Monday, 28 April 2025
สงครามเวียดนาม

‘ลาว’ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามเวียดนาม ประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดในโลกที่ไม่ใครสนใจ

(7 มิ.ย. 66) ในช่วงสงครามเวียดนาม ประเทศลาวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มอย่างหนัก จนทำให้ประเทศนี้ มีอัตราระเบิดต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลก

1.) จนถึงทุกวันนี้ยังมีชาวลาวต้องเสียชีวิตจากระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งเอาไว้ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่กวาดล้างระเบิด UXO ของลาวเสียต้องสละชีวิตไป 3 คน และบาดเจ็บ 2 คนจากเหตุระเบิดในหมู่บ้านกิโลเมตร 38 เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก จากการรายงานของ Laotian Times สื่อภาษาอังกฤษในลาว

2.) UXO (Unexploded ordnance) หรือระเบิดที่ยังไม่ได้ถูกจุดชนวน ถูกทิ้งไว้โดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (หรือสงครามเวียดนาม) ทำให้ ‘ลาวถือเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่สุดในโลกในอัตราต่อหัวประชากร’ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Legacies of War องค์กรที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิด ในยุคสงครามเวียดนามในประเทศลาว และสนับสนุนการกวาดล้างระเบิดที่ยังไม่ระเบิด

3.) ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯ กำลังรบในเวียดนามอยู่นั้น ในลาวก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาด้วยระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือ ‘ขบวนการปะเทดลาว’ ที่เอียงไปทางเวียดนามและฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทำให้ลาวถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ กลายเป็นสงครามที่เรียกว่า ‘สงครามลับ’ ในลาว

4.) จากข้อมูลของ Legacies of War ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2516 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดในลาวมากกว่า 2 ล้านตัน ระหว่างภารกิจทิ้งระเบิด 580,000 ครั้ง ซึ่งเท่ากับเครื่องบินบรรทุกระเบิดไปทิ้งทุกๆ 8 นาทีตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 9 ปี การทิ้งระเบิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสงครามลับในลาวเพื่อสนับสนุนรัฐบาลลาว เพื่อต่อต้านขบวนการปะเทดลาวที่ปักหลักตามภูเขา และเพื่อสกัดกั้นฝ่ายเวียดนามเหนือในจากการใช้ ‘เส้นทางโฮจิมินห์’ ซึ่งเป็นทางลัดที่ฝ่ายเวียดนามเหนือตัดเข้ามาในลาวเพื่อเข้าโจมตีเวียดนามใต้

5.) แม้สงครามจะจบลงแล้ว ด้วยการถอนตัวจากสงครามเวียดนาม (หรือพ่ายแพ้) ของสหรัฐฯ และชัยชนะของเวียดนามเหนือและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาว แต่ระเบิดมากถึงหนึ่งในสามไม่ระเบิด ทำให้แผ่นดินลาว ‘ปนเปื้อน’ ไปด้วย UXO จำนวนมาก ผู้คนกว่า 20,000 คนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจาก UXO ในประเทศลาวนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดยุติลง ตามข้อมูลของ Legacies of War

6.) แต่มันไม่ใช่ระเบิดเป็นลูกใหญ่ๆ เท่านนั้น เพราะส่วนใหญ่มัน คือ ‘ระเบิดลูกปราย’ (Cluster munition/cluster bomb ) ที่เป็นระเบิดลูกเล็กๆ ที่อยู่ในระเบิดลูกใหญ่อีกต่อหนึ่ง มันถูกออกแบบมาเพื่อทำลายรันเวย์หรือสายส่งกำลังไฟฟ้า เพื่อกระจายอาวุธเคมีหรือชีวภาพ หรือเพื่อกระจายทุ่นระเบิด แต่ในสงครามลับในลาว มันถูกทิ้งแบบปูพรมเพื่อทำลายขบวนการคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตามป่าทึบ

7.) ระเบิดลูกปรายลูกใหญ่แต่ละลูกบรรจุลูกระเบิดเดี่ยว หรือที่เรียกว่า ‘บอมบี’ (bombies) หลายร้อยลูก ซึ่งมีขนาดประมาณลูกเทนนิส ประมาณ 30% ของระเบิดเหล่านี้ยังไม่เกิดการระเบิด มันถูกทิ้งไว้ในแผ่นดินลาวมากมายมหาศาล รอวันที่ผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะไปพบ แล้วหยิบมันขึ้นมาหรือโยนเล่นโดยไม่รู้เรื่อง แล้วก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจากระเบิดคลัสเตอร์ในโลกเกิดขึ้นที่ลาว

8.) Legacies of War เปิดเผยว่าลาวถูกทิ้งระเบิดลูกปรายกว่า 270 ล้านลูกในช่วงสงครามเวียดนาม (มากกว่าการทิ้งระเบิดในอิรัก 210 ล้านลูกในปี 2534, 2541 และ 2549 รวมกัน) มากถึง 80 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด เกือบ 40 ปีผ่านไปหลังสงคราม น้อยกว่า 1% ของระเบิดเหล่านี้ที่ถูกทำลาย และพื้นที่ที่เต็มไปด้วยระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาวคือแถบแขวงเชียงขวาง และแขวงตอนกลางและตอนใต้ เช่น คำม่วน สะหวันนะเขต, สาละวัน, อัตตะปือ, เซกอง และบางส่วนของจำปาสัก

