Sunday, 19 May 2024
อนุดี เซียสกุล

รู้จัก ‘ริชชี่ สุนัค’ นายกฯอังกฤษคนใหม่ หลังก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม

อนุดี เซียสกุล

นายริชชี่ สุนัคได้รับเลือกจากส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟด้วยคะแนนเสียงเกือบ ๒๐๐เสียงให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายนนี้และเขาจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนางเอลิซาเบธ ทรัสส์ที่ลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

ในตอนบ่ายสองโมงของวันจันทร์ตามเวลาในลอนดอนซึ่งเป็นเส้นตายของการเสนอชื่อผู้เข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ (อนุรักษ์นิยม)คนใหม่ นายริชชี่ได้คะแนนเสียงจากส.ส.ร่วมพรรคของเขา ๑๙๓ คนจากจำนวนส.ส.ทั้งหมด ๓๕๗ คนจำนวนนี้จากการสอบถามของบีบีซีและจากกการประกาศของส.ส.เหล่านั้นด้วยตนเอง ส่วนผู้สมัครอีกคนหนึ่งคือนางเพนนี มอร์ด้อน ได้เพียง ๒๖ เสียงเท่านั้น

ตามกฎของการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในครั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องได้เสียงจากส.ส. พรรค ๑๐๐ คน ด้วยเหตุนี้จึงจะมีผู้สมัครได้เพียงสามคนเท่านั้น ก่อนหน้าที่นายริชชี่จะประกาศลงชิง ฝ่ายทีมของเขาได้เปิดเผยรายชื่อส.ส.ที่หนุนเขาว่ามีอยู่เกิน ๑๐๐ คนแล้ว และนางเพนนีมีอยู่ราว ๒๐ กว่าคน ส่วนค่ายนายบอริส จอนห์สันก็อ้างว่าตนมีอยู่ ๕๐ กว่าคน แต่ในที่สุดนายบอริสก็ประกาศไม่ลงชิงตำแหน่ง

เมื่อนางเพนนีได้เสียงไม่ถึง ๑๐๐ ตามกำหนดเธอได้ประกาศถอนตัวและหันมาสนับสนุนนายริชชี่ ตามกฎของพรรคเมื่อเหลือผู้สมัครอยู่เพียงคนเดียวเขาก็คือผู้ชนะ  คือนายริชชี่ สุนัค

นายริชชี่ไม่ใช่ผู้ชิงชัยหน้าใหม่ ก่อนหน้านั้น ๔๕ วันเขาคือผู้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟกับนางลิซ ทรัสส์ แต่นางทรัสส์ชนะจากการเลือกของสมาชิกพรรคคอนเซอเวทีฟที่อยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คน( อย่างไรก็ดีก่อนที่จะให้สมาชิกพรรคออกเสียงเลือกนั้น นายริชชี่ ชนะได้เสียงจากส.ส.ในพรรคมากกว่านางทรัสส์) การส่งมอบอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่อ่าจจะใช้เวลาระยะหนึ่งเมื่อโฆษกทำเนียบนายกฯแถลงว่าอาจจะไม่ใช่ในวันจันทร์นี้เพราะอดีตนายกฯ นางทรัสส์ต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ก่อน

ริชชี่ สุนัค คือใคร

บิดาของเขาเป็นหมอและมารดาเปิดร้านขายยาทั้งคู่ย้ายมาจากอัฟริกาตะวันออกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษและเป็นคนอินเดีย ริชชี่เกิดที่เซ้าท์แฮมตัน, เรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด,สหรัฐอเมริกา สมรสกับนักธุรกิจหญิงชาวอินเดียชื่อ Akshata Murthy  และมีบุตรสองคน ครอบครัวภรรยาของเขามีธุรกิจซอฟท์แวร์(Infosys ให้บริการในกว่า ๕๐ ประเทศ)ที่รำรวยอย่างมหาศาลในอินเดียและนี่เป็นจุดอ่อนที่เขามักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าภรรยาของเขาไม่เสียภาษีให้กับประเทศอังกฤษซึ่งที่จริงสามารถทำได้ และเพื่อกลบเสียงวิจารณ์นั้นต่อมาเธอได้ยอมเสียภาษีบางส่วนให้กับอังกฤษ เดอะซันเดย์ไทม์ลงรายชื่อของสามีภรรยาคู่นี้ว่ารำรวยโดยมีทรัพย์สินราว  ๗๓๐ ล้านปอนด์ 

ก่อนที่จะมาเล่นการเมือง ริชชี่ สุนัค เคยทำงานให้กับบริษัท โกลด์แมน แซค และบริษัทกองทุนรวมอื่นอีกสองแห่ง  นอกจากจะถือสัญชาติอังกฤษแล้ว เขายังมีกรีนการ์ดของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เส้นทางการเมืองของริชชี่ สุนัค ก้าวหน้ารวดเร็วที่เดียวเขาได้รับเลือกเป็นส.ส. ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ในเขตริชมอนด์,ยอร์คเชียร์เหนือ  แลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยนายบอริส จอนห์สันเป็นนายกฯ และในปลายเดือนตุลาคมปีนี้เขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่มีเชื้อสายอินเดีย

