Saturday, 10 May 2025
NEWS FEED

นายกฯ เปิดงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 “พลิกโฉมประเทศ” วางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคลุมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ

นายกฯกล่าวปาฐกถาพิเศษ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)” เปิดงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 “พลิกโฉมประเทศ” วางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคลุมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ

ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน  Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล  โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ภายหลังเสร็จสิ้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ที่ผ่านมายังได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสให้กับเลขาธิการสหประชาชาติด้วยตนเองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีสหประชาชาติได้ใช้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสเป็นแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change

โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าบางประเภทแล้ว อาทิ กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป (อียู) และปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสในสหรัฐฯ และแคนาดาที่อาจพิจารณาใช้มาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะ “พลิกโฉมประเทศ” สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด ทั้งนี้ไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ และโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากโครงการกลไกเครดิตร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2558 และกำลังพิจารณาขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องปรับตัว แม้การปรับตัวจะมีค่าใช้จ่าย แต่การไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในระยะยาวซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วย ได้บรรจุประเด็น climate change ในนโยบายระดับประเทศ ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 หมุดหมายที่ตอบสนองต่อประเด็น climate change โดยตรง ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 และขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่น ๆ ที่มุ่งใช้จุดแข็งในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติของไทยและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปรับตัวตามทิศทางบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นในการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578

“มูลนิธิเมาไม่ขับ” ร้อง “กมธ.กฎหมายฯ” แก้ไขบทลงโทษเมาแล้วขับ จี้ สอบคดีเมาแล้วชน 2 ผัวเมียพร้อมลูกน้อยที่ศรีสะเกษ ด้าน “สิระ” ลั่น ถึงเวลาทำให้คนเมาแล้วขับเป็นฆาตกร 

ที่รัฐสภา นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขามูลนิธิเมาไม่ขับ พร้อมเหยื่อเมาแล้วขับ ยื่นหนังสือถึงนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้กมธ.ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขบทลงโทษในฐานะความผิดเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และขอให้ติดตามตรวจสอบคดีเมาแล้วขับในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ

โดย นพ.แท้จริง กล่าวว่า จากความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างรุนแรง ทั้งความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในทุกปีจะมีคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 19,000 คน บาดเจ็บราว 1 ล้านคน มีผู้พิการไม่น้อยกว่า 60,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการเมาแล้วขับ ขณะเดียวกันบทลงโทษทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมผู้ที่เมาแล้วขับได้ มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงขอให้กมธ.พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการศึกษาเพื่อแก้ไขบทลงโทษฐานความผิดเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากความผิดฐานประมาท และขอให้แก้ไขเป็นการขับขี่ที่มีอันตรายร้ายแรงเล็งเห็นผลได้ว่าจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บและพิการไต้

นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้กมธ.ติดตามตรวจสอบคดี นายราเมศ มาด้วง อายุ 47 ปี เมาสุรา ขับรถชนนายสมปอง ลุนลา และน.ส.ยุวดี พลเยี่ยม 2 สามีภรรยาเสียชีวิตพร้อมกับบุตรชายอายุ 1 ขวบ และมีบุตรหญิง 3 ขวบ บาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 ที่ สภ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหลังขับรถชนแล้ว รถปิคอัพได้ลากรถมอเตอร์ไซค์พร้อมกับร่างคนติดใต้ท้องรถไปไกลกว่า 200 เมตร หลังจากนั้นได้หยุดรถเพื่อดึงซากรถจักรยานยนต์ออกจากใต้ท้องรถ และพยายามขับหลบหนีต่อ แสดงให้เห็นเจตนาจะหลบหนีไม่ลงมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องของความประมาท น่าจะต้องดำเนินคดีว่ามีเจตนาทำร้ายผู้อื่นส่งผลให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

รมว.เฮ้ง มอบ จักรเย็บผ้าช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้านอาชีพ จ.ชลบุรี ให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบจักรเย็บผ้า จำนวน 2 หลัง ให้แก่นางพรรณี เผือกหอย เนื่องจากที่มีผู้เดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้งานประกันสังคมมาตรา 40 ณ บริเวณชายหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า การมอบจักรเย็บผ้า จำนวน 2 หลัง ให้แก่ผู้เดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพ
ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพรับงานไปทำที่บ้าน เนื่องจากที่มีผู้เดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงแรงงาน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและแรงงานนอกระบบที่มีความเดือดร้อนด้านอาชีพ และสั่งการให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือโดยการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้อย่างยั่งยืน ผมจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี โดยนายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ ไปพบนางพรรณี เผือกหอย บ้านเลขที่ 166/ 117 ชอย 19 ถนนบางแสนสาย 2 ต.แสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อประสานงานและพบว่าผู้เดือดร้อนและครอบครัวประกอบอาชีพเย็บผ้าส่งตามคำสั่งซื้อจากเดิมมีรายได้เดือนละ ประมาณ 20,000 บาท แต่ประสบปัญหาด้านสุขภาพเส้นเลือดในสมองตีบ จึงทำให้ต้องขายจักรเย็บผ้า และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ

'ชมรมแพทย์ชนบท' เตือนระบาดระลอกใหม่ ชี้!! ผลตรวจ ATK พุ่ง - คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ

เพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้งแล้ว โดยระบุว่า โปรดให้ความสนใจ และตื่นตัว ระมัดระวัง

วันนี้ (10 ต.ค.)บวกเพิ่ม 10,817 ราย แต่ดูให้ดีๆ…การตรวจหาเชื้อมี 2 วิธี วิธีมาตรฐาน RT-PCR พบผู้ติดเชื้อ 10,817 ราย แต่ข้างล่างยังตัวเลขการตรวจด้วย ATK พบเชื้ออีก 10,055 ราย รวมแล้วเป็นกว่า 2 หมื่นราย ในจำนวน ATK บวก ไม่ได้ตรวจยืนยันด้วย rt-pcr ทุกราย จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังขาขึ้นอีกครั้งอย่างชัดเจนแล้ว 

ผู้ป่วยหนักยังร่วม 3 พันราย ถือว่ายังไม่ลด ซึ่งสอดคล้องจำนวนผู้ติดเชื้อ ปกติป่วยสีแดงราว 10% หากคำนวณ 3,000 รายนี้กลับไป เราน่าจะมีผู้ติดเชื้อราวไม่ต่ำกว่าวันละ 30,000 คน ในขณะที่ยอดการตรวจเชิงรุกลดลง หากตรวจมากขึ้นในหลายพื้นที่อัตราการติดเชื้อในชุมชนสูงมาก กว่าร้อยละ 20 โควิดกำลังขาขึ้น พื้นที่สีแดงกำลังขยาย ภาระการควบคุมโรคได้กลายเป็นของวิชาชีพสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุขโดยสมบูรณ์แล้วอีกครั้ง

'ระบบสาธารณสุขไทย' ยืน 1 ในอาเซียน พร้อมพ่วง 'อันดับ 13 ของโลก'

ระบบสาธารณสุขไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ 

ล่าสุดจากการจัดอันดับประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลกประจำปี 2021 สำรวจโดยนิตยสาร CEOWORLD ที่ได้รวบรวมข้อมูลจาก 89 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก และเป็นที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน 

ซึ่งผลคะแนนที่นำมาใช้ในการจัดอันดับ มีเกณฑ์การประเมินคุณภาพของระบบสาธารณสุขในหลากหลายมิติ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานโดยรวมของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศ คุณภาพของทีมบุคลากรการแพทย์ ศักยภาพในการบริหารองค์กร คลังเวชภัณฑ์ที่มีอย่างเพียงพอ และความพร้อมของรัฐบาล 

นอกเหนือจากนี้ ยังมีปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ ที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาอีก เช่น สิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัยภายในโรงพยาบาล การเข้าถึงน้ำสะอาด การบังคับใช้กฎหมายสำหรับสถานพยาบาล ซึ่งผลคะแนนเฉลี่ยรวมของประเทศไทยอยู่ที่ 59.52 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศชั้นนำอย่าง เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่อยู่ในอันดับที่ 30 

ผบ.ฉก.ตชด.44 คนใหม่ ตรวจเยี่ยมกำลังพล เน้นย้ำให้กำลังพลห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องอบายมุข - การพนัน - ยาเสพติด และห้ามสร้างเงื่อนไขในพื้นที่!!

พ.ต.ท.จาริพัฒน์ ทองแดง ผบ.ฉก.ตชด.44 เดินทางตรวจเยี่ยมกำลังพล เจ้าหน้าที่ ตชด. ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ ในโอกาสที่มารับตำแหน่ง ผบ.ฉก.ตชด.44  รวมถึงรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่และปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของของกำลังพลเจ้าหน้าที่ ตชด. พร้อมเน้นย้ำกำชับกำลังพลห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องอบายมุข การพนัน ยาเสพติด และห้ามสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังไม่ประมาทเข้มแข็ง สามารถตอบโต้เมื่อมีเหตุได้ทันที