9.) สถานการณ์ทุกวันนี้เริ่มที่จะดีขึ้นมาบ้าง เพราะในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บล้มตายรายใหม่ในลาวเพียง 50 รายจากระเบิดลูกปราย ลดลงจาก 310 รายในปี 2551 อุบัติเหตุเกือบ 60% ส่งผลให้เสียชีวิต และ 40% ของเหยื่อเป็นเด็ก (เช่นไปพบลูกบอมบีแล้วคิดว่าเป็นของเล่นแล้วนำมาโยนใส่กัน) จากข้อมูลของ Legacies of War

10.) สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ทอดทิ้งลาว หลังจากรื้อฟื้นความสัมพันธ์แล้ว สหรัฐฯ ก็ช่วยเหลือลาวในการกู้ระเบิดอยู่เนืองๆ เพียงแต่มันเป็นเงินที่เทียบไม่ได้กับงบประมาณที่สหรัฐฯ ทุ่มเทไปกับการ ‘ทำลายล้างลาว’ เพราะในช่วงสงคราม สหรัฐฯ ใช้เงิน 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน เป็นเวลา 9 ปีในการทิ้งระเบิดลาว Legacies of War ประเมินว่า ในเวลาเพียง 10 วันของการทิ้งระเบิดที่ลาว สหรัฐฯ ใช้เงินไป 130 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าที่ใช้ในการเคลียร์ระเบิดในลาวตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ โศกนาฏกรรมแห่งสงครามเวียดนาม จากน้ำมือของ ‘ทหารอเมริกัน’ และการปกปิดความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ

‘Mỹ Lai’ เหตุการณ์สังหารหมู่โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ

มีภาพยนตร์ Hollywood มากมายที่คอยตอกย้ำให้คนชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นอดีตศัตรู ต้องตกเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามต่าง ๆ การก่อการร้าย ฯลฯ โดยผู้ร้ายก็มักจะเป็นต่างชาติ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, โซเวียต, อาหรับ, ตาลีบัน ฯลฯ แม้กระทั่งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้ สื่อตะวันตกต่างก็เสนอข่าวเพียงด้านเดียว กล่าวหาให้ร้ายปาเลสไตน์เป็นผู้ร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกระทำโดยกองทัพอิสราเอลแท้ ๆ

เรื่องของการสังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ เป็นการสังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ที่ไม่มีอาวุธมากถึง 504 คน โดยทหารสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 ในระหว่างสงครามเวียดนาม Mỹ Lai เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล Son My ตั้งอยู่ในจังหวัด Quang Ngai ห่างจากตัวจังหวัด Quang Ngai ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 11 กม. พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามโดยทหารสหรัฐฯ ว่า ‘Pinkville’ เนื่องจากมีสีแดงที่ใช้บ่งบอกถึงพื้นที่ Mỹ Lai ที่มีประชากรหนาแน่นบนแผนที่ทางทหาร

เมื่อ ‘กองร้อย Charlie’ แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลทหารราบที่ 11 มาถึงเวียดนามในเดือนธันวาคม 1967 พื้นที่ ‘Pinkville’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งซ่องสุม’ ของเวียดกงที่ใช้ในการหลบซ่อน ในเดือนมกราคม 1968 กองร้อย Charlie เป็น 1 ใน 3 กองร้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายกองพันที่ 48 ซึ่งเป็นหน่วยรบของเวียดกงที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยดังกล่าวปฏิบัติการในจังหวัด Quang Ngai ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ทหารสังกัดกองร้อย Charlie ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดและกับดักไปหลายสิบคน ทั้งยังประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองพันที่ 48 หลังจากความพ่ายแพ้ของการโจมตีใน ‘ปฏิบัติการตรุษญวน’ (Tet) เวียดกงได้กลับมาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังสหรัฐฯ

‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie

หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า กองพันเวียดกงที่ 48 ได้เข้าไปซ่อนตัวในพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai (แต่ในความเป็นจริงแล้วกองพันเวียดกงที่ 48 ได้ฝังตัวในที่ราบสูง Quang Ngai ทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 65 กม.)

ในการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie ได้บอกกับทหารของเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับโอกาสสู้รบกับศัตรูที่หลบหนีพวกเขามานานกว่าหนึ่งเดือน ด้วยเชื่อว่า พลเรือนชาวเวียดนามใต้ได้อพยพออกจากพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai ไปยังเขตเมือง Quang Ngai หมดแล้ว เขาจึงสั่งว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่ใน Mỹ Lai จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสมาชิกหรือแนวร่วมของเวียดกง ภายใต้กฎการสู้รบเหล่านี้ ทหารมีอิสระที่จะยิงใครหรืออะไรก็ได้”

นอกจากนี้ กองทหารของกองร้อย Charlie ยังได้รับคำสั่งให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง และฆ่าปศุสัตว์ทั้งหมดด้วย

‘ร้อยโท William Calley’ ผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อย Charlie

ก่อนเวลา 07.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 1968 ตำบล Son My ถูกปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนัก เพื่อเคลียร์พื้นที่ลงจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ของกองร้อย Charlie แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นการบังคับพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ทยอยออกจากพื้นที่ให้กลับไปที่หมู่บ้าน Mỹ Lai เพื่อหาที่กำบัง

