Tuesday, 17 September 2024
TODAY SPECIAL

1 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์" เสด็จพระราชสมภพวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ณ นิวาสสถานในพระราชนิเวศน์เดิม ด้านใต้ของวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีโสกัณฑ์ จากนั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 เดือน จึงลาผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงศึกษาเล่าเรียนอักษรสยาม ตั้งแต่เมื่อครั้งประทับ ณ พระราชวังเดิมในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระยะแรกทรงจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงสอบได้ เปรียญ 5 ประโยค ทรงเชี่ยวชาญรอบรู้ในพระไตรปิฎก จากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย

ในขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสวรรคต ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเชิญ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อย่างพร้อมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี พระองค์จึงตัดสินพระทัยผนวชเป็นภิกษุในผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป ขณะที่ทรงผนวชอยู่ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถพูดและเขียนได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในทวีปเอเชียที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมืองและศาสนา ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เคร่งครัดขึ้น ทำให้เกิดพระสงฆ์คณะใหม่ขึ้น เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เชิญเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ลาผนวช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ วิสุทธสมมติเทพยพงศ์วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกายบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ทรงมีพระนามย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

วันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว “เพชรา เชาวราษฎร์” ตำนาน "ราชินีจอเงิน" นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง...ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ผ่านโฆษณามิสทีน

อี๊ด เพชรา ชื่อเดิมว่า เอก เชาวราษฎร์ เป็นชาวระยอง ในปี พ.ศ. 2504 เพชรา เชาวราษฎร์คว้าตำแหน่งชนะเลิศ "เทพธิดาเมษาฮาวาย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี ผู้ส่งเธอเข้าประกวดเป็น น้องสาวของพี่เขย และใช้ชื่อในการประกวดว่า "ปัทมา เชาวราษฎร์" จากนั้น ศิริ ศิริจินดาและดอกดิน กัญญามาลย์ทาบทามมาแสดงหนังเรื่องแรกคือ "บันทึกรักพิมพ์ฉวี" (พ.ศ. 2505) คู่กับมิตร ชัยบัญชา ขณะนั้นมิตรมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้ว โดยดอกดินเป็นคนตั้งชื่อ "เพชรา" ให้กับเธอเพื่อใช้ในวงการภาพยนตร์

ภาพยนตร์ของเพชราเริ่มต้น เมื่อ พ.ศ. 2505 - 2521 หลังจากนั้นเพชราได้ร่วมแสดงกับพระเอกคนอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น สมบัติ เมทะนี, ไชยา สุริยัน, ลือชัย นฤนาท, นาท ภูวนัย, กรุง ศรีวิไล, ครรชิต ขวัญประชา, ยอดชาย เมฆสุวรรณ เป็นต้น จนเมื่อปี 2521 ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย เธอรับบทเป็นแม่ของสรพงศ์ ชาตรีในภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้ขุนทอง" และเมื่อใดที่เรากล่าวถึงอมตะหนังไทยและดาราคู่ขวัญ มิตร-เพชรา คือ พระ-นางคู่แรกที่ฉายชัดขึ้นมาทันที

เพชรา เชาวราษฎร์ มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นช่วงปลายของการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ไทยใหญ่" ปัญหาเรื่องสายตา เริ่มจากอาการแสบตา เนื่องจากเธอต้องอยู่กับไฟที่สว่างจ้าในโรงถ่าย การทำงานของเพชรา เชาวราษฎร์แทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน และไม่ได้พบแพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากงานถ่ายทำภาพยนตร์รัดตัวทั้งวัน ทั้งคืน

เพชรา เชาวราษฏร์ เป็นเจ้าของผลงานแสดงภาพยนตร์ราว 300 เรื่อง และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ เล่นคู่กับมิตร ชัยบัญชา
- ปี 2508 รางวัลพระสรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) จากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย ปี พ.ศ. 2508
- ปี 2508 รางวัลคู่ขวัญดาราทองจากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน
- ปี 2544 รางวัลสรรพศาสตร์ศุภกิจ

29 กันยายน พ.ศ. 2548 ‘พต.ท. ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นประธานเปิดทดลองใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก! จากสนามบินอาถรรพ์ สู่ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ชื่อเดิมสนามบินหนองงูเห่า) เป็นสนามบินที่มีแนวคิดจากการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สองในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง "สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ" ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้าง ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนสัมปทานถูกยกเลิก

กระทั่งถึงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีความคืบหน้าของการก่อสร้างท่าอากาศยานมากที่สุด เพราะการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่งจะสามารถเริ่มขึ้นได้ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 สืบเนื่องมาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ วิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยก่อนหน้านั้น มีการปรับปรุงพื้นที่เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2540-2544) และต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการโอนหน้าที่อำนวยการก่อสร้างและการจัดการให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปิดกิจการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันอีกครั้งว่า การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจะแล้วเสร็จทันกำหนดแน่นอน โดยคาดว่าจะเปิดให้มีการทดสอบการบินได้ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 

โดยสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ 2548 และในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีโดยสารเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากท่าอากาศยานกรุงเทพสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ฝั่งรันเวย์ตะวันออก เที่ยวบินแอร์บัส 340-600 โดยที่ผิวรันเวย์ ระบบสื่อสารจราจรทางอากาศ รวมถึงระบบนำร่องอากาศยานมีความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่

วันนี้เมื่อ 104 ปีที่แล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดย ทรงพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์”

ซึ่ง “ธงไตรรงค์” กำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2459 ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการพยายามจะหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ 

แต่ด้วยธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่านพระราชปรารภนี้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากระหว่างเสด็จประพาส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ 

หลังจากเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา จึงทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก 

โดยพระองค์ทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพง ราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน

วันนี้เมื่อ 85 ปี กรมศิลปากรประกาศให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นโบราณสถาน

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณ ค่อนมาทางทิศใต้ เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เข้าใจว่าเดิมคงเป็นถนนโบราณ ประวัติการสร้างวัดไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัด นอกจากประวัติจากตำนานที่กล่าวถึงการก่อสร้างพระมหาธาตุ ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังเหตุการณ์จริงเป็นเวลายาวนานมาก 

หลักฐานทางเอกสารที่ชัดเจน ปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวว่าวัดนี้เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร อุปราชปักษ์ใต้ทรงพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแล รักษาวัด และคราวที่รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองนคร ได้โปรดพระราชทานนามวัดว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

อีกทั้งตำนานการก่อสร้างพระบรมธาตุมีมากมาย หลายสำนวนสามารถประมวลเนื้อหาได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมืองต่าง ๆ ในแว่นแคว้นชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บ รักษา เคารพบูชา มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองทนธบุรี ได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้ 

ต่อมามีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ กษัตริย์สิงหราชเจ้าเมืองทนธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้มิได้ จึงให้ พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมารพระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุ ลงเรือหนีไปลังกา เผอิญเรือกำปั่นถูกพายุพัด เรือแตกทั้งสองพระองค์มาขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้ 
 

26 กันยายน พ.ศ. 2527 สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐประชาชนจีน บรรลุข้อตกลงในแผนการส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนในปี 2540

“ฮ่องกง” เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอซินอัน เมืองเซินเจิ้นภูมิประเทศเป็นเมืองท่าน้ำลึก เหมาะแก่การจอดเรือสินค้าขนาดใหญ่ จึงทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก

ด้วยเหตุนี้เองประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งปกครองโดยพระนางวิกตอเรีย กำลังต้องการอาณานิคมในแถบทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นที่จัดส่งสินค้า หรือฝิ่นพอดี ประจวบเหมาะกับที่ฝ่ายสหราชอาณาจักร และจีนกำลังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่นในแถบกวางตุ้งของจีน จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี ค.ศ. 1839

อังกฤษจึงเข้ายึดดินแดนแถบฮ่องกงเป็นของสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2384 จนเมื่อจีนแพ้สงครามฝิ่น ปลายศตวรรษที่ 19 เกาะฮ่องกง และดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูน จึงตกเป็นอาณานิคมในปี พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ตามลำดับ

วันนี้ในอดีต 25 กันยายน พ.ศ. 2537 เกิดภัยธรรมชาติสุดแสนโหด ‘น้ำป่าไหลหลาก’ ณ น้ำตกวังตะไคร้ จ.นครนายก และคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปกว่า 21 ราย

เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก บริเวณน้ำตกวังตะไคร้ จังหวัดนครนายก ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นเร็วโดยไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน ภัยน้ำป่าไหลหลากในครั้งนั้นถือว่าเป็นภัยธรรมชาติสุดโหดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประเทศไทย

ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงปลายฝนที่มักมีฝนตกหนาแน่น มักมีการเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำที่น้ำตกต่าง ๆ ย้อนกลับไปช่วงบ่ายของวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2537 ที่อุทยานแห่งชาติวังตะไคร้ จังหวัดนครนายก เป็นวันที่อากาศแจ่มใส นักท่องเที่ยวจำนวนมากมายเดินทางเข้ามาเที่ยวและลงเล่นน้ำเย็นช่ำ และสายน้ำที่ใสสะอาด ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ ที่กำลังสนุกสนานในวันหยุดกับครอบครัว ซึ่งพวกเขาไม่รู้เลยว่าอีกไม่ถึงชั่วโมง คลื่นน้ำป่ากำลังตรงไปหาพวกเขา
 

วันนี้ในอดีต “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เริ่มเปิดการจราจรเป็นวันแรกในปี พ.ศ. 2516 โดยสะพานแห่งนี้สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา - เชื่อมต่อเขตพระนคร - เขตบางพลัด ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

“สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” (Somdet Phra Pinklao Bridge) หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานปิ่นเกล้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับเขตบางกอกน้อย (ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

สะพานพระปิ่นเกล้าเป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทางจราจร ความกว้างของสะพาน 26.60 เมตร ความยาว 622 เมตร สร้างขึ้นเพื่อผ่อนคลายความคับคั่งของการจราจร โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ในการสำรวจออกแบบสะพาน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลไทย 
 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กำหนดให้วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561 เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” คือวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

วันศารทวิษุวัต กลางวันยาวเท่ากลางคืน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่าวัน “ศารทวิษุวัต” ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

วันศารทวิษุวัต กลางวันยาวเท่ากลางคืน (Autumnal Equinox) คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:14 น. นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้ จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 จากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้ง

“วันแรดโลก” ตรงกับวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์แรดทั้ง 5 สายพันธุ์ เนื่องจากประชากรแรดทั่วโลกกำลังลดจำนวนลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยสาเหตุหลักมาจากการล่าของมนุษย์

จุดเริ่มต้นของวันแรดโลก ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ 

1.) แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
2.) แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
3.) แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน
4.) แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย
5.) กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง

ในปัจจุบัน แรดกลายมาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกขณะ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรดใกล้สูญพันธุ์นั้นเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และอีกสาเหตุหลักที่สำคัญคือ การล่าของมนุษย์ ที่ต้องการนำนอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค ทั้งที่จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของคนเลย ซึ่งการสำรวจการลักลอบฆ่าแรดในแอฟริกาใต้ พบว่ามีการลักลอบฆ่าแรดเพื่อเอานอเพิ่มสูงขึ้นกว่า 9,300 ตัว จาก 13 ตัว ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 1,215 ตัว ในปี 2557


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top