Tuesday, 13 May 2025
ECONBIZ

ทิศทางน้ำมันโลก สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 6 - 10 มี.ค. 66

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 6 - 10 มี.ค. 66

>> ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว โดย Caixin/Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers' Index: PMI) ของจีนในเดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 2.4 จุด จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 51.6 จุด บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 65 โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) สาขา Atlanta นาย Raphael Bostic สนับสนุนให้ Fed ชะลอความรุนแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า Fed อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% จากระดับปัจจุบัน สู่ 4.75-5.0% ในการประชุมวันที่ 21 – 22 มี.ค. 66 (คาดการณ์เดิมเพิ่มขึ้น 0.5%) ซึ่งจะคลายความกดดันต่อภาคเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน 

ความเห็นของผู้ค้าพลังงานในงานสัมมนาด้านพลังงาน CERAWeek ระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. 66 เมือง Houston รัฐ Texas ของสหรัฐฯ ล่าสุด ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 66 อาทิ นาย Mike Wirth, CEO ของ Chevron Corp. กล่าวว่าตลาดน้ำมันยังอยู่ในภาวะตึงตัวและมีความเสี่ยงต่อภาวะอุปทานชะงักงัน แม้ว่าน้ำมันดิบจากรัสเซียยังคงเข้าสู่ตลาด แต่ระยะทางและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนราคาที่แตกต่างกันจากมาตรการคว่ำบาตร จะทำให้อุปทานตึงตัว นอกจากนี้ นาย Torbjorn Tornqvist, CEO ของบริษัท Gunvor กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 เนื่องจากอุปสงค์ของจีนกลับสู่ตลาด สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

กระตุ้นเศรษฐกิจ!! ‘ครม.’ เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 64/65 ที่ 1,106.40 บาท/ตัน คาด สัปดาห์หน้า ยื่นราคาขั้นต้น ปี 65/66 เข้าที่ประชุม ครม.

(8 มี.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,106.40 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 474.17 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่ราคา 1,070 บาท ซึ่งการที่ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย จะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 แล้ว หลังจากนี้ สอน.จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
 

อุ้มบุญมาแรง!! ความต้องการมีทายาทสืบสกุล หนุนธุรกิจ อุ้มบุญทั่วโลก  คาดในปี 75 ตัวเลขโตทะลุ 129,000 ล้านดอลลาร์

ความต้องการผู้สืบสกุลพุ่ง หนุนธุรกิจ ‘อุ้มบุญ’ โลกโตไม่หยุด ขณะปี 2565 อุตสาหกรรมการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทั่วโลกเติบโตประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2575 ธุรกิจนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 129,000 ล้านดอลลาร์

ล่าสุด ตัวบ่งชี้ว่าตอนนี้ธุรกิจอุ้มบุญ หรือรับจ้างตั้งครรภ์กำลังเฟื่องฟู ผู้หญิงจำนวนมากหันไปทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราวด้วยการรับจ้างอุ้มท้องให้แก่บรรดาคู่สามีภรรยาที่เป็นทั้งคู่สามี-ภรรยาที่เป็นหญิง-ชายปกติ และคู่รักกลุ่ม LGBT ที่ต้องการมีบุตรสืบสกุล

ธุรกิจนี้เติบโตอย่างมากในประเทศต่าง ๆ รวมถึง จอร์เจีย และเม็กซิโกและตอนนี้มีผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงมากขึ้นหันมารับจ้างตั้งครรภ์ให้ผู้อื่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรียกว่าเป็นการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ก็น่าจะได้ เพราะความต้องการสูงมากประกอบกับได้เงินค่าจ้างที่สูงพอตัว  ซึ่งการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์นี้จะแตกต่างจากการอุ้มบุญการกุศลที่ผู้อุ้มบุญจะไม่ได้เงินหรือค่าตอบแทนใด ๆ โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทั่วโลกเติบโตประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2575 ธุรกิจนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 129,000  ล้านดอลลาร์     

อย่างกรณีของ ‘ดิลารา’ ซึ่งอาศัยอยู่ในทบิลิซี ประเทศจอร์เจียมานานหลายเดือนและทำงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่ช่างทำผม ช่างทำรองเท้าไปจนถึงพนักงานเสิร์ฟแต่มีงานเดียวเท่านั้นที่เธออยากทำนั่นคือการรับจ้างตั้งครรภ์ให้แก่คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการลูก   

ดิลารา แม่ม่ายวัย 34 ปีที่ทิ้งลูกสี่คนไว้ให้พ่อแม่เลี้ยงในอุซเบกิสถานเมื่อปีที่แล้วตั้งความหวังไว้มากว่าจะได้งานรับจ้างตั้งครรภ์ให้ประเทศนี้ที่ถือว่าอุตสาหกรรมอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เติบโตสูง

