Wednesday, 26 June 2024
NEWS FEED

หนี้ครัวเรือน ของไทยยังพุ่งไม่หยุด หลังแบงก์ชาติ เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 63 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อ GDP ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 64 คนไทยอาจต้องแบกหนี้ ทะลุ 91% ต่อ GDP หากสถานการณ์โควิดยังลาม

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี (จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563) นั้น

จากข้อมูลดังกล่าวของธปท. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2563 โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ ยังคงขยับขึ้นอีกประมาณ 1.60 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งในไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นราว 1.82 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 13.77 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่น ๆ (ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ อย่างหนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/2563 อีกครั้ง จากที่มีทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2/2563 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก

ปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรงจากความเสี่ยงโควิด-19 และหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 น่าจะเพิ่มความเปราะบางทางการเงินให้กับครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ความเปราะบางทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้นตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 ของสำนักงานสถิติที่พบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สวนทางกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ระดับการออมของครัวเรือนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด

หากดูลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับครัวเรือนเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในขณะที่ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40% โดยภาพดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาในปี 2563

ต่อภาพไปในปี 2564 คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 และน่าจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ที่รวมๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 10.68 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธปท. ณ เดือน ต.ค. 2563)

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่ จะสะท้อนว่าลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการฯ และลูกหนี้บางส่วนได้รับการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2564 อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีนัยโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้ GDPในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%

ทั้งนี้ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

กระทรวงการคลัง ชง!! จ่าย 4 พันต่อเดือน เยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน จากผลกระทบโควิดระบาดระลอกใหม่!! ลักษณะคล้าย 'เราไม่ทิ้งกัน' ระยะจ่าย 2 เดือน คาดดึงเงินกู้ 2 แสนล้านโปะ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ออกมาตรการเยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 2 เดือน

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในรายละเอียดในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ.กันอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนตัวเลขเยียวยา 40 ล้านคนจะมีที่มาอย่างไรนั้น ต้องนำตัวเลขมาจากจำนวนประชาชนที่ได้รับมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขณะนี้ประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตามจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง มีการเปิดเผยว่า ทางก.การคลัง จะเสนอให้รัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ เหมือนกับโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่ดำเนินการไปครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท

จากนั้น ก็ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ หากจ่ายจะจ่ายเท่าไร รวมถึงเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินอยู่ก็จริง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่สิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายวงแค่ไหน ถ้าจ่าย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเหมือนครั้งก่อนอาจจะไม่พอ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่น่าเกิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ตัวมาตรการเยียวยา จะมีความยาก เนื่องจากเป็นการแบ่งโซนประกาศพื้นที่ระบาด คลังจึงเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐบาล แบ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยแต่ละสีอาจได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากในการดำเนินการหลายด้าน และต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อรับเงินเยียวยา


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หรือ 'รด.' โดย พ.อ.นิธิ รัตนะวรรธนะ รองผู้บัญชาการ ทำการแทน ผู้บัญชาการ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร มีหนังสือด่วนมาก เรื่อง 'การฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2563'

ลงวันที่ 5 ม.ค. โดยมีใจความว่า ตามที่โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร กำหนดการฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหารส่วนกลาง ประจำปีการศึกษา 2563 ที่ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (เขาชนไก่) ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ห้วงเดือนม.ค.- มี.ค.2564

จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร ขอแจ้งให้สถานศึกษาวิชาทหารส่วนกลางทราบว่า กองทัพบกได้อนุมัติให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 'ยกเลิก'การฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด พร้อมให้พิจารณาจัดกิจกรรม หรือการปฏิบัติอื่น ๆ ทดแทน เพื่อให้นักศึกษาวิชาทหารสามารถฝึกและได้รับการเลื่อนชั้นปีตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายกรัฐมนตรี เปิดไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยืนยันคนไทย 60 ล้านคน ได้ฉีดตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน !!!

