Saturday, 5 July 2025
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#11 พันธมิตรของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : “ไทย” (2)

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ไห้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไทยยืนยันว่า การช่วยเหลือเวียตนามใต้เป็นการหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหรัฐฯ จากการสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรโลกเสรีของสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง

คำร้องขอของประธานาธิบดีจอห์นสัน ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในปี 1964 : “ข้าพเจ้าตระหนักดีและซาบซึ้งอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่านกับรัฐบาลของท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าประเทศไทยจะหาวิธีเพิ่มขอบเขตและขนาดของความช่วยเหลือแก่เวียตนามใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโลกเสรีที่จะร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์” และ “แถลงการณ์ของรัฐบาลไทย 3 มกราคม 1967” ความว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเวียตนามใต้ และจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งหน่วยทหารไปช่วยต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เมื่อยังอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรา รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งหน่วยรบหนึ่งกองพันเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในเวียดนามใต้ในอนาคตอันใกล้”

ปัจจัยที่โดดเด่นหลายประการทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ประการแรก รัฐบาลไทยเชื่ออย่างยิ่งว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามไม่เพียงแต่ต่อประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย พวกเขาตั้งใจที่จะปราบปรามภัยคุกคามนี้ก่อนที่มันจะทำลายล้างพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอเมริกาในภูมิภาคนี้
ประการที่สอง ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของไทย ลัทธิอาณานิคมไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจของคนไทยแต่อย่างใด เพราะไทยไม่เคยถูกปกครองโดยมหาอำนาจชาติเจ้าอาณานิคม และแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอังกฤษในพม่าทางด้านตะวันตก และจากฝรั่งเศสในอินโดจีนทางด้านตะวันออก แต่ไทยก็ไม่เคยยอมสละอำนาจอธิปไตยของชาติไป ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านและความไม่ไว้วางใจชาวยุโรปและอเมริกาน้อยกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด 
ประการที่สาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางอากาศในเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ (รวมทั้งลาวและกัมพูชาด้วย) อาทิ สามารถลดค่าใช้จ่ายของเครื่องบิน B-52 ที่ต้องบินจากฐานทัพอากาศในเกาะกวมถึงเที่ยวบินละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มทำการบินจากฐานทัพต่าง ๆ 7 แห่งในประเทศไทย (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา (โคราช) นครสวรรค์ (ตาคลี) นครพนม อู่ตะเภา และดอนเมือง (กรุงเทพฯ))  ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 สหรัฐฯ ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วงสงคราม ในเดือนตุลาคม 1967 กำลังรบชุดแรกของไทยเดินทางมาถึงเวียตนามใต้เพื่อร่วมรบกับทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ โดยได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 9 สหรัฐฯประจำการอยู่ที่ค่ายแบร์แคท ใกล้เมืองเบียนฮัว กองกำลังเหล่านี้ได้แก่ กรมทหารอาสาสมัคร (กองกำลังจงอางศึก) ซึ่งเป็นกำลังรบชุดแรก ในปี 1968 กองกำลังจงอางศึกถูกแทนที่ด้วยกองพลทหารอาสาสมัครของกองทัพบกไทย (กองพลเสือดำ) ผู้สังเกตการณ์ทางทหารในเวียตนามใต้ส่วนใหญ่ระบุในรายงานว่า กองกำลังของไทยทำการรบในเวียตนามใต้อย่างองอาจและกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชอบของกองทัพอเมริกัน ทหารไทยหลายนายได้นำเครื่องรางมากมายหลายชนิดติดตัวมาเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน ซึ่งทหารอเมริกันหลายนายที่ได้รับการแบ่งปันเครื่องรางเหล่านั้นต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้นด้วย

วีรกรรมสำคัญของทหารไทยในเวียตนามใต้ อาทิ (1)สมรภูมิฟุกโถ (Phuoc Tho) ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 1967 เวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่กำลังพลของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารอาสาสมัคร จำนวน 3 หมวด (ประมาณ 90 นาย) กำลังตั้งฐานปฏิบัติการควบคุมเส้นทาง ถนนสายสมเกียรติ (สาย 319) ซึ่งเป็นถนนยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายเวียตกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง และเข้าไปมีอิทธิพลในหมู่บ้านฟุกโถ ปรากฏว่าฝ่ายเวียตกงได้ส่งกำลังจำนวน 11 กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง) เข้ามาในบริเวณที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และเริ่มการโจมตีโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ไปทางตะวันตกประมาณ 3.5 ก.ม. เพื่อตรึงมิให้ปืนใหญ่ฝ่ายไทยยิงสนับสนุนกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ระดมยิงฐานที่ตั้งของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 อย่างรุนแรง

หลังจากนั้นข้าศึกได้ส่งหน่วย ทหารราบจำนวน 1 กองพันบุกเข้าโจมตีรอบฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 โดยเข้าตี 3 ทิศทาง คือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ฝ่ายไทยได้ใช้อาวุธทุกชนิดที่มีเข้าสนับสนุน เพื่อผลักดันการเข้าตีของข้าศึก แต่เนื่องจากข้าศึกมีจำนวนมากกว่า จึงสามารถฝ่าแนวลวดหนามเข้ามาได้ ทหารไทยในแนวรบได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตลอดเวลา โดยไม่ยอมผละจากที่มั่น ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของฝ่ายไทยพยายามยิงสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา การรบได้ดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. ข้าศึกเห็นว่าคงไม่สามารถยึดที่มั่นของไทยได้จึงเริ่มถอนกำลังกลับ การรบได้ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ภายหลังการสู้รบยุติลง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 23 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 48 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 95 ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ 90 ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก สรุปแล้วสามารถสังหารเวียตกงได้กว่า 185 ศพ) และบาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 2 คน พร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

(2)การรบที่บินห์สัน (Binh Son) ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กันยายน 1968 เวลาประมาณ 03.15 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ 2 และ 3 ของกองพันทหารราบที่ 3 ของไทย โดยเข้าตี 5 ทิศทางเป็น 2 ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียตกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายไทยเพียง 180 – 200 หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บสาหัส 11 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 15 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 65 ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ 30 ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 01.35 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 ของไทย เป็น 2 ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียตกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา 03.00 น. ผลปรากฏว่า ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 4 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 41 ศพ ยึดอาวุธยุโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 3 คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 00.25 น. เวียตกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่3 กองพันทหารราบที่ 3 โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน 3 ทิศทาง กรมทหารราบที่ 31 ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียตกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 87 ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นกองกำลังของไทยได้ทำการรบในอีกหลาย ๆ สมรภูมิ และในทุกสมรภูมินั้นทหารไทยทำการรบจนประสบชัยชนะด้วยดีสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงกันข้ามมากมาย 

ในช่วงสงครามเวียตนาม รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับทหารเวียตนามใต้ ทหารไทยได้รับการฝึกฝนและจัดเตรียมอุปกรณ์โดยสหรัฐฯ ขนส่งด้วยเรือและเครื่องบินของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน แต่ไทยก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเวียตนามใต้ ลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา แม้ว่าในที่สุดแล้วทั้งสามประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ยุทธศาสตร์ของไทยในการควบคุมภัยคุกคามนอกประเทศก็นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของกองทัพไทยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศของตนเป็นผลสำเร็จ สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไประหว่างเดือนกันยายน 1967 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1972 มีทหารไทยเกือบ 40,000 นายหมุนเวียนประจำการในเวียตนามใต้ ในจำนวนนี้ 351 นายเสียชีวิต และอีก 1,358 นายได้รับบาดเจ็บ แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพไทยผูกติดกับระบบอาวุธยุทโธปกรณืของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี การรบตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ นั้นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ให้เป็นไปตามบริบทของไทยเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่า ยังต้องมีการซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พึ่งพิงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว และยังมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ อีกด้วย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#10 พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : 'ไทย' (1)

ไทยมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนมายาวนาน เริ่มจาก “เวียตนาม” ตั้งแต่สมัย “องเชียงสือ (เจ้าอนัมก๊ก ตามพงศาวดารไทย)” มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาสามารถกู้คืนอำนาจ รวมแผ่นดินเวียดนามได้สำเร็จ เฉลิมพระนาม “จักรพรรดิซาล็อง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และสามารถโค่นล้มราชวงศ์เต็ยเซินอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2345 ด้วยความช่วยเหลือจากสยามหลายครั้ง เป็นที่มาของการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายรัชกาลที่ 1 ถึง 6 ครั้งตลอดรัชกาล โดยไทย (“ราชอาณาจักรสยาม” ในสมัยนั้น) ต้องเสียดินแดน “สิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไท)” ให้กับฝรั่งเศสซึ่งส่งกำลังเข้ามายึดเอาดื้อ ๆ ในปี 1888

