Monday, 12 May 2025
ECONBIZ NEWS

ธปท.แนะนำรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ย้ำ ต้องมีแบบแผนให้เหมาะกับอาการเศรษฐกิจ-การคลังของไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่...

1.) หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

2.) การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว

3.) การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง

4.) เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี และจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว

โดย ธปท. ยังคงคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 0.7% ส่วนปัจจัยที่จะทำให้มีการปรับคาดการณ์ในจีดีพีใหม่ คือ หากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4/2564 เพราะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเดือน มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3-0.4% และมองว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตติดลบ แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันจะหนัก และมากกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตเป็นบวกได้ไม่ที่ระดับ 0.7% ตามที่คาดการณ์ก็บวกได้ในระดับใดระดับหนึ่ง เพราะยังมีตัวช่วยอย่างภาคการส่งออก

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงต้องเหมาะสม และสมเหตุสมผลกับอาการ จากอาการของไทยที่หนัก ก็ต้องใช้ยาแรง ต้องแก้ให้ตรงจุด ตรงต้นเหตุ นั่นคือ “วัคซีน” โดยยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีน มาตรการอื่น ๆ ที่เร่งผลักดันออกมาให้ตายก็ไม่พอ ไม่จบ เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เรื่องวัคซีนยังเป็นตัวหลัก และหากไปดูข้อมูลการฉีดวัคซีนในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มมีแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศด้วย ตัวนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าไทยในฐานะที่เป็นประเทศต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว และบริการเยอะ ยิ่งจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น

ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจะเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ ที่สำคัญต้องเร่งรัดมาตรการตรวจ และคัดแยกผู้ติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุม และทันการณ์ หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตราการควบคุม หรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ และครัวเรือน ผ่านมาตรการทางการคลังซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะรายได้ครัวเรือนที่หายไปในช่วง 2 ปี จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกิน 10% ของจีดีพี ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้ แม้ปีนี้จะประเมินว่าภาคส่งออกจะเติบโตได้ถึง 17.7% ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการจ้างงานในภาคการส่งออกไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับการจ้างงานในระบบ และเมื่อเทียบกับตัวเลขคนว่างานและเสมือนว่างงาน จึงเป็นเหตุผลว่าการส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก ขณะที่บริษัทเอกชนแม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ ดังนั้นการใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาหลุมรายได้ที่ทั้งใหญ่ และลึก และคาดว่าจะยาวนาน

โดยการใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก และต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน และเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุด และทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงาน และสร้างรายได้โดยเร็ว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐก็จะช่วยให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น โดยกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง และปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว

การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของจีดีพี สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่ อีกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ คือ การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเราไม่กู้ เพราะการกู้ และการใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคต

ดังนั้นภาพระยะยาวการกู้เพื่อใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง และมองว่าหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพีเป็นอะไรที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ลำบาก รองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐได้ ขณะที่ดอกเบี้ยก็สะท้อนความสามารถที่ภาคการคลังจะกู้เพิ่มได้ โดยดอกเบี้ยกู้ระยะยาว 10 ปี ไม่ถึง 1.6% เป็นพื้นที่ที่ยังมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ดอกเบี้ยสูงถึง 4-6% เป็นภาพรวมที่มองว่าเป็นยา หรือเป็นมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมกับอาการของเศรษฐกิจไทยที่เห็น

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินต้องมีแผนชัดเจนในระยะยาวที่จะทำให้ภาคการคลังกลับมาสู่ระดับที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่มช่องทางในการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลัง และความเสี่ยงในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกลับลงมาในระยะข้างหน้า เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ พร้อมทั้งการปรับเพิ่มภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำ เพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน

นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษี และความสามารถในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี

ธปท.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเรื่องนี้ แต่ด้วยสภาพอาการที่จำเป็นกับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ มองว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง เรื่องหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือมาตรการการคลัง โดยผมมองว่าน้อยมากที่ไทยจะเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง เพราะฐานะการคลังไม่ใช่เรื่องที่บริษัทเครดิตเรตติ้งเป็นห่วงที่สุด สิ่งที่เป็นห่วงคือความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่วนที่บริษัทเครดิตเรตติ้งมองว่าเป็นจุดแข็ง คือ ฐานะการคลัง และเสถียรภาพทางการคลัง แต่จากสภาพอาการการของไทยตอนนี้จะรักษาโรคได้ก็ต้องรักษาที่องค์รวม จะแยกหมอเฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้คนไข้รอด ไม่ใช่ว่า ธปท.ไม่ทำอะไร ธปท.ก็ต้องทำเช่นกัน

โดยมาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระลูกหนี้ และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว ที่ผ่านมามีการดำเนินการหลายมิติ ทั้งการแก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเติมสภาพคล่อง

สำหรับข้อเสนอเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น มองว่า ต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ รอบด้าน เพราะว่ามีผลข้างเคียงเยอะ ไม่ใช่แค่กับระบบแต่เป็นผลกับลูกหนี้เอง ซึ่งการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น แนวทางที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระดับต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

สำหรับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. ไม่ได้มีการกำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในใจ แต่ก็ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เป็นอุปสรรค หรือมีความผันผวนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องการเก็งกำไร


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/113487


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เกษตรฯ เร่งจัดการตลาดลำไย รับผลผลิตมากสุดเดือนส.ค.

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์และการบริหารจัดการลำไย ระหว่างเดือนมิ.ย. – ก.ย. 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564) พบว่า คาดการณ์ผลผลิตลำไย 683,435 ตัน ซึ่งประเมินว่า จะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนส.ค.นี้ ประมาณ 394,707 ตัน ส่วนการเก็บเกี่ยวลำไย มีปริมาณเก็บเกี่ยวสะสม 415,797 ตัน คิดเป็น 60.84% และยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 267,638 ตัน คิดเป็น 39.16% 

ส่วนการกระจายผลผลิตลำไย ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ล่าสุดมีมติเห็นชอบให้เน้นทำการตลาดภายในประเทศ โดยกระจายผลผลิตผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ห้าง ระบบของไปรษณีย์ไทย การตลาดออนไลน์และตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจัดจำหน่ายตรงผู้บริโภค รณรงค์การบริโภคลำไยในครัวเรือน สนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยเพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิต ประสานงานกับภาคเอกชนและโลจิสติกส์ในการลดค่าขนส่งให้เกษตรกร 

รวมทั้งการเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตลำไยไปยังจังหวัดปลายทาง และการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรข้ามภาค โดยประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า ลำไย – มังคุด จากภาคใต้เพื่อกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคภายในพื้นที่ภาคเหนือ

“ตอนนี้ กรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย เน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ได้ลำไยขนาดผลใหญ่คุณภาพระดับพรีเมี่ยม เกรด AA และเกรด A เหมาะสำหรับการบริโภคผลสดภายในประเทศ โดยไม่เน้นส่งเข้าโรงงานอบแห้งแปรรูปส่งออกประเทศจีน และการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองคุณภาพตามระบบการจัดการกระบวนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรได้รับการรับรองทั้งหมด 12,494 ราย 14,400 แปลง พื้นที่รวม 135,595.47 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ช่องทางการตลาดแบบออนไลน์มากขึ้น” นายเข้มแข็ง กล่าว

จับตาสัญญาณว่างงานสิ้นปีพุ่งหลังเจอผลกระทบโควิด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อการจ้างงานว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น เห็นได้จากข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 พบว่า มีผู้ว่างงานหรือเสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่า ในช่วงสิ้นปีนี้คนกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน เช่นเดียวกับผู้ว่างงานระยะยาว เกิน 1 ปี มี 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว 

ส่วนตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และแรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การล็อกดาวน์รอบนี้ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น เพราะเงินออมลดลงทุกครั้งที่การระบาดกลับมา สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อย ๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาท ล่าสุดในเดือนพ.ค. 2564 ปรับลดลงเทียบกับปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยหดตัวที่ 1.6% ขณะที่เงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวได้ที่ 6.0% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เล็งขยายเวลาตึงราคาแอลพีจีช่วยชาวบ้านถึงสิ้นปี

