Monday, 5 May 2025
ECONBIZ NEWS

กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% รับโควิดระบาด

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วย ผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยง จึงเห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด 

ทั้งนี้ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 1.8% และขยายตัว 3.9% ในปี 2565 โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 5 ปี สนับสนุน BCG Model สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มั่นใจปี 64 ลดมลพิษได้เกินเป้าที่ตั้งไว้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแผนวิสาหกิจ กนอ. (พ.ศ.2561-2565) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน (Green Strategy) โดย กนอ. ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ภายใน 5 ปี (2564-2568) หรือปีละ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)

สำหรับปี 2564 กนอ. ได้จัดทำแนวทางเพิ่มค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือประมาณกว่า 700,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) จากการให้บริการสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง รวมทั้ง กนอ. สำนักงานใหญ่ โดยเป็นการดำเนินงานผ่านแผนงานการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของ กนอ.

อาทิ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง การติดตั้งโซล่าเซลล์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การสนับสนุนให้โรงงานเก็บสถิติก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นและขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กนอ. ยังมีโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และโครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อีกด้วย

“แนวคิดการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากร พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งทั้งหมดต้องก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมาก ส่งเสริมการเกิดเครือข่ายในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาสินค้าและบริการ การนำของเสียที่อยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่อุปทานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ และปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด สร้างสมดุลระหว่างวัตถุดิบ การนำไปใช้ และผลผลิตในกระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสียในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ระหว่างโรงงานทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างการเกื้อกูลพึ่งพากันและกันในรูปแบบเครือข่ายได้ในที่สุด” นายวีริศ กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กระทรวงเกษตรฯ เร่งฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด ‘เฉลิมชัย’ เห็นชอบพิมพ์เขียววิสัยทัศน์ฮาลาล (Thailand Halal Blueprint) พร้อมเสนอ ครม. ดันไทยฮับฮาลาลโลก หวังเจาะตลาดฮาลาล 48 ล้านล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงวันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามเห็นชอบ “วิสัยทัศน์ นโยบายและแผนพัฒนาสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล” แล้วโดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปโดยเร็ว นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและโครงการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบครบวงจร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลของไทยสู่เป้าหมายฮับฮาลาลโลก

โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า “ในยุคโควิด เราต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติและตลาดฮาลาลคืออนาคต” ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48 ล้านล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท) และประเมินว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (68 ล้านล้านบาท) ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังไม่รวมตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม (non-Muslim market)

“ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 2 ของเอเชียและอันดับ 11 ของโลกในปี 2562 และภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บนความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล มอ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า ศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) และทุกภาคีภาคส่วนจะเป็นฐานการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีพลังและพลวัตร เมื่อเป้าหมายชัด นโยบายชัด ความร่วมมือแข็งแกร่ง”

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” กล่าวว่า วิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่

(1) การเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล

(2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3) การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค

(4) การเพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์

(5) การยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) โครงการและงบประมาณเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก

นายอลงกรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล 3 โครงการ และตั้งเป้าหมายจะขยายอีก 5 โครงการ ในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยความร่วมมือกับ ศอบต. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นฮับของอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้แนวทางระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล (Halal Economic Corridor)

“ที่ประชุมยังให้ขยายการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก กาญจนบุรี เป็นต้น โดยประสานกับโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ AIC เพื่อขยายฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำไปทุกภาคทั่วประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด สร้างงานสร้างอาชีพสร้างผลิตภัณฑ์สร้างตลาดใหม่ๆ ให้มากที่สุดเร็วที่สุด

รวมทั้งเห็นควรขยายความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล ตลอดจนการขยายผลการเรียนการสอนหลักสูตรการบริหารจัดการฮาลาล และโครงการโรงเชือดแพะต้นแบบมาตรฐานฮาลาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.-หาดใหญ่) สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกร นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค นับเป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามประสบผลสำเร็จแต่ก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป”