“ลาว” เป็นดินแดนในปกครองของไทยมายาวนานเช่นกันก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสใช้อำนาจและสารพัดเล่ห์กลสร้างเหตุเพื่อยึดเอาดินแดนเหล่านี้ไป ได้แก่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 1893 ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปี 1904 เช่นเดียวกันกับ “กัมพูชา” ซึ่งได้แก่ ดินแดนกัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1867 เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในปี 1907 กระทั่งเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”  เหนือดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวคืนให้ไทย ได้แก่ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) จังหวัดพระวิหาร ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยต้องทำความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “ความตกลงวอชิงตัน” ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 มีผลให้ไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ขบวนการเสรีไทย และได้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเป็นหนึ่งประเทศซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนสต์ การส่งกองกำลังไปร่วมรบกับสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี

สำหรับสงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนั้น สืบเนื่องจากภัยคุกคามของไทยในขณะนั้นประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1958 กองทัพบกไทยได้เริ่มทำการฝึกให้กับกองทัพลาวที่ค่ายเอราวัณ ต่อมาเดือนเมษายน 1959 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อรหัสว่า "โครงการเอกราช (Unity)" กองทัพบกไทยยังได้จัดตั้งกองบัญชาการ 333 (HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว โดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับ HQ 333 มีการจัดส่งนักบินไทยและเจ้าหน้าที่เทคนิคไปทำการบินให้กับกองทัพอากาศลาว เดือนธันวาคมปี 1960 มีการส่งตำรวจพลร่ม (Police Aerial Reinforcement Unit : PARU) ชุดแรกเข้าไปในลาวเพื่อร่วมในปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และการฝึกทหารลาวม้ง การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง และการร่วมปฏิบัติการรบ

หลังจากลงนามสงบศึกที่เจนีวา แต่สงครามในลาวไม่ได้หยุดลง และกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น CIA และ HQ 333 จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการรบในลาว จึงมีการจัดระบบเตรียมการและจัดส่งกำลังพลทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน) เข้าไปในลาว เริ่มจากทหารปืนใหญ่ของกองทัพไทยเข้าร่วมการรบในแนวใกล้ทุ่งไหหินในปี 1964 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของประเทดลาว (ลาวแดง) ในโปรแกรมการฝึกพิเศษของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1969 หน่วยปืนใหญ่อีกหน่วยหนึ่งได้ทารรบป้องกันเมืองสุยเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ (ลาวแดงและเวียตนามเหนือ) และกลายเป็นหน่วยรบแรกของไทยที่สู้รบในลาว จากนั้นก็มีหน่วยอื่น ๆ ตามมา ในปี 1970 ฝ่ายอเมริกันได้โน้มน้าวฝ่ายไทยให้ใช้กำลังอาสาสมัครติดอาวุธในลาว (ทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน)) และต่อมาอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกและใช้งานเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกัน กองกำลังที่ได้รับการฝึกใหม่ได้รับการจัดเป็นกองพัน กองพันละ 495 นาย ภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี จากนั้นก็สามารถขยายต่อไปได้ กองพันเริ่มต้นด้วยเลข "6" ซึ่งเป็นความแตกต่างในการกำหนดหน่วยของไทยจากหน่วยลาว กองพันแรกเริ่มจาก 601, 602 การเตรียมการของสองกองพันดังกล่าวสิ้นสุดลงในต้นเดือนธันวาคม 1970 และในกลางเดือนธันวาคม กองพันเหล่านี้ก็ถูกส่งเข้าสู่สนามรบแล้ว CIA ซึ่งเคยชินกับความไร้ประสิทธิภาพของทหารลาวรู้สึกประหลาดใจอย่างยินดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีของไทย

บทบาทและจำนวนทหารรับจ้างไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CIA ต้องการทหารให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มรับสมัครชายไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเข้าค่ายฝึก เป็นผลให้ในเดือนมิถุนายน 1971จำนวนหน่วยทหารรับจ้างไทยที่ไปทำสงครามในลาวเท่ากับ 14,028 นาย และสิ้นเดือนกันยายน 1971 มากถึง 21,413 นาย เมื่อทหารลาวและทหารลาวม้งลดจำนวนลง สัดส่วนของทหารไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสิ้นสุดปี 1972 ทหารไทยได้กลายมาเป็นกำลังรบหลักของลาวภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวางเปา ทหารรับจ้างไทยถือเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับลาวแดงและเวียตนามเหนือในลาว ทหารม้งซึ่งบางครั้งสามารถทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากอเมริกันด้อยกว่าทหารรับจ้างไทยอย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม การรบในปี 1971 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้สร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ให้กับกองกำลังทหารรับจ้างไทย เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน MiG ของเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีในลาวเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของเวียตนามเหนือและลาวแดง  เนื่องจากคุ้นเคยกับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ทั้งกองกำลังของลาวและไทยจึงไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ เมื่อฝ่ายศัตรูสามารถครองอากาศ และกองกำลังทหารรับจ้างไทยถูกบังคับให้หลบหนีจากสนามรบ ก่อนที่จะมีการสงบศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ทหารรับจ้างไทยเกือบครึ่งหนึ่งหลบหนีกลับไทย ทหารรับจ้างไทยที่เหลือประมาณ 10,000 นายก็ถูกส่งตัวกลับไทยและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงตัวเลขของทหารรับจ้างไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ซึ่งน่าจะถึงหลักพัน สงครามในลาวถือว่าเป็น “สงครามลับ” สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 สหรัฐฯ พึ่งจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามลับดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#9 'ฟิลิปปินส์' อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

ฟิลิปปินส์ อดีตรัฐอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดเชื้ออย่างแนบแน่นกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเกาหลี ฟิลิปปินส์ส่งกองกำลังประมาณ 7,500 นายเข้าร่วมสงครามเกาหลี เมื่อสิงหาคม 1950 เป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 สำหรับสงครามเวียตนาม ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนกำลังพลในส่วนของปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน การพัฒนาชุมชน การแพทย์และสาธารณสุข โดยเริ่มส่งกำลังเข้าไปในเวียตนามใต้ครั้งแรกในปี 1964 ด้วยกำลังทหาร 28 นาย รวมทั้งพยาบาลและพลเรือน 6 นาย จำนวนทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ประจำการในเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นเป็น 182 นาย และกำลังพล 1,882 นายในช่วงปี 1966–1968 ทหารฟิลิปปินส์ประมาณ 10,450 นายถูกส่งไปเวียตนามใต้ และสนับสนุนโครงการทางการแพทย์และกิจการพลเรือนในด้านอื่น ๆ เป็นหลัก กองกำลังเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ A หรือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม Philippine Civic Action Group - Vietnam (PHILCAG-V)

ในปี 1954 หลังจากที่เวียตนามถูกแบ่งออกเป็นเวียตนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ชาวเวียดนามเหนือหลายพันคนได้อพยพลงใต้ ออสการ์ อาเรลลาโน ประธานสมาคมหอการค้าเยาวชนฟิลิปปินส์ (Jaycees) สาขามะนิลา เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม จึงได้ขอความช่วยเหลือจาก รามอน แม็กไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ซึ่งตอบว่า “พวกเราได้รับความช่วยเหลือในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือจากมิตรสหายผู้ใจดี แล้วเราจะปฏิเสธความช่วยเหลือเพื่อนบ้านเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือได้อย่างไร ความทุกข์ยากของมนุษย์ไม่มีพรมแดนของชาติ ดังนั้นโปรดช่วยเหลือพวกเขาด้วยทุกวิถีทาง และหากข้าพเจ้าและรัฐบาลนี้สามารถช่วยอะไรได้ โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อข้าพเจ้า” ในช่วง 2 ปีต่อมา ในปฏิบัติการที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า Operation Brotherhood สมาคม Jaycees ได้ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ จำนวน 235 คน เพื่อรักษาผู้ป่วยราว 730,000 คนในสถานพยาบาลทั่วเวียตนามใต้

ในปี 1964 เพื่อตอบสนองต่อการรณรงค์ 'More Flags' ของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดิออสดาโด มาคาปากัล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐสภาฟิลิปปินส์เพื่อส่งกำลังรบไปยังเวียตนามใต้ แต่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฟิลิปปินส์กลับอนุมัติงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือด้านพลเรือนแทน ในเดือนสิงหาคม 1964 ฟิลิปปินส์ได้ส่ง แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน 16 นายจากกองทัพฟิลิปปินส์เข้าไปช่วยเหลือ "ในความพยายามให้คำแนะนำที่มุ่งเน้นไปที่สงครามจิตวิทยาและกิจการพลเรือนในกองพลที่ 3" ตามประวัติของกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ เวียดนาม (MACV) ซึ่งเรียกหน่วยนี้ว่า PHILCON (กองกำลังฟิลิปปินส์)

