Sunday, 19 May 2024
NEWS FEED

นายกรัฐมนตรี เล็งใช้วิธีขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวชั่วคราวบัตรสีชมพู แก้ปัญหา พร้อมอบหมาย ก.มหาดไทยและก.แรงงาน แบ่งโซนตามพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด วอนชาวโซเชี่ยลหยุดขยายความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า เท่าที่ได้รับรายงานในขณะนี้ทราบว่าสถิติการติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มลดลง เนื่องจากมีการตรวจสอบและควบคุมพื้นที่มากขึ้น ส่วนใดที่เป็นอุปสรรคปัญหาตนได้มอบหมายทุกหน่วยงานไปแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหากวิเคราะห์สาเหตุขั้นต้นมาจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากถูกกฎหมายอยู่ในประเทศไทยมานานไม่มีปัญหา เว้นแต่ผู้ที่ลักลอบ จึงต้องขจัดขบวนการลักลอบให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ตนมีความกังวลกับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและมีการหลบเลี่ยง จากผู้ที่เห็นแก่ตัวที่จ้างงานโดยไม่จ่ายค่าแรงตามกำหนดและมีขบวนการนำส่งแรงงานกลุ่มนี้เข้ามา วันนี้จึงกำลังรื้อทั้งหมดให้ติดตามขบวนเหล่านี้

"สิ่งที่กังวลเรื่องเดียว ขณะนี้คือมีบางโรงงานหรือหลายโรงงานใช้แรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายเอาไปปล่อยในพื้นที่อื่น ๆ หรือลาออกจากงาน เมื่อเช้าก็ได้สั่งการ ศบค. ให้หามาตรการตรงนี้มาว่าจะทำยังไง โดยให้แนวทางไปว่า ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดู เหมือนสมัยที่ขึ้นทะเบียนแรงงานสมัยก่อนมีวิธีการขึ้นทะเบียนชั่วคราว โดยใช้บัตรสีชมพูไปก่อน ซึ่งกำลังดำเนินการตรงนี้ เพราะถ้าเราไปดำเนินการอย่างเข้มข้นมากเกินไปก็มีการเอาแรงงานนี้ไปปล่อยที่อื่น ขณะนี้จึงหากำลังหามาตรการเหล่านี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างกัน โดยในการประชุม ศบค. ในวันพรุ่งนี้(24 ธ.ค.) ก็จะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปในส่วนของมาตรการในช่วงนี้ รวมถึงในช่วงปีใหม่ และจะกำหนดพื้นที่ทั้งหมดว่าจะดำเนินการในพื้นที่ตรงไหนอย่างไร แบ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดมากและแพร่ระบาดน้อย พื้นที่ความเสี่ยงมากหรือความเสี่ยงน้อย โดยจะกำหนดพื้นที่ทุกจังหวัด ให้เป็นสีต่าง ๆ สีเขียว สีส้ม และสีแดง เพื่อมีมาตรการเฉพาะลงไปว่าทำอย่างไรได้บ้าง เราต้องเตรียมการไว้เช่นนี้ จึงขอแจ้งเตือนให้ทุกคนได้รับทราบว่าเราอาจจะต้องลำบากและเสียสละ เพราะถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ในช่วงนี้ มันก็คือปัญหาต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องการนำเสนอข่าว ขอให้รับฟังข้อมูลจาก ศบค. อย่าเอาข้อมูลจากที่อื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องหรือพิสูจน์ไม่ได้ไปเผยแพร่ เพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก และสร้างความรับรู้ไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังยืนยันว่าตอนนี้เป็นการระบาดแบบรู้ที่มา

และเรามีมาตรการเฉพาะต่าง ๆ รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วนทุกอย่าง ยังสามารถรับมือได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะกลายไปสู่ประเทศไทยกลับมาระบาดร้ายแรงอีก ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในด้านสาธารณสุขไทย ย้ำว่าเราทำมากกว่าหลายประเทศ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนอะไรที่พูดจาออกมาโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงบางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งตนรับฟังทุกส่วน แต่ต้องแยกแยะว่า เรื่องใดเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ

"ขอร้องบรรดาผู้ที่ชอบออกมาทางโซเชียล เอาข้อมูลเท็จข้อมูลอะไรออกไปทั้งหมด แพร่ระบาดไปแล้วโน่นนี่ มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับประเทศไทยของเรา คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาไม่ใช่ปกปิด แต่ต้องเอาข้อมูลที่แท้จริงบางทีไปเขียนอะไรที่ไม่มีความรู้ ผมก็ไม่โทษเพียงแต่ขอร้องและให้ทุกคนมองว่าประโยชน์ของชาติอยู่ตรงไหน แล้วเราจะอยู่กันยังไงต่อไปถ้าจะอยู่อยากให้ดีขึ้นก็ต้องช่วยกัน สิ่งดี ๆ เยอะแยะไป อย่าไปขยายความขัดแย้งกันมากนัก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

"อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล" ส.ส.พรรคก้าวไกล เรียกร้อง ผบ.ตร.หยุดใช้ ม.112 ที่มีอัตราโทษสูง - มีปัญหาในทางปฏิบัติ มาทำลายผู้เห็นต่าง หวั่นซ้ำเติมความแตกแยก

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ใช้สิทธิปรึกษาหารือในการประชุมสภากับทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงประเด็นการออกหมายเรียกตามมาตรา112 ที่ขาดความชอบธรรม

นางอมรัตน์ กล่าวว่า มีจำนวนคดีที่พุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 40 คดีในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา หลังจากไม่มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้มานานถึง 2 ปีเศษ โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามี นักศึกษา ประชาชน ไม่เว้นแม้แต่นักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปีก็ถูกหมายเรียกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

นางอมรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นมาตราที่มีอัตราโทษสูงคือจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี สูงเทียบเท่ากับโทษฐานเตรียมการก่อการกบฏ และอัตราโทษยังเทียบเท่ากับโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาด้วย และยังไม่นับว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ

ในทางปฏิบัติยังมีความบกพร่องในหลักฐาน ขาดความรัดกุมรอบคอบเพราะความเร่งรีบออกหมายเรียก รวมทั้งข้อกล่าวหายังขาดน้ำหนัก ดูเลื่อนลอย และยังขาดองค์ประกอบความผิดที่ชัดเจน อีกทั้งในหลายกรณีเป็นการออกหมายเรียกที่มีการตีความเกินเลยขอบเขตของกฎหมายไปมาก

"ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแจกคดีเพื่อปิดปากผู้ที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝั่งตรงข้ามกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เพื่อสนองคำประกาศของนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่มาจัดการกับผู้ชุมนุมขับไล่ตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมโลกก็ยังได้ตั้งคำถามต่อการใช้กฎหมายมาตรานี้ด้วย โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถึงกับออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ไทยยุติการใช้มาตรา 112 กับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติและแสดงความกังวลอย่างยิ่งที่ใช้กับผู้เยาว์อายุเพียง 16 ปี " นางอมรัตน์ ระบุ

นางอมรัตน์ จึงได้กล่าวเรียกร้องไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่า อย่านำกฎหมายนี้มาใช้อย่างพร่ำเพรื่อหรือสมยอมให้ใช้กฎหมาย นี้เพื่อสนองผู้มีอำนาจใช้ทำลายล้างผู้เห็นต่าง ซึ่งการใช้กฎหมายนี้จัดการผู้เห็นต่างจะไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องรักษาพระเกียรติและต้องช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน รวมทั้งยิ่งมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะยิ่งสร้างความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

รองนายกรัฐมนตรี ‘วิษณุ เครืองาม’ ยันกฎหมายเดิมเอาอยู่ ไม่ต้องรีบดำเนินการออกเป็น พ.ร.ก. ในส่วนของแรงงานเถื่อน ขณะเดียวกันเชื่อว่า ข้าราชกาลมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต้องของตรวจสอบก่อน หวั่นเป็นการกลั่นแกล้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจแก้ และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะบรรจุทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ เนื่องจากเหลือเพียง 2 เดือน

โดยกฎหมายข้างต้น ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. และไม่ใช่กฎหมายปฎิรูป จึงไม่ต้องรีบดำเนินการเพราะมีกฎหมายเดิมควบคุมดูแลได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาแต่ละพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถตัดสินใจ และบริหารจัดการได้เอง

