Friday, 4 July 2025
Hard News Team

ครม. ตั้ง "พสุ โลหารชุน" นั่ง ประธานบอร์ดเอ็กซ์ซิมแบงค์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็น กรรมการ, น.ส.ลดาวัลย์ คำภา เป็น กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.) นายพสุ โลหารชุน เป็น ประธานกรรมการ

2.) นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ เป็น กรรมการ

3.) นายคณิทธ์ สว่างวโรรส เป็น กรรมการ  

4.) นายสุวัฒน์ กมลพนัส เป็น กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นายศุภชัย เอกอุ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 465,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ส่วนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นรวมทั้งเงื่อนไขการจ้างและการประเมินการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ 

ครม.เห็นชอบมอบหมายให้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลำดับที่สอง แทน นายถาวร เสนเนียม ที่พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ครม. ไฟเขียว ลดเงินสมทบ ม.33 ลูกจ้าง-นายจ้าง บรรเทาโควิด เหลือ 216 บาท 3 เดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. เพื่อปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะปรับจากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 216 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2564 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งยังช่วยรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้กองทุนจัดเก็บเงินสมบทได้ลดลงจำนวน 20,163 ล้านบาท แต่นายจ้างและผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของนายจ้างจำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท รวมเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 20,163 ล้านบาท

ผลสำรวจชาวบ้านแนะรัฐแจกเงินสดเยียวยาโควิด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ปี 64 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มี.ค. 64 พบว่า ประชาชน 99.7% รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ โดยมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 81.2% พอใจปานกลาง 15.9% พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด 2.3% และไม่พึงพอใจ 0.6%  

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 อันดับแรกดังนี้ คือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน, ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา, ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะ 62.9% โครงการคนละครึ่ง 26.3% โครงการ ม.33 เรารักกัน 6.1% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.7% และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 0.6%

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชน 60.7% มีความพร้อม 39.3% ไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 66.3% 

ครม. เห็นชอบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) 62 กิจกรรม รวม 881 โครงการ กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 66,502.24 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ประกอบด้วยโครงการ/การดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม รวม 881 โครงการ กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 66,502.24 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2564-2565 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยคณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock อย่างเคร่งครัด บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด 
   
ทั้งนี้ แผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายระดับการดำเนินงานตามขั้นตอนและวิธีการของกิจกรรม Big Rock ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยมีการระบุ (1) หน่วยงานร่วมดำเนินการ (2) เป้าหมายย่อย (Milestone) คือ เป้าหมายของการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรม Big Rock (3) ระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จของแต่ละเป้าหมายย่อยโดยกำหนดระยะเวลาที่แล้วเสร็จ ณ สิ้นสุดไตรมาส และ (4) โครงการ/การดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมายย่อยภายในระยะเวลาที่กำหนด ครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ แหล่งงบประมาณ และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ซึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงานรองรับกิจกรรม Big Rock ใน 3 ระดับ คือ (1) มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด หากไม่ดำเนินการจะทำให้การปฏิรูปประเทศไม่บรรลุผลตามที่กำหนด (2) มีความจำเป็นเร่งด่วน และ (3) มีความจำเป็นเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนงบประมาณตามกฎหมายต่อไป   

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้ยกตัวอย่างกิจกรรม Big Rock ด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเกษตรมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมายย่อยคือการขยายพื้นที่ชลประทานอย่างเหมาะสม/มีการสร้างผู้ประกอบการ Smart Farmer/เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารและเศรษฐกิจชีวภาพ มีโครงการ/การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Big Farming) และโครงการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่จะได้คือ เกษตรกรสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง และมีมูลค่าการจำหน่ายและการเจรจาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีงบประมาณ 2564 เป็นต้น

ครม. ไฟเขียว กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพ โดยกองทุนเงินทดแทนเป็น 5 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพให้นายจ้างจ่าย ซึ่งให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทำศพในอัตรา 50,000 บาท เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงความตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 40,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 โดยการปรับเพิ่มอัตราค่าทำศพดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการจัดการศพ  

ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตติดต่อยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้การเพิ่มอัตราฯ ยังให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งสองกองทุน คือ กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพไว้ที่ 50,000 บาท เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อสถานะกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากกองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมบทเฉลี่ยปีละ 3,941.82 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นค่าทำศพรวม เฉลี่ยปีละ 33.75 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.96 ของเงินทดแทน ซึ่งในปี 2564 ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ 50,000 บาท จะมีค่าจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 6.75 ล้านบาท 

“บิ๊กตู่" แจงสถานการณ์โควิด สั่ง ศบค.ออกตรวจพื้นที่เสี่ยง-แคมป์คนงานทั่ว กทม. พร้อมเร่งซีลเรือนจำสกัดเชื้อแพร่สู่ภายนอก ย้ำลุยปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ถึงปชช.มากที่สุด ไม่กั๊กไว้แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขออภัยช่วงที่ผ่านมาระบบการฉีดมีปัญหา

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบนัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลง ภายหลังจากประธานจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นการแถลงข่าวที่อ่านตามสคริปที่เตรียมมาเช่นเดิม และชี้แจงเฉพาะเรื่องของมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส โควิด-19 เท่านั้น ส่วนประเด็นคำถามเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งประเด็นทางด้านการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด โดยทางคณะทำงานแจ้งว่าจะให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามของสื่อมวลชน 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเราพบว่าสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล​เริ่มทรงตัว แม้ว่าเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ในบางพื้นที่แต่ยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอีก ทำให้ต้องมีการเรียกประชุม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และศบค.เป็นการด่วน เพื่อรับทราบสถานการณ์ล่าสุดและหาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยต้องเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยดำเนินการตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเรือนจำภายในเรือนจำ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษา หากมีผู้ที่มีอาการรุนแรง จะนำออกมา รักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางตามระบบ ซึ่งยืนยันว่าจะให้การรักษาผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุด อย่างเท่าเทียม โดยเรือนจำแต่ละแห่งมีระบบ ปิด จึงมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ สู่ชุมชนได้น้อยมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยดูแลเข้มงวดในช่วงที่มีการระบาด ให้งดการเข้าเยี่ยมจากภายนอกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังคงเดินหน้าต่อไป ตามแนวทางที่ทำสำเร็จคือการตรวจเชิงรุก คัดแยกผู้ป่วยส่งตัวรักษา และระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การเว้นระยะห่าง การตรวจวัดอุณหภูมิทุกสถานที่ ซึ่งการระบาดเกิดจากการอยู่ในพื้นที่แออัดจึงได้กำชับสั่งการ ศบค. เร่งออกตรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานและสถานที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด รวมไปถึงในเรือนจำโดยจะใช้แนวทาง bumble and Seal คือ การปิดกั้นการเดินทาง เข้า-ออก ของคนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายเชื้อสู่ภายนอก โดยสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิด ทีมแพทย์จึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว และจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยังคงทรงตัว หากไม่รวมถึงคลัสเตอร์ราชทัณฑ์ เราต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน และขอให้สนใจตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายด้วย ซึ่งขณะนี้หายป่วยแล้วเกินครึ่งหนึ่ง โดยเป็นผลจากความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์และมาตรการของเรา นอกจากนี้อีกประเด็นสำคัญที่ตนและรัฐบาลให้ความสำคัญคือการฉีดวัคซีนที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว โดยรัฐบาลมีแผนการกระจายวัคซีน 3 ช่องทางคือ

1.) ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีผู้เข้ามาลงทะเบียนแล้วประมาณ 7 ล้านคน

2.) การลงทะเบียนที่จุดบริการฉีดวัคซีน โดยย้ำว่าในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ และ

3.) การกระจายวัคซีนเชิงยุทธศาสตร์คือการจัดการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะหรือประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่จำเป็นต้องฉีดเพื่อให้การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจไทยดำเนินไปได้ไม่สะดุด

