Monday, 28 April 2025
NEWS FEED

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประชุมติดตาม 9 มาตรการแก้แล้ง ย้ำต้องเสร็จก่อนฤดูแล้งนี้ ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค/เกษตร/อุตสาหกรรม เพียงพอ พร้อมสั่งเร่งช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ผอ.กอนช. ได้เป็นประธานการประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ สทนช.

ที่ประชุม ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเมื่อ 12 ม.ค.64 สภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ รวม 49,246 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 60 ปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 25,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 43 ,รับทราบการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมภาคใต้ จ.ยะลา และจ.ปัตตานี ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ในขั้นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ต่อไป

โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และรับทราบ ผลการติดตามผลการดำเนินงานโครงการงบกลางปี 2563 ตามมติ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งสิ้น จำนวน 31,054 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 23,286 โครงการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน พร้อมกำชับ สทนช.ให้กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กอนช. ได้พิจารณาเห็นชอบ ผลการดำเนินงานตามมาตรการ แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64 ตามมติ ครม.เมื่อ 3 พ.ย.63 โดยให้มีการควบคุม การจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ,ปรับปรุงแผนการควบคุมการเพาะปลูกนารอบที่ 2 (นาปรัง) ให้มากกว่าแผนทั้งในเขต และนอกเขตชลประทาน รวมทั้งตรวจสอบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ของประปาท้องถิ่น และติดตามค่าความเค็มของน้ำ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเห็นชอบผลการดำเนินงาน ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ คราวตรวจราชการน้ำท่วมภาคใต้ พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมอบให้ สทนช. บูรณาการแผน และงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ,พัฒนาแก้มลิงบริเวณพรุควนเคร็ง และเร่งรัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ด้วย รวมทั้งได้เห็นชอบ การขับเคลื่อนโครงการ บรรเทาอุทกภัย พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีปี 2565-2566 ซึ่งมีแผนงานทั้งหมด 7 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 21.13 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 61,610 ไร่ (41,990 ครัวเรือน)

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. ให้กำกับ ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง งป.ปี 63/64 อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งรัดหน่วยงานปฏิบัติ ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งให้ประชาชน ได้มีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ที่ผ่านมาก็ต้องเร่งแก้ไข ให้ทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างเร่งด่วน ต่อไป

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการใหม่ ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนการเดินทางเข้าสหรัฐฯ มีผล 26 มกราคมนี้

ประกาศด่วนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC แห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการใหม่ให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ จะต้องแสดงผลตรวจ Covid-19 เป็นลบก่อนขึ้นเครื่อง เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมนี้เป็นต้นไป

มาตรการใหม่ของ CDC ระบุว่าผู้ที่จะเดินทางเข้าเมืองสหรัฐจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน จะต้องยื่นผลตรวจเชื้อ Covid-19 เป็นลบ คือ ไม่ติดเชื้อ ที่ตรวจภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วันก่อนขึ้นเครื่อง เป็นเอกสารรับรองจากห้องแล็ปที่เป็นกระดาษ หรืออยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ก็ได้ให้กับสายการบิน หากผู้โดยสารคนใดไม่มีเอกสารรับรอง หรือปฏิเสธการตรวจ ทางสายการบินสามารถปฏิเสธผู้โดยสารไม่ให้เดินทางได้ทันที

และเมื่อเดินทางไปถึงที่สหรัฐอเมริกาแล้ว CDC ยังแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านต่ออีก 7 วัน และตรวจเชื้อซ้ำอีกรอบภายใน 3 - 5 วัน เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อระหว่างเดินทางแน่นอน

ด็อกเตอร์ โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้อธิบายว่า ถึงแม้ว่าการตรวจเชื้อจะไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ทั้งหมด และต้องทำร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง การเว้นระยะห่าง การกักตัวอยู่บ้านเพื่อดูอาการ ก็จะช่วยให้สามารถเดินทางข้ามประเทศได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสบนเครื่องบิน ที่สนามบิน และการระบาดเพิ่มภายในประเทศได้

