Thursday, 15 May 2025
ECONBIZ NEWS

สมอ. รุกตลาดสดปทุมธานี จับมือภาคีเครือข่ายเซ็น MoU นำร่องขายสินค้า มอก. ตั้งเป้าขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วๆ นี้ 

สมอ. จับมือภาคีเครือข่ายตลาดสดน่าซื้อจังหวัดปทุมธานี 37 แห่ง นำร่องขายสินค้าได้มาตรฐาน มอก. เตรียมขยายผลต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วๆ นี้ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและร้านจำหน่าย ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นแล้ว  กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและกำกับดูแล ทั้งการดำเนินงานด้านการมาตรฐานระดับประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีการค้าโลก

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ส่งเสริมความรู้ด้านการมาตรฐานแก่ทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักในความสำคัญของการมาตรฐาน ควบคู่ไปกับการควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ล่าสุด สมอ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อหารือแนวทางร่วมกับภาคีเครือข่ายตลาดสดน่าซื้อ ในการร่วมมือกันให้ร้านค้ารายย่อยภายในตลาดทุกแห่งในจังหวัดปทุมธานี มีความรู้ความเข้าใจในการจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  โดยนำร่องที่จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดแรก

เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง มากถึง 37 แห่ง ซึ่งตลาดเหล่านี้มีร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้านวัสดุก่อสร้าง และร้านค้าทุกอย่าง 20 บาท กระจายอยู่โดยรอบ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้โดยง่าย และสะดวก ประกอบกับสินค้ามีราคาถูก จึงทำให้ร้านค้าในลักษณะนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และโดยส่วนใหญ่ร้านค้าเหล่านี้จะขายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม เช่น  วัสดุก่อสร้าง  ก๊อกน้ำ  ฝักบัว  พัดลม หม้อหุงข้าว  เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า หม้ออบลมร้อน  ไฟแช็ก ไดร์เป่าผม  ที่หนีบผม  ของเด็กเล่น พาวเวอร์แบงค์  อะแด็ปเตอร์  ปลั๊กพ่วง  หลอดไฟ  สปอตไลท์  หลอดไฟแอลอีดี ถ่านไฟฉาย  ท่อน้ำดื่ม  ภาชนะจานชามเมลามีน ผงซักฟอก ไม้ขีดไฟ ไฟแช็คก๊าซ หัวนมยางดูดเล่น ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร แอลกอฮอล์แข็งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง และสีเทียน เป็นต้น

 

โฆษกรัฐบาลเผย “นายก”ปลื้มผลสำรวจนักธุรกิจต่างชาติ พบมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น นักธุรกิจต่างประเทศในไทยยังสนับสนุนการเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้  เชื่อมีนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจรอเดินทางเข้าไทยจำนวนมาก

นายธนกร วังบุญคงชนะ เผยภายหลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศมาตรการเปิดประเทศแบบปลอดภัยพร้อมรับผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำ 45 ประเทศและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เริ่ม 1 พ.ย. นี้ ก็ได้การตอบรับจากภาคเอกชนไทยและนักธุรกิจชาวต่างชาติในไทยเป็นอย่างดี 

โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 3/ 2564 จากหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย 41 ประเทศ สมาชิกรวม 7,810 สถานประกอบการ พบว่าส่วนนักธุรกิจต่างชาติส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นต่อธุรกิจดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ เพิ่มขึ้นเป็น 44.9 และ 38.4 จากเดิมอยู่ที่ 29.8 และ 26.8 ตามลำดับ ในไตรมาส 2/64 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มเป็น 41.7 จาก 27.7  เป็นค่าดัชนีสูงสุดใน 4 รอบการสำรวจ นับจากไตรมาส 4/2563 นอกจากนี้ ร้อยละ 50 ยังเชื่อว่าไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วจากผลกระทบโควิด-19 และเชื่อว่าเศรษฐกิจและธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วย ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างชาติในไทยยังสนับสนุนการเปิดประเทศของไทย เพราะทำให้การเดินทางเข้าไทยและท่องเที่ยวในไทยง่ายและสะดวกเพิ่มมากขึ้น  เชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจรอเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งไทยเองยังเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น  เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ภาคการท่องเที่ยวในเดือนกันยายน 2564 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 2,198,337 คน ทั้งในรูปแบบการท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)  รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) ด้วย