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ทั้งนี้หากสมาคม องค์กร หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดมีเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วน ให้ยื่นเรื่องให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาจัดสรรวัคซีนและสถานที่ติดต่อไป โดยให้จัดระดับความเร่งด่วนเป็นกลุ่มต่าง ๆ ส่งมาที่กระทรวงสาธารณสุข โดยย้ำว่าเรามีเป้าหมายฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ นอกจากโรงพยาบาลเป็นจุดฉีดวัคซีนหลักแล้วยังมีจุดฉีดวัคซีนเสริม 25 จุดและสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวยอมรับด้วยว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการวางระบบการฉีดวัคซีนมีปัญหาอาจเกิดความไม่ชัดเจนและไม่เข้าใจอยู่บ้าง ตนได้ติดตามเร่งรัดให้มีการปรับปรุงโดยเร็ว จึงต้องขออภัยที่อาจเกิดความไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่าทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมากเพียงพอและจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศเดือน มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน โดยที่ผ่านมาได้เร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงไปแล้วมากกว่า 2 ล้าน 3 แสนโดส ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีและไม่มีใครมีผลข้างเคียงร้ายแรง แม้แต่คนเดียว จึงขอให้ประชาชนนั้นมั่นใจได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมกองทัพไทยควบคุมการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนให้มีความเข้มงวดสูงสุด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดแสวงหาผลประโยชน์จากความเสี่ยงของประเทศชาติจะต้องลงโทษให้หนักที่สุดโดยไม่มีการยกเว้น 

นายกฯ กล่าวย้ำว่า วันนี้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ นโยบายของตนก็คือเราจะต้องเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้โดยเร็วและเข้าถึงประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากที่ได้รับความคิดเห็นจากประชาชนจำนวนมาก ตนได้ตัดสินใจว่าจะไม่รอให้คนวัยหนึ่งวัยใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีนจนครบก่อน จึงเปิดให้คนกลุ่มอื่นได้รับวัคซีน แต่จะปรับแผนการเดินหน้าประเทศไทยเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกกลุ่มที่มีความพร้อมในการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัยใด 60 ขึ้นไป หรือต่ำกว่า 60 ใครเข้าถึงวัคซีน แต่มากน้อยก็ขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ โดยเฉพาะวัยทำงาน เพื่อปกป้องคนทำมาหากินคนที่เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงคนในบ้าน ออกไปทำงานทำมาหาเลี้ยงชีพ 

"สิ่งสำคัญที่สุดเราจะเอาชนะโควิดไปได้อย่างไร คำตอบคือเราจะเอาชนะโควิดไปได้ โดยเดินหน้าไปพร้อมกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปต่อได้เราจะสู้ไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องดีขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ เพราะเราทุกคนคือทีมประเทศไทย"นายกฯ กล่าว

รัฐบาล พร้อมแจง พ.ร.ก. 2 ฉบับ และพ.ร.บ.งบฯ 65 นายกฯ ย้ำ ขอให้ รมต. ชี้แจง-อธิบาย ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมรับทราบการรายงานของ นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดวาระสำคัญ ดังนี้

1.) การพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 (ลดดอกเบี้ยผิดนัด) และ พ.ร.ก. การให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564 โดยกำหนดประชุม วันที่ 27 พฤษภาคมนี้ หากไม่แล้วเสร็จ ให้พิจารณาต่อวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ และ

2.) การพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2565 กำหนดประชุม วันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน (รวม 3 วัน)

“นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้รัฐมนตรีใช้เวลาในการประชุมสภาฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่าง ๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถานการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส งบประมาณของกระทรวงใดที่มีการปรับลดลงจากปีก่อนต้องชี้ให้เห็น เงินที่ใช้สำหรับการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจและการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องอธิบายด้วยว่ามีการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ และงบกลางกรณีฉุกเฉินอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องตอบข้อซักถามทุกประเด็นให้เกิดความกระจ่าง เพื่อความเข้าใจร่วมกันและความสบายใจของประชาชน” น.ส.รัชดา กล่าว

ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ของ รฟท. 2,886 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2,886 ล้านบาท 

เงินอุดหนุนดังกล่าว มาจากการประมาณรายได้ของ รฟท.ไว้ที่จำนวน 314 ล้านบาทและประมาณการค่าใช้จ่ายจำนวน 3,201 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมประมาณการต้นทุนจากการให้บริการสาธารณะในเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงานการเดินรถและซ่อมบำรุง ค่าซ่อมบำรุง และค่าเบี้ยประกันภัย รวมถึงนำผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาคำนวณซึ่งทำให้ประมาณการผู้โดยสารในปี 2564 ลดลง

