Monday, 5 May 2025
ECONBIZ NEWS

ครม.เคาะเยียวยาลูกจ้าง-นายจ้าง เจอปิดกิจการ 1 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน 

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณี ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน

กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน 

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยัง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.นี้ 

บริษัทประกันกุมขมับ! ยอดเคลม ‘ประกันโควิด’ พุ่งไม่หยุด เสี่ยงขาดทุนหนัก

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้คนไทยตื่นตัวหันมาทำประกันภัยโควิดเพิ่มแบบก้าวกระโดด ล่าสุดยอดการทำประกันโควิด ทั้งประกันใหม่และประกันต่ออายุในช่วงครึ่งปีแรก มีจำนวนมากถึงกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ สูงกว่ายอดประกันตลอดทั้งปีที่แล้ว โดยมียอดเบี้ยประกันเกินกว่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบประกันที่นิยมจะคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบ หรือจ่ายค่าเคลมทันทีเมื่อพบติดเชื้อ รองลงมาเป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยเมื่อรักษาตัว และคุ้มครองเมื่ออาการโคม่า

ส่วนยอดเคลมหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันโควิด ปีนี้มียอดพุ่งสูงกว่าปีก่อนเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์การระบาดและยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กระจายทั่วประเทศ และส่งผลให้บริษัทประกันเริ่มขาดทุนจากรับทำประกันโควิด เพราะหากนับเฉพาะเบี้ยที่รับรู้รายได้ช่วง 2-3 เดือนของกรมธรรม์ (เม.ย.-มิ.ย.) มีเบี้ยรับเพียง 800-900 ล้านบาท แต่ยอดขอเคลมจากโควิดกับพุ่งเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้มีอัตราชดเชยค่าสินไหมสูงกว่าเบี้ยรับไปแล้ว

“ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้หรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีก บริษัทประกันก็มีโอกาสขาดทุนมากกว่านี้แน่นอน”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า บริษัทประกันภัยหลายแห่ง ได้มีการแจ้งหยุดขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดแล้ว เนื่องจากพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการรับประกันภัยประเภทดังกล่าว


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ธปท.ชี้ ! เศรษฐกิจไทยรออีกเกือบ 2 ปีถึงจะฟื้น

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” ว่า ธปท. คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1 ปี 2566 กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด ในหลายระลอก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดการเคลื่อนที่ การงดเดินทาง การเว้นระยะห่าง ลดการรวมตัว 

สำหรับการออกมาตรการทั้งหมดถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตราคาร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน และอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่อง มองว่า ยังมีความจำเป็น เพื่อประคับประคองธุรกิจต่างๆให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้และอยู่รอดจนถึงวันที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินทางมากขึ้นสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่โควิดเริ่มแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 63 ธปท. ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และภาระหนี้ในหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่ให้สถาบันการเงิน พัก หรือ ชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย

ก.แรงงงาน เตรียมจ่ายเงินเยียวยาแรงงาน-นายจ้าง เดือดร้อนจากมาตรการคุมโควิด 6 จังหวัดเริ่ม 6 ก.ค.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานในระบบประกันสังคม 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ มีจำนวนประมาณ 6.9 แสนคน ส่วนแรงงานนอกระบบ ยังไม่ชัดเจน ต้องรอให้นายจ้างขึ้นทะเบียนระบบถุงเงินก่อน จึงจะทราบจำนวน โดยเงินเยียวยาในส่วนของประกันสังคม สามารถจ่ายได้ทันที คนละ สองพันบาท โดยนายจ้างจะได้ต่อหัว 3,000 บาท ซึ่งจะจ่ายทุก 5 วัน เริ่มวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เป็นวันแรก โดยแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบจะแยกกัน “ประมาณการณ์แรงงานนอกระบบครั้งนี้เชื่อว่านายจ้างจะแจ้งและมีการลงทะเบียนมากขึ้น เนื่องจากจะได้รับการเยียวยา ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลต่อไป แรงงานต่างด้าว”