ในส่วนการปราบปรามแรงงานที่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมาย ได้มีการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดย นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับให้ตรวจตราเนื่องจากมีการรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ พลเรือน อาสามัคร นายจ้าง นายหน้า เกี่ยวข้องกับขบวนการแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย จึงได้มีการกำชับให้มีการตรวจสอบและกวาดล้างผู้กระทำความผิด นายวิษณุ เชื่อว่า มีข้าราชการเกี่ยวข้องแต่จำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน เพราะอาจเป็นการร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งกัน

พบผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ขั้วโลกใต้ สถานีวิจัย Bernardo O'Higgins Research Centre

ในที่สุด Covid-19 ก็สามารถเจาะพื้นที่สุดท้ายของโลก ทวีปแอนตาร์กติกา ดินแดนขั้วโลกใต้ที่เป็นทวีปสุดท้ายที่ยังไม่มีเชื้อ Covid -19 เข้าจนได้ เมื่อล่าสุดทางชิลีได้รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อแล้วถึง 36 ราย ซึ่งเป็นทีมงานในสถานีวิจัยแห่งหนึ่งของชีลี

การค้นพบผู้ติดเชื้อครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากกองทัพชิลี เมื่อมีการส่งเรือ Sargento Aldea ซึ่งบรรทุกเสบียง และอุปกรณ์ที่จำเป็นไปส่งให้เจ้าหน้าที่ ที่ประจำอยู่ Bernardo O'Higgins Research Centre หนึ่งในสถานีวิจัยของชิลีที่ตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยก่อนการเดินทาง ลูกเรือได้ตรวจร่างกายทุกคน และไม่มีใครติดเชื้อ Covid-19 แต่หลังจากที่เรือกลับมาถึงท่าเรือชิลี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปรากฏว่าพบลูกเรือติดเชื้อ Covid-19 กลับมาถึง 3 คน

ทางกองทัพชิลีจึงรีบจัดส่งชุดตรวจ Covid-19 ไปที่สถานีวิจัย Bernardo O'Higgins และก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัยแห่งนี้ ติดเชื้อ Covid-19 แล้วถึง 36 คน จึงต้องรีบพาผู้ติดเชื้อทั้งหมดกลับมารักษาตัวที่ชิลีทันที

และเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าเจ้าเชื้อไวรัส Covid-19 ครองโลกครบ 7 ทวีปเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักจากการแพร่ระบาด Covid-19 ดินแดนแห่งขั้วโลกใต้เป็นทวีปสุดท้ายของโลกที่ยังสงบ ปราศจาก Covid มาตลอด แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น

ถึงแม้ว่าทวีปแอนตาร์กติก้า จะไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ และทีมสำรวจที่เข้าพื้นที่ไปศึกษาธรรมชาติ ที่จะมีประชากรชาวโลกอยู่ประมาณ 4,000 คนในช่วงฤดูร้อน และลดลงเหลือ 1,000 คนในช่วงฤดูหนาว บนพื้นแผ่นดินแช่แข็งเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ ห่างไกลสังคมเมืองมนุษย์

แต่เมื่อไวรัส Covid-19 ได้บุกมาจนถึงขั้วโลกใต้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบต่อนักวิจัยที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งอาจต้องระงับภารกิจ เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ ตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้

เพราะสิ่งที่นักวิจัยกลัว ไม่ใช่แค่การแพร่ระบาดในทีมงานที่อาศัยอยู่ที่นั่น แต่กลัวผลกระทบที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสู่สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ในพื้นที่ ที่อาจนับได้ว่าเป็นดินแดนที่บริสุทธิ์ที่สุดในโลก

และการนำเชื้อโรคชนิดใหม่เข้าไปในพื้นที่แห่งนี้ อาจนำไปสู่หายนะที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้


แหล่งข่าว

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-55410065

https://www.theguardian.com/world/2020/dec/22/covid-cases-recorded-in-antarctica-for-first-time

https://news.sky.com/story/covid-19-coronavirus-finally-reaches-antarctica-as-36-test-positive-at-chilean-base-12169876