ในปี 1966 รัฐบาลเวียตนามใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากฟิลิปปินส์ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธ ฟิลิปปินส์จึงส่งกองกำลังใหม่ไปยังเวียตนามใต้เพื่อแทนที่ PHILCON คือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม (PHILCAG-V) ประกอบด้วย กองพันวิศวกรก่อสร้าง ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข กองพันรักษาความปลอดภัย หน่วยสนับสนุนและกองบังคับการ พวกเขาได้ตั้งฐานทัพที่เมืองเตยนิญห์ 45 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซง่อน ในช่วงฤดูร้อนของปี 1966 ในช่วง 40 เดือนถัดมา PHILCAG-V ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อพลเรือนที่มีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาชนบท และการบรรเทาทุกข์ด้านอาหารและการแพทย์ แม้ว่า PHILCAG-V จะมีทหารฟิลิปปินส์ 2,068 นายในช่วงที่มีบทบาทสูงสุด แต่ PHILCAG-V เน้นภารกิจด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่การรบ ด้วยคติประจำของ PHILCAG-V ว่า “สร้าง ไม่ใช่ทำลาย นำความสุข ไม่ใช่ความเศร้าโศก สร้างความปรารถนาดี ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

PHILCAG-V เป็นหน่วยปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการดำเนินการเพื่อสังคม จนเป็นที่ชื่นชมของชาวเวียตนามใต้ สมาชิกหลายคนของ PHILCAG-V รุ่นแรกจำได้ว่า ชาวเวียตนามใต้มีชื่อเล่นพิเศษสำหรับทหารฟิลิปปินส์ว่า “ทุกที่ที่พวกเขาไป พวกเขาถูกเรียกว่า ‘Philuatan’ ซึ่งหมายความว่า ‘ชาวฟิลิปปินส์คือหมายเลขหนึ่ง’” เห็นได้ชัดว่าชาวเวียตนามใต้มากมายจดจำทหารฟิลิปปินส์ด้วยมิตรภาพ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนต่อความพยายามในการทำสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ด้วยการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการจากฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกในซัมบาเลส สำหรับกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และจากฐานทัพอากาศคลาร์กในแองเจลิสซิตี้ในลูซอนของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1975 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรองรับคนงานในท้องถิ่นประมาณ 80,000 คนในธุรกิจระดับตติยภูมิที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจทำรองเท้าไปจนถึงการค้าประเวณี มีทหารฟิลิปปินส์ 9 นายเสียชีวิตในเวียตนามใต้ กองกำลังฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 12 ธันวาคม 1969 โดยมีการส่งกำลังทหารฟิลิปปินส์ไปยังหมู่เกาะสแปรตลีย์ในเวลาเดียวกัน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#8 'ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์' พันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

กองกำลังผสมของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZAC) เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับกระแสต่อต้านสงครามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ทั้งสองประเทศยังคงให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและเวียตนามใต้ตลอดช่วงสงคราม ในปี 1951 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคง (ANZUS) ซึ่งเป็นข้อตกลงไตรภาคีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก แม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียกร้องสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการสำหรับสงครามเวียตนาม แต่ถึงกระนั้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ยังส่งกองกำลัง (ด้วยงบประมาณของตนเอง) เพื่อสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการปกป้องเวียตนามใต้

ในปี 1961 รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่าการเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียตนามใต้เป็นเรื่องของหลักการและการป้องกันตนเอง เนื่องจากสันนิษฐานว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากถูกคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำแล้วจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางเหนือของออสเตรเลีย ดังนั้น ในปลายฤดูร้อนของปี 1962 รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งทีมที่ปรึกษาทางทหาร 30 นาย ไปช่วยฝึกอบรมทหารของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) สองปีต่อมา ทีมดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นที่ปรึกษาทางทหาร 80 นายซึ่งฝังตัวอยู่กับกองกำลังภาคสนามของ ARVN และส่งเครื่องบินขนส่ง DHC-4 Caribou (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศออสเตรเลียอีก 6 ลำ เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มการสนับสนุนเวียดนามใต้ด้วยการส่งกองกำลังรบในปี 1965 ออสเตรเลียก็ดำเนินการตามทันที ด้วยการได้ส่งกองพันที่ 1 กรมทหารออสเตรเลีย (1RAR) และกองกำลังสนับสนุนไปประจำการภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐที่เบียนฮัว เมื่อสิ้นสุดปี 1965 หน่วย 1RAR ได้เพิ่ม หน่วยปืนใหญ่ หน่วยวิศวกร หน่วยลาดตระเวนทางอากาศ และหน่วยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

แม้ว่าทหารอเมริกันและออสเตรเลียจะมีความร่วมมือและสู้รบร่วมกันได้ดี แต่โครงสร้างการบังคับบัญชาของออสเตรเลียไม่ได้สนับสนุนยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐฯ หรือกฎการรบของกองทัพสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ซึ่งบางครั้งพวกเขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ไร้ประโยชน์โดยไม่จำเป็น พวกเขาต้องการต่อสู้ในแบบของตนเอง ดังนั้นเมื่อในปี 1966 รัฐบาลออสเตรเลียได้เพิ่มกำลังพลให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจสองกองพันที่มีการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงในการรบ เรียกว่า หน่วยเฉพาะกิจออสเตรเลียที่ 1 (1ATF) พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้แยกตัวออกจากกองพลทหารอากาศที่ 173 และกลายมาเป็นหน่วยบังคับบัญชาอิสระที่มีพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองในจังหวัดฟุกตุย โดยมีฐานที่นุยดัต หน่วยสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงออสเตรเลียที่ 1 (1ALSG) ตั้งขึ้นในบริเวณใกล้เคียงที่ท่าเรือและสนามบินในเมืองวุงเต่า

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 กองร้อยเดลต้า กองพันที่ 6 กรมทหารออสเตรเลีย ซึ่งมีกำลังพลรวมประมาณ 108 นาย ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาและเคลียร์กองกำลังของศัตรูออกจากบิญบา ซึ่งเป็นสวนยางพาราเก่าของฝรั่งเศสที่อยู่ไม่ไกลจากไซง่อน กองกำลังออสเตรเลียถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ผสมกว่า 1,500 นายจากเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้าโจมตี ในการยิงตอบโต้กันเป็นครั้งแรกกับศัตรู กองกำลังออสเตรเลียสูญเสียทหารไปเกือบหมด ซึ่งถือเป็นการสูญเสียชีวิตมากที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญในเวียตนามใต้ หลังจากการปะทะครั้งแรก เมื่อกองร้อยเดลต้าตั้งแนวป้องกันได้แล้ว กองกำลังออสเตรเลียก็ต่อสู้อย่างหนักกับการโจมตีหลายครั้งในช่วงสี่ชั่วโมงถัดมาท่ามกลางพายุฝนที่ตกหนัก กองทัพออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และได้รับเสบียงจากลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ UH-1 “Huey” Iroquois ของกองทัพอากาศออสเตรเลียสองลำ และได้รับการเสริมกำลังจากกองร้อยออสเตรเลียอีกกองหนึ่งที่มาถึงในตอนค่ำด้วยรถลำเลียงพลหุ้มเกราะพร้อมปืนกลขนาด .50 ในท้ายที่สุด กองทัพเวียตนามเหนือและเวียคกงก็ยุติการปะทะ ออสเตรเลียสูญเสียทหารไป 18 นาย และบาดเจ็บ 24 นาย ระหว่างปี 1962 ถึง 1973 ทหารจาก กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของออสเตรเลียเกือบ 60,000 นายประจำการในเวียดนามใต้ ในช่วงที่มีกำลังพลสูงสุด มีทหารออสเตรเลียประจำการอยู่ในเวียตนามใต้มากกว่า 8,300 นาย ทหารออสเตรเลียบาดเจ็บมากกว่า 3,000 นาย และเสียชีวิต 521 นายในสงครามครั้งนี้

นิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย รัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นปี 1963 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวเวียดนามใต้ด้วยการส่งทีมศัลยแพทย์พลเรือนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเมืองกวีเญิน ฤดูร้อนปี 1964 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ส่งวิศวกรของกองทัพบก 25 นายไปช่วยเหลือในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และในช่วงฤดูร้อนปี 1965 รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงได้ส่งกำลังรบเข้าไปในเวียตนามใต้ อันได้แก่ กองร้อยปืนใหญ่ที่ 161 ของกองทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์เดินทางมาถึงเมืองเบียนฮัวในเดือนกรกฎาคม 1965 โดยเริ่มแรกเพื่อประจำการกับกองทัพออสเตรเลียภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ต่อมาพวกเขาได้ย้ายไปอยู่กับกองกำลังพิเศษของออสเตรเลียที่เมืองนุยดัต ซึ่งพวกเขาประจำการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ของออสเตรเลียจนถึงเดือนพฤษภาคม 1971