ในคำแถลงครั้งแรกหลังจากประกาศผลว่าเขาชนะการเลือกหัวหน้าพรรคทอรี่ นายริชชี่บอกว่า

"It is the greatest privilege of my life to be able to serve the party I love and give back to the country I owe so much to."  นับว่าเป็นเกียร์ติอย่างยิ่งในชีวิตของข้าพเจ้าที่ได้ทำงานให้กับพรรคที่ข้าพเจ้ารักและได้ตอบแทนประเทศที่มีบุญคุณอย่างเหลือล้น (ส่วนหนึ่งของคำปราศรัย)

"We now need stability and unity and I will make it my utmost priority to bring our party and our country together." ขณะนี้เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกข้าพเจ้าที่จะนำพรรคของเราและประเทศของเราให้ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่านายริชชี่ สุนัค ขณะนี้อาจจะดูว่าเป็นผู้ที่จะเข้ามาประสานรอยร้าวภายในพรรคคอนเซอเวทีฟและด้วยความหวังที่จะอุดรอยรั่วของเรือเศรษฐกิจของประเทศ จากนโยบายทางด้านภาษีที่เขายืนหยัดในระหว่างที่ต่อสู้กับนางทรัสส์เมื่อสองเดือนที่แล้ว แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่านายริชชี่จะสามารถนำประเทศให้ไปถูกทิศทางได้จริงเพียงใดก็ต้องคอยดูในนโยบายงบประมาณ mini-budget ที่รมต. คลังจะประกาศในวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้ ซึ่งถ้านโยบายนี้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย นายริชชี่ก็คงจะรอดพ้นสามารถทำงานต่อไปได้ แต่ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น มาฟังพรรคฝ่ายค้านเขาให้ความคิดว่าอย่างไรกับการเข้ารับตำแหน่งของเขา

การเมืองอังกฤษเคลื่อนไหว หลัง 'ลิซ ทรัสส์' ลาออก พรรคคู่แข่งแง้ม!! คืนอำนาจเลือกตั้งให้ประชาชน

นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษประกาศลาออกเมื่อวานนี้ 20 ตุลาคม 2565 และจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ภายในวันศุกร์หน้านี้ หลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 5 กันยายนและเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 กันยายนปีนี้ 

นางลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศคือ เพียง 45 วัน

สาเหตุที่ทำให้เธอต้องลาออกก็เพราะ "พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เลือกข้าพเจ้าเข้ามาภายใต้อาณัติที่มอบหมายให้ลดภาษีและกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ" และเนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ “ข้าพเจ้ายอมรับว่าไม่สามารถที่จะทำตามสิ่งที่ได้รับการมอบหมายตามที่พรรคได้เลือกข้าพเจ้าเข้ามาได้ ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและกราบทูล ให้ทรงทราบว่าข้าพเจ้าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ”

(ระบบพรรคคอนเซอเวทีฟ คือ ถ้าพรรคเป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย)

หลังจากนั้นเธอได้พบหารือกับเซอร์เกรแฮม บราดี ประธานคณะกรรมการ 1922 (ผู้ที่ ส.ส. ภายในพรรคจะปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ของพรรค) และตกลงกันว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในวันศุกร์หน้า และเธอจะรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นางทรัสส์ต้องลาออก ก็เพราะนโยบายการลดภาษีของเธอในระหว่างที่หาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ตกฮวบกับอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างมาก และเมื่อมีเสียงต่อต้านกับแผนการลดภาษีของเธอ เธอก็กลับลำไม่ลดภาษีตามที่เคยประกาศไว้ เธอต้องปลดรัฐมนตรีคลังเพื่อนสนิทไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และเมื่อวานรัฐมนตรีมหาดไทยก็ประกาศลาออก บวกกับลูกพรรคคอนเซอเวทีฟบางกลุ่มก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เธออยู่อีกต่อไป

นายกฯ อังกฤษ อาจไม่ได้ไปต่อ หลังกระแส ‘จบ’ หนาหู ขึ้นอยู่กับเวลา

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล

“Credibility is one of the most prized assets in politics.
When it drains away, dredging it back is difficult, often impossible.”
Chris Mason, Political editor, BBC News

ผู้เขียนขอยกข้อเขียนของนายคริส เมสัน บรรณาธิการข่าวการเมืองของบีบีซีมาเริ่มต้นเรื่องอนาคตของนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพราะมันเป็นสัจธรรมทางการเมืองที่แน่นอนที่สุด 

นายคริส เมสันบอกว่า “ความน่าเชื่อถือ คือสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดในทางการเมือง หากว่ามันได้สูญหายไปแล้ว ก็ยากยิ่งนักที่จะดึงมันกลับคืนมาและบ่อยครั้งที่ยากที่จะเป็นไปได้”

