Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

“อนุชา” เสียใจ"เอ๋ ปารีณา” ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ มั่นใจ! ไม่มีผลต่องานสภาฯเสียงรัฐบาล ยังปึ้ก

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลฎีการับคำร้อง กรณีนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพปชร. บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี โดยให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ไว้ก่อน ว่า ขณะนี้ในพรรคยังไม่มีการพูดคุยกัน ซึ่งหากเป็นจริงตนคิดว่าต้องรอดูเหตุการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรในส่วนนี้ แต่ส่วนตัวก็รู้สึกผิดหวังไปกับนางสาวปารีณา ที่ต้องโดนตัดสิทธิ์

"ผมในฐานะเลขาธิการพรรคในการพรรคก็เป็นห่วงเป็นกังวล ในฐานะที่ทำงานร่วมกันมาซึ่งนางสาวปารีณาก็เป็นสมาชิกของเราคนหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราก็ต้องรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดา แต่สิ่งหนึ่งในส่วนของพรรคก็ต้องมีการดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ อย่างโดยต้องมาดูว่าเราจะสามารถคิดอ่านอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ต้องเป็นภาพร่วมของพรรค โดยต้องมีการหารือในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับผมในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคก็ต้องรู้สึกเสียใจกับนางสาวปารีณา"

เมื่อถามว่าการที่เสียงของรัฐบาลขาดไปหนึ่งเสียงจะทำให้มีผลกระทบอะไรในการทำงานสภาหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่มีหรอก เพราะเราก็เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา เสียงที่เรามีอยู่ตอนนี้ค่อนข้างที่จะมีความมั่นคง ซึ่งเรื่องของเสียงไม่สำคัญเท่ากับการเสียเพื่อนไปคนหนึ่งที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นเอง เรื่องเสียงในสภาไม่ใช่ประเด็น

“อนุชา” เผย พปชร. ยังไม่เคาะถก กก.บห. เปลี่ยนเก้าอี้เลขาฯพรรค ยัน! “บิ๊กป้อม” เอาอยู่

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรค ว่า ไม่ทราบ ยังไม่มีกำหนดการ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงความต้องการให้เปลี่ยนแปลงเก้าอี้เลขาธิการพรรค นายอนุชา กล่าวว่า ไม่มี ๆ ทุกอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคดูแลดีอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพปชร.ระบุพร้อมนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคหากมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล นายอนุชา หัวเราะพร้อมกล่าวว่า “ไม่หรอก ท่านอยากอาสา” เมื่อถามย้ำว่าเก้าอี้เลขาฯยังแข็งแรงใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า อยู่ที่ภาพรวม ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้โดยลำพัง ทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการของพรรค พปชร.

“อนุชา” เผย พปชร.พร้อมแก้ รธน. ยัน! ไม่แตะหมวด1,2 โยนสภาฯ ไขปม ตัดอำนาจ ส.ว. ชี้ ปัญหารธน.60 อยู่ที่สังคมมอง

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพปชร.ว่า จุดยืนไม่แตะหมวด1  หมวด2 

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางเรื่องการแก้ไขอำนาจของ ส.ว. นายอนุชา กล่าวว่า ก็ไปว่ากัน ส่วนจะตัดหรือไม่ตัดอำนาจเป็นเรื่องของสภาฯเป็นคนตัดสิน เมื่อถามว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี ควรมาจาก ส.ส.อย่างเดียว โดยที่ไม่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่จำเป็นและหากจะแก้ไขต้องดูบริบทตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภาพรวมที่ต้องไปคุยกันในพรรคว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ต้องไปว่าการถึงรายละเอียดในแต่ละครั้งไม่ใช่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคพปชร.มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาตรงไหนบ้าง นายอนุชา กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากจะมองว่าในอนาคตมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร อยู่ที่สังคมและรัฐสภาเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่เราตัดสินเพราะเราเป็นคนอาสาเข้ามาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

