จบไปแบบยังไม่แห้งดี (จบแบบหมาดๆ) สำหรับซีรี่ส์เกาหลีส่งท้ายปี START-UP
เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ซีรี่ส์ส่งท้ายปีเท่านั้นนะ ยังเป็นซีรี่ส์เกาหลีแห่งปี 2020 อีกด้วย เหตุที่ต้องยกตำแหน่งนี้ให้อย่างไม่เป็นทางการ เพราะทันทีที่ซีรี่ส์ดังกล่าวถูกปล่อยสตรีมมิ่งลง Netflix เรตติ้งก็ดีเว่อร์ กระแสความคลั่งไคล้ในเรื่องราวและเหล่าตัวละครก็พรึ่บพรั่บมาแรงแซงทุกเรื่องแบบไม่เห็นฝุ่น
แรกทีเดียว ฟังแค่ชื่อ START-UP คงพอเดาได้ว่า เป็นเรื่องราวแนวธุรกิจยุคใหม่ การแข่งขันทางเทคโนโลยี แต่ซีรี่ส์เรื่องนี้ทำได้ดีกว่านั้นมากกกกก! ทั้งผูกเรื่องราวได้น่าสนใจ ตัวละครแทบทุกตัวมีมิติ และสะท้อนโลกของคนรุ่นใหม่ (ในแบบเกาหลีใต้) ได้อย่างน่าสนใจ
เอาเป็นว่า ใครที่ยังไม่เคยดู สามารถตามดูย้อนหลังได้แบบรวดเดียวจบได้เลย นี่เป็นข้อดีของการดูซีรี่ส์ยุคสตรีมมิ่งออนไลน์ แต่สำหรับใครที่ยังไม่เชื่อกระแสการตลาดแบบปากต่อปาก ประมาณว่า บอกว่าดี ดี ดี กันปากต่อปาก จนสุดท้ายก็ต้องเข้าไปดู เอาอย่างนี้แล้วกัน เรามี 20 เรื่องราวของซีรี่ส์นี้ ให้คุณได้ลองอ่านดูก่อน
ไม่ต้องกลัวว่าเราจะบอกเรื่องย่อ หรือไคลแมกซ์ของเรื่องหรอกนะ แต่เป็นการจับเอา ‘คุณค่า’ ที่ได้จากซีรี่ส์เรื่องนี้ เรียกว่าเป็นคุณงามความดี ที่ไม่ได้ดีแค่นางเอกสวย พระเอกหล่ออย่างเดียว ลองตามไปอ่านดูกัน
1 ซี่รี่ส์ START-UP แม้ชื่อจะฟังดูร่วมสมัย เป็นเรื่องของคนยุคใหม่ แต่ภาพหลังของเรื่องราวทั้งหมด คือความรัก ความผูกพันของคนในครอบครัว จากต้นเรื่องที่ดูเหมือนครอบครัวตัวละครต่างแตกแยก แต่ท้ายที่สุด ความรักและความผูกพันก็ทำให้พวกเขากลับมาพร้อมหน้ากันในที่สุด
2 ซีรี่ส์พยายามจะบอกว่า ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้ สะท้อนได้จากกลุ่มตัวละครในบริษัท ซัมซานเทค ที่ประกอบไปด้วย นัมโดซาน คิมซงซาน และอีชอลซาน แม้แรกเริ่มพวกเขาจะอยู่ในบริษัทอันซอมซ่อ แถมแต่ละคนยังพูดจาไม่รู้เรื่อง ดูเป็น underdog มากๆ แต่ด้วยความกล้า ลุย อดทน และมีความแตกต่าง สุดท้ายพวกเขาก็ประสบความสำเร็จจนได้
3 หลายๆ ฉากของซีรี่ส์เรื่องนี้ สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่า Startup ในโลกที่คนอยากทำ Startup ต้องเจอ นั่นคือ ต้องอึด ถึก ทน กินอยู่ หลับนอน และทำงาน อยู่ในออฟฟิศนั่นล่ะ
4 ซีรี่ส์นี้ยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าคิดจะทำธุรกิจ Startup ก็อย่าได้กลัวความล้มเหลว ดังสัญลักษณ์ของอาณาจักร Sand Box ในเรื่อง (ทำหน้าที่คล้ายๆ Silicon Valley ในโลกสตาร์ตอัพจริง) ที่ใช้ภาพเด็กผู้หญิงกำลังแกว่งไกวชิงช้า โดยมีที่มาจากการที่ตัวละครหนึ่งเคยนำทรายไปถมเพื่อให้ลูกเล่นชิงช้า พร้อมกับสะท้อนการทำธุรกิจว่าเหมือนกับการเล่นชิงช้านั้น อย่ากลัวที่จะทำอะไรใหม่ๆ ถ้าพลาด หรือตกลงมา ก็ยังมีพื้นทรายที่รองรับ มันก็แค่เจ็บ แต่ไม่ถึงกับตาย จงกล้าที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