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังหารือเบื้องต้นถึงแนวทางขยายกรอบการตรึงราคาแอลพีจี เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพไปจนถึงสิ้นปี 2564 หลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ขยายเวลาตรึงราคา LPG ไว้เท่าเดิมที่ 318 บาทต่อขนาดถังละ 15 กิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นเดือน.ก.ย.นี้ โดยอาจต้องขยายกรอบวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอุดหนุนอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกับปตท.ถึงกรณีของราคาก๊าซ เอ็นจีวี ซึ่งล่าสุด บมจ.ปตท. ได้ประกาศขยับราคาขึ้น0.93บาท/กก.ราคาขายปลีกเขตกทม.อยู่ที่ 15.48บาท/กก. แม้ว่ากรณีนี้จะเป็นราคาผันแปรตามราคาต้นทุนก๊าซที่ขยับขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ขยับขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เอ็นจีวี ซึ่งจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะหาทางช่วยเหลือผู้ใช้ต่อไป  

รมว.แรงงาน เร่งจัดส่งแรงงานไทยทำงานต่างประเทศตามเป้าปี 64 เผยสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว 1.5 แสนล้านบาท

รมว.แรงงาน เผยเป้าหมายจัดส่งแรงงานทำงานต่างประเทศ จำนวน 100,000 คน จัดส่งแล้ว 38,019 คน เตรียมส่งตามแผน 61,981 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 153,006 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 100,000 คน โดยจัดส่งแล้ว 38,019 คน แบ่งเป็นไต้หวัน 10,641 คน อิสราเอล 5,593 คน สวีเดน 5,287 คน ฟินแลนด์ 3,363 คน ญี่ปุ่น 1,948 คน ประเทศอื่นๆ 11,187 คน และอยู่ระหว่างจัดส่งตามแผนอีก 61,981 คน ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 64 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศรวม 110 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 118,572 คน ส่งรายได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว 153,006 ล้านบาท 
 
“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมาก โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จะมุ่งเน้นการรักษาตลาดแรงงานเดิมซึ่งก็คือการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่องกับงานภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) งานภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM JAPAN  และงานภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านระบบ EPS ควบคู่การขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว 
 
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีกำหนดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 410 คน  แบ่งเป็น สาธารณรัฐเกาหลี 60 คน เดินทางระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม และรัฐอิสราเอล 350 คน ทะยอยเดินทางวันที่ 25 สิงหาคม จำนวน 150 คน และวันที่ 30 สิงหาคม จำนวน 200 คน โดยแรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีเดินทางถูกกฎหมายดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย 
  
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล. - ขึ้นแวต

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้รายได้ครัวเรือนหายไป โดยประเมินภาพรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 - 65 รายได้ครัวเรือนจะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท ทำให้เงินภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้ และฐานะทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้มองว่า รัฐต้องเติมเข้าไปในระบบอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นการกู้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ต่อจีดีพี ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว 

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 74 จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น รัฐบาลต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภท ซึ่งในท้ายที่สุดก็ต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)

ส่วนการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้องตรงจุด และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราแวต 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีก 0.33% ต่อจีดีพี

บมจ.การบินไทย หรือ THAI รายงานผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก 2564 มีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท หลังขายทรัพย์สิน และปรับโครงสร้างหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

16 ส.ค. 64 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินงาน งวดครึ่งปี 2546 (ม.ค.-มิ.ย.) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทมีรายได้ รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 24,555 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรก ขาดทุนจากการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 14,335 ล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณาผลการดำเนินการสุทธิในช่วง 6 เดือนแรก กลับพบว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อย สามารถพลิกกลับมีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ในขณะที่ปี ก่อนขาดทุนสุทธิ 28,030 ล้านบาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้น 139%

โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 168,582 ล้านบาท ลดลงจาก วันที่ 31 ธ.ค. 63 จำนวน 40,715 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.58% มีหนี้สินรวมจำนวน 285,066 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63 จำนวน 52,896 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.7%

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จำนวน 25,899 ล้านบาท จากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ...

>> กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,004 ล้านบาท

>> กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 95 ล้านบาท

กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 8,675 ล้านบาท

>> รายการปรับปรุงผลประโยชน์พนักงาน 8,323 ล้านบาท จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทฯ และผลประโยชน์ของพนักงาน

>> ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน -18,459 ล้านบาท

>> ผลขาดทุนจากการด้อยค่า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน -163 ล้านบา

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวเผยอีกว่า การดำเนินการในระหว่างฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้พยายามแก้ไข ปรับปรุง รวมถึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 600 โครงการ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจทั้งองค์กร และปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม พร้อมทั้งได้ดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ได้แก่ การลดต้นทุนด้านบุคลากร, การลดต้นทุนค่าเช่า, เครื่องบิน, ลดต้นทุนในการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ และหารายได้ในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_6565336

https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/154160


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สศช.หั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1% ประเมินครึ่งปีหลักเจอโควิดหนัก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัว ขณะที่ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาที่พักแรมและ บริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ และ สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ กลับมาขยายตัว โดยการขยายตัวไตรมาสที่ 2 นี้ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%

ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5 – 2.5% ลดลงเหลือ 0.7 – 1.2% หรือขยายตัวได้ 1% โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องควบคุมการระบาดให้ได้ในไตรมาสที่ 3 เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 4 

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 2.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097 ล้านบาท คิดเป็น 56.1% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ คือ 1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 2) ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ 3) ภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้ง ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของ เศรษฐกิจและการเงินโลก

หวังท่องเที่ยวไทยปีหน้าฟื้น สร้างรายได้เข้าประเทศ 2 ล้านล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ททท. ตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ ไม่เน้นจำนวน ให้น้ำหนักกับการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว และการสร้างสมดุลระหว่างรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 

ทั้งนี้มีเงื่อนไข คือ การกระจายวัคซีนจะคุมการระบาดได้ต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ระยะการเกิดระดับภูมิคุ้มกันหมู่จะมีในครึ่งปีแรกของปี 2565 และเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนระบาดปลายปี 2565 รวมทั้งเปิดประเทศได้ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง  

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง จะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะทุกประเทศต้องทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด ซึ่งประเทศไทยเองควรใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โดยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ลดอุปทานส่วนเกิน สร้างอุปสงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ทำให้เกิดการพัฒนาอุปทานในมิติต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์เพิ่มคุณค่า มีความแตกต่าง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว 

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย เกิดความถดถอยอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นปัญหาเรื้อรังด้านโครงสร้างที่เติบโตแบบขาดสมดุลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุปทานห้องพักส่วนเกินและการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงปัญหาความสามารถในการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้วิกฤติ ในทางกลับกัน สภาพธรรมชาติที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นตัวเป็นอย่างดีเมื่อว่างเว้นจากภาวะการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเกินขีดความสามารถในการรองรับ”  

ศบค.ชุดใหญ่ จ่อถก คลายล็อก 4 ธุรกิจในห้างฯ 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำหรับการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ส.ค. มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาขยายมาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด เดิมระบุว่าจะดูถึงช่วงถึงวันที่ 18 ส.ค. อาจจะต้องขยายไปให้ถึงวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่สูงมาก รวมถึงยังมีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในห้างสรรพสินค้าตามที่สมาคมศูนย์การค้าไทยเสนอขอผ่อนปรน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารและไอที ร้านเบ็ดเตล็ด และร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น 

นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอขอให้พิจารณาผ่อนปรนการล็อกดาวน์ธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ 4 ประเภท ได้แก่ อาหาร ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถส่งออกได้ ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจดังกล่าวมากไปกว่านี้ รวมถึงการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ Factory Sandbox ขณะที่อีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาขยายเวลาการใช้มาตรการควบคุมโรคใน จ.ภูเก็ต ออกไปอีก เนื่องจากคำสั่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 16 ส.ค.ขณะเดียวกัน อีโอซีของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงเรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องการแลกวัคซีนแอสตราเซเนกา ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย รวมถึงการรับบริจาค Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จากกระทรวงสาธารณสุข เยอรมนี  

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ศบค.อาจจะมีการพิจารณากรณีสมาคมฟุตบอลฯ เสนอแนวทางการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีกำหนดการเปิดสนามนัดแรกในช่วงวันที่ 3-5 ก.ย. ว่าจะสามารถแข่งขันได้ตามกำหนดหรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top