อาร์ทีไอ/ไต้หวันนิวส์ รายงาน วันที่ 17 พ.ค.ว่าไต้หวันหลังประกาศเตือนระดับ 3 มาแล้ว 3 วัน ยังพบติดเชื้อรายใหม่ เกินร้อยต่อเนื่อง โดยพบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 335 ราย ในวัน 17 พฤษภาคม

นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเป ประกาศเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.-17 พ.ค. ที่ผ่านมา นครนิวไทเปมีผู้ติดเชื้อสะสม 359 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นวันที่ 15 พ.ค. 74 ราย วันที่ 16 พ.ค. 95 ราย และ 17 พ.ค. 144 ราย โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน 9 เขต ซึ่งล้วนเป็นเขตที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แบ่งเป็นเขตปั่นเฉียว 94 ราย ซานฉง 44 ราย จงเหอ 41 ราย หย่งเหอ 36 ราย ถู่เฉิง 31 ราย ซินจวง 29 ราย หลูโจว 23 รายวัน ซินเตี้ยน 15 ราย และต้านสุ่ย 10 ราย

ดังนั้นในขณะนี้นิวไทเปควรยกระดับการป้องกันให้สูงกว่าระดับ 3 หรือปรับเป็นระดับ 3 เข้ม หรือ ‘เตรียมเข้าสู่ระดับ 4’ โดยหากพบการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 จะสั่งปรับในทันที

ทั้งนี้มาตรการควบคุมโควิด-19 ระดับ 3 กำหนดว่า ออกนอกบ้านต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 3,000-15,000 เหรียญไต้หวัน สถานประกอบการและสถานที่สาธารณะต้องใช้มาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม ร้านอาหารและภัตตาคารให้ใช้ระบบลงทะเบียนยืนยันตัวตน ใช้แผ่นกั้นและจัดที่นั่งโดยเว้นระยะห่างที่เหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 3,000-15,000 เหรียญไต้หวัน (TWD) ห้ามจัดกิจกรรมทางศาสนาหรือสถานประกอบการ 8 ประเภทหยุดให้บริการทั้งหมด หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน

พร้อมกันนี้ผู้ว่าฯ นครนิวไทเปยังได้เรียกร้องให้ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคเร่งหารือเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจในการล็อกดาวน์หรือจัดตั้งมาตรฐานและเงื่อนไขการล็อกดาวน์ให้ชัดเจนกว่านี้

ทั้งนี้ไต้หวัน ใช้ระบบเทคโนโลยี NHI MediCloud System ช่วยในการต่อสู้กับ COVID-19 ระบบนี้ ‘NHI MediCloud System’ ข้อมูลทางการแพทย์ที่กระจัดกระจายอยู่ในโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ ในโรงพยาบาลมณฑลและเมืองต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เปิดข้อมูลตลอดเวลา ไม่มีวันหยุดราชการ


ที่มา : https://mgronline.com/china/detail/9640000047705

“บิ๊กตู่” ประชุม ครม. จับตาสถานการณ์โควิดระบาดไม่คลี่คลาย รัฐเร่งระดมจัดหา-ฉีดวัคซีนทางรอดวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564  ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นสัปดาห์ที่สอง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ยังคงมีการกระจายที่สูงขึ้น อีกทั้งในส่วนของทำเนียบรัฐบาลยังคงมาตรการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รวมทั้งสื่อมวลชนเวิร์คฟอร์มโฮม (WFH)  

อย่างไรก็ตามต้องจับตาไปที่การรายงานสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ รวมถึงการตั้งโรงพยาบาลสนาม และการหารือการเตรียมพร้อมรับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะกระจายฉีดปูพรหมไปยังต่างจังหวัด โดยรัฐจะทยอยส่งวัคซีนเริ่มในวันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูในเรื่องของการวอล์กอิน เข้ารับการฉีดวัคซีนของประชาชนทั่วไป ที่ศบค.ชุดเล็กมีความกังวลเรื่องความแออัด จะบริหารจัดการยาก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องไปจัดทำแผนใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด  

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการช่วยเหลือแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบลดอัตราเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3

ส่วนวาระอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงแรงงาน เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง เสนอขอความเห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ในส่วนวาระการพิจารณาด้านอีก สทนช. เตรียมเสนอมาตรการการรับมือฤดูฝนปี 2564 กระทรวงมหาดไทย รายงานการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top