Sunday, 6 July 2025
Hard News Team

วุฒิสภาจ่อถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 14 มิ.ย.นี้ หากผ่านสภาฯ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิ วันที่ 7 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2565 เพื่อพิจารณาคู่ขนานไปพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร โดยกมธ. จะเป็นผู้แทนจากคณะกมธ.สามัญของวุฒิสภาจำนวน 25 คณะ คณะละ 1 คน รวม 25 คน นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องมา คือ พ.ร.ก.ลดอัตราดอกเบี้ย และพ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ และตามขั้นตอนเมื่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบก็จะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ในสัปดาห์หน้าจะประชุมในวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งกมธ.ได้เชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของวุฒิสภาในวันที่ 14 มิ.ย.นี้

เลขาฯ ศาลยุติธรรม เเจงไทม์ไลน์คดีภาษีโตโยต้า เร่งประสานหาข้อมูล ข้อเท็จจริงทุกมิติ เตรียมประสานขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ไต่สวนที่อเมริกา

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 64  ที่ชั้น12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นาย พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เเถลงข่าวกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการสอบสวนเกี่ยวกับคดีภาษีของ บริษัท ในเครือโตโยต้าในประเทศสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อข้าราชการและอดีตข้าราชการตุลาการผู้ใหญ่ว่าอาจมีส่วนพัวพันธ์กับเรื่องนี้

นั้นตนขอเรียนว่าคดีที่มีการอ้างถึงเป็นคดีที่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษามีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีฟ้องคดีแรกวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้องโจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559 มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลาปีเศษ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 กันยายน 2560 พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 และต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐโจทก์จึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาโดยศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หากยื่นคำแก้ฎีกาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

ดังนั้นในคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดีเพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้นซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

เมื่อคดีนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยและยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อนศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้โดยพิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี แต่อย่างใด

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีภาษีอากรซึ่งเป็นคดีชำนัญพิเศษในการพิจารณาพิพากษาจะมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรตลอดทั้งสายตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกา 

โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีการวางระบบการทำงานในรูปแบบการประชุมคดีที่เข้มข้นขององค์คณะนับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการเป็นต้นมาโดยองค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคดีมีผู้ช่วยผู้พิพากษาทำหน้าที่เลขานุการคณะในการทำเอกสารสรุปข้อเท็จจริงประเด็นข้อพิพาทในคดีและข้อกฎหมายเมื่อประชุมแล้วท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็จะยกร่างคำพิพากษาตามมติการประชุมแล้วจึงส่งร่างคำพิพากษานั้นให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือผู้ช่วยเล็กหลังจากผู้ช่วยเล็กตรวจสำนวนแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อผู้พิพากษาประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือเรียกว่าผู้ช่วยใหญ่เพื่อตรวจร่างคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อตรวจแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อรองประธานเมื่อเห็นว่าเป็นคดีสำคัญจึงส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณีพิจารณาหากเห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญก็จะสั่งให้นำปัญหานั้นเข้าสู่การพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกท่านในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีประมาณ 70 คนส่วนศาลฎีกามี 176 คน
เมื่อร่างคำพิพากษาผ่านที่ประชุมแล้วจึงจัดทำคำพิพากษาเพื่อส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกานั้นแม้จะเป็นเพียงชั้นขออนุญาตฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็กำหนดจำนวนองค์คณะไว้อย่างน้อย 4 คนโดยหนึ่งในนั้นต้องเป็นรองประธานศาลฎีกาด้วยสำหรับคดีภาษีอากรนั้นคำร้องขออนุญาตฎีกาก็จะถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่อยู่ในแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาเป็นองค์คณะภายหลังจากองค์คณะพิจารณาแล้วในคดีนี้ได้นำเข้าประชุมแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาเพื่อให้ผู้พิพากษาในแผนกทุกคนได้ร่วมกันพิจารณาและลงมติก่อนจะที่จะมีการส่งมาให้ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาลนั้นเป็นไปอย่างมีระบบโปร่งใสมีการปรึกษาคดีและตรวจทานความถูกต้องในทุกขั้นตอนยากที่จะมีการแทรกแซงหรือกระทำการใดที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ใครต้องการได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะมั่นใจในระบบ แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าอาจมีการกระทำที่แทรกแซงกระบวนการจนถึงขั้นอาจมีการเสนอให้สินบนขึ้นซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่นิ่งนอนใจนับตั้งแต่มีการรายงานข่าวจึงได้ดำเนินการส่งหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศอย่างที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วต่อมาเมื่อในเนื้อหาข่าวปรากฏชื่อบุคคลในศาลยุติธรรมขึ้นสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลโดยที่ผมเป็นประธานคณะทำงานด้วยตัวเองคณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ติตามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกรณีนี้ซึ่งผมได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศแล้ว ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท โตโยต้าอเมริกา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศรวมถึงส่งเมล์ติดต่อไปยังนักข่าวที่เขียนรายงานข่าวอันเป็นต้นทางของเรื่องนี้ และจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัสสหรัฐอเมริกาด้วย

ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม นาง เมทินี ชโลธรประธานศาลฎีกาได้อาศัยอำนาจตามพ. ร. บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง“ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” 4 ท่านประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์เป็นกรรมการโดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต. ) กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยให้เสร็จโดยเร็วทั้งนี้ให้กรรมการชุดนี้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใดและควรได้รับโทษสถานใดเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 

และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิดหรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกันคณะทำงานติดตามข้อมูลที่ผมเป็นประธานจะทำงานสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องการให้ความกระจ่างปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็วและหากพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการต่อไปอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนสื่อมวลชนหรือหน่วยงานใดมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างชัดทุกท่านสามารถส่งข้อมูลมายังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตลอดเวลา

โดยคณะทำงานติดตามข้อมูลจะดำเนินการทุกวิถีทางให้เร็วที่สุดและสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอผลความคืบหน้าของการทำงานต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นระยะ 

การพบปะสื่อมวลชนในวันนี้นอกจากจะยืนยันการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจังแล้วผมขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมว่าหากคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคู่ความจะได้รับความเป็นธรรมทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนองค์คณะในศาลฎีกาจะพิจารณาคดีอย่างไม่หวั่นไหวส่วนการให้สินบนตามข่าวหากมีจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดำเนินคดีต่อไป

ศรีสุวรรณ ยื่น ป.ป.ช. สอบ ศบค. มีผลประโยชน์จัดหาวัคซีนหรือไม่

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวนกรณีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของ อปท. แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรง ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็แสร้งปัดไปว่าไม่รู้ว่าเขาซื้อได้หรือเปล่า ซึ่งอาจเป็นข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการฯระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง แต่ขณะนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ประกาศว่า ได้เตรียมจัดซื้อจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มมาใช้ในประเทศเป็นวัคซีนทางเลือกได้แล้ว ดังนั้น ถ้า อปท.จะจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินแต่อย่างใด ซึ่งนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยควรจะสนับสนุนไม่ใช่มากระตุกขา ทำให้เกิดความล่าช้า

นอกจากนั้น ในการอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณในภาผู้แทนฯเมื่อวันก่อนมีการอภิปรายว่าทำไมรัฐบาลเชียร์วัคซีนกับบางยี่ห้อ เหมือนเจตนาดีเลย์ ยี่ห้ออื่น ทำให้ประชาชนเชื่อว่า รัฐบาลมีผลประโยชน์ มีส่วนต่าง มีเงินทอนกับวัคซีนใช่หรือไม่ และการที่ รมว.กระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีขัดขวางการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาป้องกันโควิด-19 ของ อปท. จึงเป็นการตอกย้ำข้อพิรุธ ข้อสงสัยในการจัดซื้อจัดหาว้คซีน และการฉีดให้ประชาชน อาจไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้เพราะมีการเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลาย ก.พ.64 มาจนถึงปัจจุบัน 3 เดือนกว่ายังฉีดไปได้แค่ 3 ล้านกว่าคนเท่านั้น อีก 7 เดือนจะหมดปีแล้วจะฉีดให้ครบ 65 ล้านคนได้อย่างไร ถ้าไม่เร่งรีบให้ท้องถิ่นหรือ อปท. ออกมาช่วยกันทุกวิถีทาง ซึ่งถ้าติดขัดปัญหาระเบียบหรือข้อกฎหมายใด ก็ควรเร่งแก้ไขและยกเลิกไปเสียไม่ใช่มาอ้างข้อกฎหมาย อ้างระเบียบเลอะเทอะไปหมดเช่นนี้

