นับถอยหลัง EV ไทย!! ‘บอร์ดอีวี’ ตั้งเป้าอีก 14 ปี EV เต็มถนน เชื่อยานยนต์ไฟฟ้าปั้นเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือ ‘Electric Vehicle: EV) คือ เทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกอย่างแท้จริง หลังจากหลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายก้าวไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลพิษในอากาศอย่างถ้วนหน้า
เมื่อมองนโยบายด้านพลังงานของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่า ทุกประเทศจะมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน EV แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่ได้วางเป้าหมายส่งเสริมการผลิตรถ EV 100% ในปี 2035
ขณะที่สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน EV บนถนน 4 ล้านคัน พร้อมพัฒนา EV Charging Station สาธารณะ 500,000 แห่งทั่วประเทศในปี 2030 พร้อมทั้งกำหนดให้เปลี่ยนรถสันดาป (ICE) ของรัฐบาลกลางเป็นรถ EV จำนวน 645,000 คัน โดยจะผลิตและใช้แรงงานในประเทศเป็นหลัก
ส่วนจีน เป็นหนึ่งประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของ EV ค่อนข้างสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 0% ภายในปี 2060 โดยไม่สนับสนุนโรงงานผลิตรถยนต์สันดาปอีกต่อไป พร้อมกับประกาศว่า จะเปลี่ยนรถยนต์สันดาปเป็น EV ทั่วประเทศในปี 2040 คู่ขนานไปกับการพัฒนา EV Charging Station 4.8 ล้านหัวจ่าย ทั่วประเทศ
จากนโยบายที่ว่ามาของประเทศต่างๆ ได้ส่งผลให้ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2014 - 2019 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 60% ต่อปี โดยเมื่อสิ้นปี 2019 มี EV ทั่วโลกสะสมอยู่ราว 7.2 ล้านคัน และมีการประเมินว่าส่วนแบ่งตลาดรถ EV จะเท่ากับรถ ICE ในปี 2037 (พ.ศ.2580)
ทีนี้หากขยับมาดูนโยบายด้าน EV ของประเทศเพื่อนบ้านไทยในกลุ่มอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งของไทยในการผลิตรถยนต์ ต่างก็พยายามผลักดันการผลิต EV เป็นนโยบายหลัก โดยอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายผลิต EV 20% ในปี 2025 ส่วนมาเลเซีย ตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคในปี 2022 พร้อมกำหนดรถยนต์ส่วนบุคคล ต้องเป็นรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง (Energy Efficient Vehicles : EEVs) จำนวน 1 แสนคัน ในปี 2030 และเวียดนาม ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนและร่วมทุนผลิต เทคโนโลยีระดับสูง ด้าน EV อันดับ 1 ของอาเซียน เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียน ต่างตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิต EV ทั้งสิ้น เพราะประเทศเหล่านี้ต่างหมายมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แข่งกับไทยนั่นเอง
เอาล่ะ!! ทีนี้มามองดูไทย ที่ถือเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอาเซียนมายาวนานหลายทศวรรษ จนได้รับฉายาว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ จากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 12 ของโลก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กับยอดการผลิตราว 2 ล้านคันต่อปี เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และบริโภคภายในประเทศอีก 1 ล้านคัน
แต่นั่น คือ ภาพของผู้นำการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป!!
ฉะนั้นเมื่อ EV กำลังก้าวขึ้นมาเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และถ้าประเทศไทยไม่อยากเสียแชมป์ด้านการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็คงอยู่เฉยปล่อยให้คู่แข่งแซงหน้าไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกราว 1 ล้านคันต่อปี แต่ในขณะที่ประเทศคู่ค้าที่นำเข้ารถยนต์จากไทยหลายประเทศ เริ่มประกาศนโยบายลดการใช้งานรถยนต์เครื่องสันดาปแล้ว หากไทยไม่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแบบจริงจัง ก็อาจจะสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ให้กับคู่แข่งเป็นแน่แท้
อย่างไรก็ดี การจะเปลี่ยนเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดปุ๊บแล้วทำได้ปั๊บ เพราะไม่ว่าจะด้านการผลิต การใช้งาน โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพอสมควร
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ทางรัฐบาล จึงได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ’ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งกรอบที่ทางบอร์ดอีวีได้วางไว้ในการประชุมครั้งแรก นั่นคือ เร่งให้เกิดการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle: รถยนต์ที่พึ่งพิงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว) ในประเทศไทยภายใน 5 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมบอร์ดอีวี โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม
โดยในที่ประชุมได้ร่วมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาปซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงได้วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทางบอร์ดอีวี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเจ้าภาพในการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ทางบอร์ดอีวี ยังได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น1,055,000 คัน แบ่งเป็น...
รถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน
รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน
รถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน
และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็น...
รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน
รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน
รถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน
ส่วนเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็น...
รถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน
รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน
รถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน
และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็น...
รถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน
รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน
รถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1-5 ปี ประกอบด้วย...
มาตรการเร่งด่วน...
1.) มาตรการกระตุ้น การใช้รถ สองล้อ สาม ล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า
2.) มาตรฐาน และ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ -แผนพลังงาน และ การจัดตั้งสถานีอัด ประจุสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์
3.) ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐจัดซื้อ/เช่ารถยนต์ไฟฟ้า
4.) จัดให้มีโครงการเช่ารถเมล์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน ไฟฟ้า 2,511 คัน
ส่วนมาตรการในระยะ 1 - 5 ปี มีดังนี้...
1.) ด้านมาตรการแรงจูงใจ (Demand)
- ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต (เริ่มพ.ศ. 2569 หรือ ค.ศ.2026) เพื่อส่งเสริมการใช้ ZEV
- ปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปี ตามหลักสากล “รถยิ่งเก่า ยิ่งต้องจ่าย แพง”
2.) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- สนับสนุนให้มีสถานีชาร์จสาธารณะสำาหรับรถ BEV และ สถานี SWAP สำหรับ รถจักรยานยนต์ BEV ให้เพียงพอ
- มาตรการทางภาษี กองทุนเพื่อการบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถยนต์
- การบริหารจัดการซากรถยนต์ แบตเตอรี่และ Solar cell ใช้แล้วอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาบุคลากร Upskill / Reskill ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับ ZEV รวมทั้งมาตรการรองรับบุคลากรจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมไปสู่ S-Curve
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่
1.) คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
2.) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
3.) คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
4.) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ตั้งขึ้นเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การนำประเทศก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกนั่นเอง
สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