Credibility หรือความน่าเชื่อถือในตัวนางลิซ ทรัสส์ กระทบกระเทือนอย่างนัก เมื่อเธอได้ปลดรัฐมนตรีคลังนาย กวาซี กวาร์เทง (Kwasi Kwarteng) ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากแผนงบประมาณที่เรียกว่า mini-budget ที่นายกวาร์เทงประกาศออกมาในปลายเดือนที่แล้ว ถูกตำหนิติเตียนอย่างหนักว่าไม่สมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นนางลิซ ทรัสส์ จึงต้องกลับลำเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเรื่องภาษี เช่น กลับลำในเรื่องการเก็บภาษีนิติบุคคลที่เธอประกาศแต่แรกว่าจะไม่ขึ้น แต่พอโดนวิจารณ์หนักเธอก็บอกว่าต้องขึ้น หรือเรื่องภาษีเงินได้เป็นต้น

ที่จริงการเปลี่ยนแผนในเรื่องภาษีนั้นรัฐ อาจสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ในเวลาแค่ไม่ถึงเดือนที่เธอเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะไม่เพียงแต่ตลาดเท่านั้นที่หวั่นใจในการเปลี่ยนแปลง แต่บรรดาลูกพรรคที่เป็นส.ส. ของพรรคคอมเซอร์เวทีฟเองก็พลอยวิตกกังวลไปด้วย เพราะมันหมายถึงอนาคตในการเลือกตั้งของพวกเขาต่อไปด้วย

คริส เมสัน บอกว่าแม้เธอจะฉลาดในการตั้งนายเจเรมี่ ฮันท์ เข้ามาเป็นร.ม.ต. คลังคนใหม่เพื่อที่อาจจะสงบปากของกลุ่มนายริชชี่ สุหนักลงบ้าง (นายเจเรมี่ เป็นผู้ที่สนับสนุนนายริชชี่ในระหว่างการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค) แต่ก็มีเสียงจากส.ส. บางคนว่าอาจเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น และบางคนถึงกับพูดว่านายเจเรมี่ คือ นายกรัฐมนตรีตัวจริง ซึ่งเขาได้ปฏิเสธและยืนยันว่านางทรัสส์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว

อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานคำพูดของอดีตรัฐมนตรีของพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนหนึ่งว่า “คนทั่วไปรู้ดีว่า มันจบแล้ว แต่มีคำถามเพียงว่า จะจบอย่างไรและเมื่อไหร่เท่านั้น”

ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า นายกฯ ทรัสส์ จะอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่งอีกได้นานเพียงใด หลังมี ส.ส. กลุ่มเล็กๆ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออก และอีกจำนวนมากอาจจะตามมา

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และเรียกร้องเช่นนี้ ทำเนียบรัฐบาลก็ยังอยู่ในโหมดของการรับฟังเท่านั้น ขณะเดียวกันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์และให้เกิดความชัดเจนในเรื่องภาษีของรัฐบาล ด้านรมต.คลัง หมาดๆ (เจเรมี ฮันท์) ก็ได้แถลงต่อสภาเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.ว่า จะลดหรือเพิ่มในเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็เป็นที่ต้อนรับของ ส.ส. บางคน แต่ธุรกิจบางอย่างก็ไม่ยินดี โดยนโยบายที่แถลงต่อสภานั้น มีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญ ๆ หลายอย่างจากที่นางลิซเคยประกาศไว้

มีการคาดการว่าในสัปดาห์นี้นายกฯ ทรัสส์จะใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกพรรคของเธอเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุน เช่นเดียวกับนายฮันท์ที่จะชี้แจงให้ส.ส. พรรคเข้าใจในแผนการที่สำคัญและยากของเขาที่จะประกาศในปลายเดือนนี้

เมื่อดูสถานการณ์แล้วทั้งนางทรัสส์และนายฮันท์อาจจะทำงานยากอยู่กับเสียงของส.ส.ลูกพรรค แต่ก็ยังมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อมีเสียงจากผู้อาวุโสในพรรคออกมาเตือนว่าควรจะฟังแผนเศรษฐกิจทั้งหมดของ รมต.คลัง เสียก่อน เช่นเดียวกับ ส.ส. รุ่นใหญ่ในพรรคที่ขอให้สงบสติอารมณ์กันลงบ้างและ ส.ส.อีกกลุ่มใหญ่เตือนว่า ให้ดูๆ กันไปอีกหน่อยอย่าวู่วามเกินไป

ทางการเผยสาเหตุการสิ้นพระชนม์ ‘ควีนเอลิซาเบธ’ แจ้งเพียงพระชราภาพเท่านั้น - ไร้ข้อมูลเพิ่มเติม

เรื่อง : อนุดี เซียสกุล

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ ๘ กันยายนที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยสาเหตุของการสิ้นพระชนม์แต่อย่างใดแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าสองวันก่อนที่จะสิ้นพระชนม์นั้น สมเด็จพระราชินีนาถฯยังเสด็จออกให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าเฝ้า