ที่สำคัญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้ออกมาระบุชัดแล้วว่า รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการ ส่วนประเด็นการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเรื่องที่ สตง.พร้อมให้คำแนะนำ ตอบข้อสงสัย หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานที่มีความตั้งใจและพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การดีเลย์ให้ อปท.สั่งจองและใช้วัคซีนฉีดให้ประชาชนแม้เพียงวันเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามกฎหมายของ ป.ป.ช.แล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนไต่สวนเอาผิด ศบค. โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงมหาดไทย อันเนื่องมาจากการใช้เทคนิคดีเลย์การจัดหาวัคซีนของ อปท.และข้อพิรุธต่างๆ ข้างต้น 

69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย ร้องประธานสภาฯ ขอโอกาสมีส่วนร่วมเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 10.15 น.ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียน จาก 69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย  ที่ขอให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยมีส่วนเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการคลายกฎระเบียบที่ห้ามใช้การแพทย์แผนไทย ทำการรักษาและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 จัดตั้งศูนย์กระจายยาสมุนไพรที่ใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดให้ทั่วถึงควบคู่กับการกระจายการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และเปิดโอกาสให้คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศรักษาผู้ติดเชื้อที่ยังต้องรอการส่งตัวเข้าสู่โรงพยาบาลได้ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น การสอบถามอาการทางโทรศัพท์ การจัดส่งยาให้แทนการเข้าไปยังสถานพยาบาล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น พื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหรือในโรงพยาบาลต่างๆ และให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ใน Hospitel และในสถานกักกันผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่มีอาการและผู้มีอาการไม่มาก ใช้การรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนไทยที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการจ่ายยา ยาแพทย์ทางเลือก เพื่อความสอดคล้องกับวิชาชีพแพทย์แผนไทย

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุม เชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคใต้

วันนี้ (4 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสะท้อนปัญหา และ ร่วมจัดทำแผนระดับพื้นที่พัฒนาเป็นแผนระดับชาติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ และคณะเป็นที่ปรึกษาโครงการ 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่นำมาวิเคราะห์ยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำเสนอร่างเข้าสู่การกระบวนการ พิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป เพื่อให้แผนสามารถประกาศใช้ได้ทันตามรอบเวลา ทั้งนี้การประชุมฯ ดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม จำนวน ประมาณ 80คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จำนวน 4ครั้ง ดังนี้ (1) พื้นที่ภาคเหนือ ในวันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564 (2) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 (3) พื้นที่ภาคกลาง ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 (4) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564 

"เครือข่าย We Fair" ยื่นหนังสือ จี้ "กมธ.งบ 65" จัดลำดับความสำคัญงบ ทุ่มนโยบายสวัสดิการสังคมมากกว่าซื้ออาวุธ ด้าน "พิธา" อัด เป็นการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชน-ปชช. ในขณะที่ประเทศดิ่งเหว

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.40 น ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย  และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นตัวแทนรับหนังสือจากเครือข่าย We Fair เพื่อขอให้กรรมาธิการงบประมาณฯจัดลำดับความสำคัญในนโยบายสวัสดิการสังคม ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ประกันสังคม ที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนเด็ก บำนาญประชาชนมากกว่านโยบายที่ไม่ใช่ลำดับความสำคัญ เช่น งบประมาณการจัดซื้ออาวุธ

โดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำเครือข่าย We Fair กล่าวว่า งบประมาณ 65 ไม่ตอบโจทย์ 3 ประเด็น ได้แก่

1.ทำไมงบสวัสดิการของประชาชนถึงลดลง 10% ขณะที่ยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 แต่งบราชการยังเพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงบโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ยังคงสูงมากเป็นลำดับที่ 4 แต่กลับมีการปรับลดในส่วนของประกันสังคม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และงบประมาณสปสช. ทำให้มีข้อกังวลว่าจะทำให้มีการปรับลดลงอีกหรือไม่ในวาระที่ 2 

2.การจัดงบครั้งนี้ยังพบวิกฤตการณ์ของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะเงินอุดหนุนประชาชนใน 3 นโยบาย ได้แก่ นโยบายดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี และนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุที่ยังไม่มีการปรับขึ้น รวมถึงเบี้ยนโยบายคนพิการก็ยังเท่าเดิม แต่เงินสวัสดิการราชการกลับมากกว่าสวัสดิการของประชาชน เพราะงบประมาณ 40% ล้วนแต่เป็นเงินข้าราชการที่าจากงบประมาณของประเทศ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับกำลังพล กองทัพ มากกว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาหรือไม่ ซึ่งดูได้จากงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ

3.วิกฤติการณ์โควิดและไม่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงเดินทางมายื่นหนังสือถึงกมธ. เพื่อขอให้พิจารณาและให้ครม.ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่

ด้านนายพิธา กล่าวว่า ยืนยันว่างบประมาณปีนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและไร้สามัญสำนึก มีการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชนกับประชาชนในยามที่ประเทศดิ่งเหว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมไทยว่ายังเป็นแบบไหน เรามีหน้าที่ปกป้องสวัสดิการของประชาชนที่ให้สัญญาไว้ คือ การรีดไขมันเพื่อนำงบของอภิสิทธิ์ชนและงบของทหารมาเป็นกองกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนมากว่าการจัดซื้ออาวุธและกระจายงบประมาณคืนกลับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ต้องถูกตัดงบไป ทั้งนี้จะไปพูดคุยในกมธ.และรัฐบาลถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศให้เขาได้เข้าใจ เพราะเราต้องโอบอุ้มคนเปราะบางให้ใช้ชีวิตต่อไปได้และประเทศไทยต้องฟื้นฟูใหม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่เราต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศเกิดวิกฤตเชื้อโรคที่โจมตีกับทุกคน ดังนั้นชีวิตมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าวัตถุ โดยการจัดงบประมาณปี 65 ให้ความสำคัญกับวัตถุ การก่อสร้าง และการซื้ออาวุธมากกว่าชีวิตประชาชน ทางกมธ.งบประมาณฯ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและสื่อไปถึงรัฐบาลว่าประชาชนไม่ใช่ลูกหนี้ผู้รับใช้ แต่รัฐบาลและข้าราชการเป็นหนี้กับประชาชนเพราะเงินเดือนทุกบาทมาจากภาษีของประชาชน

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่ใส่ใจประชาชน ซึ่งในวาระแรกในชั้นพิจารณารับหลักการ ทางส.ส.ฝั่งรัฐบาลก็อภิปรายอย่างดุเดือด ชี้ให้เห็นความบกพร่องถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แต่ท้ายสุดกลับลงมติรับหลักการ ซึ่งตนคิดว่าเราต้องติดตามในการพิจารณาหลักการในวาระ 2 และจะร่วมกันตรวจสอบต่อไป

"แรมโบ้” จวก “จาตุรนต์" นักการเมืองเสื่อมคุณภาพ บิดเบือนข้อมูลวัคซีน แจงเหตุไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหตุที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของประเทศไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงไปแล้วว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้วัคซีนฟรี

แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนที่จะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันได้เพียงพออย่างแน่นอน ขออย่าตำหนินายกฯ และรัฐบาล เพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมานายจาตุรนต์ ก็เห็นแล้วว่านายกฯ รัฐบาล ทำงานหนัก ทำทุกอย่างเต็มที่ แตกต่างกับคนที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง มีแต่ออกมาตำหนิกล่าวหาคนทำงาน และนายจาตุรนต์ ควรหัดทำตัวเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง อย่าเอาวัคซีนมาตีกินทางการเมือง หรือฝ่ายค้านตกงาน ว่างงานมาก จึงพยายามตีกินเรื่องวัคซีน แต่ประชาชนไม่ได้โง่และเข้าใจรัฐบาลดีและเห็นว่าฝ่ายค้านพยายามให้ข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงมาตลอด ส่วนนายจาตุรนต์ ก็เกาะกระแสบิดเบือนไปด้วยจนกลายเป็นนักการเมืองที่ไร้คุณภาพไปในสายตาประชาชน 

“บิ๊กตู่” เข้าทำเนียบฯ เตรียมประชุม ศูนย์บริการเศรษฐกิจ บ่ายนี้ จับตาเคาะมาตรการ เปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ก.ค.นี้ นำร่องก่อนเปิดรับอีก 9 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า วันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี เข้าทำเนียบรัฐบาล ช้ากว่าปกติ เมื่อเวลา 10.00 น.และเตรียมเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564  หรือ ศบศ.ในเวลา 13.30 น. โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดและความคืบหน้ามาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ 