และมาตรการที่เข้มขึ้นนี้ย่อมมีผลกับธุรกิจสายการบินในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติ Covid-19 ทั่วโลก ที่แทบทุกประเทศมีมาตการจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งแบนนักเดินทางจากบางประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผู้ที่ประสงค์เดินทางเข้าเมืองสหรัฐ จากนักธุรกิจชาวอเมริกันที่จำเป็นต้องเดินทางเป็นประจำ ที่มักซื้อตั๋วล่วงหน้า แต่เดินทางไม่ได้อยู่เป็นจำนวนมาก

และธุรกิจสายการบินในสหรัฐก็เพิ่งจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ตัวเลขผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนธันวาคม 2020 มีอยู่ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 76,000 ต่อวัน ที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อมีการประกาศมาตรการใหม่จาก CDC ออกมาก็ทำให้ภาคธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวกันอีกครั้ง

หากมองในแง่ดี กฏใหม่ที่ออกมาทำให้สหรัฐอาจไม่จำเป็นต้องมีมาตรการจำกัดการเข้าเมืองสหรัฐแล้ว หากผู้โดยสารทุกคนยื่นผลตรวจ Covid-19 ก่อนการเดินทางตามเงื่อนไข แล้วค่อยไปกักตัว หรือตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้งหลังเดินทางไปถึง ทำให้สายการบินสามารถเปิดเที่ยวบินให้บริการได้มากขึ้น ซึ่งทางสายการบินอาจพิจารณาให้มีบริการจุดตรวจเชื้อให้กับผู้โดยสาร เพื่อรอรับผลได้ก่อนออกเดินทาง เพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้นอีกด้วย

นับว่าในวิกฤติก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ หากเราเตรียมพร้อม ทำตามขั้นตอนที่กำหนด ก็สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย ในยุค Covid-19 ที่น่าจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง


แหล่งข่าว

https://www.cdc.gov/media/releases/2021/s0112-negative-covid-19-air-passengers.html

https://www.usatoday.com/story/travel/airline-news/2021/01/12/covid-test-required-international-passengers-flying-into-us/6640424002/

https://www.cnbc.com/2021/01/12/us-planning-to-require-negative-covid-tests-for-inbound-international-air-travel.html

ส.ส.นครศรีธรรมราช “เทพไท เสนพงศ์” เสนอรัฐทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ แจกเงิน 3,500 บาทต่อคน 3 เดือน ใช้ฐานเยียวยาตามบัญชีทะเบียนบ้าน มั่นใจไม่ตกหล่น เป็นธรรมกับทุกคน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นด้วยกับ 4 มาตรการของรัฐบาล ที่บรรเทาผลกระทบ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 คือ 1. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 2. ลดค่าน้ำ 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 3. ลดค่าอินเทอร์เน็ต เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home และสนับสนุนการโหลดแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน และ 4.มาตรการคนละครึ่ง ให้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้

นายเทพไท กล่าวต่อว่า สำหรับการจะเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนนั้น ส่วนตัวอยากเสนอให้เยียวยาเป็นเวลา 3 เดือน เท่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ยังไม่ทราบวิธีการเยียวยาของรัฐบาลที่ชัดเจน ว่าจะใช้แนวทางการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็ปไซด์ใหม่ หรือจะใช้ฐานข้อมูลเก่าในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ตอนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรกหรือไม่ เพราะวิธีการดังกล่าว มีจุดอ่อนและปัญหาตามมามากมาย ทำให้คนจนผู้ได้รับผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเยียวยา แต่บางครัวเรือนกลับได้รับการเยียวยาหลายคน

