ปีใหม่ ไหว้เจ้า แก้ชง เสริมเฮง อิ่มจุกรอบสถานี MRT วัดมังกร
สุดสัปดาห์เปิดปีใหม่ ไปไหนดี ในกรุงเทพฯ...
เราขอชวน ไปไหว้พระ ตั้งสติ เพิ่มพลังสายมู เสริมความมั่นใจ หรือ ใครจะแก้ชง เสริมความเฮงๆๆ แล้วเดินกิน เดินเที่ยว ถ่ายรูปต่อ ก็เหมาะมาก ที่ย่านนี้ ตั้งแต่ เอ็มอาร์ที สถานีวัดมังกร ตลาดเก่าเยาวราช และ ซอยแปลงนาม ขีดเส้นวนเป็นเลข 8 มงคล ร่ำรวยแบบคติชาวจีนพอดี ดี๊ ดี
เดินทางสะดวกเพราะรถไฟใต้ดินลงสถานีวัดมังกร ออกสตาร์ตกันที่แยกแปลงนาม แล้วไล่เรียงแวะกินบ้าง ดูวิวอาคารเก่าแก่ผสมฝรั่ง จีน ไทย ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนตึกแถวสมัยใหม่สลับเรียงกันไป จนเข้าวัดมังกร แล้วย้อนมาตลาดเก่าเยาวราช และแวะศาลเจ้าลึกลับ สลับกับแวะกระจายรายได้ช่วงโควิดกับ ของไหว้เจ้า สตรีทฟู้ด และสินค้าในตลาดสด ก่อนวนกลับมาทะลุปลายถนนแปลงนาม แวะวัดญวนสุดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วกินนั่น รับประทานนี่ เสริมแรงเดินเล่นต่อ จนวนกลับมาถึงทางกลับ สู่ MRT จุดสตาร์ท
อิ่มบุญถ้วนหน้า แก้ชง จากหนักเป็นเบา จากเศร้าเป็นสุข ปลดความห่วยเป็นช่วยเพิ่มความเฮง และอิ่มท้องสบายพุง แล้วยังได้ของอร่อยไปฝากญาติสนิทมิตรสหายช่วงปีใหม่ ก่อนกลับบ้าน พร้อมความปลอดภัย กับหน้ากากและเจล แน่นๆ กันด้วยครับ ถ้าพร้อมก็ตามไปลุยกันได้เลย
ออกสตาร์ทกันที่ MRT สถานีวัดมังกร อาคารงดงามจนต้องก้าวข้ามถนนมาอีกฟากเพื่อชมโฉมสิ่งก่อสร้าง สถานีแห่งนี้อยู่บริเวณถนนเจริญกรุง ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) นับตามลำดับ เป็นสถานีแรกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง – บางแค ด้วยสถาปัตยกรรม จีน-โปรตุเกส หรือคุ้นกันชื่อ สไตล์ ชิโนโปรตุกีส สอดรับกับสภาพแวดล้อมย่านนี้ ซึ่งเราหลงใหลจนเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกตึกสถานีปีกใดเพื่อนำเสนอให้คุณได้ชม สรุปว่า เก็บภาพมาให้ทั้งสองในเฟรมเดียว
ละจากภาพงามของสถานีฯ พอข้ามแยกมาทางปีกถนนแปลงนามฝั่งเหนือ ข้ามมายังพลับพลาชัย ตรงนี้คุณจะได้พบกับร้านค้ากระดาษเงินกระดาษทอง โคม และของประดับ-ประกอบพิธีกรรมแบบจีน สลับแทรกกับบ้านเรือนและร้านค้าสมัยใหม่ แต่เอาล่ะ นี่ยังสายๆ เท่านั้น และกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ถ้าจะไปไหว้แก้ชงกับน้อง...ต้องทำยังไงงง รองท้องก่อนสิคร้าบบบบคุณ
ตรงข้ามกันอีกฝั่งถนนคุณไม่พลาดร้านหอยทอดเด็ด อายุแบรนด์ 30 กว่าปี นายหมงหอยทอด บนถนนฝั่งพลับพลาชัย ปัจจุบันรุ่นลูกชายผู้รับทอดกิจการ เตรียมเอง ทอดเองนักเลงพอ
ที่นีย้ำชัดว่าไม่มีสาขา และมีหอยทอดสองแบบเท่านั้น คือแบบนิ่ม (ออส่วน) และ แบบกรอบ (ออลัวะ) เนื่องจากอร่อยเหาะมาคู่แปลงนามมานานพอสมควร ราคาจานละ 100-200 บาท และอร่อยหนุบ กรุบ ทั้งสองแบบ ก็ถือว่าคุ้มค่า อ้อ นายหมงหอยทอดนี่ รับสายสะพาย Michelin Bib Gourmand 3 ปีต่อเนื่อง 2018-2020 มาแล้วนะจ๊ะ