หรือแม้แต่ในวันที่จะสวรรคตแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังที่ออกมาเมื่อตอนเที่ยง : ๑๒.๓๒ น. บอกเพียงแต่ว่าคณะแพทย์มีความกังวลกับพระอาการประชวรแต่ก็บอกว่าสมเด็จพระราชินีนาถฯยังคงสบายดีอยู่ หากแต่หลังจากนั้นเพียงสองชั่วโมงกว่าก็สิ้นพระชนม์

ในที่สุดสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ก็เป็นที่เปิดเผยออกมาในเวลาบ่ายห้าโมงเย็นตามเวลาท้องถิ่นในกรุงลอนดอน ของวันที่ ๒๙ กันยายนโดยผู้สื่อข่าวสายพระราชวังของบีบีซีก็อ้างถึงข้อมูลของ National Records of Scotland ที่เผยแพร่ในมรณะบัตรของสมเด็จพระราชินีนาถฯว่าสิ้นพระชนม์ด้วยอายุขัย cause of death: old age, ในเวลา ๑๕.๑๐ น. ณ ปราสาทบัลมอรัลและผู้ที่แจ้งการสิ้นพระชนม์คือเจ้าหญิงแอนพระราชธิดา

ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นของเขตอาเบอดีนเชียร์ ในสก็อตแลนด์ ที่ปราสาทบัลมอรัลตั้งอยู่รับแจ้งและลงบันทึกในวันที่ ๑๖ กันยายน โดยในบันทึกของใบมรณะบัตรนี้ทำให้รู้ว่า สมเด็จฯเสด็จสวรรคตในตอนบ่าย ๓ โมง ๑๐ นาที และนายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ได้รับแจ้งให้ทราบเป็นการส่วนตัวตอนบ่าย ๔ โมงครึ่ง ต่อจากนั้นสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมได้ออกประกาศการสิ้นพระชนม์อย่างเป็นทางการเมื่อ ๖ โมงครึ่ง

แสดงให้เห็นว่ามีเพียงเจ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงแอนเท่านั้นที่ประทับอยู่ในบัลมอรัล ส่วนเจ้าชายแอนดรู,เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายวิลเลี่ยมเสด็จไปถึงหลังจากที่สิ้นพระชนม์แล้วคือเวลาบ่ายห้าโมงเย็น

อยากจะกล่าว่าในใบมรณะบัตรที่เผยแพร่ออกมานี้เป็นการบันทึกข้อมูลเหมือนเฉกเช่นคนทั่วไป เช่นพระนาม, นามสกุล, อาชีพมีการลงบันทึกว่า Her Majesty The Queen, วันประสูติ, สถานภาพ หม้าย สิ้นพระชนม์ วันเวลา สถานที่ บ้านหรือสถานที่ประทับถาวรบันทึกว่า พระราชวังวินด์เซอร์ สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ คืออายุขัย และมีชื่อแพทย์ยืนยันการสิ้นพระชนม์โดยสำนักพระราชวังระบุชื่อนายแพทย์ ดักราส กร้าส ซึ่งเป็นเภสัชกร

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ถึงพร้อมทั้งสติปัญญา – ประสบการณ์ เชื่อไร้ปัญหา ยุค ‘อังกฤษ’ ผลัดแผ่นดิน

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

“The king is dead, long live the king” พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษผ่านพ้นไปแล้ว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการจับจ้องมองว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะเป็นอย่างไร

แน่นอนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะต้องถูกเปรียบเทียบกับแผ่นดินในยุคสมเด็จพระชนนีในการดำเนินพระราโชบายต่างๆ ซึ่งพระองค์คงได้ตระหนักดีแล้ว ดังนั้นในวันที่สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จึงทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาแนวปฏิบัติเหมือนเช่นที่พระมารดาได้ทรงทิ้งไว้ให้ คือการวางพระราโชบายที่ฉลาดคงเส้นคงวาอย่างไม่มีที่ติตลอด ๗๐ ปีของการครองราชย์สมบัติ

ผู้เขียนคิดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงจะไม่ประสบปัญหาในการดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขพระองค์ใหม่ของอังกฤษเท่าใดนักเพราะ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพระชนม์มายุ ๗๓ ชันษา นับว่าเป็นการขึ้นครองราชย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดของอังกฤษ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้สะสมและเผชิญเรื่องราวต่างๆมาไม่น้อยแล้ว บวกกับความเฉลียวฉลาดของพระองค์เองและการมีพระมารดาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คาดกันว่าในรัชสมัยของพระองค์คงจะราบรื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในระหว่างที่เป็นองค์รัชทายาท พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงปรากฏพระนิสัยที่เรียกกันว่า inveterate interferer and meddler คือ มักที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในประเทศเช่น สิ่งแวดล้อม,การเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม(GM crops), โบราณคดี หรือการก่อสร้างแฟลตสวัสดิการของรัฐบาล เป็นต้น คือทรงเห็นอย่างไรก็ให้ความเห็นออกไปเช่นนั้นถือว่าก้าวก่ายฝ่ายบริหารอันอาจเป็นปัญหาระหว่างสองสถาบัน และด้วยพระนิสัยดังนี้ เมื่อถูกสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซีในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังทรงวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆอีกหรือไม่ “No it won’t.  I’m not that stupid. I do really that it is a separate exercise being sovereign. So of course I understand entirely how that should operate” 