ต่อมา หมวดที่ 1 ของกองร้อย Charlie นำโดย ‘ร้อยโท William Calley’ ได้บุกเข้าไปทางตะวันตกของหมู่บ้านขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ ‘Xom Lang’ แต่ถูกทำเครื่องหมายระบุว่า เป็นหมู่บ้าน Mỹ Lai บนแผนที่ทางทหารของสหรัฐฯ เวลา 7.50 น. ส่วนที่เหลือของกองร้อย Charlie ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว และร้อยโท Calley นำทหารหมวดที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้าน Mỹ Lai ไป

แม้ว่าพวกเขาจะไม่พบการต่อต้านเลย แต่ทหารหมวดที่ 1 ก็เริ่มสังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ตามอำเภอใจ ในชั่วโมงถัดมา กลุ่มของผู้หญิง เด็ก และชายสูงอายุก็ถูกล้อมและยิงทิ้งในระยะประชิด นอกจากนั้นแล้วทหารสหรัฐฯ ยังทำการข่มขืนหญิงสาวอีกหลายคน

หมวดที่ 2 ของกองร้อย Charlie เคลื่อนพลขึ้นเหนือจากเขตลงพื้น สังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปอีกหลายสิบคน ในขณะที่หมวดที่ 3 ที่ตามมาก็ได้จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ และผู้รอดชีวิตที่เหลือถูกกราดยิง เวลา 09.00 น. ร้อยโท Calley สั่งประหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้มากถึง 150 คน โดยต้อนคนเหล่านั้นลงไปในคูน้ำ

ทหารสังกัดกองร้อย Charlie จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่ Mỹ Lai

‘จ่า Ron Haeberle’ ช่างภาพของกองทัพบกสหรัฐฯ สังกัดกองร้อย Charlie บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเขาใช้กล้องถ่ายภาพขาวดำสำหรับบันทึกอย่างเป็นทางการของกองทัพบก แต่ถ่ายเป็นสีด้วยกล้องส่วนตัวของเขา ภาพขาวดำหลายภาพเป็นภาพทหารขณะที่กำลังซักถามนักโทษ ค้นทรัพย์สิน และเผากระท่อม แม้ว่าการทำลายทรัพย์สินจะละเมิดคำสั่งบัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของภารกิจค้นหาและทำลาย และไม่ได้เป็นหลักฐานโดยตรงในกรณีอาชญากรรมสงคราม

ภาพถ่ายสีส่วนตัวของ Haeberle ซึ่งเขาไม่ได้ส่งต่อให้กองทัพบก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Cleveland Plain Dealer and Life’ ในเวลาต่อมา ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยที่เกลื่อนไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก และทารกที่เสียชีวิต และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กที่กำลังหวาดกลัวกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะถูกยิง ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และจะกลายเป็นชุดภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

‘จ่า Hugh Thompson’ นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ยุติการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

มีรายงานว่าการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai สิ้นสุดลงหลังจากที่ ‘จ่า Hugh Thompson’ ซึ่งเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภารกิจลาดตระเวน เขาได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดระหว่างทหารกับชาวบ้านที่กำลังล่าถอย และขู่ว่าจะเปิดฉากยิงทหารกองร้อย Charlie หากพวกเขายังคงโจมตีพลเรือนชาวเวียดนามใต้ต่อไป

เขาบอกว่า “เราบินไปมาเรื่อย ๆ… และในเวลาไม่นานนักเราก็เริ่มสังเกตเห็นศพจำนวนมากขึ้น ทุกที่ที่เรามอง เราจะเห็นศพเหล่านี้เป็นเด็กทารก เด็กอายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบ ผู้หญิง ผู้ชายที่แก่มาก ไม่ใช่คนในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใด” Thompson กล่าวในเวทีการสัมมนา ‘เหตุการณ์ Mỹ Lai’ ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมื่อปี 1994

Thompson และลูกเรือของเขานำผู้รอดชีวิตหลายสิบคนบินไปรับการรักษาพยาบาล ในปี 1998 Thompson และลูกเรืออีก 2 คนได้รับเหรียญรางวัลทางทหาร ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับความกล้าหาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรงกับศัตรู

‘พันตรี Colin Powell’ ในเวียดนามใต้

เมื่อการสังหารหมู่ Mỹ Lai สิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ในบรรดาเหยื่อเป็นผู้หญิง 182 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 17 คน และเด็ก 173 คน รวมถึงทารก 56 คน เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บังคับบัญชากองร้อย Charlie และกองพลที่ 11 จึงพยายามมองข้ามเหตุนองเลือดนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการภายใน หนึ่งในผู้สืบสวนภายในของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ Mỹ Lai คือ ‘พันตรี Colin Powell’ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ ‘ประธานาธิบดี George W. Bush’

ตามรายงานของ Powell ระบุว่า “แม้ว่าอาจมีบางกรณีของการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนและนักโทษเชลยศึก แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนคติทั่วไปของทหารทั้งกองพล”

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารอเมริกัน Powell กล่าวว่า “ในการหักล้างโดยตรงต่อการแสดงภาพนี้คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกองอเมริกากับชาวเวียดนามนั้นดีเยี่ยม” คำกล่าวนี้ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเยาะเย้ยว่าเป็น ‘การล้างบาป’ และกล่าวหาว่า Powell เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ช่วยกันปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