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกลุ่มอินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดสัมมนา Cabling & Networking for Residence

งานสัมมนา Cabling & Networking for Residence คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกลุ่มอินเตอร์ลิ้งค์ฯ นำทีมวิทยากรชั้นนำมา Update กลยุทธ์ และเทคนิคการเลือกใช้สายสัญญาณ และอุปกรณ์เชื่อมต่อให้เหมาะสมกับอาคารขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้กับกลุ่มลูกค้าหน้าร้านไฟฟ้า ไอที และกล้องวงจรปิด กว่า 70 ท่าน เพื่อให้กลุ่มลูกค้าต่อยอดเทคนิคการขาย และเป็นไอเดียเลือกซื้อสินค้าสำหรับงาน Midyear Sale ที่กำลังจะมาถึง

???? LIVE จากสำนักงานใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

เร่งแก้ปัญหากล้วยไม้ไทยช่วยเหลือเกษตรกรเจอพิษโควิด

กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ จัดประชุมหารือคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ผลผลิตราคาตกต่ำ

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกกล้วยไม้และผู้ส่งออก 4 แนวทาง ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ ได้แก่

1.) การจัดกล้วยไม้สัญจร โดยสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย จำกัด ได้จัดทำแผนการจัดการกล้วยไม้สัญจรในปี 2564 ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง  

2.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเจรจาลดค่าขนส่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  

3.) การดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยประสานงานกับกรมชลประทานในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มและบริหารจัดการน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็ม พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในการบริการช่วยเหลือเกษตรกร และ

4.) การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกปี 2565 เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานฯ และมอบหมายฝ่ายเลขาฯ จัดทำคำสั่งคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไป

"การดูแลครั้งนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นวงกว้าง ในขณะที่ต้นกล้วยไม้ยังคงให้ผลผลิตในแปลงปลูกได้ตามปกติ สวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกและราคาจำหน่ายในภาพรวมลดลงตามไปด้วย"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี 1.2 แสนราย ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. 24 มิถุนายนนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ในอัตรา 120 บาทต่อตันอ้อย โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของชาวไร่อ้อยแต่ละรายโดยตรง จำนวน 121,010 ราย มีปริมาณอ้อยสดส่งโรงงาน 48,919,059 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวไร่อ้อยที่ข้อมูลและเอกสารยังไม่ถูกต้อง จำนวน 353 ราย และข้อมูลบัญชีไม่ถูกต้อง จำนวน 343 ราย โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ และคาดว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือครบทุกรายภายในเดือนกรกฎาคมนี้

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อย ไฟไหม้ และข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้มีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงได้วางแผนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง

โดยได้ตั้งเป้าในฤดูการผลิตปี 2564/2565 อ้อยไฟไหม้เหลือร้อยละ 10 ด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ การกำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด การจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้ชาวไร่อ้อยยืมใช้ฟรี จำนวน 176 เครื่อง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลอื่นๆ มาใช้ในไร่อ้อย การหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีทุกราย รวมถึงขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยในอัตราที่เหมาะสม

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวปิดท้ายว่า ชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย หากบัญชีของท่านไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่า "บัญชีพร้อมโอน" และหากได้รับการโอนแล้วระบบจะแจ้งว่า “โอนเงินสำเร็จแล้ว” กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่าน “ไม่สามารถรับโอนได้” ระบบจะแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถโอนได้เนื่องจากกรณีใด ให้ผู้ตรวจสิทธิ์ฯ รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาของท่าน และให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรับรองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พิจารณาตรวจสอบร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อเร่งดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป

สำหรับการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และชาวไร่อ้อย ที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง สำหรับในฤดูการผลิตปี 2564/2565 นี้ สอน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะจับมือกันก้าวไปสู่เกษตรปลอดการเผา ร่วมกันแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปจากประเทศไทย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พาณิชย์” เผย ตัวเลขส่งออก พ.ค. 64 โตกว่า 40%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกในเดือน พ.ค. 2564 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เป็นตัวเลข 2 หลัก ไม่ต่ำกว่า 40% ถือว่าฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2563 ที่หดตัว 22.47% และ มิ.ย. 2563 หดตัวถึง 23.08% ก่อนจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยในครึ่งปีหลังกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันการส่งออก ซึ่งยังคงเป้าหมายส่งออกทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 4% ผ่านกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังติดตามเรื่องการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งผลสำรวจประชาชนในแต่ละภาคกว่า 55-63 % ระบุว่ายังไม่ฉีดและในพื้นที่ยังไม่ได้รับการฉีด จึงทำให้กว่า 40-70% คาดว่าความมั่นใจในการใช้จ่ายและท่องเที่ยวยังไม่คึกคัก

นอกจากนี้ เห็นว่ามาตรการรัฐที่ออกมาผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ยังไม่สร้างบรรยากาศใช้จ่ายให้คึกคักกว่าควรเป็น ส่วนใหญ่ระบุใช้จ่ายเหมือนเดิม ขณะที่ 20-30 % มองว่ายังซบเซา ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จึงได้เสนอให้รัฐทบทวนและเพิ่มเติมมาตรการ โดยเพิ่มเงินคนละครึ่งจาก 3 พันบาท เป็น 6 พันบาท โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่จำกัดการใช้จ่ายและต้องลงทะเบียนทำให้ประชาชนระดับที่มีรายได้มองว่าไม่สะดวกและขั้นตอนยุ่งยาก ให้ปรับปัดฝุ่นช้อปดีมีคืน เป็นการนำการใช้จ่ายในลดหย่อนภาษีน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและได้รับความสนใจเข้าโครงการมากกว่า และควรเร่งทำในไตรมาส 3/2564 เพื่อประคองเศรษฐกิจ

ขณะที่ ส่วนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มจากภูเก็ตนั้น จากที่ได้สำรวจบริษัททัวร์นำเข้านักท่องเที่ยว พบว่า หลายประเทศที่เปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อน และไทยก็ติดหนึ่งใน 10 ประเทศของโลก ที่นักท่องเที่ยวนิยมและต้องการเข้ามาแล้ว ซึ่งหากเปิดได้ตามกำหนด ปีนี้มีนักท่องเที่ยวมาถึง 3-4 แสนคน จะสร้างรายได้ 2-3 แสนบ้านบาท ช่วยกระตุ้นจีดีพี 0.7-1.0%, มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายภาครัฐได้รับความนิยมตามเป้าหมาย จะส่งผลต่อจีดีพีทั้งปีนี้ขยายตัวได้ 2-2.5% และบนพื้นฐานส่งออกโต 7% เงินเฟ้อ 1.3%

“ในการประชุมทีมเศรษฐกิจกับภาคเอกชน 23 มิ.ย.นี้ คาดว่าเอกชนจะเสนอแนวทางกระตุ้นใช้จ่ายเร่งด่วนและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ อีกทั้งลดต้นทุนเอสเอ็มอี และความพร้อมเปิดประเทศ เริ่มที่แซนด์บ็อกซ์ ภูเก็ต เบื้องต้นจากสำรวจประชาชนเริ่มกลับมากังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดอีกระลอก ขณะที่ความเชื่อมั่นประชาชนและธุรกิจตอนนี้อยู่ที่การฉีควัคซีน” นายธนวรรธน์กล่าว

ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์! แผนเปิดประเทศไม่ต้องกักตัว มีเมืองอื่นในโลกทำแล้ว สำเร็จไหม?