เมื่อถามว่าดูเหมือนพรรคพปชร.จะถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุชา กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกต่างอยู่แล้วในทางการเมืองหากคิดเห็นเช่นเดียวกันคงไม่ปกติ เพราะการเมืองต้องมีความเห็นที่หลากหลาย สุดท้ายต้องมาจบว่ารัฐสภาจะไปทางไหน ต้องมาประมวล วิเคราะห์ และทำการบ้านร่วมกันว่าองคาพยพในการแก้ไขจะไปทางไหนได้บ้าง ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนรวมตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ต้องพูดคุยกันอยู่แล้ว

กระทรวงแรงงาน จับมือ กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” เพื่อสร้างการรับรู้ รับฟังข้อเสนอแนะและร่วมกันพิจารณาผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ...รองรับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” โดยมี นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวต้อนรับ นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวรายงาน 

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การช่วยเหลือเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมถึง “พี่น้องแรงงานนอกระบบ” และพร้อมที่จะให้การดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยมีนโยบายในการเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อรองรับแรงงานนอกระบบทุกคน จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การระบาดของโรคโควิด – 19 การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลต่อการจ้างงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สภาพการจ้างงานยังไม่มีความชัดเจน เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เราต้องศึกษา ควบคุม และดูแลต่อไป 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายเดียวกันกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการศึกษานโยบายและกฎหมายแรงงาน คือ การดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้น ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ ทุกท่านคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนและผลักดัน การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ให้สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว 

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” ในวันนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงแรงงานในการพิจารณาผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ.....ร่วมกัน 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 300 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการแรงงานและคณะอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการและเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงาน วิทยากร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากภาครัฐและผู้สังเกตการณ์ แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตัวแทนผู้ประกอบการ เจ้าของสถานประกอบการ เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานนอกระบบ 

ผู้เข้าสัมมนาในวันนี้โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ยังไม่มีใครคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ จากการสัมมนาในวันนี้จะเป็นการให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ ในด้านคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการแรงงาน รายได้ อาชีพ และเครือข่ายการขึ้นทะเบียน เพื่อนำผลจากการสัมมนาครั้งนี้ไปขับเคลื่อนนโยบายและร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฏีกา และรัฐสภา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ผลสำเร็จ เกิดผลเป็นรูปธรรมและนำไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต. วินิจฉัย อสม. ลงสมัครเลือกตั้ง พร้อมขอตรวจสอบ ปมผู้สมัครนายกเทศมนตรีอ.พยุหะคีรี นำรูปคนมีชื่อเสียงขึ้นคู่หาเสียง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นต่อ กกต.เพื่อให้วินิจฉัยกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ด้วย อสม. หลายคนได้เข้ามาสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ซึ่ง อสม. ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท และได้รับสิทธิพิเศษอีกมากมายรวมทั้งสิทธิในการเสนอเพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ 

แต่ในพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ จะมาสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นไม่ได้ แต่ที่ปรากฏทั่วประเทศตอนนี้คือ อสม. ไปสมัครเป็นสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นกันเยอะ ซึ่งเป็นก็จะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างผู้สมัครทั่วไปที่ไม่ได้เป็น อสม. เนื่องจาก อสม. ใช้เงินของรัฐมาดำเนินการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด เมื่อมาสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะได้เปรียบ ดังนั้น กกต. ผู้ดูแลในเรื่องนี้ควรมีคำวินิจฉัยที่ออกมาให้ชัดเจนว่า อสม. ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังขอให้ กกต. ตรวจสอบกรณีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนำรูปของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครมาขึ้นคู่กับป้ายหาเสียงของตนว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65(1) (5) หรือไม่ โดยพบกรณีดังกล่าวในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ที่นายอนุรักษ์ พงษ์สาลี ผู้สมัครนายกเทศมนตรี เบอร์ 2 ได้นำรูปของทีมงาน 2 ราย คือนางศศิธร ศรีเพ็ง และนายนคร  พิริยะโภคานนท์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้สมัคร แต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และเป็นบุคคลที่นายอนุรักษ์ นำเสนอว่าหากตนได้รับเลือกตั้งก็จะแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นรองนายกเทศมนตรี จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายอนุรักษ์ เป็นการหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงของบุคคลทั้งสองมาสนับสนุนให้ตนเองได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการจัดเตรียมเพื่อจะให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับตนเองตามมาตรา 65(1) และ ( 5) 

