Thursday, 8 May 2025
TODAY SPECIAL

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

"สระสุวรรณชาด" โครงการจากทุนพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาสุนัขป่วย
.
สระสุวรรณชาด สระว่ายน้ำสำหรับบำบัดและฟื้นฟูร่างกายสุนัขที่ป่วยด้วยโรคกระดูกและโรคระบบประสาท สร้างโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากทุนพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

สำหรับสระสุวรรณชาดนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง ให้เป็นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 และแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" เนื่องจากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย

ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ในโอกาศนั้นได้ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี 

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า “ฉัตรมงคล” หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

ยูเนสโกเสนอให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก'

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย เพราะในระยะหลัง ๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น 

ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' เพื่อระลึกถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ และเพื่อเป็นการปกป้องนักข่าวที่ถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น การปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นงานที่หนักพอสมควร


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ครบรอบ 39 ปี การถึงแก่อสัญกรรม ‘ปรีดี พนมยงค์’ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส สิริอายุ 82 ปี

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"

ครบรอบ 62 ปี เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ‘การบินไทย’ จากกรุงเทพสู่ฮ่องกง

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 การบินไทย สายการบินประจำชาติของประเทศไทยเริ่มบินเที่ยวแรก โดยเครื่องบินใบพัด ดักลาส ดีซี-6 บี (Douglas DC-6B) พร้อมผู้โดยสารเต็มลำ จำนวน 60 คน ออกเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปสู่ฮ่องกง ไทเป และโตเกียว การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินกิจการในด้านการบินพาณิชย์ในประเทศและระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม (Scandinavian Airlines System : SAS) มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจการบิน ระหว่างประเทศ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 
 

30 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันคุ้มครองผู้บริโภค’ 

จุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ จัดตั้งโดยสมาคมผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ รวมตัวกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาชักชวนองค์กรเอกชนในประเทศไทยให้เข้าร่วมสหพันธ์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากองค์กรเอกชนของประเทศไทยขณะนั้นยังไม่พร้อม จึงยังไม่ได้เกิดความร่วมมือกัน แต่ถึงกระนั้นทางสหพันธ์ก็ยังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนอยู่เรื่อย ๆ 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2514 องค์กรเอกชนของประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาผู้บริโภคมีชื่อว่า "กรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค" และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล จนถึงปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการชุดดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ได้สลายตัวไปพร้อมกับรัฐบาลในยุคนั้นจากเหตุการณ์ทางการเมือง

29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะยังเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเวลา 19.00 น. มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง

28 เมษายน พ.ศ. 2493 ‘พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส’ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น)

ตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จะทรงสถาปนา พระชายาเดิมขึ้นดำรงตำแหน่งที่อัครมเหสี และท้าวนางผู้ใหญ่กราบบังคมทูลถวายพระสนมสิบสองพระกำนัล ให้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบไป ตามธรรมเนียมราชประเพณีที่มีมาแต่กาลก่อน

ในปัจจุบันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย โดยทรงประกอบพระราชพิธีและทรงจดทะเบียน การสมรสตามแบบ ธรรมเนียมสามัญชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2478 ทุกประการ 

โดยในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน เวลา 9.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสมเด็จพระราชบิดา โอกาสนั้นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร จะได้ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ลงนามในทะเบียนนั้น ทั้งทรงพระกรุณาโปรดให้ราชสักขีลงนามด้วยแล้ว เสด็จฯ ขึ้นประทับห้องพระราชพิธี บนตำหนัก

27 เมษายน พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ ‘พระบรมราชโองการห้ามสูบและค้าฝิ่น’ 

ฝิ่นนับเป็นพืชที่เป็นสารเสพติดและมอมเมาผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงประเทศไทยเองก็เคยถูกมอมเมาด้วย ‘ฝิ่น’ ทำให้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ หาทางปราบปรามและป้องกัน การค้า การสูบฝิ่นมาโดยตลอด

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 3 เองก็ได้ทรงตระหนักถึงพิษภัยของฝิ่น ทำให้ในช่วงปีพุทธศักราช 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกวดขัน กวาดล้างการค้าฝิ่นครั้งใหญ่ ทั้งปราบปรามผู้เสพติดอย่างหนัก ริบฝิ่นในปริมาณมาก และโปรดให้รวมนำมาเผาทำลายที่สนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อวันที่ 18  เมษายน พุทธศักราช 2382

นอกจากการปราบปรามอย่างจริงจังแล้วพระองค์ยังได้ออก ‘พระบรมราชโองการห้ามสูบและค้าฝิ่น’ โดย ในวันนี้ 27 เมษายน พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน พิมพ์พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น เป็นใบปลิวจำนวน 9,000 ฉบับ 
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top