คลัง เผย เศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่ 1% แม้รัฐลุยเปิดประเทศ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากเดิมประเมินว่าจะขยายตัว 1.3% เหลือ 1% หลังจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 เจอผลกระทบจากไวรัวโควิด-19 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการออกข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างเคร่งครัด 

สำหรับการปรับตัวเลขเศรษฐกิจลงครั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ การเติบโตของประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ เศรษฐกิจโลกเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัญหาโควิด-19 อัตราแลกเปลี่ยน ปี 2564 มีแนวโน้มอ่อนค่าลง 31.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ 65.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.2564 และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ  

‘สุริยะ’ ลุ้นเปิดประเทศ หนุนดัชนี MPI ขยายตัว แต่ต้องจับตาราคาน้ำมัน - ค่าเงินบาทผันผวน

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ภาพรวม 9 เดือน ขยายตัวร้อยละ 6.10 ส่งออกโตต่อเนื่อง ร้อยละ 17.90

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนกันยายน 2564 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม และดัชนีการส่งสินค้าในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญที่ดัชนีแรงงานขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ เป็นต้น ส่งผลให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจได้มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 

ขณะเดียวกันนโยบายการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะทำให้ดัชนี MPI ขยายตัวต่อไปได้ นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขดัชนี MPI ปี 2564 ใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่มีความผันผวนด้วยเช่นกัน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 93.72 หดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 1.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 7.49 โดย 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 6.10 โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับไตรมาส 3/2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.43 จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่มยังคงขยายตัว อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 10.85 แปรรูปผักผลไม้ขยายตัวร้อยละ 5.86 เครื่องปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 9.76 และยางล้อขยายตัวร้อยละ 3.42  

แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังส่งผลต่อการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการ แต่ในเดือนกันยายนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น โดยโรงงานผลิตรถยนต์ได้รับส่งมอบชิปและชิ้นส่วนรถยนต์ได้มากขึ้น ด้านสถาบันการเงินเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการอนุมัติ ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 750,000 คัน ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตขยายตัวต่อเนื่องตามกัน ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบบ้างในด้านโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบทางการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.75 มูลค่า 18,424.90 ล้านเหรียญ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัวร้อยละ 17.90 มูลค่า 18,093.70 ล้านเหรียญ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 16.06 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.56 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 

'ซีพี' พร้อมเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจร เตรียมแจกล็อตแรกวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

โครงการปันปลูก ฟ้าทะลายโจร ตามนโยบายประธานอาวุโสเครือซีพี พร้อมเก็บเกี่ยวแล้วเตรียมแจกล็อตแรกวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 มั่นใจคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสมุนไพร และเสริมภูมิคุ้มกัน

27 ตุลาคม 2564 นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) เปิดเผยว่า โครงการปันปลูก ฟ้าทะลายโจร มีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้าและเป็นไปตามนโยบายของประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีความตั้งใจช่วยเหลือสังคม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสมุนไพรไทยและใช้เสริมภูมิคุ้มกัน ในยามที่ขาดแคลนสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยจัดให้มีการปลูกฟ้าทะลายโจรบนเนื้อที่ 100 ไร่ที่ฟาร์มแสลงพัน และฟาร์มคำพราน จ.สระบุรี 

สถานีวิจัยแสลงพัน ของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพี ซึ่งได้เริ่มปลูกในวันแม่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้ทยอยเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรภายใต้ชื่อ “ปันปลูก” โดยจะแจกฟรีแก่ชุมชน สถานพยาบาล องค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางได้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของแผ่นดิน และเป็นการร้อยเรียงความดีเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สอดคล้องตามค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือซีพีอีกด้วย

