Monday, 5 May 2025
ECONBIZ NEWS

ไทยส่งออกทุเรียนสด ขึ้นอันดับ 1 ของโลก!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่ารายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 95.3% จากปีก่อน โดยส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดหลักเติบโตสูงถึง 130.9% รวมแล้วตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงเร่งตัว 45.2% มีมูลค่า 1,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญในลำดับที่ 2 รองจากยางพารา แซงหน้าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดในปีนี้มีเพิ่มขึ้นประกอบกับกระแสความต้องการทุเรียนจากตลาดจีนยิ่งหนุนราคาส่งออกทำให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยในภาพรวมในปี 2564 น่าจะเร่งตัวได้ราวร้อยละ 35-40 มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ด้วยทุเรียนที่ได้รับกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นปี 2564 ทุเรียนไทยยังคงทำตลาดได้ดีด้วยพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นได้อีก แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศ แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัวคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี 

สำหรับปัจจุบัน ไทยจะต้องเจอการแข่งขันมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งระหว่างที่คู่แข่งกำลังเพิ่มผลผลิต ไทยก็จำเป็นต้องรุกนำเสนอทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อขยายตลาด พร้อมทั้งทำตลาดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลและการค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ รวมทั้งยกระดับทุเรียนไทยให้มีความพรีเมียมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานรสชาติเหมือนรับประทานที่ไทย

ตลท. เล็งยกระดับ “Settrade Streaming” เป็นแพลตฟอร์มกลางซื้อขายทุกสินทรัพย์ "หุ้น- คริปโต-ดิจิทัลแอสเสท ฯลฯ" เพิ่มความสะดวกนักลงทุน ลดความซ้ำซ้อน เปิดบัญชี-ส่งออเดอร์ผ่านหลายตลาด ตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในโลกสมัยใหม่นักลงทุนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสัดส่วนมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Settrade Streaming เพื่อให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น, สินทรัพย์ลงทุนรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset), สกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี), กองทุน, ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ (DR) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ฯลฯ ในที่เดียว

“นักลงทุนไม่ควรต้องเปิดบัญชีซ้ำซ้อน หรือซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนผ่านตลาดหลายแห่ง เราจึงมุ่งพัฒนาระบบ Settrade เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อรองรับการลงทุนทั้งสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional), Digital Asset รวมถึงคริปโตเคอเรนซี แม้ในอนาคตอันใกล้ตลท. จะยังไม่ถึงขั้นเปิดให้ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี แต่เราจะมีช่องทางเชื่อมต่อให้ซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เงินลงทุนไม่สูง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนนำหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีศักยภาพแต่มีราคาต่อหุ้นสูง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ บมจ.ปตท. (PTT) มาออกเป็น DR เพื่อให้สามารถซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ได้ด้วยเงินหลักร้อยบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการสำรวจตลาด (Market Survey) กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก โดยคาดว่าจะสามารถซื้อขายได้จริงภายในปีนี้

นายภากร กล่าวว่า วานนี้ (24 มิ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมงาน Maybank Kim Eng's Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อเสวนา The ASEAN investor : Where are the next opportunities? ร่วมกับผู้บริหารตลาดหุ้นอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นสิงคโปร์ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มียอดเปิดบัญชีใหม่สูงถึง 1.03 ล้านบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีรวมเพิ่มเป็น 4.54 ล้านบัญชี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไปจะเน้นอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาระบบเปิดบัญชีออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากนักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหลักสูตรให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นของไทยมีแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังขาดความรู้ทางการเงินที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ตลอดจนการจับคู่ให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน (Glooming) และสุดท้ายอยู่ระหว่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัว หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (ESG) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ บจ.รายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมในรายงานที่ต้องส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945308