นายกรัฐมนตี เปิดไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยืนยันคนไทย 60 ล้านคน ได้ฉีดตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน !!!

หลังจากที่เริ่มมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ จากหลายบริษัทผู้ผลิตมาใช้ ก็มีกระแสของผลข้างเคียงต่าง ๆ นานาออกมา จนเกิดเสียงวิจารณ์ในวงกว้างถึงความกังวลในผลลัพธ์ที่อาจกระทบชีวิตพอสมควร

เพราะต้องยอมรับว่าการเร่งผลิตวัคซีนในครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง เนื่องจากระยะเวลาการพัฒนาและทดสอบวัคซีนส่วนใหญ่สั้นมากเพียง 10 เดือน ซึ่งถือว่าสั้นกว่าวัคซีนโรคอุบัติใหม่ก่อนหน้านี้ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาและทดสอบกัน 2 - 5 ปี ขึ้นไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้มานั้นใช้ได้ผล ปลอดภัย และป้องกันเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเป็นชนิดย่อย ๆ ได้ครอบคลุมที่สุด

แต่กับโควิด-19 ที่เหมือนว่าวัคซีนจะต้องเร่งพัฒนาแข่งกับเวลา จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีหยุด รวมทั้งเดิมพันด้วยเศรษฐกิจของโลกใบนี้ที่หยุดชะงักไปเพราะไวรัสทำพิษ มันกลายเป็นการบีบแบบไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งทำมันออกมาให้เร็วที่สุด

แน่นอนว่าความเร็วที่ได้มาจากการเร่งผลิตนั้นย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากใครติดตามข่าวจะพบว่าการฉีดวัคซีนในตอนนี้ เริ่มมีผู้รับวัคซีนหลายรายเกิดอาการแพ้ ทั้งแบบเบาๆ และรุนแรงถึงขนาดต้องเข้าห้องไอซียู และส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ

ทั้งนี้วัคซีนที่ดูจะมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงมากที่สุดก็เป็นของบริษัท Pfizer/BioNTech จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นบริษัทแรก ๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วในหลายประเทศ และเริ่มมีผู้มีอาการแพ้วัคซีนให้เห็นตามที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด แต่บางรายก็มีอาการรุนแรงมากจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินอย่างที่กล่าวไป ซึ่งเป็นแพทย์ในประเทศเม็กซิโก ที่เกิดอาการช็อกวัคซีนแทบจะทันทีที่ได้รับ

ไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลของสหราชอาณาจักรถึงกับต้องนำเอกสารกำกับยาของวัคซีนจากบริษัท Pfizer/BioNTech เผยแพร่ขึ้นบนเว็บไซต์ทางการของรัฐบาล เพื่อแจ้งไปยังประชาชนพร้อมกับคำเตือนสำหรับผู้ที่จะมารับวัคซีนที่จะต้องทำความเข้าใจให้เรียบร้อยว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในข้อต้องห้ามรับวัคซีนเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนได้สรุปย่อมาให้จากเอกสารของ “Regulatory approval of Pfizer/BioNTech vaccine for COVID-19” อัปเดตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Gov.uk ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อของไทยยังไม่ค่อยพูดถึงหรือนำเสนอ

- วัคซีนโควิด-19 ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีสภาวะภูมิแพ้

- บุคคลที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ที่มีโรคเลือดออกซึ่งจะห้ามการฉีดเข้ากล้ามไม่ควรได้รับวัคซีน

- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงบุคคลที่ได้รับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน อาจมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลง รวมทั้งผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้ม

- วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแม่และทารกในครรภ์

- วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ภายในไม่กี่เดือนหลังจากได้รับวัคซีน

- ผู้ได้รับวัคซีนจะไม่สามารถให้นมบุตรได้

- ผลข้างเคียงของวัคซีนอาจส่งผลกระทบให้มีอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่หรือใช้เครื่องจักรชั่วคราว

- มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดจากกลุ่มทดสอบอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้แก่ อาการปวดบริเวณที่ฉีด (> 80%) ความเมื่อยล้า (> 60%) ปวดศีรษะ (> 50%) ปวดกล้ามเนื้อ (> 30%) หนาวสั่น (> 30 %), ปวดข้อ (> 20%) และ เป็นไข้ (> 10%) และมักจะมีความรุนแรงน้อยหรือปานกลางและจะหายภายในไม่กี่วันหลังการฉีดวัคซีน

- พบความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง ระบบภูมิคุ้มกัน และความผิดปกติของระบบประสาท

- ในบางรายพบอาการอัมพาตที่ใบหน้าส่วนปลายเฉียบพลัน

- อาจมีอาการสูญเสียการรับรสชาติหรือรับกลิ่น เจ็บคอ ท้องเสีย หรืออาเจียน

- หากมีอาการแพ้จากสารออกฤทธิ์หรือส่วนผสมอื่น ๆ ของวัคซีนที่รวมถึงผื่นคันที่ผิวหนัง หายใจถี่ และบวมที่ใบหน้าหรือลิ้น ต้องติดต่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทันทีหรือไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

- วัคซีนยังไม่มีการทดสอบหรือทดลองเพื่อหาผลข้างเคียงในระยะยาว

- วัคซีนไม่มีการทดสอบหรือทดลองเพื่อตรวจสอบผลข้างเคียงหากรับประทานร่วมกับยาอื่นๆ ที่กำหนด

- การฉีดวัคซีนอาจไม่สามารถปกป้องผู้ที่ได้รับจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 100% และยังไม่มีข้อมูลในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือกำลังรับการรักษาเรื้อรังที่ยับยั้งหรือป้องกันการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

- การฉีดวัคซีนยังไม่ยืนยัน100% ว่าจะป้องกันไม่ให้ผู้รับวัคซีนจะไม่เป็นพาหะแพร่กระจายไวรัสไปสู่ผู้อื่น

- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่เคยมีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง

- และ 'ไฮไลท์' ของเอกสารดังกล่าวอยู่ที่...หากเกิดอาการเจ็บป่วยส่วนบุคคล หรือ 'เสียชีวิต' อันเป็นผลมาจากการรับวัคซีน รัฐบาลสหราชอาณาจักรและผู้ผลิตวัคซีนจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

นี่เป็นเพียงข้อมูลที่สกัดได้จากเอกสารกำกับยาของวัคซีนจาก Pfizer/BioNTech ที่เรียบเรียงเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย แต่ใช่ว่าทุกคนที่รับวัคซีนของบริษัทนี้จะมีอาการดังกล่าวทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นเอกสารรัฐบาลสหราชอาณาจักรเผยแพร่ให้ผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับตัวเองน้อยที่สุด


อ้างอิง: https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-pfizer-biontech-vaccine-for-covid-19?fbclid=IwAR0iHwRPKxp_BicBt3YRMaVu-kQ4GlD_gytzpaS-8C3MDb_k5pAv86jRvRw

รองนายกรัฐมนตรี ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รับรู้แล้ว มีบ่อนในกรุงเทพฯ พร้อมโยนหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องทำให้ไม่มี พร้อมรับมีขบวนการนำต่างด้าวเข้าเมือง สั่งทหาร - ตำรวจ ตรวจเข้มสกัดทางถนน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีตรวจสอบพบว่ามีบ่อนการพนันในกรุงเทพฯ ว่า เรื่องบ่อนที่ตนบอกว่าไม่มี หมายถึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจท้องที่ ที่จะต้องทำให้บ่อนไม่มี ซึ่งตนไม่ได้หมายความว่าไม่มี เรื่องบ่อนเราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่ามี แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องทำให้บ่อนไม่มี

ส่วนกรณีการจับกุมชาวโรฮิงยาลักลอบเข้าเมืองมาอยู่ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพฯและตรวจพบติดเชื้อโควิด -19 ว่า เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนอยู่