‘Ronald Ridenhour’ ผู้เปิดเผยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

การปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งทหารในกองพลที่ 11 ซึ่งเคยได้ทราบรายงานการสังหารหมู่ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าร่วม ได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กระจ่างขึ้น หลังจากเขียนจดหมายถึง ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยไม่มีการตอบกลับ ในที่สุด Ridenhour ก็ให้สัมภาษณ์กับ Seymour Hersh นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1969 ท่ามกลางความโกลาหลระหว่างประเทศและการประท้วงสงครามเวียดนาม

ซึ่งมีการติดตามการเปิดเผยของ Ridenhour กองทัพบกสหรัฐฯ สั่งให้มีการสอบสวนเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai และความพยายามปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง

การสอบสวนนำโดย ‘พลโท William Peers’ ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคม 1970 ได้เสนอให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 28 นายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดการสังหารหมู่ การพิจารณาคดี Mỹ Lai เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 ต่อมา กองทัพได้ตั้งข้อหาทหารเพียง 14 คน รวมทั้งร้อยโท William Calley, ร้อยเอก Ernest Medina และพันเอก Oran Henderson ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Mỹ Lai

‘พลตรี Julian Ewell’ เจ้าของฉายา “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ทุกคนพ้นผิดยกเว้นร้อยโท Calley ซึ่งถูกตัดสินว่า ‘มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าจากการสั่งยิง’ แม้ว่าเขาจะโต้แย้งว่าเขาเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยเอก Medina ผู้บังคับบัญชาก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1971 ร้อยโท Calley ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้สั่งการในการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

หลายคนมองว่า ร้อยโท Calley เป็นแพะรับบาป และเขาอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 20 ปี และต่อมาได้ลดโทษเหลือเพียง 10 ปี และเขาถูกปล่อยตัวในปี 1974 หลังจากถูกจำคุกเพียง 3 ปีเท่านั้น

การสืบสวนในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่า การสังหารที่ Mỹ Lai ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียว ความโหดร้ายอื่น ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ Mỹ Khe ที่คล้ายกันนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ปฏิบัติการทางทหารฉาวโฉ่ที่เรียกว่า ‘Speedy Express’ คร่าชีวิตพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปหลายพันคน จนกระทั่งพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่อาศัยอยู่บริเวนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ให้ฉายา ‘พลตรี Julian Ewell’ ผู้บัญชาการในปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามลดน้อยลง เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘การทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ซึ่งรวมถึงการถอนกำลังทหารและโอนการควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้นดินไปยังกองทัพเวียดนามใต้ ในบรรดากองทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในเวียดนาม ล้วนแล้วแต่มีขวัญกำลังใจต่ำ มีความโกรธแค้นและความคับข้องใจสูง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เพิ่มในหมู่ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ และรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1971 ประมาณการว่าทหารสหรัฐฯ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นติดยาเสพติด

การเปิดเผยเรื่องราวของการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันตกต่ำลดลงไปอีก เมื่อบรรดาทหารอเมริกันในเวียดนามใต้ต่างพากันสงสัยว่า ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาปกปิดความโหดร้ายอื่นใดอีก

ในสหรัฐฯ ความโหดร้ายของการสังหารหมู่ Mỹ Lai และความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านสงครามรุนแรงขึ้น และเพิ่มความขมขื่นต่อการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ต่างจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ที่ทั้งศัตรูและอดีตศัตรูของสหรัฐฯ มักกลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน Mỹ Lai เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ 504 ศพ โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood เลย จะมีก็เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเท่านั้น

และในการแสดง The Lieutenant เป็นร็อกโอเปราที่มีทั้งหนังสือ ดนตรี และเนื้อร้องโดย Gene Curty, Nitra Scharfman และ Chuck Strand ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลทหารของร้อยโท William Calley ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยแสดงบนเวทีละครบรอดเวย์ ในปี 1975 และ ‘Mỹ Lai Four’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์นั้นถูกสร้างโดยผู้สร้างและทีมงานชาวอิตาลี ไม่ใช่ผู้สร้างและทีมงานชาวอเมริกันจาก Hollywood แต่อย่างใด

มีการสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ณ ตำบล Sơn Mỹ และสวนสันติภาพ Mỹ Lai ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อ 16 มีนาคม 1998 สวนสันติภาพนี้อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2 กม. (1 ไมล์)

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

(12 เม.ย. 68) ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 ‘สงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม’

“ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ได้ยุติสงครามระหว่างขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ “ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ก็แบ่งเวียดนามออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง เวียตมินห์ซึ่งนำโดย ‘โฮจิมินห์’ ควบคุมเวียตนามภาคเหนือ และฝรั่งเศสควบคุมภาคใต้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1956 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสำหรับทั้งประเทศ ฝรั่งเศสส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ‘โง ดินห์ เดียม’ ในภาคใต้ แต่ ‘เดียม’ ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งจึงส่งผลให้เกิดสงครามอีกครั้งหนึ่ง ‘เดียม’ ซึ่งเป็นนับถือโรมันคาธอลิก ได้ออกกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่มากมาย จึงทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเวียดนามใต้ส่วนใหญ่