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ส่งออกรถยนต์ฟื้น! ส.อ.ท. เผยยอดส่งออกรถยนต์ เดือนพฤษภาคม พุ่ง 165.87% ขณะที่ยอดรวม 5 เดือน เพิ่มขึ้น 29.94% หลังประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 150.14% จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 126.01% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 193.39% เพิ่มขึ้นจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายนและห้ามจัดงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนมีนาคม ทำให้สต็อกรถยนต์ในโชว์รูมยังมีจำนวนมาก บางบริษัทจึงยังไม่มีการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม แต่การผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ยังสูงกว่าเดือนเมษายน 2564 ถึง 34.32% แต่ยังน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ราว 22.70%

ขณะที่ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 79,479 คัน เพิ่มขึ้น 165.87% จากเดือน พ.ค. 63 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเนื่องจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 50.30% จากเดือน เม.ย. 64 เพราะประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 68.3% เวียดนามขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1% ญี่ปุ่นขายเพิ่มขึ้น 46.3% อินโดนีเซียขายเพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกยังลดลง 16.63% จากเดือน พ.ค. 62

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 64) อยู่ที่ 390,467 คัน โดยเพิ่มขึ้น 29.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 221,429.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผย ว่าจีนให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของทุเรียนไทย โดยเฉพาะกรณีการสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ (24 มิ.ย.) ว่า สื่อมวลชนจีนให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของทุเรียนไทย โดยเฉพาะกรณีการสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจไปว่าได้สั่งการให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง พร้อมกับถอนใบรับรอง GAP และ GMP สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทุกคน

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่าความสำเร็จในการส่งออกทุเรียนไปจีนได้มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณ และมูลค่า จนชาวสวนทุเรียนได้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจจะเป็นเหตุจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าทุเรียนต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางชุดเฉพาะกิจจังหวัดจันทบุรีก็สามารถจับกุมได้ทันท่วงทีและกำลังขยายผลการสืบสวนสอบสวน จนทราบจากรายงานเบื้องต้นว่าทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนจีนที่มาสัมภาษณ์แสดงความพอใจและมั่นใจที่กระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินมาตรการได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเด็ดขาด

ทางด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาการนำเข้าทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออกไปประเทศจีน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจากรายงานการจับกุมและข้อมูลใหม่ที่ได้จากหลายหน่วยงานในการประชุมวันนี้ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นและเป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่า ทำกันเป็นขบวนการใหญ่มีหลายบริษัทในหลายจังหวัดเกี่ยวข้องทั้งคนไทยคนจีน ซึ่งจะได้ขยายผลการสืบสวนสอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษขั้นเด็ดขาดตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะถือเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศและทำลายภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย ผลไม้เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศในปีที่แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 6 มาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ได้แก่...

1.) มาตรการเฝ้าระวังทุกจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งกำลังเริ่มต้นฤดูผลไม้

2.) มาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราหน้าด่านทั้งด่านบกด่านเรือและด่านอากาศแหลม

3.) มาตรการป้องปรามผู้ผลิต, ล้ง, โรงงาน, ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก

4.) มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด

5.) มาตรการความร่วมมือกับประเทศผู้ค้าเช่นจีนและเวียดนามในการขจัดพ่อค้านักธุรกิจที่ฉ้อฉล

6.) มาตรการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อป้องกันการใช้ใบรับรอง GAP และ GMP ปลอม

ในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด, นายณฐกร สุวรรณธาดา, นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา, นายชรัตน์ เนรัญชร คณะที่ปรึกษา รมว.กษ. ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ zoom meeting โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการ จังหวัดจันทบุรี, พ.ต.อ.คณกร อัศวเมธี ผู้กำกับการ สภ.เมือง (แทน ผบก.จว.จันทบุรี), นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี, น.ส.ธารารัตน์ โพธิ์ศรี เกษตรจังหวัดจันทบุรี และนายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 6 นายพีรพัฒก์ อุทัยศรี ผู้อำนวยการกองสำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนกรมศุลกากร ร่วมกันหารือการดำเนินคดีกรณีการจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามมาสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรีส่งออกไปจีน