เดินมาถึงลานก่อนเข้าหมู่วิหาร ในช่วงโควิด 19 ระลอก 2 ถ้าห่างกัน และป้องกันอย่างดี ก็ยังถือว่าปลอดภัย หลายคนมาเยือนกี่คราก็อาจไม่ทราบว่า วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส แห่งนี้ เป็นวัดแม่แบบวัดจีนทั้งหลาย ที่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 โดย สถาปัตยกรรมวัดมีการวางผังตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทางใต้ของจีน สกุลช่างแต้จิ๋ว ตามแบบพุทธศาสนานิกายฌาน
มองภาพรวมคุณจะเห็น ตัวอาคารจะวางผังล้อมลาน หรือ ซี่เตี่ยมกิม ตามแบบอาคารแต้จิ๋ว การจัดวางวิหารถือตามแบบวัดหลวง โดยมีวิหารจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก พระอุโบสถอยู่กลาง ด้านหลังอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์ ส่วนวิหารอื่นๆ อยู่ประกอบสมดุลซ้าย-ขวา
กลุ่มอาคารทั้งหมดประกอบด้วยอิฐและไม้เป็นโครงสร้างสำคัญ ซึ่งศิลปะการก่อสร้างวัดแห่งนี้จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ่ายรูปยังไงก็อลังการ ราวกับคุณอยู่ในหนังจอมยุทธ์ แต่ก็อยากโหวกเหวก ทำบู๊ใส่กัน เพราะอย่างไรนี่ก็คือ สังฆาราม ที่ต้องสำรวมกายและใจ
(อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก อาจารย์สมาน สุดโต นักเขียนสายพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม)
คนส่วนใหญ่ยุคหลัง อย่างผมกับคุณมักจะให้ที่นี่เป็นแหล่งโปรดในการมาปลดเปลื้องทุกข์ขมตรมเศร้า จากคำว่าปีชง ถ้างั้นเราผ่านเข้าไปยังพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานแล้ว สักการะบูชา พระประธานทั้ง 3 คือ พระอมิตาภพุทธเจ้า หรือ อมิตายุ (ซ้าย) พระพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า (กลาง) โคตมพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธที่ชาวพุทธกราบไหว้บูชา และ 3 พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูแห่งยารักษาโรค (ขวา) และหมู่ 18 อรหันต์
ทางด้านปีกขวา ด้านใน และวิหารกลาง ไปจนถึงปีกซาย ยังมี เทพต่างๆ ที่ชาวจีนชาวไทยให้ความเคารพกราบไหว้ตั้งแต่พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ เทพประจำชะตาชีวิต ไท่สวย-ไท่ซุ่ย เทพเจ้าแห่งยา เทพโชคลาภ รวมถึงจตุโลกบาลขนาดใหญ่ที่หน้าประตูทางเข้าในตอนต้น
ที่นี่มีพร้อมสรรพตารางเช็คปีชงสำหรับปีนี้ (2564 ได้แก่ ปี ปีมะแม ปีฉลู ปีมะโรง ปีจอ) และพิธีกรรมแก้ชงแบบที่คุณทำตามคำแนะนำเอง หรือจะถามสงฆ์ที่ประจำการ ให้คำแนะนำได้ตามสะดวก
ความน่ารักทันสมัยและสร้างการมีส่วนร่วมมากไปกว่าการแก้ชงของตัวคุณเองอย่างเดียว คือ แต่ละวิหารของพระและเทพนั้นจะมีเซียมซี เสี่ยงทายดวงชะตาของแต่ละส่วน ทั้งอุโบสถพระประธาน เทพแห่งยา และเทพแห่งโชคลาภ ไม่ว่าคุณจะเขย่าแบบดั้งเดิม หรือจับสุ่มเอาแบบเสี่ยงทายเอาสะดวกและใช้เวลาไม่นาน คำตอบของคุณจะอยู่ที่ คิวอาร์โค้ด เรียงไปตามเลขหมายที่เสี่ยงได้ ซึ่งทำให้ประหยัดเวลาและสนุกไปกับการลุ้นคำทำนาย ที่สำคัญไม่เปลืองกระดาษ และสร้างขยะเพิ่มเติมด้วย ถ้าดีก็แคปเก็บไว้ ถ้าไม่...ก็ลืมมันไปซะ