5 ซีรี่ส์นี้เหมือนจะเป็นซีรี่ส์ของคนรุ่นใหม่ แต่ตัวละครสำคัญของเรื่องล้วนผูกไว้กับ ‘คนรุ่นก่อน’ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับ ‘คุณย่าชเววอนด็อก’ ซึ่งเป็นคุณย่าของนางเอก เธอเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของเด็กๆ ทุกคนในเรื่อง แถมยังมีประโยคคำสอนมากมาย สุดท้ายซีรี่ส์นี้กำลังจะบอกว่า โลกนี้ล้วนอยู่ได้ด้วยความเก่าและใหม่ ที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของกันและกัน เพียงแต่ต้องผสานให้เป็นหนึ่งเดียว
6 คุณงามความดีของซีรี่ส์นี้อีกประการ ตัวละครรุ่นใหม่พยายามสร้างธุรกิจใหม่ๆ ก็จริง แต่สุดท้ายพวกเขาไม่ได้สร้างเพื่อต้องการ ‘ความร่ำรวย’ หากแต่สร้างเพื่อ ‘ประโยชน์’ ให้กับผู้คน สะท้อนได้จากกลุ่มบริษัทซัมซานเทคที่พยายามทำแอปฯ ที่ชื่อ นันกิล เพื่อไว้ใช้นำทาง และบอกข้อมูลต่างๆ ให้กับคนพิการทางสายตา
7 ‘ความรวย’ ไม่ใช่คำตอบสำหรับซีรี่ส์เรื่องนี้ หลากหลายตัวละครที่อยู่บนฐานะที่ร่ำรวย อาทิ ชาอาฮยอน (แม่ของนางเอก) หรือ วอนอินแจ (พี่สาวนางเอก) แรกเริ่มเดิมที ทั้งสองคนต่างอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงแยกครอบครัวไปอยู่กับพ่อเลี้ยงคนใหม่ แต่สุดท้าย เงิน ก็ไม่ใช่คำตอบของชีวิต หากแต่คือความเป็นตัวของตัวเอง และการได้พิสูจน์ความสามารถที่แท้ของตัวเองต่างหาก
8 ซอดัลมี คือนางเอกของเรื่อง เหมือนเป็นตัวแทนของผู้หญิงในโลกนี้ที่ไม่ได้สวยที่สุด เก่งที่สุด แถมครอบครัวก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ปลุกเร้าให้เธอต้องก้าวขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง เพราะการจากไปของพ่อ และอยากให้ย่าเลิกขายฮอตด็อก และสุดท้าย อย่าเพิ่งตัดสินว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง จนกว่าเขาจะได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง
9 ในมุมกลับกัน นัมโดซาน พระเอกของเรื่อง มีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อและแม่ต่างเป็นห่วงในอนาคตของเขา แม้จะไม่ชอบใจในสิ่งที่ลูกชายทำก็ตามที (ก่อตั้งบริษัทซอมซ่อที่ชื่อ ซัมซานเทค) แต่พวกเขาก็เหมือนลมใต้ปีก ที่คอยอุ้มและส่งแรงให้ลูกชายได้บินขึ้นไปสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จ
10 มาสู่เรื่องเบาๆ กันบ้าง ซีรี่ส์เรื่องนี้ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นซีรี่ส์เกาหลีอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ ต้องมีฉากกินข้าวร่วมกันของครอบครัว (ที่แทบทุกเรื่องต้องมี) และต้องเห็นมื้ออาหาร เรื่องนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็น Soft Power ทางวัฒนธรรมเบาๆ ที่แฝงมาจนทำให้เรา (คนดู) อยากกินตามบ้าง