ขณะที่ หลายฝ่ายยอมรับว่ามีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศ แต่ทำไมยังจับขบวนการดังกล่าวไม่ได้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราพยายามอยู่ และรู้ว่ามีเข้ามา แต่เป็นเรื่องของเจ้าที่ตำรวจและทหาร ที่ต้องตรวจตราบนถนนเพราะต้องโดยสารมากับรถก็ต้องวิ่งบนถนน ฉะนั้นตำรวจและทหารต้องดูแลล็อกการเดินทางบนถนนให้ได้

ส่วนขบวนการดังกล่าวมีคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราตอบไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง สื่อมวลชนรู้หรือไม่ ถ้ารู้ให้บอกที

รองนายกรัฐมนตรี ‘วิษณุ เครืองาม’ ขอให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลให้ทันภายในสมัยประชุมสภาฯ นี้ หรือวันที่ 28 ก.พ. ส่วนการเปิดอภิปรายในช่วงสภาสมัยวิสามัญได้หรือไม่นั้น ยังเป็นข้อกฎหมายอยู่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ไม่สามารถอภิปรายได้ทันในสมัยประชุมสภานี้ จะสามารถขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญได้หรือไม่ ว่า ยังเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

แต่ขอให้ยื่นให้ทันภายในสมัยประชุมสภาฯ นี้หรือวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสภาฯ วิสามัญได้ แต่ถ้ายื่นในสมัยประชุมสามัญ แล้วอภิปรายไม่ทันภายในสมัยประชุมสภาฯ การจะไปเปิดอภิปรายในช่วงสภาสมัยวิสามัญได้หรือไม่นั้น ยังเป็นข้อกฎหมายอยู่

เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 บัญญัติว่า ปีหนึ่งให้ยื่นญัตติอภิปรายได้ 1 ครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นข้อกฎหมายว่าเขาได้มีการยื่นไว้แล้ว แต่ปัญหาคือการยื่นกับการอภิปรายมันคนละส่วนกัน แต่ไม่เป็นไร ขอให้ยื่นให้เสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ.

ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม เหมือนกับครั้งที่แล้วที่มีการอภิปรายจนปิดสมัยประชุมสภาฯ ดังนั้น อย่าเพิ่งไปเดา หรือสงสัยอะไรเลย เพราะตามข้อบังคับสภาฯ กำหนดไว้ว่า ประธานสภาจะต้องตรวจสอบรายชื่อและวินิจฉัยเป็นการด่วน และรีบบรรจุ ดังนั้น โอกาสบรรจุในสมัยประชุมนั้นทัน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเลื่อนประชุมสภาฯ ไปอีก 2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อการออกกฎหมายของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่เป็นห่วงตอนนี้คือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติด ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน

เพราะตามกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ต้องให้เสร็จและประกาศใช้ได้ภายในวันที่ 12 ก.พ. ส่วนร่างรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ประชามติจะไปด้วยกันอาจจะช้านิดหน่อยได้ เพราะมันไม่ได้จะถูกบังคับว่าจะต้องทำภายในเท่านั้นเท่านี้ แต่ขอให้เสร็จเร็วเท่านั้น ขณะที่พ.ร.บ. กสทช. อยู่ในขั้นตอนของวุฒิสภา จวนจะเสร็จแล้ว แต่ยังประชุมกันไม่ได้

กรณีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) หากจะนำมาเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ยังไม่ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากผ่านวาระ 2 และต้องพักไว้ 15 วัน และปรากฏว่าไม่ทันภายในวันที่ 28 ก.พ.อย่างไรรัฐบาลก็จะเปิดการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญให้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรม และร่างพ.ร.บ.ประชามติ

รมช.มหาดไทย “นิพนธ์ บุญญามณี” ถาม “สิระ” มีหน้าที่อะไร เหตุพาผู้ต้องหาขอดูสำนวนคดีฮั้วประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางที่ยังไม่เสร็จสิ้น ทำเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องหรือไม่ พร้อมขู่ว่าการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม.พรรคพลังประชารัฐ ได้นำนายอิทธิพล ดวงเดือน กรรมการบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ผู้ต้องหาในคดีอาญา 1975/2562 ของ สภ.เมืองสงขลา เดินทางมาพบกับ พ.ต.อ.ภูวรา แก้วภารัตน์ ผกก.สภ.เมือง สงขลา