ทรงตอบว่า พระองค์ไม่โง่ที่จะทำเช่นนั้น เพราะทรงตระหนักดีว่าการทรงงานขององค์รัชทายาทและพระมหากษัตริย์นั้นแตกต่างกัน และทรงทราบเป็นอย่างดีว่าควรจะวางพระองค์อย่างไร

เช่นนี้ก็คงทำให้คนหมดสงสัยว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะทรงทำหน้าที่พระประมุขของประเทศเพียงเท่านั้น ส่วนหากมีพระประสงค์ที่จะให้ความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องใดก็สามารถที่จะทำได้ด้วยการสนทนากับนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าประจำทุกสัปดาห์ได้

จับตา!! พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ความยิ่งใหญ่ที่เกินเปรียบและคนดังที่จะถูกคนทั่วโลกมองเห็น

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพระราชพิธีที่ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ใด ๆ ที่ผ่านมาได้

ในกรุงลอนดอน วิหารเวสต์มินสเตอร์ในเวลา ๑๑ โมงเช้าจะเนื่องแน่นไปด้วยแขกที่พระราชวังบักกิงแฮมเชิญจำนวน ๒,๐๐๐ คน นอกจากนี้ยังมีบรรดาแขกระดับสูงจากต่างประเทศอีก ๕๐๐ คนและนายทหารประจำการอีก ๔,๐๐๐ คนและคาดว่าอีกหลายพันล้านคนที่จะชมพระราชพิธีนี้ทางสื่อต่าง ๆ

ลอร่า กุนสเบิร์ก Laura Kuenssburge ผู้ดำเนินรายการดังของโทรทัศน์บีบีซีชื่อ Sunday morning politic show เขียนรายงานของเธอว่า ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์นี้แม้ว่าจะเป็นเวลาของความเศร้าโศกในการไว้อาลัยต่อสมเด็จพระราชินีฯ ที่จากไป แต่ขณะเดียวกันในพระราชพิธีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาประมุขของประเทศ, ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองระดับสูงมาร่วมชุมนุมกันอันมีความหมายว่า นอกจากจะไว้อาลัยต่อประมุขของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกและแทบจะทุกประเทศในโลกรู้จักพระองค์เป็นอย่างดีแล้ว เหตุการณ์ในวันจันทร์นี้ ทุกสื่อจะจับจ้องมาที่กรุงลอนดอนและบุคคลที่มางานนี้ ก็จะถูกมองเห็นไปทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

นักการทูตคนหนึ่งบอกกับลอร่าว่า ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมครั้งนี้อาจพลาดภาพประวัติศาสตร์ของยุคนี้ไปเลย และที่เขาเคยเห็นในการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศต่าง ๆ ในหลายครั้ง ผู้นำบางประเทศจะพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีฯ ให้ใกล้ที่สุด บางคนถึงกับจะสะกิดคนที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ แล้วให้ถอยห่างออกมาเพื่อให้ตนได้เข้าไปแทนที่บ้าง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตที่จะหาใครเปรียบเทียบได้กับพระองค์

ในรายงานข่าวชิ้นนี้ ทำให้เห็นอีกว่าแขกระดับสูงไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีจะเดินทางด้วยรถบัสมายังวิหารเวสต์มินสเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากจำนวนแขกมีมากเกินกว่าจะใช้รถส่วนตัวเฉพาะบุคคลได้ แต่ขณะเดียวกันอาจมีผลดีทางด้านการทูตอยู่ไม่น้อย เพราะบรรดาผู้นำเหล่านี้อาจใช้ช่วงเวลานี้พูดเจรจาความเมืองต่อกันอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่นำไปสู่การเจรจาหลักต่อไปได้

เมื่อดูรายพระนาม และรายนามของแขกที่ตอบรับว่าจะเสด็จหรือมาร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้แล้ว เห็นได้ว่าเป็นการชุมนุมของประมุขของประเทศในยุโรปและเอเชีย และผู้นำประเทศครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์คงได้เห็นบรรดาแขกเหล่านี้

สำหรับแขกคนหนึ่งที่ได้รับเชิญเช่นกันคือ เอิร์ล แห่งสเปนเซอร์ หรือน้องชายของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้ล่วงลับ แม้ว่าอาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทนักกับอดีตพี่เขย คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ 

ส่วนแขกอีกคนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ แองเจลา เคลลี่ ผู้ช่วยส่วนพระองค์และช่างเสื้อพระจำพระองค์เป็นเวลา ๓๐ ปี กล่าวกันว่าแองเจล่าเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ทรงให้ความไว้ว่างใจมากคนหนึ่งหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคนสนิทก็ได้ และแองเจล่าผู้นี้ได้ถวายคำแนะนำเรื่องฉลองพระองค์และพระมาลาจนนำมาสู่จุดเด่นเป็นแฟชั่นและได้รับการยกย่องว่าเธอออกแบบฉลองพระองค์และพระมาลาได้อย่างงดงาม 

