Thursday, 24 April 2025
Hard News Team

"วราวุธ" ชี้!​ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย​ เปรียบเหมือนตัดแขน ย้ำ! ต้องหารือพร้อมเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า คาดว่าจะได้มีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายนนี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี​ ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ​ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น​ กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คน ๆ นึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจ​ ส.ว. จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่​ ส.ว. รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย​ ส.ว. ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ​ ส.ว. ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่าประเด็นที่ให้อำนาจ​ ส.ว. เลือกนายกฯ คงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่​ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง​ ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ ๆ จะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.)​ คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป​ แต่ท้ายที่สุดคงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน

นักธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่ บุกพบ “กรณ์” ขอให้ช่วย หลังถูก สสว.ฟ้องกราวรูด จากความเข้าใจไม่ตรงกันในการร่วมทุนและสัญญาที่ทำไว้กว่า 10 ปี

สมาพันธ์นักธุรกิจไทย นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ผู้ประสานงานฯ นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 40 ราย เข้าพบนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และ นายภิมุข สิมะโรจน์ ที่ปรึกษาพรรค ที่ทำการพรรคกล้า ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ที่ให้จัดตั้งกองทุนร่วมทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเพิ่มบริษัทให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ สสว.เป็นผู้ดำเนินการ และต่อมา สสว.ได้เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกองทุน “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย”

โดยแจ้งเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอี ที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย 2. ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดในการระดมทุน 3.ผู้ร่วมลงทุนทุกฝ่ายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการและรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคอยแนะนำต่าง ๆ 5. สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการตลาด การบัญชี และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาตนเองระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และ 6. อื่น ๆ เพื่อเชิญชวนให้เอกชนสนใจและเข้าร่วมลงทุน 

ผู้ประสานงานสมาพันธ์นักธุรกิจไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอี หลายรายได้เข้าร่วมกองทุนร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเป็นโครงการที่ดี และช่วงปี 2547 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อกอบกู้ธุรกิจ จึงได้เข้าร่วมทุนด้วย ต่อมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของ สสว. ทำให้ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ สสว.ฟ้องดำเนินคดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเรียกเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าพี่เลี้ยงคืน เนื่องจากผิดสัญญาร่วมลงทุน  

“การเข้าพบคุณกรณ์และคณะในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ถูก สสว.ฟ้องร้องทั้งหมด อยากขอให้ช่วยส่งเสียงถึงท่านนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่ตรงกับการเชิญชวนมาร่วมทุน โดยขอให้ สสว.ยึดปฏิบัติตามนโยบายการร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital Fund และจัดทำระเบียบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ในความบกพร่องผิดพลาดของการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเร่งด่วน และสุดท้ายขอให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยึด ข้อเท็จจริงมากกว่า ข้อกฎหมาย เพราะ หนังสือเชิญชวนให้ร่วมลงทุน กับ เงื่อนไขในสัญญา ไม่ตรงกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายหมื่นล้านไปที่ สสว.เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพวกตนได้ในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า “ฟังแล้วเข้าใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคกล้าจะพยายามนำข้อเสนอของทางสมาพันธ์นักธุรกิจไทยในวันนี้ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับนโยบายโดยตรง ซึ่งพรรคกล้าเองมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคนตัวเล็กในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากเห็นการเจรจาพูดคุยเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน มากกว่า การหาทางออกด้วยการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีการประท้วงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Silent Strike กล่าวคือ ให้ประชาชนทุกคนอยู่แต่ในที่พักไม่ต้องออกไปทำงาน จนทำให้สาวกสามนิ้วบางคนถึงขั้นเชียร์อย่างออกนอกหน้าว่า "เนี่ยเขามี Energy ในการทำกันจริง ๆ นะ"

วันนี้ เอย่า เลยอยากมาชำแหละ และจะมาวิเคราะห์กันว่า สรุปแล้วการทำแบบนี้มัน Success หรือ Failure ต่อประชาชนเขากันแน่!!