แม้ว่าในข้อตกลงจะระบุว่า “เส้นแบ่งเขตทางทหาร (เส้นขนานที่ 17)” เป็นเพียงการใช้ชั่วคราวและไม่ใช่ขอบเขตทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐอเมริกากลับยอมรับให้เวียดนามใต้เป็นประเทศอิสระ และให้การสนับสนุนทั้งทางการทหารและการเงิน แต่แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติของเวียดนามใต้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ (‘เวียดกง (VC)’ หรือที่ทหารอเมริกันเรียกว่า ‘ชาลี’) ไม่ยอมรับการบริหารของ ‘เดียม’ ซึ่งพวกเขามองว่า ‘เดียม’ เป็นหุ่นเชิดของอเมริกัน ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ พวกเขาเริ่มการต่อสู้เพื่อรวมเวียดนามให้เป็นหนึ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามและต่อต้านการเข้าทาแทรกแซงด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา

ในระยะแรกของสงคราม สหรัฐอเมริกาเพียงแต่จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางการทหารจำนวนหนึ่งให้กับเวียดนามใต้เท่านั้น แต่หลังจาก “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin incident)*” ในปี 1963 ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจส่ง “กองกำลังภาคพื้นดิน” จำนวนหลายพันนายไปประจำการในเวียตนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ และทำให้ในช่วงสงครามระหว่างปี 1963–1975 มีทหารสหรัฐจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านนายถูกส่งไปผลัดเปลี่ยนในการปฏิบัติการรบในเวียตนามใต้ 
*เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย เป็นเหตุการณ์ปะทะทางเรือในอ่าวตังเกี๋ย นอกชายฝั่งเวียตนามเหนือ ระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 สิงหาคม 1964 เหตุการณ์นี้มีการรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1964 โดยระบุว่า เป็นปฏิบัติการโจมตีโดยเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือต่อเรือพิฆาตแมดด็อกซ์และเทิร์นเนอร์จอยของสหรัฐฯ 2 ครั้ง นำไปสู่การลง “มติอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันมีอำนาจจนสามารถเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียตนามได้เป็นอย่างมาก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศที่สำคัญสำหรับปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม นอกจากไทยแล้ว ยังมี ฟิลิปปินส์ อดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับเอกราชในปี 1946 เป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญสำหรับการทำสงครามของสหรัฐฯ เช่นกัน เช่นฐานทัพเรืออ่าวซูบิก และฐานทัพอากาศคลาร์ก สำหรับพันธมิตรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่เหล่านี้ยังได้เลือกโดยกองทัพสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการพักผ่อนและฟื้นฟูของทหารอเมริกันที่เข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้เติบโต (เว้นออสเตรเลีย) และส่งผลให้การท่องเที่ยวด้านอบายมุขและบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน (โดยเฉพาะไทย)

ด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคนี้ จึงทำให้เกิด “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO)” ตั้งขึ้นในปี 1954 เป็นองค์การความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค (อ่าน “ตัวตนที่เลือนลาง!! หวนรำลึก SEATO องค์การ ‘เสือกระดาษ’ แห่งภูมิภาคอาเซียน”

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#1 'สงครามเวียดนาม' ปฐมบทของสงครามอินโดจีนยุคใหม่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกต่างพากันกลับมายังดินแดนอาณานิคมของตนซึ่งถูกคู่สงครามยึดครองในระหว่างสงครามฯ เพื่อกลับมากอบโกยทรัพยากรของดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นกลับไปยังประเทศของตนอีกครั้งหนึ่ง และ 'ฝรั่งเศส' ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนประกอบด้วย 3 รัฐ ได้แก่ เวียตนาม ลาว และกัมพูชา 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 รัฐนั้น ถูกยึดครองโดย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และดินแดนส่วนหนึ่งในกัมพูชาและลาวถูกไทยซึ่งเคยครอบครองดินแดนส่วนนั้นยึดคืน แต่ได้รับคืนภายหลังสงครามฯ ฝรั่งเศสก็ได้รับดินแดนดังกล่าวคืนจากไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะซึ่งประกอบด้วย 3 ชาติหลักคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส 

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วค่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันคือ ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต และชาติร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนประเทศบริวารอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสงครามที่มีเพียงการเผชิญหน้าหรือที่เรียกว่า 'สงครามเย็น (Cold war)' และเกิดสงครามที่มีลักษณะตัวแทน (Proxy war) ของสองฟากฝ่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ สงครามระหว่างสองเกาหลี สงครามในตะวันออกกลาง ฯลฯ และสงครามอินโดจีนก็เป็นหนึ่งในสงครามที่มีลักษณะดังกล่าว

สงครามอินโดจีนแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1954 เป็นสงครามที่ขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถทำการรบเอาชนะกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และระยะที่ที่ 2 คือ สงครามเวียตนามหรือสงครามอเมริการะหว่างปี 1955-1975 ซึ่งเวียดนามเหนือและเวียตกงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนสามารถเอาชนะและผนวกเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรส่วนหนึ่งได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน 1975

สงครามในอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่และรู้สึกได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของปริมาณลูกระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินรบแล้ว กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปริมาณระเบิดทั้งหมดที่ทุกฝ่ายทิ้งในพื้นที่ทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกัน โดยเฉพาะในลาวซึ่งกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก ทุ่นระเบิดหรือสนามกับระเบิดยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในสงครามครั้งนี้ และส่งผลทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และในระดับที่น้อยกว่าคือ ไทย ยังคง บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากกับระเบิดและระเบิดนานาชนิดที่ยังคงตกค้างอยู่ในปริมาณมหาศาลเป็นประจำ

