Sunday, 4 May 2025
TODAY SPECIAL

29 พฤศจิกายน 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 - พระราชินี เสด็จฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น ที่หน้าหอประชุมของมหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาทรงปลูกต้นนนทรี ๙ ต้น อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ณ บริเวณสระน้ำด้านหน้าหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงดนตรี ร่วมกับวง อส. วันศุกร์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 เวลา 15.30 น.

สำหรับต้นนนทรีถือเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 สืบเนื่องจากการประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2506 มีมติเลือกต้นนนทรี เพราะเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืน มีใบสีเขียวแก่ อันหมายถึง สีเขียวขจีของเกษตร และมีดอกสีเหลืองทอง อันหมายถึง สีเหลืองของคณะเกษตร ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูลของคุณหลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์) ในฐานะอธิการบดี มีใจความสรุปดังนี้

“ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย”

ในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย อันนำมาสู่การเสด็จ 'เยี่ยมต้นนนทรี' ที่ทรงปลูก และ 'ทรงดนตรี' สืบเนื่องอีก 9 ครั้ง นับจากปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น นับว่าเป็นต้นนนทรีขนาดใหญ่ที่หาพบได้ยากในกรุงเทพมหานคร และสร้างความร่มรื่นให้แก่พื้นที่บริเวณหน้าหอประชุมเป็นอย่างยิ่ง

28 พฤศจิกายน 2063 เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ค้นพบมหาสมุทรแปซิฟิก 'แปซิฟิก' ในภาษาละติน หมายถึง 'ความสงบและสันติ'

28 พฤศจิกายน ค.ศ.1520 หรือตรงกับพ.ศ. 2063 ร่วมสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา กองเรือโปรตุเกสที่ควบคุมโดย เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ได้เดินเรือจากเมืองเซบียา ประเทศสเปน เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกผ่านช่องแคบอเมริกาจนเข้าสู่มหาสมุทรแห่งใหม่ คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่และมีคลื่นลมสงบ ซึ่งสาเหตุที่ตั้งชื่อว่า มหาสมุทรแปซิฟิก เพราะคำว่า แปซิฟิก ในภาษาละติน มีความหมายว่า ความสงบและสันติ

มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่และลึกที่สุดในโลก มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรอาร์กติกตอนเหนือ และจรดทวีปแอนตาร์กติกาตอนใต้ ติดกับทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลียทางทิศตะวันตก และติดทวีปอเมริกาทางทิศตะวันออก

มหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่กว่า 165,250,000 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด 32% และคิดเป็น 46% ของพื้นผิวน้ำบนโลก นอกจากนี้ มหาสมุทรแปซิฟิกยังมีขนาดมากกว่าพื้นดินทั้งหมดบนโลกรวมกันอีกด้วย มหาสมุทรแปซิฟิกมีความลึกเฉลี่ยที่ 4,000 เมตร มีจุดที่ลึกที่สุดคือแชลเลนเจอร์ดีปในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา โดยมีสถิติความลึกอยู่ที่ 10,928 เมตร  

นอกจากนี้ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา ยังเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอยุธยาติดต่อกับชาวโปรตุเกสซึ่งถือเป็นชาติตะวันตกชาติแรกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยาและชาติตะวันตก

27 พฤศจิกายน 2461 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้ง 'กรมสาธารณสุข' ต่อมายกระดับเป็น ‘กระทรวงสาธารณสุข’ และถือเป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองบัญชาการ, กองสุขศึกษา, กองสาธารณสุข, กองยาเสพติดให้โทษ, กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมสาธารณสุข’ ซึ่งในเวลานั้นมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ถือเป็นการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย จึงได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’ เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งกรมสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการทางการแพทย์ในประเทศไทยยังคงแบ่งออกเป็นหลายหน่วยงาน เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยได้มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงกิจการด้านการแพทย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมประชาภิบาลเป็นกรมสาธารณสุข และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีคนแรกของกรมสาธารณสุข

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 กรมสาธารณสุขได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งทางราชการยังได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

26 พฤศจิกายน 2518 ในหลวงร. 9 พระราชินี เสด็จฯ ม.รามคำแหง เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และพระราชทานปริญญาบัตรรุ่นแรก

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถือเป็นวันสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิต และยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตในตอนหนึ่งว่า:

"...มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรารถนาความรู้เข้ามาศึกษาค้นคว้าได้อย่างกว้างขวางและอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานแล้วสามารถเพิ่มพูนความสามารถทางวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนางานและยกระดับหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมผู้ศึกษาให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อความเจริญมั่นคงของชาติบ้านเมือง"

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างเป็นทางการ

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น. ของเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่ประเพณีไทยถือว่ายังเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้วยพระโรคพระอันตะ (ลำไส้) หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7 ต่อจากพระองค์ โดยทรงสืบทอดพระราชภารกิจของพระบรมเชษฐาธิราช

ตลอดรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสร้างผลงานที่โดดเด่นในด้านวัฒนธรรม ทั้งในฐานะนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2524 องค์การยูเนสโกจึงได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ตรงกับวันยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิริพระชนมายุ 45 พรรษา รวมระยะเวลาที่ทรงดำรงราชสมบัติ 15 ปี

พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน เช่น การเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข และการต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองนับพันเรื่อง ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า 'สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า' เมื่อเสด็จสวรรคต

24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 6

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ภายในพระบรมมหาราชวัง  ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี  พระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ขณะทรงพระเยาว์พระองค์ได้ทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2502 