เอ๊ะ รู้สึกว่ารัศมีเริ่มมา ชะตาเริ่มอุ่นๆ สบายใจไปเปาะหนึ่ง ไว้คราวหน้ายังมี ศาลเจ้าพ่อเสือ ให้ไปปักหมุดจุดแก้ชงเพิ่มได้อีกรัวๆ
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะแอบอยู่ในหลืบระหว่างทางของตลาด ถ้าเดินสาย มู(เตลู) กันจริงๆ ต้องแวะมาครับ ที่แห่งนี้มีตำนานว่าเขาคือบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในช่วงปลายราชวงศ์หยวน และปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตใจสงบอย่างหนัก ชาวบ้านในยุคสมัยนั้นให้ความเคารพนับถือเขามาก จนยกให้เป็นเทพเจ้า
ศาลแห่งนี้มีทั้งเทพเจ้า เทพมนุษย์ และเครื่องบูชาโบราณภายใน หลายคนแวะมาขอพรจากเทพเจ้าเล่งบ๊วยในด้านการค้าให้มั่งคั่งร่ำรวย เจริญก้าวหน้า โชคดีและปลอดภัย ขณะที่เรามาเก็บภาพฝากผู้อ่าน (ธันวาคม 2563) กำลังมีการบูรณะสถานที่ให้งดงามยิ่งขึ้น
อันนี้เซอร์ไพร์สเราสุดๆ เพราะว่าได้ยินชื่อเสียง แต่ไม่เคยมาเห็นด้วยตา ยอมรับว่าตื่นเต้นกับศิลปะและสไตล์แปลกตาของของวัดมงคลสมาคม ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหายานเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ที่ตั้งอยู่บริเวณหัวถนนแปลงนามฝั่งถัดจากตลาด หลังจากเรากำลังย่ำเท้ากลับมาเกือบจรดเป็นแปดตามความตั้งใจแต่ต้น
กวาดตาแป๊บเดียวก็รู้สึกได้ว่าสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับจีน แต่ป้ายชื่อวัดเขียนบอกไว้ถึง 3 ภาษาอาจทำให้เดาได้ว่าเป็นวัดญวน ที่นี่มีวิหารสำหรับทำสังฆกรรมเพียงหลังเดียว เรียบง่าย และงดงามจับใจ พระประธานเป็นศิลปะที่เห็นได้ยากในกรุงเทพฯ และโต๊ะบูชาตรงข้ามพระประธาน และฝั่งขนานกันที่โถงนอกชาน มีเทพเจ้าของจีนตั้งไว้บูชาไปพร้อมกัน ดูความงดงามจากภาพก็สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นใจแตกต่างไปจากที่คุณและผมเคยสัมผัสมาจริงๆ
อ้อ..ปากทางเข้าวัดมงคลสมาคม มีขนมจีบแป๊ะเซี้ยะ เจ้าเลี่องชื่อแห่งแปลงนาม ที่คนรุมซื้อกันรัวๆ จนเราขอแวะมาอีกทีคราวหน้าแน่นอน
นอกจากร้านข้าวต้มเป็ด-กระเพาะหมู เจ้าดังใกล้ๆ กันกับวัดแล้ว ตรงข้ามวัดมงคลสมาคมยังมีร้าน เจ้มาลี ให้แวะเติมพลังอีกครั้งหลังจากเมนูก่อนหน้าอันตรธานหายไปในลำไส้หมดแล้ว กระเพาะปลาจ้างให้ก็ไม่บอกสูตร มีทั้งกระเพาะล้วนหรือใส่เป๋าฮื้อ กินร้อนๆ ในหม้อดิน ฟินขอรับกระผม
แวะกินหวานเย็นกับไอศกรีมร้านบลูวอเตอร์ เสร็จตรอกข้างร้าน มีมุมสตรีทอาร์ตให้คุณได้อินไปกับฟีลของจีนร่วมสมัย และถ่ายรูปเป็นที่ระทึก เอ้ย ระลึก กับคนสนิทหรือเพื่อนรักก็ตาม เป็นอันจบทริปแปลงนาม
เดินกลับไปยลโฉมอาคารสถานีวัดมังกรจากอีกมุม ต่างเวลาต่างจุด ก็ยังงดงามอยู่ดี ถึงตรงนี้ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ ทุกท่าน และโชคดี เฮงๆๆ ผ่านทุกๆ เรื่องหนักไปด้วยกันโดยสวัสดิภาพ
เรื่อง: ณัฐพล ช่วงประยูร
ภาพ: ณัฐ์วริทธิ์ วรรธนะพินทุ