ก่อนอื่นเลยการนัดแนะกันทำ Silent Strike นั้นใครเป็นตัวตั้งตัวตี 'ไม่สามารถบอกได้' แต่ภาพที่ออกมาจากสื่อในพม่าทั้งสื่อหลักและสื่อในเฟซบุ๊กก็ดี คือแบบ “โอ้โห….นี่มันสงบกันทั้งเมืองเลยนะนี่”

เอย่าไม่รอช้าค่ะ เพราะเราจะไม่เชื่ออะไรแค่สิ่งที่เขาป้อนให้เราเชื่อถูกไหมค่ะ เอย่าเลยได้ออกไปข้างนอกเก็บภาพมาให้ชมกันซะเลย

และนี่คือสิ่งที่เอย่าเห็นนะคะ รถมันก็ยังมี แต่มันอาจจะน้อยลง (ทีหลังอย่าเอารูปตอนเช้าๆ หรือเพิ่งหลังไฟแดงหมาดมาลงสิค่ะ มันบิดเบือนนะเจ้าคะ)

(ภาพทั้งหมดถ่ายจริง ณ วันที่ 24 มีนาคม เวลา 9.00 น. และ 15.00 น.)

นอกจากในโซเชียลที่มีการนำเสนอภาพแนวนั้นแล้ว ชาวโซเชียลรวมถึงดารานักแสดงบางคนยังแสดงภาพตนเองในสภาพที่ปิดปาก โดยมีการ Live ลงโซเชียลกันในวันดังกล่าว (24 มีนาคม 64)

สำหรับการทำ Silent Strike ครั้งนี้อ้างว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการปราบจราจลโดยใช้อาวุธ ส่งผลให้ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร รวมถึง โรงงานและบริษัทหลายแห่ง ต้องปิดบริการในวันดังกล่าว

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมใจกันอยู่บ้านจริงไหม?

คงจะไม่ใช่สักทีเดียว!!

...เพราะมีทั้งคนอยากจะหยุด เนื่องจากทำตามประกาศ

...คนอยากหยุด เพราะไม่อยากทำงาน แต่ได้เงิน

...คนไม่อยากหยุด แต่ที่ทำงานปิด

แต่ยังไงซะ สำหรับคนทำงานที่แม้อยากจะหยุดงานหรือไม่หยุดงานก็ดี หากต้องหยุดงานแบบโดนบังคับเช่นนี้ ในมุมพนักงานกินเงินเดือนที่ได้รับผลกระทบเรื่องเงินเดือนจากหลายธนาคารได้ออกมาแจ้งแล้วว่าเดือนนี้จะจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 25% ของเงินเดือนทั้งหมด ย่อมไม่ทำให้เขารู้สึกกระทบอะไรมากหรอก

แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ พนักงานรายวัน คนขายของรายทางแล้วนั้น หากวันนี้เป็นวัน Silent Strike ที่ประกาศกันเพียงข้ามวัน นั่นหมายถึงครอบครัวจะขาดรายได้ไปทันที

แล้วถามกลับว่าคนเหล่านี้ จะสู้เพื่อคุณได้กี่วัน?

ใครก็ตามที่คิดการประท้วงครั้งนี้ ได้เห็นหัว เห็นค่าของ 'คนหาเช้ากินค่ำ' บ้างหรือไม่?

หากการทำ Silent Strike เพื่อต้องการจะรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจริงๆ หรือต้องการจะเช็คเรทติ้งว่าเรายังมีคนเข้าข้างเราอีกมากแค่ไหนก็ดี...เอย่าแนะนำให้ไปรวมตัวสวดมนต์ที่เจดีย์ชเวดากองหรือเจดีย์ประจำของแต่ละเมืองนะคะ

อย่างน้อยคนหาเช้ากินค่ำ เขาจะได้ออกมาขายน้ำ ขายอาหารว่าง มีรายได้บ้าง คนทำงานรับจ้างจะได้มีงานบ้าง

ไม่ใช่คิดกลยุทธ์ประท้วงอะไร ที่เหมือนเกือบจะดีแต่พังทุกทีแบบนี้...


ที่มา: AYA IRRAWADEE

“วิษณุ” เผย! เคลียร์ “ชวน” แล้ว ปมเปิดสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท้วงถึงนายวิษณุ ที่ระบุ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วเกินไป ทั้งที่ร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายชวนเรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยเป็นเรื่องการให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .. ของรัฐสภา เพื่อดูว่าทางกรรมาธิการจะทำเสร็จหรือไม่ และต้องคิดเผื่อเวลาที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมทั้งการออกวาระล่วงหน้า ซึ่งนายชวน และตน รับทราบเรื่องเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแล้วจะสามารถเปิดวิสามัญในวันที่  7 - 8 เมษายนนี้ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตน ขอพบและพูดคุยกับทางกันมาธิการก่อน ซึ่งจะได้พบกันในวันเดียวกันนี้ เมื่อถามย้ำว่า ด้านนายชวนยืนยันหรือไม่ว่าเปิดวิสามัญในวันที่ 7 - 8 เมษายนนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า นายชวนไม่ได้ยืนยัน ให้แล้วแต่รัฐบาล แต่ท่านได้เสนอแนะว่าให้บอกเวลาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆยังไม่ขอพูดถึง เอาเป็นว่าตนได้พูดคุยกับนายชวนชัดเจนแล้ว เนื่องจากยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะมาพูดระบุถึงเรื่องวันที่ไม่ได้เนื่องจากยังไม่ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะมาพูดก่อน