จากนั้นได้เยี่ยมชมการฝึก ของข้าราชการตำรวจใหม่ ที่มาปฏิบัติหน้าที่ประจำ ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ในการบำรุงรักษาเครื่องเรือ 40 แรงม้า การบำรุงรักษาเครื่องเรือและส่วนควบเรือ 140 แรงม้า การขับขี่เรือท้องแบน การขับขี่เรือตรวจการ ซึ่งวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ เจ้าหน้าที่ ตชด.ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ต้องใช้เป็นประจำในขณะตรวจตราทางน้ำ ในการรักษาความสงบ ความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชานที่อาศัยอยู่ติดกับลำน้ำเขื่อนบางลาง

 

“นิพนธ์” ชี้!! ท้องถิ่น คือหน่วยงานหลัก ช่วยลดสถิติอุบัติเหตุฯ เร่งสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน ปลูกจิตสำนึกวินัยจราจร ตั้งเป้าลดความสูญเสียทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบนโยบาย โครงการความปลอดภัยทางถนน "สงขลาเมืองต้นแบบ" พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน จากจังหวัดสู่อำเภอ และตำบล โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา นายอำเภอทั้ง 16 อำเภอ หน.สนง.ปภ.สงขลา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นจังหวัด ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ ณ อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

โดยที่จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคใต้และมีศักยภาพในด้านต่างๆอย่างสูง แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนน ยังเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและได้รับผลกระทบความสูญเสียมากขึ้นในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคง ทางถนนให้เป็นรูปธรรมโดยความมุ่งหวังที่จะสร้างเมืองสงขลาเป็นต้นแบบของการบูรณาการดำเนินการในการลดอุบัติเหตุทางถนน ให้เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และให้มีการขับเคลื่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จะสร้างแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย นำไปเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป

นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า  วันนี้อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนน เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปีพ.ศ. 2573

โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเป็นวาระมีความสำคัญระดับโลก รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก ประมาณการอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 32.70 มากกว่า 22,000 คนต่อปี แม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องปัญหาอุบัติเหตุ จากการใช้รถใช้ถนน ของประเทศไทย ก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประเทศ จากสถิติที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมาย และปัญหาทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานของถนน ปัญหาการเสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ก็ยังเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย"

รมช.มท.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปี พ.ศ. 2564 รัฐบาล โดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดประเด็นเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง โดยเป้าหมายหลักคือ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้ ,Songkhla Model  หรือสงขลาต้นแบบ ในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานความร่วมมือกัน

เร่งเดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ครองแชมป์โลกยางพารา!! “อลงกรณ์” ปักหมุด 7 กลยุทธ์รุกตลาดน้ำยาง 5 หมื่นล้าน เพิ่มรายได้เกษตรกร อัพเกรด กยท.เป็นองค์กรระดับโลก!!

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางกล่าววันนี้(10ต.ค)ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยได้บูรณาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อ และผู้ขาย ประกอบด้วย ตลาดกลางยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 8 แห่ง ตลาดซื้อขายออนไลน์ และตลาดยางพาราท้องถิ่น รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางด้านรายได้ในภาวะช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด19ด้วยการขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางตลอดจนการสร้างกลไกและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

การขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุกโดยการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตได้ผนึกกำลังกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ พร้อมกับติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย และสภาวะแวดล้อมด้านการค้าการแข่งขัน รวมทั้งการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโอกาสทางการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการปรับมิติของกลยุทธ์การตลาดยางพารา โดยขับเคลื่อนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาตลาดยางพาราในต่างประเทศ ทั้งในตลาดเก่า และการเปิดตลาดใหม่โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (Market Share)และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ ดำเนินการเร่งดำเนินการจัดตั้ง”ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา”โดยกยท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.พร้อมกันนั้นก็เร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุคนิวนอร์มอล จากผลกระทบของโควิด-19

รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เน้นเทคโนโลยีเมดอินไทยแลนด์(made in Thailand)

พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา เช่น “โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” และโครงการเกษตรแม่นยำ2ล้านไร่สู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่(Big Brothers)

รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ ๆ เช่นโครงการ Rubber Valley ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (suitability and development of the rubber industry in Nakhon Si Thammarat Province) ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ

วิกฤตโควิด-19 เป็นปัญหาและโอกาสที่ท้าทายประเทศไทยซึ่งข้อมูลและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อไปนี้คือคำตอบว่าเรามีศักยภาพมากแค่ไหนและเดิมพันก็สูงมากแต่ก็คุ้มค่าสำหรับอุตสาหกรรมยางพาราโดยเฉพาะน้ำยางข้น ยางพาราโลกปี2563 ไทยเบอร์ 1 ผลผลิตยางพาราโลกปี 2563 มีปริมาณ 12.9 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2% รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินเดีย

เอเชียผลิตมากที่สุดในโลก ภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตยางพารา 93% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นแหล่งผลิตใหญ่ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam)  