ในปี 1967 นิวซีแลนด์ได้ส่งกองร้อยปืนเล็กยาวจากกองพันที่ 1 ของกรมทหารราบของนิวซีแลนด์ไปประจำการ ซึ่งพวกเขาได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังออสเตรเลียในหน่วยรบปืนใหญ่ที่ 1 นอกจากนั้นแล้ว นิวซีแลนด์ยังส่งเฮลิคอปเตอร์ UH-1 Iroquois (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ไปประจำการอีกหลายลำ และในปี 1969 ก็ได้ส่งกองกำลังขนาดเล็กของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศพิเศษนิวซีแลนด์ไปประจำการกับกองกำลังของออสเตรเลีย ระหว่างปี 1964 ถึง 1972 บุคลากรทางทหารของนิวซีแลนด์ประมาณ 3,500 นายประจำการในเวียตนามใต้ แม้ว่าจะมีไม่เกิน 550 นายที่อยู่ในประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม พวกเขาได้รับบาดเจ็บ 187 รายและเสียชีวิต 37 รายในช่วงเวลาดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#7 ‘ทหารเกาหลีใต้’ พันธมิตรร่วมรบของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้

สงครามอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการระดมกำลังทหารจากพันธมิตรทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการรบโดยตรง จากเดิมที่มีการส่งเพียงที่ปรึกษาทางทหาร สำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแล้ว สงครามเวียตนามเป็นความพยายามของหลายชาติในการหยุดยั้งกระแสการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากขั้วตรงข้ามในสงครามเย็นของสหรัฐฯ คือ สหภาพโซเวียตและจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวียตนามใต้ถือเป็นจุดที่ร้อนแรงในบริบทของสงครามเย็น เช่นเดียวกับความขัดแย้งทั้งหมด จึงมีการระดมกำลังทหารจากชาติพันธมิตรร่วมอุดมการณ์โลกเสรีอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และไทย 

สงครามเวียดนามเป็นภารกิจทางทหารครั้งใหญ่ครั้งแรกของเกาหลีใต้นับตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีในปี 1953 กองทหารเกาหลีทั้งหมดในเวียดนามเป็นอาสาสมัคร การมีส่วนร่วมของกองทัพเกาหลีใต้ในสงครามเวียดนามเริ่มต้นขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปี 1965 และสิ้นสุดลงเมื่อกองทหารรบสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายออกจากเวียตนามใต้ ทหารและนาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลีชุดแรก (ซึ่งเรียกทั่วไปว่า ‘ROK’) เริ่มมาถึงหลังจากกองทหารรบสหรัฐฯ ชุดแรกมาถึงเวียตนามใต้หลายเดือนก่อนหน้าแล้ว ผู้สังเกตการณ์ทางทหารยืนยันว่า “ทหารเกาหลีใต้” สู้รบด้วยความกล้าหาญ โดยหลายคนบอกว่า ดุเดือด ยุทธวิธี และเทคนิคของพวกเขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โหดร้ายโดยไม่จำเป็น แต่ความกล้าหาญและมีวินัยของพวกเขานั้นไม่เป็นที่สงสัยเลย แม้แต่จากศัตรูของพวกเขา ความสำเร็จและการมีส่วนสนับสนุนของกองกำลังเกาหลีในเวียตนามใต้นั้น ไม่ได้รับการยกย่องและไม่ได้รับการชื่นชมมากนักนอกแวดวงทหาร สำหรับชาวอเมริกันหลายคนที่เคยร่วมรบกับพวกเขา ความสามารถในการต่อสู้ของ “ทหารเกาหลีใต้” ถือเป็นตำนาน กองกำลังเกาหลีใต้มีอัตราการสร้างความสูญเสียชีวิตให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ในอัตราที่สูงมาก และสามารถจับกุมเชลยสงครามได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์อีกเป็นจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวทำให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่กล้าเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ของ “ทหารเกาหลีใต้” และสามารถขัดขวางภารกิจของเวียตกงในพื้นที่ปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

มุมมองของสหรัฐฯ คือ คนร่วมสมัยเชื่อว่ากองกำลังเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพในการสู้รบเทียบเท่ากับกองกำลังสหรัฐฯ จึงช่วยแบ่งเบาภาระของกองกำลังสหรัฐฯ ในพื้นที่ปฏิบัติการของเกาหลีใต้ แน่นอน สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกองกำลังเกาหลี ตั้งแต่ปี 1965 ถึงปี 1973 ทหารบกและทหารนาวิกโยธินของเกาหลีใต้ 320,000 นายถูกส่งมาประจำการประจำการในเวียตนามใต้ ตัวเลขดังกล่าวรองจากทหารสหรัฐฯ และเวียดนามใต้เท่านั้น และมากกว่าทหารพันธมิตรทั้งหมดรวมกัน ทหารเกาหลีใต้ 5,099 นายเสียชีวิตและอีก 10,962 นายได้รับบาดเจ็บในสงครามครั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 1965 รายงานของ CIA อธิบายปัญหาหลักของเวียดนามใต้ไว้ดังนี้ “เวียตกงยังคงได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มชายฝั่งทะเล รัฐบาล [เวียตนามใต้] อยู่ในฝ่ายรับอย่างชัดเจน ความสงบยังคงหยุดชะงัก และคาดว่าความมั่นคงในพื้นที่ชนบทจะลดลงต่อไป” การตอบสนองต่อการประเมินของ CIA ได้มาในรูปแบบของ “กองพลเสือ” แห่งกองทัพบกสาธารณรัฐเกาหลี และ “กองพลมังกรน้ำเงินที่ 2”  ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลี หน่วยรบของเกาหลีใต้รับผิดชอบหลักในการสร้างความสงบและรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายฝั่ง (บิ่ญดิ่ญ ฟูเอียน คานห์ฮวา และนิญถวน) ในกองพลที่ 2 พวกเขารับหน้าที่นี้ด้วยความเข้มแข็ง พื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะทางใต้ของ Qui Nhon ลงไปจนถึง Phan Rang ยังคงค่อนข้างปลอดภัยตั้งแต่นั้นมา ภายใต้การจับตามองของ “ทหารเกาหลีใต้” 

ในเดือนกันยายน 1966 เกาหลีใต้ส่ง “กองพลม้าขาวที่ 9” ไปปฏิบัติการในพื้นที่ชายฝั่งทางใต้ ทำให้กองพลที่ 2 ทำให้ “กองพลมังกรน้ำเงินที่ 2” สามารถเคลื่อนพลไปทางเหนือเพื่อช่วยเหลือทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในจังหวัดกวางนาม ผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหรัฐฯ ได้บันทึกว่า ในเวียตนามใต้ กองกำลัง ROK ปฏิบัติหน้าที่อย่างโดดเด่นและกล้าหาญ และได้รับสถานะที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตำนานทั้งในหมู่มิตรและศัตรู และทหารร่วมสมัยบางคน แม้จะมีการกล่าวหาว่า “ทหารเกาหลีใต้” ใช้ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวเกินไปหรือรุนแรงเกินไป เรื่องเล่าและตำนานมากมายเกี่ยวกับวินัยที่เข้มงวด ความแข็งแกร่ง และความสามารถทางการทหารของ “ทหารเกาหลีใต้” โดยได้รับการกล่าวขานว่ามี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่งในการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ กลยุทธ์ และการปฏิบัติการของหน่วยขนาดเล็ก และการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เป็นตำนานที่ทหารอเมริกันได้นำเล่าขานบ่อยครั้งด้วยความประทับใจ อาทิ “เอกสารของศัตรูที่ยึดมาได้ซึ่งสั่งให้หน่วย NVA [กองทัพเวียดนามเหนือ] หลีกเลี่ยงการปะทะกับ “ทหารเกาหลีใต้” ทั้งหมด เว้นแต่จะมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะได้รับชัยชนะ” ในขณะที่เรื่องราวที่แต่งขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวกับหน่วยที่เวียดนามเหนือกลัวอย่างแท้จริงนั้นมักจะมีเรื่องเล่าของผู้เล่าเอง แต่เรื่องราวเกือบทุกเรื่องล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ทหารเกาหลีใต้” 

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’ 

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน  
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#6 เมื่อสมรภูมิ 'เคห์ซาน' ไม่ใช่ 'เดียนเบียนฟู'

หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่าน “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1964 ประธานาธิบดี Johnson มีอำนาจมากขึ้น จึงเริ่มส่งกำลังทหารสหรัฐฯ ในฐานะ “หน่วยรบ” เข้ามาแทนที่ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ในเวียตนามใต้ ซึ่งทำให้รูปแบบการรบในเวียตนามใต้ในบริบทของกองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เปลี่ยนไปจาก “การรบนอกแบบ” จากการฝึกกองกำลังอาสาสมัครขนาดเล็กเป็นนักรบแบบกองโจรโดยบรรดา “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน กลายเป็น “การรบในแบบ” โดยกำลังทหารของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ เป็นหน่วยรบหน่วยแรกที่เข้าสู่เวียตนามในปี 1965 โดยแต่เดิม “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกอเมริกัน อาทิ หน่วย Green beret เข้าทำหน้าที่ฝึกอาสาสมัครชาวเวียตนามใต้ให้เป็นนักรบกองโจรในหน่วยรบขนาดเล็ก กำลังทหารสหรัฐฯ ในสถานะเป็น “หน่วยรบ” จึงมีการตั้งฐานทัพกระจายไปทั่วดินแดนเวียตนามใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับเวียตนามเหนือ ลาว และกัมพูชา ด้วยเหตุที่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสามชาติมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก และมักใช้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานที่มั่นเพื่อข้ามพรมแดนไปโจมตีที่ตั้งของฝ่ายรัฐบาล

