Monday, 12 May 2025
ECONBIZ NEWS

“โฆษก ศบศ.”เผย “บิ๊กตู่” สั่งเร่งเยียวยา ชี้โอนแล้ว ม.33 พื้นที่13 จ.ล็อกดาวน์กว่า 6.5 พันล้าน แจงเตรียมโอน16 จังหวัดพร้อม ม.39-40 กลุ่มแรก ด้านส่วนลดค่าเทอมเริ่มโอน 31 ส.ค.นี้ ขณะที่ยอดใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพใกล้ทะลุ 6.3 หมื่นล้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 และ ม. 40 ว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินเยียวยานายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดไปแล้ว แบ่งเป็นลูกจ้าง 2,399,459 ราย เป็นเงิน 5,998.65 ล้านบาท และทำการโอนให้นายจ้างไปแล้ว  12,711  กิจการ เป็นเงิน 594.12 ล้านบาท รวมยอดเงินที่ทำการโอนไปแล้วจำนวน 6,592.77 ล้านบาท  โดยจะดำเนินการทยอยโอนให้ลูกจ้างและนายจ้าง ม. 33 พื้นที่ 16 จังหวัดที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ต่อไป พร้อมกับโอนเงินให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ใน 29 จังหวัด กลุ่มแรกวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เช่นกัน ซึ่งจะทยอยโอนวันละ 1 ล้านราย โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม 

นายธนกร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประจำปีการศึกษา 1/2564 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการยืนยันตรวจสอบสิทธิ์การได้รับความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ จะโอนเงินช่วยเหลือให้นักเรียนและผู้ปกครองในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับเงินเยียวยาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท 

โฆษก ศบศ. กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 62,967.7 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 56,339.7 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 28,588.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 27,751.5 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 66,101 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,161 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 31 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.48 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,110.8 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 979,821 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 325.2 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพิจารณาเชื่อมต่อแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อให้สามารถเชื่อมกับโครงการ “คนละครึ่ง” ด้วย คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ เพื่อให้ทันกับการรองรับการโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาท ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม

ททท. เตรียมชง ศบค. เปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เชื่อม 3 จังหวัด ส.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมนำเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบแนวทางการให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 โดยนักท่องเที่ยวต้องพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 7 วันก่อน จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่องจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน  คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนส.ค.นี้ 

ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่นำร่องที่เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตในลักษณะ 7+7 ได้แก่ 1.เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2.เขาหลัก เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา และ 3.เกาะพีพี ไร่เลย์ และเกาะไหง จังหวัดกระบี่ โดยแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. และข้อกำหนดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด เชื่อว่าจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่เป็นไฮซีซั่น ของการท่องเที่ยว

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลกำชับมาตรการการยกระดับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว โดยจังหวัดมีการถอดบทเรียน แหล่งไหนที่ไม่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เปลี่ยวไม่ปลอดภัย เร่งปรับปรุงแก้ไขควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มียอดนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่เกือบ 20,000 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค. –ก.ย. 2564) จำนวนกว่า 371,826 คืน มีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ที่เดินทางเข้ามาทั้งหมดนั้น ตรวจคัดกรองพบเชื้อจำนวน 55 คน คิดเป็น 0.28 % และนำเข้าสู่กระบวนการของสาธารณสุขแล้ว

พท.จี้รัฐอัดฉีดเม็ดเงินเดือนละ 1.5 แสนล้าน อัดสภาพคล่อง 2.5 แสนล้าน ก่อนล็อคดาวน์กลายเป็นน็อคดาวน์ทั้งประเทศ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และผอ.ศูนย์นโยบายพรรคพท.กล่าวถึงการอัดฉีดเงินลงสู่ระบบ เพื่อชดเชยความเสียหายจากการล็อคดาวน์ว่า 1.รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบอย่างน้อยเดือนละ 150,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของความเสียหายต่อเดือนที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ที่เหลือปล่อยให้เม็ดเงินหมุนเอง ซึ่งการอัดฉีดเงินต้องไปให้ถูกที่และถูกวัตถุประสงค์ แรงงานในระบบยังไม่ได้ตกงาน แต่ใกล้จะตกงาน รัฐจึงต้องอัดฉีดเงินผ่านนายจ้างผูกกับการจ้างงาน เพื่อรักษางานของพวกเขาผ่านมาตรการคงการจ้างงาน สำหรับ แรงงานนอกระบบ กลุ่มนี้พวกเขาสูญเสียรายได้แล้ว มีปัญหาแล้ว จำเป็นต้องอัดฉีดตรงเพื่อเยียวยารายได้ที่หายไป และชดเชยกำลังซื้อ สองกลุ่มนี้แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอัดฉีดเงินในลักษณะที่ต่างกัน