ชาวนาเตรียมเฮ หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เคาะเกณฑ์จ่ายประกันรายได้ชาวนา งวดที่ 7 ระบุข้าวหอมมะลิได้ชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 36,043 บาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 งวดที่ 7 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูล ของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 76,551 ครัวเรือน จึงขอแจ้งข่าวสารให้พี่น้องเกษตรกรทราบ

โดยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 งวดที่ 7 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2563 มีดังนี้คือ

1.) ข้าวเปลือกหอมมะลิ เกณฑ์กลางตันละ 12,425.46 บาท ชดเชยตันละ 2,574.54 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 36,043.56 บาท

2.) ข้าวเปลือก หอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 11,982.48 บาท ชดเชยตันละ 2,017.52 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 32,280.32 บาท

3.) ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,429.59 บาท ชดเชยตันละ 570.41 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 17,112.30 บาท

4.) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,465.25 บาท ชดเชยตันละ 534.75 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 13,368.75 บาท และ

5.) ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 11,400.10 บาท ชดเชยตันละ 599.90 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 9,598.40 บาท โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูล ของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 76,551 ครัวเรือน

สำหรับประกาศราคาเกณฑ์กลางนี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในเรื่องการกำหนดราคาเกณฑ์กลางไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 จากนั้น ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่จ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกรภายใน 3วันทำการ

โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับเงินในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2563 ซึ่งโครงการดังกล่าวทางรัฐได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 โดยในงวดแรกได้ออกประกาศและจ่ายส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 และไล่มาเรื่องๆ จนปัจจุบันที่อาจเป็นงวดสุดท้ายของปีซึ่งเป็นงวดที่ 7 และงวดต่อเริ่มสัปดาห์แรกของปี 64 โดยจะเหลือชาวนาอีกไม่กี่รายที่ยังรอการเก็บเกี่ยว

ศรีสุวรรณ จรรยา เผยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรียกไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติม กรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และคณะก้าวหน้า เข้าข่ายสมคบกันดำเนินกิจการเฉกเช่นพรรคการเมืองหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมฯ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวนคณะผู้ก่อตั้งคณะก้าวหน้าทั้งหมด รวมทั้งผู้สมัคร นายก อบจ. และ ส.อบจ. ทั่วประเทศในนามคณะก้าวหน้า ว่าเข้าข่ายสมคบกันในการดำเนินกิจการเช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560) ม.111 หรือไม่ หากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือมีความผิด ให้ดำเนินการเอาโทษทางกฎหมายและเพิกถอนสิทธิในการสมัคร อบจ.ด้วย

ล่าสุด ประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีหนังสือด่วนที่สุดมายังผู้ร้อง เพื่อไปให้ถ้อยคำพร้อมพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง อันเกี่ยวกับพฤติการณ์หรือการกระทำของคณะผู้ก่อตั้งหรือกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ว่ามีลักษณะการดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมืองอย่างไรบ้างด้วย โดยให้ผู้ร้องไปให้ถ้อยคำในวันพฤหัสที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2563 นี้ เวลา 13.30 น.

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า "สืบเนื่องมาจากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และน.ส.พรรณิการ์ วานิช ได้ร่วมกันตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมาโดยมีการกำหนดตำแหน่งประธาน กรรมการ และเลขาธิการ โดยมีภาพเครื่องหมายของคณะเช่นเดียวกันกับพรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมือง .

เช่น การจัดประชุมเปิดตัวผู้สมัคร และส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.) กว่า 42 จังหวัด ทั่วประเทศในนามกลุ่มก้าวหน้า โดยใช้สัญลักษณ์หรือโลโก้กลุ่มในสื่อหาเสียงต่าง ๆ และนายธนาธร นายปิยบุตร และน.ส.พรรณิการ์ ก็ไปร่วมปราศรัย เดินรณรงค์หาเสียงเฉกเช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน"