กระทรวงแรงงาน ยกระดับช่างเครื่องช่วยคนพิการ หนุนทดสอบมาตรฐาน ป้อนหน่วยผลิต

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างแรงงานคุณภาพ หนุนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ลดช่องว่างตลาดแรงงาน นายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กำเนิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ และที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ 

พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา “อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาที่ฉัน” รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่17 สิงหาคม 2534 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่พัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทั้งฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกิจการของมูลนิธิขาเทียมฯ โดยดำเนินโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ และจัดการฝึกอบรมสาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงการกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา 

โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 700 ชั่วโมง (5 เดือน)  ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 (5 รุ่น) จำนวน 109 คน และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 จำนวน 106 คน ระดับ 2 จำนวน 21 คน รวมจำนวน 127 คน และในปี 2564 ดำเนินการฝึก 6 กิจกรรม เป้าหมาย 210 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งพนักงานราชการ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง

ซึ่ง กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และช่างเหล่านี้สามารถจัดทำขาเทียมที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีผู้พิการขาขาดที่ได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ปีละกว่า 3,000 คน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณ กพร.ที่ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด พัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

สร้างบุคลากรด้านเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงอบรมแพทย์และช่างทำขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย บังคลาเทศ สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วโลก เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาศักยภาพแรงงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

นายโรมรัน จรรยา พนักงานช่างเครื่องช่วยคนพิการ เป็นพนักงานราชการของโรงพยาบาลลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ รุ่นที่ 8 กับ สพร.19 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม และได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขแบบปุถุชนทั่วไปได้ คนพิการเป็นอีกกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ และเมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่างทำขาเทียมซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการได้กลับมาทำงาน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคฒ อธิบดี กพร.กล่าว

ศาลฎีกา รับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกาสนามหลวง ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ชัดเจน ดำเนินการครบถ้วนเกี่ยวกับระเบียบการดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้รับคำร้อง ที่ผู้ถูกร้อง ค้านว่าขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลเห็นว่า พิเคราะห์คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่ต่อเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว ยกคำร้องจึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เเละเเจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกครั้ง 30 เม.ย. เวลา 9.30 น.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์รูปภาพตนเอง พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปารีณา ไกรคุปต์" เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 มี.ค. 64 โดยระบุว่า “ราตรีสวัสดิ์ ปารีณาพลังประชารัฐ #ปารีณาพักก่อน -รู้สึกเศร้า"

‘บิ๊กตู่’ พร้อมนั่งหัวโต๊ะ ศบศ. พิจารณาแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน หลังโควิดคลี่คลาย

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เข้าร่วมการประชุม 

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตรงจุด ในการแก้ไข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของมาตรการที่มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อนำมาประเมินผล และประกอบกับการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564

“คาดว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางความเป็นไปได้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะมีการพิจารณาในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และมีความพยายามที่จะช่วยพิจารณาแนวทางดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง 

“เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงเช่นจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศมากขึ้น”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังคาดว่าที่ประชุมจะได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการธุรกิจและการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดข้อจำกัดในการประกอบกิจการของคนต่างด้าว การทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะในสาขาเป้าหมาย และการปรับปรุงระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร เป็นต้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนของกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะต่อไป

“สงคราม” หวั่นแบงก์ชาติตั้งการ์ดสูงทำเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเงินกู้ ผิดหวังโกดังพักหนี้หวังอุ้มนายทุนมากกว่าช่วยผู้ประกอบการตัวเล็ก

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพื่อชาติ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากมาตรการโกดังพักหนี้ที่รัฐบาลหวังเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจวงเงิน 250,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% หากสามารถปล่อยสินเชื่อได้จริง ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวจริง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เชื่อว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการได้