11 ไม่ใช่แค่มื้ออาหาร แต่ร้านอาหาร และร้านร่ำสุรา ก็ต้องมี แน่นอน เครื่องดื่ม ‘โซจู’ ต้องมาเช่นเคย นี่ก็ Soft Power อีกหนึ่งอย่างที่ประสบความสำเร็จเอามากๆ ทุกวันนี้ร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย มีโซจูขายเพียบเลย
12 นอกจากรถแบรนด์หรูจากประเทศเยอรมัน ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับรถยนต์ทุกคันของตัวละครในเรื่อง ซีรี่ส์เรื่องนี้ยังแอบไทอิน หรือมีแอดเวอเทอเรียลแบบเนียนๆ อยู่เป็นระยะๆ (โดยเฉพาะฉากแต่งหน้าของนางเอก) หากไม่สังเกตแบบจ้องจับผิด ก็อาจจะดูไม่ออก ต้องยกความสามารถนี้ให้กับฝ่ายคิดและถ่ายทำ ซึ่งซีรี่ส์เกาหลีนั้น ‘ขายโฆษณาแฝง’ แทบทุกเรื่อง แต่ดูเพลินจนแยกไม่ออกจริงๆ
13 อีกหนึ่งคุณงามความดี คือเสื้อผ้าหน้าผมของทุกตัวละคร ดูลงตัว ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ฉูดฉาดเหมือนซีรี่ส์เกาหลีบางเรื่อง เสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่ล้วนใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน แถมบางชิ้นเห็นมากๆ เข้าก็อยากจะไปส่องตามร้านในเมืองไทยว่ามีขายหรือยัง ภาพรวมเป็นการสไตลิ่งที่สมจริงกับความเป็นคนรุ่นใหม่ในสายงานสตาร์ตอัพ ดูจับต้องได้ และน่าจับต้องอีกด้วย
14 เห็นว่าเป็นซีรี่ส์แนวธุรกิจโลกยุคใหม่ก็ตาม แต่ยังคงความเป็นสไตล์เกาหลี โดยเฉพาะเรื่องการสร้างปมตัวละครอันสุดเฉียบ ยกตัวอย่างเช่น นางเอกมีรักแรกจากเพื่อนทางจดหมาย (ที่เขียนขึ้นโดยพระรอง) แต่แท้จริงพระรองนั้นถูกย่าของนางเอกขอให้ช่วยเขียนให้ แต่ปรากฎว่า ชื่อที่พระรองใช้ กลับเป็นชื่อพระเอก (ตัวจริง) ที่ไปเห็นจากในหนังสือพิมพ์ เนื่องจากพระเอกชนะเลิศการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก เวลาผ่านไป 15 ปี คนทั้งหมดก็วนกลับมาเจอกัน ทำให้เกิดเรื่องราวความรักสามเส้าขึ้น
15 ซีรี่ส์ START-UP เรื่องนี้ ไม่มีตัวร้าย โดยเฉพาะที่ร้ายอย่างไม่มีเหตุผล แต่ไปวางตัวละครที่ต้องมาแข่งขันด้วย ที่เปรียบเหมือนตัวร้ายแบบเบาๆ ส่วนใหญ่จุดหักเหต่างๆ ของเรื่อง มักเกิดจากความผิดพลาดของเหล่าตัวละคร ซึ่งล้วนแต่เกิดมาจากความอ่อนด้อยในประสบการณ์ คนดูที่ติดตาม ก็ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์จากพวกเขาไปปรับใช้จริงได้ด้วยเช่นกัน
16 ปกติคนดูจะลุ้นว่า เมื่อไรพระเอก-นางเอกจะจูจุ๊บกันสักที แต่สำหรับซีรี่ส์เรื่องนี้ การจูบกันของพระนางแทบจะไม่ทำให้คนดูฟิน หรือดูดดื่มแต่อย่างใด แต่ในมุมกลับกัน ดูเป็นการจูบที่เป็นมุษย์มนา เรียกว่ามาตามอารมณ์ของเรื่อง ไม่ใช่เอะอะจูบ เอะจูบจูบ แม้จะไม่ใช่ฉากขายเหมือนหลายๆ เรื่อง แต่ก็เป็นซีนที่ดูจริง และสบายตาสบายใจ
