที่ใดมีผลกระทบหรือมีเหตุตึกอาคารทรุดหรือไม่ปลอดภัย ให้เร่งเข้าช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยและนำไปยังพื้นที่พยาบาลหรือพื้นที่ปลอดภัย 
3. จัดเตรียมบริหารจัดการเหตุการณ์ในพื้นที่ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อนำส่งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เน้นการติดต่อสื่อสารสั่งการในพื้นที่  
4. กำหนดแผนปฏิบัติ มอบหมายผู้รับผิดชอบในการบริหารการจัดการในทุกมิติ และกำกับ ดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามแผน ขั้นตอนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการและอำนวยการจราจร ในที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง  
5. ประชาสัมพันธ์เส้นทางการจราจรทางช่องทางต่าง ๆ ทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ 
6. ประสานงานและอำนวยความสะดวกนำส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” ผบช.ภ.2 กล่าว 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวย้ำว่า ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมดูแลเคียงข้างช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ พร้อมเปิดพื้นที่ที่ทำการของตำรวจ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้พักพิงหลบภัย หากมีเหตุด่วนต้องการความช่วยเหลือ โทร. 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยครั้งนี้ทุกท่าน และขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top