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงการณ์เรื่องการเปิดจังหวัดภูเก็ตเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ใช้ชื่อว่า “ภูเก็ต sandbox” โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม [1] จากข้อมูลในวันที่ 16 มิถุนายน ชาวภูเก็ตร้อยละ 63.3 ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็ม ร้อยละ 30.2 ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีจำนวน 119,732 คนจาก 547,584 คน สถานประกอบการที่บุคลากรได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้วจะได้รับสัญลักษณ์ SHA+ โดยขณะนี้ มีโรงแรมมากกว่า 280 แห่งที่ได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวแล้ว [2]

เมื่อประชากรในภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 70 แล้ว ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดแรกในไทยที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว [3] ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมายังภูเก็ตต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง ได้รับการฉีดวัคซีนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ รวมถึงวัคซีนอื่นๆ ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบก่อนเดินทางเข้าประเทศ 72 ชั่วโมง และเมื่อเดินทางมาถึง ต้องอยู่ในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน หากน้อยกว่านั้น ต้องเป็นการเดินทางออกนอกประเทศไทยเท่านั้น [4]

โครงการ ภูเก็ต sandbox ไม่เพียงแต่เป็นความหวังในการเปิดจังหวัดภูเก็ตเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง แต่ยังเป็นความหวังในการนำร่องโครงการเปิดรับการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ [3] ดังที่หลายๆ ประเทศได้เริ่มเปิดพื้นที่บางส่วนให้นักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่ำเดินทางมาได้ หรือที่เรียกกันว่า Travel Bubble ทั้งนี้ Travel Bubble หมายถึง การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่จัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีพอๆ กัน ผู้เดินทางระหว่างประเทศที่ตกลงทำ Travel Bubble ร่วมกันสามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว [5]

ประเทศมากมายได้ทำ Travel Bubble แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงและสิงคโปร์ที่เริ่มทำ Travel Bubble เป็นที่แรก [6] สาธารณรัฐปาเลาและไต้หวันที่นับได้ว่าเป็น Travel Bubble แห่งแรกในเอเชีย [7] หรือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่มีระดับผู้ติดเชื้อลดต่ำลงอยู่ในระดับเดียวกัน [8] อย่างไรก็ตาม การทำ Travel Bubble ไม่ใช่เรื่องง่าย ฮ่องกงและสิงคโปร์ต้องเลื่อนการทำ Travel Bubble ออกไปเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในฮ่องกงมีจำนวนเพิ่มขึ้น [9] เช่นเดียวกับเปาโลและไต้หวันที่ต้องเลื่อนการทำ Travel Bubble เนื่องจากผู้ติดเชื้อในไต้หวันมีจำนวนเพิ่มขึ้น [10]

แม้การทำ Travel Bubble จะมีความเสี่ยงต่อการถูกเลื่อน แต่การทำ Travel Bubble ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไม่น้อย เช่น ในกรณีของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ Travel Bubble ช่วยสร้างรายได้ให้กับสายการบิน Qantas ที่สูญเสียรายได้นับ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปีค.ศ. 2020 แรงงานกว่า 630 คนได้กลับมาทำงานและจัดการเที่ยวบินมากถึง 200 เที่ยวต่อสัปดาห์ กระจายรายได้ให้แก่กิจการในประเทศได้อีกมหาศาล [8]

จากทั้งความสำเร็จและอุปสรรคต่างในการทำ Travel Bubble ของประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าเส้นทางสู่การเปิดจังหวัดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีกมากมาย การเปิดโครงการภูเก็ต sandbox ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ดังที่มีการคาดการณ์ไว้ว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 90 คนต่อสัปดาห์ มีการกระจายโรคใน 3 อำเภอหรือมากกว่า 6 ตำบล หรือมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ รวมถึงมีอัตราการครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป โครงการภูเก็ต sandbox อาจต้องเลื่อนไปก่อนเช่นกัน

ทั้งนี้ เราคงได้แต่จับตาดูต่อไปว่าโครงการดังกล่าวนี้จะสำเร็จเป็นจริงในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะมาถึงนี้หรือไม่ และหากสำเร็จ โครงการนี้จะเปิดทางไปสู่การต้อนรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นได้อย่างไรต่อไป

