Bacchus Ladies โสเภณีหญิงชราในเกาหลีใต้
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสลดใจในเกาหลีใต้คือ เหตุการณ์เหยียบกันตายในงาน Halloween ในย่าน ‘อิแทวอน’ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์นี้ทุกท่านด้วย
ทั้งนี้ ด้วยภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่เราท่านเห็นกันในปัจจุบันคือ เป็นประเทศที่เจริญแล้ว อาคารบ้านเรือนสะอาด และทันสมัย ผู้คนแลดูมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว แต่ในความจริงกลับปรากฏว่า ในเกาหลีใต้ยังมี ‘Bacchus Ladies’ (โสเภณีหญิงชรา) อยู่
ในปี ค.ศ. 2020 อัตราความยากจนสัมพัทธ์ (Relative poverty rate ซึ่งเป็นวิธีการวัดความยากจนโดยใช้การเปรียบเทียบ มาตรฐานการดำรงชีวิตของครัวเรือนกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉลี่ย) ในเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 15.3% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019) อัตราความยากจนสัมพัทธ์ซึ่งเป็นส่วนแบ่งของผู้ที่อาศัยอยู่โดยมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึงครึ่งของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยังค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ อัตราความยากจนสัมพัทธ์ในผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ยังคงเพิ่มขึ้น ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2021) ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 16.5% ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมด โดยคาดว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็นสังคม ‘สูงวัย’ ในปี ค.ศ. 2025
โดยผู้ที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุจะดีขึ้นแต่ก็เพียงเล็กน้อย เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรสูงอายุยังอยู่ในเกณฑ์ของความยากจนสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (the Organization for Economic Co-operation and Development : OECD)
เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดใน OECD โดยมีผู้เสียชีวิตราว ๑๓,๐๐๐ คนในปี ค.ศ. 2020 อัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุนั้นสูงเป็นพิเศษ ในปี ค.ศ. 2020 ประชากรชายสูงอายุที่มีอายุ ๘๐ ปีขึ้นไปมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยมีอัตราผู้เสียชีวิต ๑๑๘ รายต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายก็มีความซับซ้อน
ทว่าในการสำรวจในปี ค.ศ. 2020 ที่จัดทำขึ้นในหมู่ผู้ที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ปัญหาทางการเงินถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุอันดับสองสำหรับความคิดในการฆ่าตัวตายของพวกเขา รองลงมาจากปัญหาสุขภาพ
ชายสูงอายุมักมาร่วมตัวสังสรรค์กันในสวนสาธารณะ Jongmyo ในกรุงโซล
จากปัญหาที่กล่าวมา จึงทำให้ในเกาหลีใต้ มีอาชีพที่เรียกว่า ‘Bacchus Ladies’ (โสเภณีหญิงชรา) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงในวัยตั้งแต่ ๕๐ ขึ้นไปกระทั่งบางส่วนอายุมากถึง ๘๐ ปี ที่ชักชวนชายในสวนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ของกรุงโซล เพื่อขายบริการทางเพศใน Motel ที่อยู่ใกล้เคียงในราคาประมาณ 20,000 ถึง 30,000 วอน ($ 18–26 USD ราว ๗๐๐-๙๐๐ บาท) หรือน้อยกว่านั้นหากชายคนนั้นเป็นลูกค้าประจำ
โดยเหล่า ‘Bacchus Ladies’ จะแฝงอาชีพขายบริการด้วยการขายเครื่องดื่มให้พลังงาน Bacchus-F ตามสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นที่นิยมของชายสูงอายุซึ่งกลายมาเป็นลูกค้าของพวกเขา แต่ผู้ชายอายุน้อยกว่าอาทิ ในวัย ๒๐ - ๔๐ ปี ส่วนหนึ่งก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำในจำนวนที่มากขึ้นเช่นกัน (ดร.Lee Ho-Sun นักวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ระบุว่า มีหญิงประมาณ ๔๐๐ คนทำงานลักษณะนี้ในสวนสาธารณะ Jongmyo ในกรุงโซล)
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่รู้จักในชื่อปาฏิหาริย์บนแม่น้ำ Han (the Miracle on the Han River)
เชื่อกันว่าปรากฏการณ์ ‘Bacchus Ladies’ เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียในปี ค.ศ. 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปัญหาทางการเงินมากที่สุด
ซึ่งตามปกติแล้วในสังคมขงจื๊อตามประเพณีของเกาหลีใต้ พ่อแม่ผู้สูงอายุจะได้รับความนับถืออย่างสูง และเมื่ออยู่ในวัยชราสามารถพึ่งพาบุตรหลานของตนในการดูแล โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำ’ Han (the Miracle on the Han River) นำไปสู่การถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมนี้ในหมู่ชาวเกาหลีใต้ที่อายุน้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นในสังคมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ตามมาอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้อัตราความยากจนของผู้หญิงเกาหลีใต้อายุเกิน ๖๕ ปีอยู่ที่ 47.2% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 76.6% สำหรับหญิงสูงอายุที่โสด เงินบำนาญของรัฐที่จัดทำโดยระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้มักไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในวัยชรา
Bacchus-F เครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในเกาหลีใต้
อีกทั้ง วัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ถูกครอบงำโดยผู้ชายมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังคงอยู่ นั่นจึงหมายความว่า ผู้หญิงที่มีอายุมากจำนวนมากจึงไม่มีเงินออมหรือเงินบำนาญส่วนตัว เพราะในวัยเยาว์พวกเธอไม่ได้รับการศึกษา และขาดโอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกันกับชาย
ศาสตราจารย์ Lee Ho-Sun จากมหาวิทยาลัย Korea Soongsil Cyber ในกรุงโซลได้ทำการวิจัย และพบว่า ผู้หญิงจำนวนมากที่กลายเป็น ‘Bacchus Ladies’ เข้ามามีส่วนกับการค้าประเวณีในช่วงปีแรก ๆ จากการทำงานในบาร์คาราโอเกะและโรงน้ำชา แต่การกลับไปค้าประเวณีอีกในปีต่อ ๆ มา อันมาเนื่องจากปัญหาการเงินและแรงกดดันอื่นๆ
ในตอนแรก ‘Bacchus Ladies’ จะหาเลี้ยงชีพด้วยการขาย Bacchus-F ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในเกาหลีใต้ ซึ่งขายให้กับชายสูงอายุที่ไปมักร่วมสังสรรค์กันตามสวนสาธารณะและพลาซ่าในกรุงโซล ในที่สุด ผู้ชายเหล่านี้หลายคนก็กลายเป็นลูกค้าหลักของพวกเธอภายหลังจากเปลี่ยนอาชีพมาเป็นโสเภณี
แม้ว่า การค้าประเวณีในเกาหลีใต้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และตำรวจก็ทำการตรวจตราลาดตระเวนในพื้นที่ที่มี ‘Bacchus Ladies’ แวะเวียนมาขายบริการอยู่เสมอ โดยหลัก ๆ แล้วอยู่ในเขต Jongno ทางตอนเหนือของกรุงโซล ตำรวจนครบาลแห่งกรุงโซลได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่ม ‘Bacchus Ladies’ อยู่เป็นระยะๆ แต่หญิงที่ถูกจับกุมมักจะได้รับเพียงคำเตือนหรือถูกปรับเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย มีหญิง ๓๓ คน รวมทั้งหญิงชราวัย ๘๔ ปีหนึ่งคน ถูกจับโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามในช่วงต้นปี ค.ศ. 2015
หลังจากการกวาดล้างจับกุมทำให้จำนวนคนงานของ ‘Bacchus Ladies’ ลดลงเหลือประมาณ ๒๐๐ คน ตำรวจท้องที่เชื่อว่า ปัญหา ‘Bacchus Ladies’ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปราบปราม และนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
‘Bacchus Ladies’ ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections : STIs) ในกลุ่มผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการใช้สารเพิ่มการแข็งตัวของอวัยวะเพศซึ่งมักถูกฉีดเข้าเส้นเลือดของลูกค้าชายสูงอายุของ Bacchus Ladies แต่เข็มฉีดยาอาจถูกนำมาใช้ซ้ำมากถึง ๑๐ ถึง ๒๐ ครั้ง จากการสำรวจในพื้นที่ของ Bacchus Ladies ในปี ค.ศ. 2014 พบว่า 40% ของชายสูงอายุที่เป็นลูกค้า ‘Bacchus Ladies’ ติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่ได้ทำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุดบางโรค ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเสนอชั้นเรียนเพศศึกษาให้กับผู้สูงอายุ
ระบบประกันสังคมของเกาหลีให้ความช่วยเหลือสาธารณะและประกันสังคมสำหรับพลเมืองของเกาหลีใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ มีชีวิตที่ดีงาม รัฐบาลได้ดำเนินโครงการประกันสังคมที่หลากหลายเพื่อสร้างมาตรฐานการครองชีพขั้นพื้นฐาน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของพลเมืองทุกคน