Saturday, 11 May 2024
Hard News Team

ออมสินเปิดให้เริ่มพักหนี้ได้ทุกประเภทรับโควิด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ เตรียมเปิดให้ลูกหนี้สินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย ที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้แบบสมัครใจ ด้วยการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปถึง 31 ธ.ค. 64 ตามมติของครม. ที่ได้เห็นชอบไปในครั้งล่าสุด

ทั้งนี้หากลูกหนี้รายใดมีความจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ธนาคารพร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี  โดยสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกแผนการชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo  ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.- 30 มิ.ย. 64 ส่วนลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้เกิน 10 ล้านบาท สามารถติดต่อดำเนินการที่สาขาของธนาคาร   

นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปพลิเคชั่น MyMo และมีความต้องการสินเชื่อขอยื่นสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ได้ ซึ่งวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุด 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

ระยะแรกจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปฯ MyMo จำนวน 9.2 ล้านคน เข้ามาขอสินเชื่อได้ก่อน จากนั้นจะให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และค่อยขยายเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่มีแอพ MyMo เข้ามาลงทะเบียนได้เป็นกลุ่มสุดท้าย โดยคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน  

จุรินทร์ ฟันธง! รัฐบาลมุ่งแก้โควิด ส่วนการเมืองยังไม่วิกฤต ย้ำรัฐบาลต้องตระหนักไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อปัญหาทางการเมืองผ่อนเบาลง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองบ้านเมืองปัจจุบัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่าตนมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นปกติที่การเมืองจะนิ่ง 100% ในทุกสถานการณ์เป็นไปไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน ขัดแย้งกันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้ามองในภาพรวมประเทศของเราเผชิญกับ 3 ปัญหา (1.) โควิด (2.) เศรษฐกิจ (3.) การเมือง ทั้ง 3 ปัญหานี้สัมพันธ์กันและเป็นเรื่องปกติ หลายประเทศในโลกก็เจอทั้ง 3 ปัญหานี้อยู่ที่ว่าเราจะคลี่คลายสภาพปัญหาในรูปแบบไหน

ที่ผ่านมาเรื่องโควิดรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ มีความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีนที่ประชาชนอยากเห็นว่ารัฐบาลจะตัดสินใจทางไหน ขณะนี้สัญญาณชัดอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของคนจำนวนมาก คือ เปิดโอกาสให้เอกชนทำได้สามารถนำเข้าวัคซีนได้ด้วยเพื่อผ่อนแรงของภาครัฐ คิดว่าหลายฝ่ายก็เห็นสอดคล้องกัน

"ในเรื่องของเศรษฐกิจรัฐบาลก็พยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหา เมื่อวานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือกับทุกภาคส่วนที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในส่วนที่ผมรับผิดชอบการส่งออกตัวเลขดีขึ้นเป็นลำดับ เดือนมกราคมเป็นบวก เดือนมีนาคมบวก 8.47% และเชื่อว่าเดือนเมษายนก็ยังเป็นบวกอยู่ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในทางเศรษฐกิจที่เห็นภาพชัดเจน ส่วนปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไปเพราะมีความเห็นที่หลากหลายไม่ตรงกันอยู่ ไม่คิดเป็นวิกฤติ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนพูดอยู่เสมอ รัฐบาลต้องตระหนักอะไรที่เป็นเงื่อนไขก็อย่าไปสร้างเงื่อนไขหรือไปทำให้เป็นเงื่อนไข รวมถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถปลดเงื่อนไขให้หมดไปทีละข้อสองข้อปัญหาทางการเมืองก็จะผ่อนเบาลง แต่ถ้าจะหมดคงไม่หมด" นายจุรินทร์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ (วานนี้) นายจุรินทร์ กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้นไม่สามารถที่จะทำเป็นอย่างอื่นได้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะอันนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตนไม่อยู่ในฐานะที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐเพราะเป็นส่วนที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของพรรคพลังประชารัฐ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำที่สุดรอบ 22 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยอยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค.2541 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยระลอกใหม่ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนล่าช้า 

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม และต่อไปนี้คงต้องดูต่อว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ รวมถึงปัญหาการจ้างงานในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังได้สำรวจดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตในช่วงเดือนเม.ย. พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 30.6 ต่ำสุดในประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจเดือนพ.ค.49 มาเช่นกัน เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ความคาดหวังความสุขในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 37.3 ห่างไกลจากค่าดัชนีมาตรฐานระดับ 100 อย่างมาก และเป็นค่าที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน 

ก.แรงงาน รับมอบผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท ไบ่ ลี่ ฯ นำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่สู้โควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบขนมจำนวน 4,000 ลัง จากบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งเป็นข้าวผัดอบกรอบผสมผักและผลไม้อบแห้ง ตรา ว่าง ว่าง รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,000 ลัง คิดเป็นมูลค่า 2,826,200 บาท จาก นางสราญจิตร หวัง กรรมการผู้จัดการบริษัท เป็นผู้ส่งมอบ โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่เสียสละ ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ต่อไป 

โดยนางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและประชาชนทั่วไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่านสุชาติ ชมกลิ่น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม บูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจโควิด+19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ได้เปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก อีกครั้ง ระหว่างวันที่ 5-11 พ.ค.นี้ 

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้มารับมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เพื่อให้กระทรวงแรงงานนำไปส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่เสียสละ ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ต่อไป

“ครูกัลยา” เตรียมเปิดหลักสูตร “ชลกร” รุ่น 1 มอบทุนเรียน-อยู่ฟรี นำร่อง ปวส. 5 วษท. มั่นใจหลักสูตรทันสมัยใช้ได้จริง หลังได้ผู้เชี่ยวชาญน้ำระดับสากลร่วมพัฒนาหลักสูตร 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมเปิดหลักสูตร “ชลกร” รุ่น 1 นำร่องปวส. 5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) พร้อมมอบทุนเรียนฟรี-อยู่ฟรี เดินหน้าพลิกโฉมอาชีวะเกษตร หลังนักศึกษาอาชีวะสมัครเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจหลักสูตร “ชลกร” ทันสมัยใช้ได้จริง หลังได้ผู้เชี่ยวชาญน้ำระดับสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมพัฒนาหลักสูตร เรียนจบสามารถต่อปริญญาตรีและเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณ พนิช) เปิดเผยว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) เตรียมจะเปิดรับนักศึกษา ระดับ ปวส. ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สาขาวิชา ช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ประจำปีการศึกษา 2564 ถือเป็นหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 ซึ่งจะเปิดสอนในเดือนมิถุนายนนี้เป็นปีการศึกษาแรก โดยจะเริ่มสอนพร้อมกันใน 5 วิทยาลัยนำร่อง ประกอบไปด้วย

1.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม

2.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

3.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร

4.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ และ

5.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และจะขยายไปทุกวิทยาลัยที่มีความพร้อมในปีการศึกษาต่อไป 

สำหรับหลักสูตร “ชลกร” นี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมช่วยกันพัฒนาหลักสูตรจนสำเร็จ โดยในรุ่นที่ 1 นี้ นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนฟรี งดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร (2 ปี) แล้ว ยังมีที่พัก (หอพักในวิทยาลัย) ให้นักศึกษาทุกคนอยู่ฟรี (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวิทยาลัย) ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ขยัน อาชีวะเกษตรและเทคโนโลยีพร้อมเปิดโอกาสให้กับทุกคน เรียกว่า เรียนฟรี อยู่ฟรี จนจบการศึกษา

“คุณหญิงกัลยา ย้ำเสมอว่าการเกษตรเป็นหัวใจของแผ่นดิน และ “น้ำ” นับเป็นต้นทางแห่งการเกษตรและชีวิตของคนไทย ไม่ว่าบ้านเมืองเราจะเผชิญอยู่ในวิกฤตและอยู่ในยามปกติสุขก็ตาม อีกทั้ง “น้ำ” ยังเป็นสายธารแห่งความยั่งยืนของชีวิต เราจึงต้องสร้าง “ยุวชลกร” ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ เมื่อชลกรเกิดเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งและเติบโตยั่งยืน” นางดรุณวรรณ กล่าว

โดยหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 จะเปิดรับสมัครนักศึกษา ระดับ ปวส. สาขาวิชาช่างกลเกษตร สาขางานบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ประจำปีการศึกษา 2564 โดยผู้สมัครจะได้รับการสนับสนุนดังนี้ 1.ได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียน โดยได้รับการงดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 2 ปี” จากดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 2.ได้รับสวัสดิการหอพักฟรี ภายในวิทยาลัย โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้เมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรชลกร แล้วสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร, สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, สาขาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ และสามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่คุณหญิงกัลยา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งกำกับดูแลอาชีวะเกษตรและเทคโนโลยี มีการผลักดันนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

ไทยติดเชื้อ 1,911 ราย ดับ 18 ราย ข่าวดี วันนี้คนหายป่วย มากกว่าคนป่วย เร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน สัปดาห์ละ 2.6 หมื่นราย ยัน ตั้งศูนย์บูรณาการฯไม่ซ้ำซ้อนศบค. ปรับเวลาแถลงข่าวประจำวัน เป็น 12.30 น.

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,911 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,902 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,749 ราย  มาจากการค้นหาเชิงรุก 153 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 76,811 ราย หายป่วยสะสม 46,795 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วยถึง 2,435 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกัน ทำให้มีเตียงว่างมากขึ้น อยู่ระหว่างรักษา 29,680 ราย อาการหนัก 1,073 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 356 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 18 ราย อยู่ใน กทม. 6 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 13 ราย มี 1 รายที่อายุ 100 ปี สาเหตุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 336 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 155,820,246 ราย เสียชีวิตสะสม 3,255,270 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. ได้แก่ กทม. 739 ราย นนทบุรี 273 ราย สมุทรปราการ 143 ราย ชลบุรี 76 ราย สมุทรสาคร 65 ราย และถ้าดูเฉพาะตัวเลข กทม.และปริมณฑล ยังไม่น่าไว้วางใจ กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ตลาด โดยศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ซึ่งดูแนวโน้มแล้วยังสูงขึ้น โดย 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ และบางแค โดยในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง บางแค โดยเฉพาะชุมชนบ้านขิง ที่ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -  1 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในเขตดังกล่าว จำนวน 1,413 ราย พบติดเชื้อ 68 ราย คิดเป็น 4.8% และยังมีท่าปล่อยรถเมล์ที่มีพนักงาน 100 คน พบติดเชื้อ 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อพนักงาน 70 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล ซึ่งพนักงานเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังชุมชนบ้านขิงที่มีประชากรกว่าพันคน โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. มีการรับแจ้งว่าคนในชุมชนพบเชื้อ 30 ราย วันที่ 30 เม.ย.พบเชื้ออีก 24 ราย วันที่ 3 พ.ค. มีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนพบติดเชื้ออีก 25 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแล้ว จำนวนที่พบจากการตรวจเชิงรุกถือว่าน้อยกว่าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จึงคุยกันว่าต้องเพิ่มการตรวจเชิงรุกหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ทั้งสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และห้างสรรพสินค้า รวม 49 แห่ง 69 ครั้ง ตรวจไปแล้ว 42,251 ราย พบติดเชื้อ 1,677 ราย คิดเป็น 3.97% และยังรอผลอีก 559 ราย โดย กทม.มีแผนตรวจเชิงรุกให้ได้ 26,850 รายต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการตรวจเชิงรุกในคลัสเตอร์สำคัญ 8,300 รายต่อสัปดาห์ เฝ้าระวังเชิงรุกใน 6 โซน กทม. วันละ 3,000 ราย หรือ 15,000 รายต่อสัปดาห์ การสุ่มตรวจในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 250 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 1,750 รายต่อสัปดาห์ และการตรวจในสถานกักตัวของรัฐ ที่มีการจัดเป็นที่พักให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแยกตัวออกมาอยู่ในโรงแรม 3 แห่ง คือ โรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์ โรงแรมมายโฮเทล ห้วยขวาง และโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท วันละ 600 คนต่อวัน หรือ 1,800 รายต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน จะมีการจัดเตรียมเตียงรองรับไว้ให้ได้ 1,343 เตียงต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับคนที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19

เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการ 3 ชุดที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับงานของศบค. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. ได้ชี้แจงในที่ประชุมให้เห็นภาพของความเชื่อมโยงการทำงานกับศบค.ที่มีนายกฯเป็นผอ.โดยเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานเพื่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือเป็นส่วนหนึ่งในศบค. ทำงานประสานงานเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาสู่การบริหารจัดการในระดับที่นายกรัฐมนตรีจะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลเป็นรายวันโดยเร็วเพื่อบริหารสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับภาคส่วนอื่นๆก็ยังดูแลกันเหมือนเดิม 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในช่วงท้ายว่าขอย้ำว่าตั้งแต่ วันที่ 7 พ.ค. เป็นต้นไปศบค. จะบูรณาการงานด้านการข่าวเพื่อสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน เพื่อนำชุดข้อมูลที่มีจำนวนมากกลั่นกรองก่อนนำเสนอ โดยทีมโฆษกศบค. จะได้ช่วยกันชี้แจงทั้งข้อเท็จและข้อจริง ที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ โดยตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป จะมีการปรับเวลาแถลงข่าวของ ศบค.เป็นเวลา 12.30 น. เนื่องจากในช่วงเช้าจะมีการประชุมหลายคณะ ต้องใช้เวลาสรุปก่อนนำมาแถลงต่อประชาชน นอกจากนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะตอบคำถามผ่านไลฟ์สดในบางวัน

รมว.พม. ลงพื้นที่ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กทม. ช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้านนายกฯ กำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด

วันนี้ 6 พฤษภาคม 2564 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กรุงเทพฯ เพื่อพบปะให้กำลังใจเครือข่ายกระทรวง พม. และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 200 ชุด พร้อมเวชภัณฑ์ป้องกันการแพร่รระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่ผู้แทนศูนย์ฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19  โดยมี นายอนุกูล  ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อธิบดี พส.) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงพื้นที่บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกัน 

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ หน่วยงานของรัฐบาลและกระทรวง พม. มาช่วยกันระดมการดูแลในเขตกรุงเทพฯ โดยเราต้องการให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลตั้งใจและไม่ประมาท ซึ่งเราลงพื้นที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19  และวันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดสะพาน โดยท่านเจ้าอาวาส และตัวแทนชุมชนเป็นอย่างดี จะเห็นว่าภาคประชาชนได้นำความช่วยเหลือมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวง พม. และรองอธิบดี พส.  มาร่วมกันทำงานกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือประชาชน นอกจากชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังมีชุมชนอื่นที่เราจะต้องเข้าไปดูแล  และขอให้มั่นใจว่าเราจะทำงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่แห่งนี้ได้แล้ว เราจะต้องพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ตนเห็นว่าประชาชนมีความพอใจและมั่นใจกับความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยและการบริการดีขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทำให้ทุกคนแบ่งหน้าที่กันหมด ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าปัญหาที่เคยติดขัดในช่วงแรก ได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยหน้าทั้งแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ และ อพม. ของชุมชน ที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ในส่วนของกระทรวง พม. ทำหน้าที่เป็นตัวเสริม เรามีความใกล้ชิดกับชุมชน เพราะทำงานกับชุมชนมานาน และมีองค์กรที่เข้าใจสามารถสื่อสารกับประชาชนได้รวดเร็ว ในเรื่องการรักษาพยาบาลและอนามัยเป็นหน้าที่ของแพทย์ โดยเราจะคอยประสานให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างหลังกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและกำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด และขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ 

“บิ๊กช้าง” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมเร่งเหล่าทัพ เข้าไปสนับสนุนศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อควบคุมจำกัด COVID ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เหล่าทัพ กอ.รมน.และ ตำรวจ ผ่านระบบทางไกล โดยในที่ประชุมได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน เร่งเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ได้ย้ำขอให้ทุกส่วน ร่วมถึงเหล่าทัพ สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้นำกำลังพลและทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนการบริหารจัดการคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะชุมชนแออัดในหลายพื้นที่ พร้อมกับช่วยติดตามตรวจสอบข่าวสารที่มีการบิดเบือนและอาจสร้างความสับสนกับประชาชนซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้น โดยขอให้สนับสนุนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนในมาตรการที่ศูนย์กำหนด พร้อมทั้ง ขอให้ทาง ตำรวจเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ในภาพรวม 

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ภาพรวมการสนับสนุนที่สำคัญของ กห.โดยทุกเหล่าทัพ อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ กับ สาธารณสุข เพื่อสนับสนุนจัดทำ รพ.สนาม เพิ่มให้มีเพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้จัดกำลังพลสายแพทย์สนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข ในการรับและบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่แจ้งผ่านสายด่วน และจัดยานพาหนะรวมการ สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ตกค้างในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาแล้ว รวม 659 ราย  ขณะเดียวกัน  กองทัพบก ได้เข้าไปช่วยเหลือเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนการจัดตั้ง รพ.สนาม และการบริหารจัดการทางการแพทย์เชิงรุก เพื่อควบคุมและคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในสถานควบคุมดังกล่าว

หอการค้า ระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือน มี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 จาก 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 จาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.7 จาก 57.7ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ, รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นและมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8%

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ "เราชนะ" "ม.33เรารักกัน" "คนละครึ่ง" "เราเที่ยวด้วยกัน" ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.47% ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกส่งออกโต 2.27%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการ Lockdown ในจังหวัดต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด จะคลี่คลายลงเมื่อไร และจะมีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วแค่ไหน จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้  และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0.0-1.5% ได้”

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในปากีสถาน เผยหน่วยงานท่องเที่ยวท้องถิ่น สั่งยกเลิกการจองโรงแรมทุกประเภท ตั้งแต่ 8-16 พ.ค. 64 ทั้งที่เป็นช่วงไฮ-ซีซัน โอดกระทบรายได้หนัก แถมไม่ได้รับการเยียวยา เหตุไม่อยู่ในโซนระบาด

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวชาวไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pakistan By Lukpla:เพราะลูกปลารัก..ปากี’ โดยระบุว่า

หน่วยงานการท่องเที่ยว Gilgit-Baltistan สั่งให้เจ้าของโรงแรมใน Gilgit-Baltistan ยกเลิกการจองทุกประเภทในช่วงวันที่ 8 พฤษภาคมถึง 16 พฤษภาคม

ถ้าเป็นที่ไทย จะเป็นยังไงน้อ??

ทั้งที่โซนนี้ไม่มีโควิด และเป็นช่วงที่ที่พักจองยากมากในช่วง Eid บางที่ปลาจองมา 3 เดือน !!

นี่คือช่วงไฮที่สุด โรงแรมเต็มทุกที่ ร้านอาหารด้วย บางคนไม่มีที่พักต้องนอนในรถ

แต่ปีนี้จบด้วยการปิดเมือง...เข้าปีที่ 2 ละ

อย่าคิดว่าโซนที่ไม่มีโควิด จะไม่มีผลกระทบนะคะ และเพราะเราไม่มีโควิด รัฐบาลไม่เคยช่วยเยียวยาอะไรโซนเราเลย

น้องชายบอกว่า ถ้าร้านปิด เราก็เอามันฝรั่งมาต้มกิน กันตาย (เพิ่งปลูกไปได้ไม่กี่วัน มันยังไม่ขึ้นเล๊ย 55)

เป็นช่วงที่พวกเรามั่นใจว่าจะมีทัวร์ จะมีงานล้นที่ร้านอาหาร เป็นช่วงเฉลิมฉลอง

เป็นช่วงที่ปลาคิดว่าจะได้เก็บเงินไว้ให้ลูกช่วงคลอด โธ่เว๊ยชีวิต!!!

Gilgit-Baltistan Tourism Department directs the hotel owners in Gilgit-Baltistan to cancel all kinds of booking for the period May 8 to May 16.


https://www.facebook.com/lukpla.in.pakiii/photos/a.248223898855059/1455624551448315/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top