ทั้งนี้หวั่นใจว่ารัฐบาลจะเลือกช่วยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทในเครือของนายทุนใหญ่เท่านั้น เป็การเลือกปฎิบัติส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในเครือนายทุนใกล้ชิด เข้าไม่ถึงเงินกู้ ทั้งนี้ การจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ต้องไม่เลือกปฎิบัติช่วยเฉพาะผู้ประกอบการชั้นดี เพราะหากทำเช่นนั้นเงินกู้จำนวน 250,000 ล้านบาท จะล้มเหลวรอบ 2 เพราะไม่สามารถที่จะกู้ช่วยผู้ประกอบการได้

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ถ้าแบงก์ชาติยังตั้งเงื่อนไขในการช่วยเหลือเหมือนมาตรการจากเงินกู้พระราชกำหนด 500,000 ล้านบาท ก็จะไร้ประโยชน์ เพราะธนาคารพาณิชย์ จะช่วยเหลือแต่ลูกค้าของธนาครเป็นหลัก ไม่มีทางที่แบงก์พาณิชย์จะปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ มาตรการที่ออกมาหวั่นใจจะไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่ออุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่ และช่วยธนาคารพาณิชย์มากกว่า ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจะเป็นการซ้ำเติมผู้ระกอบการ ที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้
 

“นิพนธ์” ผนึกกำลัง ประปานครหลวง-องค์การจัดการน้ำเสีย MOU บูรณาการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ สร้างความยั่งยืน ยึด 3 ข้อ เน้นรับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาองค์ความรู้ พ่วงเสริมทักษะความชำนาญ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและให้บริการที่เป็นเลิศต่อประชาชนทั่ว

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) การบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่างการประปานครหลวง(กปน.)และ องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน.  นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ได้กำกับดูแล มอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. ที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้บูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการให้ความรู้ในด้านการจัดการน้ำเสียให้กับชุมชน และสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรน้ำและความร่วมมือระหว่างกันที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนโดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไกการบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้มีระบบ และมีเอกภาพยิ่งขึ้น  รวมถึงการลดปริมาณน้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก"

“ การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการร่วมบูรณาการงานของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ กปน. และ อจน. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ และการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผล คุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน” นายนิพนธ์ กล่าว

“จับกัง 1” ลุยตลาดดินแดง รณรงค์แม่ค้า-พ่อค้า-ผู้ประกันตน ใช้สิทธิ ม33เรารักกันให้ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่สำรวจการดำเนินโครงการ ม33เรารักกัน ณ ตลาดดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ กำชับพ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและปฏิบัติตามเงื่อนไขโครงการฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมเตือน ผู้ประกันตนอย่าหลงเชื่อขบวนการทุจริต แลกเงินสด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเปิดโครงการ ม33เรารักกัน เปิดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ลงทะเบียนรับสิทธิจำนวน 4,000 บาท โดยเริ่มโอนเงินให้ผู้ประกันตนเข้า G-Wallet ในแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง กว่า 5 ล้านคน หรือ 70%  ที่กดยืนยันสิทธิในงวดแรก 1,000 บาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา และงวดต่อไปในวันที่ 29 มีนาคม ,5 เมษายน และ12 เมษายน จนครบ 4,000 บาท ทั้งนี้ 

ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิ และยืนยันตัวตนผ่าน แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในวันนี้ตนได้ถือโอกาสลงพื้นที่ตลาดดินแดง เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการ ม33เรารักกัน เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรค จากพ่อค้าแม่ขาย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกันตนว่ามีการใช้จ่ายแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งจากการสำรวจไม่พบปัญหาและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

อย่างไรก็ดีตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมแต่งตั้งคณะทำงานออกตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ/สถานประกอบการในพื้นที่ และดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียน รวบรวมข้อเท็จจริง กรณีมีเรื่องร้องเรียน/มีการแจ้งเบาะแสว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการฯ เช่น ขึ้นราคาสินค้า พร้อมเฝ้าระวังการเบิกจ่ายเงินของร้านค้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการ   กระทำผิดเงื่อนไขอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม สิทธิในโครงการ ม33เรารักกัน ตนขอเตือนไปยังผู้ประกันตน ร้านค้า โปรดอย่าหลงเชื่อโฆษณาเชิญชวนที่ทำผิดเงื่อนไขโดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้า หรือแลกเป็นเงินสด เพราะนอกจากจะถูกพ่อค้าหัวใสหักเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถือว่าเข้าข่ายทุจริต ซึ่งอาจจะถูกตัดสิทธิและถูกดำเนินคดีอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top