นายอลงกรณ์เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมได้รายงานผลความคืบหน้าของการประชุมต่อเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ซึ่งท่านได้แสดงความชื่นชมการปฏิบัติงานของชุดเฉพาะกิจจังหวัดจันทบุรีและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเดินหน้ากวาดล้างให้ถึงที่สุด


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“คลัง” ขอเวลา 1-2 สัปดาห์ออกมาตรการแก้หนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเป็นการเร่งด่วน เพื่อสั่งการให้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เสนอแผนงานกลับมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์ 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นทุกธนาคารเห็นตรงกันว่าจะมีการพักชำระหนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปจนสิ้นปี 64 จากปัจจุบันที่ช่วงเวลาพักหนี้ของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยจะจัดทำเป็นมาตรการกลางแทน ซึ่งมีธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งเสนอแผนช่วยเหลือลูกหนี้เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่พักเงินต้นแต่ให้จ่ายดอกเบี้ยตามปกติหรือบางส่วน เป็นการพักชำระเงินต้นและ ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือ คิดแค่ 0.01% ต่อปีเท่านั้น

“มาตรการดังกล่าวเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น โดยมาตรการแต่ละธนาคารสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องมติจาก ครม. เพราะไม่ได้ขอรับการชดเชย ธนาคารยอมสูญเสียรายได้เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยืนยันว่าไม่กระทบกับฐานะโดยรวมของธนาคาร เนื่องจากมีการตั้งสำรองในระดับสูง มีการบริหารความเสี่ยง จึงมีฐานะแข็งแกร่ง”

สำหรับการลดเพดานดอกเบี้ยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนที่กระทรวงการคลังดำเนินการผ่าน พิโกไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ ก็มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำพอสมควร ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว บางมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อซอฟท์โลนด้วยซ้ำ 

ส่วนกรณีของธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน ในกลุ่มลูกค้าใดบ้าง

‘จุรินทร์’ ปลื้ม!! ส่งออกเดือนพฤษภาคม ตัวเลขดีดบวก 41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี ‘สินค้าเกษตร-อาหาร’ ยืนหนึ่ง พร้อมสั่งพาณิชย์ฯ ลุยต่อ ‘5 แผนบุกตลาด’

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยข่าวดีตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (หักน้ำมัน, ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87%) โดยหากคิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 64) จะขยายตัวรวมกัน 10.78% (หักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวก 17.13%)

เหตุผลสำคัญ จุรินทร์ เผยว่ามี 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

1.) เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น เป็นต้น และ

2.) เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ จึงทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้รวดเร็วทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆ เป็นบวกตามลำดับ

จุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น ,เกาหลี, ไต้หวัน และเอเชียใต้อาเซียนนั้น มีกลุ่มสินค้าที่สำคัญอย่างสินค้าเกษตรและอาหารเป็นแม่เหล็ก เฉกเช่นเดียวกันกับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่ง ทางเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง 922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย…

1.) เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเร็วทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา

2.) รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไป โดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่าน ที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่าน ให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น

3.) เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด

4.) เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม

5.) เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทย เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ

ตลาดสหภาพยุโรป และ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้น คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลง ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น และสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ. จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“สมาคมภัตตาคารไทย” ชง “รัฐ” จัดเงินช่วยร้านอาหารประคองตัวรอดจากโควิด

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เข้าหารือกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากกไวรัสโควิด-19 โดยยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด 19 ร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ถูกสั่งล็อคดาวน์ ลดพื้นที่การขาย จำกัดเวลา ปิด เปิด ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน มีการสำรวจพบว่า จำนวนร้านอาหารพื้นที่ 200 ตร.ม.ขึ้นไปที่มีจำนวน 150,000 ราย ปิดกิจการ ประมาณ 2 หมื่นราย ร้านขนาดพื้นที่ไม่ถึง 200 ตร.ม. ปิดกิจการประมาณ 3 หมื่นราย และหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจจะต้องปิดกิจการอีกประมาณ 5 หมื่นรายในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อห่วงใช่อีกจํานวนมากในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการขนาดย่อมอีก3 แสนราย ที่เป็นสตรีทฟู้ดด้วย 