นอกจากนี้ ยังมีแขกอีกคนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ นั่นก็คือ จอห์น วอเรน ผู้ที่เป็นทั้งพระสหาย ที่ปรึกษาและผู้จัดการม้าแข่งของพระราชินี

มีการเปิดเผยว่านอกจากจะมีรายชื่อแขกที่ถูกเชิญแล้ว ก็ยังมีรายนามของประเทศที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมไม่เชิญด้วยเช่นกัน อาทิ ผู้นำรัสเซีย, เบราลุส, เมียนมา 

อย่างไรก็ดีได้มีการเชิญผู้นำจีนอย่างนายสีจิ้นผิง แต่ผู้นำจีนก็ได้ให้รองประธานาธิบดีมาร่วมงานแทน เช่นเดียวกันกับเกาหลีเหนือ ที่ส่งเพียงเอกอัครราชทูตมาแทน ขณะที่ประเทศซึ่งถูกจับตามองอย่างมากอีกประเทศหนึ่งคือซาอุดีอาระเบีย โดยพระราชวังบักกิงแฮมได้ทูลเชิญเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานมกุฎราชกุมารผู้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในประเทศ แต่คาดกันว่าเจ้าชายจะไม่เสด็จมา หลังพระองค์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการเสียชีวิตของนักข่าวที่ชอบวิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย

พระราชพิธีสุดท้าย สิ้นสุดรัชสมัย 'สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒' สู่ศักราชใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓' ด้วยพระชนมายุ ๗๓ ปี

ในวันสุดท้ายของพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ให้รายละเอียดกับสื่อมวลว่ามีหมายกำหนดการอะไรบ้าง ซึ่งน่าสนใจอยู่มาก

ผู้เขียนได้อ่านรายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษที่เขียนว่า The State Funeral ครั้งนี้ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมากันเลยทีเดียว

หลังจากการตั้งพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วันให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้าถวายสักการะและอาลัยที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้ว จะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปยังวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ด้วยรถปืนที่เคยใช้เคลื่อนพระบรมศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้าจอร์จที่ ๕ และพระเจ้าจอร์จที่ ๖ มาแล้ว 

ในครั้งนี้จะมีทหารเรือจำนวน ๑๔๒ นาย เป็นคนลากรถปืน (ขอเล่าประวัติการที่ทหารเรือเข้ามามีบทบาทในการลากรถปืนพระบรมศพนี้เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระราชินีวิคตอเรีย โดยดั้งเดิมมักจะใช้ม้าเป็นผู้ลาก แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียขึ้น โดยม้าที่ใช้ลากเกิดตกใจยกขาหน้าขึ้นจนเกือบทำให้หีบพระบรมศพตก ดังนั้นเมื่อใช้ม้าไม่ได้จึงใช้ทหารเรือที่อยู่ในขบวนเข้ามาลากรถปืนพระบรมศพแทนนับตั้งแต่นั้นมาและเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง)

เหมือนเช่นการเคลื่อนพระบรมศพในวันพุธที่ ๑๔ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จะเสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพพร้อมกับเจ้าชายวิลเลี่ยม ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร, เจ้าชายแฮร์รี่ และปีเตอร์ ฟิลิปส์ พระโอรสของเจ้าหญิงแอนน์ ไปยังวิหาร

เนื่องจากเป็นงานรัฐพิธีของประมุขของประเทศ สำนักพระราชวังบักกิงแฮม จึงได้เชิญแขกต่างประเทศมาร่วมในงานด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นพระประมุขและทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินี อาทิ พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป, หรือพระประมุขของประเทศในเอเซีย, ประธานาธิบดี, ผู้นำประเทศหรือผู้แทนทั้งหมด จำนวน ๒,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้จะเป็นแขกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและทำคุณงามความดีของประเทศอังกฤษเข้าร่วมด้วยจำนวน ๒๐๐ คน

มีการเปิดเผยจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่า ในขั้นตอนของพระราชพิธีพระบรมศพนี้นั้น ทางสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ตอนที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ทรงทราบในรายละเอียดด้วยและสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงให้เพิ่มคือ ทรงให้มีการเป่าปี่สก็อตปิดท้ายในพระราชพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์

ซึ่งท่านผู้อ่านอาจได้เห็นขบวนนำพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่สง่างามของเหล่าทหารปี่สก็อต, ทหารไอริช, ทหารอากาศและทหารอาสากูรข่า ส่วนสองข้างทางก็จะมีทหารเรือ, นาวิกโยธิน และทหารกองเกียรติยศยืนเรียงรายและมีวงดนตรีของทหารบรรเลงกันบ้างแล้ว

สำนักพระราชวังได้ประกาศเส้นทางที่ขบวนพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านหลังพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์ออกมาแล้วโดยจะเป็นเส้นทางภายในกลางกรุงลอนดอนและเส้นทางไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ อันเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะมีพระราชพิธีสำคัญที่สุดในโบสถ์ เซนต์ จอร์จ คือการส่งดวงพระวิญญาณและพิธีการฝังพระศพ

คาดว่าในวันนั้นจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้ชมกันจนจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ โดยสิ้นเชิง

อังกฤษจะเริ่มศักราชใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง 

รัฐพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ การแสดงออกถึงความนับถือจากปวงชนชาวอังกฤษ

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

รัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนตามเวลาในกรุงลอนดอนคือ ๑๔.๒๒ น.