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของนายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำข้าวกล่องวันละ 200,000 กล่อง คิดเป็นเงินวันละ 10 ล้านบาท เป็นเวลา 30 วัน ส่งให้กับแคมป์แรงงานที่ถูกปิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ต้องประสานหารือกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่มีแรงงานอยู่นับแสนคน เบื้องต้นทางผู้ประกอบการพร้อมจะดูแลเรื่องนี้เอง แต่รัฐบาลก็จะช่วยจัดหาสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ไข่ไก่ หรือ อาหารกระป๋อง โดยหลังจากดูแลเรื่องอาหารแล้ว จะเข้าไปตรวจเชื้อและฉีดวัคซีนในแคมป์แรงงานต่าง ๆ ก่อนจะส่งรายละเอียดให้ ศบค. ประเมิน เป็นรายกรณี ว่าสามารถเปิดทำงานได้ ก่อนครบกำหนด 1 เดือนหรือไม่

“บิ๊กตู่” เคาะเงินช่วยลูกจ้าง-นายจ้างเจอปิดกิจการ 1 เดือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศควบคุมที่ออกมา โดยจะเป็นมาตรการพิเศษที่จะทำในช่วง 1 เดือน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด โดยช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ในสาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมละบริการด้านอาหาร สาขาการบริการอื่น ๆ เช่น ร้านนวด สปา และสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เช่น งานอีเว้นต์ งานกลางคืน รวม 6.9 แสนคน โดยกระทรวงแรงงานจะจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท 

ขณะเดียวกันลูกจ้างกลุ่มนี้รัฐยังช่วยจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้อีก 2,000 บาทต่อราย ซึ่งส่วนนี้จะได้รับเฉพาะลูกจ้างตาม ม.33 ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6 แสนคน ส่วนนายจ้างเองจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง โดยคิดรายหัวลูกจ้างที่อยู่ในบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน อีกส่วนหนึ่งผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างและนายจ้างที่มาลงทะเบียนในระบบถุงเงิน หากต้องการรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการที่จะออกมานี้ก็ต้องไปรีบลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้

“มาตรการนี้จะใช้เงินรวม 7,500 ล้านบาท แยกเป็น เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน อีก 4,000 บาท ที่จะใช้ในส่วนที่รัฐช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท โดยจะเสนอครม.วันที่ 29 มิ.ย.นี้ เห็นชอบหลักการ และจะเสนออนุมัติวงเงินในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เริ่มต้นจ่ายเงินได้ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ส่วนระยะถัดไปจะมีมาตรการเพิ่มเติมไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ” 

เอกชนขอรัฐต้องออกมาเยียวยาเพิ่มเติม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้ เช่น คนงานในแคมป์ก่อสร้าง และลูกจ้างร้านอาหาร ให้อยู่รอดต่อไปได้ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องหยุดดำเนินงาน เช่น การช่วยเหลือการเงินเสริมสภาพคล่อง การช่วยชดเชยค่าแรง ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 

ส่วนห้างสรรพสินค้าหรือเอกชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่เช่า ก็ควรช่วยเหลือลดค่าเช่า หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัดจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากเป็นธุรกิจที่มีหลักฐานจดทะเบียนถูกต้องควรได้รับความช่วยเหลือทันที ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหากมีผู้ยืนยันตัวตนได้จริง ก็ควรได้รับความช่วยเหลือ

"มาตรการนี้ถือเป็นการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการควบคุมโรคได้มากขึ้น หากยังไม่ได้ผล รัฐบาลอาจจะขยายไปสู่การล็อกดาวน์บางธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ภาคเอกชนจะต้องเตรียมรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น" 

รมว.แรงงาน ถกสมาคมก่อสร้าง แจงมาตรการเยียวยาคนงานช่วงปิดแคมป์ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษั ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นของค่าจ้าง ให้คนงานทุก ๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็น หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 

รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal 

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน ซึ่งไทยจะส่งมอบให้เร็ว ๆ นี้ โดยหลังจากนี้แล้ว ไทยจะพยายามเจรจาขายจีนให้ครบสัญญาโดยเร็ว ส่วนการขายข้าวจีทูจีให้กับบังกลาเทศ ล่าสุด บังกลาเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จะซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน น่าจะมีการเจรจาซื้อขายกันได้เร็ว ๆ นี้

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ข้าวขาว 5% ปริมาณ 20,000 ตัน ที่ไทยขายให้กับจีนล่าสุด อยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายจีทูจี 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ควบคู่กับความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าจากไทยครั้งละ 100,000 ตัน และนำเข้าแล้ว 7 ครั้ง รวม 700,000 ตัน ยังเหลืออีก 300,000 ตัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2562 ไทยพยายามเจรจาให้จีนนำเข้าให้ครบสัญญา แต่จีนระบุว่าข้าวไทยราคาแพง และปริมาณข้าวในประเทศมีมาก จึงชะลอการนำเข้า แต่หลังจากที่ไทยใช้ความพยายามต่อเนื่อง และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คืบหน้ามากแล้ว จีนจึงยอมนำเข้า 20,000 ตัน ราคาเอฟโอบี ตันละ 520 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ที่ตันละกว่า 400 เหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทยอยส่งมอบภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้

“ปกติไทยและจีนจะเจรจาซื้อขายกันครั้งละ 100,000 ตัน แต่ครั้งนี้ ไทยมีความยืดหยุ่นมาก เปิดกว้างให้จีนนำเข้าข้าวจากไทยได้ทุกชนิด ไม่จำกัดเพียงข้าวขาว และปริมาณก็ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 ตัน จีนจึงได้ยอมนำเข้าที่ 20,000 ตัน ในราคาสูงกว่าราคาตลาด และหลังจากนี้ กรมฯ จะหารือกับคอฟโก (หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการนำเข้าข้าวของจีน) เพื่อซื้อขายข้าวที่เหลืออีก 280,000 ตัน ให้เสร็จภายในปีนี้” นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าเจรจาขายข้าวจีทูจี ภายใต้เอ็มโอยูที่ไทยลงนามกับบังกลาเทศและอินโดนีเซีย โดยมีกรอบเอ็มโอยูซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 6 ล้านตัน รวมถึงจะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ข้าว ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มให้มีหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่นิยมบริโภคข้าวนุ่ม ในราคาไม่สูงมาก รวมถึงเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคา

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 มิ.ย. 2564 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 2.2 ล้านตัน ลดลง 21.03% มีมูลค่า 1,382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 28.14% เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญมาก ทั้งเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน รวมถึงจีน อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

 

ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/107868


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“บิ๊กตู่” ประชุมบอร์ดบีโอไอ เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2564 โดยคาดที่ประชุมจะพิจารณานโยบายสำคัญการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคุณค่าโครงการ (Merit-based Incentives) สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

อีกทั้งที่ประชุมจะมีการพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ กาปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานราชการอื่น 

ทั้งนี้ในการประชุมที่ผ่านมาที่ประชุมได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ด้วย

คลังเปิดความคืบหน้า คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังเหลือสิทธิ 

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 28.3 ล้านคน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3.82 แสนคน

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 06.00 น.-22.00 น. ของทุกวันจนกว่าจะครบ 31 ล้านคน และ 4 ล้านคน ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐแล้ว สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับ ประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนโครงการ ขอให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ท่านต้องการเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 22.00 น. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงการทำได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และถือเป็นการสละสิทธิโครงการเดิม สำหรับการใช้จ่ายของโครงการต่าง ๆ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยผู้ที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย จะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนเมื่อใดก็ได้ก่อนการใช้จ่ายโดยไม่ถูกตัดสิทธิโครงการ

ส่วนโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64 และจากข้อมูลพบว่ายังมีวงเงินสิทธิที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายอีกจำนวนหนึ่ง จึงขอให้ประชาชนที่ยังมีวงเงินสิทธิเหลือ สำรวจวงเงินสิทธิคงเหลือของท่านและวางแผนใช้จ่ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top