ในฐานะพระบรมวงศ์ชั้นสูง พระองค์ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า ๓๐ แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปการ วชิรพยาบาล กิจการลูกเสือ-เนตรนารี ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาเจ้าดารารัศมี เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ถึงแก่พิราลัย

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระนามเดิมคือ เจ้าอินทนนท์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อดอยอินทนนท์ เป็นพระชนกของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่พระองค์ ซึ่งถือเป็นพระเจ้าประเทศราชพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานและยกย่องพระเกียรติยศดังกล่าว

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2413-2440 มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พหลเทพยภักดี ศรีโยนางคราชวงษาธิปไตย์ มโหดดรพิไสยธุรสิทธิธาดา ประเทศราชานุภาวบริหารภูบาลบพิตร สถิตยชิยางคราชวงษ พระเจ้านครเชียงใหม่" ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 ด้วยโรคชรา สิริพระชันษา 80 ปี รวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ 24 ปี จากนั้นบุตรของพระองค์ คือ เจ้าอุปราชอินทรวโรรส ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นองค์ที่ 8

หลังการเสด็จสวรรคต พระอัฐิส่วนหนึ่งได้ถูกเชิญไปประดิษฐานในพระสถูปพระอัฐิที่กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และอีกส่วนหนึ่งถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในสถูปบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงรักและหวงแหนมากที่สุด และยังเป็นสถานที่ที่ได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เองอีกด้วย

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหาร ระหว่างการเยือนเมืองดัลลัสในรัฐเท็กซัสด้วยรถเปิดประทุน

“จงอย่าถามว่าประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ” (Ask not what your country can do for you – Ask what you can do for your country) จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) หรือ JFK ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ถูกลอบสังหารในวันที่  22 พฤศจิกายน 2506

ในขณะที่ขบวนรถของเขาชะลอความเร็วและเลี้ยวขวาจากถนนเมนเข้าถนนฮิวสตัน ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายไปยังถนนเอล์ม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้อาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส และมุ่งหน้าเข้าสู่ Dealey Plaza เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิดขึ้น

เคนเนดีมีอาการผิดปกติและใช้มือทั้งสองข้างกุมที่ลำคอ ก่อนที่กระสุนจะพุ่งเข้าสู่ศีรษะของเขาอย่างรุนแรง ตรงหน้าสตรีหมายเลขหนึ่ง

เคนเนดีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปาร์คแลนด์ โดยบันทึกทางการแพทย์ระบุว่าเขาเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเวลา 13.00 น.

หลังการลอบสังหารไม่นาน ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถูกจับกุมในข้อหาสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในอีก 45 นาทีหลังจากการลอบสังหารเคนเนดี

ออสวอลด์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และสองวันต่อมา เมื่อเขาถูกย้ายจากสถานีตำรวจไปยังเรือนจำท้องถิ่น เขาถูกยิงโดยแจ็ค รูบี้ เจ้าของไนต์คลับในดัลลัส ต่อหน้าประชาชนหลายล้านคนที่รับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

คณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ ได้ยืนยันว่าออสวอลด์เป็นผู้ลงมือเพียงลำพัง โดยไม่มีเบื้องหลังใดๆ ขณะที่แจ็ค รูบี้ที่สังหารออสวอลด์ก็ทำเพียงลำพัง แม้จะมีข้อสงสัยและทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการลอบสังหารประธานาธิบดีที่ทรงเสน่ห์ที่สุดของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง

เคนเนดีดำรงตำแหน่งในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความวุ่นวาย โดยเป็นช่วงสงครามเย็นและการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตก็กำลังทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ และสหรัฐฯ เองก็เริ่มทดลองตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน

21 พฤศจิกายน พ.ศ.2410 หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตีพิมพ์เล่มแรก ต้นแบบหนังสือไทยทันสมัย แสดงความรู้หลากแขนงสู่นานาชาติ

“หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ถือเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่รวบรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสนาอย่างทันสมัย จัดพิมพ์โดย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ซึ่งเล็งเห็นว่าตำราไทยในยุคนั้นขาดสาระสำคัญ ไม่สามารถกระตุ้นความคิดหรือให้ความรู้ที่ล้ำสมัย ท่านจึงรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาจัดทำเป็นหนังสือเล่มนี้  

นอกจากการนำเสนอความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อตอบโต้กระแสการโจมตีพุทธศาสนาจากหมอสอนศาสนาที่พยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทย “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และบางส่วนของเนื้อหายังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ในชื่อ The Modern Buddhist (เดอะ โมเดิน บุดดิสท์) 

หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นงานเขียนสำคัญที่ให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และยังถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือไทยเล่มแรกที่ได้รับการแปลและจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยสู่เวทีโลก

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิด โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือได้ถือเอาวันที่ 20 พ.ย. ของทุกปี เป็น วันกองทัพเรือ

"1,500 ไมล์ ทะเลไทยมีนาวีนี้เฝ้า"   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 โดยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากองทัพเรือ จึงได้ทรงตั้ง "วันกองทัพเรือ" ขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงก่อตั้งสถาบันหลักของกองทัพเรือ ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยโบราณ การแบ่งแยกกำลังรบทางเรือจากทางบกยังไม่เป็นระบบ จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงริเริ่มการแยกกำลังรบทางเรือออกจากกำลังบก เมื่อครั้งเริ่มตั้งกรมทหารเรือ กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการเรือและผู้บัญชาการป้อมต่าง ๆ

หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การที่กองทัพเรือยังพึ่งพาบุคลากรจากต่างประเทศไม่สามารถรับประกันการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาอบรมทหารเรือไทยให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพเรือแทนชาวต่างชาติ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 และได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนความว่า:  

“วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า”   


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top