สงครามอินโดจีนเริ่มต้นขึ้นจากสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวเวียตนามเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งสงครามดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีน นอกจากนี้แล้วยังเป็นสงครามแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมอีกด้วย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนโดยโซเวียตและฝ่ายที่สนับสนุนโดยจีนในปี 1961 ซึ่งจุดแตกหักก็คือสงครามในปี 1969ระหว่าง 'โซเวียต' กับ 'จีน' ซึ่งเคยเป็นประเทศ 'พี่น้อง' ร่วมอุดมการณ์ในอดีต

ภูมิหลังและสงครามอินโดจีนครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นเจ้าอาณานิคมแทนที่จีนและสยาม (ไทย) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคในขณะนั้นคือเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมด เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้ตั้งเป้าที่จะยึดเอาดินแดนอาณานิคมคืน แต่ถูกพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา คัดค้าน ลาวและกัมพูชาจึงได้รับเอกราช แต่ไม่นานรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็เผชิญกับกองกำลังกบฏคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีน

สำหรับเวียตนามแล้ว สถานการณ์ภายในมีความซับซ้อนกว่าขึ้นมาก เดิมฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันว่า จะมอบดินแดนตอนเหนือของเวียตนามจะมอบให้จีนคณะชาติดูแล และมอบให้อังกฤษดูแลดินแดนตอนใต้จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเวียตนามสำเร็จ แต่ในเวลานั้นทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน ได้แก่ สงครามกลางเมืองในจีน และการก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในมาลายา ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกว่าในเวียตนามได้ “เวียตมินห์” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอาณานิคมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จึงได้ประกาศเอกราชในดินแดนตอนเหนือ (เหนือเส้นขนานที่ 17) ในขณะที่ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทอำนาจอีกครั้งในเวียตนามตอนใต้ ในปี 1947 ฝรั่งเศสและเวียตนามเหนือก็เปิดฉากสงครามระหว่างกัน หลังปี 1949 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้ให้การสนับสนุนเวียตมินห์ (เวียตนามเหนือ) อย่างเต็มที่ โดย สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนฝรั่งเศส แต่ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันไปสนับสนุนฝรั่งเศสในเวียตนาม และภายหลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทำให้เกิดข้อตกลงเจนีวาในปี 1954 ซึ่งยุติสงครามในครั้งนั้นลง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า 'เวียตนาม' ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น 'เวียดนาม' สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#15 ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด ในสงครามเวียตนาม

การรุกตรุษญวน (Tet Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียตนาม เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 1968 โดยกองกำลังเวียตกง (VC) และกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) กับกองกำลังเวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร เป็นการรบแบบการจู่โจมต่อที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและพลเรือน ตลอดจนศูนย์ควบคุมและสั่งการทั่วประเทศเวียตนามใต้ การรุกนี้ได้ชื่อจากวันหยุดตรุษญวน (Tết) ด้วยกำลังผสมของกองกำลังเวียตกงและกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือประมาณ 5 แสนนาย เปิดฉากการบุกโจมตีพร้อมกันหลาย ๆ จุดในหลาย ๆ เมืองของเวียตนามใต้ จนเป็นการสู้รบที่ดุเดือดต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 1968

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีการตระเตรียมกำลังพลถึง 1 ใน 3 (กว่าสี่แสนนาย) ของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และระดมกำลังพลของเวียตกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียตนามเหนือ พลเอกโวเหงียนเกี๊ยบได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียตนามเป็นการเปิดฉากจู่โจมในครั้งดังกล่าว โดยพลเอกเกี๊ยบได้วาดหวังผลทางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองทัพของฝ่ายเวียตนามใต้ (ARVN : Army of the Republic of Vietnam) ลงได้ ทั้งยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียตนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นตอกย้ำรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียตนามใต้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ หาทางเจรจาและต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเวียตนามใต้

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีเป็นระลอกในกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมในเขตยุทธวิธีที่ 1 และที่ 2 ของกองทัพเวียตนามใต้ การโจมตีช่วงแรกนี้ไม่นำไปสู่มาตรการป้องกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปฏิบัติการหลักของคอมมิวนิสต์เริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น การรุกก็ลามไปทั่วประเทศและมีการประสานงานอย่างดี จนสุดท้ายมีกำลังคอมมิวนิสต์กว่า 80,000 นายเปิดฉากโจมตีเมืองต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมเมืองหลักของ 36 จาก 44 จังหวัด เขตปกครองตนเอง 5 จาก 6 แห่ง เมืองรอง 72 จาก 245 แห่ง และกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียตนามใต้ ในเวลานั้น การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย การโจมตีในระยะแรกทำให้กองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้สับสนจนเสียการควบคุมในหลายเมือไปชั่วคราว แต่ที่สุดก็สามารถจัดกำลังใหม่จนสามารถต่อต้านการโจมตีและตีโต้จนฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไป 

แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ ในกรุงไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียตนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียตนามใต้ เช่น สถานทูตสหรัฐฯ ถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายเวียตกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังกล่าวปะทะกับทหารเวียตนามใต้และสหรัฐฯ และสามารถยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียตนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายเวียตนามใต้และสหรัฐฯ จนเสียชีวิตหมด หน่วยกล้าตายเวียตกงอีกหน่วยสามารถบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางกองทัพเรือ กองพลทหารพลร่ม ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในกรุงไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมกรุงไซง่อนของเวียตกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกตลอดมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการที่เมืองเว้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน

ในกรุงไซง่อนการขับไล่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของทหารเวียตนามใต้และอเมริกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยจู่โจมฝ่ายคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทั่วกรุงไซง่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว อาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตได้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ กองทัพอเมริกันได้โต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งกรุงไซง่อนและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ ระหว่างยุทธการที่เมืองเว้มีการสู้รบอย่างดุเดือดกินเวลาถึงหนึ่งเดือน ทำให้กองกำลังสหรัฐต้องทำลายเมืองเว้จนเสียหายอย่างหนัก และระหว่างการยึดครองเมืองเว้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน (เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเว้) 

ขณะเดียวกัน ยังมีการสู้รบบริเวณรอบ ๆ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เคซานต่อมาอีกสองเดือน แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียกำลังพลมหาศาล และถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารสำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันต้องตกตะลึงจากความเชื่อซึ่งถูกผู้นำทางการเมืองและการทหารบอกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังปราชัย และไม่สามารถดำเนินความพยายามขนาดมโหฬารเช่นนี้ได้ การสนับสนุนสงครามของสาธารณชนชาวอเมริกันจึงลดลงเรื่อย ๆ และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องแสวงหาการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

การรุกในวันตรุษญวนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และเวียตกง (VC) เสียชีวิตกว่า 1 แสนนาย ทหารของกองทัพสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และพันธมิตรเสียชีวิตกว่า 10,000 นาย เหตุการณ์นี้กองกำลังทหารไทยในเวียตนามใต้ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย แม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่การรุกในวันตรุษญวนส่งผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงศักยภาพด้านการทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดกระแสต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ จนติด และนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากเวียตนามใต้ และที่สุดนำไปการล่มสลายของเวียตนามใต้ (สาธารณรัฐเวียตนาม) ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#16 ‘พลอากาศโท Pham Tuân’ เสืออากาศแห่งกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ

สหรัฐฯ ถือเป็นผู้ครองอากาศทั้งหมดทั้งมวลเหนือดินแดนเวียตนามทั้งเหนือและใต้ในระหว่างสงคราม และแทบจะไม่มีปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือในดินแดนเวียตนามใต้เลย และการปฏิบัติบนน่านฟ้าเวียตนามเหนือเป็นเพียงการต่อสู้กับเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ซึ่งมาจากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองกำลังนาวิกโยธิน แต่กระนั้นแล้ว กองทัพอากาศเวียตนามเหนือก็ยังมีนักบินขับไล่ซึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบสหรัฐฯ ตกตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปกลายเป็นเสืออากาศถึง 19 นาย ส่วนกองทัพสหรัฐฯ มีนักบินขับไล่ที่เป็นเสืออากาศในสงครามเวียตนาม 5 นาย

พลอากาศโท Pham Tuân เป็นหนึ่งในเสืออากาศอันดับต้น ๆ ของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ด้วยผลงานยิงเครื่องบินของศัตรูตกไป 8 ลำ (อันดับหนึ่งมีสถิติ 9 ลำ) แต่เป็นนักบินขับไล่กองทัพอากาศเวียตนามเหนือคนแรกที่ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ของสหรัฐฯ ตก และต่อมาเขาเป็นชาวเวียตนามคนแรกและเป็นคนแรกของภูมิภาค ASEAN ที่ได้เดินทางไปในอวกาศ

พล.อ.ท. Pạm Tuân เกิดที่เมือง Kiến Xương จังหวัด Thái Bình ทางตอนเหนือของเวียตนาม เข้าร่วม VPAF หรือกองทัพอากาศเวียตนาม (กองทัพอากาศเวียตนามเหนือ) ในปี 1965 เริ่มต้นจากนักเรียนช่างเรดาร์ จากนั้นก็ได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกเป็นนายทหารนักบินชั้นสัญญาบัตร เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนการบิน Krasnodar ในสหภาพโซเวียต เป็นนักบิน MiG-17 ในปี 1967 จากนั้นจึงย้ายไปฝึกบิน MiG-21 และได้รับมอบหมายให้ประจำหน่วยฝึกบิน VPAF 910 ระหว่างปี 1968-69 เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคนิคการสกัดกั้นในเวลากลางคืนเพื่อต่อต้านการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ จากนั้นจึงย้ายมาประจำกรมการบินที่ 932 ระหว่างปี 1969-1970 และสุดท้ายประจำกรมการบินที่ 921 ระหว่างปี 1970-1973