จึงอยากจะให้รัฐบาลทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ โดยตนยืนยันแนวความคิดเดิมคือ เยียวยาเป็นรายครัวเรือนตามบัญชีทะเบียนบ้าน ของสำนักทะเบียนราษฏร กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้ได้รับการเยียวยาครบทุกครัวเรือน ไม่มีการตกหล่น และเป็นธรรมกับคนไทยทุกคนด้วย ยกเว้นครอบครัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัวข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลอยู่แล้ว เมื่อตัดออกจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 20 ล้านครัวเรือน จะเหลือครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกในบ้านเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสากิจประมาณ 15 ล้านครัวเรือนเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดเงินงบประมาณ ประหยัดเวลาในการเยียวยา และสามารถเยียวยาทั่วถึงอย่างรวดเร็วทุกคน ส่วนการช่วยเหลือกิจการรายย่อย SME รัฐบาลจะต้องมีรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไปด้วย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แก้เกมโควิด-19 เสริมแกร่งให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการ SME เน้นจับคู่ธุรกิจผ่านออนไลน์ พร้อมใช้ FTA ควบคู่ ชี้ช่วยเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศได้จริง

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์การทำงาน ปี 2564 แก้เกมโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยให้เน้นการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อติดอาวุธให้กับกลุ่มเกษตรกร SMEs สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถจับคู่ธุรกิจ เพิ่มยอดขาย และบุกตลาดต่างประเทศได้จริง

“ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบและมาตรการทางการค้า รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดส่งออก และการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มยอดขายและโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกร และ SME ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นย้ำให้กรมฯ เพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์ มาเป็นตัวช่วยในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกษตรกร SME สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน สามารถเจาะตลาดต่างประเทศ และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นแม้ในช่วงวิกฤติโควิด” นายวีรศักดิ์กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า สำหรับโครงการสำคัญที่กรมฯ จะดำเนินการ ในปี 2564 และจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ตามนโยบายของ รมช.พาณิชย์ ได้แก่ โครงจัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA ซึ่งเน้นขยายตลาดส่งออกไปอาเซียนและจีน โครงการจับมือผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มการส่งออกต่างประเทศด้วย FTA ร่วมกับ ศอ.บต. โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย ให้สามารถเพิ่มการส่งออก โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าสหกรณ์ไทยสู่โลกการค้าเสรี และโครงการยกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านโลกการค้าเสรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA จำนวน 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ มีมูลค่ารวม 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 (สัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทย กับโลก) โดยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 150,933 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 152,639 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 250,721.76 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นการส่งออกมูลค่า 128,221.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 122,500.57 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งประเทศคู่ FTA ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มกราคม 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดรอบใหม่

ของสถาบันการเงินสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(SFIs) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

โดยในส่วนของ ธอส. คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพิ่มเติม 4 มาตรการ จากเดิมที่เคยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาแล้ว 8 มาตรการในปี 2563 ดังนั้น ในครั้งนี้จึงถือเป็นมาตรการที่ 9-12 ผ่าน "โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564"

ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ "มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" และ "โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ" รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย

มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 29 มกราคม 2564

มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น

1.) ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564

หรือ 2.) พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ 9-11 ระยะแรก ต้องดาวน์โหลดหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าทยอยผ่อนชำระได้จนถึง ก่อนวันที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้

สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด และยังมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ธนาคารพร้อมพิจารณาขยายความช่วยเหลือในรูปแบบการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นรายกรณีต่อไป

ส่วนกรณีที่หน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้หน่วยงานมีหนังสือแจ้งมายังธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กู้เงินกับธนาคารต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. ได้ประสานกับทุกสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ แบงก์รัฐ และนอนแบงก์ พิจารณาขยายระยะเวลาช่วยลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

รอบใหม่ ไปถึง 30 มิ.ย.64 จากเดิมครบกำหนด 31 ธ.ค.63 โดยสามารถขอรับความช่วยเหลือทั้งทางคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแต่ละแห่ง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ขยายไปถึง 30 มิ.ย.64 ประกอบไปด้วย บัตรเครดิต แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี , สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด เป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด ดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อรถยนต์ พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และสินเชื่อบ้าน พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดค่างวด เป็นต้น

ทั้งนี้การช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งลูกหนี้รายย่อย เอสเอ็มอี และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็นไปตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและความเสี่ยง ซึ่งเป็นแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลือกจ่ายดอกเบี้ยและพักเงินต้นชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด และให้เงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

ครม. เห็นชอบ เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ ระดับ ประถม-มัธยม-อาชีวะ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาทประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่ นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท , ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท , พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท ,สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูงและพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท , สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท, งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท และงานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค) โดยกสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ

ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว"

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า "อัตราเงินอุดหนุนใหม่ คือ ในระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท"

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Test จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน"

บลูมเบิร์ก รายงานว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ตรัสถึงการพัฒนาเส้นทางที่เรียกว่า ‘เดอะไลน์’ (The Line)

ความยาว 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองแห่งอนาคต ‘นีออม’ (Neom) หรือบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซาอุฯ ติดกับทะเลแดง มูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ ‘นีออม’ นั้นเป็นโครงการชิ้นเอกของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่เปิดตัวไปช่วงเดือนตุลาคม ปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก พลิกโฉมมาก้าวเป็นศูนย์กลางของโลกด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีรวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงยังต้องการปั้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 26,500 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก

เมื่อเมืองนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทาง มกุฎราชกุมาร จึงต้องการต่อยอดให้เมืองนี้ไม่มีถนน และ ไม่มีรถแม้แต่คันเดียว โดยใช้ ‘เดอะไลน์’ หรือเส้นทางสายสีเขียวเป็นหัวหอก เพื่อเชื่อมต่อคนให้เข้าสู่เมืองที่ครบวงจรและเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างไว้ในนั้น เพียงเดินทางด้วยการ ‘เดิน’ ไม่เกิน 5 นาที ภายใต้บรรยากาศที่ห้อมล้อมไปรอบด้วยต้นไม้และธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีการนำ ‘ระบบขนส่งความเร็วสูงพิเศษและการเคลื่อนย้ายอัตโนมัติ’ ที่เชื่อมไปสู่เมืองภายนอกได้ในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที ภายใต้ระบบพลังงานสะอาดอีกด้วย

ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวได้ใช้งบประมาณไปหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ (ระหว่าง 2 – 5 แสนล้าน) สามารถรองรับผู้อยู่อาศัย 1 ล้านคน และช่วยสร้างงานได้ราว 360,000 - 380,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 และก่อให้เกิดมูลค่าด้านจีดีพีของประเทศภายในปี 2030 ราว 1.8 แสนล้านริยัลซาอุดีอาระเบีย หรือ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด ยังย้ำอีกว่า เมืองแห่งอนาคตนี้จะเป็นการ ‘การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ’ ด้วยปริมาณรถยนต์ ถนน และการปล่อยมลพิษในเมืองเป็นศูนย์ แม้จะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า เมืองสีเขียวแห่งนี้ สร้างขึ้นจากการเผาผลาญน้ำมันปริมาณมหาศาลก็ตาม

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน แต่ก็มีแผนที่จะลดการผลิตน้ำมันและหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนโดยตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศสีเขียวในอนาคต โดยล่าสุดได้ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2021

ทิศทางนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ไม่ใช้น้ำมัน และตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ภายในปี 2030หลังจากซาอุดีอาระเบียค่อนข้างมีข้อได้เปรียบในการผลิตพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่และภูมิอากาศแจ่มใส โดยกระทรงพลังงานจะทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและโครงการพลังงานทดแทนแห่งชาติ


แหล่งที่มา: เพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

https://www.neom.com/en-us

https://www.youtube.com/watch?v=eXEnS-u3fAY

https://www.reuters.com/.../saudi-crown-prince-launches…

รองนายกรัฐมนตรี ‘วิษณุ เครืองาม’ เผยครม.เห็นชอบให้เลือกตั้งทิ้งถิ่นระดับเทศบาลก่อน ส่วนเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รอคิวก่อน ระบุ ยังอยู่ระหว่างแก้กฎหมายจะยังคงมี สก.- สข. หรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เตรียมการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับเทศบาล และ สภาเทศบาล ว่า เป็นการเลือกตั้งระดับเทศบาล คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และ เทศบาลนคร ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นลำดับที่จะพิจารณาต่อไป