หมู่บ้านเคห์ซานเป็นที่มั่นของรัฐบาลเวียตนามใต้ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกวางตรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าบรูมองตานญาร์และไร่กาแฟ ห่างจากชายแดนลาวไปประมาณ 7 ไมล์ บนเส้นทาง 9 ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากทอดยาวจากบริเวณชายฝั่งผ่านที่ราบสูงทางตะวันตกและข้ามพรมแดนเข้าไปในลาว ฐานปฏิบัติการรบเคห์ซานมีต้นกำเนิดมาจากการสร้างสนามบินของกองกำลังพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 1962 ซึ่งมีป้อมปราการเก่าตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส  และต่อมากลายเป็นฐานทัพของอาสาสมัครพลเรือนที่ทำหน้าที่เฝ้าจับตาการแทรกซึมของกองทัพเวียตนามเหนือตามแนวชายแดนและคุ้มครองชาวบ้านในพื้นที่

กองกำลังหลักของสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในฐานปฏิบัติการเคห์ซาน (KSCB) ได้แก่ กำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ สองกองพัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกสหรัฐฯ กองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศเวียดนามใต้ รวมถึงกองกำลังของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) จำนวนไม่มาก กำลังทหารเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดกองพลสองถึงสามกองพลของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ (PAVN) ในตอนแรกกองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนเชื่อว่า ปฏิบัติการรอบ ๆ KSCB เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรบขนาดเล็กของ PAVN ในพื้นที่ชายแดน แต่เมื่อพบว่า PAVN กำลังเคลื่อนกำลังหลักเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว กองกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำใน KSCB จึงได้รับการเสริมกำลัง 

นายทหารระดับสูงของเวียตนามเหนือเชื่อมั่นว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” คงจะไม่แตกต่างไปจาก “สมรภูมิเดียนเบียนฟู” ในอดีตที่กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือสามารถทำการรบและเอาชนะกองทหารฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมได้ในที่สุด แต่การรบใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการปฏิบัติการ “ไนแองการา” ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งใหญ่ วันที่ 21 มกราคม 1968 กองกำลัง PAVN ได้ทำการปิดล้อม KSCB ในช่วงห้าเดือนต่อมา กองกำลัง KSCB และฐานทัพบนยอดเขาที่อยู่รอบๆ ฐานทัพถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ ปืนครก และจรวดของกองกำลัง PAVN ทุกวัน รวมถึงการโจมตีของทหารราบหลายครั้ง โดยในช่วงสามเดือนแรก เครื่องบินรบของสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดมากกว่า 114,810 ตัน และยิงปืนใหญ่มากกว่า 158,900 นัดในการปฏิบัติการป้องกันฐานฯ ดังกล่าว ในเดือนมีนาคม 1968 กองกำลังพิเศษผสมระหว่างนาวิกโยธิน-กองทัพบก สหรัฐฯ และ ARVN ได้ส่งหน่วยบรรเทาทุกข์ทางบก (ปฏิบัติการ “เพกาซัส”) ซึ่งในที่สุดก็สามารถบุกทะลวงไปยังฐานปฏิบัติการเคห์ซานได้

ผู้บัญชาการของสหรัฐฯ ถือว่า การป้องกัน “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ประสบความสำเร็จ อย่างดีเยี่ยม แต่หลังจากที่การปิดล้อมสิ้นสุดลงไม่นาน กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนก็ตัดสินใจที่จะรื้อถอน “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” แทนที่จะเสี่ยงต่อการสู้รบในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต วันที่ 19 มิถุนายน 1968 การอพยพและการทำลาย KSCB ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนัก นาวิกโยธินพยายามทำลายทุกสิ่งที่เหลืออยู่ก่อนที่พวกเขาจะอพยพถอนกำลังออกมา การโจมตีเล็กน้อยยังคงดำเนินต่อไปก่อนที่ KSCB จะปิดตัวลงอย่างถาวรในวันที่ 5 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ยังมีกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ อยู่รอบ ๆ เนินเขา 689 และการสู้รบในบริเวณใกล้เคียงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 1968  จนกระทั่งการอพยพถอนกำลังจบลงและทำให้การสู้รบสิ้นสุดลงด้วย

ภายหลังจากนั้น กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือประกาศชัยชนะใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ขณะที่กองกำลังสหรัฐฯ อ้างว่า ถอนกำลังจนหมดแล้ว เพราะไม่ต้องการใช้ประโยชน์จาก “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” อีกต่อไป นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” อาจทำให้ความสนใจขอสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เสียไปจากการเพิ่มกำลังของเวียตกงทางตอนใต้ก่อนการรุก Tet (ตรุษญวณ) ในช่วงต้นปี 1968 อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ พลเอกวิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ยืนยันว่าเจตนาที่แท้จริงของการรุก Tet คือการเบี่ยงเบนกำลังออกจาก “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” โดยกองทัพสหรัฐฯ สูญเสียเครื่องบิน KC-130 ลำหนึ่ง เครื่องบิน C-123 ลำสามลำ และเฮลิคอปเตอร์ 35 ลำ ในขณะที่เครื่องบิน 23 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 123 ลำได้รับความเสียหาย ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 274 นาย และบาดเจ็บมากกว่า 2,500 นาย ทหาร ARVN เสียชีวิต 229 นาย และบาดเจ็บ 436 นาย ทหาร PAVN เสียชีวิต 5,500 นาย (กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อน) 2,469 นาย (PAVN) และบาดเจ็บ 1,436 นาย นอกจากนี้ยังมีทหารของกองทัพลาวบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่งด้วย ตลอดปฏิบัติการกองกำลังของสหรัฐฯ ได้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการค้นหาและกำหนดเป้าหมายที่เป็นกองกำลัง PAVN และนวัตกรรมด้านการขนส่งเพื่อสนับสนุนฐานปฏิบัติการเคห์ซานอย่างเต็มที่

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#5 'มติอ่าวตังเกี๋ย' ผลักสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่สงครามเวียตนามเต็มตัว

ก่อนการเข้าสู่สงครามเวียตนามแบบเต็มตัวนั้น สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนเวียตนามใต้ด้วยการมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางทหารประจำกองทัพ เวียตนามใต้ราว 1,500 นาย และด้วยความรุนแรงในเวียตนามที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดี Kennedy ได้สั่งให้เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ประจำกองทัพเวียตนามใต้อีกกว่าสิบเท่าเป็น 16,000 นาย

วันที่ 31 กรกฎาคม 1964 เรือพิฆาต USS Maddox ได้เริ่มภารกิจรวบรวมข่าวกรองในอ่าวตังเกี๋ย โดยมีนาวาเอก George Stephen Morrison เป็นผู้บัญชากองกำลังอเมริกันในพื้นที่ดังกล่าวจากเรือธง USS Bon Homme Richard โดย USS Maddox อยู่ภายใต้คำสั่งไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่งทางเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือน้อยกว่า 4 ไมล์ จากเกาะ Hon Nieu Mê โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga ลอยลำอยู่ใกล้ ๆ วันที่ 1 สิงหาคม 1964 เรือลาดตระเวนของเวียตนามเหนือที่ติดตาม USS Maddox ซึ่งอยู่ในภารกิจลับเพื่อสนับสนุนการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (DESOTO) ใกล้น่านน้ำเวียตนามเหนือ และมีการรบกวนการสื่อสารของ USS Maddox หลายครั้งชี้ให้เห็นว่า เวียตนามเหนือกำลังเตรียมการที่จะโจมตี USS Maddox จึงถอยห่างออกมา แต่ในวันรุ่งขึ้น 2 สิงหาคม USS Maddox ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 28 นอตกลับมาลาดตระเวนอีกครั้ง แต่มีเรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือ 3 ลำ แล่นด้วยความเร็วสูงสุด 50 นอต ได้แสดงท่าทีที่เป็นการคุกคาม USS Maddox มีการก่อกวนการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า เรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือตั้งใจจะโจมตี USS Maddox เมื่อเรือเวียตนามเหนือแล่นมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ USS Maddox จึงเปลี่ยนเส้นทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต 

