Sunday, 4 May 2025
TODAY SPECIAL

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 สหพันธ์พิทักษ์เด็ก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณ แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สหพันธ์พิทักษ์เด็ก (Save The Children Federation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลเกียรติคุณ (First Distinguished Service Award) แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ ทรงเป็นบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก อันเนื่องมาจากการที่ทรงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเขมรที่เขาล้าน จ.ตราด และทรงมีพระเมตตาอย่างยิ่งแก่เด็ก ๆ 

สำหรับ พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของกัมพูชากับเขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้เกิดการอพยพของชาวกัมพูชาจำนวนมากสู่ชายแดนไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยร่วมมือกับสภากาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพโดยการจัดตั้ง “ศูนย์ราชการุณย์” บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อพบเห็นสภาพที่ย่ำแย่อย่างยิ่งของผู้อพยพ พระองค์จึงพระราชทานความช่วยเหลือทันที ทั้งพยาบาลสนาม และอาสาสมัครไปช่วยเหลือจัดหาอาหารและยาบรรเทาความเจ็บไข้ พร้อมทั้งพระราชทานครูสอนวิชาชีพแก่ผู้อพยพเพิ่มเติมอีกด้วย โดยทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้สละราชบัลลังก์เพื่อประชาชน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

โดยเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น ความไม่พอพระราชหฤทัยและการเพลี่ยงพล้ำในการคัดค้านคณะราษฎรในหลายโอกาสนำไปสู่การสละราชสมบัติ และพระองค์ยังทรงถูกฟ้องคดียึดทรัพย์

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต 

ทั้งนี้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น "กษัตริย์นักประชาธิปไตย" ผู้เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยอมสละราชบัลลังก์ เพื่อให้คนกลุ่มใหม่ปกครองประเทศ เพราะไม่อยากสู้รบให้คนไทยต้องเสียเลือดเนื้อ

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

วันนี้ เมื่อ 28 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาล ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 

ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อย่างยิ่งใหญ่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

ซึ่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ได้มีการจัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่และสง่างาม อีกทั้งยังมีเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นแม่แบบ ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

โดยหัวเรือพระที่นั่ง จำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ซึ่งได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑ เจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาค เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 จำนวน 15 ครั้ง

และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน 2 ครั้ง สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก 2003 (20 ตุลาคม พ.ศ. 2546)

และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (12 มิถุนายน พ.ศ. 2549) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ย้อนไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์

ภายหลังการผนวชแล้วเสด็จฯ ทรงไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2

วิกฤตการณ์สุเอซ (The Suez Crisis) หรือสงคราม อิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 2 เป็นการรุกรานอียิปต์ในช่วงปลายปี 2499 โดยฝ่ายอิสราเอล ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายคือการควบคุมทางด้านตะวันตกของคลองสุเอซ และเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ ญะมาล อับดุนนาศิร ที่ได้ถือสิทธิ์ว่าคลองนั้นให้กลายเป็นของรัฐ แต่หลังจากการสู้รบได้เริ่มต้นขึ้น แรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และสหประชาชาติ นำไปสู่การถอนตัวจากรุกรานของทั้ง 3 ประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องได้รับความอับอาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้นัสเซอร์เข้มแข็งขึ้น

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม อิสราเอลได้ส่งทหารมาบุกรุกคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ได้ยื่นคำขาดร่วมกันเพื่อให้มียุติการยิง ซึ่งก็ถูกเพิกเฉย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อังกฤษและฝรั่งเศสได้ส่งทหารโดดร่มลงพื้นตามคลองสุเอซ และก็เป็นที่ชัดเจนว่าอิสราเอล ฝรั่งเศส และอังกฤษได้สมคบคิดกันเพื่อวางแผนการบุก แต่ก่อนที่กองกำลังอียิปต์จะพ่ายแพ้ พวกเขาได้ปิดกั้นคลองไม่ให้เรือเดินสมุทรทั้งหมดผ่าน โดยการจมเรือ 40 ลำในคลอง ทำให้การคมนาคมทางน้ำในขณะนั้นถือว่าถูกตัดขาด เกิดกระทบระดับโลก

ผลพวงมาจากความขัดแย้งครั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations:UN จึงได้เข้ามาจัดการ เหตุการณ์นี้จึงได้จบลงโดยการที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิสราเอลต้องถอยทัพกลับ ส่วนอียิปต์ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายจากการล่มเรือถึง 81.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ‘พายุไต้ฝุ่นเกย์’ ซัดถล่มฝั่งอ่าวไทย เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญเสียนับหมื่นล้านบาท

ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2532 มีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นที่บริเวณปลายแหลมญวน ชายฝั่งประเทศเวียดนาม และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นดีเปรสชัน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย และทวีกำลังแรงต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อนในเวลาต่อมา โดยถูกตั้งชื่อเรียกว่าพายุโซนร้อน 'เกย์' ซึ่งยังคงทวีกำลังแรงขึ้นอีกจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ต่อมาพายุไต้ฝุ่น 'เกย์' ได้ทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีอัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุถึง 100 นอต หรือประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว กับ อ.ท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในตอนเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. แล้วเคลื่อนผ่านลงทะเลอันดามันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2532 ต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียเหนือและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพายุไซโคลน KAVALI หลังจากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งไปยังรัฐอานธรประเทศ รัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศอินเดีย แล้วสลายตัวไปบริเวณเหนือเทือกเขากัตส์ตะวันตก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย พายุไต้ฝุ่น 'เกย์' ส่งผลทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ที่ อ.บางสะพานน้อย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และจังหวัดใกล้เคียงตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย รวมถึงจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก มีผู้เสียชีวิตถึง 446 คน บาดเจ็บ 154 คน สูญหายมากกว่า 400 คน บ้านเรือน เสียหาย 38,002 หลัง ประชาชนเดือดร้อน 153,472 คน เรือกสวนไร่นาเสียหายมากกว่า 9 แสนไร่ เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ ศพลูกเรือลอยเกลื่อนทะเล และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพายุลูกนี้ได้เคลื่อนตัวผ่านฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัทยูโนแคล ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย ทำให้เรือขุดเจาะชื่อ 'ซีเครสต์' (Sea Crest) พลิกคว่ำ มีเจ้าหน้าที่ประจำเรือเสียชีวิต 91 คน รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,257,265,265 บาท นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุด นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2505 

ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต 91 คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน เช่นเดียวกับความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียต ทำลายล้างและซัดใส่แหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. 2505 หรือในปี 1962 (โดยเหตุการณ์นี้ เคยถูกถ่ายทอด ผ่านภาพยนตร์ ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน (2002) ด้วย) เป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ไทยในระดับไต้ฝุ่น

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ในหลวง รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (ในหลวง รัชกาลที่ 10 พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของทายาท มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์, ธนาคารทหารไทย จำกัด, มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 โรงพยาบาลก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2530 และเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ โดยในระยะแรกมีเพียง 2 อาคารที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ

1. อาคาร มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่างๆ

2. อาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทุกประเภท

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2533 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนราชการหนึ่งซึ่งมีฐานะเทียบเท่าสถาน (ภาควิชา) ของคณะแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกับสถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก และสถานวิทยาศาสตร์คลินิก โดยมีภารกิจในการให้บริการวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติภาคคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ด้วย

2 พฤศจิกายน พ.ศ 2498 ในหลวง ร. 9 พร้อมสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ เยือน จ.นครราชสีมา เป็นครั้งเเรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร และทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดนครราชสีมา เป็นครั้งแรก ในระว่างวันที่ 2 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

โดยทรงเสด็จด้วยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดา เเละมาถึงสถานีเมืองนครราชสีมา วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในเวลา 14.48 น. ซึ่งมีราษฎรเฝ้ารับเสด็จไม่น้อยกว่า 50,000 คน จากนั้นจึงเสด็จดำเนินเยี่ยมราษฎร และทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดนครราชสีมา จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498  

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้จัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน เป็นวันก่อตั้ง โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นที่ปากคลองสาน รับผู้ป่วยไว้รักษาครั้งแรก 30 คน 

ทั้งนี้ ในระยะแรกใช้ชื่อว่า 'โรงพยาบาลคนเสียจริต' ต่อมาในปี 2475 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น 'โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี' ภายหลังในปี 2497 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา' 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลแห่งนี้ นอกจากให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชแล้ว ยังให้บริการบำบัดรักษาโรคทางสมอง และเป็นสถาบันฝึกอบรมจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชอีกด้วย

31 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวช เสด็จฯ ทรงบิณฑบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ขณะทรงพระผนวช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบิณฑบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 08.55 น. และเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 09.35 น.

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่ทรงดำรงสมณเพศ ในตอนเช้าทรงปลูกต้นสัก 1 ต้นที่ข้างพระตำหนักปั้นหยา และทรงปลูกต้นสนฉัตร 2 ต้น ที่หน้าพระตำหนักทรงพรต และในเวลา ในเวลา 10.15 น. เสด็จออกพระตำหนักปั้นหยาในพระราชพิธีลาผนวช 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top