โครงการปันปลูก-ฟ้าทะลายโจร 100 ไร่ มีที่ตั้งอยู่ที่ จ.สระบุรี แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกตั้งอยู่ที่ฟาร์มแสลงพัน บนเนื้อที่ 30 ไร่ และอีกแปลงอยู่ที่ฟาร์มคำพราน บนเนื้อที่ 70 ไร่ โดยใช้ต้นกล้าฟ้าทะลายโจรจำนวน 1 ล้านต้นจาก 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปราจีนบุรี สุโขทัย กาญจนบุรี อุบลราชธานี และ พิจิตร โครงการนี้ผ่านการศึกษาวิจัยทั้งเรื่อง พันธุ์ ลักษณะดินที่เหมาะสม ปริมาณน้ำ ที่พืชต้องการ ขั้นตอนการเพาะปลูกที่เหมาะสม ทั้งเทคนิควิธีการจัดการแปลง อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ให้ปริมาณสารสำคัญสูง โดยศึกษาร่วมกับเกษตรกรคนเก่งจากทุกพื้นที่ และมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรที่สนใจ

คาดส่งออกทั้งปีโต 4% หลังเดือนก.ย.ยังบวก 17.1%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนก.ย. 2564 ว่า การส่งออกยังเป็นบวกอยู่ที่ 17.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งเสริม ผลักดัน และแก้ไขอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องของกระทรวงพาณิชย์ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเติบโตดี และการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออก 9 เดือนของปีนี้ ขยายตัว 15.5% โดยประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้

นอกจากนี้ ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าในเดือนกันยายน 64 อยู่ที่ 22,426.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นบวก 30.3% โดยไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนกันยายน 64 อยู่ที่ 609.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตัวเลขการนำเข้า 9 เดือนมียอดอยู่ที่ 197,980.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวก 30.9% ทำให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 2,016.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แนะรัฐ! ดันท่องเที่ยว หวังศก.ไทยปีหน้ากลับมาโต 5% 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งการส่งเสริมการลงทุน เมื่อได้เปิดประเทศ ต้องหาทางดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านคน เพื่อเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 65 ขยายตัวได้ถึง 5% ส่วนจีดีพีของกลุ่มค้าปลีก คาดว่าขยายตัว 2% เติบโตใกล้เคียงกับ จีดีพีของประเทศ โดยโมเดิร์นเทรด มีสัดส่วน 65% ของค้าปลีกทั้งระบบ 

ทั้งนี้ยังได้เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการโมเดิร์น เทรด ไตรมาส 3ปี 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ปรับสูงขึ้นอีกครั้งในรอบ 2 ไตรมาส โดยดัชนีรวมอยู่ที่ 47.9 ดัชนีฯในปัจจุบันอยู่ที่ 47.1 และดัชนีฯในอนาคตอยู่ที่ 48.7 เนื่องจากปลายไตรมาส 3 รัฐทยอยคลายล็อกมาตรการต่างๆ และผู้ประกอบการมองว่าค้าปลีกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังต่ำกว่า 50% ทั้งจากองค์ประกอบการในการคำนวณดัชนี จากรายรับ กำไร ราคาขาย จ้างงาน ต้นทุน ยังอยู่ในระดับทรงตัวหรือดีเล็กน้อย ยกเว้นจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อก แต่มีมุมมองต่อไตรมาส4 ดีขึ้น เพราะมองผลดีรัฐบาลจะคลายล็อกที่เหลือ เปิดประเทศ และแรงกระตุ้นใช้จ่ายของภาครัฐส่งท้ายปี

กนอ. ตั้งนิคมฯ ‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ เล็งดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มในพื้นที่อีอีซี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เม็ดเงินพัฒนาโครงการ 4,856 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐฯ) ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ) 

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) กนอ.จึงลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี   

ไทยหนุนข้อเสนอ จัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของโออีซีดี สกัดบริษัทโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ(Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี เดินหน้าตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบ

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทางได้แก่

 Pillar 1 เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานสากลด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ซึ่งต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งานร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโรและมีอัตรากำไรมากกว่า ร้อยละ 10  ของรายได้

ทั้งนี้คาดว่า Pillar 1จะสามารถนำข้อเสนอการจัดเก็บภาษีจากการปันกำไร มาบังคับใช้โดยการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี โดยจะเปิดให้ลงนามในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2566

สำหรับPillar 2 เป็นการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 15  โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป 

คาดว่า Pillar 2 จะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายที่ให้แต่ละประเทศไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายในได้ภายในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ภายในปี  2566

ทั้งนี้OECD ได้แจ้งผลการประชุมว่า ณ ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศ ที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement  ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย ส่วน 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ ศรีลังกา ไนจีเรีย เคนยา และ ปากีสถาน

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังระบุว่า ผลของการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีโลกในยุคดิจิทัลที่มีความคืบหน้าและมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ(Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี 

รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อป้องกันประเทศต่างๆดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยการแข่งขันกันลดอัตราภาษี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศไทย นโยบายการค้าและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อผลกระทบของ Pillar 1 และPillar 2 กระทรวงการคลังจะได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของOECD

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.” จี้ “คลัง” เร่งพิจารณางบ “ประกันรายได้ ปี 3” หวั่นอนุมัติช้า อาจส่งผลกระทบราคาข้าว 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 

โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นนโยบายหลัก 1 ในเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล และประกาศเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดอยู่ที่กระทรวงการคลังยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศที่ทำได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่ประเทศไทยไม่ได้ถังแตก ไม่ได้ขาดเงินหรือขาดงบประมาณแต่อย่างใด โดยเห็นได้จากการออก พ.ร.ก.1 ล้านล้าน และพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน รวมไปถึงการขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% และจะมีเงินกู้เพิ่มเติมอีก เม็ดเงินเหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องใช้ให้ทันท่วงที และตรงกับกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งรวมถึงกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ส่งออกข้าวด้วย 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ข้าวราคาตก ถ้าเราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเหมือนที่ทำมาแล้วในโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2 ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ รมว.คลัง มีความเข้าใจในบริบทและกฎหมายดีอยู่แล้วว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องเซ็นอนุมัติงบประมาณให้จ่ายออกมาเป็นเงินส่วนต่างสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที แม้ในการอนุมัติโครงการของปีที่ 1 และปีที่ 2 จะมีความล่าช้าทำให้ต้องมีการดำเนินการจ่ายย้อนหลังอยู่บ้าง แต่สำหรับในปีที่ 3 หากมีความล่าช้าในการจ่ายเงินประกันรายได้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และกระทบข้าวที่กำลังจะออกมาในเดือนพฤศจิกายน สร้างความเจ็บปวดให้พี่น้องเกษตรกรมากขึ้นไปอีก” นายปริญญ์ กล่าว 

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนเกษตรกรจาก อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนถึงทีมเศรษฐกิจทันสมัย โดยขอให้ ครม. ได้เร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 การจ่ายเงินส่วนต่างล่าช้านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อมาตรการคู่ขนานที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ค่าเก็บเกี่ยว”

ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ จนถึงปัจจุบันเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครการดังกล่าวแต่อย่างใด หากไม่จ่ายเงินประกันรายได้ จะกระทบโครงการคู่ขนานตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลลบที่เกิดเป็นห่วงโซ่ เป็นวัฎจักรที่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ กระทรวงการคลังจึงไม่ควรล่าช้าในการอนุมัติเม็ดเงิน เพื่อมาจ่ายให้ทันท่วงที และต้องเร่งทำการเบิกจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน 
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top