“ฉันเป็นหนี้ธนาคารที่เกิดจากการกู้เงินมาใช้จ่ายและฉันมีลูกสี่คนที่ต้องเลี้ยงดู พวกเขาต้องเข้าโรงเรียน คุณก็รู้ว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ฉันต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จึงทำให้ฉันอยากเป็นคุณแม่อุ้มบุญ” ดิลารา กล่าว

โดยทั่วไป การอุ้มบุญแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ (1) Traditional Surrogacy หมายถึง แม่อุ้มบุญ ที่ตั้งครรภ์โดยการฉีดสเปิร์มไม่ว่าเป็นของสามีคู่นั้นหรือที่ใช้รับบริจาคมาเข้าไปในมดลูก หรือผสมไข่ของแม่อุ้มบุญกับสเปิร์มในหลอดแก้วก่อนที่จะฉีดเข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะมีพันธุกรรมของแม่อุ้มบุญปนอยู่ด้วย

และ (2) คือการอุ้มบุญประเภท Gestational Surrogacy หมายถึงแม่อุ้มบุญ’ ที่ตั้งครรภ์โดยนำไข่กับสเปิร์มที่ผสมแล้วใส่เข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับแม่อุ้มบุญแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นว่าการทำแบบนี้ถูกกฎหมายหรือไม่นั้น ในสหรัฐมีบางรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีดำเนินการได้อย่างเสรี เช่น รัฐอาคันซอ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอิลลินอยส์ รัฐเท็กซัส รัฐแมสซาชูเซตส์ ส่วนรัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซี รัฐอลาสกา และรัฐนิวเม็กซิโก รัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตัน มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เฉพาะเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น

ขณะที่ในแคนาดาและสหราชอาณาจักรอนุญาติให้เฉพาะที่เป็นการอุ้มบุญเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น ส่วนในจอร์เจีย ก็เหมือนกับในยูเครนและรัสเซียที่อนุญาตให้ทำได้อย่างถูกกฎหมายจึงทำให้อุตสาหกรรมการอุ้มบุญในประเทศเหล่านี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ดิลารา เป็นหนึ่งในผู้หญิงจำนวนมากที่หันมาทำมาหากินด้วยการรับอุ้มบุญอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในฐานะที่อาชีพนี้สร้างรายได้ให้เธอมากพอและคุ้มค่ากับการรับตั้งครรภ์ท่ามกลางความต้องการแม่อุ้มบุญที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการมีบุตรยากของคู่สามี-ภรรยา ที่มีมากขึ้น การแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่เพิ่มมากขึ้น และผู้คนยุคใหม่ที่นิยมอยู่เป็นโสดแต่อยากมีผู้สืบทอดก็มีจำนวนมากขึ้น

ต่อลมหายใจ!! ‘กบง.’ ไฟเขียว ตรึงราคา LPG-NGV ต่ออีก 3 เดือน แบ่งเบาภาระ ปชช. เริ่ม 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 66 นี้

(8 มี.ค 66) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้ม โดยคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานกำกับดูแลสถานีบริการก๊าซ LPG ไม่ให้มีการลักลอบเติมก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์ลงในถังก๊าซหุงต้ม

เจ้าแรกในเอเชีย!! EA ปลื้ม!! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถเมล์ EV ผ่านฉลุย พร้อมเดินหน้า ‘ลดก๊าซเรือนกระจก-มลพิษ’ ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ฉลุย!! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV ของบริษัท ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์และรัฐบาลไทยเรียบร้อยแล้ว หวังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ ในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยเป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ขณะที่ ‘Kilk Foundation’ เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยส่งเสริมให้โครงการมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลก และเป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียโดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการเราจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอน และช่วยกระตุ้นบรรยากาศที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนากิจกรรมที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald, Head International, Kilk Foundation กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่องเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตผ่าน Article 6 นั้นมีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน 

นอกจากนี้เรายังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียงเพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์ 

ค้าง่าย ขายคล่อง!! ‘รัฐบาล’ เร่งพัฒนากรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ดัน 9 ภารกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้ามพรมแดน

(8 มี.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) สำหรับสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งตกลงร่วมส่งเสริมความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่

1.) สาขาความเชื่อมโยง
2.) สาขาการพัฒนาศักยภาพในการผลิต
3.) สาขาความร่วมมือทรัพยากรน้า
4.) สาขาการเกษตร
5.) สาขาการลดความยากจน
6.) สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน สำหรับแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570)

พลิกโฉมวงการพลังงานไทย!!  ‘ปตท.สผ. – เชฟรอน’ คว้าประมูลปิโตรเลียมอ่าวไทย ครั้งที่ 24 คนไทยได้รับอานิสงส์ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง

(8 มี.ค.66) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 โดยบริษัท ปตท.สผ. อีดี ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515.42 ตารางกิโลเมตร และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย" นายสราวุธ กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันที่ 7-8 มี.ค.66 ซึ่งดำเนินงานโดย ปตท.สผ. อีดี สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทันทีทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อ และปัญหาใด ๆ และคาดว่าจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมความพร้อม รองรับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/6) โดยได้มีการตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของแปลง G2/61 รวมทั้งได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แท่นผลิตกลางบงกชใต้ แท่นผลิตกลางบงกชเหนือ และเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวปทุมพาหะ เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บ ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ

ปตท. ติดอันดับมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าสูงสุดกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก จากการประเมินของ Brand Finance Global บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ตอกย้ำศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ

Brand Finance Global ได้ประเมิน ปตท. จากการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและฟื้นฟูการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลของการดำเนินงานที่เด่นชัดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งทัดเทียมแบรนด์ในระดับสากล

Mr. Alex Haigh, Managing Director - Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้พลังงานทดแทนในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านพลังงานเห็นถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับกลยุทธ์สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานครอบคลุมทุกมิติ บนพื้นฐานของการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ปตท. ผนึก นูออโว พลัส ลงนามความร่วมมือโครงการ Battery Technology for All พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ มุ่งหน้าสู่ Net Zero

ปตท. ผนึกกำลัง นูออโว พลัส ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Battery Technology for All พัฒนาเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ มุ่งสู่ Net Zero

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Battery Technology for All ซึ่งเป็นการลงนามระหว่าง ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ กรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการศึกษาและพัฒนาโครงการ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่

‘เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5’ เปิดเพียงชั่วโมงแรก คนเข้าจองไปแล้วกว่า 6 หมื่นสิทธิ

กดสิทธิกันสนั่น! เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 แค่ชั่วโมงแรกจองไปแล้ว กว่า 6 หมื่นสิทธิ

จากกรณีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 โดยให้สิทธิ 560,000 สิทธิ (ห้องพัก) พร้อมเปิดให้จองสิทธิ ที่พักวันแรกในวันที่ 7 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.นั้น

‘กรณ์’ โต้ ‘เพจแบงก์ชาติ’ บิดเบือนนโยบาย ชพก. ย้ำชัดขอยกเลิก "แบล็กลิสต์" ไม่เกี่ยวเลิกเครดิตบูโร

‘กรณ์’ ซัดเพจแบงก์ชาติ บิดเบือน นโยบาย ยันไม่ได้ยกเลิกเครดิตบูโร ย้ำ "ยกเลิกแบล็กลิสต์-ใช้เครดิตสกอร์" จวกแบงก์ชาติ มีหน้าที่ดูแลลดต้นทุนการเงินประชาชน ไม่ใช่มาสร้างความสับสนให้สังคม  

( 6 มี.ค. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยคลิป กล่าวหานโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ของพรรคชาติพัฒนากล้า โดยขึ้นพาดหัวในคลิปลงเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า "มีเรื่องของเครดิตบูโรด้วยว่าอยากให้ลบ" ซึ่ง ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จนทำให้นายกรณ์ ต้องโพสต์ตอบโต้ในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ตนไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติแกล้งไม่รู้ หรือไม่รู้จริง ว่าข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรของ พรรคชาติพัฒนากล้าคืออะไร แค่ประโยคแรกที่ที่พิธีกรพูดว่ามีข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรว่า ‘อยากให้ลบ (เครดิตบูโร)’ และมีภาพขยายประเด็นว่าลบไม่ได้เพราะอะไร ก็ทำให้มีคำถามแล้ว ซึ่งข้อเสนอเรา "ไม่มีการลบข้อมูลใดๆ" ของใคร และ "ไม่มีการยุบหรือลบเครดิตบูโร" แต่เป็นการเสนอให้แก้กฎหมาย เพื่อสามารถนำข้อมูลการใช้ชีวิตทางการเงินของผู้กู้ทั้งหมดมาประมวลรวมเป็นเครดิตสกอร์ (Credit score)  แก้ปัญหาการเกิดสภาพ ‘บัญชีดำ’ หรือ แบล็กลิสต์ นั่นเอง

‘นายกฯ’ ปลื้ม บิ๊กคอร์ปปักหมุดไทย พบ 3 ปี ลงทุน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า พุ่ง 6 แสนลบ.