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พฤติการณ์หรือการกระทำดังกล่าวของนายธนาธร นายปิยบุตร และน.ส.พรรณิการ์ กับพวก จึงเป็นการสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปดําเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง จึงอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พรป.พรรคการเมือง 2560 ม.111 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปดําเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง หรือผู้ใดดําเนินการไม่ว่าด้วยวิธีใดให้เข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เสนอคณะรัฐมนตรี ตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ใช้นักโทษพ้นคุก ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล แทนแรงงานเถื่อน พร้อมสั่ง 27 เรือนจำ งดเยี่ยมนักโทษชั่วคราว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในเรือนจำทั่วประเทศ ยังไม่พบว่ามีนักโทษติดเชื้อ แต่ได้มีการปรับรูปแบบการเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ และขอให้งดเยี่ยมชั่วคราวจำนวน 27 เรือนจำ ซึ่งรวมถึงเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร และใกล้เคียงด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กรณีแรงงาน จ.สมุทรสาคร อยากจะเสนอนิคมอุตสาหกรรมแรงงานราชทัณฑ์ที่จะนำผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษไปอยู่ เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เพื่อเติมเต็มในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปีข้างหน้า เพราะแรงงานต่างชาติที่เข้าออกโดยผิดกฎหมาย ก็เป็นอันตรายอย่างที่เห็นในทุกวันนี้"

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญ หรือใช้ทักษะอะไรพิเศษ เพราะเป็นแรงงานที่นำไปแกะกุ้ง หอย ปู ปลา ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน ก็สามารถฝึกหัดให้เกิดความชำนาญแล้ว"

"ทั้งนี้ จากการเก็บสถิติผู้ต้องขัง พบว่า มีผู้ต้องขังจำนวน 35% ที่พ้นโทษออกไปแล้ว ต้องการมีงานทำ ขณะที่อีกประมาณ 50%มีพ่อแม่เลี้ยงดู และส่วนน้อย 15% ที่ไม่อยากทำงาน"

"สำหรับจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องการทำงานประมาณ 35% นั้น เมื่อคิดเป็นจำนวนแรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 5 - 7 หมื่นคน ที่จะไปทำงานในลักษณะนี้ เพื่อเป็นการฝึกอาชีพให้คนมีงานทำ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแต่คิดว่าจะสามารถตอบโจทย์แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และไม่ได้มีการตรวจเช็คเชื้อโควิด-19 และผ่านการคัดกรอง ถ้าทำแบบนี้เราก็จะสามารถตรวจสอบได้"

ที่ประชุมครม. อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 64 โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ทำให้ทาง ครม. มีการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ยังมีหลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น นั้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายปี 64 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบช่วง คือ 1 – 3% ให้เป็นรูปแบบเดียวกับปี 63 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะร่วมกัน ติดตามความเคลื่อนไหวเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2565 - 2568 เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ รองรับสถานการณ์และความเสี่ยง พร้อมลดการขาดดุล มุ่งสู่การทำงบประมาณสมดุลในระยะยาว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 – 2568) รายละเอียด ดังนี้

1.) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 ในปี 2567 และร้อยละ 3.2-4.2 ในปี 2568 ตามลำดับ

2.) สถานะและประมาณการการคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2565 - 2568 จะอยู่ที่ 2,400,000 ล้านบาท 2,490,000 ล้านบาท 2,619,500 ล้านบาทและ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ โดยประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service)

รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

สำหรับประมาณการงบประมาณรายจ่าย ปี 2565-2568 อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท 3,200,000 ล้านบาท 3,310,00 ล้านบาท และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 710,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 690,500 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 669,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 จำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับร้อยละ 57.6, 58.6, 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ

3.) เป้าหมายและนโยบายการคลัง เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย

(1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

(2) Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ

(3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย

กบง.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจีต่ออีก 3 เดือน ขยายเพิ่มจากมาตรการเดิมทที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบมาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ขายส่งหน้าโรงกลั่น ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ออกไปอีก 3 เดือน

จากเดิมมาตรการสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาระเกิดขึ้นกับประชาชน ที่ประชุมเลยขยายมาตรการต่ออีก 3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวเดิมได้ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.และจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63

ซึ่งการคงราคาครั้งนี้ได้มอบให้ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปดูว่ามีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลอย่างไรบ้าง โดยทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top