นอกจากนี้จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการซื้อการลงทุนด้านอสังหาฯของชาวต่างชาติซึ่งต้องเป็นสมาชิกบัตรไทยแลนด์ Elite Card ภายใต้โครงการ Elite Flexible Program ขณะเดียวกันจะปรับปรุงระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและดึงดูดการลงทุน ที่สำคัญ ที่ประชุมจะพิจารณาแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่อง 10 จังหวัด ในไตรมาสที่ 3และ 4 โดยนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาและรับทราบแผนที่การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วรวมถึง เช่น ไม่กักตัวนักท่องเที่ยวหากฉีดวัคซีนครบโดส โดยแสดงหลักฐานใบรับรองการรับวัคซีน โดยหมายกลุ่มแรกที่จะเดินทาง เข้ามาท่องเที่ยว คือ กลุ่มยุโรป อเมริกา เป็นหลัก ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถึง 129,000 คน  ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศใกล้เคียงต้องจับตาดูนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่ง ททท.จะประเมินสถานการณ์ในทุกๆ เดือน 

ส่วนอีก 9 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยว สมุย กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน ชะอำ บุรีรัมย์ และ กทม. ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวก็ต้อง ดู ภูเก็ตโมเดล ก่อน  พร้อมกันนี้ ททท. จะรายงาน แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งโครงการเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย ที่จะเริ่มในกลางเดือน ก.ค.นี้

จับตา ศบศ. ออกมาตรการประคองการจ้างงานใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) วันที่ 4 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณามาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอาจเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยาก และกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม  

ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แล้วได้ข้อสรุปในแนวทางร่วมกันว่ามาตรการที่จะออกมาจะเป็นลักษณะของการช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงานหรือการช่วยจ่ายเงินเดือน ซึ่งล่าสุดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่า จะช่วยเหลือในสัดส่วนเท่าใดของเงินเดือน รวมทั้งระยะเวลาการจ่ายด้วย  

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีหลักการที่สำคัญคือ เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่ เป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือไม่ได้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด และเป็นกิจการหรือธุรกิจที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

พล.อ.ประวิตร ติดตาม เร่งรัด แก้ประมงผิดกม. "IUU Fishing" สั่งบังคับใช้กม.ต่อเนื่อง ปราบปรามค้ามนุษย์ ภาคประมง เร่งเยียวยาผู้กระทบโควิด-19 ย้ำปฏิบัติตาม MMPA เคร่งครัด มุ่งยกระดับประมงไทย สู่สากล ส่งเสริมภาคส่งออก กระตุ้นศก.ไทย

เมื่อ 4 มิ.ย.64  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า เวลา10.00น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สมช. ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิด กม. อาทิ การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน จากการสำรวจเมื่อ 20 พ.ค.64 มีจำนวน 56,087 ลำ ซึ่งกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานหลักจะดำเนินการตรวจวัด และจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงพื้นบ้านให้แล้วเสร็จใน 31 พ.ค.64 รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าแนวทางตามมาตรการ MMPA (Marine Mammal Protection Act) ซึ่งเป็นการควบคุมสินค้าประมง ที่ไม่มีแหล่งมาจากการทำประมง ที่มีผลกระทบต่อการคร่าชีวิต หรือทำให้บาดเจ็บอย่างรุนแรง แก่สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม และจะส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 พร้อมทั้งได้รับทราบ ผลการช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ทำการประมง จำนวน 188,134 ราย เป็นเงิน 2,822,010,000 บาท และขยายเวลาชั่วคราว แรงงานต่างด้าวภาคประมง ให้อยู่ในราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นธรรม

คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบ แผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2563-2565 โดยมุ่งจัดการประมงให้ยั่งยืน ภายใต้ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (NPOA-IUU) ฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม และครอบคลุมกิจกรรมการทำประมงทะเล ทุกมิติ พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการ เร่งรัดดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วย การทำประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อให้ได้ผลทางคดี ที่มีความรวดเร็ว และเป็นธรรม

พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำว่ารัฐบาล ยืนยัน ความมุ่งมั่นที่จะต่อต้าน IUU Fishing มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบ EU และสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการทำประมงของไทยสู่มาตรฐานสากล โดยมุ่งแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน และได้กำชับ กรมประมง,กรมเจ้าท่า,ศรชล.,สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการทำงาน อย่างแน่นแฟ้น ขับเคลื่อนนโยบายตามมติที่ประชุม และแผนงานที่กำหนดไว้ ให้บรรลุผลสำเร็จ พร้อมขอให้สร้างการรับรู้ ให้ทุกภาคส่วน ได้รับทราบ ซึ่งจะส่งผลดี ต่อภาพลักษณ์ของไทย และส่งเสริมภาคการส่งออก รองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top