ตอนบ่ายของวันที่ 2 สิงหาคม 1964 ขณะที่เรือตอร์ปิโดเข้ามาใกล้ USS Maddox ก็ยิงเตือนไป 3 นัด จากนั้นเรือ เวียตนามเหนือก็เปิดฉากโจมตี USS Maddox ได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งว่า กำลังถูกโจมตีจากเรือ 3 ลำ ในระยะ 10 ไมล์ทะเล ขณะที่แล่นอยู่ห่าง 28 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเวียตนามเหนือในน่านน้ำสากล USS Maddox แจ้งว่า กำลังหลบหลีกการโจมตีด้วยตอร์ปิโดและได้เปิดฉากยิงโต้ตอบด้วยปืน 5 นิ้ว (127 มม.) เพื่อบังคับให้เรือตอร์ปิโดถอยออกไป แต่มีเรือตอร์ปิโด 2 ลำแล่นเข้ามาใกล้ไม่ถึง 5 ไมล์ทะเล และปล่อยตอร์ปิโดลำละลูก ซึ่งไม่เป็นผลเพราะแต่ละลูกไม่เข้าใกล้ USS Maddox เกินกว่า 100 หลาเลย ขณะที่ USS Maddox กำลังหลบอยู่นั้น เรือเวียตนามเหนือลำหนึ่งถูกยิงด้วยปืน 5 นิ้วของ USS Maddox การปล่อยตอร์ปิโดเริ่มผิดพลาด เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ F-8 4 ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga จากนั้น 15 นาทีหลังจาก USS Maddox ได้ยิงกระสุนเตือนก็เปิดฉากโจมตีเรือตอร์ปิโด P-4 ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า จมเรือตอร์ปิโด P-4 ได้หนึ่งลำ และเสียหายหนักอีกหนึ่งลำ และ USS Maddox ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากกระสุนขนาด 14.5 มม. จากปืนกลหนัก KPV ของเรือ P-4 เพียงนัดเดียวถูกตัวลำเรือ เมื่อกลับไปยังน่านน้ำเวียตนามใต้ USS Maddox ก็เข้าร่วมกับเรือพิฆาต USS Turner Joy ขณะที่ เวียตนามเหนืออ้างว่า USS Maddox ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดหนึ่งลูก และมีเครื่องบินรบอเมริกันถูกยิงตก

การโจมตีระลอกที่ 2 ในวันที่ 4 สิงหาคม  1964 หน่วยลาดตระเวนตามภารกิจ DESOTO ลาดตระเวนนอกชายฝั่ง เวียตนามเหนือ โดย USS Maddox และ USS Turner Joy เพื่อ ทำการ "อวดธง" หลังจากเหตุการณ์โจมตีครั้งแรก คราวนี้มีคำสั่งให้เรือจะไม่เข้าใกล้เกินกว่า 11 ไมล์จากชายฝั่งของ เวียตนามเหนือ ในช่วงเย็นและเช้าตรู่ของสภาพอากาศที่รุนแรงและทะเลหนัก เรือพิฆาตได้รับสัญญาณเรดาร์ โซนาร์ และสัญญาณวิทยุที่เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อโจมตีอีกครั้งโดยกองเรือของเวียตนามเหนือ เป็นเวลา 4 ชั่วโมงที่เรือรบสหรัฐฯ ทั้งสองลำยิงไปยังเป้าหมายที่ปรากฏบนเรดาร์ และการรบดำเนินไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า ได้จมเรือตอร์ปิโดโจมตีได้ 2 ลำ แต่ไม่ปรากฏซากปรักหักพัง และร่างลูกเรือ เวียตนามเหนือที่เสียชีวิต หรือหลักฐานทางกายภาพอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุการสู้รบที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ภายใน 30 นาทีหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมประธานาธิบดี Johnson ตัดสินใจโจมตีตอบโต้ (ตามปฏิบัติการ "Operation Pierce Arrow") ในวันเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดี Johnson มีการใช้ "สายด่วน" (Hot Line) คุยกับกรุงมอสโก และได้รับคำรับรองว่าโซเวียตไม่มีเจตนาในการขยายสงครามในเวียตนามให้รุนแรงขึ้น ดังนั้นเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 1964 ประธานาธิบดี Johnson ได้มีการปราศรัยต่อสาธารณชนเอเมริกันเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้โดยระบุว่า "ความมุ่งมั่นของชาวอเมริกันทุกคนที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อประชาชนและรัฐบาล เวียตนามใต้จะทวีความรุนแรงขึ้น" ในวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 10:40 น. หนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีหลังจากการปราศรัยของประธานาธิบดี Johnson เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ก็ไปถึงเป้าหมายใน เวียตนามเหนือ เครื่องบินทิ้งระเบิดฐานทัพเรือ 4 แห่ง และคลังน้ำมันในเมือง Vinh

หลังจากนั้น รัฐสภาอเมริกันได้ทำการออก "มติอ่าวตังเกี๋ย" (Gulf of Tonkin Resolution) อันมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในเวลาต่อมาโดยเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปใน เวียตนามใต้ เพราะมติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ ประธานาธิบดี Johnson ให้ใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องรอมติการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุน "สมาชิกหรือรัฐภาคีใด ๆ ของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (SEATO) ซึ่งรวมไปถึงการใช้กำลังทหารด้วย มติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลของประธานาธิบดี Johnson อาศัยอำนาจตามมติดังกล่าวเริ่มต้นการยกระดับความเกี่ยวข้องทางทหารของสหรัฐใน เวียตนามใต้ และเป็นการทำสงครามโดยเปิดเผยระหว่างเวียตนามเหนือกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสหรัฐฯ ถอนทหารจาก เวียตนามใต้ใน ปี 1973 ตามข้อตกลงสันติภาพปารีส 1973 (ลงนามเมื่อ 27 มกราคม 1973) เชลยศึกอเมริกันได้รับการปล่อยตัวโดยเวียตนามเหนือเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ และกำลังทหารอเมริกันถอนออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 29 มีนาคมในปีเดียวกัน 

ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกี่ยวกับเหตุการณ์การรบทางเรือที่อ่าวตังเกี๋ย ปี 1964 โดย John White อดีตนายทหารเรือได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ New Haven (CT) Register ในปี 1967 ว่า "ผมขอยืนยันว่าประธานาธิบดี Johnson รัฐมนตรีกลาโหม McNamara และประธานเสนาธิการร่วมได้ให้ข้อมูลเท็จแก่รัฐสภา ในรายงานของพวกเราเกี่ยวกับเรือพิฆาตสหรัฐฯ ซึ่งถูกโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย" ต่อมาในปี 1968 White ได้เดินทางมามาวอชิงตันเพื่อพบกับวุฒิสมาชิก Fulbright เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลของเขาโดยเฉพาะรายงานความผิดพลาดของโซนาร์ ต่อมาในปี 1981 นาวาเอก Herrick และ Robert Scheer นักข่าวตรวจสอบบันทึกปูมเรือของ Herrick อีกครั้ง เพื่อหาความจริงในการถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากรายงานครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 1964 ซึ่ง Herrick ได้ระบุว่า "เกิดการโจมตี" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีมูลความจริง บทความในปี 1981 ของ Herrick และ Scheer สรุปความไม่ถูกต้องของรารยงานครั้งแรกซึ่งแสดงว่า ไม่มีการโจมตีโดยเรือรบของเวียตนามเหนือในขณะนั้น แต่ผบ.และลูกเรือของ USS Maddox ทั้งหมดกล่าวว่า พวกเขามั่นใจว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น เป็นผลให้มีการโจมตีฐานทัพเรือของเวียตนามเหนือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านเชื้อเพลิงในระหว่างปฏิบัติการ Operation Pierce Arrow 

พลเรือตรี James Stockdale อดีตเชลยศึกใน เวียตนามเหนือ ผู้เป็นหนึ่งในนักบินของสหรัฐฯ ที่บินโจมตีในระลอกที่สอง เขียนไว้ในหนังสือ Love and War ปี 1984 ว่า "ผมอยู่ในที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อดูเหตุการณ์นั้น เรือพิฆาตของเราก็ยิงไปที่เป้าหมายผี เพราะไม่มีเรือ P-4 ที่นั่น ไม่มีอะไรที่นั่นเลย ทะเลที่มืดสนิทสว่างไปด้วยอำนาจการยิงของเรือรบอเมริกัน" โดย Stockdale ระบุอีกครั้งว่า “เห็น USS Turner Joy เล็งปืนไปยัง USS Maddox” Stockdale กล่าวว่า “เขาถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปกปิดเรื่องนี้” หลังจากที่ถูกยิงตก กลายเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ เรื่องนี้กลายเป็นภาระหนัก เขาได้กล่าวในภายหลังว่า เขากังวลว่าผู้ที่จับกุมจะบังคับให้เขาเปิดเผยสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีในระลอกที่ 2 

ปี 1995 Võ Nguyên Giáp อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนามได้พบกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ McNamara โดย Võ Nguyên Giáp ปฏิเสธว่า เรือรบเวียตนามเหนือไม่ได้โจมตีเรือพิฆาตอเมริกันในวันที่ 4 สิงหาคม 1964 ในขณะที่ยอมรับการโจมตีในวันที่ 2 สิงหาคม เทปการสนทนาของการประชุมหลายสัปดาห์หลังจากมติอ่าวตังเกี๋ย ถูกเผยแพร่เมื่อ ปี 2001 แสดงว่า McNamara ได้อธิบายข้อสงสัยให้กับประธานาธิบดี Johnson ว่า มีการโจมตีเรือรบอเมริกันเกิดขึ้น ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 Eugene Poteat อดีตเจ้าหน้าที่ CIA เขียนว่า เขาถูกถามในต้นเดือนสิงหาคม 1964 เพื่อตรวจสอบรายงานของเจ้าหน้าที่เรดาร์แสดงถึง การโจมตีของเรือตอร์ปิโดเวียตนามเหนือว่า เป็นจริงหรือเป็นการจินตนาการ เขาได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาสภาพอากาศและสภาพผิวน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในท้ายที่สุดเขาได้สรุปว่า ไม่มีเรือตอร์ปิโดในคืนที่สงสัย และทำเนียบขาวให้ความสนใจในการยืนยันว่า "มีการโจมตี ไม่ใช่ ไม่มีการโจมตี "