การเลือกตั้งเกี่ยวกับกทม. ยังมีปัญหาเพราะขณะนี้ยังถกเถียงกันเรื่องสก. และ สข. ว่าจะให้มีสข. หรือไม่ ถ้าจะให้มีกฎหมายต้องแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่สภาฯ ดังนั้นลำดับแรกเลือกระดับเทศบาลก่อน จากนั้น ค่อยเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากนั้นเป็นเมืองพัทยา และ กทม. ซึ่ง 2 อย่างนี้อาจจะร่วมหรือแยกกันก็ได้

ซึ่งเลขากกต. ชี้แจงว่า พื้นที่เทศบาลไม่ทับซ้อนกับพื้นที่อบต. จึงไม่สามารถนำมาเลือกพร้อมกันได้ จึงต้องแยกกันเลยขอให้แต่ละอย่างเว้นช่วง โดยเรื่องเทศบาลควรเลือกภายใน 3 เดือนแรกของปี เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับจำนวนประชากรที่พรบ.การทะเบียนราษฎรให้สรุปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 และต้องประกาศภายใน 3 เดือนจึงเลือกตั้งเทศบาลภายในเดือนมี.ค.64 ส่วนวันที่เท่าไหร่นั่นอยู่ที่กกต.เพราะครม.ไม่มีอำนาจ

เมื่อถามว่ามีการประเมินเบื้องต้นว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ช่วงไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะครม.ในวันนี้ไม่มีการพูดเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับครม.เพราะจะเป็นผู้บอกว่าวันนี้เลือกเทศบาล โดยขอเอาเรื่องเลือกตั้งระดับเทศบาลก่อน ส่วนการเลือกตั้งระดับอื่น ๆ จะเป็นเมื่อไหร่ ครม.จะเป็นคนบอก และประเมินตามสถานการณ์หลายอย่าง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสข. ที่ค้างอยู่ในสภาฯที่รอความเห็นรัฐบาล

กลายเป็นที่โจษจันไปทั้งเมืองลอดช่อง เมื่อสาวใหญ่วัย 65 ปีชาวสิงคโปร์ ที่เคยติดเชื้อ Covid-19 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมาต้องติดคุกนานถึง 5 เดือนเพียงเพราะเธอปกปิด Timeline

สาวใหญ่ดวงตกรายนื้ชื่อว่านาง " โอ บี ฮก " แต่งงานแล้ว มีสามีเป็นตัว เป็นตนที่ยังอยู่กินด้วยกัน แต่เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เธอตรวจพบว่าติดเชื้อ Covid-19 และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล Singapore General Hospital

ทางการสิงคโปร์จึงส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขมาสอบสวนโรค และให้เธอเปิดเผย Timeline ว่าได้ไปที่ไหน กับใครมาบ้างในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในตอนแรกเธอบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไข้ขึ้น อ่อนเพลีย และต้องการพักผ่อน

วันต่อมาเจ้าหน้าที่ยังจี้ต่อ โทรศัพท์มาให้เธอแจงวัน เวลา และสถานที่ที่ไปในรอบสัปดาห์อย่างละเอียด เธอบอกเพียงว่าไปวัด ไหว้เจ้า และกินเลี้ยงกับครอบครัวช่วงตรุษจีน

แต่ว่า Timeline ที่เธอได้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลับไม่ตรงกับที่เธอเคยแจ้งบอกคุณหมอไว้ว่า เธอไปจ่ายตลาดที่ย่าน บูกิต บาต็อก และ บูกิต ติมาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดให้สามีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มีครอบครัว ที่มีหลาน ๆไปร่วมงานฉลองหลายคน

และเรื่องก็มาโป๊ะแตก เมื่อมีคนไข้ติด Covid-19 อีกคนเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล และเมื่อเช็ค Timeline ของคนไข้รายนั้น ก็พบว่าเคยเจอคุณนาย โอ บี ฮก ที่ภัตตาคาร Joy Garden ในห้าง SAFRA Jurong เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีงานเทศกาลดินเนอร์ และคาราโอเกะ ที่กลายเป็น Cluster ใหญ่ มีคนติดเชื้อในงานเลี้ยงมากถึง 47 ราย

เมื่อพบหลักฐานว่า คุณนายโอ บี ฮก ไปงานเลี้ยงในห้าง SAFRA Jurong และยังพบว่าเธอไม่ได้มาคนเดียว แต่มากับผู้ชายอีกคน ซึ่งไม่ใช่สามีของเธอ!!