ทั้งนี้ สมาคมภัตตาคารไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการร้านอาหารขอเสนอมาตรการเร่งด่วนที่ขอให้สภาพัฒน์ พิจารณาเพื่อนำข้อเสนอนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถประคองธุรกิจผ่านภาวะ เศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในขณะนี้ไปได้ โดยขอนำเสนอดังนี้

1.) ขอตั้งวงเงินเป็นโครงการพิเศษจำนวน 30,000 ล้านบาท โดยใช้บสย. 100 % รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท พิจารณาจากรายได้ในปี 2561-2562 โดยมีนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) จำนวน 15,000 ราย ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์ และการจ่ายภ.ง.ด.90 ประเภทบุคคล จำนวน 100,000 ราย 

2.) ตั้งคณะทํางานร่วมแก้ปัญหาธุรกิจอาหารเพื่อเสนอแนวทางฟื้นฟูทั้งวงจรธุรกิจอาหาร เนื่องจากธุรกิจอาหารมีความ แตกต่างที่หลากหลาย รัฐบาลสามารถติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งยังไม่เคยมี คณะทํางานชุดนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยสภาพัฒน์เป็นผู้ดําเนินการหลัก เชิญทุกภาคส่วนร่วมเป็นคณะทํางาน 

3.) ในระยะเวลาอันเร่งด่วน ขอเสนอให้ใช้ศูนย์ บสย.FA Center ภายใต้การกํากับของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นที่ ปรึกษาแก่ร้านอาหาร ทําบัญชี ภาษีให้ถูกต้อง และมีโอกาสยกระดับจากบุคคลเป็นนิติบุคคลต่อไป

"ศักดิ์สยาม" เผย คมนาคม พร้อมรับมือ เปิด ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ทั้ง 3 มิติ เชื่อเป็นผลดี ต่อเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง สวท.กทม. ยืนยัน พร้อมรับนโยบายการเปิดประเทศ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้ความมั่นใจด้านขนส่งคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ และอากาศคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใน 120 วัน นำร่องจังหวัดภูเก็ต หรือ Phuket Sandbox 1 ก.ค.นี้ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ นำร่องจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีการดำเนินการตามแผนของโครงการ "แซนด์บ็อกซ์"  

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้จัดเตรียมความพร้อมด้านคมนาคม เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าวครบถ้วนทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ทั้ง 3 มิติ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  

โดยมิติทางอากาศ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมความพร้อมตรวจการจราจรทางอากาศ และมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมีการจองมาแล้วกว่า 300 เที่ยวบิน ทางหน่วยงานได้มีการจัดการบริหาร SLOT การบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไว้แล้ว 

ด้านสนามบินท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต มีการเตรียมความพร้อมให้กับกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์คัดกรองโควิด-19 จะมีการตรวจหาเชื้อแบบ Swab ซึ่งจะทราบผลภายใน 2-3 ชั่วโมง พร้อมเตรียมแผนฉุกเฉิน หากมีการตรวจพบเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะนำตัวไปรักษาในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ 

มิติทางน้ำ กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลนักท่องเที่ยว เฝ้าระวังไม่ให้นักเที่ยวเดินทางไปสถานที่อื่น 

ส่วนมิติทางบก ได้มีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้เส้นทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ทางจังหวัดได้มีการตั้งด่านจุดคัดกรอง ทั้งขาเข้า-ออก และได้มีการประสานกับภาคเอกชนในบูรณาการเรื่องมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้อระบาด

"หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำสำเร็จ จะสามารถขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นได้ ทั้งจังหวัด กระบี่ พังงาเชียงใหม่ พัทยา บุรีรัมย์ จะเกิดการเชื่อมั่นจากประชาชน เกิดการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว 