17 อย่างที่บอกไป START-UP เป็นซีรี่ส์ที่ให้รายละเอียดของตัวละครแทบทุกตัว ยกตัวอย่าง พระเอก-นัมโดซาน เป็นคนชอบถักนิตติ้ง เมื่อใดที่เขาโกรธ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาจะถักนิตติ้ง ส่วนนางเอก-ซอดัลมี เมื่อไรที่เธอเอาจริงกับเรื่องอะไรก็ตาม เธอมักจะรวบผมแล้วมัดขึ้นมาอยู่เสมอ แม้แต่ ฮันจีพยอง-พระรอง ตัวละครที่ภาพนอกคือผู้อำนวยการที่แสนจะเพอร์เฟคท์ แต่แท้จริงเขาคือคนเหงาคนหนึ่ง ที่มีเพื่อนคุยคือ คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ตั้งอยู่บ้านเท่านั้นเอง
18 ตัวละคร พระรอง-ฮันจีพยอง เหมือนเป็นภาพสะท้อนของคนยุคปัจจุบัน ที่แม้จะมีต้นทุนในชีวิตที่ต่ำมาก่อน แต่ด้วยความเก่ง และความขยัน ก็สามารถถีบตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นผู้บริหารแถวหน้าได้ แต่ในภาพความสำเร็จ ความร่ำรวย สิ่งที่เขาต้องการ กลับเป็นแค่ความรัก ความเข้าใจ และชีวิตที่เรียบง่าย เหมือนอย่างที่เขามักจะไปหา ‘คุณย่าชเววอนด็อก’ คนที่เคยดูแลเขามาตั้งแต่เด็กๆ ที่ร้านขายฮอตด็อกนั่นเอง
19 แง่งามของ START-UP อีกอย่างคือ ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือคนแก่ ก็สามารถดูซีรี่ส์เรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องธุรกิจคนรุ่นใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ซีรี่ส์ได้ซ่อนการเชื่อมโยงของคนสองเจนเนอเรชั่นเข้าไว้ด้วยกัน คนรุ่นใหม่พร้อมทะยานเพื่อไปสู่อนาคตก็จริง แต่ในเนื้อแท้ พวกเขายังต้องอาศัยประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน เพื่อนำทางไปสู่เป้าหมาย หนำซ้ำ เป้าหมายจริงๆ ที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แค่พิสูจน์ให้คนรุ่นก่อนเห็นว่าพวกเขาทำได้ แต่มันคือภาพของการทำให้คนที่รักมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่างหาก
20 ทำไมคนดูมากมายถึงต่างก็ ‘หลงรัก’ ซีรี่ส์และตัวละครของเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเหมือนตัวแทนของเราที่พยายามจะ ‘ทำตามฝัน’ (Follow your dream) มากไปกว่านั้น คือการไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เหมือนดังเช่นตอนท้ายๆ ของเรื่อง ที่พวกเขาได้กลับไปที่ออฟฟิศเก่าแห่งแรกของตัวเอง พร้อมกับยืนกอดคอกันร้องไห้ สะท้อนให้เห็นว่า ที่สุดแล้วชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยไหนก็ตามที การได้ไปยังสิ่งที่ใฝ่ฝัน แน่นอนว่า มันคือความสำเร็จ แต่ในแก่นแท้ของความสำเร็จแล้ว มันคือการได้เรียนรู้ และได้เห็นการเติบโตของตัวเองตลอดมา