23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เกิดจลาจลเผา รง.แทนทาลัม ที่ จ.ภูเก็ต จุดเปลี่ยนสำคัญจากพึ่งพาเหมืองแร่สู่การท่องเที่ยว

วันนี้ในอดีต (23 มิ.ย. 2529) ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นที่ จ.ภูเก็ต จากการที่ผู้ชุมนุมประท้วงจุดไฟเผาโรงงานแทนทาลัมจนวอดวาย ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนด สุดท้ายต้องย้ายไปสร้างที่อื่น

ตั้งแต่สมัยโบราณมา ‘แร่ดีบุก' นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับภูเก็ตมาตลอด แต่ตั้งแต่ปี 2524 ราคาดีบุกในตลาดโลกเริ่มต่ำลง การค้าดีบุกจึงซบเซาพร้อม ๆ กับปริมาณ ‘ดีบุก' ที่มีการขุดพบลดลง

ในระหว่างที่อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าดีบุกชะลอตัว ก่อนหน้านั้นชาวภูเก็ต ได้รับรู้และพบว่า 'ขี้ตะกรันดีบุก' หรือ ‘สะแหลกดีบุก' เป็นแร่ที่สามารถขายได้ในราคาดี เพราะมีแร่โคลัมไบต์–แทนทาไลต์ ซึ่งเป็นแร่ยุทธปัจจัยใช้สำหรับทำยานอวกาศหรือหัวจรวดนำวิถีและขีปนาวุธต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เสียดสีของอากาศได้สูงมาก แร่โคลัมไบต์–แทนทาไลต์ มีราคากิโลกรัมละ 60–70 บาทและเมื่อนำมาผ่านกระบวนการสกัดต่อจนได้ ‘แร่แทนทาลัม'จะมีราคาสูงกว่าแร่แทนทาไลต์หรือขี้ตะกรันดีบุกประมาณ 40-50 เท่า

เมื่อชาวบ้านทราบว่า 'ขี้ตะกรัน' เป็นของมีราคาจึงแตกตื่น ส่งผลให้บรรดานายทุนต่าง ๆ ยื่นประมูลต่อทางการขอขุดถนนเก่า ๆ ทุกสายในตัวเมืองภูเก็ต โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อขุดเสร็จแล้วจะสร้างถนนใหม่ทดแทน ส่วนบ้านที่ปลูกสร้างอยู่บนเตาถลุงที่มีขี้ตะกรันฝังอยู่มาก ๆ ก็จะถูกรื้อหรือทุบพื้นทิ้งเพื่อขุดเอาขี้ตะกรันดังกล่าวขึ้นมา ในขณะนั้นคนภูเก็ตสามารถทำรายได้จากการขุดขาย 'ขี้ตะกรันดีบุก'  หรือรับจ้างขุด สูงถึงวันละ 180 บาท 

ผลจากการตื่นตัวใน 'แร่แทนทาลัม' ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่จะสร้าง 'โรงงานถลุงแทนทาลัม' ขึ้น โดยในวันที่ (28 ธ.ค. 2522) บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท โดยมีโครงการก่อสร้างโรงงานที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงานในปี 2526 จนก่อสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2529 แต่โรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะประสบปัญหาการคัดค้านจากหลายภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัดและประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากชาวภูเก็ตได้รับข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านการเปิดโรงงานว่า โรงงานแทนทาลัมจะก่อให้เกิดมลพิษต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมของภูเก็ต จนนำมาสู่ความขัดแย้งแผ่ขยายตัว

ในวันที่ (13 มิ.ย.2529) ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ตได้ขอพบนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ปิดโรงงานแทนทาลัมภายในวันที่ (2 ก.ค. 2529) แต่กระทรวงอุตสาหกรรมประสงค์จะได้ข้อคิดเห็นในการคัดค้านครั้งนี้

แล้วก็มาถึง..วันที่ (23 มิ.ย.2529) นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.อุตสาหกรรมในขณะนั้น เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตเพื่อรับฟังความคิดเห็นตามความต้องการของตัวแทนกลุ่มคัดค้าน โดยนัดหมายที่ศาลาประชาคม แต่เมื่อไปถึงผู้ชุมนุมกลับแสดงทีท่าต่อต้านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและคณะด้วยความรุนแรง โดยผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันคนพยายามเข้าประชิดและขว้างปาและทุบรถ แม้ว่านายจิรายุ ได้ชี้แจงให้ผู้ชุมนุมทราบว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและจะให้คำตอบแก่ชาวภูเก็ตในวันที่ (2 ก.ค.) ตามที่ผู้ชุมนุมกำหนด และระหว่างนี้ได้ให้โรงงานยุติการดำเนินการชั่วคราวก็ไม่ได้ผล การประท้วงได้รุนแรงขึ้นและมีการเผาโรงงานแทนทาลัมและโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินซึ่งเป็นที่พักของนายจิรายุและคณะ จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดภูเก็ต และมีการประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ กว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติก็ใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ และประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ (1 ก.ค. 2529)

การจลาจลครั้งนั้น ได้ก่อความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท และสุดท้าย บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด มีมติให้ย้ายโรงงานแทนทาลัมจากภูเก็ตไปตั้งที่อื่น

เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจากการพึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน  


ที่มา : https://www.komchadluek.net/today-in-history/284126