หนี้ครัวเรือน ของไทยยังพุ่งไม่หยุด หลังแบงก์ชาติ เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 63 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อ GDP ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 64 คนไทยอาจต้องแบกหนี้ ทะลุ 91% ต่อ GDP หากสถานการณ์โควิดยังลาม
จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี (จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563) นั้น
จากข้อมูลดังกล่าวของธปท. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2563 โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ ยังคงขยับขึ้นอีกประมาณ 1.60 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งในไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นราว 1.82 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 13.77 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่น ๆ (ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ อย่างหนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/2563 อีกครั้ง จากที่มีทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2/2563 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก
ปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรงจากความเสี่ยงโควิด-19 และหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 น่าจะเพิ่มความเปราะบางทางการเงินให้กับครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
ความเปราะบางทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้นตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 ของสำนักงานสถิติที่พบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สวนทางกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ระดับการออมของครัวเรือนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด
หากดูลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับครัวเรือนเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในขณะที่ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40% โดยภาพดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาในปี 2563
ต่อภาพไปในปี 2564 คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 และน่าจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ที่รวมๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 10.68 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธปท. ณ เดือน ต.ค. 2563)
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่ จะสะท้อนว่าลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการฯ และลูกหนี้บางส่วนได้รับการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2564 อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีนัยโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้ GDPในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%
ทั้งนี้ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้