ขบวนเริ่มด้วยทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า The Household Cavalry, The Grenadier และ Scots Guards ในเครื่องแบบเต็มยศงดงามนำขบวน ตามด้วยรถปืนใหญ่ที่มีแต่ล้อและรางสำหรับวางหีบพระบรมศพ หลังรถพระบรมศพ เป็นขบวนที่นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จพระราชดำเนินตาม ในแถวถัดไปคือ เจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮรี่ และพระราชวงศ์ใกล้ชิดพระองค์อื่น ๆ

นอกจากพระราชวงศ์แล้ว ในแถวถัดไปเป็นข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถ และข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารร่วมด้วย ขบวนพระบรมศพไม่ยาวนัก เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจน บนหีบพระบรมศพคลุมด้วยธงประจำพระองค์ คือ Royal Standard, มีพระมหามงกุฎ ชื่อ The Imperial State Crown และดอกไม้ที่สมเด็จพระราชินีทรงโปรดวางอยู่บนธงเช่นกุหลาบขาว (เมื่อพระบรมศพขึ้นตั้งในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้วจะมีลูกโลกและคทา มาวางเพิ่ม)

ขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมตรงตามเวลาที่กำหนด สองข้างทางของถนนที่ชื่อว่า The Mall อันเป็นถนนหน้าพระราชวังเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหากแต่เงียบกริบ ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าของเหล่าทหารรักษาพระองค์

การนำเสด็จพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ไปตั้งเป็นรัฐพิธีที่ 'เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์' (Westminster Hall) จะผ่านเส้นทางที่เป็นใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดี, เช่นผ่าน ตึกขาวสองข้างทางที่เรียกว่า Whitehall, Horse Guards Arch เข้าสู่ Parliament Square

สถานที่ที่เรียกว่า Westminster Hall นี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่มากมีเพดานที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๑ แต่รอดพ้นไฟไหม้มาถึงสองครั้งและที่นี่เคยเป็นพระราชวังมาก่อนคือ Westminster Palace

เมื่อขบวนพระบรมศพมาถึงสถานที่ที่จะตั้งแล้ว ทหารพระจำพระองค์ได้เคลื่อนพระบรมศพไปยังแท่นที่ตั้ง, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี  ซึ่งเทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราชได้ทำพิธีทางศาสนาและพระผู้ใหญ่คนอื่น ๆ

ภายในห้องโถงนี้มีเหล่าขุนนาง นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน, นักการเมืองระดับสูงจากสกอตแลนด์, เวลส์ และแขกอีกจำนวนมากยืนเรียงรายรอบ ๆ ห้องโถงอย่างเงียบสงบ เมื่อพิธีทางศาสนาและทางทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว พิธีสุดท้ายคือ การยืนประจำการเฝ้าพระบรมศพทั้งสี่มุมโดยทหารรักษาพระองค์ซึ่งจะยืนก้มหน้าสงบนิ่งตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์หน้า หากแต่จะมีการผลัดเปลี่ยนตัวคนตามเวลาที่กำหนด

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษได้มีหมายกำหนดการที่คาดว่าจะดำเนินการตามที่บีบีซีได้รายงาน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนไปจนถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งจะเป็นวันฝังพระบรมศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในพระราชพิธีทั้งหมด ผู้เขียนขอเริ่มจากปราสาทบัลมอรัลอันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนเวลา ๑๐ โมงเช้าจะมีการเคลื่อนพระศพโดยรถยนต์จากบัลมอรัลไปตามเส้นทางผ่านเมืองอาเบอดีน, ดันดี และเพิร์ธ เมื่อถึงเมืองปลายทางคือเอดินบะระแล้ว หีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปยังท้องพระโรงในพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ (The Palace of Holyroodhouse  ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางราว ๖ ชั่วโมง มีประชาชนมายืนไว้อาลัยตามสองข้างทางของเมืองที่ขบวนพระศพผ่านอย่างเป็นระเบียบ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และพระสวามีได้เสด็จมากับขบวนรถพระศพด้วย

พระราชพิธีที่เอดินบะระ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, พระราชินีและพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ไปยังมหาวิหาร St. Gile (เซนต์ จิลล์) เพื่อพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง

หมายกำหนดการจากนั้นในวันอังคารที่ ๑๓ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์จะเสด็จพร้อมหีบพระศพทางเครื่องบินจากเอดินเบอระกลับสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน

พระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนโดยพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยัง Westminster Hall เพื่อตั้งพระบรมศพเป็นเวลาสี่วันเพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไว้อาลัย

หีบพระบรมศพจะตั้งอยู่บนแท่นคลุมด้วยธงประจำพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า Royal Standard บนหีบพระศพจะมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ มงกุฎ ที่เรียกว่า Imperial State Crown, คทา และลูกโลกวางอยู่

'สภาภาคยานุวัติ' ประกาศรับรองพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลสที่ ๓' เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ

พระราชพิธีประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

พระราชวังเซนต์เจมส์เวลา ๑๐ นาฬิกาตรงตามเวลาในท้องถิ่นวันนี้ ๑๐ กันยายนจะมีพิธีสำคัญเกิดขึ้น ณ ที่นั่นคือการประกาศแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

พระราชพิธีนี้มีขั้นตอนอย่างไร ขอเริ่มจากจุดที่อาจจะเล็กแต่ก็น่าสนใจ คือ ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้น จะมีการเปลี่ยนการลดธงครึ่งเสาในการไว้อาลัยการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ามาเป็นการชักธงขึ้นเสาเต็มตามปกติและจะทำเช่นนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์จึงจะลดลงครึ่งเสาตามเดิมจนกว่าพระราชพิธีพระศพจะผ่านพ้นไป

ก่อนอื่นขออธิบายว่าพระราชพิธีประกาศแต่งตั้ง Accession Council ในวันนี้ แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก Coronation ซึ่งจะมีขึ้นอีกในเวลาต่อมาเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการระยะหนึ่งและพิธีการนี้จะจัดขึ้นในวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

สำหรับพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษในวันนี้เป็นเพียงพิธีประกาศพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยคณะบุคคลที่เรียกว่า Accession Council หรือภาษาไทยเรียกว่า สภาภาคยานุวัติ กำหนดเดิมคือ ต้องทำภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังการสิ้นพระชนม์ แต่ในกรณีนี้เวลาได้ล่วงผ่านมาแล้ว ตามความเป็นจริงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทันทีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดาแล้ว

ขั้นตอนของพิธีที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในวันนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ในส่วนแรก พระเจ้าชาร์ลส์ จะยังไม่เสด็จเข้าร่วม แต่จะเป็นการชุมนุมของสมาชิกสภาองคมนตรีที่มีจำนวนถึง ๗๐๐ คน แต่พิธีวันนี้อาจเชิญมาได้เพียง ๒๐๐ คน ประธานในพิธีหรือ Lord President ประธานสภาองคมนตรีคือนางเพนนี มอร์ด้อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะอ่านประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นเธอจะให้เจ้าหน้าที่อ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ที่ยืนยันพระนามของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการที่พระองค์ทรงเลือกก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

หลังจากนั้นจะเป็นการลงพระนามและลงนามในคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ประกอบด้วยพระราชินี, เจ้าชายมกุฎราชกุมาร, พระสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่, ประธานสภาขุนนาง, อ้าทบิช็อปแห่งยอร์ก และนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามแล้ว ประธานเพนนี มอร์ด้อนจะบอกให้ที่ชุมนุมเงียบฟังคำประกาศในสาระรายละเอียดของการแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคำประกาศสิ้นสุดลง ประธานเพนนีจะสั่งให้มีการยิงสลุตปืนใหญ่ที่สวนไฮด์ปาร์ก กลางกรุงลอนดอน และหอคอยลอนดอน พิธีการในช่วงแรกนี้ครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดียังมีพิธีการที่ต้องทำอีกอย่างคือ การอ่านคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ระเบียงที่เรียกว่า Friary Court ของพระราชวังเซนต์เจมส์อีกดัวยและจะมีการอ่านคำประกาศนี้ในเมืองเบลฟาส, คาร์ดีฟ, เอดินเบอเรอะ และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

ในช่วงที่สอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะเสด็จเข้ามาในห้องซึ่งจะมีเพียงคณะองคมนตรีที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเข้าเฝ้าและพระองค์จะประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีและกล่าวระลึกถึงพระมารดาเป็นการส่วนพระองค์ ต่อจากนั้นให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแสดงความหวังว่าพระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการทรงงานเพื่อประเทศชาติ 

นอกจากนี้จะตรัสสาบานว่าจะปกปักรักษา Church of Scotland อีกด้วยเพราะการปกครองของสก็อตแลนด์ได้แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน และทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสองฉบับ โดยมีพระราชินีและเจ้าชายมกุฎราชกุมารเป็นพยานพร้อมกับบุคคลอื่นที่อยู่ ณ ที่นั้น คณะที่ปรึกษาจะลงนามด้วยในระหว่างที่ทูลลาจากพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีตามรายงานข่าวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาพระราชอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์ด้วยเป็นครั้งแรก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top