ระหว่างคืนวันที่ 18-27 ธันวาคม 1972 ในปฏิบัติการ Linebacker II (the Christmas Bombing) นาวาอากาศตรี Pham Tuân ได้นำเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-21 ติดขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบแสวงความร้อนเข้าต่อสู้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง วันที่ 27 เขาบิน MiG-21MF (หมายเลข 5121) ด้วยความเร็วเหนือเสียง และสามารถเจาะเข้าไปในขบวนบินของ B-52 ยิงขีปนาวุธ 2 ลูกในระยะน้อยกว่า 4 กม. ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาแล้วรายงานว่า ขีปนาวุธของเขายิงถูก B-52D จนตกเหนือเขตติดต่อของจังหวัด Hoa Binh กับ Vinh Phuc การอ้างชัยชนะนี้ ทำให้ B-52 ลำนี้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดเพียงลำเดียวที่ถูกยิงตกในการสู้รบทางอากาศ แต่กลับถูกโต้แย้งโดยบันทึกของสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่า B-52 ลำนี้ถูกยิงโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศเช่นเดียวกับ B-52 ลำอื่น ๆ ที่ถูกยิงระหว่างสงคราม ในหนังสือชื่อ "Hà Nội - Điện Bien Phủ trên không" (ฮานอย - ยุทธการเดียนเบียนฟูในอากาศ) โดย Nguyễn Minh Tâm จัดพิมพ์โดย Nhà xuất bản Quân đội Nhân dân Việt Nam (Viet Publishing House's) ผู้เขียนยืนยันว่า นต. Pham Tuân ยิง B-52 ด้วยขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ K-13 สองลูกภายในระยะ 4 กิโลเมตร

นต. Pham Tuân เล่าว่า “เมื่อผมตรวจพบเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินของผมอยู่ห่างจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ประมาณ 10 กม. ผมจึงทิ้งถังเชื้อเพลิงภายนอก และขอคำสั่งโจมตีทันที แม้ว่าผมจะเข้าใกล้เครื่องบินทิ้งระเบิดแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้ามาก โชคดีที่ฝูงบินคุ้มกัน F-4 ของศัตรูก็ไม่มองเห็นผม แต่เพื่อความแน่ใจ ผมยังคงบินเข้าใกล้ต่อไปจนเหลือระยะ 3 กม. แล้วถึงได้ปล่อยขีปนาวุธ ในขณะที่ผมกำลังหลบหนี ผมก็เห็นตอนที่ขีปนาวุธทั้งสองพุ่งชนเข้ากับ B-52 แล้วระเบิด ซึ่งตอนนั้นไฟกำลังลุกไหม้ B-52 และมีเครื่อง F-4 พยายามไล่ตามผมมา แต่ตอนนี้ผมก็รอดแล้ว" Tuân เล่าว่า เนื่องจาก B-52 ติดตั้งอุปกรณ์ลวงอินฟราเรดจำนวนมาก เขาจึงต้องเข้าใกล้เป้าหมาย (ในระยะ 2-3 กิโลเมตร) เพื่อให้แน่ใจว่า จรวดจะไม่พลาด แม้ว่าระยะปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับการยิงขีปนาวุธคืออย่างน้อย 8 กิโลเมตร การอ้างชัยชนะทางอากาศโดยนักบิน MiG ของ VPAF ต่อเครื่องบินรบของสหรัฐฯ มักได้รับการโต้แย้งว่าเป็นการสูญเสีย B-52 มาจากขีปนาวุธพื้นสู่อากาศหรือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เนื่องจากถือว่า "น่าอับอายน้อยกว่า" การที่ถูกนักบินฝ่ายศัตรูยิงตก ปฏิบัติการ Linebacker II มีนักบินและลูกเรือเสียชีวิต 33 นาย โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress จำนวน 15 ลำถูกยิงตก และจนทุกวันนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ก็ยังไม่ยืนยันว่า Tuân เป็นผู้ยิง B-52 ตกระหว่างปฏิบัติการ Linebacker II

Tuân ได้รับรางวัลและคำชื่นชมในการปฏิบัติงานที่มีความโดดเด่นมากมาย ในปี 1973 Tuân ได้รับตำแหน่ง "วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชน" ของเวียตนามเหนือ รวมทั้ง Ho Chi Minh Order นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัล Order of Lenin และได้รับเกียรติอันหาได้ยากด้วยการเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติไม่กี่คนที่ได้รับ "Hero of the Soviet Union" จากภารกิจในอวกาศ Interkosmos program โดยทำหน้าที่เป็นนักบินผู้บังคับยานอวกาศในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23  กรกฎาคม 1980 ไปยังสถานีอวกาศ Salyut 6 และกลับสู่เพื่อโลกเมื่อ 31 กรกฎาคม 1980 รวมเวลาที่เขาอยู่ในอวกาศ 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที Tuân นำสิ่งของหลายอย่างติดตัวไปด้วยในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งรวมถึงรูปภาพของอดีตประธานาธิบดี Hồ Chí Minh, Lê Duân เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม, ประกาศเจตจำนงของ Hồ Chí Minh, ธงชาติเวียตนาม โดยเขาได้นำสิ่งของทั้งหมดเอาไปไว้บนสถานีอวกาศแล้วนำพวกมันกลับมายังโลก ในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้รับรางวัล "วีรบุรุษแรงงานแห่งเวียดนาม"  ต่อมาในปี 1989 เขาได้รับตำแหน่ง "รองผู้บัญชาการ" กองทัพอากาศเวียดนาม ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลอากาศโทในปี 1999 และดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ" ในปี 2000 และเกษียณจากตำแหน่งในปลายปี 2007 ปัจจุบัน พลอากาศโท Pham Tuân ยังคงมีชีวิตอยู่ และใช้ชีวิตกับภรรยาอย่างมีความสุข

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top