มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

(12 เม.ย. 68) ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 ‘สงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม’

“ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ได้ยุติสงครามระหว่างขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ “ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ก็แบ่งเวียดนามออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง เวียตมินห์ซึ่งนำโดย ‘โฮจิมินห์’ ควบคุมเวียตนามภาคเหนือ และฝรั่งเศสควบคุมภาคใต้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1956 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสำหรับทั้งประเทศ ฝรั่งเศสส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ‘โง ดินห์ เดียม’ ในภาคใต้ แต่ ‘เดียม’ ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งจึงส่งผลให้เกิดสงครามอีกครั้งหนึ่ง ‘เดียม’ ซึ่งเป็นนับถือโรมันคาธอลิก ได้ออกกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่มากมาย จึงทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเวียดนามใต้ส่วนใหญ่

แม้ว่าในข้อตกลงจะระบุว่า “เส้นแบ่งเขตทางทหาร (เส้นขนานที่ 17)” เป็นเพียงการใช้ชั่วคราวและไม่ใช่ขอบเขตทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐอเมริกากลับยอมรับให้เวียดนามใต้เป็นประเทศอิสระ และให้การสนับสนุนทั้งทางการทหารและการเงิน แต่แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติของเวียดนามใต้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ (‘เวียดกง (VC)’ หรือที่ทหารอเมริกันเรียกว่า ‘ชาลี’) ไม่ยอมรับการบริหารของ ‘เดียม’ ซึ่งพวกเขามองว่า ‘เดียม’ เป็นหุ่นเชิดของอเมริกัน ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ พวกเขาเริ่มการต่อสู้เพื่อรวมเวียดนามให้เป็นหนึ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามและต่อต้านการเข้าทาแทรกแซงด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา

ในระยะแรกของสงคราม สหรัฐอเมริกาเพียงแต่จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางการทหารจำนวนหนึ่งให้กับเวียดนามใต้เท่านั้น แต่หลังจาก “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin incident)*” ในปี 1963 ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจส่ง “กองกำลังภาคพื้นดิน” จำนวนหลายพันนายไปประจำการในเวียตนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ และทำให้ในช่วงสงครามระหว่างปี 1963–1975 มีทหารสหรัฐจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านนายถูกส่งไปผลัดเปลี่ยนในการปฏิบัติการรบในเวียตนามใต้ 
*เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย เป็นเหตุการณ์ปะทะทางเรือในอ่าวตังเกี๋ย นอกชายฝั่งเวียตนามเหนือ ระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 สิงหาคม 1964 เหตุการณ์นี้มีการรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1964 โดยระบุว่า เป็นปฏิบัติการโจมตีโดยเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือต่อเรือพิฆาตแมดด็อกซ์และเทิร์นเนอร์จอยของสหรัฐฯ 2 ครั้ง นำไปสู่การลง “มติอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันมีอำนาจจนสามารถเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียตนามได้เป็นอย่างมาก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศที่สำคัญสำหรับปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม นอกจากไทยแล้ว ยังมี ฟิลิปปินส์ อดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับเอกราชในปี 1946 เป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญสำหรับการทำสงครามของสหรัฐฯ เช่นกัน เช่นฐานทัพเรืออ่าวซูบิก และฐานทัพอากาศคลาร์ก สำหรับพันธมิตรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่เหล่านี้ยังได้เลือกโดยกองทัพสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการพักผ่อนและฟื้นฟูของทหารอเมริกันที่เข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้เติบโต (เว้นออสเตรเลีย) และส่งผลให้การท่องเที่ยวด้านอบายมุขและบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน (โดยเฉพาะไทย)

ด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคนี้ จึงทำให้เกิด “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO)” ตั้งขึ้นในปี 1954 เป็นองค์การความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค (อ่าน “ตัวตนที่เลือนลาง!! หวนรำลึก SEATO องค์การ ‘เสือกระดาษ’ แห่งภูมิภาคอาเซียน”

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล