รู้กันหมด ‘อนาคต’ รถยนต์ไฟฟ้าไทย แล้วจะถามกันไปทำไมว่า ‘พร้อม - ไม่พร้อม’

...ตาของเรา จะไม่ได้เห็นควันดำ

...จมูกของเรา จะไม่ได้สูดควันพิษ

...หูของเรา จะไม่ได้ฟังเสียงดังจากเครื่องยนต์

เสียงเรียกหา ‘รถยนต์ไฟฟ้า' หรือ EV (Electric Vehicle) โดยเฉพาะที่เป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ยิ่งนานวันก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดคำถามซ้ำซากว่า รถยนต์ไฟฟ้าไทย ‘พร้อม - ไม่พร้อม’? คำตอบอยู่ไหน...เออ !! นั่นดิคำตอบอยู่ไหน

รู้อยู่ว่าความต้องการของประชาชนตอนนี้เริ่มชัดเจน อยากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเต็มแก่ พร้อมเปลี่ยนรถยนต์สันดาป (เครื่องยนต์น้ำมัน) แบบทันทีทันใด หากแต่ติดอยู่แค่ว่า เมื่อไรรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ในราคาที่เอื้อมได้ และสถานีชาร์จไฟฟ้าจะทั่วถึง

นี่ไงก็รู้คำตอบนิ!!

แต่รู้ทั้งรู้คำตอบเบื้องต้นแล้ว หลาย ๆ คน ก็ยังคงพยายามหยิบยกภาพตลาดต่างแดน ที่วิ่งแล่น ๆ กันเกร่อถนน แต่ไทยเราล้าหลังไม่คิดจะทำให้เหมือนเขาสักที !!

พูดมันง่าย แต่ในบริบทจริงมันไม่ได้ง่ายตามเสียงเรียกร้อง

หากลองเทียบรถยนต์ไฟฟ้ากับโทรศัพท์มือถือแบบทัชโฟน (รูดปื๊ดๆ) และสมาร์ทโฟน โดยย้อนไปได้ราว ๆ ช่วง 10 กว่าปีเห็นจะได้ เราจะพบว่า จากจุดนั้นกว่าที่คนหันมาเปลี่ยนจากโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกดมาเป็นทัชโฟนหรือสมาร์ทโฟนแบบทั่วถึง ก็ยังต้องใช้เวลาอีกร่วม ๆ 5 - 7 ปีต่อจากจุดเริ่มต้น จึงจะเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนได้เช่นวันนี้

โดยระยะเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลง มาจากผู้บริโภคเริ่มกล้าใช้ ตัวสินค้าเริ่มมีประสิทธิภาพชัด ผู้ผลิตมีตัวเลือกให้เพียบ ราคาแตะต้องได้จากเริ่มต้นหลักหลายหมื่นมาสู่หลักพัน ศูนย์บริการตอบสนอง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์สมาร์ทโฟนปรับไลน์การผลิตรับของใหม่กันหมด

ภาพของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาครอบคลุมประเทศไทย ก็คงจะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่จะเร็วกว่าหรือช้ากว่า อันนี้ต้องดูปัจจัยประกอบของประเทศนั้น ๆ...

มันไม่ผิดที่เราอาจจะไปมองต่างประเทศ ซึ่งเขาเปลี่ยนกันไว แล้วพอหันมาดูว่าไทยเรา ‘ล่าช้า’ มันช่างดูล้าหลัง ซึ่งอาจจะไม่ถูกเท่าไร เพราะประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา, ยุโรป หรือจีน ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ในบ้านตัวเองและเริ่มส่งออกกันแล้วนั้น ก็เพราะเขาอยู่ในฐานะ ‘ประเทศต้นขั้วสำเนาของเทคโนโลยี’ ส่วนประเทศไทยเราก็เป็นสำเนาที่รอการเมกชัวร์ !!

อันนี้อาจจะเป็นจุดเสีย? ที่พอให้บ่นกันได้ แต่มันก็คือความเป็นจริง !!

ทีนี้มามองปัจจัยประกอบที่แตะทิ้งไว้ตะกี้กันนิด ว่าเหตุใดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ถึงเดินเครื่องได้ไม่ทันใจผู้บริโภคที่เริ่มบอกว่าพร้อม ๆๆ

ในแง่ของความพร้อม จริง ๆ อธิบายได้สั้นมาก เพราะมันมีตัวแปรของการช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้หลายเท่าตัว ช่วยรักษ์โลก (อันนี้ดูดี) แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 กันทุกปี

แต่กลับกันในความพร้อมใช้ มันก็มีความ ‘ไม่พร้อม’ ซ่อนอยู่ในระบบนิเวศน์นี้ ซึ่งตัวแปรหลักก็มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่...

ประชาชนผู้ใช้รถยนต์

ผู้ผลิตรถยนต์ - ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า

และภาครัฐ

...ในแง่ของประชาชน

สรุปแบบง่าย ๆ เรา ๆ ท่าน ๆ ถ้าคิดจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า มันก็มีตัวแปรในการตัดสินใจหลักอย่าง ‘ราคา’ และ ‘สถานีชาร์จ’ (จริง ๆ ยังมีเรื่องการบริการซ่อมบำรุง แต่เอาเหอะ Skip ไป)

ตอนนี้ราคารถยนต์ที่ทำออกมาขายในตลาดเมืองไทย ถ้าเป็นเล็กแบบจิ๊ดจิ๋ว และมีแฟนคลับแบบกระจุกตัว ก็จะเป็น FOMM ONE ที่มีราคาร่วม 6 แสนบาท แล้วก็มีโปรโมชั่นลดราคาลงมาถึง 4 แสนบาทในบางช่วง ส่วนระดับกลางอย่าง MG ZS EV ของเครือเจ้าสัวซีพี ก็มีราคาแตะล้านนิด ๆ ด้านนิสสันก็มี Leaf ที่ปล่อยออกมาในราคาเหยียบ 2 ล้าน ส่วนค่ายยุโรปนี่ก็ไปไกลเลย อัพเกิน 2 ล้าน (ฝันหวานไปยาว ๆ)

ดูจากจุดนี้ มันมีคำตอบที่ชัดมาก คือ ราคายังสูง แต่รุ่นที่ราคาไม่สูง ก็ยากจะบรรยาย (คนไทยเรื่องเยอะ รถต้องคันใหญ่ เครื่องต้องใหญ่ ชาร์จทีนึงต้องวิ่งได้กรุงเทพฯ ยัน เชียงใหม่) คนก็เลยยังคิดหนัก และนั่นก็ทำให้คนเริ่มถามว่าจะให้รักษ์โลก จะให้ประหยัดพลังงาน แต่ทำไมทำรถที่ควรใช้ได้ในราคาเกินเอื้อมฟระ

อันที่จริง ต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้ามันอยู่ที่ ‘แบตเตอรี่’ (ลิเทียม - ไออน) ที่มีราคาสูงมาก เฉพาะรวมราคาระบบแบตเตอรี่ทั้งหมดก็แตะหลัก 5 - 6 แสนบาทต่อคันเข้าไปแล้ว ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า ที่แม้จะเปิดตัวในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฝั่งญี่ปุ่น ในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ล้วนมีราคาเริ่มต้นระดับ 1 ล้านบาทขึ้นไปแทบทั้งสิ้น

แต่แนวโน้มก็น่าดีใจเพราะเริ่มลดลง เช่น ในปี 2015 แบตเตอรี่ขนาดกลางในอเมริกาอยู่ที่ 57% ของราคารถทั้งคัน และก็ค่อยๆ ขยับลดลงมาอยู่ 33% ในปี 2019

อ้าว !! แบบนี้ในปี 2021 มันก็น่าจะเห็นแววรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกในไทยแล้วดิ

คิดแบบผิวปาก มันก็ใช่ แต่ย้อนกลับไปด้านบนที่ว่า เราไม่ใช่ประเทศต้นสำเนา และส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการนำเข้า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายผลักดันให้ปั้นโรงงานผลิตรถ EV แต่ก็ยังตั้งไข่ รวมถึงลดอัตราภาษีนำเข้า EV แต่ยังมีภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมแล้วไม่น้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้ายังมีราคาแพงอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อราคายังหนัก คนส่วนใหญ่ก็เลยคิดว่าการใช้เครื่องสันดาป (น้ำมัน) ต่อไป

ขณะเดียวกัน ในแง่ของสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุม ก็คือ คำถามตัวใหญ่ของคนที่อยากใช้ (แต่ยังไม่กล้าซื้อ) แม้จะมีบริษัทพัฒนาแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชนแล้วก็ตาม

...ในแง่ของผู้ผลิตรถยนต์-ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า

หากดูข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ช่วงไตรมาส 2/2560 มีสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 2.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันหากเทียบกับสถานีชาร์จที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยตอนนี้ ตัวเลขจะอยู่ที่ราวๆ 600 กว่าแห่ง ซึ่งยังไม่ได้นับสถานีชาร์จตามศูนย์รถยนต์ และบ้านเรือนประชาชน แถมการชาร์จต่อครั้งก็มีระยะเวลาอย่างเก่งสุดของเทคโนโลยีการชาร์จก็ประมาณ 15-20 นาที ซึ่งมันไม่ทันใจคนไทยอะเนอะ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มันเดินหน้าอยู่แล้ว ทั้งการเพิ่มสถานีชาร์จและความเร็วในการชาร์จ แต่จะพอดีจังหวะให้ใช้งานครอบคลุมอีกกี่ปี อันนี้ยังพูดยาก แต่แรงขับเคลื่อนน่ะมีแน่ เช่น ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้ารายใหญ่ในตอนนี้ อย่าง อีเอ เอนีแวร์ (EA Anywhere) ของ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ที่ตลอด 3 ปีเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้า ทั้งระบบ AC (กระแสไฟฟ้าสลับ) และ DC (กระแสไฟฟ้าตรง) จนถึงปัจจุบัน มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 405

แห่ง 1,611 หัวจ่าย และก็มีแผนจะขยายหัวชาร์จอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทางภาครัฐ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงยังมี ปตท. ที่เริ่มขยับตัว

ขณะเดียวกัน การคิดแผนสำรองการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อกรณีรถไฟฟ้าครอบคลุม มันก็ยังไม่เคลียร์ เพราะถ้าทุกคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด ไฟฟ้าในประเทศคงไม่เพียงพอ มันต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองในชุมชน ซึ่งไฟฟ้านั้นอาจจะมาจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำ ดันสังคมให้เปลี่ยนมาเป็นสังคมไฟฟ้าเต็มตัวก่อน โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าส่วนกลางควบคู่กัน ซึ่งดูภาพรวมแล้วยังอีกไกล

ฉะนั้นในส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ หากยังไม่พร้อม มันก็ยังยากจะปล่อยให้คนถอยรถมาใช้อย่างสบายใจเฉิบ

...สุดท้ายในแง่ของภาครัฐ หรือภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย

หลัก ๆ เลย คือ ปริมาณการผลิตรถยนต์ในบ้านเราต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านกว่าคัน 1 ล้านคันขายส่งออก อีก 1 ล้านคันขายในประเทศ หากทุก 1 ล้านคันมีการปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสัก 3 แสนคัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจมันจะมี และมันไม่ใช่เรื่องที่แค่อยากเปลี่ยน ก็เปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ

บางคนอาจจะมองว่ามันก็เป็นเรื่องของทางภาครัฐ แต่เราก็ต้องคิดมุมกลับเหมือนกับตลาดทัชโฟน/สมาร์ทโฟน ที่มันจะมีขั้นบันไดของมันให้ทั้งระบบพร้อมกันเปลี่ยนหมด ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างฉาบฉวย ไม่งั้นระบบนิเวศน์นี้อาจล้มเร็ว คนตกงาน กระทบเป็นโดมิโน่

อย่างกลุ่มผู้ผลิตค่ายรถยนต์ในประเทศ รวมถึงซัพพลายเออร์ในประเทศไทยที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือเครื่องยนต์ต่าง ๆ เท่าที่ทราบเขาก็รู้ดีว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการผลิตของพวกเขาในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้าแน่นอน เพราะทางกระทรวงอุตสาหกรรมเขาก็มีการส่งสัญญาณมาพักใหญ่แล้ว

ฉะนั้นหากจะสรุปความสำคัญของความพร้อมไม่พร้อม ‘ผลักดัน’ และ ‘ใช้’ รถยนต์ไฟฟ้าไทยแล้ว ภาครัฐคงเป็นตัวเอกของเรื่องนี้ไม่เปลี่ยน เพียงแต่จะเขย่าทั้งระบบให้พร้อมรบในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็ว โดยมีการขยายฐานสถานีชาร์จแบบคู่ขนานและเร่งเกียร์ไปถึงจังหวะที่รถยนต์ไฟฟ้าจับต้องได้ง่ายเหมือนสมาร์ทโฟนเมื่อไร นั่นแหละคือ ‘ความพร้อม’ ซึ่งส่วนตัวแล้วก็คงสอดคล้องกับสัญญาณที่ภาครัฐและเอกชนมองต่อจากนี้ว่าน่าจะไม่เกิน 5 ปี

เอาล่ะ!! พักภาพความพร้อมไม่พร้อมของรถยนต์ไฟฟ้าในแบบบิ๊ก ๆ แล้วลองไปคลิกดูภาพย่อย ๆ จาก THE STATES TIMES ที่ได้ลงไปสำรวจความคิดเห็นคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนทำงานย่านใจกลางเมือง เช่น สีลม, ช่องนนทรี, สยาม และอโศก กันเล็กน้อย

โดยคำตอบของคนส่วนใหญ่ที่ ‘พร้อมเปิดใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า’ ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่เล่ามาข้างต้นนัก เช่น...

ช่วยเรื่องลดมลพิษ เพราะรถยนต์โดยทั่วไป ก็มักจะใช้น้ำมันซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ

เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาพร้อมกับรถยนต์ไฟฟ้า จะช่วยทำให้ชีวิตคนสะดวกสบายมากขึ้น อย่างรถบางค่ายก็มีระบบ Auto pilot กันแล้ว

ไฟฟ้าถูกกว่าการเติมน้ำมัน

แต่ในส่วนของ ‘ปัญหา’ หรือความไม่พร้อม เช่น…

สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังน้อย ไม่ค่อยมั่นใจแม้ว่าบางรุ่นจะให้กำลังวิ่งได้นานแบบข้ามจังหวัด

สถานที่อยู่อาศัยของแต่ละคนเนี่ย ก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

การจราจรในเมืองไทยค่อนข้างแออัด รถติด ก็กลัวรถยนต์ไฟฟ้าจะแบตเตอรี่หมดกลางทาง

ส่วนข้อสุดท้าย คือ ราคารถยนต์ไฟฟ้าในตอนนี้ค่อนข้างสูง และราคาที่พวกเขารับไหวจะอยู่ในหลัก 3 ถึง 4 แสนบาท (ฝันไปเหอะ)

สุดท้ายแล้ว ย้อนกลับมามองมุมประชาชนตาดำ ๆ ไอ้คำว่าพร้อมหรือไม่พร้อมกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น มันก็คงไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญเท่ากับ ‘ใช้ได้อย่างสบายใจ’ แค่ไหน ?

เพราะในแง่เทคนิคความซับซ้อนของอะไหล่ที่ลดลงจากเครื่องยนต์สันดาป หายไปเป็นหมื่นชิ้นส่วน อันนี้อะดี >> พร้อม

ส่วนการกินไฟของรถพลังไฟฟ้า (รถ EV) ซึ่งมีการคำนวณออกมาเป็น กิโลเมตร ต่อ กิโลวัตต์ชั่วโมง (km/kWh) แล้วมันถูกกว่าการเติมน้ำมันร่วม ๆ 4 - 5 เท่าตัว อันนี้ก็ดี >> พร้อม

แล้วถ้าราคามันเอื้อมไหว ซึ่งนั่นก็คงหมายถึงวันที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต้นทุนต่ำลงมาใบบัญญัติไตรยางค์แบบเดียวกับสมาร์ทโฟน อันนี้ใคร ๆ ก็ไม่ปฏิเสธชัวร์ >> พร้อม

รวม ๆ แล้วรถยนต์ไฟฟ้ามันจะเกิด หรือมันจะพร้อม หรือจะน่าใช้ และจะเป็นอนาคตของไทยหรือไม่นั้น ? คำคอบก็คงจะประมาณนี้แหละกระมัง...


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