“โฆษกศบศ.” เผยบิ๊กตู่ สั่งเดินหน้าช่วย SMEs เต็มสูบ แจง “ออมสิน" พักหนี้ SMEs ท่องเที่ยวทั้งเงินต้นและดอก 6 เดือน พ่วงเสริมสภาพคล่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ต้องมีหลักประกัน ต่อลมหายใจให้โรงแรม-รีสอร์ต-เกสต์เฮาส์-เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs โดยมีสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้าร่วม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดใช้จ่ายภาครัฐและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม และที่พัก ซึ่งล่าสุดธนาคารออมสินออกมาตรการยกเว้นการชําระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมา มีรายได้อีกครั้ง

นายธนกร กล่าวต่อว่า มาตรการยกเว้นการชําระเงินต้นและดอกเบี้ย ทําให้เงินงวดเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชําระไม่เกิน 90 วัน สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความช่วยเหลือตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้จัดทํามาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว อีกหลายมาตรการ โดยปัจจุบันมี 2 มาตรการที่ยังคงเปิดรับลงทะเบียน ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินให้กู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท และมาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สําหรับธุรกิจ ท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.1% วงเงินให้กู้สูงสุดสําหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สําหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอกู้ได้ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ เชื่อว่าทุกมาตรการที่ออกมาจะสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน 

“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์ “Land Bridge” ดันไทยสู่ฮับการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน

“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์ “Land Bridge” ดันไทยสู่ฮับการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเดินเครื่องมอเตอร์เวย์ “โคราช-อุบล” และ “หนองคาย-แหลมฉบัง” พ่วงวงแหวนรอบที่ 3 คาดเห็นผลรูปธรรมภายในปี 65 พร้อมเผยความพร้อม 100% คมนาคมรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ระบุแอร์ไลน์จอง Slot แล้วกว่า 80-90% หวังไทยกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” วันนี้ (23 มิ.ย. 2564) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำนั้น ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมดการขนส่งครบมิติ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงการให้สอดรับกับการศึกษาโครงการ MR-MAP เพื่อพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยถนน และรถไฟ 

สำหรับ MR-MAP นั้น จะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยเล็งเห็นถึงการพัฒนาเชิงบูรณาการ และลดผลกระทบต่อประชาชนจากการเวนคืนที่ดินไปพร้อมกันเบื้องต้นจะนำร่อง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่

1.เส้นทางเชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ระยะทาง 1,680 กม.

2.เส้นทางหนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. และ

3.เส้นทางบึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กม. ขณะที่ อีก 6 แนวเส้นทางที่เหลือ ระยะทางรวม 2,380 กม. นั้น จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ขณะที่ ในส่วนของทางน้ำนั้น ซึ่งยอมรับว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางกับมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่อโลจิสติกส์จากภาคใต้สู่ภาคกลาง โดยใช้ต้นแบบของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เชื่อมจากท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง และจะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สั้นและตรงที่สุด ไม่ต้องผ่านไปยังช่องแคบมะละกา โดยเส้นทางดังกล่าว จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคด้วย 

ในส่วนของโครงการ Land bridge ยังสามารถเชื่อมให้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก รวมถึงเพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ทั้งนี้ โครงการ Land bridge จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางการค้าของเอเชียและของโลก 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในโครงการ Land bridge ที่จะต้องเร่งดำเนินการเป็นโครงการแรก ตามด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี และเส้นหนองคาย-แหลมฉบัง รวมถึงโครงการวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน โดยจะนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นที่แรก (ภูเก็ตแซนดบ็อกซ์) ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด มีสายการบินจองตารางการบิน (Slot) แล้วประมาณ 80-90% โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม 100% ในทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป

“ขอให้มั่นใจว่า หากประเทศไทยดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้ตามแผนประเทศไทยจะกลับไปเป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top