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า 2.มาตรการการเงินผ่านมา 1 ปี 4 เดือน Soft Loan สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท แต่ใช้จริงราว 2.4 แสนล้าน ไม่ถึงครึ่ง ทำอะไรกันอยู่ เอกชนกำลังล้มตาย ตามด้วยแรงงานกำลังถูกปลด แต่การแก้ไขตรงนี้ช้าจนเหลือเชื่อ สภาพคล่องที่เหลืออีกกว่า 2.5 แสนล้าน จำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งกระจายลงสู่ระบบภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ให้ได้ มาตรการที่ล้มเหลวแบบพักทรัพย์พักหนี้ที่ถูกใช้เพียงราว 9,000 ล้านบาท จากวงเงิน 100,000 ล้านบาท ต้องรีบยกเลิก และปรับเป็นวงเงินสำหรับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสำหรับการปล่อยกู้เอกชนที่เข้าไม่ถึง Soft Loan เดิมโดยเฉพาะ รัฐต้องกล้ารับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และกำหนดเป็นนโยบายของภาครัฐในการเร่งระดมปล่อยสินเชื่อ 3.ภาคการส่งออกเหมือนไข่แดงที่ต้องประคองเอาไว้ เหมือนขอนไม้ชิ้นสุดท้ายที่ต้องเกาะเพื่อไม่ให้จมน้ำ แต่ตอนนี้ถูกกระทบหนักจากการติดเชื้อในโรงงานเป็นคลัสเตอร์ใหม่ทุกวัน จนการผลิตต้องหยุด โรงงานต้องปิด สาเหตุจากการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในระบบอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ถึง 10% ตรงนี้อันตราย รัฐบาลต้องเพิ่มกลุ่มแรงงานเป็น เป้าหมายเร่งด่วนในการได้รับวัคซีน เพราะติดเชื้อกันมาก ระบาดเร็วเพราะทำงานใกล้ชิดกัน และกระทบต่อการส่งออกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงทั้งหมดนี้ต้องรีบทำก่อนล็อคดาวน์จะกลายเป็นการน็อคดาวน์เศรษฐกิจประเทศ

บิ๊กตู่ ขอบคุณคนไทย ช่วยอุดหนุนผลไม้ไทย มังคุด ขายได้เกิน 2 หมื่นตัน ดันราคาขึ้น ก.พาณิชย์ ลุย เพิ่มส่งออก ตลาดตะวันออกกลาง

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ชาวสวนมังคุดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมาก ทำให้การกระจายสินค้าและการส่งออกมีปัญหา อีกทั้งปีนี้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ได้ปรับกลยุทธ์เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออก จนถึงวันนี้สามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 13-15บาท/กิโลกรัม  จากเดิมที่เคยต่ำกว่า 6 บาท สำหรับมังคุดเกรดคละและมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท  ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายใน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประกอบกับสามารถแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขาดแคลน ปัญหาโลจิสติกส์และปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน และล้งจากภาคตะวันออกลงใต้  คลี่คลายได้ระดับหนึ่ง เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีเพียง 46 ล้ง ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 รายและแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผงที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ รวมทั้งความร่วมมือกับเหล่าทัพ ภาครัฐ ภาคเอกชนในการกระจายมังคุด เช่น ผ่านระบบร้านค้าส่ง ค้าปลีก ร้านธงฟ้า เครือข่ายปั๊มน้ำมัน ช่วยกระจายได้ 1 ล้านกิโลกรัม และโครงการส่งผลไม้ฟรีผ่านไปรษณีย์ไทย คาดว่าจะช่วยได้อีก 2 ล้านกิโลกรัม สำหรับปัญหาลำใยและเงาะที่ช่วงนี้ราคาลดลง คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้เข้าไปดูแลแล้วเช่นกัน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทย แสดงให้เห็นว่า การช่วยซื้อคนละจำนวนไม่ต้องมาก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจำนวนมาก พอที่จะช่วยดันราคาให้สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้ ทั้งนี้นายกฯยังได้รับทราบรายงานจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่ากำลังเร่งเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาติน อเมริกา  ซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทย

บิ๊กป้อม สั่ง รมว.เฮ้ง เตรียมตำแหน่งงานกว่า 8 แสนอัตรารองรับคนว่างงานทั่วประเทศ

รมว.แรงงาน เตรียมตำแหน่งงานกว่า 8 แสนอัตรารองรับคนว่างงาน เผย 4 อุตสาหกรรมส่งออก ยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กโทรนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และอาหารแช่แข็งยังมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานในทุกมิติ ท่านให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกคนที่ต้องการมีงานทำ และห่วงใยผู้อยู่ในกำลังแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง โดยย้ำกระทรวงแรงงานเร่งหาตำแหน่งงานให้คนไทย เปิดโอกาสให้คนหางานเข้าถึงตำแหน่งงาน มีงาน มีรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครัว

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายอธิบดีกรมการจัดหางาน สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศ และดำเนินการจัดหางานเชิงรุกโดยเตรียมตำแหน่งงานไว้แล้ว จำนวน 814,198 อัตรา แบ่งเป็นแรงงานด้านฝีมือ (แรงงานไทย) จำนวน 389,495 อัตรา และธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว จำนวน 424,703 อัตรา ซึ่งยินดีรับคนไทยทำงานเช่นกัน โดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคการผลิตส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กโทรนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และอาหารแช่แข็ง ที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้กรมการจัดหางานได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมให้บริการประชาชน โดยปรับเปลี่ยนการจัดหางานแบบเดิมสู่รูปแบบ“นัดพบแรงงานออนไลน์” เต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ 

เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมลดค่าใช้จ่ายและเวลาการเดินทางให้กับประชาชน การจัดงานลักษณะนี้จะช่วยจับคู่ระหว่างนายจ้าง/สถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานและผู้สมัครงาน ผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่การค้นหาตำแหน่งงานจนถึงการสัมภาษณ์งาน ซึ่งใช้แนวคิดจากแพลตฟอร์มไทยมีงานทำที่เคยรวบรวมตำแหน่งงานมากที่สุดถึง 1.3 ล้านอัตรา ในงาน JOB EXPO THAILAND 2020 ในด้านการจัดหางานต่างประเทศ กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 100,000 อัตรา โดยจัดส่งแล้ว 38,019 คน และอยู่ระหว่างจัดส่งตามแผนอีก 61,981 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการจัดหางานในประเทศมีการจัดหางานเชิงรุกเพื่อเตรียมตำแหน่งงานรองรับคนหางานผ่านระบบออนไลน์ โดยกระจายหน้าที่การรวบรวมตำแหน่งงานให้สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่สำรวจความต้องการนายจ้าง/สถานประกอบการในเขตรับผิดชอบ เตรียมไว้บริการคนหางานที่ประสงค์สมัครงานและทำงานในพื้นที่ที่ตรงความต้องการ โดยจัดงานนัดพบแรงงานออนไลน์ครั้งแรกใน “นัดพบแรงงานใหญ่ 9 จังหวัด” ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ อุดรธานี นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช 

มีตำแหน่งงานว่างรองรับ จำนวน 9,064 อัตรา มีผู้สมัครงานลงทะเบียนหางาน จำนวน 4,245 คน และได้รับการบรรจุงานทันที จำนวน 931 คน รวมทั้ง “นัดพบแรงงานออนไลน์พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC” ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีตำแหน่งงานว่างรองรับ จำนวน 8,910 อัตรา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่สนใจยังสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.doe.go.th โดยคลิ๊กที่แบนเนอร์  นัดพบแรงงาน Online DOE Job Fair 2021 จะมีรายละเอียดงาน QR code และช่องทางติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดพื้นที่ที่ต้องการทำงาน รวมทั้งคู่มือการลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการและผู้สมัครงานไว้ให้บริการ 

ด้านการจัดหางานต่างประเทศ ได้ปรับมาตรการการเดินทางภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ โดยปรับวิธีการอบรมแรงงานก่อนเดินทางด้วยระบบอออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom แทนการเดินทางมาอบรม ณ กรมการจัดหางาน การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการควบคุมโรคที่ประเทศนั้น ๆ กำหนด  การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และการฉีดวัคซีน Astra Zeneca ให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ก่อนเดินทาง ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค.64 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศ จำนวน 118,572 คน ส่งรายได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว 153,006 ล้านบาท

ผบช.สตม. มอบอาหารกล่องและน้ำดื่มจำนวน 500 ชุด ให้แก่ชุมชนนาคภาษิต พระราม9 ในโครงการ "ตำรวจห่วงใย ใส่ใจประชาชน"

ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19  ให้หน่วยงานในสังกัดช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และยึดมั่นในหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อยู่เคียงข้างไม่ทอดทิ้งประชาชน และปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนรู้สึกว่าตำรวจสามารถพึ่งพาได้ 

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภานุวัฒน์ ร่วมรักษ์ ผบก.อก.สตม., พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รอง ผบก.ตม.1 ร่วมกับ พ.ต.อ.วิชัย ณรงค์ ผกก.สน.หัวหมาก   เดินทางไปมอบอาหารกล่องและน้ำดื่มจำนวน 500 ชุด  ให้แก่ประชาชนชาวชุมชนนาคภาษิต ถ.พระราม9 ซ.49 แยก6  โดยมีคุณสวัสดิ์ นาคนาวา ประธานชุมชนฯ เป็นตัวแทนรับมอบ ซึ่งจะนำไปแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป

พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวว่า โครงการ "ตำรวจห่วงใย ใส่ใจประชาชน" ครั้งนี้ เป็นการสนองนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะยากลำบากเพียงใด ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

เตรียมเคาะราคากลางชุดตรวจ ATK สัปดาห์หน้าขายเกินราคาเจอคุก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแล กำหนดแนวทาง และติดตาม ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ Antigen Test Kit มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางและราคาจำหน่ายที่เหมาะสม และหากตรวจพบการค้ากำไรเกินควร ถือว่าทำผิดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 29 ที่มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะเร่งหารือเพื่อกำหนดราคาจำหน่ายชุดเอทีเคที่เหมาะสมโดยเร็ว จากนั้นจึงนำขึ้นเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจก่อนซื้อ โดยจะพิจารณาจากต้นทุนราคาโครงสร้างที่ผู้นำเข้าและจำหน่ายแจ้งรายละเอียดต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้กับกรมการค้าภายใน 

สำหรับปัจจุบันมี 31 รายรวม 34 ยี่ห้อ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีวัตถุดิบ และคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยที่ผ่านมากรมการค้าภายใน ระบุว่า มีผู้นำเข้าแจ้งโครงสร้างต้นทุนแล้ว 10 ราย และในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าและวางขายตามร้านขายยาแล้ว 9 ราย และจากหารือเบื้องต้นพบว่าราคาจำหน่ายที่ผู้นำเข้าแจ้งเป็นราคาแนะนำขายปลีกอยู่ระหว่าง 250-350 บาท ซึ่งจากนี้ไป คณะอนุกรรมการฯ จะกำหนดราคาออกมาและขึ้นเว็บไซต์ โดยจะแยกเป็นยี่ห้อให้ชัดเจน  คาดว่าจะเริ่มในสัปดาห์หน้า หากประชาชนซื้อในราคาที่สูงกว่านี้ ก็ให้แจ้งสายด่วน 1569 หรือพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อออกตรวจสอบและหากพบการกระทำผิดจะส่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ศบค.ใหญ่ จ่อถก คลายล็อกธนาคาร-ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้าง จันทร์ 16 ส.ค.นี้

ที่ศบค.ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA เสนอภาครัฐให้มีการทบทวนมาตรการ ขอผ่อนปรนให้ 4 ธุรกิจหลักที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สามารถเปิดให้บริการได้ในศูนย์การค้า ได้แก่ 1.ธนาคาร สถาบันการเงิน 2.ธุรกิจสื่อสาร ไอที 3.ร้านเบ็ดเตล็ด 4.ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ว่า ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ได้รับทราบเรื่องราวต่างๆที่มีการยื่นร้องเรียนเข้ามาทางอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขแล้ว และจะต้องมีการพิจารณาว่ามีผลในเรื่องการป้องกันควบคุมโรค โควิด-19 อย่างไรในกลุ่มเฉพาะต่างๆที่จะขอผ่อนคลาย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการขณะนี้เข้มที่สุดแล้วแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็ได้รับทราบความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในแต่ละกลุ่มในแต่ละสถานที่อยู่เสมอและจะต้องนำมามองในภาพรวม และภาพย่อย แล้วจึงตัดสินใจ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมนี้จะมีการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ในช่วงบ่ายดังนั้น จะได้ข้อสรุปกันในวันนั้นและหากมีผลการประชุมเป็นอย่างไร ตนจะแถลงข่าวให้ทราบ อย่างไรก็ตาม จากนี้จะมีการนำเสนอชุดข้อมูลที่น่าสนใจทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เพื่อนำเสนอและวิเคราะห์ นำไปสู่ ทิศทางการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน

ผู้ประกันตน ม.33 เฮ!! สปส. เปิดฉีดวัคซีนเข็ม 2 ทั่วกรุง 26 จุด เริ่ม 16 ส.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไปแล้วกว่า 1.3 ล้านราย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา และขณะนี้คณะทำงานบริหารจัดการและกระจายวัคซีนฯ ได้เตรียมจัดศูนย์ฉีดวัคซีนฯ เพื่อให้บริการผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมด

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนเข็มที่ 2 นี้จะเริ่มฉีดในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยแบ่งผู้ประกันตน ตามสูตรการฉีด ดังนี้ สูตรแรก (AZ+AZ) คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca และจะครบกำหนดฉีดเข็ม 2 ภายใน 12-16 สัปดาห์ ก็จะฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca เหมือนเดิม โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 21 กรกฎาคม 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ถึง 28 กันยายน 2564 

ส่วนกลุ่มฉีดสูตร 2 (SV+AZ) แบบฉีดสลับวัคซีน ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นยี่ห้อ Sinovac จะได้รับเข็ม 2 ภายใน 3 - 4 สัปดาห์ เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมดเช่นกัน โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ถึง 27 สิงหาคม 2564 และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกลุ่มจังหวัดภาคผลิตสำคัญ 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และนครปฐม ที่ได้รับวัคซีนตามสูตร 2 (SV+AZ) ตั้งแต่ 22 กรกฎาคม ถึง 13 สิงหาคม 2564 จะได้รับเข็ม 2 เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ถึง 27 สิงหาคม 2564 และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกลุ่มจังหวัดภาคผลิตสำคัญ EEC และสมุทรปราการ ที่ได้รับวัคซีนตามสูตร 2 (SV+AZ) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม – 20 สิงหาคม 2564 จะได้รับเข็ม 2 เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม – 10 กันยายน 2564

โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนกระจายทั่วพื้นที่ กทม.ทั้ง 12 เขตความรับผิดชอบ รวม 26 จุดฉีด และทั้ง 5 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว จะส่งแจ้งนัดหมายให้ผู้ประกันตนทราบล่วงหน้าผ่าน SMS เข้าโทรศัพท์มือถือให้ผู้ประกันตนทราบตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายสุชาติ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุกท่าน เมื่อทราบกำหนดนัดหมายแล้ว โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เหมือนกันกับการฉีดเข็มแรก คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการออกกำลังกายหนัก สวมเสื้อที่สะดวกในการฉีด เช่น เสื้อแขนสั้น และที่สำคัญคือ เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ติดตัวมาด้วยในวันที่ ฉีดวัคซีน และมาให้ทันตามกำหนดนัดหมาย เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกัน หากท่านอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ตามกำหนดข้างต้น แต่ไม่ได้รับ SMS นัดหมาย สามารถตรวจสอบวันนัดหมายฉีดวัคซีน เข็มที่ 2 ได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th อีกช่องทางหนึ่ง หากไม่พบข้อมูล ขอให้รีบแจ้งนายจ้าง หรือ HR บริษัท ด่วน หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

พาณิชย์ปรับฐานข้อมูลจดทะเบียนหวั่นเจอมิจฉาชีพแอบอ้าง

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลนิติบุคคลให้เป็นปัจจุบัน สร้างความน่าเชื่อถือความมั่นใจให้ภาคธุรกิจที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล รวมถึงป้องกันความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพต่าง ๆ ที่แอบอ้างความน่าเชื่อถือจากการจดทะเบียนนิติบุคคลไปหลอกลวงและแสวงหาประโยชน์โดยนิติบุคคลนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายจริง 

ล่าสุดกรมฯ ได้ออกประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เรื่อง จะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทออกจากทะเบียนจำนวน 10,810 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด กรมฯ ได้ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบเช่นกันเพื่อจะได้มีแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

“การปรับปรุงฐานข้อมูลสถานะของนิติบุคคลถือเป็นภารกิจสำคัญที่กรมฯ ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลนิติบุคคลอันจะส่งผลต่อการวิเคราะห์การเจริญเติบโตในภาคธุรกิจและตัดโอกาสการถูกหลอกลวงของประชาชน ดังนั้น ขอฝากไปยังนิติบุคคลจะต้องดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งการจัดทำงบการเงินประจำปีและยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าถือเป็นหน้าที่สำคัญของนิติบุคคล รวมไปถึง กรณีที่ธุรกิจมีความจำเป็นจะต้องยุติลง แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ในการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีให้ เสร็จสิ้นเช่นกัน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top