ไทย...แชมป์โลกส่งออกน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควัน

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางของโลก โดยเฉพาะน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แนวโน้มการส่งออก

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 5.0-8.0% ต่อปี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ต่าง ๆ  โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำยางข้นรายใหญ่ของไทย และเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลก

ขณะที่ผู้ผลิตน้ำยางข้นยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางความต้องการของอุตสาหกรรมขั้นปลาย ได้แก่ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ และถุงยางอนามัยในตลาดโลก ประกอบกับการผลิตน้ำยางข้นในตลาดโลกยังมีน้อยเนื่องจากกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ยังเน้นผลิตเพียงยางก้อนถ้วยและเศษยาง ทำให้ภาวะการแข่งขันในการส่งออกน้ำยางข้นไม่รุนแรงนัก

จุดแข็งและโอกาสของน้ำยางพาราไทย

1.การผลิตน้ำยางสด92%

การผลิตน้ำยางสดมีสัดส่วนถึง 92% ของผลผลิตยางพาราทั้งหมดซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางได้ทุกประเภท ต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่ผลิตยางก้อนถ้วยจึงเน้นผลิตยางแท่งเป็นหลัก

2.ศักยภาพน้ำยางข้นไทยอันดับ1ของโลก

อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 (มูลค่ารวมส่งออกและใช้ในประเทศ) โดยส่งออกในสัดส่วน 75.9% และไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกเกือบ 70% ของปริมาณการค้าน้ำยางข้นทั่วโลก

3.ตลาดใกล้กระจุกตัวแต่มีตลาดทั่วโลกรออยู่

ตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่ใกล้บ้านในอาเซียนและเอเซียตะวันออกคือ มาเลเซียที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณส่งออกน้ำยางข้นทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน (33.5%) และเกาหลีใต้ (1.8%) แต่ในอีกแง่หนึ่งคือการมีตลาดดั้งเดิมกระจุกใน3ประเทศแสดงว่ายังมีตลาดใหม่ในอีกกว่า100ประเทศรอเราอยู่

4.Covid โอกาสในวิกฤติ

จากวิกฤติโควิด19 ทำให้ความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงยางอนามัย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย The Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 662 พันล้านชิ้นในปี 2566 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 23.1% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566

How to ทิ้ง "แยกขยะก่อนทิ้ง" กับ 8 ทางแยก(ขยะ)วัดใจ แยกให้ถูกถัง...เพิ่มพลังรักษ์โลก!!

หยุด!! การทิ้งขยะรวมกันในถังเดียวได้แล้ว เพราะ “การแยกขยะก่อนทิ้ง” เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยสิ่งแวดล้อม แล้วสามารถเริ่มได้จากตัวเราเอง ถ้าหากสิ่งแวดล้อมดี เราทุกคนก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างสบายใจ และสูดลมหายใจได้อย่างเต็มปอด วันนี้ทาง THE STATES TIMES เลยขอชวนทุกคนมา “แยกขยะก่อนทิ้ง” แบบง่าย ๆ และถูกวิธีไปด้วยกันเลยยย...  

สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ทาง >> https://youtu.be/gwJRhvCwy9k

 

ที่ปรึกษาส่วนตัว “สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซ็น” พบผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย สร้างเสริม เติมความพร้อมในเอเชียนเกมส์ที่กัมพูชา

Dr. Sok Sokrethya ที่ปรึกษาส่วนตัว สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ผู้แทนรัฐบาลกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะที่ปรึกษา ได้เข้าพบ ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ท่านผู้ว่าฯ อาทิ วิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าฝ่ายบริหารพร้อมคณะผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย

บรรยากาศการต้อนรับอบอุ่น ได้นำเสนอ วีดีทัศน์ถึงการพัฒนาการกีฬาไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายให้ได้เหรียญทองโอลิมปิกในอีกสามปี ของการเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศฝรั่งเศส และเพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับตัวแทนของภาคประชาสังคมไทย ด้านกีฬาประเภทต่าง รวมทั้งการเชิญเข้าร่วมการพัฒนาผู้บริหารด้านการกีฬาทั้งระดับกลางและระดับสูงให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้น

Dr. Sok Sokrethya ได้กล่าวชื่นชมถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านการกีฬาของไทยและปรารถนาที่จะขอความร่วมมือในการพัฒนาด้านการกีฬา โดยเฉพาะลู่จักรยานเพื่อการพัฒนากีฬาจักรยานที่ปัจจุบัน การขับขี่จักรยานเป็นที่แพร่หลายมากในประเทศกัมพูชา แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่ถูกต้อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top