อ้างอิง [1] ฐานเศรษฐกิจ. (8 มิถุนายน 2564). เดินหน้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ครม.มีมติรับทราบ 1ก.ค.รับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดครบโดส. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/content/covid_19/483074

[2] กรุงเทพธุรกิจ. (17 มิถุนายน 2564). กรมควบคุมโรค ชื่นชมภูเก็ตฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ปชช.แล้วกว่า 3 แสนราย. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/944086

[3] Randy Thanthong-Knight. (June 16, 2021). Phuket Reopening Offers Model for Asia as Travel Bubbles Burst. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-06-15/-phuket-sandbox-offers-model-for-asia-as-travel-bubbles-fail

[4] ข่าวไทยพีบีเอส. (18 มิถุนายน 2564). ศบค.วางเงื่อนไข “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดรับนักท่องเที่ยว. สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/305329

[5] กรุงเทพธุรกิจ. (13 มิถุนายน 2563). ‘Travel Bubble’ คืออะไร? ไทย เตรียมปลดล็อคให้ไปที่ไหนบ้าง!?. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884943

[6] Kyunghee Park. (November 11, 2020). Singapore to Start ‘World First’ Air Travel Bubble With Hong Kong. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-11-11/singapore-air-travel-bubble-with-hong-kong-to-start-on-nov-22-khcs17sn

[7] Lilit Marcus and Maggie Hiufu Wong. (April 1, 2021). Asia’s first ‘travel bubble’ opens between Taiwan and Palau. Retrieved from https://edition.cnn.com/travel/article/taiwan-palau-travel-bubble-intl-hnk/index.html

[8] BBC. (April 19, 2021). Australia opens travel bubble with New Zealand. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-australia-56796679

[9] BBC. (November 21, 2021). Covid-19: Hong Kong-Singapore travel corridor postponed. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-asia-55027305

[10] SPH Digital News. (May 22, 2021). Palau-Taiwan travel bubble to reopen ‘as soon as practical’. Retrieved from https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/palau-taiwan-travel-bubble-to-reopen-as-soon-as-practical

 

ที่มา : https://www.investerest.co/economy/what-is-phuket-sandbox/


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เปิดโครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ครม.อนุมัติวงเงิน 161.3 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กรอบวงเงิน 161.324 ล้านบาท ในการใช้รถ Mobile ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ให้บริการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพให้กับประชาชน ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 20-40 ในพื้นที่แหล่งชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน เริ่มเดือนกรกฎาคม 2564  ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ 210 ล้านบาท ลดรายจ่าย 90 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน/รักษาการจ้างงาน 2,385 คน ลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน 3 ล้านคน หรือ 100,000 คน/วัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยถึงประโยชน์โครงการฯ ว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการบริโภคภาคครัวเรือนรวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยลดการเดินทางของประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายและการติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชนด้วย

ออมสิน รับมอบนโยบายรัฐบาล พักหนี้ให้ SMEs ท่องเที่ยวทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน เปิดให้ โรงแรม-รีสอร์ต-เกสต์เฮาส์-เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ แจ้งเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 23 ก.ค. นี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังมอบหมายธนาคารออมสินออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ที่ขณะนี้ต้องประสบภาวะยากลำบาก ขาดรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ และไม่สามารถชำระหนี้ได้

ล่าสุดธนาคารออมสินจึงออกมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ มาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้เงินงวดเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน หรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ที่ได้ติดต่อขอสินเชื่อไว้ หมดเขตแจ้งความประสงค์วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

อนึ่ง นอกเหนือจากความช่วยเหลือตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวอีกหลายมาตรการ โดยปัจจุบันมี 2 มาตรการที่ยังคงเปิดรับลงทะเบียน ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินให้กู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท และมาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.1% วงเงินให้กู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอกู้ได้ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ

 


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top