ในเดือนตุลาคม 2012 พลเรือตรี Lloyd "Joe" Vasey (เกษียณ) ถูกสัมภาษณ์โดย David Day ใน Asia Review และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พลเรือตรี Vasey ซึ่งอยู่บนเรือ USS Oklahoma City เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธชั้น Galveston ซึ่งแล่นอยู่ในอ่าวตังเกี๋ยด้วย และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 โดย USS Turner Joy ทำการส่งสัญญาณวิทยุรบกวนวิทยุสื่อสารของเวียตนามเหนือ ซึ่งสั่งการให้เรือตอร์ปิโดเปิดฉากโจมตี USS Turner Joy และ USS Maddox หลังจากนั้นไม่นานเรดาร์ได้รับ "หลายรายสัญญาณความเร็วสูง" ถูกล็อกและบันทึกโดย USS Turner Joy ซึ่งได้ยิงทำลายเป้าหมายที่ล็อกได้ โดยมีพยาน 18 นายทั้งลูกเรือและนายทหารซึ่งรายงานทุกแง่มุมในการโจมตี อาทิ ควันจากเรือตอร์ปิโดที่ถูกยิง (รายงานโดยบุคคลที่แยกกัน 4 นาย บนเรือพิฆาตแยกลำสอบสวน) การพบเห็นเรือตอร์ปิโดที่แล่นผ่าน ตลอดจนแสงไฟต่าง ๆ พยานทั้ง 18 นายเป็นพยานในการพิจารณาคดีที่เมืองโอลองกาโป ประเทศฟิลิปปินส์ โดยคำให้การของพวกเขาถูกจัดเก็บเป็นบันทึกสาธารณะ ในปี 2014 ซึ่งครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น John White ได้เขียน เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย – ห้าสิบปีต่อมา : เชิงอรรถเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงคราม เวียตนาม ได้สรุปยืนยันว่า รายงานโซนาร์ของ USS Maddox ทำงานผิดพลาด โดยที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Johnson เองก็รับรู้ ดังนั้น เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยตามเรื่องนี้จะ ถูก ผิด เท็จ จริง เป็นเช่นไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป แต่สิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ก็คือ ชีวิตของมนุษยชาติหลายล้านคนที่สูญสิ้นไปด้วยผลของสงครามที่เกิดจากเหตุการณ์นี้

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#4 “สงครามกลางเมืองในกัมพูชา” คร่าชีวิตคนนับล้าน

(15 เม.ย. 68) อีกหนึ่งสมรภูมิในสงครามอินโดจีนคือ “สงครามกลางเมืองในกัมพูชา” หลังจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกในเวียตนามใต้ในเดือนมีนาคม 1965 ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความพยายามในการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ ในไม่ช้าหน่วยอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ตามมา กองกำลังคอมมิวนิสต์ (เวียตนามเหนือและเวียตกง) ได้เพิ่มการโจมตีทั้งกองทหารอเมริกันและกองทัพเวียตนามใต้ สหรัฐฯ จึงส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายในเวียตนามเหนือ เมื่อเจ้าสีหนุกษัตริย์กัมพูชาทรงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา และทรงเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเวียตนามเหนือ แม้ว่าพระองค์จะทรงรู้สึกไม่ไว้วางใจเวียตนามเช่นเดียวกับเขมรแดงก็ตาม ในปี 1967 กองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังกบฏเวียตนามใต้ (เวียตกง) ปฏิบัติการจากเขตป่ารักษาพันธุ์ซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชา กองกำลังสหรัฐและเวียตนามใต้ได้ทำการตอบโต้ด้วยการบุกข้ามพรมแดนมาโจมตีกองกำลังดังกล่าวในกัมพูชา 

เดือนมีนาคม 1969 ในความพยายามที่จะทำลายเส้นทางการขนส่งเสบียงของเวียตนามเหนือ ประธานาธิบดีนิกสันได้สั่งการทางลับให้กองทัพอากาศสหรัฐทำการทิ้งระเบิดโดยไม่มีการจำกัดพื้นที่ในเขตกัมพูชาตะวันออก ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าสีหนุได้ทรงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะนั้น สถานะของพระองค์ในกัมพูชากลับไม่มั่นคงอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม 1970 ขณะที่พระองค์เสด็จเยือนสหภาพโซเวียต สมัชชาแห่งชาติกัมพูชาได้ลงมติถอดถอนพระองค์ออกจากตำแหน่งประมุข หลังจากที่มีการประท้วงอย่างกว้างขวางในเมืองหลวงเพื่อต่อต้านการมีอยู่ของกองทัพเวียตนามเหนือในประเทศ ในเวลาต่อมาจอมพล Lon Nol ได้เข้าควบคุมรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประขาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชอาณาจักรกัมพูชา) เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (สาธารณรัฐกัมพูชา) เจ้านโรดมสีหนุจึงเสด็จไปประทับยังกรุงปักกิ่ง และทรงรับคำแนะนำจากจีนให้ทรงต่อต้านการรัฐประหารโดยการเข้าควบคุมรัฐบาลแนวร่วมพลัดถิ่น ซึ่งรัฐบาลดังกล่าวเป็นพันธมิตรกับจีนและเวียตนามเหนือ และใช้กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) ที่นำโดย Saloth Sar ซึ่งเพียงไม่กี่วันก่อนนั้นได้สู้รบกับกองทัพกัมพูชาของพระองค์เอง

รัฐบาลใหม่ของจอมพล Lon Nol ได้รับความนิยมในช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำมั่นสัญญาอันเพ้อฝันของเขาที่จะกำจัดกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียตนามออกจากกัมพูชา แต่ในความเป็นจริง การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นได้ลากกัมพูชาเข้าสู่ความขัดแย้งในเวียตนามอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 1970 กองกำลังเฉพาะกิจของกองทัพสหรัฐและเวียตนามใต้บุกโจมตีกัมพูชาตะวันออก แต่กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้ล่าถอยไปทางตะวันตกแล้ว จากนั้นรัฐบาล Lon Nol ได้เปิดฉากขึ้นโจมตีสองครั้ง และถูกกองทัพเวียตนามเหนือโจมตีกลับ แล้วหลังจากนั้น กองทัพของรัฐบาล Lon Nol ก็เริ่มตั้งรับ เมื่อการสนับสนุนเขมรแดงของเวียตนามเหนือลดลงในปี 1973 หลังจากข้อตกลงหยุดยิงที่ปารีสกับกองทัพสหรัฐ แต่เขมรแดงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง แต่พวกเขายังคงถูกโจมตีทางอากาศจากสหรัฐฯ อย่างหนัก แม้ว่า สหรัฐฯ และกัมพูชาจะไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามต่อกัน และกองทหารสหรัฐเองก็ไม่ประสบภัยอันตรายจากฝ่ายกัมพูชาก็ตาม แม้ว่าการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทำให้การโจมตีของเขมรแดงต่อกรุงพนมเปญช้าลง แต่กลับเป็นสร้างความหายนะให้กับชนบทรอบเมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นแทน ในปลายปี 1973 รัฐบาล Lon Nol ก็ควบคุมได้เพียงแต่กรุงพนมเปญ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ และเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้น ระหว่างนั้นเจ้าสีหนุก็ทรงเสื่อมความสำคัญลง เมื่อสิ้นสุดปี 1973 เขมรแดงได้ครอบงำทุกองค์ประกอบของกลุ่มต่อต้านไว้หมดแล้ว แต่คงอ้างว่า เจ้าสีหนุยังทรงเป็นผู้นำเขมรแดงอยู่ ขณะนั้นระบอบการปกครองอันโดดเดี่ยวของ Lon Nol ในกรุงพนมเปญยังคงได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมาย และที่สุดในเดือนเมษายน 1975 รัฐบาลของ Lon Nol ก็ล่มสลายลง กองกำลังเขมรแดงได้บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญอย่างรวดเร็ว และสั่งให้ชาวเมืองละทิ้งเมืองไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชนบททันที กรุงพนมเปญและเมืองเล็ก ๆ ทั่วประเทศถูกกวาดล้างในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ชาวกัมพูชาหลายพันคนเสียชีวิตระหว่างการถูกบังคับเดินทางไปยังชนบท และในเวลาต่อมา สภาพความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในห้วงเวลานั้นมีชาวกัมพูชานับล้านคนพยายามอพยพหลบหนีออกจากกัมพูชา และในจำนวนนั้นหลายแสนคนได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในค่ายผู้อพยพในราชอาณาจักรไทย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

(12 เม.ย. 68) ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 ‘สงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม’

“ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ได้ยุติสงครามระหว่างขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ “ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ก็แบ่งเวียดนามออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง เวียตมินห์ซึ่งนำโดย ‘โฮจิมินห์’ ควบคุมเวียตนามภาคเหนือ และฝรั่งเศสควบคุมภาคใต้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1956 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสำหรับทั้งประเทศ ฝรั่งเศสส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ‘โง ดินห์ เดียม’ ในภาคใต้ แต่ ‘เดียม’ ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งจึงส่งผลให้เกิดสงครามอีกครั้งหนึ่ง ‘เดียม’ ซึ่งเป็นนับถือโรมันคาธอลิก ได้ออกกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่มากมาย จึงทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเวียดนามใต้ส่วนใหญ่

แม้ว่าในข้อตกลงจะระบุว่า “เส้นแบ่งเขตทางทหาร (เส้นขนานที่ 17)” เป็นเพียงการใช้ชั่วคราวและไม่ใช่ขอบเขตทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐอเมริกากลับยอมรับให้เวียดนามใต้เป็นประเทศอิสระ และให้การสนับสนุนทั้งทางการทหารและการเงิน แต่แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติของเวียดนามใต้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ (‘เวียดกง (VC)’ หรือที่ทหารอเมริกันเรียกว่า ‘ชาลี’) ไม่ยอมรับการบริหารของ ‘เดียม’ ซึ่งพวกเขามองว่า ‘เดียม’ เป็นหุ่นเชิดของอเมริกัน ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ พวกเขาเริ่มการต่อสู้เพื่อรวมเวียดนามให้เป็นหนึ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามและต่อต้านการเข้าทาแทรกแซงด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา

ในระยะแรกของสงคราม สหรัฐอเมริกาเพียงแต่จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางการทหารจำนวนหนึ่งให้กับเวียดนามใต้เท่านั้น แต่หลังจาก “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin incident)*” ในปี 1963 ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจส่ง “กองกำลังภาคพื้นดิน” จำนวนหลายพันนายไปประจำการในเวียตนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ และทำให้ในช่วงสงครามระหว่างปี 1963–1975 มีทหารสหรัฐจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านนายถูกส่งไปผลัดเปลี่ยนในการปฏิบัติการรบในเวียตนามใต้ 
*เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย เป็นเหตุการณ์ปะทะทางเรือในอ่าวตังเกี๋ย นอกชายฝั่งเวียตนามเหนือ ระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 สิงหาคม 1964 เหตุการณ์นี้มีการรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1964 โดยระบุว่า เป็นปฏิบัติการโจมตีโดยเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือต่อเรือพิฆาตแมดด็อกซ์และเทิร์นเนอร์จอยของสหรัฐฯ 2 ครั้ง นำไปสู่การลง “มติอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันมีอำนาจจนสามารถเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียตนามได้เป็นอย่างมาก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศที่สำคัญสำหรับปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม นอกจากไทยแล้ว ยังมี ฟิลิปปินส์ อดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับเอกราชในปี 1946 เป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญสำหรับการทำสงครามของสหรัฐฯ เช่นกัน เช่นฐานทัพเรืออ่าวซูบิก และฐานทัพอากาศคลาร์ก สำหรับพันธมิตรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่เหล่านี้ยังได้เลือกโดยกองทัพสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการพักผ่อนและฟื้นฟูของทหารอเมริกันที่เข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้เติบโต (เว้นออสเตรเลีย) และส่งผลให้การท่องเที่ยวด้านอบายมุขและบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน (โดยเฉพาะไทย)

ด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคนี้ จึงทำให้เกิด “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO)” ตั้งขึ้นในปี 1954 เป็นองค์การความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค (อ่าน “ตัวตนที่เลือนลาง!! หวนรำลึก SEATO องค์การ ‘เสือกระดาษ’ แห่งภูมิภาคอาเซียน”

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#1 'สงครามเวียดนาม' ปฐมบทของสงครามอินโดจีนยุคใหม่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกต่างพากันกลับมายังดินแดนอาณานิคมของตนซึ่งถูกคู่สงครามยึดครองในระหว่างสงครามฯ เพื่อกลับมากอบโกยทรัพยากรของดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นกลับไปยังประเทศของตนอีกครั้งหนึ่ง และ 'ฝรั่งเศส' ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนประกอบด้วย 3 รัฐ ได้แก่ เวียตนาม ลาว และกัมพูชา 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 รัฐนั้น ถูกยึดครองโดย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และดินแดนส่วนหนึ่งในกัมพูชาและลาวถูกไทยซึ่งเคยครอบครองดินแดนส่วนนั้นยึดคืน แต่ได้รับคืนภายหลังสงครามฯ ฝรั่งเศสก็ได้รับดินแดนดังกล่าวคืนจากไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะซึ่งประกอบด้วย 3 ชาติหลักคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส 

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วค่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันคือ ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต และชาติร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนประเทศบริวารอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสงครามที่มีเพียงการเผชิญหน้าหรือที่เรียกว่า 'สงครามเย็น (Cold war)' และเกิดสงครามที่มีลักษณะตัวแทน (Proxy war) ของสองฟากฝ่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ สงครามระหว่างสองเกาหลี สงครามในตะวันออกกลาง ฯลฯ และสงครามอินโดจีนก็เป็นหนึ่งในสงครามที่มีลักษณะดังกล่าว

สงครามอินโดจีนแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1954 เป็นสงครามที่ขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถทำการรบเอาชนะกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และระยะที่ที่ 2 คือ สงครามเวียตนามหรือสงครามอเมริการะหว่างปี 1955-1975 ซึ่งเวียดนามเหนือและเวียตกงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนสามารถเอาชนะและผนวกเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรส่วนหนึ่งได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน 1975

สงครามในอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่และรู้สึกได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของปริมาณลูกระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินรบแล้ว กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปริมาณระเบิดทั้งหมดที่ทุกฝ่ายทิ้งในพื้นที่ทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกัน โดยเฉพาะในลาวซึ่งกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก ทุ่นระเบิดหรือสนามกับระเบิดยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในสงครามครั้งนี้ และส่งผลทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และในระดับที่น้อยกว่าคือ ไทย ยังคง บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากกับระเบิดและระเบิดนานาชนิดที่ยังคงตกค้างอยู่ในปริมาณมหาศาลเป็นประจำ

สงครามอินโดจีนเริ่มต้นขึ้นจากสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวเวียตนามเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งสงครามดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีน นอกจากนี้แล้วยังเป็นสงครามแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมอีกด้วย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนโดยโซเวียตและฝ่ายที่สนับสนุนโดยจีนในปี 1961 ซึ่งจุดแตกหักก็คือสงครามในปี 1969ระหว่าง 'โซเวียต' กับ 'จีน' ซึ่งเคยเป็นประเทศ 'พี่น้อง' ร่วมอุดมการณ์ในอดีต

ภูมิหลังและสงครามอินโดจีนครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นเจ้าอาณานิคมแทนที่จีนและสยาม (ไทย) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคในขณะนั้นคือเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมด เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้ตั้งเป้าที่จะยึดเอาดินแดนอาณานิคมคืน แต่ถูกพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา คัดค้าน ลาวและกัมพูชาจึงได้รับเอกราช แต่ไม่นานรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็เผชิญกับกองกำลังกบฏคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีน

สำหรับเวียตนามแล้ว สถานการณ์ภายในมีความซับซ้อนกว่าขึ้นมาก เดิมฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันว่า จะมอบดินแดนตอนเหนือของเวียตนามจะมอบให้จีนคณะชาติดูแล และมอบให้อังกฤษดูแลดินแดนตอนใต้จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเวียตนามสำเร็จ แต่ในเวลานั้นทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน ได้แก่ สงครามกลางเมืองในจีน และการก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในมาลายา ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกว่าในเวียตนามได้ “เวียตมินห์” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอาณานิคมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จึงได้ประกาศเอกราชในดินแดนตอนเหนือ (เหนือเส้นขนานที่ 17) ในขณะที่ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทอำนาจอีกครั้งในเวียตนามตอนใต้ ในปี 1947 ฝรั่งเศสและเวียตนามเหนือก็เปิดฉากสงครามระหว่างกัน หลังปี 1949 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้ให้การสนับสนุนเวียตมินห์ (เวียตนามเหนือ) อย่างเต็มที่ โดย สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนฝรั่งเศส แต่ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันไปสนับสนุนฝรั่งเศสในเวียตนาม และภายหลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทำให้เกิดข้อตกลงเจนีวาในปี 1954 ซึ่งยุติสงครามในครั้งนั้นลง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า 'เวียตนาม' ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น 'เวียดนาม' สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top