Sunday, 19 May 2024
อนุดี เซียสกุล

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ พระชนม์พรรษา ๙๖ ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา ๑๘ นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ที่ตรัสว่า...

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ ๘ กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ ๘ กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is “confortable”. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ 

แอบส่อง!! คัดแข่งหัวหน้าพรรคทอรี่ สไตล์ผู้ดีอังกฤษ

 อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยที่มีการปกครองด้วยระบบที่มีหลายพรรคการเมือง พรรคใหญ่และเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือพรรคทอรี่หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าพรรคคอนเซอเวทีฟ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเลเบอร์หรือพรรคแรงงาน นอกจากสองพรรคนี้แล้ว อังกฤษก็ยังมีพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งคือพรรคลิบเบอรัลเดโมแครต

แต่พรรคที่มีเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลบ่อยครั้งกว่าก็คือพรรคคอนเซอเวทีฟที่บางครั้งก็เรียกกันว่าพรรคอนุรักษ์นิยมและขณะนี้พรรคนี้ก็เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ 

ในระยะ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาแล้วสามคนหลังจากการลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. ๒๐๑๖

เริ่มจากนายเดวิด แคมเมอรอนก่อนนายเดวิดประกาศลาออกในปี ค.ศ.๒๐๑๖ สาเหตุก็คือในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. ๒๐๑๕นายเดวิดประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งเขาจะจัดให้อังกฤษมีการลงประชามติในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปรากฏว่านายเดวิด ชนะการเลือกตั้งเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติตามสัญญา นายเดวิด สนับสนุนให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่โหวตให้อังกฤษออก ดังนั้นเมื่อความเห็นของเขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอังกฤษ นายเดวิดจึงอยู่ต่อไปไม่ได้

ขอแทรกข้อมูลตรงนี้สักหน่อยว่าเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปนี่ในพรรคคอนเซอเวทีฟพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครกล้าทำเรื่องประชามตินี้ เพราะมันมีผลมากมายและถ้าทำก็ต้องเสี่ยงว่าจะอยู่หรือไป ก็มีความเห็นของชาวอังกฤษที่ขัดแย้งกันและเช่นเดียวกันกับนักการเมือง บ้างก็ว่าอยู่ก็ดี บ้างก็ว่าออกจะดีกว่า

ต่อมานางเทเรซ่า เมย์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. ภายในพรรคอย่างท่วมท้นให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง แต่ระหว่างเป็นนายกฯไม่ถึงสามปีเธอก็ต้องลาออกเพราะรัฐบาลของเธอไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อรองเจรจากับสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขที่อังกฤษต้องการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ มีข้อขัดแย้งหลายประการ อังกฤษถูกโดนรุมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับตัวนางเทเรซ่าเอง เธอดูจะเสียเครดิทไปมากและจากการขัดแย้งกันเองภายในพรรควุ่นวายกันไปหมด จนเทเรซ่า เมย์แทบจะหมดสภาพ เธอยอมลาออกในปีค.ศ. ๒๐๑๙

การเมืองก็คือการเมืองไม่ว่าที่ไหนๆ ต้องมีพรรคมีพวก ส.ส.ในพรรคคอนเซอเวทีฟสนับสนุนให้นายบอริส จอนห์สันซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของนางเทเรซ่าอยู่ ว่าน่าจะมาแทนที่นางเทเรซ่า และสามารถแก้ไขปัญหาการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น เพราะนายบอริส คือตัวหลักคนหนึ่งในการที่สนับสนุนให้อังกฤษ ดีดตัวออกจากสหภาพยุโรปสำเร็จ เพราะฉะนั้นนายบอริส น่าจะเป็นคนที่ทำได้ตามที่อังกฤษต้องการ

และก็เป็นไปตามที่คิดกันในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟก็เลือกนายบอริสขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายบอริสขึ้นชื่อว่าเป็นปลาไหลใส่เสก็ตเก่งคนหนึ่งเขาจึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างง่ายๆต่อจากนางเทเรซ่า  ดังนั้นหลังจากที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานนักนายบอริสก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เกิดปรากฏการณ์ที่ฉงนๆกันอยู่คือว่าพรรคคอนเซอเวทีฟได้คะแนนเสียงข้างมากกว่าเดิมได้จัดตั้งรัฐบาลอีก

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเสียงดีเช่นนี้ ด้วยความมั่นใจนายบอริสก็ดำเนินการเจรจาให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น แต่เมื่อปีที่แล้วนายบอริสก็มาตกม้าตายจากการบริหารประเทศในการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่สับสนวุ่นวายทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตเพราะโรคระบาดไปนับแสนคน แผนการที่รัฐบาลออกมารับมือถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพและสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนเพราะรัฐบาลนายบอริสเชื่องช้าและเพิกเฉยต่อการรับมือกับโรคระบาด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top