จึงอยากให้กกต.วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งสมาชิกและนายกเทศมนตรีเพราะหากเป็นความผิดก็จะได้ตัดสิทธิผู้สมัครก่อนการลงคะแนน ก็จะได้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง รวมทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานในการลงสมัครและการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาต่อไป

ออมสิน ร่วมกับ SAWAD เปิดตัว บจ. เงินสดทันใจ ลุยธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ดีเดย์เริ่มปล่อยกู้ 25 มีนาคม 2564 กดดอกเบี้ยต่ำสุด 14.99% ต่อปี ตั้งเป้าช่วยผู้มีรายได้น้อยลดภาระจ่ายดอกแพง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงการร่วมทุนกับ SAWAD เปิดตัวบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เดินหน้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถเป็นครั้งแรก ว่า บริษัท เงินสดทันใจ จะเริ่มด้วยการเปิดรับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ พร้อมข้อเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 14.99% ต่อปี หรือเท่ากับ 0.69% ต่อเดือน โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะผลักดันภารกิจธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมหรือถูกลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการแบกรับค่าใช้จ่ายดำรงชีพ

เงินสดทันใจ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 14.99% ต่อปี ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่และรีไฟแนนซ์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดทำให้คู่แข่งขันของธุรกิจ Non-Bank ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปกติที่ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ระดับ 24% - 28% ต่อปี โดยท้ายที่สุดสามารถลดโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งระบบ เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแก้ปัญหาความยากจน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และขณะเดียวกันธนาคารยังสามารถทำกำไรทางธุรกิจเชิงพาณิชย์หล่อเลี้ยงกิจการและสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคมไปพร้อมกันด้วย

ด้าน นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้ถือหุ้น และ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร SAWAD เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ลูกค้าสามารถนำรถจักรยานยนต์พร้อมเล่มทะเบียนรถ มาติดต่อขอสินเชื่อด่วนได้ที่สาขาของเงินสดทันใจในเครือศรีสวัสดิ์ จำนวนกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ และที่บูธให้บริการของเงินสดทันใจ ภายในธนาคารออมสิน 35 แห่งซึ่งเป็นสาขานำร่อง โดยบริษัทฯ รับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ รวมถึงรับรีไฟแนนซ์จากที่อื่นในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.69% ต่อเดือน (หรือ 14.99% ต่อปี) มีเงื่อนไขคือรถจักรยานยนต์ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 15 ปี จุดเด่นของบริการคืออนุมัติเงินกู้ไวให้ลูกค้ารับเงินได้ภายใน 15 นาที เลือกผ่อนชำระได้นานถึง 48 เดือน พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน และไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน

ทั้งนี้ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เงินสดทันใจ” ในเฟสถัดไป เตรียมขยายบริการเปิดรับจำนำทะเบียนรถยนต์ภายในระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 14.99% - 18% รวมถึงขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมภายในสาขาธนาคารออมสินอีก 500 สาขาภายในไตรมาส 2 และเพิ่มเป็น 800 สาขาในไตรมาส 4 คาดว่าภายในปี 2564 นี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 20,000 ล้านบาท และช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนกว่าล้านคน


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

"แรมโบ้" ลั่น! ม็อบ ยุติการชุมนุม หันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ อย่าฟัง พวกชังชาติ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ในปี 2564 ประเทศไทยเป็นอันดับ 1ในอาเซียน ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเรื่องของดิจิทัล  อีกทั้งยังเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2564  ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล นอกจากจะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความใส่ใจกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะถือว่าประชาชนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด และยังเป็นประโยชน์กับประชาชนในหลายด้าน 

นายเสกสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้พัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหามาหลายด้าน จนประชาชนทั้งในประเทศและนานาประเทศให้การยอมรับ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลในการทำงาน อยากจะพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ยังเห็นความสำคัญของประชาชน และประเทศ มาเป็นอันดับที่ 1 พร้อมที่จะช่วยเหลือในทุกด้านโดยไม่เหน็ดเหนื่อยไม่ย่อท้อ และพร้อมทุ่มเทพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดี จึงเรียกร้องไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการเคลื่อนไหวให้ยุติการชุมนุม เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น และยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

"บ้านเมืองเป็นของพวกเราทุกคน ควรหันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ช่วยนายกฯและรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าไปสู่นโยบายที่วางไว้ให้สำเร็จ ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาชุมนุม จนทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เราทุกคนควรหันกลับมาร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข อย่าไปเชื่อฟังบุคคลที่คิดยุยงปลุกปั่น พวกบ่อนทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คนชังชาติเหล่านั้นไม่หวังดีต่อประเทศไทย พวกเราอย่าตกเป็นเครื่องมือคนคิดร้ายต่อแผ่นดินไทยเลย" นายเสกสกลกล่าว

"มายด์" พร้อมพวกรายงานตัวอัยการคดีชุมนุมสถานทูต เผยกำลังใจดีสู้ไม่ถอย - พระร่วมให้กำลังใจชูป้าย "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112"

วันที่ 25 มี.ค 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ พร้อมพวกผู้ต้องหาแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร เดินทางมารายงานตัวตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ 

โดย นางสาวภัสราวลี เปิดเผยว่า วันนี้มารอฟังคำสั่งอัยการ ส่วนตัวเตรียมพร้อม เข้มแข็งจากการชุมนุมเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) เติมกำลังใจตัวเองได้อย่างดี สู้ต่อไม่ถอย ซึ่งพ่อกับแม่ก็ให้กำลังใจ ส่วนที่มีข่าวว่าวันนี้อัยการจะเลื่อนนัดสั่งคดีนั้น ยังไม่มั่นใจ ต้องรอฟังอีกที ทุกคนในคดีจะมากันครบ เพราะทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำ กล้าหาญ กำลังใจดีเข้มแข็ง พี่น้องประชาชนส่งพลังให้ตนและทุกคน 

ส่วนหากมีการส่งฟ้องแล้วศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่นั้น ถ้าให้ประกันตัว ประชาชนจะมองกระบวนการยุติธรรมอย่างมั่นใจ ทุกคนโดนข้อหาเดียวกันทั้ง 13 คน หลายคนเป็นนักศึกษา และส่วนตัวก็ยังมีสอบ เชื่อว่าพลังของประชาชนที่ออกมาเป็นส่วนสำคัญ 
.
ด้าน นางสาวเบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เปิดเผยว่า หากไม่ได้รับการประกันตัวก็จะให้มวลชนเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป ตนเองก็จะสู้ต่อไปเพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ สำหรับการชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมา พยายามจัดการชุมนุมให้มีความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมมากที่สุด และให้มวลชนได้มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรม ส่วนภารกิจที่ติดค้างคือเรื่องเรียน และการต่อสู้ยังเป็นภารกิจสำคัญ ขณะนี้มองว่าควรที่จะมีการยกเลิกการส่งฟ้องไปเลย ซึ่งจะไม่เป็นการค้างคา 