เพื่อไปขอดูสำนวนคดีที่ อบจ.สงขลา แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบริษัทเอกชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ซึ่งมีนายอิทธิพล เป็นกรรมการ และบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จำกัด ซึ่งมี น.ส. ศศิธร ตั้งตรงคิด เป็นกรรมการ ในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสาร และแสดงเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อเข้าประมูลการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางและร่วมกันสมยอมราคาอันเป็นเหตุให้ อบจ.สงขลา ได้รับความเสียหาย ว่า คดีดังกล่าวยังเป็นคดีที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน

ซึ่งตนมีข้อสังเกตว่า นายสิระ เป็นส.ส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐนั้น มีอำนาจมาขอดูสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นหรือไม่ เพราะนายสิระไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องใด ๆ กับคดี อีกทั้งยังมีข้อน่าสังเกตว่า น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ก็มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เช่นกัน ดังนั้นการที่นายสิระ ซึ่งเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาขอดูสำนวนคดีดังกล่าวกับพนักงานสอบสวน จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และบริษัทพลวิศว์ฯ หรือไม่

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า "ในฐานะที่ตนเป็นอดีตนายก อบจ. สงขลา ข้อเท็จจริงต่างๆ เรื่องนี้อยู่ในสำนวนสอบสวนอยู่แล้ว เหตุเพราะอบจ.สงขลา ได้รับหลักฐานที่ บริษัท พลวิศว์ ฯ และบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค ใช้ประกอบยื่นซองประกวดราคาว่าทั้ง 2 บริษัท ยื่นเอกสารปลอมต่อ อบจ.สงขลา และน่าเชื่อว่ามีการฮั้วประมูลกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิสูจน์ความจริงกันไปตามกระบวนการ ดังนั้นทุกฝ่ายไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรจะมีใครใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนในชั้นพนักงานสอบสวนถือเป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น รวมทั้งในเรื่องนี้ เมื่อ อบจ. และผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วก็ขอให้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ขอให้นายสิระระวังเพราะถ้าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ"

"การจะมากล่าวอ้างใดๆ อีกนั้น ผมคิดว่าเป็นการไม่เหมาะสม เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นวุฒิภาวะที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และโดยปกติการกระทำการใดๆ โดยใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบก็หมิ่นเหม่ต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้ต้องบอกให้ชัดว่านายสิระทำในนามส่วนตัว หรือทำในนามคณะกรรมาธิการ ของสภาฯ" นายนิพนธ์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ เผย แพทย์และพยาบาลเป็นด่านหน้าในการจัดการโรคระบาดโควิด-19 มีความเสี่ยงสูง จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก แต่ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการจัดหาวัคซีน covid-19 โดยระบุว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย จะได้วัคซีนอย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะรับเข้ามาก่อน 2 แสนโดส และจะครบตามจำนวน 2 ล้านโดส ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ในอนาคต อาจจะได้วัคซีนเร็วกว่านี้ เพราะกำลังเจรจากับผู้ผลิตอีกหลายราย

การเร่งนำวัคซีนเข้ามาก่อนนั้น ส่วนสำคัญมาจากพบการระบาดรอบใหม่ จึงจำเป็นต้องปกป้องดูแลประชาชนก่อน จำเป็นต้องมีการปรับแผน เพื่อให้ได้วัคซีนเร็วขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณานำเข้ามานั้น วัคซีนต้องผ่านการรับรองโดยประเทศต้นทางว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัย เมื่อมาถึงประเทศไทยจะมีกระบวนการตรวจสอบอีกหลายชั้น เพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด

การตกลงซื้อมาคราวละ 2 ล้านโดส เป็นแผนการจัดซื้อ ซึ่งต้องเร่งหามาให้แพทย์ พยาบาล นักรบด่านหน้าก่อน เพราะกลุ่มนี้ มีบทบาทสำคัญในการจัดการโรคระบาด ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งเราจะสูญเสียบุคลากรการแพทย์ไม่ได้ จึงจัดหาวัคซีนมาปกป้อง

จากนั้น เราจะมีวัคซีนของแอสตราเซนนิกา สำหรับฉีดให้ประชาชนที่เหลือต่อไป ระหว่างนั้น จะมีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาให้พิจารณาเพิ่มเติม ภาครัฐ จะจัดหาเข้ามาใช้แน่นอน และยืนยันว่าการฉีดเข้าร่างกายคนไทย จะเกิดขึ้นเมื่อวัคซีนนั้น ได้รับการตรวจสอบยืนยันแล้วว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

ส่วนเรื่องการล็อกดาวน์ ไม่มีใครอยากให้ไปถึงจุดนั้น ซึ่งในการระบาดรอบแรก ประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ เพราะคนไทยช่วยกัน รอบนี้ หากคนไทยยังคงความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ ทุกคนจะก้าวผ่านไปได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญคือกรุณาปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด เกิดจากการลักลอบเข้าเมืองใช่หรือไม่ เกิดจากการไปเที่ยวบ่อนใช่หรือไม่ ล้วนเป็นกิจกรรมผิดกฎหมาย ประชาชน ต้องช่วยกัน ส่วนภาครัฐต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาด

ระหว่างที่รอวัคซีนอยู่นี้ จำเป็นต้องบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกัน และเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอ ทั้งในเรื่องของการใช้ และการหามาเพิ่มในสต็อก รวมไปถึงความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อาทิ การตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งสามารถตั้งได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานในการควบคุม และรักษาโรค มีแผนการตลอดว่า ถ้าเจอผู้ติดเชื้อ ใน 24 ชั่วโมงต้องทำอย่างไร ใน 48 ชั่วโมง ต้องทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ ปฏิบัติได้ตามแผน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งคุมเข้มทุกโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มเหมืองแร่ใน 28 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงสุด เฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั้ง 28 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีสถานประกอบการรวมกว่า 49,391 โรงงาน จำนวนคนงานกว่า 3.02 ล้านราย

รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร และผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้ให้ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ให้ติดต่อไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในหรือนอกโรงงาน

โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุดพิจารณาดำเนินการ เช่น ปรับเวลาการปฏิบัติงานของคนงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 , คัดกรองพนักงานทุกคน ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจสอบประวัติการเดินทาง , สุ่มตรวจหาเชื้อโควิดในพนักงาน , เตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่ติดเชื้อ , ใช้แอปพลิเคชัน หมอชนะในการมอนิเตอร์ ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานติดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือติดการแถลงข่าวของรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของบุคลากรข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน ดังนี้

1.) ปรับเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

2.) Work From Home ร้อยละ 50 ของบุคลากร โดยพิจารณาให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่แต่ละส่วนงานขยับเวลาการทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทาง ลดความแออัดในการใช้สถานที่ด้วยการปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับการทำงาน อาทิ การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล แอปพลิเคชันไลน์ หรืออีเมล์มาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้มีข้อติดขัด หรือเกิดปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าจะปรับมาตรการในการทำงาน แต่ภารกิจในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงฯ ก็ยังจะสามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้มีความต่อเนื่อง และมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างได้ผล

3.) คัดกรองเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานในกระทรวงอุตสาหกรรม (ตรวจวัดอุณหภูมิ)

4.) ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด DMHTT (Distancing / Mask Wearing / Hand Washing / Testing / Thai Cha Na)

5.) รณรงค์ให้ใช้ Application หมอชนะในการ Monitor ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

"ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการออกประกาศ และออกหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามแนวป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำการปรับมาตรการในการทำงานจะไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top