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงเร่งสืบว่าผู้ชายที่มากับคุณนายโอ บี ฮก เป็นใคร และในที่สุดก็ทราบชื่อว่าเขาคือ นาย "ลิม เกียง ฮง" อายุ 71 ปี และติดเชื้อ Covid-19 เช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่จึงสืบต่อ จากข้อมูลประวัติการใช้บัตรเครดิตของนายลิม เกียง ฮง และ เลขทะเบียนรถที่มีบันทึกว่าไปจอดในสถานที่ใดบ้างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็พบความจริงว่า คุณนาย โอ บี ฮก และ นายลิม เกียง ฮง นัดพบกันถึง 5 ครั้งในรอบไม่กี่สัปดาห์ และมักนัดพบกันในร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้าในเขตฝั่งตะวันตกของเมืองสิงคโปร์

เจ้าหน้าที่จึงนำหลักฐานกลับไปหาคุณนาย โอ บี ฮก แจงรายละเอียด Timeline ที่สืบได้ถี่ยิบ จนคุณนายโอ ต้องยอมรับสารภาพความจริงว่า ที่เธอจงใจปกปิดไม่ยอมบอกเรื่องของนายลิม เพราะไม่อยากเป็นที่ครหานินทาว่าเธอมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับนายลิม เกียง ฮก แต่ก็ยังนัดเจอนายลิม อยู่เป็นประจำในวันที่สามีออกไปตีแบตมินตัน ที่มักจะเป็นวันว่างของเธอ เพราะไม่ต้องทำกับข้าว

แต่ที่เรื่องมาแดง เพราะติด Covid-19 จากการแอบนัดพบกันที่ห้าง SAFRA Jurong ที่เป็น Cluster ใหญ่นั่นเอง

เรื่องลับส่วนตัวเช่นนี้ เกิดกับใครคงไม่อยากจะบอก และคงไม่มีคนนอกคนไหนอยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ไม่ใช่กับครั้งนี้ ที่มีโจทย์การติดเชื้อ Covid-19 มาเกี่ยวด้วย คุณนาย โอ บี ฮก นอกใจสามีของเธอหรือยัง ไม่อาจรู้ได้ แต่ที่ฟันธงได้แน่ๆคือ เธอทำผิดกฎหมายเรื่องการปกปิดข้อมูล Timeline ในช่วงที่มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการควบคุมโรคระบาด

และผลจากการที่เธอปิดบังข้อมูล ทำให้หลานชายอีกคนในครอบครัวติดเชื้อ Covid-19 ไปด้วยจากงานเลี้ยงฉลองวันเกิดสามีของเธอในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นั่นเอง

และความผิดในการปกปิดข้อมูลสอบสวนโรคในสิงคโปร์ มีโทษสูงสุดถึงจำคุก 6 เดือน ปรับอีก 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.27 แสนบาท

หลังจากสู้คดีมาหลายเดือน ศาลสิงคโปร์เพิ่งตัดสินลงโทษคุณนาย โอ บี ฮก ด้วยโทษจำคุกนาน 5 เดือน ข้อหาปกปิด Timeline ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด Covid-19 เพิ่ม ยังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียทั้งเวลา และงบประมาณโดยใช่เหตุ

จึงเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับใครหลายคน ที่คิดว่าติด Covid ไม่เป็นไร แต่สำหรับบางประเทศเขาซีเรียสกว่าที่คุณคิด เพราะฉะนั้น หากคุณ...มีความลับเยอะ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ถ้าไม่อยากถูกเปิดเผย Timeline นะจ๊ะ


แหล่งข่าว

https://www.todayonline.com/singapore/housewife-safra-jurong-covid-19-cluster-gets-jail-not-disclosing-secret-meetings-male

https://www.bbc.com/news/world-asia-55579775

https://www.straitstimes.com/singapore/courts-crime/jail-for-housewife-with-covid-19-who-failed-to-disclose-meetings-with-male


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top