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ไม่มีแกนนำ นางสาวเบนจา มองว่า เป็นการชุมนุมที่ให้คนหลายกลุ่มได้เข้ามาร่วม ซึ่งตนเองก็ไม่เคยบอกว่าการมีแกนนำหรือไม่มีแกนนำดีหรือไม่ดีอย่างไร จะมีความแตกต่างกันในด้านวิธีการ แต่แนวทางการต่อสู้คือเป้าหมายเดียวกัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ในวันนี้ มีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและผู้ใกล้ชิดเดินทางมารอให้กำลังใจผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี โดยผู้มาให้กำลังใจ อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน รวมถึงมีกลุ่มพระสงฆ์ 4 รูป ถือป้ายข้อความว่า "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112" 

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมที่เดินทางมาให้กำลังใจแกนนำราษฎรในวันนี้ หลังทราบข่าว นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่างพากันดีใจด้วย

"วราวุธ" ชี้!​ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย​ เปรียบเหมือนตัดแขน ย้ำ! ต้องหารือพร้อมเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า คาดว่าจะได้มีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายนนี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี​ ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ​ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น​ กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คน ๆ นึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจ​ ส.ว. จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่​ ส.ว. รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย​ ส.ว. ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ​ ส.ว. ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่าประเด็นที่ให้อำนาจ​ ส.ว. เลือกนายกฯ คงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่​ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง​ ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ ๆ จะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.)​ คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป​ แต่ท้ายที่สุดคงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน

นักธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่ บุกพบ “กรณ์” ขอให้ช่วย หลังถูก สสว.ฟ้องกราวรูด จากความเข้าใจไม่ตรงกันในการร่วมทุนและสัญญาที่ทำไว้กว่า 10 ปี

สมาพันธ์นักธุรกิจไทย นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ผู้ประสานงานฯ นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 40 ราย เข้าพบนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และ นายภิมุข สิมะโรจน์ ที่ปรึกษาพรรค ที่ทำการพรรคกล้า ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ที่ให้จัดตั้งกองทุนร่วมทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเพิ่มบริษัทให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ สสว.เป็นผู้ดำเนินการ และต่อมา สสว.ได้เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกองทุน “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย”

โดยแจ้งเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอี ที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย 2. ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดในการระดมทุน 3.ผู้ร่วมลงทุนทุกฝ่ายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการและรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคอยแนะนำต่าง ๆ 5. สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการตลาด การบัญชี และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาตนเองระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และ 6. อื่น ๆ เพื่อเชิญชวนให้เอกชนสนใจและเข้าร่วมลงทุน 

ผู้ประสานงานสมาพันธ์นักธุรกิจไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอี หลายรายได้เข้าร่วมกองทุนร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเป็นโครงการที่ดี และช่วงปี 2547 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อกอบกู้ธุรกิจ จึงได้เข้าร่วมทุนด้วย ต่อมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของ สสว. ทำให้ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ สสว.ฟ้องดำเนินคดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเรียกเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าพี่เลี้ยงคืน เนื่องจากผิดสัญญาร่วมลงทุน  

“การเข้าพบคุณกรณ์และคณะในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ถูก สสว.ฟ้องร้องทั้งหมด อยากขอให้ช่วยส่งเสียงถึงท่านนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่ตรงกับการเชิญชวนมาร่วมทุน โดยขอให้ สสว.ยึดปฏิบัติตามนโยบายการร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital Fund และจัดทำระเบียบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ในความบกพร่องผิดพลาดของการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเร่งด่วน และสุดท้ายขอให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยึด ข้อเท็จจริงมากกว่า ข้อกฎหมาย เพราะ หนังสือเชิญชวนให้ร่วมลงทุน กับ เงื่อนไขในสัญญา ไม่ตรงกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายหมื่นล้านไปที่ สสว.เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพวกตนได้ในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า “ฟังแล้วเข้าใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคกล้าจะพยายามนำข้อเสนอของทางสมาพันธ์นักธุรกิจไทยในวันนี้ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับนโยบายโดยตรง ซึ่งพรรคกล้าเองมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคนตัวเล็กในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากเห็นการเจรจาพูดคุยเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน มากกว่า การหาทางออกด้วยการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top