‘นายกฯ’ ปลื้ม 3 ปี บิ๊กคอร์ปปักหมุดไทย ลงทุน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า พุ่ง 6 แสนล้านบาท ชู ผลงาน “ทีมไทยแลนด์” สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

(6 มี.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงความคืบหน้าการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพบว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา (2563-65) ได้มีบรรษัทข้ามชาติใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท

อัปเดตโครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ความหวังเชื่อมทะเลอันดามัน - อ่าวไทย ใกล้เป็นจริง

เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความอัปเดต ความคืบหน้าล่าสุด Landbridge ชุมพร-ระนอง สรุปตำแหน่งท่าเรือน้ำลึก และเส้นทาง MR8 เชื่อม 2 ฝั่งทะเล ว่า

ล่าสุดทางที่ปรึกษาได้มีการทำการเปรียบเทียบตำแหน่ง ของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับเปรียบเทียบเส้นทาง เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล โดยเป็นโครงการเร่งด่วนตามแผน MR-Map เส้นทาง MR8
รายละเอียด MR8 Landbridge ชุมพร-ระนอง ก่อนหน้านี้
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1364108297360979&id=491766874595130

เริ่มที่ตำแหน่งท่าเรือก่อน
โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่งทะเลคือ
- ฝั่งอันดามัน (ระนอง)
- ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร)

ฝั่งอันดามัน ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- เกาะตาวัวดำ
- เกาะสน
- แหลมอ่าวอ่าง

ฝั่งอ่าวไทย ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- แหลมประจำเหียง
- แหลมริ่ว
- แหลมคอเขา

ซึ่งมีการเปรียบเทียบในด้านความเหมาะสมด้านการเดินเรือ, การพัฒนาท่าเรือ, มูลค่าการลงทุนทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม 

ทำให้มีการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ
- ฝั่งอันดามัน ที่ แหลมอ่าวอ่าง
- ฝั่งอ่าวไทย ที่ แหลมริ่ว

หลังจากได้ตำแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมแล้วก็มาลงเส้นทางถนน เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งต่อ
โดยในเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง นี้จะมีส่วนประกอบที่มากกว่าถนนธรรมดา ซึ่งรวมการขนส่งทุกรูปแบบมารวมกันได้แก่
- Motorway 
- ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ในประเทศ)
- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (เส้นทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น ***ในระยะยาว)
- ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ
- ถนนเลียบเลียบทางรถไฟ (local road)

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเผื่อเขตทาง 160 เมตร เพื่อรองรับในอนาคตทั้งหมด แต่ในเฟสแรกอาจจะมีแค่บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริง
โดยเปรียบเทียบเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่

โอกาสที่ไม่ควรมองข้าม!! ‘พงษ์ภาณุ’ มอง ศก.ไทยจะฟื้นตัวด้วยท่องเที่ยว แนะ รบ.ดันคาสิโนถูก กม. ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 66 ว่า เศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังจากเผชิญวิกฤตหลายด้านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและก๊าซแพงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่มาถึงปีนี้ มีข่าวดีเกิดขึ้นพอสมควร อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่เคยสูงถึง 10% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ประมาณ 6-7% ในขณะที่ดอกเบี้ย แม้จะยังปรับเพิ่ม แต่ก็ชะลอลง ขณะที่ประเทศจีน ประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ 

แน่นอนว่า จากปัจจัยบวกเหล่านี้ ทำให้เกิดความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่เกิดขึ้นมาบ้างแล้วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ ได้ย้ำเตือนว่า แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจของไทย จะต้องระมัดระวังและเรียนรู้ในการบริหารความเสี่ยง เพราะเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีตลอดไป วันดีคืนดี โรคโควิดอาจจะกลับมาระบาดในจีน และจะทำให้ต้องปิดประเทศอีกก็ได้ การท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาฟื้นตัวก็อาจจะได้รับผลกระทบอีก ดังนั้นไม่ควรที่จะพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ ยังเชื่อมั่นว่าหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาคท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างก้าวกระโดด แม้กระทั่งนักลงทุนต่างชาติเอง ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเติบโตด้วยภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสัญญาณการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยวประเทศไทยเห็นชัดเจนมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งจากตะวันตกและจีน

‘กระทรวงดิจิทัลฯ - ดีป้า’ จัดงาน SCA on Tour มุ่งกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยี

(4 มี.ค. 66) ที่จังหวัดปทุมธานี กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า พร้อมเครือข่ายพันธมิตรลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง ขยายความสำเร็จโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มุ่งสร้างความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ ระหว่างนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ และผู้แทนจากหน่วยงานในโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ มุ่งเป้ากระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
เปิดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง ที่จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต, ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า, ผู้บริหารและผู้แทนจากเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาคประชาชน รวมถึงน้อง ๆ จากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (Smart City Ambassadors: SCA Gen 2) และผู้แทนจากหน่วยงานในโครงการฯ (กัปตันเมือง) ร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการขยายความสำเร็จโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า จึงจัดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานีขึ้น หลังประสบความสำเร็จอย่างมากจาก SCA on Tour ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มกราคมที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเครือข่ายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ระหว่างนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 กัปตันเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง

“ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ที่กำหนดให้ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดระบบบริการที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง เท่าเทียม พร้อมรองรับนักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top